เรื่องที่บรรดา “ลูกๆ” จะบนบานศาลกล่าวกับ “เสด็จเตี่ย” มีได้สารพัดสารพัน
ในทางหนึ่ง จากพระประวัติที่เคยทรงเป็น “หมอพร” ส่งผลให้คนนิยมบนบานกันในเรื่องโรคภัยไข้เจ็บ แต่ประเภทของหายได้คืน หรือแม้กระทั่งลมฟ้าอากาศ ก็พบว่าติดอันดับหัวข้อยอดนิยมเช่นกัน
พลเรือเอก ประเสริฐ บุญทรง อดีตผู้บัญชาการทหารเรือ ภายหลังเกษียณอายุราชการ ท่านเคยเขียนเล่าประสบการณ์ส่วนตัวเรื่องการบนบาน “เสด็จเตี่ย” ไว้ว่า

“หลายครั้งหลายหนที่พิธีการต่างๆ กลางแจ้งในช่วงฤดูฝนบริเวณพื้นที่สัตหีบ ได้รอดพ้นจากการเสียพิธี รวมทั้งบริเวณฐานทัพเรือกรุงเทพ ที่จัดงานวันอาภากร เมื่อปี ๒๕๔๔ และ ๒๕๔๕ ที่รอดจากการเปียกฝนได้อย่างหวุดหวิด
“กรณีของหายที่หลายคนได้หยุดคิด จุดธูปบูชาอธิษฐานแล้วของได้คืนแบบปาฏิหาริย์ ซึ่งปรากฏแก่ตัวผู้เขียนเอง ซึ่งได้คืนแบบหวุดหวิดก่อนที่จะเกิดความคับขัน
“และครั้งสำคัญครั้งหนึ่งซึ่งไม่น่าเชื่อว่าจะเกิดขึ้น กรณีผู้บัญชาการทหารเรือไปราชการ ณ ประเทศอังกฤษ มีกำหนดกลับในวันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๔๕ เพื่อถึงเมืองไทยในวันที่ ๑๘ พฤษภาคม ๒๕๔๕ ให้ทันเปิดงานวันอาภากรในเย็นวันนั้น เหตุการณ์ที่น่าระทึกใจก็คือ เครื่องคอมพิวเตอร์ของสนามบินฮีตโทร์ทั้งหมดขัดข้อง ต้องปิดสนามบินโดยไม่มีกำหนด ไม่มีเครื่องของสายการบินใดๆ ขึ้นลงได้ แต่เหมือนปาฏิหาริย์ สายการบินไทยเที่ยวนั้นได้รับอนุญาตให้บินขึ้นได้เที่ยวเดียว โดยไม่ต้องใช้คอมพิวเตอร์ และเราก็กลับมาร่วมพิธีเปิดวันอาภากรได้ทัน”
กล่าวกันว่า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเดือดเนื้อร้อนใจใดๆ ล้วนสามารถอธิษฐานขอพึ่งพระบารมีของ “เสด็จเตี่ย” ได้ทั้งสิ้น เว้นแต่เรื่องบนให้ “ไม่ติดทหาร” เนื่องจากปรากฏชัดในพระประวัติว่าการทหารเป็นสิ่งที่ทรงโปรดปราน
ในเขตจังหวัดชายทะเล ชายไทยที่ถึงเกณฑ์เข้ารับราชการทหารต้องเข้าประจำการในกองทัพเรือ (ทร.) ด้วยเหตุนี้ย่อมทำให้ความนับถือเลื่อมใส “เสด็จเตี่ย” แผ่ขยายจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำกองทัพเรือออกไปสู่กำลังพล เช่น ฝันดี-ฝันเด่น จรรยาธนากร อดีตนักร้องฝาแฝดชาวชลบุรี ซึ่งสมัครเข้ารับราชการทหารในสังกัดกองทัพเรือ ทั้งสองเคยให้สัมภาษณ์สื่อเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้
“เมื่อเราได้มายืนในจุดนี้ เป็นทหารเรือ ได้เป็นลูกหลานของท่าน ก็ยิ่งผูกพันมากขึ้น รูปเสด็จเตี่ยเหมือนเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งที่ทำให้เรารู้สึกแข็งแกร่ง…” (ฝันดี)
“หลังจากที่เข้ามาเป็นทหาร บางครั้งเราเหนื่อยเราท้อ จากชีวิตพลเรือนที่สบายๆ พอมาเป็นทหารก็ต้องมีกฎเกณฑ์ มีระเบียบ วินัย กติกา มีมารยาท ทำให้ชีวิตต้องปรับเปลี่ยนไป…ทุกครั้งที่ผมท้อถอย ผมจะนึกถึงเสด็จเตี่ย เพราะว่าท่านเหมือนเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวไว้ ท่านได้ฝ่าฟันอะไรมาเยอะเท่าที่ผมได้อ่านประวัติศาสตร์มา ผมคิดว่าเราก็เป็นลูกผู้ชายเหมือนกันและเป็นคนไทย ต้องทนได้…” (ฝันเด่น)
ความนับถือ “เสด็จเตี่ย” จึงแพร่กระจายลงสู่ท้องถิ่นต่างๆ ตลอดแนวชายฝั่ง ชาวเรือทั้งฝั่งอ่าวไทยและทะเลอันดามัน ต่างสักการบูชาพระองค์ในฐานะผู้คุ้มครองป้องกันภัยทางทะเล เราจึงมักพบรูปภาพกรมหลวงชุมพรฯ แขวนไว้เหนือพังงาเรือเดินทะเล รวมถึงอีกหลายชุมชนต่างตั้งพระรูปหรือตั้งศาลเล็กๆ ขึ้นบูชาเฉพาะบ้านเฉพาะละแวกย่านของตน
“เสด็จเตี่ย” กรมหลวงชุมพรฯ
บทความชุดนี้มีต้นทางจากหนังสือพระประวัติกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ของผู้เขียน คือ “ให้โลกทั้งหลายเขาลือ” (พิมพ์ครั้งแรกโดยสำนักพิมพ์สารคดี ๒๕๖๓ ราคา ๔๘๐ บาท) โดยเล่าเก็บความจากหนังสือ และเสริมบางประเด็นที่มีข้อมูล หรือความคิดเห็นเพิ่มเติมภายหลังหนังสือตีพิมพ์ออกมาแล้ว
สั่งซื้อหนังสือ