ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล : เรื่องและภาพ

ตลิ่งพังริมฝั่งโขง

พื้นที่ตรงนั้นเป็นรอยต่อของแม่น้ำกับแผ่นดิน เมื่อก่อนเคยเป็น “ตลิ่ง” ที่ผู้คนได้พึ่งพิงอาศัย

เป็นจุดจอดเรือหาปลา…
เป็นท่าเรือท้องถิ่น…
เป็นแปลงเพาะปลูกพืชผัก…
เป็นลานกว้างสำหรับเด็กๆ ผู้ใหญ่ และใครต่อใครที่อยากจะลงเล่นน้ำ…
เป็นพื้นที่ทางวัฒนธรรมสำหรับจัดประเพณีไหลเรือไฟ…

แต่วันนี้ผืนดินริมฝั่งโขงเปลี่ยนสภาพไปไม่เหมือนเดิม มองลงไปยังผืนน้ำเบื้องล่างแลดูน่าหวาดเสียว และหวั่นวิตกว่าแผ่นดินจะถูกน้ำกัดเซาะเข้ามาอีกหรือไม่ จะกินลึกเข้ามาอีกสักแค่ไหน

จากที่เคยมีความสูงไล่ระดับ จากท้ายหมู่บ้านค่อยๆ ทอดลงสู่ลำน้ำ วันนี้ตลิ่งแม่น้ำโขงกลายเป็นหน้าผาสูงชันตั้งฉาก รากไม้ที่เคยฝังอยู่ในดินโผล่พ้นออกมาให้เห็นอย่างเด่นชัด เมื่อแรงลึกลับเข้ากระทำกับตลิ่ง รากไม้ใหญ่ก็ไม่อาจต้านทานยึดหน้าดินไว้ และอีกไม่นานต้นไม้ใหญ่ก็อาจจะโค่นล้มตาม

ปัญหาตลิ่งพังไม่ใช่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นเฉพาะบ้านห้วยค้อ ตำบลบ้านม่วง อำเภอสังคม จังหวัดหนองคาย

แต่กำลังกัดเซาะกลืนกินวิถีชีวิตผู้คนในหลายพื้นที่ริมฝั่งโขง

talingpung01
ตลิ่งท้ายหมู่บ้านที่เคยอาศัยใช้ประโยชน์ เชื่อมโยงผู้คนกับสายน้ำ กลายเป็นพื้นที่ภัยพิบัติ ดินตลิ่งแม่น้ำโขงทรุด

ตั้งแต่เชียงคาน จังหวัดเลย ไปถึงอำเถอสังคม จังหวัดหนองคาย แม่น้ำโขงในส่วนนี้จะไหลผ่านภูมิประเทศที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขา มีเกาะ ดอน แก่งตลอดลำน้ำ มองเห็นชัดในฤดูแล้ง แม่น้ำสาขาที่ไหลลงสู่แม่น้ำโขงในเขตนี้ เช่น แม่น้ำเหือง แม่น้ำเลย แม่น้ำชม ฯลฯ มีแก่งหินอันเป็นที่รู้จัก เช่น แก่งคุดคู้ในเขตอำเภอเชียงคาน แก่งจันทร์ในเขตอำเภอปากชม จังหวัดเลย เป็นต้น

เฉพาะแม่น้ำโขงส่วนที่ไหลผ่านตำบลบ้านม่วง อำเภอสังคม จังหวัดหนองคาย จะทอดตัวในลักษณะระฆังคว่ำ ผ่านเทือกเขาน้อยใหญ่ทั้งสองฟากฝั่งไทย-ลาว มีดอน เกาะ แก่ง ก้อนหิน ในแม่น้ำมาก

เมื่อเข้าสู่ฤดูแล้ง ตามปรกติแล้วล้ำน้ำที่แผ่กว้างจะลดขนาดลงจนมองเห็นสภาพภูมิประเทศที่เป็นเกาะแก่ง แก่งหินที่รู้จักกันดีคือพันโขดแสนไคร้ อำเภอสังคม จังหวัดหนองคาย

บนฟากฝั่งแม่น้ำ…ตลิ่งโขงในพื้นที่ภาคอีสานแบ่งเป็น “ตลิ่งระดับล่าง” กับ “ตลิ่งระดับบน” ตลิ่งระดับล่างจะเพาะปลูกพืชผักได้ยามน้ำโขงลดระดับลง ส่วนตลิ่งระดับบนชาวบ้านจะเพาะปลูกพืชผลได้ตลอดทั้งปี มีท้ังพืชล้มลุก เช่น ยาสูบ มะเขือเทศ พริก ผักคะน้า พืชกึ่งยืนต้น เช่น กล้วย หรือพืชยืนต้นจำพวกไม้ผลต่างๆ

