khonglei01
แม่น้ำเลยคดเคี้ยวก่อนไหลลงสู่แม่น้ำโขง กรมชลประทานขุดคลองลัดและสร้างประตูระบายน้ำศรีสองรัก ร่วมด้วยโครงสร้างแข็งต่างๆ ได้แก่ สถานีสูบน้ำ อุโมงค์ใต้ดิน ผนังกั้นน้ำ ฯลฯ (ภาพ : กรมชลประทาน)

แนวคิดหลักของโครงการผันน้ำ โขง-ชี-มูล คือการผันน้ำจากแม่น้ำโขงช่วงที่ไหลผ่านอีสานตอนบน ลงมายังลุ่มน้ำมูนและลุ่มน้ำชีในอีสานตอนล่าง เพิ่มปริมาณน้ำในเขื่อน อ่างเก็บน้ำ ฝาย คลองชลประทานเพื่อใช้ประโยชน์ด้านเกษตรกรรม รวมทั้งแก้ปัญหาอุทกภัย บรรเทาน้ำท่วมอีสานด้วยการระบายน้ำผ่านโครงสร้างต่างๆ

กว่า ๓ ทศวรรษของ “เมกะโปรเจกต์การบริหารจัดการน้ำแห่งภาคอีสาน” มีเขื่อนและโครงสร้างอื่นๆ เพื่อควบคุมการไหลของน้ำถูกสร้างขึ้นราว ๑๔ แห่ง ส่วนใหญ่เป็นเขื่อนกั้นแม่น้ำมูล แม่น้ำชี และแม่น้ำสาขา อาทิ เขื่อนสิรินธรและเขื่อนปากมูล จังหวัดอุบลราชธานี เขื่อนราษีไศลและเขื่อนหัวนา จังหวัดศรีสะเกษ เขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น ฯลฯ ใช้งบประมาณไปแล้วมากกว่า ๑๐,๐๐๐ ล้านบาท

ที่ผ่านมา แม้หน่วยงานรัฐจะให้เหตุผลว่าเขื่อน อ่างเก็บน้ำ สถานีสูบน้ำ ระบบคลองส่งน้ำช่วยเพิ่มพื้นที่ชลประทาน แต่อีกด้านก็มีคำถามถึงความไม่คุ้มค่า การได้ไม่คุ้มเสีย มีเสียงเรียกร้องให้ศึกษาประสิทธิภาพที่แท้จริงของโครงการยักษ์นี้ ด้วยเห็นว่าก่อให้เกิดผลกระทบมากมาย ไม่ว่าจะทำให้ป่าบุ่งป่าทามหลายแห่งของแผ่นดินอีสานต้องจมอยู่ใต้น้ำ พื้นที่ชุ่มน้ำซึ่งเคยเป็นแหล่งขยายพันธุ์ปลาในลุ่มน้ำโขงถูกทำลายย่อยยับ แม้แต่แหล่งต้มเกลือพื้นบ้านกว่า ๑๐๐ บ่อก็ถูกน้ำท่วมขังอย่างถาวร ผู้คนท้องถิ่นต้องสูญเสียแหล่งอาหารดั้งเดิมที่เคยเข้าถึงได้ง่าย ผู้คนจำนวนมากต้องสูญเสียที่ทำกินและที่อยู่อาศัย หลายแห่งยังเกิดภาวะดินเค็ม เนื่องจากโดยธรรมชาติแล้วใต้ผืนดินอีสานนั้นเต็มไปด้วยเกลือสินเธาว์ การผันน้ำและกักเก็บน้ำที่ผิดธรรมชาติกระตุ้นให้เกลือใต้ดินถูกดันขึ้นมาจนเกิดการแพร่กระจายของดินเค็ม

ทุกวันนี้มีผู้ได้รับความเดือดร้อนจากโครงการโขง-ชี-มูล กระจายอยู่ทั่วอีสาน การจ่ายเงินชดเชยเยียวยาให้กับชาวบ้านที่ต้องสูญเสียที่ทำกิน สูญเสียอาชีพ ยังทำไม่แล้วเสร็จ

