นทธร เกตุชู : เรื่อง
อภิชญา ผ่องพุฒิ : ภาพ
หากกำเงินครึ่งแสนเข้าไปร้านเครื่องดนตรีในห้างดัง พนักงานขายคงเอ่ยแนะนำ Martin หรือ Taylor ที่เป็นแบรนด์ดังระดับโลก แต่หากถามถึง “สติกีตาร์” พนักงานขายหลายคนอาจไม่เคยได้ยินชื่อมาก่อนด้วยซ้ำ
สติกีตาร์ไม่มีหน้าร้าน รับสั่งทำกีตาร์ทำมือ (handcraft guitar) เพื่อเจ้าของแต่ละคนเท่านั้น
ทำไมหลายคนจึงยอมรอกีตาร์ตัวเดียวนานเป็นเดือนๆ บางครั้งอาจกินเวลาเป็นปีๆ ?
หรือความพิเศษของสติกีตาร์อยู่ที่วัสดุแปลกใหม่ คุณภาพ และความสวยงามที่ไม่มีใครเหมือน
หรือเพราะสติกีตาร์ไม่ได้ขายแค่ไม้ประกอบที่สร้างเสียงออกมาได้ แต่เป็นตัวตน งานศิลป์ และปรัชญาที่สลักลงในกีตาร์ไม้ทำมือ ที่บางทีกีตาร์ยี่ห้อดังในห้างอาจมอบให้ไม่ได้
ดนตรีคือสภาพทางภูมิศาสตร์แบบหนึ่ง
ลึกเข้าไปในซอยวิภาวดี ๒๐ กรุงเทพมหานคร เวลาเกือบเที่ยงวัน บ้านเดี่ยวสีขาวสภาพกึ่งใหม่กึ่งเก่าที่ภายนอกไม่ได้แตกต่างจากบ้านหลังอื่น ๆ ในบริเวณใกล้เคียง หน้าบ้านมีเพียงแอ่งน้ำจากฝนที่ตกเมื่อเช้า ไม่มีป้ายบอกไว้ว่านี่เป็นร้านรวงอะไร แต่หลังบ้านคือสถานที่ผลิตกีตาร์ราคาเรือนแสนจำนวนไม่น้อย
ขี้เลื่อยบนกระเบื้องสีขาว พัดลมหมุนเอื่อย ๆ เสียงขัด ตัด รวมถึงเสียงเครื่องจักร บอกให้รับรู้ว่านี่คือร้านกีตาร์ทำมือที่สร้างเครื่องดนตรีไม้หกสายเหล็ก เกือบทุกขั้นตอนมาจากมือมนุษย์
ช่างกานต์–ศุภกานต์ มุทุมล เจ้าของแบรนด์ สติกีตาร์(Sti guitars) ชายผิวขาว ใส่แว่น หนวดเคราประปราย ที่หลายคนรู้จักในฐานะ “ลูเทียร์” (Luthier-ช่างทำเครื่องดนตรีไม้) และหลายคนอาจจำเขาได้ในชื่อ กานต์ วง HUM นักร้องนำเจ้าของเสียงในบทเพลง “รออยู่ตรงนี้” เล่าว่า
“ชีวิตเราวนเวียนอยู่กับดนตรีตลอด ตั้งแต่เด็กยันโต แต่ไม่ใช่ว่าชอบกีตาร์ตั้งแต่แรกนะ”
กลองชุดเป็นเครื่องดนตรีชนิดแรกที่ศุภกานต์เริ่มจับ ตามประสาเด็กผู้ชายตั้งวงเล่นดนตรีกับเพื่อนในสมัยมัธยมศึกษา ความสนใจในดนตรีส่งต่อให้เขาหลงใหลจนถึงช่วงเรียนมหาวิทยาลัย และนั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นในการก่อตั้งวง HUM
สมาชิกวง HUM ตีกลองได้ถึงสามคน แต่ตำแหน่งมือกลองมีเพียงหนึ่ง ศุภกานต์จึงเป็นนักร้องนำและมือกีตาร์
