ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล : เรื่องและภาพ

๑๐ ปี ๑๐ วัน เกิดอะไรขึ้นบ้างหลังชาวบ้านฟ้องคดีไซยะบุรีต่อศาลปกครอง
๒๗ ตุลาคม ๒๕๖๒ แม่น้ำโขงลดระดับ แถวอำเภอสังคม จังหวัดหนองคาย

เมื่อวันที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๕๕ ตัวแทนประชาชนไทย ๘ จังหวัดริมแม่น้ำโขง ทั้งภาคเหนือและอีสาน ประมาณ ๓๗ คน พร้อมด้วยผู้สนับสนุนกว่า ๑,๐๐๐ รายชื่อ ในนาม “เครือข่ายประชาชนไทย ๘ จังหวัดลุ่มน้ำโขง” ได้ร่วมกันฟ้องคดีเขื่อนไซยะบุรีต่อศาลปกครอง

เหตุการณ์วันนั้นเป็นจุดเริ่มต้นของการต่อสู้อันยาวนานผ่านกระบวนการทางกฎหมาย ในฐานะ “คดีสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดน” คดีแรกๆ ของประเทศไทย เพื่อปกป้องวิถีชีวิตและทรัพยากรชุมชน

วันที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๖๕

วันเวลาล่วงผ่านมานาน ๑๐ ปี กับอีก ๑๐ วัน คดีประวัติศาสตร์กำลังจะเข้าสู่บทสรุป

เมื่อศาลปกครองกลาง ถนนแจ้งวัฒนะ นัดอ่านคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด เป็นวันถึงที่สุดของคดี

saiyaburi02
๒๓ กรกฎาคม ๒๕๖๒ เขื่อนไซยะบุรี สร้างกั้นแม่น้ำโขงที่เมืองไซยะบุรี แขวงไซยะบุรี เหนืออำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย ประมาณ ๒๐๐ กิโลเมตร

แม้ว่าผู้ฟ้องคดี คือ ชาวบ้าน ๘ จังหวัดริมแม่น้ำโขง รวมถึงผู้ถูกฟ้องคดีจะเป็นหน่วยงานของประเทศไทย บริษัทเอกชนที่ลงทุนสร้างเขื่อนไซยะบุรีเป็นบริษัทไทย สถาบันการเงินผู้อนุมัติเงินกู้ทั้งหมดเป็นธนาคารไทย ผู้รับซื้อไฟฟ้าก็เป็นรัฐวิสาหกิจของประเทศไทย แต่เขื่อนไซยะบุรีสร้างกั้นแม่น้ำโขงในเขตประเทศลาว

ณ หลักกิโลเมตรที่ ๑,๙๓๑ ของแม่น้ำโขงสายประธาน ท้ายน้ำลงมาจากเมืองหลวงพระบางประมาณ ๘๐ กิโลเมตร เหนืออำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย ขึ้นไปประมาณ ๒๐๐ กิโลเมตร คันคอนกรีตเสริมเหล็กความยาว ๘๑๐ เมตร ได้ถูกสร้างกั้นลำน้ำ ณ เมืองไซยะบุรี แขวงไซยะบุรี

ด้วยกำลังการผลิตติดตั้ง ๑,๒๘๕ เมกะวัตต์ ไฟฟ้าที่ผลิตได้เกือบทั้งหมด คือร้อยละ ๙๕ จะถูกขายให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นเวลาติดต่อกัน ๒๙ ปี เหลือให้คนลาวได้ใช้ไฟฟ้าประมาณ ๕ เปอร์เซ็นต์

ย้อนเวลากลับไปในวันที่มีการฟ้องคดี…

ถึงแม้ทนาย และนักวิชาการที่ติดตามรูปแบบของคดี จะเห็นว่านี่เป็นคดีที่สุดแสนจะท้าทาย ไม่อาจคาดเดาผลลัพธ์ได้ เพราะเป็นคดีข้ามพรมแดนที่แทบจะไม่เคยเกิดขึ้น แต่ก็ยอมรับถึงความจำเป็นที่จะต้องฟ้องคดี นี่คือคดีสำคัญที่สามารถกำหนดความเป็นไปในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง

saiyaburi03
๒๘-๒๙ ตุลาคม ๒๕๖๒ เวทีเสวนาสาธารณะ “เขื่อนไซยะบุรี การเปลี่ยนแปลงของน้ำโขงที่ไม่หวนคืน” ผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วยผู้แทนชุมชนจังหวัดต่างๆ อาทิ เลย หนองคาย อุบลราชธานี มุกดาหาร ฯลฯ