ยกตัวอย่าง กรณีเขื่อนราษีไศลใช้งบประมาณในการก่อสร้างประมาณ ๘๗๑ ล้านบาท แต่รัฐต้องใช้งบประมาณในการชดเชยผลกระทบเบื้องต้นให้กับประชาชนที่สูญเสียที่ทำกิน ช่วงปี ๒๕๔๐-๒๕๖๒ สูงถึง ๒,๕๒๗ ล้านบาท

khonglei02
พื้นที่หัวงานใกล้ปากแม่น้ำเลย ช่วงแรกๆ ที่กรมชลประทานเข้ามาปรับสภาพพื้นที่ (ภาพ : กรมชลประทาน)

“อาหารที่อยู่ในแม่น้ำหาเท่าไหร่ก็ไม่หมด ถ้าเรารู้จักวิธีรักษามัน”

มุด อุ่นทุม ชาวชุมชนบ้านกลาง ตำบลปากตม อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย เอ่ยขณะใช้สวิงช้อนหอยกี้ขึ้นมาจากก้นแม่น้ำเลย ลึกลงไปในแม่น้ำแม่บ้านคนอื่นๆ กำลังสาละวนอยู่กับการเก็บผักพร๊อบแพ๊บที่ขึ้นอยู่กลางแม่น้ำเลยเอามากินสดกับน้ำพริก ลาบ

โดยทั่วไปนั้นสวิงที่ใช้จับสัตว์น้ำมักจะมีลักษณะเป็นวงกลม แต่สวิงที่ชาวชุมชนบ้านกลางนิยมใช้เป็นสวิงทรงสามเหลี่ยม

มุดอธิบายว่าสวิงสามเหลี่ยมง่ายในการช้อนหอยและปลาตัวเล็กๆ ขึ้นมาจากก้นแม่น้ำ สวิงสามเหลี่ยมจะกวาดจับสัตว์น้ำขึ้นมาพร้อมๆ กับพวก “ขี้เท้อ”

กลางสายน้ำเลยที่ไหลผ่านชุมชนบ้านกลาง ผู้หญิงแม่บ้านจะสร้าง “บ้านปลา” อย่างง่ายๆ ด้วยการเอาเศษหิน เศษไม้ เศษตะกอนมาสุมกองรวมกันไว้ ถึงเวลาก็ใช้สวิงสามเหลี่ยมกวาดตัก เพียงเท่านี้ก็มักจะได้หอย ปลาหลด ปลาหลาด ที่อาศัยอยู่ในแม่น้ำเลยมากินเป็นอาหาร

โดยธรรมชาติแล้วแม่น้ำเลยช่วงที่ไหลผ่านชุมชนบ้านกลางจะมีระดับน้ำไม่สูงนัก กลุ่มแม่บ้านจึงเชี่ยวชาญการทำประมงน้ำตื้นเป็นหลัก รู้จักเก็บพืชน้ำที่ขึ้นอยู่ตามตลิ่ง รวมทั้งที่งอกงามอยู่กลางแม่น้ำมาประกอบอาหาร

อาหารอื่นๆ ที่ได้จากแม่น้ำเลยนอกจากปลา หอย พืชผักต่างๆ แล้วยังมีแมงอีเหนียวหรือตัวอ่อนแมลงปอ ช่วงหน้าร้อนของทุกปีราวเดือนเมษายนเป็นช่วงที่มีแมงอีเหนียวชุกชุม ชาวบ้านก็จะออกมาหาแมงอีเหนียว แค่ไม่ถึงหนึ่งชั่วโมงหรือชั่วโมงเศษๆ ก็ได้แมงอีเหนียวมากพอที่จะเอาไปทำข้าวกินได้ทั้งมื้อเช้าและมื้อเที่ยง

ยังมีกุ้งฝอยแม่น้ำเลยที่ถือเป็นอาหารขึ้นชื่อ กุ้งฝอยแม่น้ำเลยเป็นกุ้งแม่น้ำชนิดหนึ่งที่ตลาดสดในเมืองขายกันกิโลกรัมละ ๓๐๐ บาท

มุดบอกว่ากุ้งฝอยในแหล่งอื่นมักจะตัวใสๆ หรือไม่ก็ขาวขุ่น แต่กุ้งฝอยแม่น้ำเลยเป็นกุ้งสีค่อนข้างดำ บางคนเรียกกุ้งลายเสือเพราะตามลำตัวมีลายเหมือนเสือ