ในอดีต แม่น้ำโขงจะลดระดับลงตามธรรมชาติราวเดือนกันยายนไปจนถึงเดือนธันวาคม ชาวบ้านจะปลูกพืชผักบนตลิ่งระดับล่างของแม่น้ำโขง แต่หลายปีดีดักแล้วที่การขึ้นลงของน้ำโขงไม่เป็นไปตามฤดูกาล บ่อยครั้งที่น้ำขึ้นลงเพียงชั่วข้ามคืน นอกจากจะส่งผลกระทบกับการทำเกษตรริมโขง ความผันผวนขึ้นลงรายวันของน้ำยังส่งผลกระทบกับวิถีประมงพื้นบ้าน การหาปลา การดำรงชีวิตของพืชพรรณและสัตว์น้ำโดยเฉพาะหมู่ปลาในแม่น้ำโขง

talingpung02
ที่ดินริมโขงหายไปต่อหน้าต่อตาในชั่วข้ามคืน กลายเป็นหน้าผาสูงชัน สวนกล้วยและบริเวณที่เคยเป็นท่าเรือ พื้นที่ทางวัฒนธรรมปลิวหายไปกับสายน้ำ

“ห้ามเข้า พื้นที่อันตราย ดินตลิ่งริมแม่น้ำโขงทรุด องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านม่วง”

ป้ายประกาศเตือนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นติดอยู่หน้าตลิ่งที่กำลังทรุดริมแม่น้ำโขงบ้านห้วยค้อ ไม่มีใครรู้ชัดว่าเกิดจากสาเหตุใด แต่หลายคนพูดตรงกันว่าพื้นที้ตรงนี้ ถึงมีฝนตกหนักติดต่อกันหลายวัน เนื้อดินอุ้มน้ำมาก ก็ไม่เคยเกิดเหตุตลิ่งพังอย่างครั้งนี้มาก่อน ความสมดุล ความแข็งแกร่งของเนินฝั่งตามธรรมชาติจะรักษาสภาพของตลิ่งไว้

ปัญหาตลิ่งแม่น้ำโขงพังทลายเคยเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ ยกตัวอย่างต้นเดือนกรกฎาคม ๒๕๖๒ ตลิ่งของแม่น้ำโขงในเขตเทศบาลเมืองนครพนมพังลงมาทับกระชังปลาของเกษตรกร มีกระชังปลาได้รับความเสียหายและถูกพัดพาไปกับกระแสน้ำ

หรืออย่างเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกลางเดือนสิงหาคม ๒๕๖๕ นอกจากบ้านห้วยค้อ ตำบลบ้านม่วง อำเภอสังคม จังหวัดหนองคาย แล้วที่บ้านภูเขาทองในเขตตำบลเดียวกันก็เกิดเหตุการณ์ตลิ่งทรุด กินลึกเข้ามาในฝั่งร่วม ๒๐-๓๐ เมตร เกิดหน้าผาสูงชันประชิดติดบ้านเรือนอย่างน่าหวาดผวา มีบ้านพักนักท่องเที่ยวและบ้านเรือนบางส่วนได้รับความเสียหาย รายงานข่าวระบุว่าแม่น้ำโขงที่เพิ่มขึ้นเป็นเมตรภายในวันเดียว ส่งผลให้ตลิ่งทรุดพังทลาย

โดยทั่วไปแล้วการพังทลายของแผ่นดินจะเกิดขึ้นพร้อมๆ กับการทับถมในอีกพื้นที่หนึ่ง กระแสน้ำจะพัดพาตะกอนจากพื้นที่หนึ่งไปอีกแห่งหนึ่งที่อยู่ห่างออกไป การพังทลายของตลิ่งจึงมักจะเกิดขึ้นควบคู่กับการสะสมของตะกอน

ในประเทศไทย แม่น้ำโขงไหลผ่าน ๘ จังหวัดในภาคเหนือและอีสาน ในที่นี้มี ๒๘ อำเภอที่อยู่ติดกับแม่น้ำโขง