เขื่อนไซยะบุรีถูกเรียกว่าเป็น “เขื่อนลาวสัญชาติไทย” บางคนก็เรียกว่า “เขื่อนไทยในลาว” เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับโครงการเป็นการกระทำข้ามพรมแดน ซึ่งนับเป็นเรื่องใหม่

แม้จะยอมรับว่าการฟ้องคดีนี้ไม่ง่าย ไม่อาจคาดเดาได้ว่าผลของคดีจะเป็นอย่างไร แต่ก็เห็นว่าจำเป็นต้องฟ้อง ถ้าผลไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง อย่างน้อยๆ ก็คงจะทำให้สังคมได้ตระหนักว่ากฎหมายของประเทศไทยไม่ครอบคลุมเพียงพอ ยังไม่มีกฎหมายไว้คุ้มครองเรื่องผลกระทบข้ามพรมแดน

ก่อนฟ้องคดีนี้ คณะทำงานนำโดยทนายความจากมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน ประชุมชี้แจง หารือกับเครือข่ายประชาชนไทย ๘ จังหวัดลุ่มน้ำโขงว่าการฟ้องจะเป็นอย่างไร อาจจะแพ้หรือชนะคดีก็ได้เนื่องจากเป็นเรื่องใหม่ เชือ่มโยงกับผลกระทบข้ามพรมแดนซึ่งยังไม่เคยฟ้องร้องกันมาก่อน และกฎหมายไทยอาจไม่ครอบคลุมถึง

ข้อที่สำคัญคือเมื่อราวสิบปีก่อนนั้น เขื่อนไซยะบุรียังสร้างไม่เสร็จ จึงยังไม่มีความเสียหายเกิดขึ้นในทางกายภาพ

ถึงแม้ว่าจะมีความเสียหายจากการถูกละเมิดสิทธิ เรื่องการมีส่วนร่วมตัดสินใจโครงการแล้วก็ตาม แต่การที่เขื่อนไซยะบุรีตั้งอยู่ในเขตประเทศลาว ทำให้ต้องมาดูเรื่องกฎหมายข้ามพรมแดน ซึ่งประเทศไทยมีเพียง พรบ.ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ.๒๔๘๑ คณะทำงานพิจารณาว่าถ้าจะฟ้องก็น่าจะสามารถฟ้องละเมิด หมายถึง การกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อต่อบุคคลอื่น เป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำเสียหาย หรือฟ้องอาญาได้

อย่างไรก็ตาม เมื่อสิบปีก่อนแนวทางการฟ้องละเมิดยังไม่ชัดเจนหากจะฟ้องผู้ลงทุนที่เป็นเอกชน คณะทำงานจึงต้องหาช่องทางอื่นเสริม และพบว่าสัญญาซื้อไฟฟ้าที่ กฟผ.จัดทำ อยู่ในฐานะที่จะไปสนับสนุนให้เกิดการก่อสร้างเขื่อน เป็นสัญญาทางปกครองที่อาจส่งผลกระทบต่อชุมชนลุ่มน้ำโขง

saiyaburi04
๒๙ ตุลาคม ๒๕๖๒ เจ้าของโครงการซื้อหน้าโฆษณาประชาสัมพันธ์หนังสือพิมพ์และสื่อออนไลน์ วันที่เขื่อนไซยะบุรีเริ่มเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าส่งขายแก่ กฟผ. อย่างเป็นทางการวันแรก (ภาพ : วรรณิดา มหากาฬ / ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล)

จากการศึกษาของคณะทำงานพบว่า การทำสัญญาซื้อไฟฟ้าไม่น่าจะเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย

เมื่อได้ทบทวนว่าศาลปกครองให้โอกาสฟ้องป้องกันความเสียหายได้ ตามหลักการ ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ได้รับผลกระทบ หรืออาจจะได้รับผลกระทบจากการกระทำทางปกครอง “มีช่อง” ที่พอจะไปต่อได้ คณะทำงานจึงใช้ช่องทางนี้ในการฟ้องคดี ตัดสินใจฟ้องเพิกถอน “สัญญาซื้อไฟฟ้า” ต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

