เรื่อง : สุชาดา ลิมป์
ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช

ช่วงสิงหาคมถึงตุลาคม ชาวนครฯ จะพากันเข้าป่า

เพื่อเก็บผลประที่แตก แล้วเมล็ดประผิวแข็งสีน้ำตาลเป็นมันเลื่อมก็ร่วงจากต้นสู่พื้น

พวกเขาใช้ประโยชน์จาก “ป่าประ” เป็นวิถี บ้างเก็บมาดองกินกับน้ำพริกไม่ก็แปรรูปขายเป็นรายได้เสริมมาตั้งแต่ก่อนประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติเขานัน ตำบลกรุงชิง อำเภอนบพิตำ จังหวัดนครศรีธรรมราช

แต่ปัญหาคือเป็นการใช้ประโยชน์โดยขาดการคำนึงถึงนิเวศของ “ป่าประผืนสุดท้ายของไทย-ใหญ่สุดในโลก” กว่า ๕,๐๐๐ ไร่ เสี่ยงให้ไม้พื้นถิ่นบนพื้นที่ไม่อาจเกิดทดแทนได้ตามฤดู นักวิจัยและชุมชนนบพิตำจึงร่วมออกแบบนวัตกรรมจัดการทรัพยากร พร้อมยกระดับคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจท้องถิ่น

จากนี้เรื่องราว “ป่าประ” จะนำไปสู่การรับรู้เรื่อง “ประ (โยชน์)” ที่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

ป่าประ

:: พบป () ::

เรายืนอยู่ในบ้านของประ-พืชพื้นถิ่นแห่งเดียวในไทย

บนภูเขาสูงอันดับสามของเทือกเขานครศรีธรรมราช

ที่ความสูงจากระดับน้ำทะเล ๒๔๘ เมตร เป็นพื้นที่ป่าดงดิบชื้นและป่าดิบเขา ไม้มีค่าขึ้นตามฤดูหนาแน่น อย่างหลุมพอ ตะเคียนทอง ไข่เขียว ตะเคียนทราย เสียดช่อ จำปาป่า ยาง ฯลฯ สำคัญคือบริเวณป่าบ้านทับน้ำเต้า บ้านหน้าพระเจ้า บ้านห้วยพริก และบ้านห้วยแห้ง พบ “ประ” (Elaleriospermum tapos Bl.) ขึ้นเป็นกลุ่มใหญ่จนเป็น “แหล่งเมล็ดพันธุ์ประ” ที่มีราคา

papra02

“ผมเริ่มทำงานด้านป่าประปี ๒๕๔๘ เวลานั้นมีการทำลายทรัพยากรหนัก พืชหลายชนิดหายไป ถ้าผืนป่าประที่เหลือยังปล่อยให้หายไปอีกอย่างไรอุทยานก็ต้องรับผิดชอบ จึงเริ่มสำรวจขอบเขตป่าประอย่างจริงจัง ในอุทยานนี้ผมว่ามีต้นประนับล้าน แค่ระดับความสูงบริเวณนี้ก็มีต้นที่ให้ผลผลิต ๕๐-๖๐ ต้น หนึ่งต้นอย่างต่ำก็ ๒๐๐ เมล็ด ราว ๕๐-๖๐ กิโลกรัม ฤดูที่ประแตกจึงมีชาวบ้านเข้ามาเก็บเมล็ดกันมาก เมล็ดสดขายได้กิโลกรัมละ ๕๐-๖๐ บาท แปรรูปแล้วเพิ่มเป็นกิโลกรัมละ ๒๐๐-๓๐๐ บาท ทางอุทยานจึงเกรงว่าหากไม่สร้างกรอบกติกาที่ชัดเจนในอนาคตจะกระทบต่อทรัพยากร”

พัฒนพร รินทจักร์ นักวิชาการเกษตร อุทยานแห่งชาติเขานัน ย้อนที่มาก่อนร่วม “โครงการวิจัยท้าทายไทย” กับสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช ที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สกสว.) ให้ทุนศึกษาภูมินิเวศป่าประ

papra03

“เมื่อก่อนป่าประที่ใหญ่สุดของโลกเคยอยู่สาธารณรัฐอินโดนีเซีย แต่ด้วยความที่ภูมิประเทศเป็นหมู่เกาะตั้งอยู่ระหว่างคาบสมุทร ประสบอุทกภัยและอัคคีภัยบ่อย ป่าประที่เคยมีจำนวนมากจึงลดหาย ที่สุดแล้วป่าประของอำเภอนบพิตำซึ่งพบเพียงแห่งเดียวในไทยจึงกลายเป็นผืนป่าประที่ใหญ่สุดในโลก”

เพื่อรักษาผืนป่า อุทยานแห่งชาติเขานันจึงเริ่มสร้างนโยบายกำหนด “วันประแตก”

