ทีม Happy Imagineers
เรื่อง : พุฒ บุตรรัตน์ และ ด.ญ.ชุติกาญจน์ วรรัตน์กุล
ภาพ : พุฒ บุตรรัตน์

เล่าเป็นเล่น จนเป็นเรื่อง (เรียน) ของครูพุฒกับบุ้งกี๋

ฝนเพิ่งหยุดตกได้ไม่นาน เสียงเด็กๆ ที่พูดคุย เล่นกัน ขณะเดินเข้าห้องเรียนในชั่วโมงโฮมรูมเริ่มเบาลง

เสียงระฆังในมือครูหน้าห้องเพิ่งจางหายไปเช่นกัน

สิ่งที่กำลังกลับมาคือ เด็กๆ นั่งสงบ หลับตา ปล่อยให้ตัวละครและเรื่องราวที่สนุกตื่นเต้นในหนังสือเล่มเล็กที่เพิ่งวางลงเดินทางล่วงหน้าไปก่อน มีเพียงลมหายใจแผ่วเบาของทุกคนเท่านั้น

นั่นคือ สติของเด็กๆ ได้เกิดขึ้นหลังเสียงระฆัง

ที่โรงเรียนต้นกล้า ก่อนเริ่มกิจกรรมครูจะใช้ไม้เล็กๆ ตีผ่านผิวด้านข้างของระฆังหรือขันธิเบต เกิดเสียงเบาๆ เตือนให้ครูและนักเรียนเรียกสติของตัวเองกลับมา วันนี้ก็เช่นกัน โรงเรียนมีกิจกรรมหล่อเทียนหล่อใจ ซึ่งทุกคนจะร่วมกันหล่อต้นเทียนพรรษา เพื่อนำไปถวายที่วัดพระบรมธาตุดอยผาส้ม อ. สะเมิง จ. เชียงใหม่ การให้เด็กๆ มีสติเพื่อให้มีสมาธิกับการฟังจึงสำคัญมาก

หนึ่งนาทีผ่านไป เสียงระฆังดังขึ้น เด็กๆ ลืมตาอีกครั้ง

ครูแพ็ท หรือ ..จิตสุภา โปธาเกี๋ยง ครูประจำชั้น ป. ๔ อธิบายให้เด็กเข้าใจกิจกรรมหล่อเทียนและความเป็นมาของวันเข้าพรรษา ตลอดจนข้อพึงปฏิบัติในฐานะพุทธศาสนิกชน

“พวกเราจะไม่เพียงหล่อขี้ผึ้งให้เป็นต้นเทียน แต่จะบ่มเพาะหล่อหลอมใจเราให้ผ่องแผ้ว เบิกบาน เพื่อแบ่งปันบุญกุศลและสิ่งดีๆ ของวันนี้ต่อสรรพสิ่งทั้งมวล” ครูแพ็ทพูดด้วยน้ำเสียงอบอุ่น แผ่วเบา

จากนั้นก็ย้ำให้ทุกคนทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีเหมือนกับทุกๆ กิจกรรม

บุ้งกี๋ หรือ ..ชุติกาญจน์ วรรัตน์กุลอายุ ๑๐ ขวบ อยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ รูปร่างผอมบาง ซึ่งนั่งเกือบหลังห้อง สีหน้า แววตาสงบนิ่ง ดูครุ่นคิดเล็กน้อย

ในอีก ๑ ชั่วโมงข้างหน้า เธอมีงานใหม่ที่ท้าทายรออยู่ หลังจากรับปากผมเมื่อวาน

krupoot02
สงบกาย สงบใจ
krupoot03
บุ้งกี๋เล่านิทานให้น้อง ๆ ฟัง

เล่าสร้างสุข เติมแรงบันดาลใจ

ใต้อาคารเรียนประถมศึกษาคลาคล่ำด้วยเด็กๆ และครูที่สาละวนอยู่กับการเตรียมกิจกรรมสำคัญ