แม้เป็นเรื่องยากและมีความซับซ้อน ชาวบ้านบางคนถึงกับตั้งข้อสังเกตในเวลานั้นว่า “ถ้าฟ้องแล้วแพ้จะฟ้องทำไม?” แต่ก็มีอีกหลายคนเข้าใจว่า “เราต้องทำอะไรสักอย่าง” เพื่อสร้างบรรทัดฐาน เพื่อทำให้สังคมรับรู้ว่า ยังไม่มีกฎหมายให้ความคุ้มครองการละเมิดสิทธิข้ามพรมแดนในรูปแบบนี้

เพื่อสร้างบรรทัดฐานใหม่ที่ดีให้กับสังคมไทยและในภูมิภาค สื่อสารให้เห็นว่าถ้าหากเกิดการกระทำเข้าข่าย “การละเมิดสิทธิข้ามพรมแดน” ผู้กระทำการละเมิดจะต้องแสดงความรับผิดชอบ การฟ้องร้องจึงเกิดขึ้น และดำเนินไปพร้อมๆ กับการสร้างความรู้ความเข้าใจในหมู่ผู้ฟ้องคดีด้วย

saiyaburi05
  • saiyaburi05 2
  • saiyaburi05 3

saiyaburi05 11
๒๒ กรกฎาคม ๒๕๖๒ ทางปลาผ่านหรือ “บันไดปลาโจน” รวมถึงลิฟต์ปลา ของเขื่อนไซยะบุรี

การฟ้องคดีเกิดขึ้นต่อ ๕ หน่วยงานรัฐ ได้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ กระทรวงพลังงาน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (กรมทรัพยากรน้ำ ในฐานะสำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ประเทศไทย) และคณะรัฐมนตรี โดยมีมูลเหตฟ้องคดี สรุปได้ดังนี้

  1. สัญญาซื้อขายไฟฟ้าระหว่าง กฟผ. และบริษัท ไซยะบุรีพาวเวอร์ จำกัด ไม่สมบูรณ์
  2. ละเลยระเบียบปฏิบัติเรื่องการแจ้ง การปรึกษาหารือล่วงหน้า และข้อตกลงแม่น้ำโขง หรือ “PNPCA”
  3. การอนุมัติของคณะรัฐมนตรีให้ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามปรกติสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจะได้รับการลงนามก็ต่อเมื่อพันธกรณีระดับภูมิภาคดำเนินการจนเสร็จสิ้นก่อน แต่ประเทศไทยกลับลงนามทั้งที่กระบวนการ PNPCA ยังไม่แล้วเสร็จ และเกิดก่อนที่ลาวจะให้รายงานการศึกษาและข้อมูลที่ร้องขอกับประเทศเพื่อนบ้าน

วันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖ ศาลปกครองชั้นต้นไม่รับพิจารณาคดี ผู้ฟ้องคดีจึงยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด ด้วยเห็นว่าผู้ฟ้องคดีเป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยตรง น่าจะได้รับผลกระทบจากสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเพราะต้องพึ่งพาอาศัยแม่น้ำโขง จึงเป็นผู้เสียหายหรือน่าจะเสียหายจากการละเลยที่จะปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายของหน่วยงานรัฐ จึงย่อมมีสิทธิที่จะฟ้องคดีต่อศาลปกครอง

แม้ว่าจะหมดอายุของการฟ้องคดีไปแล้ว แต่เมื่อเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับประโยชน์สาธารณะและศีลธรรมอันดีของประชาชน ศาลจึงรับไว้พิจารณา

ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้รับฟ้องเฉพาะประเด็นที่ว่าการอนุมัติของคณะรัฐมนตรีให้ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าไม่ชอบด้วยกฎหมาย นอกเหนือจากนั้นเห็นตามศาลปกครองชั้นต้น

วันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ คดีมีประเด็นต้องวินิจฉัยว่า ผู้ถูกฟ้องคดีละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ กรณีดำเนินการทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเขื่อนไซยะบุรีหรือไม่

ศาลเห็นว่าการเผยแพร่ข้อมูลบนเว็บไซด์ www.eppo.go.th และเว็บไซด์ของสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ถือว่ามีการเผยแพร่ข้อมูลแล้ว นอกจากนี้ การดำเนินการสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเขื่อนไซยะบุรีไม่ใช่โครงการหรือกิจการที่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม

วันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๕๘ ศาลนัดอ่านคคำพิพากษาคดี พิพากษายกฟ้อง ต่อมาวันที่ ๒๕ มกราคม ๒๕๕๙ เครือข่ายประชาชน ๘ จังหวัดลุ่มน้ำโขงได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดอีกครั้ง

saiyaburi06
ความหลากหลายของพันธุ์ปลาแม่น้ำโขงกำลังถูกท้าทายอย่างหนักหน่วงจากความผันผวนของระดับน้ำ

วันที่ ๗ กรกฎาคม ๒๕๕๙ บริษัท ช.การช่าง (ลาว) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อย ได้ลงนามในสัญญาแก้ไขเพิ่มเติมกับบริษัท ไซยะบุรี พาวเวอร์ จำกัด

เป็นสัญญาจ้างเหมาออกแบบจัดหา และก่อสร้าง สำหรับงานก่อสร้างเพิ่มเติม มูลค่ารวม ๑๙,๔๐๐ ล้านบาท เพื่อหาทางแก้ไขปัญหาเรื่องการอพยพของปลา และระบบระบายตะกอนของเขื่อนไซยะบุรี ส่งผลให้มีการแก้ไขแบบของเขื่อนไซยะบุรีใหม่ โดยเฉพาะส่วนของทางเรือผ่านและทางปลาผ่าน หรือที่เรียกกันว่าบันไดปลาโจน

ต้นปี ๒๕๖๒ เขื่อนไซยะบุรีสร้างแล้วเสร็จประมาณ ๙๘ เปอร์เซ็นต์ วันที่ ๓๐ มีนาคม จึงมีการทำพิธีเปิดการผลิตกระแสไฟฟ้า ๑ ยูนิต คิดเป็น ๑๘๐ เมกะวัตต์

มีรายงานว่าการผลิตกระแสไฟฟ้ายูนิตแรกส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทันที จากข้อมูลระดับน้ำของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงระบุว่าระดับน้ำของแม่น้ำโขงในเขตหลวงพระบาง เชียงคาน เวียงจันทน์ หนองคาย มีความผันผวนของค่าเฉลี่ยสุงสุดในรอบ ๓๘ ปี โดยเขตหลวงพระบางระดับน้ำเพิ่มสูงว่าปรกติถึง ๔ เมตร ส่วนที่เชียงคาน หนองคายระดับน้ำเพิ่มขึ้น ๒-๓ เมตร เป็นผลจากภาวะน้ำเอ่อท้นจากเขื่อน

๑๐

วันที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๖๒ เขื่อนไซยะบุรีเริ่มผลิตไฟฟ้าส่งขายแก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นวันแรกอย่างเป็นทางการ

วันเดียวกันนั้น สื่อหนังสือพิมพ์แทบทุกฉบับของประเทศไทยขึ้นหน้าปกประชาสัมพันธ์โครงการเขื่อนไซยะบุรี ให้รายละเอียกว่าเทคโนโลยีเขื่อนแบบน้ำไหลผ่าน Run-of-river ของเขื่อนไซยะบุรีเป็นนวัตกรรมล้ำสมัย ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้ยังนำเสนอเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อมทางด้านอื่นๆ ของเขื่อน อาทิ ทางปลาผ่านหรือบันไดปลาโจน กังหันปั่นไฟแบบเป็นมิตรกับปลา ระบบระบายตะกอนเหนือเขื่อนไปยังท้ายน้ำ

การทุ่มเงินซื้อโฆษณาของบริษัทยักษ์ใหญ่แบบปูพรมแทบทุกสำนักพบได้ไม่บ่อยนัก หลายคนตั้งข้อสังเกตว่าที่ผ่านมา เขื่อนแห่งนี้ถูกวิจารณ์อย่างหนักว่าทำลายธรรมชาติ รวมทั้งทำลายความหลากหลายทางชีวภาพบนลุ่มน้ำโขง ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำ ทำลายวิถีชีวิตของคน ต้นไม้ และสัตว์ ไม่ว่านกหรือปลา แต่กลับพาดหัวว่า “โรงไฟฟ้าแห่งแรกบนแม่น้ำโขงที่มีวิถีธรรมชาติเป็นต้นแบบ” ได้อย่างหน้าตาเฉย

