ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล : เรื่องและภาพ

….ความเสียหายที่เกิดจากปัญหาสิ่งแวดล้อมนั้น มักส่งผลกระทบรุนแรงและต่อเนื่องเป็นเวลายาวนาน แม้ต่อมาภายหลังศาลจะพิพากษาเพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ดังกล่าวดังคำขอท้ายฟ้องของผู้ฟ้องคดีทั้งห้าสิบ ก็ไม่อาจเยียวยาความเสียหายที่ผู้ฟ้องคดีทั้งห้าสิบได้รับถือเป็นความเสียหายร้ายแรงที่ยากแก่การแก้ไขเยียวยาในภายหลัง…”

ส่วนหนึ่งของ คำสั่งเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษา คดีหมายเลขดำที่ ส ๑/๒๕๖๕ ของศาลปกครองเชียงใหม่ วันที่ ๒๓ กันยายน ๒๕๖๕

เมื่อวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๖๕ ชาวบ้านในตำบลอมก๋อย อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ได้รับหนังสือราชการจากศาลปกครองเชียงใหม่ (ลงวันที่ ๒๓ กันยายน ๒๕๖๕) ระบุว่า ศาลปกครองเชียงใหม่มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว คดีที่ชาวบ้านฟ้องเพิกถอนมติเห็นชอบรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรือ อีไอเอ (EIA) โครงการเหมืองถ่านหินอมก๋อย

คดีนี้ชาวบ้านผู้ฟ้องคดีทั้งห้าสิบคน ซึ่งอาศัยอยู่ในชุมชนกะเหรี่ยง ได้แก่ หมู่บ้านกะเบอดิน หมู่บ้านตุงลอย หมู่บ้านหนองกระทิง หมู่บ้านยองกือ และหมู่บ้านขุน ยื่นฟ้องผู้ที่เกี่ยวข้อง ๓ หน่วยงาน ได้แก่ คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานอีไอเอโครงการเหมืองแร่ถ่านหิน, สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และบริษัท ๙๙ ธุวานนท์ จำกัด

ถึงแม้จะยังไม่ถึงวันพิพากษา แต่ “คำสั่งเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษา” ย่อมส่งผลในทางปฏิบัติ ให้นับตั้งแต่นี้ ในช่วงที่มีการพิจารณาคดี จะยังไม่มีการดำเนินการใดๆ ในการทำเหมืองถ่านหิน

eia omkoy2
หมู่บ้านกะเบอะดินเป็น ๑ ใน ๕ หมู่บ้านของตำบลอมก๋อย ที่มีผู้ยื่นฟ้องให้เพิกถอนมติเห็นชอบรายงานอีไอเอ
eia omkoy3
หมู่บ้านกะเบอะดินถูกประกาศเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติอมก๋อยมาตั้งแต่ปี ๒๕๑๘ กลายเป็นเงื่อนไขสำคัญในการอยู่อาศัย ใช้ประโยชน์ที่ดิน และส่งผลให้เกิดข้อจำกัดในการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้คน แต่กลับจะมีโครงการเหมืองถ่านหินเกิดขึ้น

มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLaw) องค์กรพัฒนาเอกชนซึ่งก่อตั้งขึ้นเพื่อให้ความช่วยเหลือทางด้านกฎหมายสำหรับประชาชน สรุปใจความสำคัญของคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาลปกครองเชียงใหม่ว่า

๑. รายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ อีไอเอ (EIA) โครงการเหมืองแร่ถ่านหินอมก๋อย ตามคำขอประทานบัตรที่ ๑/๒๕๔๓ น่าจะไม่ถูกต้องตามรูปแบบ ขั้นตอน หรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กฎหมายกำหนด และมติของคณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑) ที่เห็นชอบรายงาน EIA น่าจะมีปัญหาเกี่ยวกับการใช้ดุลพินิจ

๒. ปรากฏข้อเท็จจริงว่าปัจจุบัน บริษัทเจ้าของโครงการได้นำรายงานอีไอเอ ไปยื่นขอประทานบัตรต่อเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจออกประทานบัตรสำหรับการทำเหมืองแร่ โดยกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่กำลังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณา

ถ้าหากในช่วงระหว่างการพิจารณาของศาล เจ้าหน้าที่ออกประทานบัตรการทำเหมืองให้แก่บริษัทเจ้าของโครงการ ย่อมส่งผลให้สามารถดำเนินโครงการเหมืองแร่ถ่านหินตามที่ได้รับอนุญาต อาจทำให้ผู้ฟ้องคดีทั้งห้าสิบและประชาชนในพื้นที่ได้รับความเดือดร้อนเสียหาย