“ครูคะ ไปเล่าเลยเหรอคะ น้องๆ อนุบาลมาแล้ว เสียงบุ้งกี๋ดังขึ้นจากด้านข้างตัวผม เธอสะพายเป้ใบเก่า มีหนังสือสามเล่มโผล่ออกมาจากปากกระเป๋า และน้ำดื่มหนึ่งขวดในมือ

“รอ ๕ นาทีครับ ให้ครูเชิญระฆัง เตรียมน้องๆ ก่อน”ผมบอกบุ้งกี๋ สังเกตเห็นเธอเม้มริมฝีปาก แววตามุ่งมั่น

ครูอนุบาลให้สัญญาณพร้อม บุ้งกี๋เดินช้าๆ วางขวดน้ำและกระเป๋าลงข้าง ทรุดนั่งบนเก้าอี้ไม้ต่อหน้าน้องตัวน้อยชั้นอนุบาล ๓ ประมาณ ๖๐ คนที่มารอฟังนิทานคั่นเวลาก่อนไปหล่อต้นเทียน

เธอเริ่มต้นจากนิทานเรื่องแพะ 3 ตัว (The Three Billy Goats Gruff) ซึ่งเป็นนิทานพื้นบ้านนอร์เวย์ของเปียเตอร์ อัสบียอร์นเซน เนื้อเรื่องสอดแทรกการใช้ปัญญา ไหวพริบของแพะ ล่อหลอกยักษ์ตนหนึ่งที่หลบอยู่ใต้สะพาน เพื่อให้ตัวเองรอดไปได้

เมื่อเธอกลายเป็นตัวละครในเรื่อง ทั้งน้ำเสียง สีหน้า และท่าทาง ก็แสดงออกได้ดี ขณะเล่าครูทุกคนที่อยู่รอบๆ และน้องอนุบาลต่างนิ่งเงียบเหมือนถูกมนตร์สะกดให้ตกอยู่ในภวังค์ของโลกจินตนาการ ที่เธอกำลังพาทุกคนล่องลอยไป

พอเล่าจบแต่ละรอบ เธอจะชวนน้องๆ ถาม ตอบ พูดคุย ถึงเรื่องราวของนิทานอย่างสนุกสนาน

ตลอดเช้าวันนั้นบุ้งกี๋เล่านิทานให้น้องชั้นอนุบาลถึง ป. ๓ ฟังกว่าห้าหกรอบ โดยผมสังเกตอยู่ใกล้ๆ เพื่อให้กำลังใจ ซึ่งก็น่าทึ่งมากเพราะไม่เคยเห็นเธอทำสิ่งนี้มาก่อน

krupoot04
เสียงหัวเราะ ยามเล่น เราเป็นสุข
krupoot05
เพื่อนเราเล่นด้วยกัน สุขด้วยกัน
krupoot06
แม้ต่างวัยใจเราก็เล่นด้วยกัน

ว กับ : ความสุขซนๆ ของคนวัยเล่น

หลังจากเล่านิทานวันนั้น ผมก็เริ่มสนใจเธอ โดยเฉพาะการเล่น จึงเข้าไปพูดคุยกับเธอมากขึ้น ด้วยบุคลิกร่าเริงสดใส ยิ้มง่าย หัวเราะง่าย กล้าทัก กล้าถาม ทำให้เห็นรอยยิ้มและเสียงหัวเราะของเธอทุกวัน

“เด็กทุกคนตื่นเช้ามาล้วนสดใส ร่าเริง มีแต่ผู้ใหญ่นี้แหละที่เติมความเครียด ความทุกข์ให้เด็กๆ” ผมรำพึงกับตัวเองเบาๆ

เช้าวันศุกร์หลัง R15@School หรือกิจกรรมอ่านทุกคน ทุกวัน ๑๕ นาที ก่อนเรียน เป็นคาบเรียนภาษาไทยซึ่งผมรับผิดชอบ หลังเชิญระฆังให้ทุกคนลืมตา สติของเด็กๆ กลับคืนมาอีกครั้ง