“วันที่รู้ว่าเป็นนักร้อง โห นี่เราได้เป็นจริง ๆ เหรอวะ เป็นฟรอนต์แมนเลยนะ” เขาเล่าด้วยน้ำเสียงขบขันปนเหลือเชื่อที่ได้มาอยู่ในตำแหน่งซึ่งเรียกกันว่าเป็นหน้าเป็นตาของวง
โชคชะตาอาจมีส่วน วง HUM ได้เซ็นสัญญากับค่ายแกรมมี่ ก่อนที่ความมั่นคงในโลกทุนนิยมจะเริ่มเรียกหา สมาชิกแต่ละคนแยกย้ายกันไปตามเส้นทางของตัวเองและกลับมาพบกันในวันที่สมควร
“หลังจากนั้นก็ไปทำงานบริษัท แต่รู้สึกว่าไม่ใช่ตัวเรา ไม่ค่อยชอบเจอคนขนาดนั้น เลยตั้งเป้าใหม่อยากหางานที่ตอบโจทย์ชีวิตด้วย ก็พบว่าทั้งชีวิตเราวนเวียนอยู่กับดนตรี อยากอยู่กับมันไปตลอด จนวันหนึ่งไปเจอการทำกีตาร์ เลยตัดสินใจเริ่มเรียนตั้งแต่ปี ๒๕๕๔ และทำมาจนถึงตอนนี้ปี ๒๕๖๕ ก็ร่วม ๑๑ ปี กีตาร์ยี่ห้อสติมีประมาณ ๑๐๐ ตัวแล้ว”
ระยะเวลาทำกีตาร์ทำมือหนึ่งตัวอยู่ที่ประมาณ ๒-๓ เดือน แต่เงื่อนไขของการสร้างไม่ได้จำเป็นว่าต้องให้เสร็จตัวหนึ่งจึงจะเริ่มตัวใหม่ได้ ถึงอย่างนั้นความพิถีพิถันในช่วงเกือบ ๑๐๐ วันเป็นอย่างน้อย ผ่านการออกแบบ การคิด การทำ เป็นจุดเด่นที่กีตาร์จากโรงงานชื่อดังหลายแห่งให้ไม่ได้
ชีวิตอาจเต็มไปด้วยเรื่องคาดเดาไม่ถึง แต่จักรวาลก็ร้อยเรียงทุกอย่างให้เชื่อมถึงกันอย่างลงตัว
“เราไม่ได้เรียนจบพวกช่างไม้หรือดนตรีมาเลยนะ จบภูมิศาสตร์ที่ มช. (มหาวิทยาลัยเชียงใหม่) หลายคนก็งงเหมือนกันว่ามาทำด้านนี้ได้ยังไง เหมือนชีวิตเลือกที่จะอยู่กับดนตรีมากกว่า”
ถ้าสภาพภูมิศาสตร์แบบดิบชื้นเหมาะสำหรับป่าในเขตเอเชียตะวันออกเชียงใต้ ความอุดมสมบูรณ์ที่ทำให้เกิดความหลากหลายของระบบนิเวศสูง และสภาพแวดล้อมแบบไทกา-ทุนดรา เหมาะที่จะปลูกข้าวบาร์เลย์ในแถบยุโรปตะวันออก
ดนตรีคงเป็นสภาพทางภูมิศาสตร์แบบหนึ่งที่ศุภกานต์เหมาะจะใช้ชีวิตอยู่ในระบบนิเวศแบบนั้น
ธรรมะในท่อนไม้
“เราเริ่มเรียนทำกีตาร์ เพื่อที่จะเป็นช่างทำกีตาร์หรือลูเทียร์กับ ช่างนิด–วิรุฬห์ ทรงบรรดิษฐ์ อาจารย์ของลูเทียร์ชื่อดังหลายคนในเมืองไทยตลอด ๑๐-๒๐ ปีที่ผ่านมา
