ทีมหน้าเมือง
เรื่อง : ธวัลรัตน์ พรหมวิเศษ
ภาพ : วันพระ สืบสกุลจินดา

miner01

“ลุงรู้ไหม ที่ทำให้ลุงต้องเป็นกระดูกทับเส้นคืออะไร ลุงเริ่มมีอาการปวดตรงไหน” เสียงนักกายภาพบำบัดสาวเอ่ยขึ้น

“รู้ๆ” ชายชราผมขาวโพลนตอบ “ลุงปวดที่สะโพกซ้ายก่อน เพราะเคยตกม้า แล้วสะโพกกระแทกหินก้อนใหญ่ ทีนี้บังเอิญในกระเป๋ากางเกงข้างซ้ายเนี่ยลุงเหน็บปืนไว้ด้วย เลยโดนกระแทกอย่างแรง” ชายชรากล่าว แววตาเปล่งประกาย

ภาพวันเก่าปรากฏในห้วงคำนึง ขณะม้าหนุ่มพาเขาทะยานไปข้างหน้า ด้วยหวังจะไปตรวจตราการทำงานของคนงานตามจุดต่างๆ ในขุมเหมืองนั้น พลันขาของม้าข้างหนึ่งสะดุดกองหินในจังหวะเลี้ยวโค้งพอดี ร่างสูงที่ดึงบังเหียนอยู่ถูกเหวี่ยงกระเด็น สะโพกซ้ายกระแทกกองหิน ซ้ำร้ายปืนพกที่ต้องติดตัวเสมอยามอาศัยอยู่ในป่าลึกเช่นนี้ ก็เหน็บไว้ที่กระเป๋ากางเกงด้านซ้ายพอดี

“โห ลุงขี่ม้าพกปืนไปทำอะไรคะ” นักกายภาพสาวถามน้ำเสียงตื่นเต้น จากแค่ซักถามสร้างความคุ้นเคย ก็เปลี่ยนมาสนใจเรื่องราวของชายชราทันที ขณะนัยน์ตาขุ่นมัวตามวัยเปล่งประกายระยับตามน้ำเสียงตื่นเต้นนั้น

“ลุงเป็นคนทำเหมือง ฉายาไอ้เสือ” เสียงแหบพร่าค่อยๆ แจ่มชัดขึ้น

“ไอ้เสืออยู่ม้าย ไอ้เสืออยู่ม้าย”

วัยรุ่นชายอายุราว ๑๕-๑๖ ปี ร้องเรียกอยู่หน้าบ้าน

ชายวัยฉกรรจ์ หน้าตาละม้ายชายชราที่เข้ารับการทำกายภาพบำบัด ออกมาตามเสียงเรียก

“ไอ้เสืออยู่นี่ ธุระไอ้ไหร”

วัยรุ่นชายสะดุ้ง ไม่คิดว่าพ่อของเพื่อนจะมีฉายาเดียวกับลูกชาย จึงยกมือไหว้ปลกๆ รีบเดินจากไป

miner02
miner03

ไอ้เสือเป็นฉายาที่ใช้เรียกในหมู่เพื่อนฝูงของผู้ชายชาวใต้ คนที่ได้รับฉายานี้มักมีใจนักเลง เป็นที่รักใคร่หรือยอมรับของเพื่อนฝูง แต่ไอ้เสือคนนี้ได้รับฉายาเพราะความอึด ทน และมีหัวใจนักสู้

หกสิบปีก่อน เมืองสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช เดินทางสัญจรด้วยรถราง วันนั้นนายภิรัฐ พรหมวิเศษ ลูกชายแม่เลียบ พ่อเชย เป็นตัวแทนโรงเรียนแข่งขันวิ่งเร็วและชกมวยในวันเดียวกัน หากตอนเช้าที่แข่งวิ่งเขาหกล้มหัวไหล่กระแทกพื้นได้รับบาดเจ็บ แต่ไม่ยอมยกเลิกการแข่งขันชกมวยในรอบค่ำ เป็นเหตุให้แม่เลียบและปลิวน้องสาวต้องนั่งรถรางไปชมการแข่งชกมวยที่บ้านฉลองด้วยความเป็นห่วง ระหว่างทางรถรางชนฝูงวัว แม่เลียบและปลิวกระเด็นไปคนละทาง ก่อนเดินทางต่อด้วยความทุลักทุเล แต่ก็คุ้มค่า เพราะลูกชายแม่เลียบต่อยมวยชนะ ฉายาไอ้เสือจึงเกิดขึ้นวันนั้น

หลังเรียนจบชั้น ม. ๘ ไอ้เสือเริ่มทำงานเป็นช่างเชื่อม ช่างยนต์ ไปฝึกฝนเรียนรู้ทั้งในตัวเมืองนครศรีธรรมราชและตัวเมืองหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ก่อนจะมาเป็นช่างประจำเหมืองแร่ดีบุกในเขตพื้นที่บ้านน้ำร้อน ตำบลสี่ขีด อำเภอสิชล

