การเรียบเรียงพระประวัติของกรมหลวงชุมพรฯ อีกกลุ่มหนึ่งที่ถือเป็นหมุดหมายสำคัญ คืองานเขียนของพลเรือเอก ประพัฒน์ จันทวิรัช อดีตผู้บัญชาการทหารเรือ ในวารสาร “นาวิกศาสตร์”

กรมหลวงชุมพรฯ ตอนที่ ๖๒ - ที่เก่า เวลาเดิม แต่คนละเรื่อง

ตั้งแต่เมื่อครั้งยังเป็นนายทหารหนุ่ม ท่านพยายามค้นคว้าหาหลักฐานเอกสารราชการมาอ้างอิง พร้อมกับสร้างข้อสันนิษฐานเรื่องกรอบเวลาให้แก่ “ตำนาน” ที่เคยมี เท่ากับเป็นการเปลี่ยนการศึกษาพระประวัติของกรมหลวงชุมพรฯ ที่แต่เดิมเป็นเพียงเรื่องเล่าหรือบันทึกความทรงจำ ให้เป็นระบบมากยิ่งขึ้น และสามารถตรวจสอบได้

ข้อเขียนของพลเรือเอกประพัฒน์บางส่วน รวบรวมจัดพิมพ์เป็นเล่มหนังสือแล้ว ได้แก่ “พระประวัติและพระกรณียกิจในสมัยรัชกาลที่ ๕ ของพลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์” (พิมพ์ครั้งแรก ๒๕๒๗) และบทความ “พระประวัติและพระกรณียกิจ ของพลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ในระหว่างที่ทรงออกจากประจำการ ๑๓ เมษายน ๒๔๕๔ – ๑ สิงหาคม ๒๔๖๐” (พิมพ์ครั้งแรก ๒๕๔๔)

ทว่าส่วนที่ต่อเนื่องมาหลังจากนั้น จนถึงเมื่อกรมหลวงชุมพรฯ สิ้นพระชนม์ เคยทราบมาว่าคุณครูประพัฒน์กำลังเรียบเรียงอยู่ แต่ยังไม่ทันสำเร็จก็ถึงแก่กรรมไปเสียก่อน

งานค้นคว้าเรียบเรียงพระประวัติใน “นาวิกศาสตร์” ของพลเรือเอกประพัฒน์ ดำเนินควบคู่ไปกับความพยายามนำเสนอพระประวัติแนว “วิทยาศาสตร์” โดยสมาชิกราชสกุลอาภากร เช่นเรื่อง “เกร็ดพระประวัติเสด็จในกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์” ตีพิมพ์เป็นอนุสรณ์ภายหลังการสิ้นชีพตักษัยของหม่อมเจ้าหญิงเริงจิตรแจรง อาภากร ผู้นิพนธ์ ในปี ๒๕๓๗

ในเกร็ดพระประวัติฉบับนี้ การพบกันครั้งแรกระหว่างกรมหลวงชุมพรฯ กับหลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า ยังคงมีหัวปลีกองอยู่ที่ริมตลิ่งวัดปากคลองมะขามเฒ่าเช่นเดียวกับในเรื่องเล่าของหลวงรักษาราชทรัพย์ แต่ส่วนที่เหลือแทบจะเป็นคนละเรื่อง อย่างที่ภาษายุคเก่าเรียกว่ายังกะ “หนังคนละม้วน”

ท่านหญิง (ซึ่งดูเหมือนจะทรงอยู่ร่วมในเหตุการณ์ด้วย) บันทึกว่า

“…เสด็จพ่อทรงโปรดเสด็จประพาสทางแม่น้ำ มีเรือไปสองลำ หน้าร้อนเดือน ๕ ทรงมีเรือยนต์ลากจูงเรือเครื่องแวะไปเรื่อยๆ ทางเหนือ จนถึงวัดหนึ่ง ชื่อวัดมะขามเฒ่า จังหวัดชัยนาท มีแพที่หน้าวัด จอดใต้ต้นไม้ใหญ่ร่มดี มีเด็กลูกวัด พระเณรออกมาดูเมื่อเรือเข้าไปจอด แพก็น่านั่งเล่น เอาไม้ไผ่ผูกเป็นแพ มีหลังคากันฝนกันแดดด้วย เราก็ลงอาบน้ำอาบท่ากันสบาย ขออนุญาตพระ เอาเรือเข้าไปจอด รับประทานอาหารกลางวัน ลูกศิษย์ลงมาถางหญ้า ตัดกล้วย ตัดหัวปลีกองไว้ หม่อมๆ ถามว่าตัดไปทำอะไร เด็กก็บอกเอาไปกินบ้างก็ได้ เราหยิบมา ๒ หัวมาต้มแกง และจิ้มน้ำพริก เด็กก็เล่าให้ฟัง ท่านอาจารย์ที่วัดชื่อ “ศุข” เป็น “พระครูวิมลคุณากร” หลวงพ่อใจดีและมีวิชาอาคมขลัง พอดีท่านอาจารย์เดินลงมา เสด็จพ่อก็ขึ้นไปนมัสการ ท่านก็เลยเชิญให้ประทับคุยกันที่แพ รู้สึกโปรดอัธยาสัย คุยกันจนเย็น ท่านเชิญให้เสด็จไปที่กุฏิ เสด็จพ่อขอผลัดเป็นวันรุ่งขึ้น เกรงใจท่านเพราะเย็นมากแล้ว พอท่านอาจารย์ขึ้นไปแล้ว เด็กๆ ลงมาเล่าว่าหลวงพ่อเก่งต่างๆ มีวิชาอาคมขลัง มีอภินิหารอยู่ยงคงกระพันชาตรี ฯลฯ เสด็จพ่อสนพระทัย พอเช้ารุ่งขึ้นท่านลงมาเชิญเสด็จเอง เสด็จไปคุยกับหลวงพ่อจนบ่าย ลูกๆ จึงขึ้นไปเชิญเสด็จเสวยกลางวัน หลวงพ่อก็ลืมฉันเพล ตั้งแต่วันนั้นมา เสด็จพ่อไปคุยและขอเป็นลูกศิษย์เรียนวิชาอาคมเกือบทุกวัน…”


sadettia03
“เสด็จเตี่ย” กรมหลวงชุมพรฯ

บทความชุดนี้มีต้นทางจากหนังสือพระประวัติกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ของผู้เขียน คือ “ให้โลกทั้งหลายเขาลือ” (พิมพ์ครั้งแรกโดยสำนักพิมพ์สารคดี ๒๕๖๓ ราคา ๔๘๐ บาท) โดยเล่าเก็บความจากหนังสือ และเสริมบางประเด็นที่มีข้อมูล หรือความคิดเห็นเพิ่มเติมภายหลังหนังสือตีพิมพ์ออกมาแล้ว

สั่งซื้อหนังสือ