เรื่อง : ซูไรญา บินเยาะ
ภาพ: ก้องกนก นิ่มเจริญ
สายน้ำใหญ่ไหลจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ กระเซ็นแตกเป็นละอองใสเมื่อกระทบกับโขดหิน กระแสน้ำไหลรินจากก้อนหินหนึ่งไปยังอีกก้อนหนึ่งอย่างสม่ำเสมอ พืชไม้นานาพรรณเขียวชอุ่มประดับอยู่ทั้งสองฝั่ง เหล่านกน้อยส่งเสียงร้องคลอกับเสียงของสายธาร ทันใดนั้นเสียงเครื่องเป่าลมไม้บรรเลงขึ้นอย่างอ่อนหวานแลพลิ้วไหว ชวนให้ดื่มด่ำกับบรรยากาศที่ธรรมชาติและมนุษย์ร่วมกันรังสรรค์ขึ้นมาเป็นหนึ่งบทเพลง
พื้นที่ภาพในกรอบสี่เหลี่ยมปรากฏผีเสื้อตัวน้อยบินตัดผ่านเข้าฉากมาอย่างรู้หน้าที่ และมีดอกไม้กลีบขาวเป็นจุดกึ่งกลางโฟกัสของภาพ ฉากหลังปรากฏชายตัวสูงในเสื้อยืดแขนสั้นสีขาวกับกางเกงขาสั้นสบายสีกรมท่า เขาถือ “ขลุ่ย” เดินขึ้นโขดหิน ณ น้ำตกห้วยแก้ว จังหวัดเชียงใหม่
ทั้งหมดนี้คือภาพวิดีโอที่ทำให้ฉันรู้สึกสนใจในตัวชายมีหนวดคนนี้ และอยากรู้จักว่าเขาคือใคร
ขลุ่ยลมเหนือ และลุงหนวด
สถานที่นัดเจอกับเขาคือบ้านไม้สีแดง ใกล้มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่ บริเวณนี้เต็มไปด้วยต้นไผ่สูงเรียงรายตลอดข้างถนน “ฤทธิ์” – ณรงค์ฤทธิ์ อิ่มแดง หรือ “ลุงหนวด” (ฉายาที่รุ่นน้องนักดนตรีมักเรียกเขา) ชายวัยกลางคนรูปร่างผอมบางสวมแว่น ใบหน้ามีหนวดเครายาวดูน่าเกรงขาม ยืนต้อนรับฉันอยู่ใต้ถุนบ้านด้วยรอยยิ้ม บนโต๊ะไม้ข้างตัวเต็มไปด้วยขลุ่ยรูปร่างไม่คุ้นตา
“อยากฟังเสียงขลุ่ยไหม” เขาถามเมื่อเห็นว่าสายตาฉันถูกขลุ่ยรูปร่างแปลกตาเหล่านั้นดึงดูด
ฉันรีบพยักหน้าตอบ เขาจึงหยิบขลุ่ยไทยขนาดเล็กเลาหนึ่งขึ้นมาเป่า นิ้วมือค่อยๆ บรรจงเปิดรูทีละรู ไล่โน้ตจากโดเสียงต่ำไปสู่ทีเสียงสูง และกลับลงมายังโดเสียงต่ำอีกครั้ง ก่อนจะบรรเลงบทเพลงสั้นๆ ทันทีที่เพลงจบฉันรีบปรบมือเสียงดังให้กับเขา