ผมเชื่อมั่นว่า การบ่มเพาะให้เด็กๆ มีสติอยู่ทุกขณะ เป็นแนวทางหนึ่งที่จะทำให้เห็นถึงความสงบภายใน ความงาม ความสดชื่น สดใส

เมื่อเด็กๆ มีสติ มีสมาธิ เขาย่อมทำสิ่งต่างๆ ได้ดี

“วันนี้เราจะไปนอกห้องเรียนกันครับ” ผมบอกเมื่อทุกคนพร้อมฟัง

“ไชโย”
“ดีจังเลย ฝนก็หยุดแล้ว”
“ไปตรงไหนครู”
“เอาอะไรไปบ้างคะครู”
“ได้ไปวิ่งเล่นอีกแล้วใช่ไหมพวกเรา”

คำถามที่พรั่งพรูออกมาจนผมไม่รู้จะตอบใครก่อน

ทุกคนเตรียมสมุดวาดรูป สี ดินสอ พร้อมจะออกไปนอกห้องเรียน เพื่อตามหาปริศนาที่ผมเขียนบนกระดานว่า กับแม้ทุกคนจะยังไม่รู้ว่าหมายถึงอะไร

บุ้งกี๋และพลอยฝนนั่งวาดภาพและคุยกันอยู่ใต้ต้นก้ามปู ผมเข้าไปใกล้ๆ เห็นทั้งคู่หัวเราะอย่างมีความสุข ขณะมือน้อยๆ ก็ขีดเขียน ก่อนผมจะเดินจากไป เสียงหนึ่งก็ดังขึ้น

“ทำไมครูพุฒยืนดูต้นก้ามปูนานจังคะ” เสียงบุ้งกี๋นั่นเอง

“ครูคิดถึงตอนเป็นเด็กครับ ในฤดูฝนแบบนี้ครูชอบเอาไม้ไปตีกิ่งที่อยู่ต่ำๆ เพื่อให้ด้วงกว่างตกลงมาแล้วเอาตัวผู้ไปชนกัน สนุกมากเลย เคยเล่นไหม” ทั้งสองคนคนส่ายหน้า

“ครูชอบเล่นเหรอคะ แต่หนูไม่นะ กลัวเสียงตอนมันร้อง” เสียงหนึ่งดังขึ้น พร้อมเหตุผลชัดเจน

บุ้งกี๋หัวเราะ แล้วทั้งสองคนก็วาดรูปกันต่อ

บรรยากาศบริเวณโรงเรียนตอนนี้ เด็กเกือบ ๒๐ คนวิ่งเล่น วาดรูป นั่งคุยกันสนุกสนาน ทำให้นึกถึงข้อความของลุง “ลาว คำหอม หรือ คำสิงห์ ศรีนอก ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ปี ๒๕๓๕ ซึ่งเขียนว่า

“ ทีเห็นว่าเด็กเล่น แท้จริงคือการเรียนรู้”

ก่อนขึ้นตึกและเข้าห้อง ทุกคนต้องล้างมือให้สะอาด มาตรการป้องกันโควิดกับการเล่นของเด็กยังเป็นเพื่อนรักกันเสมอ

พวกเขาทำประจำจนเป็นนิสัย แต่ผมก็ยังเห็นคราบเหงื่อ ผมเผ้ารุงรัง ที่ดูมอมแมมน่ารักดี

“ครูครับ ผมรู้แล้วว่า ที่ครูให้เราหาคืออะไร มันคือ วุ่นกับวาย ครับ…เพราะกว่าจะตกลงกติกาการเล่นได้ พวกเราก็วุ่นวายไม่น้อยเลย” เด็กผู้ชายคนหนึ่งชิงพูดขึ้น หลังผมเปิดประเด็นเมื่อเข้าห้องเรียน