รายงานฉบับสมบูรณ์ โครงการศึกษาผลกระทบและติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดนจากโครงการไฟฟ้าพลังน้ำในแม่น้ำโขงสายประธาน ปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๖๔ จัดทำโดยสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ระบุผลการศึกษาด้านการพังทลายของตลิ่งและการสะสมของตะกอนในพื้นที่ ๒๘ อำเภอ ว่า “พื้นที่ริมฝั่งที่ตั้งอยู่ใน ๒๘ อำเภอ เกิดการพังทลายรวมตั้งแต่ ๐.๐๐๓-๑๒.๓๔๔ ตารางกิโลเมตร โดยช่วงปีที่เกิดการพังทลายของตลิ่งสูงสุด คือ ช่วงปี พ.ศ. ๒๕๖๓ (ช่วงเวลาที่ ๓ หลังเปิดดำเนินการเขื่อนไซยะบุรี) มีพื้นที่พังทลายทั้งหมด ๓๖.๕๗๖ ตารางกิโลเมตร”

รายงานฉบับเดียวกันให้รายละเอียดเกี่ยวกับการทับถมว่า “ในส่วนผลการศึกษาของพื้นที่ทับถมรวมตั้งแต่ ๐.๐๐๑-๒.๑๑๘ ตารางกิโลเมตร โดยช่วงปีที่เกิดการทับถมสูงสุด คือ ช่วงปี พ.ศ. ๒๕๖๑ (ช่วงเวลาที่ ๑ ก่อนเปิดดำเนินการเขื่อนไซยะบุรี) มีพื้นที่ทับถมทั้งหมด ๑๖.๔๒๒ ตารางกิโลเมตร โดยในอำเภอที่เกิดการทับถมมากที่สุด คือ อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม

เฉพาะพื้นที่อำเภอสังคม จังหวัดหนองคาย การลดลงของตลิ่งอยู่ในระดับสูง (สีส้ม) ขณะที่การเพิ่มขึ้นของตลิ่งอยู่ในระดับสูงมาก (สีแดง)

talingpung04
talingpung03
เขื่อนหิ้งทิ้งป้องกันตลิ่งในพื้นที่อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย การสร้างเขื่อนมักถูกนำมาใช้แก้ปัญหาตลิ่งพัง ซึ่งมักส่งผลกระทบทั้งทางสังคมและระบบนิเวศ ตัดขาดความสัมพันธ์ระหว่างพื้นที่บนฝั่งกับแม่น้ำ

การพังทลายของตลิ่งแม่น้ำโขงเกิดได้จากหลายสาเหตุ มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ มูลนิธิพิทักษ์ธรรมชาติเพื่อชีวิต ร่วมด้วยเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนตำบลลุ่มน้ำโขง ๗ จังหวัดภาคอีสาน ศึกษามูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจจากปัญหาตลิ่งพัง และปัญหาอื่นๆ ในหลายมิติ จัดพิมพ์หนังสือ นิเวศ เศรษฐกิจ วัฒนธรรม ลุ่มน้ำโขง : จากแก่งคุดคู้ถึงผาชันในกระแสการเปลี่ยนแปลง เมื่อปี ๒๕๕๘ ระบุว่าสาเหตุการพังทลายของตลิ่งริมแม่น้ำโขงในพื้นที่ศึกษาจังหวัดหนองคาย นครพนม มุกดาหาร จำแนกได้ดังต่อไปนี้