ความเสียหายที่เกิดจากปัญหาสิ่งแวดล้อมนั้น มักส่งผลกระทบรุนแรงและต่อเนื่องเป็นเวลายาวนาน แม้ต่อมาภายหลังศาลจะพิพากษาเพิกถอนมติเห็นชอบของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ก็ไม่อาจแก้ไขเยียวยาความเสียหายที่ผู้ฟ้องคดีทั้งห้าสิบได้รับในระหว่างพิจารณาคดีให้หมดไป ถือเป็นความเสียหายอย่างร้ายแรงที่ยากจะแก้ไขเยียวยาในภายหลัง

๓. การมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาลปกครองมิได้เป็นอุปสรรคแก่การบริหารงานของรัฐ หรือการให้บริการสาธารณะในอำนาจหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดี

eia omkoy4
ป้ายรณรงค์ยืนยันเจตนารมณ์ไม่เอาเหมืองถ่านหินด้วยเหตุผลต่างนานา หนึ่งในนั้นคืออาชีพหลักของคนในหมู่บ้านอยู่ในภาคการเกษตร มีพืชเศรษฐกิจ คือ มะเขือเทศ ฟักทอง กะหล่ำปลี พริก ที่ล้วนต้องพึ่งพาความสมบูรณ์ของแหล่งน้ำ
eia omkoy5
แอ่งกะเบอะดินมีถ่านหินอยู่ข้างใต้ และปรากฎก้อนถ่านหินให้เห็นบริเวณห้วยผาขาว ลำห้วยหลักที่ไหลผ่านหลายหมู่บ้าน จึงมีคำถามว่าถ้าปล่อยให้มีการทำเหมืองจะก่อให้เกิดผลกระทบอะไรตามมา

แม้คำสั่ง “คุ้มครองชั่วคราว” ของศาลเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมจะไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ในหมู่คนทำงานด้านกฎหมายสิ่งแวดล้อมแล้วรู้ดีว่า การมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวเกิดขึ้นไม่ง่าย จำเป็นต้องอาศัยปัจจัยถึงพร้อมหลายอย่าง ทั้งข้อเท็จจริง สถานการณ์ วิธีพิจารณาคดีปกครอง รวมทั้งกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ที่ผ่านมาสิทธิมนุษยชนคนท้องถิ่นจึงเป็นสิ่งที่ถูกบัญญัติไว้…แต่มักจะไม่ถูกนำมาใช้งานจริงในทางกฎหมาย

สุรชัย ตรงงาม ทนายความและเลขาธิการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLaw) ให้ความเห็นว่าคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวครั้งนี้เป็นมาตรการเพื่อป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนระหว่างการพิจารณาคดีของศาลปกครองเชียงใหม่ การให้เหตุผลตามคำสั่งครั้งนี้น่าสนใจ เป็นบรรทัดฐานแสดงให้เห็นการรับรองสิทธิที่จะอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี สะท้อนหลักการมีส่วนร่วม การป้องกันความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมในอนาคต โดยสุรชัยมีข้อสังเกตอย่างน้อย ๓ ประการ

๑. ศาลปกครองยืนยันรับรองสิทธิในการดำรงชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี และรับรองสิทธิการมีส่วนร่วมอย่างมีความหมายของชุมชนตามรัฐธรรมนูญทั้ง ๒ ฉบับ คือปี ๒๕๕๐ และปี ๒๕๖๐ ต่อเนื่องกัน เป็นฐานทางกฎหมายที่สำคัญในการออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวเพื่อปกป้องชุมชนและสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับมติคณะมนตรีเรื่องสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN Human Rights Council) วันที่ ๘ ตุลาคม ๒๕๖๔ [๓] และมติสมัชชาสหประชาชาติ (UN General Assembly) ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๕ [๔] ที่ให้การรับรองว่า การมีสิ่งแวดล้อมที่สะอาด ดีต่อสุขภาพ และยั่งยืน เป็นสิทธิมนุษยชน

และทำให้สังคมต้องตระหนักว่าการผลักดันรณรงค์ให้มีการบัญญัติรับรองสิทธิการมีชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีให้ชัดเจนในรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องสำคัญ และจำเป็นสำหรับการปกป้องชุมชนและสิ่งแวดล้อม