“สำหรับแม่บ้าน แค่เดินออกจากบ้าน ถือสวิงลงมาหากุ้งฝอย ไม่ถึงครึ่งชั่วโมงก็ได้แล้วครึ่งกิโลกรัม ใครมีเวลาว่างจากสวนก็จะมาลงน้ำ เก็บหอย เก็บปู เก็บผักไปให้ลูกหลานกินมื้อเย็น การหาอยู่หากินมันง่าย จนบางครั้งเรารู้สึกว่ามันง่ายขนาดนี้เลยเหรอ”

khonglei03
khonglei04
ภาพรวมแนวอุโมงค์ผันน้ำจากปากแม่น้ำเลย ติดแม่น้ำโขง มายังพื้นที่อีสานตอนกลางและตอนล่าง ในช่วงแรกจะผันน้ำจากจังหวัดเลยผ่านอุโมงค์แรงดันและคลองลำเลียงน้ำมาทางเขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น (ภาพ : เอกสาร โครงการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการบริหารจัดการน้ำโขง เลย ชี มูล โดยแรงโน้มถ่วง ระยะที่ ๑ จังหวัดเลย [รายงานการศึกษาความเหมาะสม (Feasibility Report)])

กว่า ๓๐ ปี นับตั้งแต่รัฐบาล พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ริเริ่มโครงการแก้ปัญหาภัยแล้งในภาคอีสาน รัฐบาลแทบทุกชุดหลังจากนั้นก็พยายามผลักดันและสานต่อโครงการผันน้ำ โขง-ชี-มูล

ราวปี ๒๕๕๑ มีความชัดเจนว่า “ประตูบานแรก” ที่จะเป็นจุดตั้งต้นของกระบวนการผันน้ำจะตั้งอยู่ที่จังหวัดเลย จึงทำให้โครงการนี้ถูกเรียกว่า โครงการผันน้ำ โขง-เลย-ชี-มูล

หลังไหลออกมาจากแผ่นดินลาว แม่น้ำโขงจะทำหน้าที่เป็นพรมแดนธรรมชาติกั้นระหว่างสองประเทศ โดยไหลผ่านเขตแดนอีสานตอนบนของไทย ไปตามแนวจังหวัดเลย หนองคาย บึงกาฬ…

การผันน้ำจากแม่น้ำโขงที่ไหลผ่านตอนบนของอีสานลงมาตอนล่าง จำเป็นต้องอาศัยพลังงานไฟฟ้ามหาศาลในการสูบและผันน้ำ แต่หากเลือกผันน้ำจากบริเวณปากแม่น้ำเลย ซึ่งไหลออกสู่แม่น้ำโขงที่อำเภอเชียงคาน จะสามารถผันน้ำเข้าพื้นที่อีสานล่างได้โดยอาศัยแรงโน้มถ่วงของโลกมาช่วย ช่วงรอยต่อของแม่น้ำเลยกับแม่น้ำโขงยังแก่งคุดคู้ช่วยอัดน้ำ

อย่างไรก็ตาม การผันน้ำไม่ใช่กระบวนการตามธรรมชาติ เจ้าของโครงการจำเป็นต้องสร้างเขื่อนหรือประตูระบายน้ำกั้นปากแม่น้ำเลยเพื่อยกระดับน้ำเลยให้สูงขึ้น รวมถึงต้องมีโครงสร้างแข็งตรงปากแม่น้ำเลยเพื่อใช้วิทยาการของมนุษย์ควบคุมน้ำ ไม่ว่าจะเป็นการขุด “อุโมงค์” หรือท่อส่งน้ำขนาดใหญ่ลอดใต้พื้นดิน การขุด “คลองลัด” เพื่อให้แม่น้ำเลยตัดตรง

ธรรมชาติของแม่น้ำเลยก่อนไหลออกสู่แม่น้ำโขงจะไหลคดเคี้ยว เจ้าของโครงการคือกรมชลประทานจะขุดคลองลัดเชื่อมส่วนโค้งของแม่น้ำเลย เปลี่ยนสภาพแม่น้ำเลยที่คดโค้งให้กลายเป็นเส้นตรงเหมือนไม้บรรทัด ย่นย่อระยะทางการไหลของน้ำให้สั้นและเร็วขึ้น