เมื่อเห็นแววตาประทับใจที่ฉันส่งไป เขาจึงหยิบขลุ่ยชากูฮาจิ (Shakuhachi) เครื่องเป่าลมไม้ที่เป็นภาพจำของเครื่องดนตรีข้างกายนักปราชญ์สวมฮากามะในภาพยนตร์ญี่ปุ่นขึ้นมาบรรเลง ต่อด้วยขลุ่ยเคนา (Quena) ขลุ่ยพื้นเมืองของเปรู ขลุ่ยบันสุรี (Bansuri) ขลุ่ยพื้นเมืองอินเดีย และแซกโซโฟนไม้รูปทรงขลุ่ยเป็นบทเพลงสั้นๆ ปิดท้ายด้วยเสียงทุ้มนุ่มนวลของขลุ่ยที่เขาชอบมากที่สุดคือขลุ่ยชนพื้นเมืองอเมริกันหรืออินเดียนแดง (Native American Flute) สีน้ำตาลเลาโปรด หากใช้ศัพท์วัยรุ่นอธิบายความรู้สึกคงเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้นอกจาก “ปลดล็อกสกิลหูเคลือบทอง” เสียงอันไพเราะทำให้ฉันจินตนาการถึงภาพสถานที่ต้นกำเนิดของขลุ่ยแต่ละเลาได้ทันที
เมื่อสังเกตที่ปลายเลา มีข้อความเล็ก ๆ เขียนไว้ว่า “#Northwindflute” และเลขปี ค.ศ. ตั้งแต่ 2016 ปีแรกที่เขาเริ่มทำขลุ่ยไม้ไผ่จนถึงปัจจุบัน ปี ค.ศ. 2023 ด้วยปากกาสีดำที่บ่งบอกผลงานการสร้างสรรค์ของชายผิวกรำแดด
“พอย้ายมาอยู่ภาคเหนือ เราใช้ลมทางเหนือผ่านตัวขลุ่ยทำให้เกิดเสียง ก็เลยเป็นขลุ่ยลมเหนือ หรือ Northwind Flute” ชายไว้หนวดเล่าด้วยความภาคภูมิใจในไอเดียชื่อแบรนด์
ภายหลังเขาเฉลยว่าขลุ่ยทุกเลาที่เล่นให้ฟังได้จากประสบการณ์ครูพักลักจำครูคนแรกที่เรียกว่า ยูทูบ (YouTube)
“น่าน” ไง หลงรักขลุ่ยจริงๆ ด้วย
หลังจากทัวร์ชมขลุ่ยและอุปกรณ์ทำขลุ่ยเล็กน้อย เขาเชิญให้ฉันนั่ง ก่อนที่เขาจะนั่งลงหลังโต๊ะทำงานไม้ที่ประกอบขึ้นเอง ทันใดนั้นหยาดสายฝนน้อยโปรยลงมา เสียงเพลงโฟล์กในยุค 70 ที่เปิดคลอขับให้บทสนทนาเรื่องราวชีวิตของฤทธิ์เป็นไปอย่างสบาย ๆ
ฤทธิ์เล่าถึงความสนใจด้านดนตรีว่า สมัยเรียนมัธยมฯ เขาชอบเล่นขลุ่ย เนื่องจากเป็นเครื่องดนตรีแรกที่ลองเล่น อีกทั้งพกพาสะดวกและหาซื้อง่าย เขายังได้ลองเล่นเครื่องดนตรีสากลอื่นๆ แทบทุกอย่าง ทั้งกลองชุด กีตาร์ เมโลเดียน รวมถึงแซกโซโฟน แต่เมื่อเข้าสู่วัยทำงานการเล่นดนตรีก็ห่างหายไปจากชีวิต
ในหน้าที่การงานเขาเคยเป็นหัวหน้าคนงานตอกเสาเข็มทางพิเศษบูรพาวิถี บางนา-ชลบุรี และเชี่ยวชาญด้านการวางรางเป็นพิเศษ จนได้คุมงานทำรางรถไฟที่ลพบุรี รถไฟฟ้าใต้ดินสายแรกแถวรัชดาภิเษก รวมถึงมีโอกาสไปคุมการวางรางที่ประเทศนอร์เวย์ สเปน และประเทศในเอเชียอย่างเกาหลีใต้และบรูไน ก่อนจะอิ่มตัวในงานจึงย้ายไปปักหลักอยู่เมืองน่านเมื่อปี 2556