  1. การเปลี่ยนแปลงทิศทางของกระแสน้ำโขง สืบเนื่องจากมีเกาะแก่งเกิดขึ้นใหม่ขวางเส้นทางไหลของแม่น้ำ เมื่อน้ำไม่สามารถไหลผ่านเส้นทางเดิม จึงเกิดการเปลี่ยนแปลงทิศเข้ากัดเซาะตลิ่งชายฝั่งริมแม่น้ำ
  2. กระแสน้ำโขงมีความรุนแรงมากผิดปรกติจากฝนตกหนักติดต่อกัน ในหัวข้อนี้มีการอ้างถึงการปล่อยน้ำของเขื่อนในแม่น้ำโขงสายหลัก เช่น เขื่อนในประเทศจีน ว่าส่งผลต่อความแรงของกระแสน้ำในแม่น้ำโขง
  3. การขึ้น-ลงผิดปรกติของแม่น้ำโขง ผู้ที่ได้รับผลกระทบให้ข้อมูลว่าสาเหตุเกิดจากการกักน้ำและปล่อยน้ำของเขื่อน ทำให้การเกษตรริมแม่น้ำโขงและเครื่องมือต่างๆ ได้รับความเสียหาย ชาวบ้านไม่สามารถคาดการณ์การขึ้น-ลงของน้ำได้เหมือนในอดีตที่เคยเป็นไปตามฤดูกาลธรรมชาติ
  4. การลักลอบดูดทรายในแม่น้ำโขง การดูดทรายชิดกับตลิ่งมากและดูดในปริมาณมาก ขาดการควบคุมอย่างจริงจังจากหน่วยงานราชการทำให้เกิดการพังทลายของตลิ่ง
  5. การกักน้ำและปล่อยน้ำจากเขื่อนในแม่น้ำโขงสายหลักและแม่น้ำสาขา เช่น เขื่อนห้วยโมง ตำบลกองนาง อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย การกักเก็บน้ำเพื่อการชลประทาน มีผลต่อการขึ้น-ลงที่ผิดปรกติของแม่น้ำโขง
  6. ปริมาณน้ำโขงที่ขึ้น-ลงเร็ว เนื่องจากในช่วงที่น้ำโขงขึ้นเต็มตลิ่ง แผ่นดินบริเวณชายฝั่งต้องอุ้มน้ำที่มีน้ำหนักมากและการยึดเกาะตัวของเม็ดดินก็มีน้อย เมื่อแม่น้ำโขงลดลงอย่างรวดเร็ว ผืนดินที่อุ้มน้ำจะทรุดตัวลงไปพร้อมกับระดับน้ำโขงเป็นแนวยาวหลายเมตร

ทั้งหมดเป็นวงจรการทำลายล้างที่ขยายวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ

talingpung05
แม่น้ำโขงช่วงที่ไหลผ่านบางจังหวัด เช่น เชียงราย เลย หนองคาย มีแก่งหินมาก การสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งใกล้แนวแก่งหินอาจเป็นทั้งการแก้ปัญหาและจุดเริ่มต้นของปัญหาใหม่ในคราเดียวกัน สืบเนื่องจากการเข้าไปแทรกแทรกนิเวศและการไหลของแม่น้ำ

การขึ้น-ลงของน้ำโขงที่ผิดปรกติส่งผลกระทบต่อการพังทลายของตลิ่ง ปัญหานี้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดลำน้ำโขงช่วงที่ไหลผ่านประเทศไทย ในปี ๒๕๕๔ และ ๒๕๕๖ เคยมีการศึกษาความเสียหายทางเศรษฐกิจอันเนื่องจากตลิ่งพังในจังหวัดหนองคาย นครพนม และมุกดาหาร โดยสอบถามประชาชนจำนวน ๘๗ ราย พบว่ามีความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากตลิ่งพัง คิดเป็นเนื้อที่รวม ๘๙.๑๒๓ ไร่ คิดเป็นมูลค่ารวมถึง ๒๕,๐๓๗,๒๓๐ บาท

เมื่อเข้าตาจน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมักใช้วิธีสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งเพื่อแก้ปัญหา แม้จะสามารถป้องกันตลิ่งพังได้ในระยะแรก แต่มักจะส่งผลกระทบตามมาอย่างคาดไม่ถึง

การเข้าไปเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศริมฝั่งด้วยการสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งได้ตัดความสัมพันธ์ระหว่างระบบนิเวศบนฝั่งกับระบบนิเวศแม่น้ำออกจากกัน ผลกระทบที่ตามมาคือแร่ธาตุและอาหารตามธรรมชาติของปลาที่ได้มาจากแผ่นดินริมฝั่งหายไป เขื่อนป้องกันตลิ่งยังทำลายถิ่นอาศัยและแหล่งอาหารของปลา ทำลายแหล่งหาปลาและระบบประมงของชาวบ้าน ทำให้เครื่องมือที่เคยใช้หาปลาบริเวณชายฝั่งแม่น้ำไม่สามารถใช้งานได้อีกต่อไป

เป็นการสร้างปัญหาใหม่ที่ก่อผลกระทบตามมาไม่รู้จบ

talingpung06
ตลิ่งพังเกิดจากหลายสาเหตุ ทั้งที่เกิดเองตามธรรมชาติ และจากกิจกรรมของมนุษย์

ทุกการเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขงส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตและพื้นที่ชุมชนริมน้ำ