ให้ชาวบ้านเข้าป่าเก็บประอย่างมีวินัย ห้ามเก็บจนหมด ผลที่ตกสู่พื้นให้เก็บได้ ๔๐ เปอร์เซ็นต์ เมล็ดเน่าเสียก็ให้ทิ้งไว้เป็นอาหารสัตว์ป่า ที่เหลือยังมีโอกาสได้งอกเป็นต้นอ่อนเพื่อเติบโตทดแทน

papra04

“อุทยานยังมีนโยบายแจกกล้าไม้ประฟรี ให้ชาวบ้านช่วยกันปลูกนอกป่า เพื่อวันหนึ่งจะไม่ต้องเข้ามาเก็บเมล็ดถึงในป่า และประยังเป็นไม้ที่ปลูกแซมกับสวนพืชผลได้ ต้นประมีความสูงกว่าต้นยางพารา เคยมีคนใช้โคนต้นเป็นยางพาราแล้วนำยอดต้นประมาเสียบ หลักการเดียวกับที่นำกิ่งมะนาวเสียบกับต้นส้มโอ หรือถ้าอยากได้ต้นมะม่วงที่ให้ผลหลากพันธุ์ก็นำกิ่งต่างพันธุ์ไปเสียบกับอีกต้นนั่นล่ะ อย่างไรผลยางพาราก็กินไม่ได้อยู่แล้วจะได้เก็บลูกประขายแทนขณะที่ก็ยังได้กรีดน้ำยางตามปรกติ”

นอกจากได้เพิ่มพื้นที่ผลิตอากาศบริสุทธิ์ ยังได้เก็บผลผลิตสองอย่างจากสองฤดูกาล

papra05

:: กินขนม ดื่มนม ที่มีประ (โยชน์) ::

เมล็ดประสดที่เก็บมามีช่วงเวลาบริโภคได้เพียงเดือนครึ่ง

แต่เดิมชาวบ้านใช้วิธีเทลูกประเกลี่ยกระจายที่พื้นผึ่งลม ระวังไม่ให้อยู่ในสภาพร้อน-ชื้นเกิน คราวจะกินก็กินแบบเมล็ดสด และรู้เพียงอย่ากินเยอะเพราะบางคนกิน ๒-๓ เมล็ด ก็เวียนหัว คลื่นไส้ อาเจียน

papra06

คณะวิจัยกลุ่มทรัพยากรและการแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหารจึงเข้ามาเสริมความเข้าใจ

“สิ่งที่ทำให้เกิดอาการนั้นคือไซยาไนด์ ซึ่งหากนำเมล็ดประไปต้มสัก ๕ นาที ก็ทำลายพิษได้ และถ้ากินในปริมาณที่เหมาะสมจะไม่อันตราย ดังนั้นจากที่ชาวบ้านเคยคะเนน้ำหนักเองเราจึงแนะนำให้ตวงตาชั่ง หรือแต่เดิมชาวบ้านใช้ครกหรือไม้ทุบให้เมล็ดแตกซึ่งต้องทำทีละเมล็ด เสียเวลา เปลืองแรงงานคน ทีมวิจัยก็ช่วยพัฒนาเครื่องหั่นเมล็ดและเครื่องกะเทาะเปลือกทุ่นแรงให้ จะได้ควบคุมขนาดให้มาตรฐานด้วย”

ผู้ช่วยศาสตราจารย์วราศรี แสงกระจ่าง อาจารย์ประจำหลักสูตรการอาหารและโภชนาการ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช ยังเห็นว่าน่าจะดีหากชาวชุมชนมีทางเลือกอื่นในการยืดอายุให้เมล็ดประอยู่ได้นานยิ่งขึ้น

  • papra07 0
  • papra07 1

จากเพียงกินเมล็ดสดจึงเริ่มมีการถนอมอาหารโดยฟรีซหรือดองเพื่อเก็บไว้ได้นานนับปีแต่เมล็ดประดองรสเปรี้ยวก็ยังไม่ตอบโจทย์คนทุกกลุ่ม จึงมีการทดลองทอดเช่นที่พืชผลหลายชนิดของภาคใต้ทำ หลังหั่นเมล็ดแล้วจะนำไปลวกค่อยนำไปทอดแล้วปรุงรสด้วยวิธีฉาบหวานให้อร่อยเพลินกว่าที่เคยเป็นมา

กระนั้นเมล็ดประก็ยังไม่เหมาะกับวิธีทอด เพราะลูกประที่ได้มาแต่ละครั้งมีค่าความชื้นแตกต่าง อุณหภูมิน้ำมันในการทอดจึงต้องใช้ต่างกัน แล้วยังไม่สามารถควบคุมรสชาติ-สีสันให้ผลิตภัณฑ์คงที่ได้จากแม่ครัวแต่ละคน ผลคือต้องทิ้งมากกว่าได้กิน-ขาย

“สุดท้ายจึงคิดว่านำเมล็ดประสดไปสไลด์แล้วอบแห้งด้วยไมโครเวฟซึ่งมีคุณสมบัติในการให้ความร้อนและเป็นการลดไซยาไนด์ด้วยน่าจะเป็นวิธีเหมาะสมสุด จึงร่วมมือกับทีมวิจัยมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ผลิตเครื่องไมโครเวฟซึ่งมีความต่างจากที่ขายอยู่ตามท้องตลาด สามารถเพิ่มกำลังวัตต์ให้ตอบโจทย์กับการทำแห้งให้เมล็ดประได้โดยตรง และเครื่องนี้ยังได้นำไปประยุกต์ใช้กับผลิตภัณฑ์อื่นๆ”