เมื่อคราที่อยู่น่าน เขามีโอกาสฟังดนตรีสด ณ ร้านอาหารแห่งหนึ่ง ขณะวงดนตรีกำลังเล่นเพลงโปรดของเขา เขารีบไปหยิบแอกคอร์เดียนในรถมาร่วมเล่นด้วยแบบกะทันหัน และเมื่อวงดนตรีเริ่มเล่นเพลง “ลืม” ของมาลีฮวนน่า เสียงขลุ่ยในช่วงอินโทรก็ทำให้เขาคิดถึงเครื่องดนตรีโปรดและอยากหวนคืนสู่เส้นทางดนตรีอีกครั้ง
ฤทธิ์ต้องการหาซื้อขลุ่ยใหม่จึงไปถามตามร้านขายเครื่องดนตรีต่างๆ แต่พบว่าราคาขลุ่ยสูงกว่าที่คิด เขาจึงคิดเพียงอย่างเดียวว่า ต้องทำขลุ่ยเล่นเองแล้ว
“2 ปีแรกที่ฝึกทำขลุ่ย ทำครึ่งทิ้งครึ่ง ทิ้งเป็นเข่งเป็นกอง ตอนนั้นน่าจะถึง 1,000 เลา” เขาพูดพร้อมกลั้วหัวเราะ
การเริ่มทำขลุ่ยด้วยตัวเองแบบไม่มีครูสอนตัวต่อตัวเป็นไปอย่างทุลักทุเล เนื่องจากวิดีโอสอนทำขลุ่ยในโลกออนไลน์ส่วนใหญ่เป็นภาษาต่างประเทศ เขาจึงอาศัยการดูรูปพร้อมกับคอยฟังโน้ตแต่ละตัว เริ่มฝึกด้วยท่อพลาสติก เมื่อเสียงขลุ่ยที่ทำออกมาเริ่มนิ่ง ทักษะการตัดและการคว้านรูก็เริ่มคงที่ จึงเปลี่ยนไปทำด้วยไม้ แม้ว่าจะชำนาญการทำขลุ่ยพลาสติกมากแค่ไหน เมื่อเปลี่ยนไปใช้ไม้ก็ต้องเริ่มฝึกใหม่ เพราะชนิด ขนาด และความหนาของไม้มีผลต่อการเกิดเสียง
เมื่อเริ่มชำนาญการทำขลุ่ยไม้ไทยที่ใช้สเกลเมเจอร์ (major) โน้ต 7 ตัว เรียงจากโดถึงที เขาท้าทายตัวเองด้วยการทำขลุ่ยต่างประเทศ เริ่มจากขลุ่ยชนพื้นเมืองอเมริกัน ที่ใช้ระบบเพนทาโทนิก (pentatonic) โน้ต 5 ตัว เรียงจากโดถึงทีเหมือนสเกลเมเจอร์แต่ตัดโน้ตเรตัวที่ 2 และซอลตัวที่ 5 ออก ตามด้วยขลุ่ยประเภทอื่นๆ ทั้งขลุ่ยชากูฮาจิ ขลุ่ยเคนา ขลุ่ยบันสุรี รวมถึงแซกโซโฟนไม้
“งานคุณน่าจะอยู่เชียงใหม่นะ เพราะเชียงใหม่ตลาดใหญ่กว่า” เสียงเชิญชวนจากอาจารย์คนหนึ่งหลังได้ชมผลงานขลุ่ยลมเหนือในงานคราฟต์ที่เชียงใหม่ และจากความสนใจอย่างล้นหลามของผู้เข้าชมบูท ทำให้เขาไม่ปฏิเสธคำเชิญชวนนี้ และเริ่มต้นเขียนการผจญภัยบทใหม่ของขลุ่ยลมเหนือที่จังหวัดเชียงใหม่เมื่อปี 2560
แรงบันดาลใจจากศิลปินแห่งชาติทั้งสาม
“ขลุ่ยของคุณ คุณต้องทำนะ คุณอย่าทิ้งนะ” ข้อความที่ส่งถึงเขาจากอาจารย์ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง พ่วงด้วยตำแหน่งจอมยุทธ์ขลุ่ย เป็นดั่งแรงบันดาลใจให้เขาไม่หยุดพัฒนาฝีมือ