เรียกเสียงหัวเราะจากเพื่อนๆ ผู้ชายได้หลายคน

“ไม่ใช่ค่ะครู หนูว่า คือ วิ่งกับวาด ค่ะ เพราะพวกเราได้เล่นและวาดกันอย่างสนุก” เด็กผู้หญิงท้ายห้องพูดบ้าง

จากนั้นทุกคนในห้องก็ช่วยกันตามหา โดยสลับกันตอบ บ้างว่าเลอะ บ้างว่าลืม บ้างว่าเล่า ซึ่งถูกทุกคำ

“พวกเราฟังก่อน อย่าลืม สุดท้ายนะ ก็ เล่น ไง ถ้าลืมคำนี้ ครูอาจไม่ให้พวกเราไปเล่นอีกก็ได้นะ”

เสียงใสๆ ของเด็กผู้หญิงอีกคนแย้ง ทำให้เสียงหัวเราะดังขึ้นอีกครั้ง

krupoot07
มุ่งมั่นและจริงจังกับงานศิลป์
krupoot08
รอยยิ้มปลื้มปริ่มกับผลงาน

บ่มเพาะงานศิลป์ เสริมจินตนาการ

เช้าวันหนึ่งเมื่อไปถึงโรงเรียนก่อนเข้าห้อง บุ้งกี๋มีสิ่งหนึ่งมาเซอร์ไพรส์ผม

“นี่ค่ะครู งานศิลปะที่หนูไปเรียนมา” เธอพูดพร้อมหยิบงานชิ้นหนึ่งในกระเป๋าสะพายออกมาให้ดูอย่างระมัดระวัง เป็นรูปใบมอนสเตอร่าที่ทำจากกระดาษ ตัดเป็นใบเล็กๆ ระบายสีสวยงาม ติดลงบนกระดาษแข็งเหมือนภาพสามมิติ

เป็นศิลปะสื่อผสม หรือ mixed media art สะท้อนความคิดสร้างสรรค์และความมุ่งมั่นมาก งานจึงออกมาสวยขนาดนั้น

“ครูชอบเหรอคะ”

“ชอบมากครับ ครูปลูกต้นไม้นี้ไว้เยอะเลยที่บ้าน วันหลังจะตัดใบมาให้นะ”

“แม่หนูก็ปลูก มีต้นที่ใบด่างด้วย แต่หนูชอบวาดมากกว่า วันหลังครูไปดูที่สวนของหนูก็ได้ค่ะ” เธอชักชวน เมื่อส่งภาพคืน แล้ววิ่งขึ้นห้องเรียน

ในช่วงบ่ายวันเดียวกัน ผมโทรศัพท์ติดต่อคุณแม่ของบุ้งกี๋เพื่อขอไปเยี่ยมบ้าน ซึ่งท่านก็ยินดีมาก แถมยังเกริ่นเรียกน้ำย่อยถึงเรื่องราวของบ้านสวนและความซนของบุ้งกี้ให้ผมฟัง อย่างไรก็ตามเมื่อผมเห็นผลงานศิลปะของเธอ กอปรกับคุ้นเคยมากขึ้น เลยคิดว่าต้องหาโอกาสไปเห็นบรรยากาศการเรียนศิลปะและเยี่ยมเธอที่บ้านให้ได้

วันเสาร์ปลายเดือนกรกฎาคม ผมได้ไปที่บ้านศิลปะในเขต อ. เมือง จ. เชียงใหม่

ครูเน็ต หรือ นายรณชิต สุวี เจ้าของบ้านศิลปะครูเน็ต บอกว่า ก่อนเด็กๆ จะลงมือทำงานจะให้แต่ละคนสลับกันเล่าเรื่องที่สนใจหรือลักษณะงานศิลปะที่อยากทำในแต่ละวัน เช่น อยากวาดรูปอะไร เทคนิคอะไร หรือใช้สีประเภทไหน เป็นต้น

