กรมหลวงชุมพรฯ ตอนที่ 66 - วันอาภากร และ เรือนหมอพร

ในคอลัมน์ “นิทานชาวไร่” ของนาวาเอก สวัสดิ์ จันทนี ที่ลงพิมพ์ในวารสาร “นาวิกศาสตร์” เมื่อปี ๒๕๐๒ กล่าวถึงแนวคิดการสร้างพระอนุสาวรีย์ “เสด็จเตี่ย” กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ว่า หากมีพระอนุสาวรีย์เมื่อใด “วันอาภากร” ย่อมต้องเกิดขึ้นตามมาแน่นอน

แต่ตราบจนวันที่นาวาเอกสวัสดิ์ถึงแก่กรรมเมื่อเดือนพฤศจิกายน ๒๕๑๑ แม้จะมีพระอนุสาวรีย์แห่งแรกที่กองทัพเรือจัดสร้างแล้ว ทว่ายังไม่เคยมีการกำหนด “วันอาภากร” ขึ้นเลย

ล่วงมาอีกกว่า ๒ ทศวรรษ วันที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๓๕ พลเรือตรี กรีฑา พรรธนะแพทย์ จึงมีหนังสือเสนอกองทัพเรือ ให้กำหนดวันที่ ๑๙ พฤษภาคม ของทุกปี อันตรงกับวันสิ้นพระชนม์ (๑๙ พฤษภาคม ๒๔๖๖) ของพลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ เป็น “วันอาภากร”

ในเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๓๖ จึงมีประกาศกองทัพเรือ กำหนดให้วันที่ ๑๙ พฤษภาคม เป็น “วันอาภากร” พร้อมกับถวายสมัญญานามเทิดพระเกียรติให้พระองค์เป็น “พระบิดาแห่งกองทัพเรือไทย” ก่อนจะเปลี่ยนใจแก้ใหม่เป็น “พระบิดาของกองทัพเรือไทย” ในอีกไม่กี่วันต่อมา แล้วสุดท้ายจึงแก้ซ้ำอีกครั้ง เมื่อวันที่ ๑๙ เมษายน ๒๕๔๔ ให้เทิดพระเกียรติกรมหลวงชุมพรฯ ว่าทรงเป็น “องค์บิดาของทหารเรือไทย”

ขณะที่ทางกองทัพเรือกำหนดให้“วันอาภากร” คือวันที่ระลึกของกรมหลวงชุมพรฯ ตรงกับวันที่ ๑๙ พฤษภาคม ด้วยนับเอาวันสิ้นพระชนม์เป็นวาระให้ระลึกถึง ทำนองเดียวกันที่กำหนดให้วันที่ ๒๓ ตุลาคม วันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เป็น “วันปิยมหาราช” และกำหนด “วันมหิดล” ตามวันคล้ายวันสวรรคตของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก (สมเด็จฯ เจ้าฟ้า กรมหลวงสงขลานครินทร์) คือวันที่ ๒๔ กันยายน

ส่วนทางวิทยาลัยพณิชยการพระนคร (ปัจจุบันยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ศูนย์พณิชยการพระนคร) เคยกำหนด “วันอาภากร” โดยยึดถือวันคล้ายวันประสูติ คือ ๑๙ ธันวาคม แทน

สถานศึกษาแห่งนี้มีประวัติสืบเนื่องยาวนานมากว่า ๑๐๐ ปี เคยต้องย้ายที่ตั้งหลายครั้งหลายหน จนท้ายที่สุดจึงมาตั้งหลักในบริเวณที่เคยเป็น “วังนางเลิ้ง” ของกรมหลวงชุมพรฯ (หรือที่นิยมเรียกกันในหมู่ชาวพณิชยการพระนครว่า “วังสน”) ตั้งแต่ปี ๒๔๙๑ เพื่อแสดงกตเวทิตาต่อท่านผู้เป็น “เจ้าที่เจ้าทาง” เดิม จึงนำไปสู่การสถาปนาพระอนุสาวรีย์กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ขึ้น โดยมีพิธีเปิดตั้งแต่ปี ๒๕๑๙

มาระยะหลัง แม้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ศูนย์พณิชยการพระนคร ยังกำหนดจัดงานในวันที่ ๑๙ ธันวาคมเหมือนเดิม แต่ได้เปลี่ยนชื่อเรียกให้ต่างออกไปคือ “วันอาภากรรำลึก” พร้อมกันนั้นก็มีกำหนดจัดงาน “วันอาภากร” ๑๙ พฤษภาคม เพิ่มขึ้นตามแบบของกองทัพเรือ โดยมีกิจกรรมเช่นการวางพวงมาลาถวายสักการะพระอนุสาวรีย์ และการเปิดให้ชมนิทรรศการพระประวัติและพระกรณียกิจของกรมหลวงชุมพรฯ ใน “เรือนหมอพร”

ว่ากันว่าเดิมเป็นบ้านของหม่อมเมี้ยน หม่อมห้ามคนหนึ่งของกรมหลวงชุมพรฯ แต่เนื่องจากเป็นอาคารหลังเดียวจากวังนางเลิ้งยุคเสด็จในกรมฯ ที่หลงเหลือมาถึงปัจจุบัน ภายหลังจึงได้รับการบูรณะ เคลื่อนย้ายตำแหน่งที่ตั้ง รวมถึงเรียกชื่อให้ใหม่เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่กรมหลวงชุมพรฯ ว่า “เรือนหมอพร”

จนหลายคนพลอยเข้าใจไปว่าอาคารหลังดังกล่าวเป็น “ตำหนัก” ดั้งเดิมของ “เสด็จเตี่ย”


sadettia03
“เสด็จเตี่ย” กรมหลวงชุมพรฯ

บทความชุดนี้มีต้นทางจากหนังสือพระประวัติกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ของผู้เขียน คือ “ให้โลกทั้งหลายเขาลือ” (พิมพ์ครั้งแรกโดยสำนักพิมพ์สารคดี ๒๕๖๓ ราคา ๔๘๐ บาท) โดยเล่าเก็บความจากหนังสือ และเสริมบางประเด็นที่มีข้อมูล หรือความคิดเห็นเพิ่มเติมภายหลังหนังสือตีพิมพ์ออกมาแล้ว

สั่งซื้อหนังสือ