“ช่วงแรก ๆ มีอยู่วันหนึ่งพอขัดไม้ไปนาน ๆ เริ่มใจลอย แต่งานอย่างนี้เป็นงานละเอียดไง ใจลอยมากไปทำให้งานเสีย สติจึงเป็นสิ่งที่เรามองว่าสำคัญ ไม่ใช่แค่สำหรับทำกีตาร์นะ แต่สำหรับการใช้ชีวิตด้วย สติกีตาร์เลยถือกำเนิดมาจากตรงนั้น กีตาร์ทำมือไม่ใช่ว่าเป็นเครื่องดนตรีไม้อย่างเดียว แต่คือสิ่งที่ถอดแบบมาจากลูเทียร์”
การทำเครื่องดนตรีประเภทนี้ความผิดพลาดนับเป็นมิลลิเมตร จากที่ต้องขัดไม้ให้ได้ ๐.๕ มิลลิเมตร ถ้าขัดมากเกินไปเป็น ๐.๓ มิลลิเมตร ไม้ชิ้นนั้นก็อาจจะใช้งานไม่ได้เลย
สติที่ศุภกานต์เล่า ไม่ใช่แค่การใจลอย แต่การขะมักเขม้นมากเกินไปก็เป็นการขาดสติ “เราเห็นครูทำได้ไว แป๊ปเดียวเสร็จ อยากทำตามบ้าง แต่นั่นเขาเป็นครูไง ทำมาเยอะ เราเป็นนักเรียน ยังไม่ชำนาญพอ การพยายามทำให้ไวเท่าเขาโดยขาดการประเมินตัวเองก็ถือว่าไม่มีสติ ถึงมีสติแล้วแต่สัมปชัญญะยังไม่มา อันนั้นถ้าประสบการณ์มีมากพอ มันจะมาเอง”
“สติกีตาร์” ชื่อนี้จึงมีที่มา รวมถึง signature กีตาร์ตัวอื่น ๆ ของทางร้าน ก็ล้วนเกี่ยวข้องกับหลักธรรม จะการใช้ชีวิตหรือการทำกีตาร์ก็คงมีส่วนคล้ายกันในสายตาของเขา
ทันใดนั้นศุภกานต์ตบเข่าฉาด ท่ามกลางความงุนงงและรู้สึกตัว ว่ามีอาการเจ็บเล็กน้อยที่หัวเข่าเกิดขึ้น ศุภกานต์พูดขึ้นว่า “นี่แหละ สติ คือการทำให้รู้ตัวตนว่าเกิดอะไรขึ้น เรากำลังทำอะไรอยู่ ถ้าไม่รู้ว่าอะไรกำลังจะเกิดขึ้น การสร้างสิ่งดี ๆ หรือกีตาร์ดี ๆ สักหนึ่งตัวก็คงทำได้ยาก”
ความหมายของคำว่า “ดี”
สติกีตาร์ไม่ใช่ร้านกีตาร์ทำมือเจ้าแรกและเจ้าเดียวในประเทศไทย ด้วยมีลูเทียร์หลายร้อยคนผลิตทั้งกีตาร์อะคูสติก (กีตาร์โปร่ง) กีตาร์ไฟฟ้า และกีตาร์คลาสสิกที่มีกระบวนการสร้างแตกต่างกัน
เพราะอะไรคนถึงยอมใช้เงินมากเท่ากับที่จะผ่อนรถได้ มาจ่ายเป็นค่ากีตาร์อะคูสติกแฮนด์คราฟต์
สายกลาง จินดาสุ นักดนตรีโฟล์กที่พำนักอาศัยอยู่เชียงใหม่คือลูกค้าคนหนึ่งของร้านสติกีตาร์ กีตาร์ที่เขาได้ไปไม่ใช่การสั่งทำ แต่เป็นกีตาร์ collection ของสติกีตาร์ ที่ชื่อว่ามัชฌิ (Machi)
มัชฌิมาปฏิปทาหรือทางสายกลางในศาสนาพุทธหมายถึงการไม่ยึดถือสุดทางทั้งสองแบบ ได้แก่ อัตตกิลมถานุโยค คือ การประกอบตนเองให้ลำบากเกินไป และกามสุขัลลิกานุโยค คือ การพัวพันในกาม ในความสบาย ทางสายกลางจึงหมายถึงความสมดุล ความเหมาะสม ความเสมอ ความพอดี
