ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล : เรื่องและภาพ

ต้นเดือนธันวาคม ๒๕๖๕ กลุ่ม Beach for life และเครือข่ายประชาชนทวงคืนหาดทราย ที่มาจากการรวมกลุ่มกันของผู้คนในภาคส่วนต่างๆ เพื่อให้ความรู้ด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง สิทธิชุมชน ผ่านงานรณรงค์และผลิตบทความทางวิชาการ ได้ออกมาให้ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นในประเทศไทย โดยระบุว่าหลังจากที่มีการเพิกถอนกำแพงกันคลื่นออกจากการทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอ (EIA) ในปี ๒๕๕๖ กรมโยธาธิการและผังเมือง ได้กลายเป็นหน่วยงานหลักในการสร้างกำแพงกันคลื่นป้องกันชายฝั่งแทนที่กรมเจ้าท่า เมื่อพิจารณาจากงบประมาณที่ได้รับในแต่ละปี

เมื่อ กรมโยธาฯ กลายเป็นหน่วยงานหลักสร้างกำแพงกันคลื่น
โครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นหาดม่วงงาม อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา โครงการของกรมโยธาฯ ปักเสาเข็มลงบนหาดทรายแล้ว แต่ต่อมาศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งชะลอโครงการไว้ (ภาพ : กลุ่ม Beach for life)

กำแพงกันคลื่นเป็นโครงสร้างแข็งตามแนวชายฝั่งที่ถูกยกเว้นให้ไม่ต้องทำรายงานอีไอเอมาตั้งแต่ปี ๒๕๕๖ จากการเก็บรวบรวมข้อมูลของกลุ่ม Beach for life อ้างอิงสถิติย้อนหลังรายจ่ายงบประมาณประจำปีของหน่วยงานต่างๆ ระหว่างปี ๒๕๕๐-๒๕๖๖ ได้แก่ กรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม กรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในส่วนงบประมาณโครงการตั้งใหม่ในปีนั้นๆ พบว่าช่วงปี ๒๕๕๐-๒๕๕๗ ก่อนที่จะมีการถอดกำเเพงกันคลื่นออกจากการทำอีไอเอ มีการใช้งบประมาณแผ่นดินเพื่อก่อสร้างกำแพงกันคลื่นทั้งหมด ๑,๙๙๒ ล้านบาท จาก ๔๕ โครงการ จำแนกเป็นงบของกรมเจ้าท่าร้อยละ ๕๘.๕ รวม ๑,๑๖๕ ล้านบาท จาก ๑๓ โครงการ และงบของกรมโยธาฯ ร้อยละ ๔๑.๕ จาก รวม ๘๒๗ ล้านบาท จาก ๓๒ โครงการ

แต่ภายหลังจากที่มีการเพิกถอนกำเเพงกันคลื่นจากการทำอีไอเอ อ้างว่าเพื่อให้เกิดความสะดวกรวดเร็วในการแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ช่วงปี ๒๕๕๘-๒๕๖๖ ได้เกิดสถานการณ์ “กำแพงกันคลื่นระบาด” ทั่วประเทศไทย จำนวนโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นเพิ่มขึ้นอย่างก้าวประโดดจาก ๓๒ โครงการเป็น ๑๒๕ โครงการ สอดรับกับงบประมาณก่อสร้างที่เพิ่มขึ้นมากกว่า ๔ เท่า จาก ๑,๙๙๒ ล้านบาท กลายเป็น ๘,๔๘๗ ล้านบาท

ที่น่าสนใจคือ กรมโยธาธิการและผังเมือง หน่วยงานของรัฐที่มีภารกิจหลักด้านการวางผังเมือง, การออกกฎหมายควบคุมอาคาร, พัฒนาสาธารณูปโภค-โครงสร้างพื้นฐาน, งานช่างต่างๆ ฯลฯ ได้กลายเป็นหน่วยงานหลักในการสร้างกำแพงกันคลื่น