ครูเน็ตเล่าต่อว่า เด็กวัยนี้แม้อายุใกล้เคียงกัน ความสนใจอาจแตกต่าง การให้เด็กๆ มีอิสระในการคิด จินตนาการ หรือเลือกทำสิ่งที่ชอบ พวกเขาจะมีความสุขมาก สำหรับบุ้งกี๋ได้เรียนพื้นฐานการวาดภาพลายเส้น เทคนิคการใช้สี เช่น เทคนิคสีไม้ การแทรกสี สีน้ำ สีโปสเตอร์ และงานประดิษฐ์ต่างๆ บุ้งกี้มักรบเร้าว่าอยากทำโน่นทำนี่เสมอ เธออัธยาศัยดี พูดเก่ง และเล่นกับทุกคนอย่างเป็นกันเอง บางครั้งก็สวมบทดีเจเปิดเพลงที่ชอบและชวนเพื่อนๆ ร้องเล่น เต้นสนุกไปด้วย

“เสร็จแล้วค่ะคุณครู ” บุ้งกี๋ยกใบมอนสเตอร่าสดๆ ที่เพิ่งแต่งแต้มสีสันใหม่ให้ผมดู เป็นแนวสีพาสเทลบนใบมอนสเตอร่าที่ไม่เคยเห็นมาก่อน

“ครูเน็ตให้ลงสีขาวรองพื้นบนใบก่อน แล้วเพนต์ด้วยสีน้ำ หนูให้ครูเอาไปไว้ที่ห้องสมุดโรงเรียนนะคะ ” เธอยื่นใบไม้ให้ผมด้วยแววตาใสซื่อ กับรอยยิ้มที่ซ่อนอยู่ใต้แมสก์สีขาว

“อย่าลืมขอบคุณคนรับที่เป็นเจ้าของใบไม้ด้วยละบุ้งกี๋ ” เสียงครูเน็ตดังขึ้น

“อ้าว! ใบไม้ของครูเหรอคะ ขอบคุณมากค่ะครู ” เธอจ้องหน้าผม ออกเขินอายเล็กน้อย ก่อนเดินจากผมไป

krupoot09
ให้อาหารปลายามเย็นที่บ้านสวน
krupoot10
เล่นและคุยความสุขที่เราแชร์กัน
krupoot11
ไปละนะ…จะบินไปพร้อมจินตนาการ

เรียนรู้ร่วมกันที่บ้านสวนสันกำแพง

“ครูคะ น้องบุ้งกี๋ติดโควิด ไปโรงเรียนไม่ได้สัปดาห์หน้า” คุณแม่น้องโทรศัพท์หาผมช่วงสายของต้นเดือนสิงหาคม

ก่อนกลางเดือนสิงหาคม ผมจึงขับรถจากบ้านที่ อ. สันทรายไป อ.สันกำแพง เป้าหมายคือบ้านสวนของบุ้งกี๋

“ที่บ้านมีห่าน มีไก่ มีปลา พ่อกับแม่ปลูกข้าวไว้ด้วยค่ะ ถ้าครูจะมา หนูจะได้บอกแม่ค่ะ” คำที่เธอเคยชักชวนผมในเย็นวันหนึ่งหลังเลิกเรียนผุดขึ้นมาในความคิดขณะขับรถ

ผมมาถึงบ้านไม้หลังเล็กใต้ถุนสูง อยู่ในสวน ซอยข้างวัดร้องวัวแดง อ. สันกำแพง ไมล์หน้าปัดรถบอกระยะทาง 30 กิโลเมตรพอดี

พื้นที่รอบบ้านเป็นทุ่งนาข้าวกว้างใหญ่สุดลูกหูลูกตา ต้นฤดูฝนปีนี้ฟ้าฝนที่เชียงใหม่ดี ข้าวแตกกอเขียวงาม มองเลยหน้าบ้านไปจะเห็นแนวสันเขาเด่นสง่าอยู่ลิบๆ ก้อนเมฆลอยละเลียดเหนือยอดเขา เช้านี้หลังฝนตก ท้องฟ้าสดใส อากาศสดชื่นเย็นสบาย