เมื่อ “ตลิ่ง” กลายเป็น “หน้าผา”

การดำรงชีวิตของผู้คนที่อาศัยอยู่ริมฝั่งน้ำย่อมเปลี่ยนไป แม้แต่สิ่งมีชีวิตทั้งหลายที่อาศัยอยู่ในน้ำไม่ว่าพืชหรือสัตว์ก็ต้องปรับตัว ด้วยแม่น้ำโขงมีเกาะ แก่ง ดอน ก้อนหิน อยู่ในแม่น้ำมาก ลึกลงไปใต้น้ำ โขดหินใหญ่แห่งหนึ่งที่โผล่พ้นน้ำเพียงส่วนยอดอาจเป็นบ้าน เป็นแหล่งอาหาร เป็นแหล่งหลบภัย ให้กับสัตว์น้ำนานาชนิด การพังทลายของสิ่งหนึ่งจึงย่อมกระทบชิ่งถึงอีกสิ่งหนึ่งอย่างเลี่ยงไม่พ้น

แม้ไม่รู้ชัดว่าการพังทลายของตลิ่งโขงเกิดจากสาเหตุใด การเปลี่ยนแปลงสภาพตลิ่งของแม่น้ำโขงมีสาเหตุได้จากหลายปัจจัย ทั้งสภาพทางธรณีสัณฐานของพื้นท้องน้ำและตลิ่งในแต่ละพื้นที่ ลักษณะเฉพาะทางธรณีวิทยา การเปลี่ยนแปลงสภาพการไหลและความผันผวนของระดับน้ำ การลดลงของปริมาณตะกอนจากการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำ รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ถึงกระนั้น อาจสรุปได้ว่าความเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขงจะเกิดขึ้นจาก ๒ ปัจจัยหลักเท่านั้น…

นั่นคือการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติ หรือไม่ก็เกิดจากการกระทำของมนุษย์

หมายเหตุ : บทความชิ้นนี้ได้รับการสนับสนุนโดย Internews’s Earth Journalist Network

talingpung0q1

“ต้องเสียที่ดิน ต้องเสียที่ทำกิน ต้องเสียรายได้”

สุกิม คำของ
บ้านห้วยค้อ ตำบลบ้านม่วง อำเภอสังคม จังหวัดหนองคาย

เมื่อก่อนเคยเดินไปได้ถึงตรงโน้น ที่ดินเรายาวไปถึงโน่น ตั้งแต่ต้นกล้วยที่ล้มลง มีเชือกขึงกั้นอยู่ไปเลยนะ ตรงนั้นเคยเป็นดอนทราย ข้ามไปถึงได้ ดูสิแผ่นดินหายไปตั้งเท่าไหร่ เสียหายหมด

เป็นที่มีเอกสารสิทธิ์ เป็นที่ดินของเรา เฉพาะตรงนี้มีสามครอบครัวที่เจอตลิ่งพังแบบเดียวกันข้างๆ กันก็เป็นของอา ของญาติๆ

ตลิ่งส่วนที่หายไปเราเอาไว้ใช้ทำเกษตร ปลูกกล้วยตัดใบขาย ได้ปีละประมาณสองหมื่นบาท นี่คือเงินของเราที่หายไปแน่ๆ เรามีหลานยังต้องไปโรงเรียน เมื่อต้องเสียที่ดิน ต้องเสียที่ทำกิน ต้องเสียรายได้ก็ส่งผลกระทบจะเอาเงินจากไหนมาส่งหลาน เพราะไม่มีรายได้จากการขายใบกล้วยแล้ว ที่ผ่านมาก็ยังไม่เคยได้รับการช่วยเหลืออะไร

ไม่รู้หรอกว่าการพังทลายของตลิ่งมาจากเขื่อนมั๊ย แต่เวลาน้ำขึ้นๆ ลงๆ ไม่เป็นไปตามธรรมชาติเราจะเห็นชัดเลย ตอนนี้น้ำลดใช่มั๊ย ถ้าน้ำขึ้นมันจะพังตลอด จะพังไปเรื่อยๆ เมื่อก่อนน้ำโขงจะขึ้นลงตามฤดูกาล ไม่ได้ขึ้นลงผิดปกติแบบนี้

talingpung0q2

“ยังไม่เห็นเขาเคลื่อนไหว หรือขับเคลื่อนอะไรให้เกิดการแก้ปัญหา”

