ตามรอยฤๅษีดัดตน 92 - ฤๅษีแลกข้าวพอง (2)

วันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ร.ศ. ๑๑๕ (พ.ศ. ๒๔๔๙) คดีเรื่องนายแจ้งขโมยรูปหล่อฤๅษีดัดตนที่วัดพระเชตุพนฯ จึงได้ขึ้นสู่การพิจารณาของศาล

กรรมการศาลรับสั่งพิเศษที่ ๓ อันเป็นศาลที่ตั้งขึ้นเพื่อพิจารณาคดีที่มีโทษหลวงชั้นเก่า ซึ่งคั่งค้างมานาน ประกอบด้วยพระยาพิเรนทรเทพ จมื่นไชยาภรณ์ หลวงประสิทธิรักษา หลวงสุนทรโกษา หลวงอุทยานาธิกรณ์ ประชุมพร้อมกัน มีความเห็นว่านายแจ้งกระทำการล่วงพระราชอาญา ผิดพระอัยการลักษณะโจร มาตรา ๕๐ ดังนั้น

“ต้องบทให้เอาตัวอ้ายแจ้งฃึ้นฃาอย่างประจารไว้แล้วปลงลง ทวนด้วยลวศหนัง ๖๐ ที ให้ตัดนิ้วมือเสียทั้งสิบนิ้ว แล้วให้เอาตัวอ้ายแจ้งจำขังไว้ในกองมหันตโทษมีกำหนด ๒ ปี จึ่งให้พ้นโทษ”

เมื่อลองเทียบเคียงกับ “กฎหมายตราสามดวง” จะเห็นได้ว่ากรรมการศาลตัดสินคดีนี้ โดยพิจารณาว่าการที่นายแจ้งลักรูปหล่อฤๅษีดัดตนไปแลกข้าวพองของเจ๊ก ถือเป็นการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์สิ่งของ ของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นต้นว่าแก้วแหวนเงินทอง ผ้าผ่อนแพรพรรณ ที่มีผู้อุทิศไว้ให้เป็นของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ รวมถึงพระธรรมคัมภีร์ แล้วเอาไปขาย จึง “ให้ลงโทษเสมอลักทรัพย์ท่าน ให้เอาขึ้นขาหย่างผจาร อย่าให้คนดูเยี่ยงหย่างกัน และให้ทวนด้วยลวดหนัง ๖๐ ที ให้ตัดมือ…”

นั่นคือโทษทัณฑ์ตามที่ระบุไว้ในพระอัยการลักษณะโจร มีตั้งแต่การเอาขึ้นขาหยั่งประจาน มิให้ใครดูเป็นเยี่ยงอย่าง เฆี่ยน (ทวน) ด้วยแส้ (ลวด) หนังอีก ๖๐ ที ไปจนถึงการตัดมือหรือตัดนิ้ว รวมทั้งให้มีโทษจำขังอีกถึง ๒ ปี

หากแต่ในทางปฏิบัติจริง นายแจ้งมิได้ถูกลงโทษรุนแรงถึงขั้นนั้น เพราะแนวทางพิจารณาคดีของศาล “สมัยใหม่” ยุครัชกาลที่ ๕ ได้เปลี่ยนการลงโทษอย่างทารุณร้ายกาจที่มีมาแต่โบราณ เช่นการเฆี่ยนตี หรือตัดนิ้ว มาเป็นการจำคุกแล้ว โทษที่นายแจ้งได้รับ จึงได้แก่การถูกจำขังและถูกใช้งานหนักเป็นเวลา ๒ ปี รวมกับโทษที่เปลี่ยนจากการประจาน เฆี่ยนตี และตัดนิ้วมือ มาเป็นโทษจำขังเพิ่มอีก ๓ เดือน เท่ากับต้องถูกจองจำทั้งสิ้น ๒ ปี ๓ เดือน

เนื่องจากขณะนั้น นายแจ้งติดคุกมาแล้ว ๑ ปี ๓ เดือน กรรมการศาลจึงให้รับพระราชอาญาจำขังในกองมหันตโทษเพิ่มอีก ๑ ปี

เอกสารคดีความเรื่องนายแจ้งขโมยรูปหล่อฤๅษีดัดตนไปแลกข้าวพองกินนี้ ยังเก็บรักษาไว้ ณ สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร (ด้านหลังหอสมุดแห่งชาติ ท่าวาสุกรี กรุงเทพฯ) ผู้สนใจสามารถค้นคว้าดูสำเนาไมโครฟิล์มเอกสารต้นฉบับได้จากรหัสเอกสาร ร.๕ น.๖.๒/๑๘๙. เอกสารกระทรวงนครบาล รัชกาลที่ ๕ เรื่องพระณรงค์วิชิตร ส่งคำปรึกษากรรมการกองที่ ๓ ว่าอ้ายแจ้งโทษทำลายรูปฤๅษีดัดตนวัดพระเชตุพน ให้จำคุก ๒ ปี (๒๔ พฤศจิกายน – ๒๔ มีนาคม ร.ศ. ๑๑๕)


ruesi

บทความชุด “ตามรอยฤาษีดัดตน” มีต้นทางจากหนังสือ ฤาษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชน โดยตัดทอนและปรับเนื้อหาใหม่ให้เหมาะกับการเผยแพร่ในสื่อออนไลน์ รวมถึงเสริมบางประเด็นที่มีข้อมูลใหม่ หรือข้อคิดเห็นเพิ่มเติมภายหลังจากที่หนังสือตีพิมพ์แล้ว

ฤาษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชน
รางวัลชมเชย กลุ่มหนังสือสวยงาม จากการประกวดหนังสือดีเด่น ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๕ ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)
เรื่อง : ศรัณย์ ทองปาน / จิตรกรรมดิจิตัล : สุทธิชัย ฤทธิ์จตุพรชัย
สำนักพิมพ์เมืองโบราณ ๒๕๖๔
ปกแข็ง ๑๘๔ หน้า ๖๙๐ บาท

จากต้นฉบับลายเส้นฝีมือชั้นครูสมัยรัชกาลที่ ๓ อายุเกือบสองศตวรรษ คลี่คลายด้วยเทคโนโลยีดิจิตัล สอดประสานกับฝีมือศิลปินร่วมสมัย ก่อกำเนิดเป็นภาพจิตรกรรมไทยฤๅษีดัดตนชุดใหม่ที่งามวิจิตรทั้ง ๘๐ ท่า รวบรวมไว้อย่างครบครันในรูปเล่มหนังสือปกแข็ง ฤๅษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชนโดยสำนักพิมพ์เมืองโบราณ ตีพิมพ์คู่กับคำโคลงประจำภาพสำนวนดั้งเดิม และการถอดความเป็นภาษาปัจจุบัน พร้อมบทนำเสนอการศึกษาประวัติศาสตร์และความสืบเนื่องขององค์ความรู้ อันนับเนื่องเป็นหนึ่งใน “มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ”

สั่งซื้อหนังสือ