ศาลบน-ศาลล่าง

เมื่อปี ๒๕๑๕ ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพรขณะนั้น คือนายชวน พรพงศ์ เห็นว่าศาลกรมหลวงชุมพรฯ ที่หาดทรายรี ตั้งอยู่บนพื้นราบ แลดูไม่สง่างามเท่าที่ควร จึงพิจารณาให้จัดสร้างศาลใหม่ขึ้นอีกแห่งหนึ่งบนเชิงเขา ถัดขึ้นไปจากศาลเดิม เพื่อให้มองเห็นเด่นชัดได้แต่ไกล

ในการนี้ หม่อมเจ้าหญิงวิภาวดี รังสิต (ภายหลังได้รับพระราชทานพระอิสริยยศ เป็นพระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต) เสด็จมาเป็นประธานวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ ๒๓ กันยายน ๒๕๑๕ หรือหนึ่งสัปดาห์ก่อนหน้าการเกษียณอายุราชการของคุณชวน

ขณะนั้น ศาลเดิมที่หาดทรายรียังเป็นศาลไม้หลังคามุงกระเบื้องหลังเล็ก ซึ่งจัดสร้างไว้โดยพันเอก แสง จุลละจาริตต์ และกลุ่มคนรถไฟ (ค.ร.ฟ.) ตั้งแต่เมื่อสิบกว่าปีก่อน ส่วนศาลใหม่บนเชิงเขาก่อสร้างเป็นอาคารคอนกรีตทรงไทยประยุกต์แบบจัตุรมุข (มีสี่หน้า แผนผังเป็นรูปกากบาท) สร้างแล้วเสร็จในเดือนกรกฎาคม ๒๕๑๖ จากนั้นมีการปรับปรุงพื้นที่ตลอดเวลา โดยมีคุณละเอียด พูลสุวรรณ เจ้าหน้าที่ผู้ดูแลพระตำหนัก เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงคนสำคัญในการจัดหาทุนอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี ๒๕๒๙ เช่นการตัดถนนทางขึ้น การขยายพื้นที่บริเวณศาล

ในปี ๒๕๓๒ ระหว่างที่พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกและรักษาราชการผู้บัญชาการทหารสูงสุด ภริยา คือคุณหญิงพันธุ์เครือ ยงใจยุทธ (เกิด ๒๔๘๒) ซึ่งเป็นนายกสมาคมแม่บ้านกองบัญชาการทหารสูงสุด และนายกสมาคมแม่บ้านทหารบกโดยตำแหน่ง คุณหญิงมีความศรัทธาใน “เสด็จเตี่ย” เป็นพิเศษมาตั้งแต่ยังเด็ก และเคยเดินทางมาถวายสักการะที่ศาลหาดทรายรีหลายครั้ง

คุณหญิงพันธุ์เครือเห็นว่า ศาลไม้หลังเดิมมีอายุถึง ๓๐ ปีแล้ว ทรุดโทรมไปตามกาลเวลา จึงมีดำริอยากให้จัดสร้างขึ้นใหม่ ในการนี้จึงติดต่อขออนุญาตจาก พันเอกแสง ซึ่งเป็นผู้สร้างพระตำหนักเดิม ก็ได้รับอนุญาตด้วยความยินดี

พระตำหนักใหม่บนหาดทรายรี มีพิธีวางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๒ และก่อสร้างแล้วเสร็จ มีพิธีเปิดเมื่อวันที่ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๓๒

พระตำหนักหลังใหม่นี้เป็นอาคารคอนกรีตชั้นเดียว หลังคาทรงไทย มุงกระเบื้องสีน้ำเงิน ผนังภายในบุหินอ่อน มีระเบียงโดยรอบ

ตอนกลางทศวรรษ ๒๕๓๐ พระตำหนักที่บนเขาก็ถูกสร้างขึ้นใหม่อีกครั้ง คราวนี้เป็นทรงปราสาท (มียอดแหลมตรงกลาง) บุผนังภายนอกด้วยหินอ่อน และปรับพื้นที่ตั้งศาลให้เป็นรูปจำลองของเรือ “พระร่วง”

ดังนั้น บริเวณหาดทรายรีจึงมีศาลหรือ “พระตำหนัก” ของกรมหลวงชุมพรฯ อยู่ถึงสองแห่ง คือบนหาดทรายรี ชาวบ้านเรียกกันว่า “ศาลล่าง” คู่กับ “ศาลบน”

ทุกวันนี้ ศูนย์กลางของพิธีกรรม “อย่างเป็นทางการ” คือที่ศาลบน เช่นใน “งานวันเกิด” กรมหลวงชุมพรฯ ๑๙ ธันวาคม ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานในพิธี พร้อมด้วยข้าราชการระดับสูง ส่วนผู้เข้าร่วมพิธีได้แก่ข้าราชการจากส่วนราชการต่างๆ ทั้งจังหวัด ที่แต่งกายมาในชุด “ปรกติขาว” (เสื้อราชปะแตนขาว กางเกง/กระโปรงสีขาว)

รวมถึงกลุ่มสตรีนับพันจากหน่วยราชการและประชาชนทั้งจังหวัดชุมพร ที่มาในชุดเครื่องแต่งกายแบบเดียวกัน คือสวมเสื้อลูกไม้สีแดงแขนยาว นุ่งผ้าโสร่งปาเต๊ะลายดอกพื้นดำ พร้อมกับผ้าพาดไหล่ลายเดียวกับผ้านุ่ง พวกเธอซุ่มซ้อมกันมาล่วงหน้านานนับเดือน เพื่อมาร่ายรำเทิดพระเกียรติประกอบเพลง “กรมหลวงชุมพร” ที่แต่งขึ้นใหม่ไม่นานมานี้

แถวของกลุ่มนางรำนี้ยาวเหยียดตลอดระยะทางถนนขึ้นเขา ตั้งแต่ศาลล่างขึ้นไปจนถึงหน้าศาลบน


sadettia03
“เสด็จเตี่ย” กรมหลวงชุมพรฯ

บทความชุดนี้มีต้นทางจากหนังสือพระประวัติกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ของผู้เขียน คือ “ให้โลกทั้งหลายเขาลือ” (พิมพ์ครั้งแรกโดยสำนักพิมพ์สารคดี ๒๕๖๓ ราคา ๔๘๐ บาท) โดยเล่าเก็บความจากหนังสือ และเสริมบางประเด็นที่มีข้อมูล หรือความคิดเห็นเพิ่มเติมภายหลังหนังสือตีพิมพ์ออกมาแล้ว

สั่งซื้อหนังสือ