ดร.มานะ ตรียาภิวัฒน์ อธิบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย โพสต์ข้อความลงบนสื่อสังคมออนไลน์ เกี่ยวกับประเด็นนี้ว่า “นี่คือตัวอย่างที่ทำให้เราต้อง ‘รู้เท่าทันสื่อ’ เราต้องแยกให้ออกว่านี่คือ ‘เนื้อที่ข่าว’ หรือ ‘พื้นที่โฆษณา’ ฝากถึงคนทำสื่อ…เอาให้ชัดเจนหน่อย อย่ามา “เนียนมาเก็ตติ้ง” แบบนี้เลย”

saiyaburi07
๒๘ ตุลาคม ๒๕๖๒ พืชน้ำหลายชนิดแห้งตาย ใกล้วันที่เขื่อนไซยะบุรีเริ่มผลิตไฟฟ้าส่งไทย

๑๑

วันที่ ๒๘-๒๙ ตุลาคม ๒๕๖๒ ก่อนหน้าที่เขื่อนไซยะบุรีจะเริ่มปั่นไฟขายให้กับประเทศไทยอย่างเต็มตัว ที่ศาลาประชาคม อำเภอปากชม จังหวัดเลย มีการจัดเวทีเสวนาสาธารณะหัวข้อ “เขื่อนไซยะบุรี การเปลี่ยนแปลงของน้ำโขงที่ไม่หวนคืน” เพื่อตั้งคำถามต่อธรรมาภิบาลของกลไกระดับประเทศและระหว่างประเทศ

เปรมฤดี ดาวเรือง หนึ่งในวิทยากรจากโปรเจคเสวนาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Project Sevana Southeast Asia) กล่าวว่าการเกิดหรือไม่เกิดขึ้นของเขื่อนไซยะบุรีมีความสำคัญ เพราะเป็นเขื่อนแรกในแม่น้ำโขงสายหลักตอนล่าง ขณะที่กระบวนการสร้างเขื่อนไซยะบุรีไม่มีความโปร่งใส ไม่มีธรรมาภิบาลอะไรมาตั้งแต่แรก

“ก่อนสร้างรัฐบาลลาว กัมพูชา เวียดนาม ไทย พูดถึงผลกระทบข้ามพรมแดน มีการพูดกันในระดับรัฐบาลมาตั้งแต่แรก แสดงความเป็นห่วงว่าศึกษามากพอแล้วเหรอที่จะสร้าง”

เปรมฤดีเล่าย้อนถึงเหตุการณ์ก่อนหน้าที่จะมีการยื่นฟ้องคดี
“ช่วงเมษายน ๒๕๕๔ มีการพูดเรื่องนี้มาก แต่พอถึงเดือนตุลาคม กฟผ.ไปเซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับบริษัทสร้างเขื่อนไซยะบุรี ทั้งที่ยังไม่เห็นดีร่วมกันในหมู่ประเทศลุ่มแม่น้ำโขง แม้กระทั่งรัฐบาลกลางพูดแล้วว่าขอให้ชะลอ หรือมีการแสดงความเป็นห่วง แต่ผู้สร้าง ระหว่าง กฟผ.กับบริษัทตกลงทำไปเรื่อยๆ

“เดือนธันวาคม ๒๕๕๔ รัฐบาลแม่น้ำโขงประชุมกันที่เสียมเรียบ ยังมีข้อสรุปออกมาว่าขอให้ศึกษาเพิ่มเรื่องผลกระทบ เจ้าหน้าที่ประมงของกัมพูชาบอกว่ามีการประชุมถึงระดับทุบโต๊ะกันไม่รู้กี่ครั้งเพื่อบอกว่าคุณทำไม่ได้นะ มันจะทำให้ประมงในกัมพูชาเสียหายทั้งหมด แต่ว่าสุดท้ายจบลงในเดือนมกราคม มีคนงานจำนวนมากเข้าไปในพื้นที่สร้างเขื่อนไซยะบุรี สัญญาจ้างสองปี เริ่มตัดถนนเข้าไป พูดได้ว่ากระบวนการสร้างเขื่อนไซยะบุรีไม่มีความโปร่งใส ไม่มีธรรมาภิบาลอะไรมาตั้งแต่แรก”
กล่าวได้อย่างหนักแน่นว่ากลไกต่างๆ ระหว่างประเทศ ไม่เว้นแม้แต่กลไกของคณะกรรมมาธิการแม่น้ำโขง หรือ MRC ไม่สามารถยับยั้งการสร้างเขื่อนไซยะบุรี