ชายไว้หนวดเล่าถึงปรมาจารย์ที่นับถือเสมอมา ครั้งแรกบังเอิญเจอกันสมัยที่เขาอยู่น่าน เป็นการพบกันสั้นๆ ที่เขาได้เพียงแต่แนะนำตัวเองว่าเป็นคนทำขลุ่ย และเมื่อมีโอกาสพบกันครั้งที่ 2 ที่หอศิลป์ฯ กรุงเทพฯ เขานำขลุ่ยไปให้อาจารย์ลองเป่าและมอบขลุ่ยลมเหนือเลาที่อาจารย์ชอบที่สุดเป็นของขวัญ
“ผมเอาทำนองขลุ่ยอินเดียนแดงของคุณไปใช้นะ” ข้อความจากอาจารย์เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พ่วงด้วยตำแหน่งกวีรางวัลซีไรต์ แจ้งเขาว่าในบทเพลง “ขมาฟ้าใหม่” ที่แต่งขึ้นช่วงการระบาดของโควิด-19 จะมีทำนองขลุ่ยที่เขาแต่งร่วมด้วย บทเพลงแสนพิเศษนี้เป็นความทรงจำที่นึกถึงเมื่อไรก็จะทำให้เขามีแรงพัฒนาฝีมือการเล่นขลุ่ย
ลุงหนวดเล่าว่าเจอกับปรมาจารย์ที่นับถือคนนี้ครั้งแรกที่น่าน อาจารย์เนาวรัตน์ชอบขลุ่ยอินเดียนแดงเลาหนึ่งหลังได้ลองเป่า เขาจึงมอบขลุ่ยเลานั้นให้ สองปีหลังจากนั้นมีโอกาสเจออีกครั้งในงานวันเกิดของอาจารย์ ช่วงนั้นบังเอิญเขาได้ไม้ตาลจากกาญจนบุรีจึงตั้งใจทำขลุ่ยไปมอบให้ อาจารย์ปฏิเสธด้วยความเกรงใจ เขาจึงบอกว่าตั้งใจทำมาให้ด้วยไม้ตาลจากบ้านเกิดอาจารย์ อาจารย์เนาวรัตน์จึงยินดีรับพร้อมคำขอบคุณ
เมื่อไม่นานมานี้ฤทธิ์มีโอกาสพบอาจารย์ที่แหล่งชุมชนศิลปะโหล่งฮิมคาว อำเภอสันกำแพง อาจารย์พกขลุ่ยเลานั้นมาด้วย
“เห็นแค่นั้น เราก็ดีใจละ” เขาพูดด้วยรอยยิ้ม
ปรมาจารย์คนที่ 3 คือ อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ ผู้มอบคำอวยพรดี ๆ ที่เขานึกถึงเมื่อไรรอยยิ้มก็ประดับบนใบหน้า ฤทธิ์เล่าว่าเคยมอบขลุ่ยไทยให้อาจารย์สมัยแรกๆ ที่เริ่มทำขลุ่ย จากนั้นเขาตั้งใจทำขลุ่ยไทยด้วยไม้ชิงชันสีน้ำตาลแดงเพื่อมอบให้อาจารย์เมื่อเจอกันครั้งที่ 2 อาจารย์บอกเขาว่ายังเก็บขลุ่ยเลาแรกไว้อยู่ พร้อมขอบคุณและอวยพรกลับมา ถัดจากนั้น 2 วันอาจารย์ให้คนขับรถส่งพระพิฆเนศมาให้ เขาอธิบายความรู้สึกในเวลานั้นด้วยคำว่า ปลื้มใจมากๆ
“นี่แหละครับ สามบุคคลที่ทำให้เรามีแรงบันดาลใจทำขลุ่ยต่อไป ไม่ต้องคิดอะไรละ เพราะว่าระดับปรมาจารย์ทั้งสามคนให้พรเรามาขนาดนี้” เขาพูดด้วยแววตาภาคภูมิใจ
ต่อล้อต่อเสียงด้วยขลุ่ย กีตาร์ และแอกคอร์เดียน