  • papra08
  • papra08 1

และหากจะส่งเสริมให้เมล็ดประเป็นสินค้าเอกลักษณ์ประจำอำเภอนบพิตำ ต้องเพิ่มผลิตภัณฑ์ใหม่ที่น่าสนใจอีก จึงเกิดโครงการวิจัย “นมประ” นำส่วนที่เป็นน้ำมาต่อยอด

“เพราะเมล็ดประมีองค์ประกอบของโปรตีน คาร์โบไฮเดรต เป็นแหล่งพลังงานสำคัญของร่างกาย ที่น่าสนใจคือมีไขมันดีทั้งโอเมก้า ๓ และโอเมก้า ๖ ซึ่งปรกติจะพบในปลาทะเล จึงเป็นอีกความพิเศษของประที่พบในพืชชนิดนี้ ถือเป็นทางเลือกสำหรับผู้แพ้สารฮีสทามีนในอาหารทะเล และปรกติหากมีโอเมก้าชนิดใดมากเกินจะไม่ส่งผลดี แต่ในเมล็ดประมีสัดส่วนของโอเมก้าทั้งสองชนิดในปริมาณที่พอดีกัน ผู้แพ้นมสัตว์จึงดื่มนมประได้ แม้จะให้โปรตีนน้อยกว่าแต่ก็ทดแทนด้วยไขมันจำเป็น ช่วยป้องกันอัลไซเมอร์ได้ด้วย”

ดร. จตุพร คงทอง คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราชเสริมว่าหลังต้มเมล็ดประเพียงนำส่วนที่เป็นน้ำไปปั่นเป็นนม เมื่อพาสเจอร์ไรซ์แล้วจะเก็บในตู้เย็นได้นับสัปดาห์

papra09

แล้วใช้ประโยชน์จากกระบวนการปั่นน้ำนม แยกส่วนที่เป็นกากกองอยู่ด้านล่างออกมาบด พัฒนาต่อเป็น “คุ้กกี้” ที่หากซีลบรรจุภัณฑ์ก็จะเก็บไว้กินได้นานนับเดือน

“เวลานี้นมและคุ้กกี้ยังอยู่ในกระบวนการวิจัยที่มีต้นทุนสูงจึงยังไม่ได้ผลิตเพื่อจำหน่าย แต่ประเมินว่าหากเป็นผลิตภัณฑ์แล้ว ขวดขนาด ๑๘๐ มิลลิลิตร จะมีราคาสูงกว่า ๖๐ บาท ขึ้นอยู่กับรูปแบบของบรรจุภัณฑ์ด้วย ถ้าใช้แบบถ้วยก็อาจมีราคาถูกลงเหลือ ๒๕ บาท”

นับเป็นความรู้ก้าวสำคัญที่สร้างความตระหนักแก่ชุมชน

ว่าทรัพยากรป่าประของพวกเขามีคุณค่ามหาศาลเพียงใด

papra10

และเพื่อให้เกิดการจัดการทรัพยากรแบบยกระดับ

ศิลปะจากป่าประจึงเข้ามาเสริมทัพคุณค่าอีกทาง

ศิลปิน-ช่างฝีมือชาวนบพิตำต่างได้การสนับสนุนให้มีส่วนร่วมออกแบบแบบศิลปวัฒนธรรม อย่างกลุ่มผู้สูงอายุและกลุ่มเยาวชนก็ร่วมสืบสานตํานาน “รําโทนนกพิทิด” ให้เชื่อมโยงกับเรื่องราวในป่าประ จิตกร “เขียนผ้าบาติก” ถ่ายทอดความหลากหลายทางชีวภาพของป่าประและชาวบ้านขณะเข้าป่าเก็บลูกประในช่วงฤดูกาล ช่าง “ปั้นดินเผา” ขึ้นรูปผลิตภัณฑ์ต่างๆ เป็นรูปผลประ กลุ่มแม่บ้านวิสาหกิจชุมชนออกแบบ “เสื้อมัดย้อม” โดยใช้ประโยชน์จากแก่นของต้นประ ใบ และเปลือกของผลประที่เหลือทิ้งจากกระบวนการแปรรูปทางอาหาร อาศัยวัตถุดิบธรรมชาติสร้างสีสันให้เสื้อสวย ฯลฯ

papra11 0
  • papra11 1
  • papra11 2
  • papra11 3
  • papra11 4

หนทางอนุรักษ์ทุนทรัพยากรยังต้องพิสูจน์ความสำเร็จกันไปยาวๆ

แต่ที่เกิดขึ้นแล้วคือพลังชุมชนที่ร่วมปกป้องลมหายใจ “ป่าประผืนสุดท้ายของไทย-ใหญ่สุดในโลก” พร้อมยกระดับคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจท้องถิ่นด้วยวิธีที่แตกต่างจากเดิม