ในอีกความหมายหนึ่งว่า มัตตัญญุตา คือ ความรู้จักประมาณ รู้จักพอดีในการปฏิบัติต่าง ๆ หรือรู้จักพอดีที่เป็นหลักกลาง ๆ
กีตาร์มัชฌิตามคำบอกเล่าของสายกลาง จึงมีการออกแบบที่สร้างอินเลย์ (จุดบอกตำแหน่งบนคอกีตาร์) ให้อยู่ตรงกึ่งกลาง ไม่ได้สุดไปทางด้านใดด้านหนึ่ง กีตาร์จากไม้ชิงชัน ลายไม้สีน้ำตาลสลับสีเนื้อที่มีเสียงพุ่งจนเป็นเอกลักษณ์เหมาะกับการเล่นแบบ Fingerstyle จึงเป็นความลงตัวของการโคจรมาพบกันระหว่างกีตาร์และเจ้าของที่มีความหมายของชื่อเดียวกัน
“กีตาร์ของช่างกานต์คือการพบกันตรงกลางระหว่างเครื่องดนตรี ศิลปะ และปรัชญาหรือหลักธรรม ถ้าถามว่ากีตาร์ตัวนี้ดีไหม ก็ตอบว่าแน่นอน แต่ที่เราซื้อไม่ใช่แค่เสียง เราซื้อการออกแบบที่เป็นงานศิลปะที่จับต้องได้จริง ใช้งานได้ด้วย
“กีตาร์ที่ดีต้องมีเสียงเพราะเป็นหลัก แต่ถ้าถามเรา กีตาร์ที่ดีคือกีตาร์ที่เหมาะกับการถูกนำไปใช้ทำอะไรมากกว่า อย่างเราเล่นแบบ Fingerstyle แต่บางตัวที่ดีมาก ๆ เป็นแบรนด์ดังมันไม่เข้ามือ หรือบางตัวเสียงไม่พุ่ง ไม่เหมาะกับการเล่นของเรา บางตัวเล่นสดได้แต่ใช้อัดเพลงไม่ได้ ตัวนั้นก็อาจเป็นกีตาร์ที่ไม่ดีสำหรับการอัดเพลง ลึก ๆ เราเชื่อว่ากีตาร์ทุกตัว แม้กระทั่งกีตาร์ที่ไม่ได้เป็นแบรนด์ดัง มันมีคุณค่าแตกต่างกันไป”
กีตาร์โรงงานหรือกีตาร์แฮนด์คราฟต์ ราคาหลักร้อยหรือหลักแสน อาจเป็นจุดที่เราตั้งใจมองมากเกินไป ถ้าในเมื่อยังตอบตัวเองไม่ได้ว่า กีตาร์แต่ละตัวนั้น คนในฐานะผู้เล่น ตัดสินใจเลือกมันมาเพื่อจุดประสงค์อะไร
Tmaj 7
นอกเหนือจากเลื่อยฟันปลา สายลวด แบบแปลนสำหรับการทำกีตาร์ และตัวศุภกานต์แล้ว โต๊ะข้างหลังในห้องทำกีตาร์ยังมีลูเทียร์อีกคนกำลังทำงานอยู่
หนุ่มผิวเข้ม อายุราว ๒๘-๒๙ ปี ใช้กบไสไม้ชิงชันที่ประกอบขึ้นเป็นรูปร่างกีตาร์อย่างจดจ่อ เราเฝ้าดูเขาไสไม้ครั้งแล้วครั้งเล่าและได้เห็นถึงความหลงใหลต่อการสร้างเครื่องดนตรีชนิดนี้
ช่างเติ้ล–ธีธัช ทัศนียรัตน์ ที่ศุภกานต์ได้พบจากโรงเรียนสอนทำกีตาร์ของช่างนิด จากแรกเริ่มฝากให้เติมแต่งกีตาร์ในบางเวลาที่ศุภกานต์ติดภารกิจ ปัจจุบันธีธัชเข้ามาเสริมทีมในสติกีตาร์เกือบจะ ๒ ปีแล้ว