เมื่อนาฬิกาบนข้อมือบอกเวลาใกล้ 5 โมงเย็น ถึงเวลาไปถนนคนเดินท่าแพโซนที่ 4 บริเวณหน้าโรงเรียนพุทธิโศภน จุดนัดหมายครั้งที่ 2 ของฉันและลุงหนวดคนรักขลุ่ย ท่ามกลางอากาศเย็นสบายยามอาทิตย์ใกล้ลับขอบฟ้าที่แต่งเติมด้วยเสียงจอแจของนักเที่ยว
ถนนคนเดินท่าแพเป็นหนึ่งในถนนคนเดินที่สำคัญของจังหวัดเชียงใหม่ จัดขึ้นทุกเย็นวันอาทิตย์ เริ่มต้นจากประตูท่าแพยาวไปตามเส้นถนนราชดำเนิน (เชียงใหม่) เป็นระยะทางเกือบ 1.5 กิโลเมตร แบ่งออกเป็น 6 โซน มีจุดศูนย์กลางการประชาสัมพันธ์อยู่ตรงสี่แยกกลางเวียง ตลอดทางเรียงรายด้วยวัดสำคัญ ทั้งวัดหมื่นล้าน วัดสำเภา วัดพันอ้น เรื่อยไปจนถึงวัดทุงยูและวัดศรีเกิด เรียกได้ว่าหากไม่มาเดินชมถนนคนเดิน ถือว่ายังมาไม่ถึงเชียงใหม่
บรรดาแม่ค้าโซนนี้พร้อมใจกันแต่งตัวด้วยเสื้อสีฟ้าเป็นเอกลักษณ์ ตามนโยบายของเทศบาลที่ขอความร่วมมือให้ผู้ค้าแต่งตัวตามสีโซนเพื่อความสะดวกในการแยกโซน รวมถึงเมื่อเกิดอุบัติเหตุ นักท่องเที่ยวแจ้งว่าอยู่โซนไหนได้จากสีเสื้อของผู้ค้า
หากใครมาเดินถนนคนเดินท่าแพแล้วเห็นว่าพ่อค้าและแม่ค้าแต่งตัวด้วยเสื้อสีฟ้า จงรับรู้ว่าตอนนี้คุณกำลังเดินอยู่ในโซนที่ 4 และเมื่อเดินไปสุดปลายทางก็จะพบกับโต๊ะขายขลุ่ยลมเหนือ และการแสดงเปิดหมวกจากลุงหนวดและวงดนตรีอิสระของเขา
เสียงของแอกคอร์เดียนจากฤทธิ์ค่อยๆ ดังขึ้น ตามด้วยเสียงกีตาร์โปร่งจากรุ่นพี่นักดนตรี “ยุทธ” – ยุทธศาสตร์ บุญทา เรียกความสนใจจากนักท่องเที่ยวให้หยุดสายตาอยู่ที่พวกเขา และบัดนี้การแสดงของลุงหนวดแอนด์เดอะแบนด์ก็เริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการ
ช่วงต้นพวกเขาเล่นเพลงสากลในตำนานที่ใครได้ยินก็ร้องตามได้ บทเพลงช้าๆ อากาศที่เริ่มเย็นลง และท้องฟ้าสีม่วงชมพูส้ม ทำให้รู้สึกเหมือนได้รับการบำบัดจากศิลปะที่มนุษย์และธรรมชาติร่วมกันสรรค์สร้าง
“มาร่วมกันร้องบรรเลง มาร่วมกันร้องบรรเลง” เสียงร้องของฤทธิ์ในบทเพลงตำนานอย่าง “มนต์เพลงคาราบาว” ทำให้ผู้ชมต่างขยับตัวไปกับเสียงดนตรีที่ผสมผสานขึ้นอย่างลงตัวจากกีตาร์ของชายไว้หนวดยาว กลองเจมเบ้ ไวโอลิน และกีตาร์โปร่งของนักดนตรีในวง เมื่อมีท่อนว่างในเพลง เขาจะหยิบขลุ่ยไทยมาบรรเลงคู่กับเสียงดนตรีอื่นๆ ที่ใครได้ยินก็ต้องหยุดฟัง