แม่สุ หรือนางสุดารัตน์ บุญประเสริฐ ออกมาทักทายด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม

“สวัสดีค่ะครู เมื่อกี้ยังเห็นบุ้งกี๋วิ่งเล่นอยู่เลยค่ะ หรือจะอยู่บนบ้าน เดี๋ยวแม่ตามให้นะคะ” เจ้าของบ้านทำท่าจะไปตามเจ้าบ้านตัวน้อยให้ แต่ผมทำสัญญาณมือเชิงปฏิเสธ

แม่สุพาผมเดินเลาะบ่อเลี้ยงปลาตามแนวต้นไม้ใหญ่ริมบ่อ เล่าให้ฟังว่า

เมื่อ ๕ ปีที่แล้วได้ซื้อที่นาประมาณ ๓ ไร่กว่าเพื่อสร้างบ้าน ในปีแรกๆ ช่วงหน้าแล้งจะร้อนมาก ไม่มีต้นไม้เลย จึงเริ่มหาไม้ต่างๆ มาปลูก ทั้งไม้ใหญ่ยืนต้นที่ให้ดอกให้ผลระยะสั้น ระยะยาว เช่น โมกหลวง พิกุล พะยอม คูน ชัยพฤกษ์ ทุเรียน ลองกอง มะนาว ทับทิม เป็นต้น

แม่สุเล่าว่า เมื่อในสวนร่มรื่นด้วยต้นไม้ก็จะเป็นสถานที่ให้ลูกๆ ญาติ และเพื่อนๆ ได้มา สัมผัสวิถีชีวิตที่สงบ อากาศบริสุทธิ์ และรู้จักพันธุ์ไม้ต่างๆ เพราะบ้านในตัวเมืองเชียงใหม่อีกหลังที่ครอบครัวทำธุรกิจอยู่ ในระยะยาวคงไม่เหมาะแก่การพักผ่อน

สามปีที่แล้วตอนบุ้งกี๋เล็กๆ ครอบครัวของเพื่อน ของพี่ก็พากันมาเรียนรู้วิธีปลูกข้าวที่นี่ด้วย ซึ่งคุณแม่ก็ยินดีมากถ้าครูจะพาเด็กๆ มาเรียนรู้ชีวิตในสวนในนา เธอยังเล่าอีกว่า แม้บุ้งกี้จะเป็นลูกคนเล็กก็ไม่ได้ตามใจทุกเรื่อง แต่ฝึกให้รู้จักหน้าที่ที่ตัวเองต้องรับผิดชอบ ทั้งจัดเก็บของใช้ส่วนตัว ทำการบ้าน เรียนพิเศษ รวมทั้งงานในสวนบางอย่าง ซึ่งบุ้งกี้ทำได้ดีมาก

ผมพูดคุยกับแม่สุได้ไม่นาน บุ้งกี๋ในชุดเสื้อม่วงกางเกงขาสั้นสีเหลือง ผมเผ้ารุงรัง ก็วิ่งมาพอดี เธอเพิ่งฟื้นจากไข้โควิด แม้จะดูมอมแมมตามประสาเด็ก แต่รอยยิ้มซื่อๆ และเสียงหัวเราะใสๆ ก็อดทำให้คนใกล้ๆ ยิ้มกับเธอไม่ได้

“ครูคะ สวัสดีค่ะ ห่านอยู่ทางโน้น ไปดูด้วยกันนะคะ มันกำลังเล่นโยคะพอดี” เธอยกมือไหว้ พร้อมชี้มือไปที่ห่านสีขาวพันธุ์ไจแอนต์ดิวลาปโทเลาส์ห้าตัวที่ลานกว้างข้างสระน้ำ แต่ละตัวยืนยกขา เอียงคอในท่าต่างกัน