ฝนเริ่มตั้งเค้า ความชื้นที่ดูจะเป็นศัตรูต่องานไม้ทำให้ธีธัชรีบเก็บข้าวของให้เข้าที่เข้าทางก่อนจะเล่าที่มาของตัวเอง
“อยากทำกีตาร์ไหม ก็ไม่เชิง เราจบบริหารธุรกิจมา (หัวเราะ) จริง ๆ ชอบเล่นดนตรี พอเรียบจบใบหนึ่ง ก็คิดว่าจะเรียนดนตรีต่อดีไหม แต่จะไปทันใครเขาล่ะ ยิ่งเด็กสมัยนี้ธรรมดาที่ไหน ถ้าไม่รอดคราวนี้เราเคว้งกว่าเดิมเลยนะ
“จนมาเจอกับครูนิดเนี่ยแหละ การได้มาอยู่กับพี่กานต์ก็ได้ฝึกวิชาไปด้วย ตอนแรกซื้อพวกอุปกรณ์มารอเปิดร้าน มีเกือบครบเลย แต่ว่ารอดีกว่า กีตาร์ทุกตัวที่เราทำ เวลาที่เราใช้ มันทำให้เราพร้อมมากขึ้น”
หากนักดนตรีไม่อยากเล่นเพลงคนอื่นไปทั้งชีวิตฉันใด ช่างทำกีตาร์ก็คงอยากเปิดร้านของตัวเองฉันนั้น เป็นความภาคภูมิใจและหาลู่หาทางของตัวเอง
ชื่อร้านที่ธีธัชอยากใช้คือ Tmaj7 จากคอร์ดในตระกูล Major7 ที่แปลว่าใหญ่และสว่าง ตัว T ที่ไม่ได้อยู่ในตำราคอร์ด และเลข 7 จากตัว T เจ็ดตัวในชื่อสกุลของเขา คอร์ดนอกตำรานี้คงอีกไม่นานที่จะได้บรรเลงให้ผู้คนฟัง
ถึงธีธัชจะกลับตาลปัตรจากนักดนตรีมาเป็นช่างทำเครื่องดนตรี ทว่าย้อนกลับไปในวัยเด็ก เขาชอบประดิษฐ์สิ่งต่าง ๆ และมีความสุขทุกครั้งที่ได้ทำงานตัด แปะ สร้างงานกลุ่มในชั้นเรียน คงเป็นความไม่บังเอิญ ที่วันนั้นเขาไม่ได้เรียนต่อในสายดนตรี และในวันนี้ได้เข้าสู่วงการลูเทียร์อย่างเต็มตัว
๓ นาทีที่นั่งมองธีธัชขัดไม้ชิงชัน ไม้ที่เขากล่าวว่าแข็งเป็นพิเศษ คำกล่าวที่ว่า “ช่างตีเหล็กที่ดี ตีเหล็กหนึ่งครั้งก็เหมือนตีเหล็กพันครั้ง”
๑๘๐ วินาทีที่ผ่านไปดูเนิ่นนาน เพราะเจอผู้ที่อุทิศต่อการสร้างสิ่งใดด้วยใจจริงเข้าเสียแล้ว
มองกีตาร์ เห็นคน
“เมื่อเราถนัดอะไรสักอย่าง เวลาที่ใช้จะน้อยลง แต่คุณภาพจะมีมากขึ้น” คงเป็นคำกลั่นกรองประสบการณ์ ๑๐ ปีในการทำกีตาร์ของศุภกานต์ให้สั้นแต่ได้ใจความมากที่สุด
หากไม่นับกีตาร์ที่เกรดของไม้และยี่ห้อที่ต่างกันแบบลิบลับ กีตาร์แบรนด์ตลาดกับกีตาร์ทำมือในราคาเท่ากัน สิ่งสำคัญที่ศุภกานต์และธีธัชเน้นย้ำคือ “คุณอยากซื้ออะไร”
“อย่างเงิน ๕๐,๐๐๐ คุณเอาไปซื้อกีตาร์ดัง ๆ ได้ตัวท็อป ๆ เลยนะ แต่มันเหมาะกับคุณขนาดนั้นหรือเปล่า กีตาร์ตัวนั้นมันทำให้คุณอยากเล่นแบบที่วางไม่ได้หรือเปล่า