ในส่วนของประตูระบายน้ำศรีสองรักนั้นถือเป็นโครงสร้างหลักและเปรียบกับสัญลักษณะของโครงการ กรมชลประทานประชาสัมพันธ์ว่าการปิดประตูระบายน้ำในช่วงฤดูแล้งจะช่วยกักเก็บน้ำไว้ในลำน้ำ โดยไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนหรือพื้นที่เกษตร ส่วนในช่วงน้ำหลากจะเปิดประตูระบายน้ำเพื่อให้น้ำในแม่น้ำเลยระบายลงสู่แม่น้ำโขงได้เร็ว ช่วยลดผลกระทบจากน้ำท่วมขัง

โครงสร้างทั้งหมดบริเวณโครงการประตูระบายน้ำศรีสองรักจะประกอบด้วยประตูระบายบนคลองลัดตัดใหม่จำนวน ๕ บาน ระบายน้ำได้สูงสุด ๒,๕๐๐ ลบ.ม./วินาที ประตูระบายน้ำจำนวน ๒ บาน บนลำน้ำเลยสายเก่าระบายน้ำได้สูงสุด ๔๐๐ ลบ.ม./วินาทีนอกจากนี้ยังมีสถานีสูบน้ำ ๕ สถานีประตูเรือสัญจร ผนังกั้นน้ำหรือกำแพงป้องกันตลิ่งพังตามแนวลำน้ำพร้อมด้วยระบบอุโมงค์หรือท่อส่งน้ำความยาวประมาณ ๙๙ กิโลเมตร

ประเมินระยะเวลาก่อสร้าง ๕ ปี ตั้งแต่ปี ๒๕๖๒-๒๕๖๖ ภายใต้งบประมาณทั้งหมด ๕,๐๐๐ ล้านบาท

khonglei05

“เอกลักษณ์ของแม่น้ำเลยคือไหลจากทิศใต้ขึ้นไปทิศเหนือ ลงสู่แม่น้ำโขง เป็นเพียงแม่น้ำแค่ไม่กี่สายของไทย แต่หลังจากนี้ทุกสิ่งจะเปลี่ยนไป ระบบนิเวศจะไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว วิถีชีวิตของพวกสัตว์ก็คงต้องเปลี่ยน พวกเราไม่รู้เลยว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง” หนูเอื้อ บุญเทียน ชาวชุมชนบ้านกลาง สมาชิกกลุ่มฮักแม่น้ำเลย มองดูการปรับพื้นที่หัวงานของกรมชลประทาน แล้วลงมือสร้างประตูระบายน้ำศรีสองรัก ด้วยความชอกช้ำใจ

เธอรู้อยู่เต็มอกว่าชาวชุมชนบ้านกลางจำนวนมากไม่เห็นด้วยกับโครงการนี้ และคิดว่าเจ้าของโครงการก็รู้ดี ระหว่างการก่อสร้าง ชาวบ้านพยายามยื่นเรื่องคัดค้าน เดินทางไปยื่นเอกสารกับหลายหน่วยงานทั้งในพื้นที่ และเดินทางมาถึงกรุงเทพฯ แต่ก็ไม่สามารถระงับยับยั้งโครงการได้

ชาวบ้านวิตกว่าการปิดกั้นแม่น้ำจะทำให้พวกเขาจะสูญเสียอาชีพประมง รวมถึงวิถีชีวิตแบบคนริมโขง แบบเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นในพื้นที่ต่างๆ ทั่วอีสาน ภายหลังจากที่มีการสร้างเขื่อนหรือประตูระบายน้ำควบคุมการไหลของแม่น้ำ ไม่ว่าจะเป็นเขื่อนปากมูล เขื่อนหัวนา เขื่อนราษีไศล ฯลฯ ถึงวันนี้ก็ยังไม่อาจฟื้นคืนชีวิตของแม่น้ำและผู้คนกลับมาได้