๒. ความเข้มแข็งของชุมชนในการร่วมมือกับองค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs) และนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม ทำให้เกิดการศึกษารวบรวมข้อมูลเพื่อตรวจสอบกระบวนการจัดทำรายงานอีไอเอ และการขออนุญาตทำเหมืองถ่านหิน ทำให้สังคมตื่นรู้ว่า

  • จะมีการปิดกั้นทำลายและเบี่ยงเบนทางน้ำสาธารณะในพื้นที่เหมือง แต่ไม่มีการประเมินผลกระทบต่อการใช้น้ำของชุมชน
  • ขาดการประเมินผลกระทบมลพิษจากถ่านหิน ต่อดิน น้ำใต้ดิน น้ำผิวดิน อากาศ
  • การศึกษาผลกระทบในรายงานอีไอเอจำกัดพื้นที่เฉพาะรัศมี ๓ กิโลเมตร ไม่ครอบคลุมผู้มีส่วนได้เสีย
  • รายงานผลการตรวจสอบของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๖๓ ยืนยันว่ามีการนำข้อมูลรายชื่อชาวบ้านที่เป็นเท็จไปประกอบการจัดทำรายงานอีไอเอเพื่อขอออกประทานบัตร

ข้อมูลเหล่านี้เป็นพยานหลักฐานที่มีน้ำหนัก ทำให้ศาลเชื่อว่าการลงมติเห็นชอบรายงานอีไอเอทั้ง ๒ ครั้ง น่าจะมีปัญหา

๓. คำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาลปกครองเชียงใหม่ อ้างเหตุตามหลักการป้องกันหรือหลักข้อควรระวังความเสียหายอย่างร้ายแรงที่จะเกิดแก่ชุมชนและสิ่งแวดล้อม จากการดำเนินกิจการเหมืองถ่านหินที่ยากแก่การเยียวยาแก้ไขในภายหลัง

การให้เหตุผลดังกล่าวสอดคล้องกับหลักกฎหมายสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศ และสอดคล้องกับร่างแก้ไขพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง (สำหรับคดีปกครองเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม) ที่ผ่านความเห็นชอบตามมติคณะรัฐมนตรีแล้ว (ร่างมาตรา ๗ แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา ๖๖ วรรคสาม) [๕] ที่ระบุเพิ่มเติมอำนาจให้ศาลปกครองกำหนดวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษาในคดีปกครองเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม โดยต้องคำนึงถึงหลักการป้องกันหรือหลักข้อควรระวัง ความเสียหายอย่างร้ายแรงที่จะเกิดแก่ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมหรือแก่สุขอนามัยของประชาชน

เป็นทิศทางที่ดีในการกำหนดมาตรการชั่วคราวก่อนศาลมีคำพิพากษา เพื่อปกป้องชุมชนและสิ่งแวดล้อมอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ตาม สุรชัยเห็นว่ายังต้องรอการพิจารณาแก้ไขพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองเกี่ยวกับคดีปกครองสิ่งแวดล้อมว่าจะมีผลใช้บังคับเมื่อใด รวมทั้งติดตามแนวบรรทัดฐานจากศาลปกครองสูงสุดในประเด็นนี้ต่อไป

การยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองอาจไม่ใช่แนวทางเดียวที่ชมชนใช้ในการต่อสู้เพื่อแสดงจุดยืนคัดค้านถ่านหิน ดังที่มีการประกาศในเพจ “กะเบอดิน ดินแดนมหัศจรรย์” ที่ชุมชนใช้สื่อสารเรื่องราวสู่สาธารณะว่า “พวกเรายังคงเเสวงหาและแสดงจุดยืนอันแน่วแน่ต่อไป จนกว่าโครงการเหมืองแร่ถ่านหินอมก๋อยจะยุติลงอย่างเป็นทางการ”

“กะเบอะดิน” และ “ตุงลอย” เป็นชื่อหมู่บ้านใน ตำบลอมก๋อย อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ มีประชากรประมาณห้าร้อยคนเศษ เป็นกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงโปว์ที่ยังคงรักษาขนบธรรมเนียบ ประเพณี ความเชื่อ วัฒนธรรม และวิถีชีวิตแบบเดิมท่ามกลางหุบเขา ทั้งทำไร่หมุนเวียน ดูแลป่าต้นน้ำ เคารพป่าจิตวิญญาณ อำนาจเหนือธรรมชาติ ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ที่ยากจะอธิบายในคนในสังคมเมืองยุคใหม่เข้าใจ

