เรื่องที่บรรดา “ลูกๆ” จะบนบานศาลกล่าวกับ “เสด็จเตี่ย” มีได้สารพัดสารพัน

ในทางหนึ่ง จากพระประวัติที่เคยทรงเป็น “หมอพร” ส่งผลให้คนนิยมบนบานกันในเรื่องโรคภัยไข้เจ็บ แต่ประเภทของหายได้คืน หรือแม้กระทั่งลมฟ้าอากาศ ก็พบว่าติดอันดับหัวข้อยอดนิยมเช่นกัน

พลเรือเอก ประเสริฐ บุญทรง อดีตผู้บัญชาการทหารเรือ ภายหลังเกษียณอายุราชการ ท่านเคยเขียนเล่าประสบการณ์ส่วนตัวเรื่องการบนบาน “เสด็จเตี่ย” ไว้ว่า

กรมหลวงชุมพรฯ ตอนที่ ๖๙ - ลูกๆ ของ “เสด็จเตี่ย”

“หลายครั้งหลายหนที่พิธีการต่างๆ กลางแจ้งในช่วงฤดูฝนบริเวณพื้นที่สัตหีบ ได้รอดพ้นจากการเสียพิธี รวมทั้งบริเวณฐานทัพเรือกรุงเทพ ที่จัดงานวันอาภากร เมื่อปี ๒๕๔๔ และ ๒๕๔๕ ที่รอดจากการเปียกฝนได้อย่างหวุดหวิด

“กรณีของหายที่หลายคนได้หยุดคิด จุดธูปบูชาอธิษฐานแล้วของได้คืนแบบปาฏิหาริย์ ซึ่งปรากฏแก่ตัวผู้เขียนเอง ซึ่งได้คืนแบบหวุดหวิดก่อนที่จะเกิดความคับขัน

“และครั้งสำคัญครั้งหนึ่งซึ่งไม่น่าเชื่อว่าจะเกิดขึ้น กรณีผู้บัญชาการทหารเรือไปราชการ ณ ประเทศอังกฤษ มีกำหนดกลับในวันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๔๕ เพื่อถึงเมืองไทยในวันที่ ๑๘ พฤษภาคม ๒๕๔๕ ให้ทันเปิดงานวันอาภากรในเย็นวันนั้น เหตุการณ์ที่น่าระทึกใจก็คือ เครื่องคอมพิวเตอร์ของสนามบินฮีตโทร์ทั้งหมดขัดข้อง ต้องปิดสนามบินโดยไม่มีกำหนด ไม่มีเครื่องของสายการบินใดๆ ขึ้นลงได้ แต่เหมือนปาฏิหาริย์ สายการบินไทยเที่ยวนั้นได้รับอนุญาตให้บินขึ้นได้เที่ยวเดียว โดยไม่ต้องใช้คอมพิวเตอร์ และเราก็กลับมาร่วมพิธีเปิดวันอาภากรได้ทัน”

กล่าวกันว่า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเดือดเนื้อร้อนใจใดๆ ล้วนสามารถอธิษฐานขอพึ่งพระบารมีของ “เสด็จเตี่ย” ได้ทั้งสิ้น เว้นแต่เรื่องบนให้ “ไม่ติดทหาร” เนื่องจากปรากฏชัดในพระประวัติว่าการทหารเป็นสิ่งที่ทรงโปรดปราน

ในเขตจังหวัดชายทะเล ชายไทยที่ถึงเกณฑ์เข้ารับราชการทหารต้องเข้าประจำการในกองทัพเรือ (ทร.) ด้วยเหตุนี้ย่อมทำให้ความนับถือเลื่อมใส “เสด็จเตี่ย” แผ่ขยายจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำกองทัพเรือออกไปสู่กำลังพล เช่น ฝันดี-ฝันเด่น จรรยาธนากร อดีตนักร้องฝาแฝดชาวชลบุรี ซึ่งสมัครเข้ารับราชการทหารในสังกัดกองทัพเรือ ทั้งสองเคยให้สัมภาษณ์สื่อเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้

“เมื่อเราได้มายืนในจุดนี้ เป็นทหารเรือ ได้เป็นลูกหลานของท่าน ก็ยิ่งผูกพันมากขึ้น รูปเสด็จเตี่ยเหมือนเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งที่ทำให้เรารู้สึกแข็งแกร่ง…” (ฝันดี)

“หลังจากที่เข้ามาเป็นทหาร บางครั้งเราเหนื่อยเราท้อ จากชีวิตพลเรือนที่สบายๆ พอมาเป็นทหารก็ต้องมีกฎเกณฑ์ มีระเบียบ วินัย กติกา มีมารยาท ทำให้ชีวิตต้องปรับเปลี่ยนไป…ทุกครั้งที่ผมท้อถอย ผมจะนึกถึงเสด็จเตี่ย เพราะว่าท่านเหมือนเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวไว้ ท่านได้ฝ่าฟันอะไรมาเยอะเท่าที่ผมได้อ่านประวัติศาสตร์มา ผมคิดว่าเราก็เป็นลูกผู้ชายเหมือนกันและเป็นคนไทย ต้องทนได้…” (ฝันเด่น)

ความนับถือ “เสด็จเตี่ย” จึงแพร่กระจายลงสู่ท้องถิ่นต่างๆ ตลอดแนวชายฝั่ง ชาวเรือทั้งฝั่งอ่าวไทยและทะเลอันดามัน ต่างสักการบูชาพระองค์ในฐานะผู้คุ้มครองป้องกันภัยทางทะเล เราจึงมักพบรูปภาพกรมหลวงชุมพรฯ แขวนไว้เหนือพังงาเรือเดินทะเล รวมถึงอีกหลายชุมชนต่างตั้งพระรูปหรือตั้งศาลเล็กๆ ขึ้นบูชาเฉพาะบ้านเฉพาะละแวกย่านของตน


sadettia03
“เสด็จเตี่ย” กรมหลวงชุมพรฯ

บทความชุดนี้มีต้นทางจากหนังสือพระประวัติกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ของผู้เขียน คือ “ให้โลกทั้งหลายเขาลือ” (พิมพ์ครั้งแรกโดยสำนักพิมพ์สารคดี ๒๕๖๓ ราคา ๔๘๐ บาท) โดยเล่าเก็บความจากหนังสือ และเสริมบางประเด็นที่มีข้อมูล หรือความคิดเห็นเพิ่มเติมภายหลังหนังสือตีพิมพ์ออกมาแล้ว

สั่งซื้อหนังสือ