สถานะที่โดดเด่นที่สุดของกรมหลวงชุมพรฯ ตามความรับรู้ของสังคมไทยสมัยปัจจุบัน คือ “เจ้าพ่อ” (หรือ “เสด็จพ่อ”) ในความหมายของดวงวิญญาณที่มีฤทธิ์เดช ให้ความคุ้มครองผู้เคารพนับถือ รวมถึงอาจดลบันดาลโชคลาภ ความสำเร็จ และทางรอดจากปัญหา ให้แก่ผู้ที่ศรัทธา

“เสด็จเตี่ย” กรมหลวงชุมพรฯ ตอนที่ ๖๗ - เจ้าต้องมีศาล

พระรูปของพระองค์พบเห็นได้ทุกหนทุกแห่ง ตั้งแต่เป็นเหรียญล็อกเกตห้อยคอ ตามหิ้งบูชาในร้านค้า บ้านเรือน รถเมล์ จนถึงในเรือประมง

ภูมิหลังของพระประวัติที่ทรงเคยเป็น “หมอพร” ผู้มีเมตตาแก่ชนทุกชั้น ทุกเชื้อชาติ อาจเป็นส่วนหนึ่งที่นำมาซึ่งความเลื่อมใสศรัทธา ขณะเดียวกันความข้องเกี่ยวที่ทรงมีกับพระเถราจารย์ผู้เป็นเกจิฯ แห่งยุคมากมายหลายรูป กับความใฝ่พระทัยในทางไสยศาสตร์ เหล่านี้อาจนับเป็นอีกส่วนหนึ่ง

โดยเฉพาะเมื่อผนวกกับการที่ทรงประกาศพระองค์เป็น “เสด็จเตี่ย” ตั้งแต่ยังทรงมีพระชนม์ชีพ ตรงนี้เองกระมังที่ทำให้ผู้คนทั่วไป ไม่ว่าผู้หญิงผู้ชาย เด็กผู้ใหญ่ หรือคนไทยคนจีน สามารถปวารณาตนเป็น “ลูก” ของ “เสด็จเตี่ย” ได้โดยเท่าเทียมกัน

ไม่ว่าจะเป็นใครมาจากไหน ทุกคนล้วนสามารถสื่อสารกับ “เสด็จเตี่ย” ได้โดยตรง ในแบบที่ไม่ต้องมีพิธีรีตอง หรือต้องอาศัย “สื่อกลาง” แต่อย่างใด เพราะสำหรับ “ลูกๆ” ทั้งหลาย “เสด็จเตี่ย” ยังมิได้ทรงล่วงลับไป หากแต่ดวงพระวิญญาณยังคงอยู่ คอยปกป้องคุ้มครองภยันตราย สดับรับฟังความทุกข์ยาก และช่วยเหลืออำนวยผลสำเร็จในสิ่งอันปรารถนา พร้อมประสบโชคลาภนานา เฉกเช่น “เจ้า” ที่ว่ากันว่าศักดิ์สิทธิ์

และเมื่อทรงเป็น “เจ้า” ก็ย่อมต้องมี “ศาล”

ภายหลังจากที่กรมหลวงชุมพรฯ สิ้นพระชนม์ในปี ๒๔๖๖ ทรัพย์สิน ที่ดิน และสิ่งปลูกสร้างในวังนางเลิ้ง ถูกแบ่งสรรปันส่วนกันในหมู่ทายาท บางท่านบางองค์อาจขายต่อ บ้างยังคงพำนักอยู่ต่อมาอีกหลายสิบปี แต่ที่ดินส่วนใหญ่ของวังนางเลิ้งเดิมตกเป็นของพระคลังข้างที่ (สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์) นอกนั้นก็เป็นของทายาทแปลงเล็กแปลงน้อย รวมถึงเคยมีส่วนหนึ่งด้านถนนนครสวรรค์ เชิงสะพานเทวกรรมรังรักษ์ เป็นที่ตั้งศาลของพระองค์

ตามตำนานที่เล่ากัน ศาลแห่งนี้มีมาตั้งแต่เมื่อครั้งเสด็จในกรมฯ ยังทรงมีพระชนม์ชีพ

นายเทียบ อุทัยเวช น้องชายของหม่อมแจ่ม ชายาคนหนึ่งของเสด็จในกรมฯ เล่าประวัติศาลไว้ว่า ครั้งหนึ่งกรมหลวงชุมพรฯ เคยทรงสอบถาม “แป๊ะแช” มหาดเล็กเรือนนอกคนจีน ผู้มีอาชีพเดินเรือค้าขาย ว่าเวลาประสบคลื่นลมรุนแรงในทะเล แล้วต้องขอให้เจ้าองค์ไหนช่วย อาแปะว่าต้องเรียก “เจ้าแม่เซียนโกว” เสด็จในกรมฯ จึงโปรดให้แปะแชจัดการจ้างช่างสลักรูปเจ้าแม่ขึ้น แล้วสร้าง “ศาลเจ้าแม่ทะเล” เอาไว้ในวังนางเลิ้งบ้าง ด้วยเหตุว่าท่านก็ทรงเป็น “ชาวเรือ” พระองค์หนึ่งเหมือนกัน

แต่ลำพังคำว่า “เซียนโกว” ในภาษาจีนแต้จิ๋ว มีความหมายเพียงว่าเซียน (หรือเทวดา) ผู้หญิง คือเป็นคำเรียกกลางๆ ว่า “เจ้าแม่” เท่านั้นเอง ผมจึงสงสัยว่า “เจ้าแม่เซียนโกว” ในที่นี้ คงได้แก่เจ้าแม่ม่าจู/หม่าโจ๊ว หรือเจ้าแม่ทับทิม อันเป็นที่เคารพสักการะของคนจีนในเมืองไทย ซึ่งส่วนใหญ่เดินทางเข้ามาโดยเรือเดินทะเล

อีกทั้งตำนานเจ้าแม่เซียนโกว ที่นายเทียบ อุทัยเวช ฟังมาจากแปะแช ที่เล่าถึงสตรีใจบุญผู้มีอภินิหารช่วยเหลือบิดาผู้เรือแตก ก็ดูใกล้เคียงประวัติของเจ้าแม่ทับทิมฉบับที่เล่าขานกันทั่วไปนั่นเอง

ครั้นต่อมาเมื่อกรมหลวงชุมพรฯ สิ้นพระชนม์แล้ว คือหลังปี ๒๔๖๖ แปะแชและบรรดามหาดเล็กจีนที่ระลึกถึงพระคุณจึงสร้างศาลเจ้าแม่เซียนโกวขึ้นที่เชิงสะพานเทวกรรมรังรักษ์ฝั่งสนามม้านางเลิ้ง แล้วอัญเชิญรูปสลักเจ้าแม่ย้ายมาประดิษฐานไว้ที่ศาลหลังใหม่


sadettia03
“เสด็จเตี่ย” กรมหลวงชุมพรฯ

บทความชุดนี้มีต้นทางจากหนังสือพระประวัติกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ของผู้เขียน คือ “ให้โลกทั้งหลายเขาลือ” (พิมพ์ครั้งแรกโดยสำนักพิมพ์สารคดี ๒๕๖๓ ราคา ๔๘๐ บาท) โดยเล่าเก็บความจากหนังสือ และเสริมบางประเด็นที่มีข้อมูล หรือความคิดเห็นเพิ่มเติมภายหลังหนังสือตีพิมพ์ออกมาแล้ว

สั่งซื้อหนังสือ