เรื่อง : ภัคจิรา มาตาพิทักษ์
ภาพ : ศุภาวีร์ จุลบุตร

#SAVEศาลเจ้าแม่ทับทิม : มรดกชุมชนสามย่านที่กำลังหายไปตาม “การพัฒนา”

จุดหมายปลายทางของฉันในวันเสาร์ที่อากาศร้อนระอุที่สุดวันหนึ่งในเดือนกรกฎาคม ๒๕๖๕ คือศาลเจ้าอันโด่งดังย่านจุฬาฯ–สามย่าน

“ศาลเจ้า” ในความคิดของคนทั่วไปคงเป็นสถานที่อันเต็มไปด้วยผู้คนมากหน้าหลายตา หลากเชื้อชาติ หลายช่วงวัย ภายในคละคลุ้งด้วยกลิ่นและควันธูป ละลานตาด้วยของเซ่นไหว้ มีเสียงดังเซ็งแซ่ของผู้คนตลอดเวลา และศาลเจ้ามักจะตั้งอยู่ใจกลางชุมชนสักแห่งหนึ่ง

แต่ “ศาลเจ้าแม่ทับทิม สะพานเหลือง” ที่ฉันมาเยือนไม่ใช่แบบนั้น

ภาพสิ่งปลูกสร้างตรงหน้าคือศาลเจ้าเล็กๆ สีแดงสดของพื้นที่ศาลเจ้าตัดกับสีเทาหม่นของแผงกั้นไซต์งานก่อสร้างขนาดมโหฬารอย่างชัดเจน คล้ายเป็นการตีเส้นแบ่งเขตแดนกันกลายๆ

เสียงที่ดังเข้ามาในโสตประสาทก็หาใช่เสียงของผู้คนอย่างที่ควรจะเป็น หากคือเสียงเครื่องจักรและเครื่องมือก่อสร้างของคนงานที่ลอดมาจากแผงกั้นโลหะรอบข้าง

เมื่อเดินเข้าไปในศาลเจ้า บุคคลที่ส่งยิ้มทักทายต้อนรับให้ฉันคือ “พี่นก” เพ็ญประภา พลอยสีสวย ทายาทผู้สืบทอดตำแหน่งผู้ดูแลศาลเจ้าแม่ทับทิมอันเก่าแก่แห่งนี้

savesal01
ศาลเจ้าแม่ทับทิม สะพานเหลือง ถูกล้อมรอบด้วยไซต์งานก่อสร้าง ซึ่งทำให้น้อยคนนักที่จะเห็นทางเข้าเล็กๆ
savesal02
“นก” เพ็ญประภา พลอยสีสวย อาจเป็นผู้ดูแลศาลเจ้าแม่ทับทิม สะพานเหลือง คนสุดท้าย หากศาลถูกทุบทิ้งเนื่องจากการพัฒนาของเมือง

“ตามคำบอกเล่าเท่าที่รู้มา บรรพบุรุษของครอบครัวแฟนเราเป็นคนอุ้มเจ้าแม่ทับทิมขึ้นมาจากแม่น้ำตรงสี่พระยา เป็นครอบครัวที่ดูแล ‘อาม่า’ มาตั้งแต่รุ่นก๋ง และสืบทอดมาให้แม่ของแฟนเราเป็นดูแล พอแม่แฟนเราเสียก็สืบทอดมาเป็นแฟนเรา แต่แฟนก็มาจากไปอีก ตอนนี้ก็เลยต้องเป็นเราที่คอยดูแลศาลเจ้าแม่ทับทิม”

พี่นกเล่าถึงความเป็นมาของ “อาม่า” หรือเจ้าแม่ทับทิมอันศักดิ์สิทธิ์และเป็นที่เคารพศรัทธาของผู้คนในชุมชนสามย่าน ภายในศาลเจ้าแห่งนี้ประดับประดาด้วยของตกแต่งอันเป็นศิลปะแบบจีนโบราณ ทั้งภาพวาดต่างๆ และตัวอักษรจีนดั้งเดิม รวมถึงกระถางรูปสีทองตรงกลางศาลเจ้าซึ่งรัชกาลที่ ๖ พระราชทาน สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นเครื่องยืนยันถึงความเก่าแก่และมนต์ขลังของศาลเจ้าแม่ทับทิมที่อยู่คู่ชุมชนสามย่าน