นี่คือจินตนาการของเด็กๆ ที่ผู้ใหญ่คิดไม่ถึง ทำให้ผมนึกย้อนครั้งที่เคยถามเธอว่า อ่านวรรณกรรมเยาวชนระดับโลกเรื่องเจ้าชายน้อย (The Little Prince) แล้วชอบตรงไหน เธอตอบว่า ตอนเจ้าชายน้อยบอกว่าภาพนี้ไม่ใช่หมวกนะ แต่เป็นภาพงูกินช้างต่างหาก เช่นเดียวกับภาพฝูงห่านที่ในสายตาของผู้ใหญ่เห็นเพียงห่านกำลังยืนเท่านั้น

“พ่อแม่ปลูกข้าวไว้ให้พวกเรากินค่ะ ปลาในบ่อก็มี เดี๋ยวหนูจะพาครูไปให้อาหารค่ะ” แล้วเด็กน้อยก็วิ่งไปตักอาหารปลาในถังใบใหญ่ ก่อนออกไปยืนบริเวณโคนต้นมะพร้าวที่ลำต้นยื่นไปในบ่อ โปรยอาหารเม็ดอย่างมีความสุข

จากนั้นเธอก็นำผมออกไปเดินบนคันนา มือชี้ต้นข้าว ปากเล่าไม่หยุด

ผมฟังแล้วก็มีความสุข พลางหวนคิดถึงอดีตที่เคยทำนามาก่อน

เสียงคุยเจื้อยแจ้ว ความซื่อ ความสดใสนี้เอง ที่นำให้เราได้มาเรียนรู้ด้วยกัน แม้วัยของเราจะต่างกันมาก

เหตุการณ์ทั้งหมดทำให้ผมเรียนรู้ว่า เมื่อเราเข้าไปอยู่ในพื้นที่ของเด็กๆ ที่เปี่ยมด้วยอิสรภาพและความสนุก ไร้สิ่งกดทับ ไม่ต้องออกคำสั่ง ไม่รีบเร่ง แต่ให้เวลาและปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ

เด็กๆ ซึ่งเปรียบเสมือนเมล็ดพันธุ์หรือต้นกล้าจะค่อยๆ เจริญงอกงาม เติบโตขึ้นอย่างเป็นสุข เช่นเดียวกับน้องบุ้งกี๋ในวันนี้

เวลาผ่านไปอย่างรวดเร็ว ไม่ทันไรก็เย็นแล้ว แต่เรายังมีเรื่องเล่า พูดคุยกันได้ตลอด พลังงานของเด็กๆ ช่างมากล้น และมีจินตนาการกว้างไกล

หน้าที่ของพ่อแม่และครูก็คงประดุจชาวสวนที่คอยรดน้ำ พรวนดิน ใส่ปุ๋ย หรือเป็นสภาพแวดล้อมที่ดี เพื่อให้เมล็ดพันธุ์หรือต้นกล้าน้อยๆ นี้ได้รับการบ่มเพาะจินตนาการและความสุขให้เติบโตเป็นไม้ใหญ่

ดั่งคำพูดของท่านติช นัช ฮันห์พระอาจารย์เซนชาวเวียดนาม กล่าวว่า

เธอไม่อาจถ่ายทอดปัญญา และความเข้าใจอันลึกซึ้งให้แก่ผู้ใด เพราะทุกคนมีเมล็ดพันธุ์นั้นอยู่แล้ว ครูที่ดีจะสัมผัสได้กับเมล็ดพันธุ์นั้น แล้วปลุกให้ตื่นเพื่อให้งอกงามเป็นต้นอ่อนและเติบโต”

กิจกรรมดีๆ ของ “ค่ายนักเล่าความสุข” ปี 3 ร่วมสร้างสรรค์เรื่องเล่าความสุข และสังคมที่มีความสุข

  • มูลนิธิเล็กประไพวิริยะพันธุ์
  • นิตยสารสารคดี
  • เพจความสุขประเทศไทย
  • สสส.