เสียงดนตรีเพื่อชีวิตที่บรรเลงขึ้นอย่างสนุกสนานท่ามกลางบรรยากาศพลุกพล่านสร้างสีสันให้ถนนคนเดินมีชีวิตชีวามากขึ้น บางคนยืนดู บางคนนั่ง บางคนเต้นตาม บางคนยกโทรศัพท์มือถือขึ้นมาบันทึกภาพเก็บไว้ หากใครประทับใจก็ให้ทิปเป็นรางวัลลงกล่องกีตาร์ที่วางไว้ข้างหน้า
“ดนตรีกระตุ้นให้การค้าขายดีขึ้น โดยเฉพาะในความรู้สึกของทั้งผู้ค้าขายและนักท่องเที่ยว” ชายวัยทำงานตัวเล็กที่เป็นกรรมการโซน 4 ตรวจความเรียบร้อยของโซนสีฟ้า “บอย” – ศิริชัย ก้องไตรภพ พูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างการเล่นดนตรีและการค้าขาย
เพราะโซน 4 เป็นโซนกิ่งที่ไม่ใช่เส้นหลักทำให้นักท่องเที่ยวเข้ามาค่อนข้างน้อย แต่เมื่อมีเสียงดนตรีจากฤทธิ์และเพื่อน ๆ ทำให้นักท่องเที่ยวเดินเข้ามาโซนนี้คึกคักมากขึ้น
ค่ำคืนนี้ลุงหนวดแอนด์เดอะแบนด์ได้ฝากตัวเองไว้ในความทรงจำและอัลบัมรูปภาพของใครหลายคน
ดอยปุย พระอาทิตย์อัสดงและบทใหม่ของการเดินทาง
มีข้อสันนิษฐานมากมายว่าดนตรีเกิดขึ้นครั้งแรกจากการเลียนเสียงธรรมชาติของมนุษย์ และเครื่องดนตรีชิ้นแรกที่ได้รับการยอมรับคือ “ขลุ่ยจากกระดูก” (bone flute) ของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่เรียกว่า “Divje Babe Flute”
เมื่อเครื่องดนตรีชิ้นแรกคือ ขลุ่ย และดนตรีเกิดจากการเลียนเสียงธรรมชาติของมนุษย์ ก็คงไม่มีที่ไหนเหมาะกับการเล่นขลุ่ยมากกว่าในธรรมชาติอีกแล้ว เพื่อพิสูจน์ความคิดนี้ ฉันและชายผิวกรำแดดจึงขึ้นมาบนดอยปุย จุดชมวิวบนเทือกเขาถนนธงชัย ในเวลาเย็นของสุดสัปดาห์
วิวที่สูงเหนือระดับน้ำทะเลกว่า 1,685 เมตร ทำให้ทอดสายตาไปได้ไกลสุดลูกหูลูกตา สันเขาพาดสลับกันไปมาและท้องฟ้าสดใสประปรายด้วยก้อนเมฆเกาะกันเป็นรูปทรงต่างๆ ฉันอดไม่ได้ที่จะยกกล้องขึ้นมาบันทึกภาพ เช่นเดียวกับฤทธิ์ที่ยกขลุ่ยขึ้นมาตั้งท่าถ่ายรูป
“มันคืออะไร” หญิงชาวต่างชาติถามด้วยความสงสัย
“ขลุ่ยอินเดียนแดง” เขาตอบกลับสั้น ๆ
“เล่นให้ฟังหน่อยได้ไหม” เธอร้องขอหลังจากรู้ว่าคือเครื่องดนตรี