“เดิมทีศาลเจ้าอยู่ตรงสะพานเหลือง แถวๆ สน. ปทุมวันเก่า เราเห็นจากในรูปภาพว่าเป็นบ้านไม้สองชั้น แต่พอเกิดเหตุไฟไหม้จึงย้ายมาอยู่ตรงนี้ ศาลนี้สร้างเสร็จเมื่อปี ๒๕๑๓ พอเราแต่งงานกับแฟนก็ย้ายมาอาศัยอยู่ตรงนี้เลย สมัยนั้นแถวนี้มีคนอยู่มากมาย แต่ตอนนี้คนในชุมชนเดิมที่โดนไล่ที่ก็ย้ายออกไปกันหมดแล้ว”

พื้นที่ชุมชนสามย่านและรอบบริเวณจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอันเป็นที่คุ้นตาของพวกเราในปัจจุบัน ต่างรายล้อมไปด้วยห้างสรรพสินค้าหรูหราและคอนโดมิเนียมใหญ่โตทุกทิศทาง แต่แท้จริงแล้วในอดีตพื้นที่ละแวกนี้เคยเป็นย่านร้านขายชิ้นส่วนอะไหล่และเครื่องยนต์ที่เรียกว่า “ชุมชนเซียงกง (สวนหลวง)” แต่ต่อมาถูกขอคืนพื้นที่เพื่อสร้างศูนย์การค้าเสียหมด ปัจจุบันจึงเหลือเพียงศาลเจ้าแม่ทับทิมแห่งนี้เท่านั้นที่ยังคงยืนหยัดอยู่ที่เดิมท่ามกลางชุมชนรอบข้างที่ค่อยๆ เปลี่ยนแปลงกลายเป็นตึกหรูสูงระฟ้า

“จริงๆ แล้วพวกเขาก็คงไม่อยากจะย้ายหรอก แต่มันจำเป็น เพราะตอนแรกๆ ชุมชนละแวกนี้ก็เคยไปประท้วงเหมือนกัน แต่ก็โดนกดดันทุกทางแบบเรา สุดท้ายก็สู้ไม่ได้ คนแถวนี้ก็เป็นแค่คนตัวเล็กๆ และเงินอีกฝ่ายก็หนากว่า เขาให้ค่าชดเชยประมาณหลังละ ๒-๓ แสน คนในชุมชนเลยต้องย้ายออกไปกันหมดเลย”

วิกฤตครั้งใหญ่เกิดขึ้นเมื่อสำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาฯ ส่งหนังสือให้ผู้ดูแลศาลเจ้าแม่ทับทิม –ซึ่งก็คือพี่นก โดยระบุเรื่องว่า “ขอให้ย้ายออกจากพื้นที่ศาลเจ้าแม่ทับทิม” ภายในวันที่ ๑๓ มิถุนายน ๒๕๖๓ ด้วยเหตุผลว่าสิ้นสุดการเช่าที่ดินตั้งอาคารในวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๕๘ จนเกิดเป็นกระแส #Saveศาลเจ้าแม่ทับทิม และยืดเยื้อจนกลายเป็นคดีความมาถึงปัจจุบัน

savesal03
องค์เจ้าแม่ทับทิม เทพนารีแห่งท้องทะเล
savesal04
หลังจากชุมชนเซียงกงย้ายออกไป ศาลเจ้าแม่ทับทิมจากที่เคยรุ่งโรจน์ กลับกลายเป็นเงียบเหงา

แม้จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ของสังคมต่อการเรียกคืนพื้นที่ศาลเจ้าแม่ทับทิมของสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่ทางสำนักงานฯ ก็ยังคงเดินหน้ากดดันพี่นกและครอบครัวให้เร่งย้ายออกจากศาลเจ้า จนถึงขั้นฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายมากกว่า ๑๐๐ ล้านบาท

แต่อาจจะด้วยกระแส #Saveศาลเจ้าแม่ทับทิม รวมถึงกระแสต่อต้านจากนิสิตและคนในสังคม หรือด้วยเหตุผลอื่นใดก็ตาม ทางสำนักงานฯ จึงออกมาชี้แจงว่าจะสร้างศาลเจ้าแม่ทับทิมแห่งใหม่ทดแทน ทั้งยังให้คำมั่นว่าจะสร้างให้สวยงาม สมเกียรติ และคงเอกลักษณ์ของศาลเจ้าเดิมให้ได้มากที่สุด

ทว่าสุดท้ายแล้วศาลเจ้าแห่งใหม่ที่สร้างโดยสำนักงานฯ กลับสร้างความเจ็บปวดให้คนในชุมชนยิ่งกว่าเดิมเสียอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งพี่นกผู้ผูกพันกับศาลเจ้าแม่ทับทิม