ประตูระบายน้ำศรีสองรักตั้งอยู่ห่างจากปากแม่น้ำเลยประมาณ ๒.๕ กิโลเมตร ชุมชนบ้านกลางอยู่ลึกเข้ามาอีกประมาณ ๑๐ กิโลเมตร บรรพบุรุษของคนบ้านกลางเป็นชาวไทพวน อพยพเข้ามาตั้งแต่ศึกจีนฮ่อเมื่อราว ๒๐๐-๓๐๐ ปีที่ก่อน เลือกตั้งถิ่นฐานตรงบริเวณที่มีลักษณะเป็นแอ่งกะทะ ล้อมรอบด้วยภูเขา คาดว่าสาเหตุที่ชื่อ “บ้านกลาง” เพราะชุมชนแห่งนี้ล้อมรอบด้วยชุมชนอื่นๆ ในตำบลปากตม จากตัวอำเภอปากตมถ้าจะเดินทางไปเชียงคานก็ต้องผ่านชุมชนบ้านกลาง

ด้วยความที่ตั้งอยู่ในแอ่งกะทะ ติดกับแม่น้ำ ห่างจากประตูระบายน้ำศรีสองรักไม่มากนัก นี่จึงเป็นชุมชนที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงจากโครงการประตูระบายน้ำศรีสองรักซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการผันน้ำ โขง-เลย-ชี-มูล และอ่อนไหวอย่างยิ่งต่อการผันผวนของระดับน้ำ…ที่นับจากนี้จะไม่เป็นไปตามธรรมชาติอีกต่อไป

น้ำจะขึ้น น้ำจะลงเมื่อไหร่ ? ใครคือผู้กำหนด ?

เกรียงไกร สิงห์หฬ กลุ่มฮักแม่น้ำเลยให้ความเห็นว่า แม่น้ำเลยเป็นแม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขง ในช่วงน้ำหลาก ปลาแม่น้ำโขงจะอพยพขึ้นมาผสมพันธุ์และวางไข่ ชาวประมงพื้นบ้านรู้ดีว่าบริเวณปากแม่น้ำเลยเป็นที่ตั้งของสันดอนที่เรียกว่าดอนเลย เป็นจุดที่มีความอุดมสมบูรณ์และปลอดภัยสำหรับสัตว์น้ำนานาชนิด เป็นจุดที่ปลามาแวะพัก เมื่อถึงช่วงน้ำหลากสัตว์น้ำจำนวนมากจะมาออกันอยู่ตรงดอนเลย ก่อนที่จะว่ายเข้ามาในแม่น้ำเลยเพื่อหาที่ผสมพันธุ์และวางไข่ แมน้ำเลยมีความยาวประมาณ ๒๓๑ กิโลเมตร ช่วงที่อยู่ลึกเข้ามาจากปากแม่น้ำ ๕๐-๖๐ กิโลเมตร ก็ยังมีปลาชนิดเดียวกับปลาในน้ำโขง

“การสร้างประตูระบายน้ำไม่ต่างอะไรจากการสร้างเขื่อนที่ปิดกั้นการแพร่ขยายพันธุ์ของปลา มันจะทำให้ปลา รวมถึงสัตว์น้ำชนิดต่างๆ ลดลง ปลาแม่น้ำโขงส่วนใหญ่เป็นปลาอพยพ ถ้ามีเขื่อนกั้น พวกมันจะเข้ามาวางไข่ขยายพันธุ์ในแม่น้ำเลยได้อย่างไร นี่คือคำถาม”

ที่ผ่านมา ชาวชุมชนบ้านกลางอาศัยแม่น้ำเลยเป็นปัจจัยสำคัญในการทำมาหากิน กลุ่มแม่บ้านยืนยันว่าแม่น้ำสายนี้ที่ไหลจากทิศใต้ขึ้นสู่ทิศเหนือเป็นเหมือนตู้กับข้าว

“คุณอยากจะผันน้ำ ใช้ประตูปิดกั้นเพื่อยกระดับน้ำให้สูงขึ้น พวกเราก็อยากจะถามว่าถ้าระดับน้ำในแม่น้ำเลยสูงขึ้น ไม่เป็นเหมือนเก่า แล้วพวกแม่บ้านยังจะทำประมงได้ไหม เพราะที่ผ่านมาใครๆ ต่างก็ทำประมงน้ำตื้นกันทั้งนั้น ที่ผ่านมาวันไหนไม่มีเงิน ไม่มีอาหาร เรายังไปน้ำเลยได้ กุ้ง หอย ปู ปลา ผักหญ้าก็อยู่ในแม่น้ำ แต่ถ้าวันหนึ่งข้างหน้าน้ำเลยเปลี่ยนไป เราจะเอาเงินจากไหนซื้อของกิน”

khonglei07 1
khonglei08 2
สวิงสามเหลี่ยมง่ายสำหรับการช้อนหอยกี้และปลาตัวเล็กๆ ขึ้นมาจากก้นแม่น้ำเลย (ภาพ : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล)