ในยุคนั้นเมืองสิชลมีชื่อเสียงด้านการทำเหมืองแร่มาก จนกระทั่ง ชูวงศ์ ฉายะจินดา นักเขียนนวนิยายชื่อก้องนำไปเป็นฉากสำคัญในเรื่องจำเลยรัก โดยให้เหมืองแร่แห่งหนึ่งของเมืองสิชลเป็นเหมืองแร่ของพระเอก และเป็นที่ที่พระเอกนำตัวนางเอกมากักขัง หากเหมืองแร่ของไอ้เสือไม่ได้เป็นพื้นที่กักขังใคร แม้คนงานในเหมืองจะเรียกไอ้เสือว่า “นายหัว” เหมือน หฤษดิ์ พระเอกของเรื่องก็ตาม และแม่โสภา คู่ชีวิตของไอ้เสือก็ไม่ใช่โสรยาที่ถูกกักขังหน่วงเหนี่ยว แต่เป็นสาวงามที่ยินยอมพร้อมใจใช้ชีวิตเคียงบ่าเคียงไหล่ไอ้เสือในพื้นที่ป่าลึก

“ฮาย มั้นลำบากนิ ต้องขนของไปกับช้าง ถึงต้องอ้อมเขากันนุ ลุงก็เลยต้องซื้อม้าไว้ใช้เขไปไหนมาไหน ถึงต้องพกปืนไว้ป้องกันตัว เพราะเราไม่รู้ว่าใครเป็นใคร ป้าก็ต้องหัดยิงปืน” เสียงแม่โสภาเอ่ยแทรก

ทุกวันนี้แม่โสภาหลงๆ ลืมๆ บางเวลา แต่เมื่อเอ่ยถึงชีวิตในเหมืองตอนแรกสาวกลับจำทุกเรื่องได้ ภาพความทรงจำผุดขึ้นเป็นฉากๆ ครั้งนั้นแม่โสภาออกเรือนใหม่ๆ อยู่เหมืองในฐานะภรรยานายหัว

miner04
miner05

นายหัวเป็นคำที่คนงานเรียกไอ้เสือ เพราะนอกจากเป็นนายช่างใหญ่ประจำเหมืองแล้ว ยังทำหน้าที่คล้ายผู้จัดการด้วย เพราะนายทุนเจ้าของเหมืองจากมาเลเซียไม่ได้อยู่ประจำ การจ่ายเงินเดือนให้คนงานจึงเป็นหน้าที่ของไอ้เสือ ด้วยเหตุนี้ในวันแต่งงานของไอ้เสือกับแม่โสภา มีหลายสิบซองที่แขกแนบกระดาษเล็กๆ แทนเงินพร้อมข้อความ “หักค่าใส่ซองสิ้นเดือน”

งานแต่งงานในปี ๒๕๑๔ ได้ยอดเงินจากซองแนบกระดาษไม่ใช่น้อยๆ นับเป็นน้ำใจที่ไอ้เสือและแม่โสภาซาบซึ้งใจไม่รู้ลืม

คนงานในเหมืองแร่มาจากหลายที่ เป็นชาวฉลองบ้าง ชาวปากพนังบ้าง ด้วยมีรายได้ดี หลายคนจึงยินดีจากบ้านมาใช้ชีวิตลำพัง

การกินอยู่ในเหมืองร่วมกันเป็นเวลานานจึงใกล้ชิดผูกพันเหมือนเครือญาติ เจ้าของเหมืองสร้างเรือนพักให้คนงานอยู่เป็นห้องแถว ใกล้โรงครัวที่มีพ่อครัวนึ่งข้าวในตะกงนับสิบตะกง อาศัยความร้อนจากน้ำเดือดในกระทะใบเขื่อง ซึ่งใช้รอกชักเปิดปิดฝากระทะ คนงานจะได้กินข้าวฟรีในตอนกลางวัน ส่วนกับข้าวต้องหุงหาเอง หากจะกินขนม น้ำร้อน น้ำชา ก็มีโรงเตี๊ยมอยู่ในเหมือง

ตอนแรกไอ้เสือกับแม่โสภาพักในอาคารสำนักงานที่เรียกว่าก็องซี้ ซึ่งด้านขวาเป็นโรงคั่วแร่และล้างแร่ ตรงกลางเป็นห้องสำนักงาน ส่วนด้านซ้ายเป็นห้องพักของไอ้เสือและครอบครัว

หกปีต่อมาเมื่อคนขายของประจำโรงเตี๊ยมย้ายออก แม่โสภาจึงมาขายของต่อ ตอนนี้เองไอ้เสือและแม่โสภาพร้อมลูกน้อย ชายหญิงสองคนก็ได้อาศัยในโรงเตี๊ยมซึ่งมีห้องพักให้ด้วย ยามสิ้นเดือนโรงเตี๊ยมจึงคึกคักด้วยบรรยากาศรับเงินเดือนและหักค่าอาหารที่ลงรายการไว้ (คนใต้เรียกว่าเซ็น)