“ได้ไปเห็นศาลเจ้าใหม่ตรงอุทยาน ๑๐๐ ปีที่จุฬาฯ สร้างมาแล้ว เห็นแล้วก็พูดไม่ออก ประตูที่ศาลเจ้าใหม่เขาก็แค่เอาสติกเกอร์ธรรมดาๆ มาแปะ ตัวอักษรจีนบางตัวก็เขียนผิด เหมือนว่าเขาไม่เต็มใจจะสร้างด้วยซ้ำ กลับกลายเป็นว่าไม่มีอะไรเหมือนเดิมเลยสักอย่าง แถมยังย่อให้เล็กลงกว่าเก่าทุกอย่างอีก ข้างในก็ไม่มีอะไรเหมือนกับที่นี่เลย”

พี่นกยังเล่าเพิ่มเติมว่า ในสมัยที่ชุมชนเซียงกง (สวนหลวง) รอบข้างยังไม่แปลงสภาพเป็นไซต์ก่อสร้าง มีผู้คนหลั่งไหลเข้ามากราบไหว้องค์เจ้าแม่ทับทิมกันไม่ขาดสาย ของเซ่นไหว้ ของแก้บน และขี้ธูปบนกระถางเพิ่มขึ้นทุกวันไม่มีเว้นว่าง ทั้งยังมีการจัดงานประชันงิ้วอย่างยิ่งใหญ่ แต่ตั้งแต่เกิดคดีความกับสำนักงานฯ รวมถึงพิษโควิด-๑๙ ทำให้ศาลเจ้าแม่ทับทิมแห่งนี้เงียบเหงาลงจากแต่ก่อนมาก

“พอมีไซต์ก่อสร้างมาขนาบรอบข้าง บางคนก็ไม่กล้าเข้ามาในซอยนี้ บางคนไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามีศาลเจ้าแม่ทับทิมอยู่ในนี้ นอกจากคนที่ตามข่าวถึงจะรู้ว่าเรายังอยู่ที่เดิม ยังไม่ได้ย้ายไปไหน และเป็นคนละที่กับศาลเจ้าใหม่ของจุฬาฯ เขาถึงจะกล้าเดินเข้ามากัน แล้วบางทีคนที่ตั้งใจจะมาที่นี่แต่ไม่รู้ทาง ถ้าไปถามทางเจ้าหน้าที่ของจุฬาฯ บางคนก็จะโดนชี้ให้ไปทางศาลเจ้าใหม่ เหมือนกับว่าไม่มีศาลเจ้าแม่ทับทิมตรงนี้แล้ว”

savesal05
กระถางธูปที่รัชกาลที่ 6 พระราชทานให้ สลักว่า จปร. เป็นหนึ่งในหลักฐานที่แสดงว่า ศาลแห่งนี้ดำรงอยู่คู่กับชุมชนมาเนิ่นนานกว่า 100 ปี
savesal06
คนเฒ่าคนแก่ที่ศรัทธายังเดินทางมากราบไหว้เป็นประจำ

บางคนอาจมองว่าศาลเจ้าเป็นเรื่องของความคิดความเชื่อแบบเก่าๆ ที่เหนี่ยวรั้งการพัฒนา แต่ศาลเจ้าแม่ทับทิมที่ฉันได้เห็นด้วยตาตัวเองนั้นหาใช่เป็นความงมงายอย่างที่ใครเขากล่าวหา หากคือชีวิต ความศรัทธา และเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจของผู้คนในชุมชนที่ไม่อาจมีสิ่งใดมาแทนที่ได้

บรรยากาศของศาลเจ้าในวันที่ได้เห็นเต็มไปด้วยคนเฒ่าคนแก่ หรือแม้แต่นิสิตนักศึกษาและคนรุ่นใหม่ที่เดินทางมาศึกษาเรียนรู้ประวัติศาสตร์ชุมชนและวัฒนธรรมเก่าแก่ที่อยู่เคียงคู่พื้นที่สามย่านมาเนิ่นนาน แม้แต่คณะกรรมการศาลเจ้าแม่ทับทิมที่พาฉันเยี่ยมชมศาลเจ้าก็ยังเป็นนิสิตจุฬาฯ เป็นคนรุ่นใหม่ที่เห็นคุณค่าของศาลเจ้าที่คงกลิ่นอายความงดงามของวันวานมากกว่าตึกพาณิชย์สูงใหญ่

ไม่ว่าจะมีคนเดินทางมาที่ศาลเจ้าแม่ทับทิมมากหรือน้อยถึงเพียงใด พี่นกก็ยังคงทำหน้าที่ดูแลความเรียบร้อยและให้คำแนะนำต่างๆ แก่ผู้มาเยี่ยมเยียนได้อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง

เพราะศาลเจ้าแห่งนี้ไม่ได้เป็นเพียงพื้นที่สักการบูชาองค์เจ้าแม่ทับทิมของคนในชุมชน แต่ยังเป็น “บ้าน” ที่พี่นกและครอบครัวอยู่อาศัยมานานหลายปี

“เหนื่อยไหมที่ต้องคอยดูแลศาลเจ้ามานานขนาดนี้” ฉันถาม พลางมองพี่นกที่กำลังนั่งจัดธูปให้เป็นกลุ่มๆ ตามจำนวนเพื่อให้สะดวกแก่คนที่มากราบไหว้เจ้าแม่ทับทิม

“ชินแล้ว ก็มีบ้างที่รู้สึกเหนื่อย แต่หลังๆ เรามีคนคอยช่วย บริเวณศาลเจ้าเป็นหน้าที่ดูแลหลักของเรา แต่พวกโซนห้องครัว ห้องน้ำ ที่พักอาศัยส่วนตัวก็จะให้น้องชาย หลาน และคนที่เข้ามาขออาศัยด้วยช่วยกันดูแลจัดการ”

savesal07
นิสิตนักศึกษารวมตัวกันทุกปี มาเยี่ยมชมศาลเจ้าแม่ทับทิม สะพานเหลือง เพื่อศึกษาวัฒนธรรมของชุมชนสามย่าน 
savesal08
ด้านหน้าศาลเจ้าแม่ทับทิม สะพานเหลือง ปรากฏภาพและตัวอักษรสะท้อนเรื่องราวประวัติศาสตร์และความเชื่อที่เขียนขึ้นด้วยความประณีต

ตามข้อมูลที่พี่นกเล่าให้ฟัง ศาลจะเรียกทั้งสองฝ่ายคือพี่นกและทางสำนักงานฯ มาฟังคำตัดสินในปลายเดือนกรกฎาคม ๒๕๖๕ ครั้นถามถึงอนาคตอันใกล้ ว่าพี่นกจะทำอย่างไรหากว่าคำตัดสินคือคำสั่งที่บังคับให้ต้องย้ายออก คำตอบของพี่นกพลอยทำให้บรรยากาศของศาลเจ้าในวันนั้นเงียบเหงาลงกว่าที่เคย

“เราก็ไม่รู้ว่าจะได้อยู่ที่นี่อีกนานสักแค่ไหนเหมือนกันนะ เพราะวันที่ ๒๖ กรกฎาคมนี้ ศาลก็จะเรียกไปฟังคำตัดสินแล้ว ถ้าผลตัดสินของศาลบอกว่าเราต้องย้ายออก ก็ไม่มีทางเลือกอื่น เพราะเขาบอกว่าถ้าเราไม่ยอมย้ายออก จะดำเนินการตามกฎหมาย”

ทางเลือกที่ได้รับมีไม่มากนัก ยิ่งมีเรื่องของกฎหมายเข้ามา อนาคตของศาลเจ้าแม่ทับทิม สะพานเหลือง “จะอยู่หรือจะไป” ไม่ว่าอย่างไรคงมีเพียงสองทางนี้เท่านั้น

“ได้เผื่อใจไว้บ้างไหมว่าวันหนึ่งอาจจะต้องย้ายออกไปจากที่นี่” ฉันถาม แม้จะรู้อยู่แก่ใจว่าการ “เผื่อใจ” ไม่ใช่สิ่งที่ทำง่ายดังใจปรารถนา

“เราทำใจเอาไว้แล้วล่ะว่าวันหนึ่งคงต้องย้ายจริงๆ แต่มันก็มีบางแหละไอ้ความรู้สึกเสียใจ คงมีบ้างที่จะร้องห่มร้องไห้ เพราะตรงนี้เราอยู่มานานเกินครึ่งชีวิตแล้ว ๒๗ ปีแล้ว ผูกพันกับที่นี่มาก ใช้ชีวิตอยู่กับศาลเจ้านี้มาโดยตลอด และบอกตามตรงว่าเราคงไม่มีทุนทรัพย์มากพอจะสร้างศาลใหม่ให้ใหญ่โตได้แบบตรงนี้หรอก” พี่นกตอบกลับมา พร้อมส่งรอยยิ้มอันแสนอ่อนโยนให้ฉัน

savesal09
ศาลเจ้าแม่ทับทิมใหม่ ที่สร้างแทนศาลเดิม แต่ชุมชนเห็นว่าไม่อาจทดแทนศาลเจ้าแม่ทับทิมเดิมในด้านความละเอียดและงดงามของศิลปะ อย่างภาพเทพเจ้าประจำประตูที่ใช้สติ๊กเกอร์