โครงการประตูระบายน้ำศรีสองรักไม่อยู่ในข่ายการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอ (EIA) เนื่องจากเป็นโครงการขนาดกลาง และไม่ได้อยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำสายหลัก มีเพียงการทำรายงานการศึกษาความเหมาะสม (Feasibility Report)

การแยกโครงการนี้ออกจากอภิมหาโครงการผันน้ำแห่งภาคอีสาน โขง-เลย-ชี-มูล น่าจะทำให้เจ้าของโครงการเดินหน้าผลักดันโครงการนี้ได้ง่ายขึ้น

เอกสาร โครงการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการบริหารจัดการน้ำโขง เลย ชี มูล โดยแรงโน้มถ่วง ระยะที่ ๑ จังหวัดเลย [รายงานการศึกษาความเหมาะสม (Feasibility Report)] นำเสนอเมื่อเดือนกรกฎาคม ๒๕๖๓ ระบุว่า แม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำระหว่างประเทศที่มีปริมาณน้ำมาก คือ ๔๗๕,๐๐๐ ล้าน ลบ.ม./ปี เกินกว่าความต้องการใช้น้ำของประชาชนสองฝั่งริมแม่น้ำโขงโดยเฉพาะในฤดูฝน สามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในพื้นที่ทางการเกษตรได้อย่างทั่วถึง

การผันน้ำเข้ามาใช้ในลุ่มน้ำภาคอีสาน จะเป็นการใช้น้ำในลุ่มน้ำสาขาแม่น้ำโขง หากดำเนินการผันน้ำในช่วงฤดูฝนเพียงแค่การบอกให้ประเทศภาคีสมาชิกรับทราบ หรือเรียกว่า “การแจ้ง” (Notification) ก็เพียงพอ

ส่วนการใช้น้ำในฤดูแล้งมีข้อกำหนดว่าควรบอกประเทศภาคีสมาชิกทราบ เพื่อจะได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็น เรียกว่าเป็นการ “หารือกันก่อน” (Prior Consultation) แต่ไม่ใช่พิจารณาเห็นชอบหรือยับยั้งโครงการ

เอกสารฉบับเดียวกันให้เหตุผลว่า โครงการนี้เป็นการใช้ประโยชน์จากน้ำในแม่น้ำโขงที่มีปริมาณมากเพียงพอในฤดูฝน และ “…มีสภาพภูมิประเทศเหมาะสมในการส่งน้ำโดยแรงโน้มถ่วง กระจายให้พื้นที่การเกษตรทั่วภาคอีสาน มีปริมาณน้ำมากเท่ากับการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์จำนวน ๑๕ โครงการ แต่มีผลกระทกด้านสังคม สิ่งแวดล้อม และสุขภาพน้อยกว่ามาก และเป็นโครงการที่สามารถพลิกฟื้นภาคอีสานให้มีความอุดมสมบูรณ์…ลดความเหลื่อมล้ำ…เพิ่มโอกาสในการเข้าถึง ต่อรอง และจัดการทรัพยากรต่างๆ”

จากการศึกษาเรื่องการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำและอัตราการไหลของแม่น้ำโขงที่อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย ตามโครงการการศึกษาผลกระทบและติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดนจากโครงการพัฒนาไฟฟ้าพลังน้ำในแม่น้ำโขงสายประธาน โดยกรมทรัพยากรน้ำและมหาวิทยาลัยมหาสารคาม เมื่อปี ๒๕๖๐ พบว่าการมีเขื่อนแม่น้ำโขงในประเทศจีนและลาว จะทำให้ระดับน้ำในฤดูแล้งเพิ่มขึ้น ๐.๖ เมตร และมีอัตราการไหลเพิ่มขึ้น ๙๕๕ ลบ.ม./วินาที ในขณะที่ช่วงฤดูฝนจะทำให้ระดับน้ำลดลง ๐.๗๑ เมตร และมีอัตราการไหลลดลง ๗๕๑ ลบ.ม./วินาที สอดคล้องกับผบการศึกษาของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) เมื่อปี ๒๕๕๔