“สุดท้ายแล้วเราอยากให้กีตาร์มันได้เล่น ได้ใช้ ในวงการตอนนี้ก็เศร้าใจอยู่ที่กีตาร์ราคาสูง แต่เล่นไม่ได้ เอาไว้สะสมอย่างเดียว กีตาร์ควรจะได้ออกมาเล่นอย่างที่มันควรจะเป็น เราชั่งใจว่ากีตาร์หนึ่งตัวที่สวยมาก แต่กลับเล่นไม่ได้หรือไม่ได้เล่น เราควรจะสร้างกีตาร์แบบไหนขึ้นมา” ความเศร้าของกีตาร์ที่เปล่งเสียงไม่ได้คงมีทำนองประมาณนี้
กีตาร์สำหรับหลายคนอาจเป็นเพียงเครื่องดนตรีธรรมดา แต่สำหรับคนที่คลุกคลีกับสิ่งนี้มาเกือบทั้งชีวิต กีตาร์ตัวหนึ่งอาจบ่งบอกถึงตัวตนของคนคนนั้น เพียงแค่ได้มอง ฟัง และสัมผัส
“มองกีตาร์แล้ว เราเห็นคน พอเห็นกีตาร์เรารู้เลยบางคนไม่ละเอียดแต่โรแมนติก บางคนสะอาดสะอ้านแต่ไม่ใส่ใจ หลายเรื่องมันก็ปรุงแต่ง แต่บางเรื่องสื่อถึงชีวิตคนคนหนึ่งได้เลย
“เวลาลูกค้าจะมาซื้อ เราให้เล่นกีตาร์ให้ฟังเลย เขาชอบเล่นแบบไหน จังหวะเป็นยังไง บางทีเอากีตาร์ตัวเก่ามาให้เราดู มันไม่ได้เป็นเรื่องเหนือธรรมชาติอะไรหรอก แต่การใช้ชีวิตไม่ได้ตื้นเขินถึงขนาดนั้น เรื่องกีตาร์ก็เหมือนกัน อะไรที่เราตั้งใจกับมัน จะช่างทำกีตาร์หรือคนเล่น กีตาร์มันบอกได้ว่าคุณเป็นคนยังไง และความหมายของกีตาร์สำหรับชีวิตคุณเป็นแบบไหน”
กีตาร์ได้ชื่อว่าเป็นเครื่องดนตรีที่นิยมมากที่สุดในโลก เพราะในมือของนักดนตรีระดับโลกหรือวณิพกข้างถนน ไปจนถึงนักสะสมชื่อดังและเด็กน้อยที่พ่อแม่ซื้อเครื่องดนตรีชิ้นแรกให้ ยังคงหยิบจับเครื่องดนตรีไม้หกสายนี้อยู่เสมอ
ล้านเหตุผลในการมีอยู่ที่แตกต่าง คุณค่าและความหมาย รวมถึงราคาของกีตาร์คงแปรผันตามไปด้วยเช่นกัน
ฟ้าเริ่มเปิด แอ่งน้ำหน้าบ้านสีขาวสะท้อนแดดสุดท้ายของวัน ถึงเวลาเลิกงานของหลายคน แต่สำหรับลูเทียร์ นี่คงเป็นช่วงเวลาที่กำลังเข้าด้ายเข้าเข็ม ถึงเวลาสานต่องานที่ทำค้างไว้ให้เรียบร้อย
ในอีกหลายเดือนข้างหน้า ไม้ชิงชันที่กำลังลงสิ่วอยู่ตอนนี้ก็คงเป็นได้ทั้งกีตาร์ทั่วไปเหมือนกับอีกหลายล้านตัวบนโลก กีตาร์ในแบรนด์สติกีตาร์ตัวที่ ๑๐๑ หรือกีตาร์หนึ่งเดียวที่มีเรื่องราวระหว่างทางไม่เหมือนกับกีตาร์ตัวใด ๆ
คงต้องรอ “เจ้าของ” มาเล่าให้ฟังว่ากีตาร์ของเขาเป็นแบบไหนกัน