ห่างจากก็องซี้ราว ๕๐๐ เมตร เป็นขุมเหมืองแบบเหมืองฉีดซึ่งได้รับความนิยมในจังหวัดนครศรีธรรมราชและภาคใต้ฝั่งตะวันออก ต่างจากแถบตะวันตกแถวภูเก็ต กระบี่ พังงา ที่นิยมทำเหมืองเรือขุดในท้องทะเล ดังปรากฏในรวมเรื่องสั้นเหมืองแร่ ของ อาจินต์ ปัญจพรรค์ ซึ่งนำมาถ่ายทอดผ่านภาพยนตร์มหา’ลัยเหมืองแร่

แร่และทรายที่ถูกดูดขึ้นมาจะลำเลียงไปยังรางแร่ที่สร้างด้วยโครงไม้ พนักงานประจำรางแร่จะทำหน้าที่สางทราย ทรายที่มีน้ำหนักมากกว่าจะค่อยๆ ไหลออกเหลือแร่ไว้ด้านล่าง ขี้ทรายที่ไหลออกมาจะสูงขึ้นเรื่อยๆ แร่ที่หลุดรอดไปบ้างจะปนอยู่ในคลองเปิดโอกาสให้ชาวบ้านใกล้เหมืองนำแล่ง (ลักษณะคล้ายตะกร้าสานตาถี่ๆ) มาร่อนแร่ต่อ

แร่จะถูกลำเลียงไปยังโรงผลิตแร่ ผ่านการล้าง ร่อน และคั่ว ก่อนส่งต่อไปยังทุ่งสง โรงงานในทุ่งสงจะส่งแร่ดีบุกไปถลุงที่ภูเก็ตอีกทอดหนึ่ง

miner06
miner06 1
miner07

การลำเลียงสมัยนั้นต้องใช้แรงงานช้างเป็นหลัก หากจะเดินทางก็มีรถรางที่เรียกว่ารถด่วน ซึ่งต้องข้ามเขาลูกหนึ่งถึงจะไปขึ้นรถรางได้ แต่หลายปีต่อมาเมื่อมีการพัฒนาถนนหนทาง รถจิ๊ปสีเหลืองสดก็ถูกส่งมาเป็นรถประจำเหมือง เป็นรถประจำตำแหน่งไอ้เสือ และเป็นรถประจำหมู่บ้านของชาวบ้านน้ำร้อน เพราะเมื่อไอ้เสือขับไอ้เหลืองออกมาซื้อข้าวของเครื่องใช้ในตลาด ก็มักมีชาวบ้านขอติดรถมาด้วย และไอ้เสือไม่เคยเก็บเงินสักครั้ง ตำแหน่งนายหัวจึงเป็นที่เรียกขานของชาวบ้านที่นี่ด้วย

น้ำใจของไอ้เสือไม่ได้มีแค่ให้บริการรถโดยสารฟรี แต่ยังเผื่อแผ่ด้วยการซ่อมรถให้ชาวบ้านโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ทุนรอนที่สั่งสมยาวนานแปรเป็นเสียงเลือกตั้งในทุกวาระ ตั้งแต่ผู้ใหญ่บ้านจนถึงสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลสี่ขีด ก่อนจะอำลาสถานะนักการเมืองท้องถิ่นในตำแหน่งรองนายกองค์การบริหารส่วนตำบล ด้วยสุขภาพร่างกายอันเป็นเหตุให้ต้องมาทำกายภาพบำบัด

“ลุงเก่งจังนะ” นักกายภาพบำบัดสาวชื่นชม หลังฟังเรื่องเล่าของผู้ป่วยที่นานๆ ครั้งจะได้ฟัง ทำให้การทำหน้าที่ที่มักเคร่งเครียดกับอาการผู้ป่วยในแต่ละวัน พลอยมีความสุขและผ่อนคลายไปด้วย

เสียงหวอยามเที่ยงวันของห้างหุ้นส่วนจำกัด สิชลไมนิ่ง ดังขึ้น มือน้อยๆ ของเด็กหญิงวัยอนุบาลแย่งหน้าที่ของพ่อหมุนหวอเอง คนงานทยอยเดินออกจากขุมเหมือง รางแร่ เพื่อกินข้าวกลางวัน นั่นน้าใหญ่ น้าเต้ง น้าลาย น้าต้อย

ฉันก้มมองมือตัวเองที่กำลังจับปากกาบันทึกเรื่องราวของพ่อ มือเดียวกับที่ใช้หมุนหวอวันนั้น เรื่องเล่าของพ่อคือนิทานวีรบุรุษของฉัน

ขอบคุณเรื่องเล่าที่ช่วยเยียวยาหัวใจของไอ้เสือและแม่โสภาในวัยชรา รวมถึงหัวใจของฉันด้วยเช่นกัน

เหมืองแร่ #สิชล #นครศรีธรรมราช #สุขหมุนรอบตัวเรา #ค่ายนักเล่าความสุข #มูลนิธิเล็กประไพวิริยะพันธุ์ #นิตยสารสารคดี #เพจความสุขประเทศไทย #สสส