ย้อนกลับไปวันที่ ๔ เมษายน ๒๕๖๕ ชาวกะเบอะดินได้เดินทางมายื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองจังหวัดเชียงใหม่ ขอให้มีการพิจารณาเพิกถอนรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมหรือ อีไอเอ (EIA) โครงการเหมืองถ่านหินอมก๋อย ซึ่งพวกเขาเห็นว่าจะทำใหเกิดผลกระทบต่อการดำรงชีวิต อัตลักษณ์ และโครงการนี้อาจละเมิดหลักสิทธิมนุษยชน

การรวมตัวกันเพื่อแสดงเจตนารมย์คัดค้านเหมืองถ่านหินเกิดขึ้นอย่างจริงจังราวเดือนพฤษภาคม ๒๕๖๒ เมื่อชาวชุมชนได้รวมตัวยื่นจดหมายและข้อเรียกร้องให้ยุติโครงการต่อนายอำเภออมก๋อย พวกเขาหยิบยกเหตุผลเรื่องผลกระทบต่อสุขภาพที่จะเกิดขึ้นจากมลพิษทางอากาศ การปนเปื้อนมลพิษในแหล่งน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำทิ้งจากเหมืองถ่านหินที่มีสภาพเป็นกรด (Acid Mine Drainage ; AMD) ตลอดจนความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ

วันที่ ๒๘ กันยายน ๒๕๖๒ ชาวอมก๋อยและภาคีเครือข่ายจำนวน ๒,๐๐๐ กว่าคน รวมตัวกันแสดงออกว่าไม่ต้องโครงการเหมืองถ่านหิน ทำให้สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่สามารถจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น ณ โรงเรียนบ้านแม่อ่างขาง ตำบลอมก๋อย ซึ่งตามกำหนดจะเป็นการรับฟังความคิดเห็นครั้งสุดท้าย ก่อนยื่นคำขอประทานบัตรให้คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญและชำนาญการด้านแร่ได้พิจารณา

ต่อมา ชาวบ้านกะเบอะดินและเยาวชนพยายามค้นคว้าข้อมูล จัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกิดการพิจารณาทบทวน เช่น ยื่นหนังสือถึงหน่วยงานต่างๆ พัฒนาศักยภาพเยาวชน ศึกษากฎหมายด้านสิทธิชุมชน รวมทั้งออกไปศึกษาดูงานตามพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ รวมทั้งสำรวจจัดทำข้อมูลชุมชนที่เรียกว่า เครื่องมือการประเมินผลกระทบโดยชุมชน (Community Health Impact Assessment : CHIA)



ก่อนหน้านั้นในปี ๒๕๓๐ เคยมีบริษัทเอกชนเข้ามาขอซื้อที่ดินในหมู่บ้านกะเบอะดิน ชาวบ้านเล่าว่ามีคนจำนวนหนึ่งยอมขายที่ดินอย่างไม่เต็มใจ เพราะไม่รู้รายละเอียดเกี่ยวกับโครงการ และถูกข่มขู่ว่าถ้าไม่ยอมขาย ก็จะไม่ได้อะไรตอบแทนเลยแม้แต่นิดเดียว

การสำรวจแหล่งแร่อย่างจริงจังเกิดขึ้นในเวลาต่อมา มีการทำมติประชาคมในปี ๒๕๕๒ เพื่อใช้ประกอบรายงานอีไอเอ แต่ชาวบ้านยืนยันว่า ที่ผ่านมาไม่เคยมีการชี้แจงผลกระทบจากการทำเหมืองที่จะเกิดกับชุมชนและสิ่งแวดล้อมโดยรอบ มีแค่คำโฆษณาประชาสัมพันธ์ว่าชาวบ้านจะมีไฟฟ้าและจะมีถนนตัดเข้ามาในหมู่บ้าน

การทำรายงานอีไอเอแล้วเสร็จในเดือนตุลาคม ๒๕๕๔ หลังได้อ่านอีไอเอฉบับนี้ ชาวบ้านและนักวิชาการด้านสิทธิและสิ่งแวดล้อม ต่างตั้งคำถามเกี่ยวกับขั้นตอนการทำงานของบริษัทเจ้าของโครงการในประเด็นต่างๆ อาทิ การเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร ลายเซ็นในเอกสารของผู้ที่ถูกระบุว่ายอมรับโครงการ-ยินยอมให้มีการทำเหมือง ส่วนหนึ่งเป็นของคนที่ไม่สามารถพูดหรือเขียนภาษาไทย มีรายชื่อซ้ำอยู่ในเอกสาร รวมทั้งมีลายมือชื่อของคนที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