กว่าจะเป็น “สติ” กีตาร์
“ไม้ เป็นวัสดุหลักที่ใช้ทำกีตาร์ การสร้างกีตาร์ที่ดีจำเป็นต้องมีวัสดุที่ดีด้วย”
วัสดุ(materials) ที่ดีเป็นความสำคัญหนึ่งในสี่อย่างของการทำกีตาร์ที่ศุภกานต์พูดถึง
ไม้หน้าคือส่วนสำคัญที่สุด เพราะเสียงหรือคาแรกเตอร์ส่วนใหญ่ล้วนมาจากไม้หน้าทั้งสิ้น มักจะอยู่ในตระกูลพวกไม้สน (Rose wood) ไม้ที่ได้ชื่อว่าเป็นไม้ทำกีตาร์ที่แพงที่สุดในโลกคือ Brazilian rosewood ซึ่งราคาขั้นต่ำอยู่ที่ ๗๐,๐๐๐-๑๐๐,๐๐๐ บาท ไม้หน้าที่ดีต้องมีลายตรง เพื่อให้เสียงของกีตาร์เสถียรมากที่สุด
ไม้ข้างและไม้หลัง มักจะอยู่ในตระกูลมะฮอกกานี ใช้ประคองตัวกีตาร์ คนส่วนใหญ่เลือกไม้หลังที่มีลวดลาย ความสวยงามเหล่านี้เป็นเรื่องเฉพาะบุคคล รวมถึงฟิงเกอร์บอร์ด Nut หรือ Bridge ก็ใช้ไม้แบบเดียวกัน
ในส่วนของคอกีตาร์เนื้อไม้ต้องแข็งแรง เพราะต้องรองรับการขึงจากสายกีตาร์และรับน้ำหนักตัวได้ดี ไม้จำพวกมะฮอกกานีจะใช้สร้างส่วนนี้ค่อนข้างเยอะ รวมถึงการออกแบบรูปทรงเพื่อให้เข้ากับการเล่นที่แตกต่างกันออกไป ทั้งคอรูปทรงตัว U ตัว V และตัว C
ส่วนประกอบเล็กน้อยภายในกีตาร์ ทั้งกระดูกงู คานรับน้ำหนัก จะต้องเป็นไม้ที่เบาแต่แข็งแรง เพื่อพยุงตัวกีตาร์และไม่ทำให้น้ำหนักมีมากเกินไป ลูเทียร์แต่ละคนจะมีเทคนิคทำให้ไม้เนื้ออ่อนเป็นรูปทรงตามแต่ละส่วนของกีตาร์
แต่กีตาร์โปร่งหรือกีตาร์อะคูสติกก็ไม่ได้เป็นไม้หมดทั้งตัว ยังมี Fret ลูกบิด อินเลย์ ริง Pick guard และอื่น ๆ ที่ทำมาจากเหล็ก พลาสติก และวัสดุอื่น ๆ ทั้งในแง่ของการสร้างความเสถียรต่อตัวกีตาร์ ความแข็งแรง และความสวยงาม ส่วนประกอบเหล่านี้จะซื้อจากแหล่งผลิตโดยตรง ส่วนกีตาร์ไฟฟ้าหรือกีตาร์คลาสสิกก็จะมีกระบวนการสร้างแตกต่างกันออกไป
“ทางสติกีตาร์มี supplier ที่รู้จักเป็นผู้หาไม้มาให้ อย่างไม้นอกเราอาจจะต้องรบกวนให้เขาช่วยดู ช่วยเลือก แต่อย่างไม้ไทยเราเลือกเองได้กับมือเลย
“ไม้ไทยและไม้นอกไม่ต่างกันหรอก สิ่งที่ต่างคือลูกค้าต้องการแบบไหน เขาอยากได้ไม้สีอะไร ใช้เล่นแบบไหน คุณภาพเราก็ต้องคัดมาอยู่แล้ว แต่ไม้แบบไหนเหมาะกับใคร ไม้ที่เอามาใช้ให้คาแรกเตอร์แบบไหน นั่นคือสิ่งที่ลูเทียร์ต้องมาคิดต่อ ซึ่งเป็นงานของเรา”