ศาลเจ้าแม่ทับทิม สะพานเหลือง มีประวัติศาสตร์อยู่คู่กับชุมชนสามย่านยาวนานกว่า ๑๐๐ ปี ในขณะที่การพัฒนาที่ดินโดยรอบของสำนักงานฯ กลับทำไปเพียงเพื่อประโยชน์ทางพาณิชย์ ทั้งการให้รื้อถอนและกดดันคนในชุมชน บีบบังคับคนตัวเล็กตัวน้อยให้ต้องละทิ้งบ้านของตนเอง แทนที่จะเจรจาเพื่อหาทางอยู่ร่วมกันระหว่างชุมชนและการพัฒนาที่ดิน เพราะสุดท้ายการพัฒนาเมืองจำเป็นต้องคำนึงถึงชีวิต จิตใจ และจิตวิญญาณของคนในชุมชน

บริบททางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของศาลเจ้าแม่ทับทิมมีอายุมากกว่า ๑๐๐ ปี มีทั้งคุณค่าทางด้านสถาปัตยกรรมดั้งเดิมซึ่งเป็นการก่อสร้างของช่างจีนโบราณและคุณค่าทางจิตใจที่ยึดโยงกับวิถีชีวิตของผู้คน รวมถึงเป็นแหล่งเรียนรู้ของนิสิตและเป็นแหล่งรวมวัฒนธรรมจีนแต้จิ๋วอันเก่าแก่ที่ไม่อาจสร้างใหม่มาทดแทน

“ศาลเจ้าแม่ทับทิมแห่งนี้เป็นสถานที่ที่ผู้คนมากมายศรัทธามานาน และยังเป็นพื้นที่ให้นิสิตนักศึกษาได้มาเรียนรู้ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม สุดท้ายถ้าต้องถูกทุบทิ้งไป พื้นที่โดยรอบจุฬาฯ จะไม่มีความเป็นชุมชนหลงเหลืออีกแล้วนะ ถ้านิสิตรุ่นหลังอยากจะมาศึกษาประวัติศาสตร์หรือวัฒนธรรมชุมชนก็คงได้แต่มองภาพเก่าๆ ที่ถ่ายเก็บไว้ เรากลับรู้สึกว่าจุฬาฯ ควรจะต้องภูมิใจนะที่มีสถานที่แบบนี้” คำยืนยันจากพี่นกสะท้อนว่าศาลเจ้าแม่ทับทิมไม่ใช่เพียงสถานที่ หากคือผู้คนและชุมชน

พี่นกยืนยันกับฉันว่าไม่เคยขัดขวางการพัฒนาที่ดิน เพราะแน่นอนว่าสิ่งต่างๆ ย่อมต้องปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้นกว่าเดิม ทว่าคำถามสำคัญคือเหตุใดสำนักงานฯ จึงจำเป็นต้องรื้อถอนและทิ้งคนตัวเล็กตัวน้อยให้ดิ้นรนหาทางใช้ชีวิตกันต่อเอง เราจะร่วมกันสร้างการพัฒนาไปพร้อมกับรักษาชุมชนรอบข้างไว้ไม่ได้เลยหรือ

ระหว่างเดินออกมาจากซอยเล็กๆ อันเป็นที่ตั้งของศาลเจ้า ฉันหันมองไปรอบกาย จดจ้องแผงกั้นโลหะสูงใหญ่ สดับฟังเสียงคล้ายเหล็กกระทบกันดังมาจากไซต์ก่อสร้าง เงยหน้ามองโครงเหล็กขนาดมหึมาที่อาจกลายเป็นคอนโดฯ หรือห้างหรูหราในอนาคต พลางคิดในใจซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่าเราจะมีตึกสูงระฟ้ามากมายไปเพื่ออะไร หากว่าไม่เคยเห็นค่าของคนตัวน้อยๆ บนพื้นดิน

เราจะสร้างห้างหรูหรารายล้อมตัวไปทำไม หากต้องแลกมาด้วยการกระชากทำลายชีวิตและจิตใจของใครหลายคน และเราจะเรียกสิ่งนี้ว่าการพัฒนาได้จริงหรือ หากท้ายที่สุดมันไร้ซึ่งความเป็นมนุษย์อยู่ในนั้น

วินาทีสุดท้ายก่อนสีแดงสดของศาลเจ้าแม่ทับทิมจะลับไปจากสายตา

ฉันอธิษฐานภาวนา ขอให้โชคชะตาอยู่เคียงข้างเรา