อรอนงค์ วงษ์จักร
บ้านห้วยค้อ ตำบลบ้านม่วง อำเภอสังคม จังหวัดหนองคาย

ตลิ่งเริ่มพังตั้งแต่เดือนพฤษภา-มิถุนา เริ่มแรกยังไม่พังขนาดนี้นะ แล้วมันก็พังอีก พังเรื่อยๆ พังไปทีละนิด พอน้ำขึ้นแล้วก็ลง น้ำขึ้นแล้วก็ลง ตลิ่งก็พังไปทั้งหมด

บ้านเราอยู่ที่นี่ เพิ่งเคยเจออะไรแบบนี้ ไม่เคยเห็นมาก่อน ครั้งแรกๆ มีเด็กน้อยมาเห็น แล้วก็ไปบอกพ่อแม่

พื้นที่ตรงนี้ สมัยก่อนตอนตลิ่งยังไม่พัง มันกว้างไปถึงโน่น เป็นท่าที่ชาวบ้านลงมาอาบน้ำ ตอนเราเป็นเด็กก็มาเล่นน้ำ ลานข้างล่างเป็นท่าที่ชาวบ้านใช้ทำผักสวนครัว ปลูกผักริมโขง เป็นท่าจอดเรือ พิธีกรรมไหลเรือไฟก็จัดตรงนี้แหละ ทุกอย่างรวมกันอยู่ตรงนี้หมด แต่ตอนนี้ไม่มีเหลือแล้ว

ไม่ได้เป็นไปตามธรรมชาติ ไม่ใช่ว่าฤดูกาลนี้กัด แล้วอีกฤดูกาลงอกคืน ไม่ได้เป็นแบบนั้น ตั้งแต่เกิดเขื่อนขึ้นมา

ควรทำยังไงต่อ ก็ขอให้หยุดสร้างเขื่อน นี่แหละผลกระทบร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะว่าแต่ก่อนไม่มีแบบนี้

มีหน่วยงานรัฐบางหน่วยงานเดินทางมาสำรวจ มาดูปัญหา แจ้งไปหลายหน่วยงาน เขาก็มาหมดนะ แต่เรายังไม่เห็นเขาเคลื่อนไหว หรือขับเคลื่อนอะไรให้เกิดการแก้ปัญหาเพื่อช่วยเหลือเรา มี อบต. หรือ ระดับจังหวัดมาดูนะ น่าจะเหมือนมาทำบันทึก บอกว่าจะมาทำกันทรุดให้ แต่ตอนนี้ยังไม่เห็นทำอะไร ยังไม่เห็นช่วยเหลืออะไรเลย

received 690463526039161

“เดี๋ยวนี้น้ำขึ้นลงรายวัน รายชั่วโมงด้วยซ้ำ ตอนเขื่อนจิงหงยังไม่หนักเท่าไซยะบุรี”

ก้านก่อง จันลอง
ประธานกลุ่มรักษ์แม่น้ำโขง
บ้านห้วยค้อ ตำบลบ้านม่วง อำเภอสังคม จังหวัดหนองคาย

เวลาน้ำลดลงมากๆ คนหาปลาจะเอาเรือออกก็ไม่ได้ ต้องเดินไป แต่พอน้ำโขงเพิ่มขึ้นกะทันหันก็ต้องรีบออกไปเก็บเครื่องมือหาปลา ถ้าออกมาไม่ทัน พวกเบ็ด ตาข่ายก็จะถูกน้ำพัดหายไป

พอน้ำขึ้นน้ำลงผิดปกติ ตลิ่งก็เริ่มพังทลาย เกษตรริมโขงปลูกผักไว้ใกล้จะได้ผลผลิต พอน้ำขยับขึ้น ตลิ่งพัง ผักของชาวบ้านก็เสียหาย กระแสน้ำขึ้นๆ ลงๆ ไม่เป็นไปตามธรรมชาติ รวมทั้งกระแสน้ำเปลี่ยนทิศยังทำให้เกิดน้ำวนจนดอนหรือเกาะแก่งกลางลำน้ำโขงหายไป เกิดเป็นดอนใหม่ใกล้ฝั่งลาว ตลิ่งพังไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางกายภาพ แต่ยังทำให้เกิดการสูญเสียพื้นที่เกษตรริมโขง พื้นที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดในการทำการเกษตรของภาคอีสาน