เมื่อพิจารณางบประมาณที่ใช้ในการสร้างกำแพงกันคลื่นของทั้งสองหน่วยงาน จะพบว่ากรมเจ้าท่ามีสัดส่วนเหลือเพียงร้อยละ ๒๑.๑ จำนวน ๑,๗๙๒ ล้านบาท จาก ๑๘ โครงการ ขณะที่งบประมาณของกรมโยธาฯ มีสัดส่วนมากถึงร้อยละ ๗๘.๙ จำนวน ๖,๖๙๔ ล้านบาท จาก ๑๐๗ โครงการ รวมระยะทางการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นเฉพาะของกรมโยธาธิการยาว ๗๐.๔๑๓ กิโลเมตร ตลอดแนวชายฝั่ง

ที่ผ่านมา รัฐบาลโดยหน่วยงานที่มีอำนาจ มักเลือกป้องกันชายหาดด้วยโครงสร้างแข็งทางวิศวกรรม ลงทุนงบประมาณมหาศาลเพื่อป้องกันชายฝั่ง แต่กลับพบว่าปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งได้ทวีความรุนแรงมากขึ้น ขณะเดียวกัน กระแสการคัดค้านโครงการเหล่านี้จากภาคประชาชน และชุมชน ก็เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ เมื่อพบว่ากำแพงกันคลื่นไม่ได้แก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งอย่างยั่งยืน ในทางตรงข้าม กลับทำให้เกิดการกัดเซาะเพิ่มขึ้นตรงจุดสิ้นสุดกำแพง ต้องสร้างกำแพงต่อไปอีกเรื่อยๆ สิ้นเปลืองงบประมาณเป็นลูกโซ่

นอกจากนี้ ยังมีการตั้งข้อสังเกตว่ากำแพงกันคลื่นหลายแห่งไม่ได้สร้างในพื้นที่ที่มีปัญหากัดเซาะชายฝั่งด้วยซ้ำไป การหดแคบลงของหาดเป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติของหาดทรายตามฤดูกาล เกิดการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางว่าความเสียหายของชายหาดในปัจจุบันจากการสร้างกำเเพงกันคลื่นนั้นเป็นฝีมือของกรมโยธาฯ

เสียงเรียกร้องให้คณะรัฐมนตรีมีคำสั่งให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นำเอาโครงการกำแพงกันคลื่นกลับมาเป็นโครงการที่ต้องทำอีไอเอจึงดังขึ้นเรื่อยๆ

ครั้งหนึ่ง อภิศักดิ์ ทัศนี ผู้ประสานงานกลุ่ม Beach for life ได้ให้สัมภาษณ์ THECITIZEN.PLUS สื่อนักข่าวพลเมือง ภายใต้องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย เผยแพร่วันที่ ๗ มกราคม ๒๕๖๕ ว่า

“การเรียกร้องเรื่อง EIA คือการเรียกร้องเรื่องโครงสร้างที่ถูกต้องและเป็นธรรม ให้เกิดขึ้นในสังคม เป็นการสร้างบรรทัดฐานโครงการของรัฐว่า หากต้องทำโครงการที่ริมชายหาดควรจะศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และศึกษาอย่างถูกต้อง ให้ประชาชนมีส่วนร่วม ซึ่งเราต้องการระบบและโครงการที่มันถูกต้อง เราไม่ได้ต้องการจะหยุดทุกโครงการ เพราะบางพื้นที่มีความจำเป็นจริงๆ ในการสร้างกำแพงกันคลื่น แต่เรากำลังบอกว่า ถ้าจะต้องสร้าง ควรจะต้องศึกษาผลกระทบก่อน ให้ประชาชนมีส่วนร่วมก่อน มีข้อมูลที่ถูกต้อง และเป็นข้อมูลของพื้นที่จริงๆ”

และได้แสดงความคิดเห็นว่า “ชายหาดเป็นของประชาชน ดังนั้นกำแพงกันคลื่นต้องทำ EIA คือวาระของคนที่รักชายหาด ของคนที่ห่วงใยต่อชายหาดทั้งประเทศ การตื่นตัวของชาวบ้านที่ไม่เอากำแพงกันคลื่นจะเยอะขึ้น เพราะนี่เป็นการยัดเยียดการพัฒนาที่ชาวบ้านไม่ได้ต้องการ ผมคิดว่าถ้ายังไม่หยุด สิ่งที่จะเห็นในปีถัดไป ภายใต้การตื่นรู้ของชาวบ้าน ที่ปัจจุบันกระแสสาธารณะไปไกลมาก คือการลุกขึ้นมาของชาวบ้านเพื่อทวงถามความชอบธรรม ว่าจริง ๆ แล้วรัฐบาลควรสร้างกำแพงกันคลื่นริมชายหาดหรือไม่ รัฐบาลควรมีมาตรการใหม่ ๆ ในการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งได้แล้ว”

kampangk02
โครงการซ่อมบำรุงรักษาเขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง ด้วยวิธีเสริมทรายชายฝั่งและกำแพงถุงทราย อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี โครงการของกรมเจ้าท่า (ภาพ : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล)

วันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๕ กลุ่ม Beach for life และ ภาคีเครือข่ายทวงคืนชายหาด ได้ร่วมกันออกแถลงการณ์ พร้อมทั้งยื่นหนังสือต่อรัฐบาลที่หน้าสำนักนายกรัฐมนตรี เรียกร้องให้รัฐบาลคุ้มครองและปกป้องหาดทรายจากกำแพงกันคลื่น โดยดำเนินการ ๓ ข้อ ดังต่อไปนี้

  1. ขอให้คณะรัฐมนตรีมีคำสั่งยกเลิกมติคณะที่ประชุมคณะรัฐมนตรี วันที่ ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๓๔ และ วันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๙ ที่ให้อำนาจกรมโยธาธิการและผังเมืองในการดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ด้วยเหตุผลที่ว่า กรมโยธาฯ ไม่มีความรู้ ความเข้าใจในการป้องกันและจัดการปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งได้อย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ และผลการดำเนินงานที่ผ่านมาพิสูจน์ชัดเจนแล้วว่า กรมโยธาฯ ใช้งบประมาณจำนวนมหาศาลในการสร้างกำแพงกันคลื่น เพื่อทำลายชายหาด
  2. ขอคณะรัฐมนตรีมีคำสั่งให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นำเอาโครงการกำแพงกันคลื่นกลับมาเป็นโครงการที่ต้องทำการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมดังเดิม เพื่อเป็นหลักประกันสิทธิให้แก่ประชาชนและชุมชน รวมถึงเพื่อให้เกิดกระบวนการและกลไกในการตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมและชุมชนก่อนดำเนินการโครงการกำแพงกันคลื่น
  3. ขอคณะรัฐมนตรี มีคำสั่งให้มีการฟื้นฟูสภาพชายหาดที่ได้รับความเสียหายจากการก่อสร้างกำแพงกันคลื่น โดยเฉพาะหาดท่องเที่ยวสำคัญของประเทศไทย เพื่อฟื้นฟูชายหาดให้กลับมาดังเดิม

ข้อเรียกร้องทั้ง ๓ ข้อ เพื่อการคุ้มครองปกป้องหาดทรายจากการถูกทำลายด้วยกำแพงกันคลื่น…โครงการของกรมโยธาฯ รวมถึงหน่วยงานใดๆ ก็ตามที่เกี่ยวข้อง

กรณีศึกษา ผลกระทบจากโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่น

เรียบเรียงจาก แถลงการณ์ขบวนประชาชนทวงคืนชายหาด ฉบับที่ ๑ เพื่อยื่นหนังสือต่อรัฐบาล หน้าสำนักนายกรัฐมนตรี วันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๕

…การให้กรมโยธาธิการและผังเมือง มีอำนาจในการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ตาม มติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี วันที่ ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๓๔ และวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๙ ทำให้กรมโยธาธิการและผังเมืองกลายเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินโครงการป้องกันชายฝั่ง อีกทั้ง การเพิกถอนกำแพงกันคลื่นออกจากกิจการหรือโครงการที่ต้องทำการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ตามประกาศแนบท้ายกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในปี ๒๕๕๖

การประกาศเพิกถอนกำแพงกันคลื่นออกจากโครงการที่ต้องทำการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมนั้น ทำให้หลักประกันสิทธิตามรัฐธรรมนูญของประชาชนและชุนชนนั้นหายไป ทำให้โครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน ขาดการตรวจสอบความโปร่งใสและความถูกต้องของโครงการ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้กรมโยธาธิการและผังเมือง อาศัยช่องว่างทางกฎหมายดังกล่าวดำเนินการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นบนชายหาดในประเทศไทย จนเกิดการระบาดของกำแพงกันคลื่นอันเป็นเหตุให้ชายหาดไทยถูกทำลายจนอยู่ในภาวะวิกฤต

…โครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นของกรมโยธาธิการฯ ยังสะท้อนความไม่จำเป็นในการใช้จ่ายงบประมาณ เช่น กรณีชายหาดมหาราช ชายหาดม่วงงาม จังหวัดสงขลา หาดแม่รำพึง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และหาดดอนทะเล จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งชายหาดไม่ได้มีการกัดเซาะชายฝั่งรุนแรง เป็นเพียงการกัดเซาะชายฝั่งชั่วคราวในช่วงมรสุมบางฤดูกาล และชายหาดสามารถฟื้นฟูคืนสภาพกลับได้ แต่กรมโยธาธิการฯ กลับดำเนินการก่อสร้างกำแพงกันคลื่น

ในกรณีชายหาดม่วงงาม ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งชะลอโครงการกำแพงกันคลื่นหาดม่วงงามไว้ ด้วยเหตุผลที่สภาพชายหาดไม่มีการกัดเซาะชายฝั่งรุนแรง โครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นหาดม่วงงามโดยกรมโยธาธิการฯ จึงไม่มีความจำเป็น

หรือแม้แต่กรณีชายหาดดอนทะเล ที่กรมโยธาธิการต้องเพิกถอนโครงการด้วยเหตุผลสภาพชายหาดไม่มีการกัดเซาะชายฝั่งรุนแรง และชุมชนมีมติไม่ต้องการโครงการดังกล่าว ทั้งหมดนี้ เป็นกรณีตัวอย่างที่ชัดเจน ถึงความไม่จำเป็นของกำแพงกันคลื่นที่ดำเนินการโดยกรมโยธาธิการฯ

โครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นของกรมโยธาธิการฯ ที่ผ่านมานั้น ได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อชายหาด ทำให้ชายหาดนั้นหายไปอย่างถาวร ดังที่เกิดขึ้นกับชายหาดชะอำ จังหวัดเพชรบุรี หาดปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ หาดแหลมเสด็จ จังหวัดจันทบุรี หาดทรายแก้ว จังหวัดสงขลา หาดหน้าสตน จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นต้น ชายหาดเหล่านี้ได้รับความเสียหายจากโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นของกรมโยธาธิการฯ ทั้งสิ้น และเกิดการกัดเซาะชายฝั่งอย่างต่อเนื่องเป็นเหตุให้ต้องก่อสร้างกำแพงกันคลื่นต่อไปเรื่อยๆ ซึ่งในหลายพื้นที่ที่มีการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นในพื้นที่ชายหาดท่องเที่ยว เช่น หาดชะอำ หาดปราณบุรี ได้สร้างความเสียหายให้การท่องเที่ยวริมชายฝั่งทะเล ส่งผลให้นักท่องเที่ยวลดลงเป็นเหตุให้ผู้ประกอบการร้านค้าในแถบหาดท่องเที่ยวนั้นรายได้สูญลงอย่างชัดเจน

…จากปัญหาที่ผ่านมาสะท้อนให้เห็นว่า การเพิกถอนกำแพงกันคลื่นออกจากโครงการที่ต้องทำการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) และ การให้อำนาจกรมโยธาธิการฯ ซึ่งไม่มีองค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญในการทำงานป้องกันและแก้ไขปัญหาชายฝั่งทะเลที่มีความซับซ้อนและเป็นพลวัตินั้น ก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพยากรหาดทราย ซึ่งเป็นฐานทรัพยากรสำคัญของชุมชน ในฐานะเป็นพื้นที่แห่งชีวิต เป็นพื้นที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ และพื้นที่แห่งความสุขของประชาชนที่ใช้ประโยชน์ทรัพยากรหาดทราย เมื่อหาดทรายถูกทำลายด้วยกำแพงกันคลื่นจากกรมโยธาธิการฯ วิถีวัฒนธรรมที่ทรงคุณค่าและมูลค่าที่เกิดขึ้นจากการมีหาดทรายได้ถูกทำลายไปด้วย