“ไซยะบุรีเป็นตัวอย่างชัดเจนที่สุด หมายความว่ารัฐบาลกลางสุดท้ายก็เป็นได้แค่ผู้โอบอุ้มกลุ่มทุนขนาดใหญ่ ไม่สามารถปกปักรักษาประชาชนของตัวเองได้” เปรมฤดีกล่าว
หลังเขื่อนไซยะบุรี โครงการเขื่อนดอนสะโฮงก็ตามมาติดๆ กัน นี่อาจเป็น “ชะตากรรมร่วม” หรือ “ตราบาป” ซึ่งทำไว้ร่วมกันระหว่างรัฐบาลลาวกับรัฐบาลไทย

นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ คณบดีวิทยาลัยแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม. ) ตามรัฐธรรมนูญปี ๒๕๕๐ ช่วงปี ๒๕๕๒-๒๕๕๘ ให้ความเห็นว่า

“เขื่อนไซยะบุรีทำให้แม่น้ำโขงโขงกลายเป็นคนป่วย เหมือนอย่างเขื่อนปากมูนทำให้แม่น้ำมูนกลายเป็นคนป่วยมาแล้ว เมื่อแม่น้ำมูนเป็นคนป่วย พวกเราที่เป็นคนลุ่มน้ำก็ป่วยด้วย และเป็นการป่วยแบบเรื้อรัง เหมือนโรคมะเร็งไม่ได้ตายทันที ตายแบบเรื้อรังจนกว่ามะเร็งจะกัดกินไปทุกอวัยวะ ความล้มเหลวในสิ่งที่เรียกว่า ‘ธรรมาภิบาล’ หรือความรับผิดชอบทำให้พวกเรากลายเป็นคนป่วย ชุมชนกลายเป็นชุมชนป่วย เราจะยอมแพ้มั๊ย ถ้าเรายอมแพ้เราจะกลายเป็นคนตาย”

saiyaburi08
๓ พฤษภาคม ๒๕๖๕ ศาลปกครองสูงสุดนัดนั่งพิจารณาคดีครั้งแรก ที่ศาลปกครองกลาง ถนนแจ้งวัฒนะ

๑๒

วันที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๖๕ ครบ ๑๐ ปี นับตั้งแต่วันที่มีการยื่นฟ้องคดี

ส.รัตนมณี พลกล้า ทนายความมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน โพสต์ข้อความลงบนสื่อสังคมออนไลน์ ยืนยันว่าคดีนี้เป็นคดีสำคัญ ที่หลายฝ่ายคาดหวังว่าจะทำให้เกิดการสร้างบรรทัดฐานใหม่ให้กับสังคมไทยและภูมิภาค

“จำได้ว่าชาวบ้านบอกว่า ฟ้องแล้วแพ้จะฟ้องทำไม แต่ก็มีชาวบ้านหลายคนเข้าใจว่า เราจะต้องทำอะไรสักอย่าง เพื่อให้เกิดบรรทัดฐานที่ดี เพื่อให้รู้ไปว่า ไม่มีกฎหมายให้ความคุ้มครองการละเมิดสิทธิในรูปแบบนี้…”

จึงเป็นที่มาของเหตุการณ์ในวันนี้ เมื่อ ๑๐ ปีที่แล้ว การฟ้องคดีเขื่อนไซยะบุรีต่อศาลปกครองกลาง ขอให้เพิกถอนสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระหว่าง กฟผ. และเจ้าของโครงการเขื่อนไซยะบุรี

วันที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๖๕ ศาลปกครองกลางนัดอ่านคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด คือวันถึงที่สุดของคดี คือวันที่จะมีคำตอบว่า ศาลไทย-กฎหมายไทย จะสามารถคุ้มครองผลกระทบข้ามพรมแดนได้หรือเปล่า

ในฐานะทนาย ส.รัตนมณี เชื่อว่าทนายสามารถสร้างกฎหมายได้

“เราเชื่อว่า ทนายความไม่ได้เป็นเพียงคนใช้กฎหมาย แต่ทนายความสามารถเป็นผู้สร้างกฎหมายได้ (We are not only Law User but We are Law Maker) ทำให้เรายังคงสร้างความท้าทายในการดำเนินคดี เพื่อสร้างบรรทัดฐานที่ดี เพื่อให้เกิดการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อม”