อยู่มาตั้งแต่เล็กจนโตไม่เคยเจอเรื่องอะไรแบบนี้ ยิ่งปีนี้หนัก ไม่เคยเห็นภาพตลิ่งพังอย่างนี้ คนอายุ ๗๐-๘๐ ก็ยังไม่เคยเห็น คนที่อยู่ตลิ่งริมโขงเท่านั้นที่รู้ความจริง

เดี๋ยวนี้น้ำขึ้นลงรายวัน รายชั่วโมงด้วยซ้ำ ตอนเขื่อนจิงหงยังไม่หนักเท่าไซยะบุรี เพิ่งจะเจอวิกฤติตลิ่งพังจริงๆ ก็ตอนไซยะบุรีเปิดเขื่อน ปัญหาตลิ่งพังจากแม่น้ำโขงไม่ขึ้นและลงตามธรรมชาติ จะยิ่งทวีความรุนแรงหากมีการสร้างเขื่อนเพิ่มในลำน้ำโขง

talingpung0q4

“หน่วยงานราชการไม่เคยพูดเรื่องเขื่อน ไม่รู้เป็นอะไร ตลิ่งพังดินแดนก็หายไป แต่เขาไม่พูดเลย”

สมาน แก้วพวง
ประธานสภาองค์กรชุมชนตำบลบ้านม่วง
บ้านห้วยค้อ ตำบลบ้านม่วง อำเภอสังคม จังหวัดหนองคาย

ปีที่ผ่านมาไม่เป็น ปี ๒๕๖๔ ตลิ่งยังไม่พังแบบนี้ ปีนี้พังมาก ปีที่ผ่านมาน้ำขึ้น ๓ เมตรในเวลา ๓ วัน แล้ว ๔-๕ วันน้ำถึงจะค่อยลดลง ๑ เมตร ๒ เมตร แต่ปี ๒๕๖๕ มันขึ้นเป็นรายวัน ขึ้นมาทีเดียว ๓-๔ เมตร แล้วพรุ่งนี้ก็ลดเลย ๓ เมตร ขึ้นลงรายวัน ขึ้นเป็นรายวัน ลดเป็นรายวันแบบนี้ตลอด มันก็ทำให้ตลิ่งของพี่น้องริมโขงพังทลายมากขึ้น มันเป็นน้ำขึ้นลงจากเขื่อนขัดเจน ระบบการปล่อยน้ำชัดเจนอยู่แล้ว

พอตลิ่งเริ่มพัง กลายเป็นฉากตั้งตรง มันก็จะยิ่งพังเยอะกว่าตลิ่งแบบที่มันลาดเอียงลงไป ถ้าเป็นแบบนี้ น้ำขึ้นมาใหม่ก็พังอีก ไม่ต่ำกว่าเมตรสองเมตรก็จะถูกกัดกินไปอีก ถึงตอนนี้ที่ดินที่เสียไปตรงนี้รวมๆ กันน่าจะประมาณ ๕ ไร่ ผมคิดว่ายังไม่สุดแค่นี้ด้วย ถ้าน้ำยังขึ้นมาแบบรายวันอีก พังแน่นอน

ตรงจุดนี้ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ ทั้งสิ้น แต่อีกจุดหนึ่ง มีเจ้าหน้าที่มาดำเนินการซ่อมแล้ว ที่ออกมาซ่อมแซม ก็เพราะเครือข่ายแม่น้ำโขงเรานี่แหละออกมาผลักดัน ทำสื่อออกสู่สาธารณะแล้วนักข่าวก็จะเข้ามา

หน่วยงานราชการของเราไม่เคยพูดเรื่องเขื่อน ไม่รู้เป็นอะไร มันอาจจะกระทบด้านความมั่นคง ตลิ่งพังดินแดนก็หายไป แต่เขาไม่พูดเลย

ส่วนมากเหมือนเขาเลี่ยงจะพูดถึง บอกว่าฝนตกมากเกินไป ทำให้กระแสน้ำมันไหลแรง ไม่เกี่ยวกับการปล่อยน้ำจากเขื่อน แต่ชาวบ้านว่ามันไม่ใช่ เพราะเขาโตมาที่นี่ ที่ผ่านมาเคยตกหนักกว่านี้ก็ไม่เห็นพัง ขนาดฝนตกทั้งวันทั้งคืนก็ไม่พัง ที่เขาไม่กล้าแตะ อาจเพราะมันเป็นประเด็นเชื่อมโยงกับเขื่อน ผมละอายแทนจริงๆ