กรมหลวงชุมพรฯ ตอนที่ 64 - ประภาคาร ณ เกาะไผ่

“วันที่ ๑๙ พฤษภาคม ควรเป็นวันอาภากร!”

“ข้าพเจ้าว่าอย่างนี้ เพราะวันที่ ๒๔ กันยายน พวกแพทย์ยังเรียกวันนั้นว่าวันมหิดลได้ ไฉนเราจะเรียกวันที่ ๑๙ พฤษภาคม ว่าวันอาภากรไม่ได้?

“วันอาภากร! นี่ข้าพเจ้าฝันไปหรือเปล่า? วันอาภากรล่วงมาได้ ๓๖ ปีเศษแล้ว ทหารเรือรุ่นหลังๆ อาจจะไม่รู้จักถ้าพวกเราไม่ช่วยสถาปนาให้เห็นความสำคัญเช่นกับวันมหิดลของพวกแพทย์ ศาลเจ้าที่นางเลิ้งก็ไม่มีใครไปไหว้ มีแต่เจ๊กไปไหว้

“เมื่อครั้งข้าพเจ้าเป็นผู้บังคับกองโรงเรียนนายเรือ ข้าพเจ้าได้สร้างพระบรมรูปปั้นของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง รูปของพระยาราชวังสัน (ศรี กมลนาวิน) ข้าพเจ้าจะคิดสร้างพระรูปของเสด็จเตี่ยเหมือนกัน แต่โยนให้ทางการสร้างจะได้องค์โตหน่อย แต่แล้วก็ได้แต่คอย ป่านนี้พวกเรายังไม่มีพระรูปปั้นของเสด็จเตี่ย ข้าพเจ้าชักเสียดายที่ข้าพเจ้าลังเลไป ถ้าได้รู้อย่างนี้ข้าพเจ้าไม่รีรอแล้ว

“บัดนี้ข้าพเจ้าเสียโอกาสทั้งพระรูปและวันที่ระลึกของพระองค์ท่าน!

“ใครจะเป็นผู้ดำริรวบรวมเงินและโลหะ เพื่อสร้างพระรูปเสด็จในกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์?

“ใครจะเป็นผู้ริเริ่มให้มีวันอาภากร?

“พระรูปสร้างแล้วจะประดิษฐาน ณ ที่ใด? โรงเรียนนายเรือ? กรมเสนาธิการทหารเรือ? กองทัพเรือ? สร้างขนาดโตกว่าองค์สักกี่เท่า?

“ถ้าได้สร้างพระรูป วันอาภากรต้องตามมาแน่!

“ว่าแต่ว่า ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ควรดำริงานทั้งสองชิ้นนี้?”

ในปี ๒๕๐๒ นาวาเอก สวัสดิ์ จันทนี อดีตนายทหารเรือผู้ “ติดหลังแห” คดี “แมนฮัตตัน” จนต้องออกจากราชการ เขียนปรารภไว้ใน “นิทานชาวไร่” คอลัมน์ประจำของท่านใน “นาวิกศาสตร์” ว่าถึงเวลาแล้ว ที่ทางกองทัพเรือจะต้องมี “พระรูป” คือพระอนุสาวรีย์ของกรมหลวงชุมพรฯ และวันที่ระลึก ซึ่งท่านเสนอมาตั้งแต่ครั้งนั้นว่าให้เรียกชื่อเป็น “วันอาภากร” โดยกำหนดตามวันสิ้นพระชนม์ คือ ๑๙ พฤษภาคม ทำนองเดียวกับที่บรรดาแพทย์มีพระอนุสาวรีย์สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก (สมเด็จฯ เจ้าฟ้า กรมหลวงสงขลานครินทร์) ตั้งแต่วาระที่โรงเรียนแพทย์มีอายุ ๖๐ ปี เมื่อปี ๒๔๙๓ พร้อมกับการเกิดขึ้นของ “วันมหิดล” (๒๔ กันยายน) แต่จนถึงขณะนั้นคือในปี ๒๕๐๒ ทหารเรือยังไม่มีทั้งพระอนุสาวรีย์กรมหลวงชุมพรฯ และวันที่ระลึกของ “เสด็จเตี่ย” เลย

แต่ทหารเรือก็มี “สถานที่” หรืออนุสรณ์สถานอันเนื่องด้วยกรมหลวงชุมพรฯ มาตั้งแต่หลังสิ้นพระชนม์ไม่นาน

แห่งแรกที่เฉลิมพระเกียรติด้วยการนำพระนามกรมหลวงชุมพรฯ มาใช้เป็นชื่อเรียก คือประภาคารอาภากร ที่เกาะไผ่ในอ่าวไทย (ทางตะวันตกของเกาะล้าน) จังหวัดชลบุรี ซึ่งพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ และประชาชน ร่วมกันบริจาคทรัพย์จัดสร้างขึ้นหลังวันสิ้นพระชนม์ในปี ๒๔๖๖ ไม่นาน เพื่อ

“…ให้เปนอนุสาวรีย์ ที่ระลึกถึงพระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ เสนาบดีกระทรวงทหารเรือ…เพื่อเปนสาธารณะประโยชน์แก่การเดินเรือในทะเล…ขออุทิศส่วนกุศลถวายพระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ให้ทรงบรรลุสุภอิฐวิบุลผลดังเจตนานั้น เทอญ…”

ประภาคารแห่งนี้ได้รับนามว่า “ประภาคารอาภากร” และเปิดใช้ตอนต้นทศวรรษ ๒๔๗๐ ถือเป็นประภาคารที่มองเห็นได้ไกลที่สุดของประเทศสยาม ณ เวลานั้น


sadettia03
“เสด็จเตี่ย” กรมหลวงชุมพรฯ

บทความชุดนี้มีต้นทางจากหนังสือพระประวัติกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ของผู้เขียน คือ “ให้โลกทั้งหลายเขาลือ” (พิมพ์ครั้งแรกโดยสำนักพิมพ์สารคดี ๒๕๖๓ ราคา ๔๘๐ บาท) โดยเล่าเก็บความจากหนังสือ และเสริมบางประเด็นที่มีข้อมูล หรือความคิดเห็นเพิ่มเติมภายหลังหนังสือตีพิมพ์ออกมาแล้ว

สั่งซื้อหนังสือ