วัสดุที่ดีจำเป็นต้องมีเครื่องมือ(tools)ที่ดี เพื่อนำวัสดุมาตัดแต่งเติมต่อในแบบที่ต้องการมากที่สุด จากไม้แต่ละชนิด แต่ละท่อน ตัดแต่งเป็นแต่ละส่วนของกีตาร์ เมื่อประกอบเสร็จจึงเข้าสู่กระบวนการใส่ไม้พยุง ใส่กระดูกงู เก็บท้ายและเก็บข้าง เพื่อสร้างการรับรองแรงสั่นสะเทือนขณะเล่น
การขัดไม้ให้เรียบเพื่อทำให้รายละเอียดครบถ้วนและประณีตมากที่สุดคือส่วนที่เป็นจุดตัดสำคัญ ทำให้เห็นถึงความใส่ใจในกีตาร์แต่ละตัวที่ลูเทียร์ (luthier)แต่ละคนทำ และเป็นส่วนที่ทำให้เห็นถึงคนและความรู้สองปัจจัยสุดท้ายของการเป็นช่างทำกีตาร์และการสร้างกีตาร์ที่ดี
“ทั้งวัสดุ เครื่องมือ คน และองค์ความรู้ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญ เพราะถ้าหากมีวัสดุและเครื่องมือที่ดี แต่คนไม่มีวิสัยทัศน์และความรักในการทำ หรือรักในการทำแต่ไม่รักที่จะต่อยอดเพื่อเพิ่มความรู้ ความเข้าใจ เพื่อเอามาใส่ไว้ในกีตาร์ตัวนั้นก็ไม่ประสบผลดี การทำกีตาร์ไม่ใช่แค่ความรู้ในเรื่องไม้ ยังมีเรื่องของฟิสิกส์ เสียง ศิลปะ ถึงได้เรียนกับครูเก่ง ๆ มาทั่วประเทศหรือทั่วโลก แต่ประสบการณ์คือสิ่งที่จะการันตีฝีมือเราต่างหาก”
ปัจจัยสี่อย่างนี้เหมือนสี่เหลี่ยมจัตุรัสที่แต่ละด้านต่างทำมุมของตัวเองให้เท่ากันอยู่เสมอ
“สุดท้ายเราจะตกแต่ง ลูกค้ามีโจทย์ที่อยากให้ทำแตกต่างกันไป อยากให้ใส่มุกหรือแกะสลักลงบนคอก็มี แต่ถ้าปรกติเราจะทำแบบเรียบ ๆ เน้นที่เสียง ซึ่งเป็นหลักของกีตาร์มากกว่า เป็น practical guitar ถ้ากีตาร์ตกแต่งสวยงามแต่คุณภาพเสียงไม่ได้เรื่อง เราว่ามันผิดความเป็นกีตาร์”
แหล่งอ้างอิง
- มัชฌิมาปฏิปทา ทางสายกลางคืออะไร. (๒๕๕๘). สืบค้นเมื่อ ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๖๕ จาก http://dhamma.serichon.us/2015/04/13/มัชฌิมาปฏิปทา-ทางสายกลา/
- Guitar Tone Woods. Retrieved July 12, 2022, from https://www.soundunlimited.co.uk/blogs/articles/guitar_tone_woods
The Editors of Encyclopaedia Britannica. Guitar. Retrieved July 12, 2022, from https://www.britannica.com/art/guitar