สถาปนาวัดพระเชตุพนฯ

แต่แรกสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ หรือกรุงเทพมหานคร เป็นราชธานีแห่งใหม่ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ โปรดเกล้าฯ ให้บูรณปฏิสังขรณ์วัดโพธิ์ ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่ในพื้นที่บริเวณนี้ และคงมีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา

การบูรณะเริ่มต้นตั้งแต่ปี ๒๓๓๑ โดยใช้เวลาถึง ๗ ปี ๕ เดือน ๒๘ วัน จึงแล้วเสร็จ พระราชทานนามใหม่ว่า วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาวาส (ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๔ ทรงแปลงสร้อยนามวัดเป็น วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม) และโปรดเกล้าฯ ให้รับเป็นพระอารามหลวงประจำรัชกาล

ในการนี้ มีพระราชดำริให้รวบรวมตำรายา และทำรูปฤๅษีดัดตน เพื่อ “เปนทาน” คือให้ทั้งพระภิกษุสงฆ์และราษฎร ได้ศึกษาเล่าเรียน หรือนำไปปฏิบัติเพื่อบำบัดโรคาพยาธิ จึงสันนิษฐานได้ว่า ว่าความรู้หรือตำราเรื่องฤๅษีดัดตน น่าจะนับถือกันว่าเป็นของสำคัญอันมีมาแต่โบราณ ปรากฏความในศิลาจารึกเรื่องทรงสร้างวัดพระเชตุพน ครั้งรัชกาลที่ ๑ ซึ่งยังคงติดผนึกเป็นหลักฐานอยู่ ณ ผนังพระวิหารพระโลกนาถ วิหารทิศตะวันออก วัดพระเชตุพนฯ ว่า

“ทำศาลารายห้าห้องเจ็ดห้องเก้าห้องเป็นสิบเจ็ดศาลา เขียนเรื่องพระชาดกห้าร้อยห้าสิบพระชาติ ตั้งตำรายาแลฤๅษีดัดตนไว้เปนทาน”

พระราชกรณียกิจนี้ยังถูกหยิบยกมาพรรณนาไว้ใน “โคลงสรรเสริญพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์” ของพระชำนิโวหาร เมื่อพรรณนาถึงการปฏิสังขรณ์วัดโพธิ์ หรือวัดพระเชตุพนฯ ในรัชกาลที่ ๑ ว่า

๏ วัดโพธิ์พันธุโพธิครั้ง      พระผจญ มารพ่อ
โพธิ์ร่มอาสน์ทศพล        อยู่เกล้า
ทรงพระศรัทธานนท์         หนุนพุทธ ศาสน์นา
จับการก่ออิฐเร้า           เร่งล้ำเร็วเหลือ ฯ
๏ วิหารสี่ทิศทั้ง       อุโบสถ
พระระเบียงหลั่นลด       ย่อเลี้ยว
พิหารหากเห็นคด       คือฉาก ช่างแฮ
มาลกดาบสเอี้ยว         อัดพลิ้วแพลงกาย ฯ

คำว่า “มาลก” ในตำรา “คำฤษฎี” พระนิพนธ์ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส สมเด็จพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร และพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงภูวเนตรนรินทรฤทธิ์ อธิบายว่า หมายถึง “โรง” ดังนั้น “มาลกดาบสเอี้ยวอัดพลิ้วแพลงกาย” ในโคลงบทนี้ จึงหมายความตรงตัวถึงศาลารายที่มีรูปฤๅษีดัดตน

ทว่ารูปฤๅษีดัดตนตามศาลาราย วัดพระเชตุพนฯ ที่เป็นงานช่างสมัยรัชกาลที่ ๑ ไม่หลงเหลือประจักษ์พยานที่เป็นวัตถุอยู่แล้วในปัจจุบัน เนื่องจากต่อมามีการปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนฯ ครั้งใหญ่อีกครั้งในสมัยรัชกาลที่ ๓ ของเดิมสมัยรัชกาลที่ ๑ จึงสูญไปตามกาล ทว่ายังมีเอกสารซึ่งผู้เคยพบเห็นได้บันทึกไว้ พอให้จับเค้าลางสันนิษฐานลักษณะบางประการได้


ruesi

บทความชุด “ตามรอยฤาษีดัดตน” มีต้นทางจากหนังสือ ฤาษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชน โดยตัดทอนและปรับเนื้อหาใหม่ให้เหมาะกับการเผยแพร่ในสื่อออนไลน์ รวมถึงเสริมบางประเด็นที่มีข้อมูลใหม่ หรือข้อคิดเห็นเพิ่มเติมภายหลังจากที่หนังสือตีพิมพ์แล้ว

ฤาษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชน
รางวัลชมเชย กลุ่มหนังสือสวยงาม จากการประกวดหนังสือดีเด่น ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๕ ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)
เรื่อง : ศรัณย์ ทองปาน / จิตรกรรมดิจิตัล : สุทธิชัย ฤทธิ์จตุพรชัย
สำนักพิมพ์เมืองโบราณ ๒๕๖๔
ปกแข็ง ๑๘๔ หน้า ๖๙๐ บาท

จากต้นฉบับลายเส้นฝีมือชั้นครูสมัยรัชกาลที่ ๓ อายุเกือบสองศตวรรษ คลี่คลายด้วยเทคโนโลยีดิจิตัล สอดประสานกับฝีมือศิลปินร่วมสมัย ก่อกำเนิดเป็นภาพจิตรกรรมไทยฤๅษีดัดตนชุดใหม่ที่งามวิจิตรทั้ง ๘๐ ท่า รวบรวมไว้อย่างครบครันในรูปเล่มหนังสือปกแข็ง ฤๅษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชนโดยสำนักพิมพ์เมืองโบราณ ตีพิมพ์คู่กับคำโคลงประจำภาพสำนวนดั้งเดิม และการถอดความเป็นภาษาปัจจุบัน พร้อมบทนำเสนอการศึกษาประวัติศาสตร์และความสืบเนื่องขององค์ความรู้ อันนับเนื่องเป็นหนึ่งใน “มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ”

สั่งซื้อหนังสือ