ถึง “เสด็จเตี่ย” จะเป็น “เจ้า” ที่เข้าถึงง่าย ใครๆ สามารถบนบานศาลกล่าวได้ด้วยตัวเอง แต่หลายคนคงรู้สึกว่าลำพังการอธิษฐาน “ขอ” โดยตรงจาก “เสด็จเตี่ย” ยังดูเลื่อนลอย เพราะมิอาจล่วงรู้ได้ว่าท่านรับทราบหรือยัง หรือเสด็จเตี่ยจะให้คำตอบต่อปัญหาหรือข้อขัดข้องของตนว่าอย่างไร จึงเป็นที่มาของ “การปรากฏพระองค์” อีกลักษณะหนึ่งของกรมหลวงชุมพรฯ ที่โดดเด่น นั่นคือการประทับทรง

กรมหลวงชุมพรฯ ตอนที่ ๗๔ - ทรงเจ้า

บางคนถึงกับเชื่อว่าในเมืองไทยมีสำนักคนทรง หรือ “ตำหนัก” ที่เข้าทรง “เสด็จเตี่ย” มากกว่าเจ้าองค์อื่นใดทั้งหมด

ครั้งหนึ่ง พลเรือเอก ประพัฒน์ จันทวิรัช อดีตผู้บัญชาการทหารเรือ เคยเล่าเรื่องที่ท่านรับรู้มาในนิตยสาร “นาวิกศาสตร์” ว่า

“…เย็นวันหนึ่งมีเพื่อนบ้านมาบอกมารดาของภรรยาข้าพเจ้าว่าในคืนวันนั้นจะมีการเชิญ ‘กรมหลวงชุมพรฯ’ มาประทับทรงที่บ้านหลังหนึ่งในซอยนั้น เพื่อนบ้านผู้นั้นเห็นว่าข้าพเจ้าเป็นทหารเรือ คงจะสนใจไป ‘ชม’ บ้าง แต่ในคืนนั้นข้าพเจ้ามีกิจต้องทำและไม่ใคร่สนใจในเรื่องนี้ เพราะไม่แน่ใจในตัว ‘คนทรง’ จึงไม่ได้ไป

“รุ่งขึ้น เพื่อนบ้านผู้นั้นมาถามอีกว่า ‘กรมหลวงชุมพรฯ พูดภาษาอังกฤษได้หรือไม่’ ข้าพเจ้าตอบไปว่า ‘พูดได้แน่นอน เพราะทรงไปศึกษาในอังกฤษตั้งแต่เด็ก จนสอบได้เป็นนายทหารแล้วจึงกลับมา’ เพื่อนบ้านเล่าต่อว่า ‘เมื่อคืนนี้มีฝรั่งไปดูการทรงด้วย…ฝรั่งได้ถามคนทรงเป็นภาษาอังกฤษ แต่คนทรงตอบไม่ได้ สงสัยว่ากรมหลวงชุมพรฯ จะไม่ได้มาประทับทรง’ ข้าพเจ้าก็ไม่ได้วิจารณ์หรือตอบคำถาม ให้ผู้เล่าไปคิดเอาเอง…”

เมื่อไม่กี่ปีมานี้ยังปรากฏเป็นข่าวครึกโครมตามหน้าสื่อต่างๆ เกี่ยวกับร่างทรง “เสด็จเตี่ย” รายหนึ่ง ผู้เป็นเจ้าสำนักทางสมุทรสาคร ว่าเป็นผู้นำประกอบพิธีเนื่องในวันอาภากร ๑๙ ธันวาคม ให้แก่สานุศิษย์ผู้เลื่อมใส โดยแต่งชุดจอมพลเรือเต็มยศ สวมสายสะพาย ติดเหรียญตราต่างๆ (เลียนแบบจากพระรูปกรมหลวงชุมพรฯ ที่ฉายเมื่อปี ๒๔๖๑) จนมีผู้ตั้งข้อสังเกตถึงความเหมาะสมของการประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์โดยไม่มีสิทธิ์ อันถือเป็นความผิดตามกฎหมาย

ตำหนักหรือคนทรงบางท่านยืนยันว่า กรมหลวงชุมพรฯ ทรงมีอดีตชาติเป็นพระยารามราช สวามีพระนางจามเทวีแห่งอาณาจักรหริภุญไชย (ลำพูนโบราณ) จากนั้นมาเกิดใหม่เป็นสมเด็จพระเอกาทศรถ กษัตริย์อยุธยา ก่อนจุติมาเป็นกรมหลวงชุมพรฯ

บ้างว่าเสด็จในกรมฯ สิ้นพระชนม์ไปแล้ว กลายเป็นพระสยามเทวาธิราชอีกองค์หนึ่ง คอยปกปักรักษาบ้านเมืองและบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่ประชาชน

“หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ” พระราชพรหมยาน (วีระ ถาวโร ๒๔๕๙–๒๕๓๕) ยืนยันสิ่งที่ท่านพบเห็นด้วยญาณ ว่าเมื่อกรมหลวงชุมพรฯ สิ้นพระชนม์ไปแล้ว

“ปรากฏว่าไปเป็นเทวดาจาตุมหาราช แล้วต่อมาก็ขึ้นเป็นเทวดาขั้น ‘อินทกะ’ จากอินทกะแล้วก็มาเป็น ‘ท้าวมหาราช’ คือ ท้าววิรุฬหก ในปัจจุบัน…อินทกะก็หมายความว่าเป็นผู้บัญชาการนะ อาจจะเป็นผู้บัญชาเหล่าทัพเหล่าใดเหล่าหนึ่งนั่นเอง”

“ชีวิต” ของกรมหลวงชุมพรฯ ตามแนวทางที่กล่าวถึงนี้จึงมิได้ถูกจำกัดอยู่เพียงในระหว่างปี ๒๔๒๓–๒๔๖๖ อันเป็นช่วงพระชนมชีพเท่านั้น หากแต่สามารถสืบสาวย้อนกลับขึ้นไปในอดีตชาติอันประมาณมิได้ รวมไปถึงยังคงต่อเนื่องไปในอนาคตกาลข้างหน้าซึ่งยังมาไม่ถึง

เฉกเช่นการกลับชาติมาเกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่านับครั้งไม่ถ้วนของบุคคลในนิทานชาดก


sadettia03
“เสด็จเตี่ย” กรมหลวงชุมพรฯ

บทความชุดนี้มีต้นทางจากหนังสือพระประวัติกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ของผู้เขียน คือ “ให้โลกทั้งหลายเขาลือ” (พิมพ์ครั้งแรกโดยสำนักพิมพ์สารคดี ๒๕๖๓ ราคา ๔๘๐ บาท) โดยเล่าเก็บความจากหนังสือ และเสริมบางประเด็นที่มีข้อมูล หรือความคิดเห็นเพิ่มเติมภายหลังหนังสือตีพิมพ์ออกมาแล้ว

สั่งซื้อหนังสือ