ครั้งนี้เขาไม่ได้ตอบ แต่ยกขลุ่ยเลาเดิมขึ้นมาจดริมฝีปากและเริ่มบรรเลงเพลงตามอารมณ์ปัจจุบัน เสียงทุ้มของขลุ่ยอินเดียนแดงและความเงียบของธรรมชาติเข้ากันเป็นปี่เป็นขลุ่ย ไม่สิ “เข้ากันเป็นธรรมชาติเป็นขลุ่ย” ฉันไม่สงสัยเลยว่าทำไมวิดีโอเสียงเพื่อการบำบัด (sound healing) ถึงนิยมจับคู่ขลุ่ยพื้นเมืองอินเดียนแดงกับเสียงจากธรรมชาติ
เมื่อบรรเลงจบ เสียงปรบมือก็ดังขึ้น ไม่เพียงจากหญิงชาวต่างชาติ แต่นักท่องเที่ยวทุกคนที่อยู่ตรงนั้นปรบมือให้กับการแสดงสั้นๆ นี้ด้วยความเต็มใจ เขากล่าวขอบคุณด้วยรอยยิ้ม
ระหว่างรอชมพระอาทิตย์ตก ฉันถามฤทธิ์ถึงความคาดหวังต่อขลุ่ยลมเหนือในอนาคต
“ขลุ่ยลมเหนือน่าจะทำอะไรได้มากกว่าการทำขลุ่ยขาย” เขากล่าวแววตาเป็นประกาย
เขาอธิบายให้ฟังต่อว่า อยากทำให้บ้านตัวเองเป็นศูนย์การเรียนรู้ สอนทำขลุ่ยทุกประเภท และอยากให้มีคนสานต่อสิ่งที่ทำไว้ เพราะเขารู้ว่าการทำขลุ่ยโดยไม่มีอาจารย์สอนเป็นอย่างไร จึงตั้งปณิธานว่าหากมีคนสนใจ ก็พร้อมสอนด้วยความเต็มใจ
แม้ทุกวันนี้เขาจะสอนทำขลุ่ยพลาสติกฟรีให้นักท่องเที่ยวที่โหล่งฮิมคาวทุกช่วงเช้าวันเสาร์ แต่ก็ไม่อยากหยุดเพียงแค่นี้ เขามองว่าอนาคตอยากไปหาเด็กๆ บนดอยแล้วสอนทำขลุ่ยพร้อมกับแจกขลุ่ยตามโรงเรียน
เมื่อถามว่าจะสอนเด็กทำขลุ่ยและแจกขลุ่ยตามโรงเรียนทำไม ฤทธิ์ตอบกลับมาง่ายๆ ว่า “บางทีขลุ่ยเราอาจเป็นแรงบันดาลใจให้เด็กหันมาสนใจดนตรี และอาจได้เป็นนักดนตรีที่ยิ่งใหญ่ของโลก”
เพราะโลกนี้กว้างใหญ่ มีสิ่งให้เรียนรู้มากมาย หากไม่ชอบเรียนหนังสือ ลองหันไปเล่นดนตรี หากไม่ชอบเล่นดนตรี ลองหันไปเล่นกีฬา หรือหากไม่ชอบเล่นกีฬา ลองหาสิ่งที่ชอบไปเรื่อยๆ สักวันอาจเจอ
เขาตั้งใจเปิดโลกทัศน์ดนตรีด้วยขลุ่ยลมเหนือที่มี
อากาศบนดอยเริ่มเย็นลง นักท่องเที่ยวเริ่มเบาบาง ท้องฟ้าเริ่มเปลี่ยนสีสู่โทนมืด แสงไฟตลอดเส้นทางขึ้นดอยเริ่มสว่างขึ้น
คืนนี้ดาวประกายพรึกสว่างไสวเคียงคู่จันทรา
บรรณานุกรม
- โตมร ศุขปรีชา. (2564). มนุษย์เป็นสัตว์ดนตรีจริงไหม ดนตรีและเครื่องดนตรีมาจากไหน ย้อนประวัติศาสตร์หาต้นตอเสียงเพลงที่จรรโลงมนุษยชาติมาเนิ่นนาน. THE STANDARD. https://thestandard.co