การดำรงอยู่ของ “เขื่อนจีน” และ “เขื่อนลาว” ในแม่น้ำโขงสายประทานและแม่น้ำสาขาจะช่วยเพิ่มระดับน้ำในฤดูแล้งที่อำเภอเชียงคานซึ่งเป็นจุดผันน้ำของโครงการ ขณะที่ช่วงฤดูฝนระดับน้ำจะลดลงแต่ยังมีปริมาณน้ำมากพอ ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบกับโครงการ ในสายตาของผู้ผลักดันโครงการแล้ว การมีเขื่อนในจีนและลาวในแม่น้ำโขงสายประธานและแม่น้ำสาขาจึงมีผลกระทบทางบวกต่อการพัฒนาโครงการบริหารจัดการน้ำ โขง-เลย-ชี-มูล

khonglei09

ก่อนหน้านี้ “กลุ่มฮักแม่น้ำเลย” ประชาชนซึ่งส่วนใหญ่อาศัยในชุมชนบ้านกลาง ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นคัดค้าน ไม่เห็นด้วยกับโครงการบริหารจัดการน้ำขนาดใหญ่ ทุกครั้งที่มีโอกาสแสดงออกยกตัวอย่างกรณีที่พวกเขาไปยื่นเรื่องคัดค้านที่อำเภอ หรือเดินทางไกลมาถึงกรมชลประทานในกรุงเทพฯ กลุ่มฮักแม่น้ำเลยจะถือป้ายรณรงค์ที่มีข้อความต้านประตูระบายน้ำศรีสองรัก อาทิ

“จะดันทุรังสร้างไปทำไมในเมื่อรู้ว่าได้ไม่คุ้มเสีย”

“กรมชลประทานเลือกทำลายชุมชนด้วยเขื่อน”

“ธรรมชาติไม่คิดดูแล แก้ปัญหาด้วยการทำลาย”

ชาวชุมชนบ้านกลางส่วนใหญ่เป็นคนไทพวน ชุมชนกลางหุบเขาริมแม่น้ำเลยแห่งนี้ได้รับขนานนามว่าเป็นหมู่บ้านวัฒนธรรมท้องถิ่นไทพวนแห่งสุดท้ายของจังหวัดเลย จึงทำให้มีแผ่นป้ายข้อความรณรงค์ “ชาติพันธุ์ไทพวนจะล่มสลาย ถ้ามีเขื่อนศรีสองรัก”

ก่อนหน้านี้คนบ้านกลางเคยเผชิญน้ำท่วมใหญ่มาแล้ว ๒ ครั้ง ครั้งแรกในปี ๒๕๒๑ อีกครั้งปี ๒๕๔๕ ซึ่งนั่นเป็นภัยธรรมชาติ น้ำหลากมาแล้วก็จากไป ชาวบ้านบอกว่าต่อให้น้ำหลากมาแบบไหนก็จะรับมือเพราะดินแดนแห่งนี้คือบ้านของเรา…

แต่คราวนี้มีโอกาสที่น้ำจะท่วมที่ทำกินและที่อยู่อาศัยอย่างนิรันดร์ ชาวบ้านไม่อยากสูญเสียแผ่นดินที่บรรพบุรุษส่งต่อมา อยากรักษาสภาพแวดล้อมแบบเดิมๆ ไว้

“เราเคยไปยื่นหนังสือกับผู้ว่าราชการจังหวัด ปรึกษากับผู้ว่าฯ เขารับปากว่าจะดำเนินการแก้ไขปัญหาให้แต่ก็ไม่ได้ทำ ชาวบ้านต้องการให้ระงับการก่อสร้างไว้ก่อน เพื่อศึกษาให้รอบคอบ ว่าจะส่งผลกระทบอะไรบ้าง แต่ก็ไม่เห็นมีการศึกษา ไม่ได้มารับฟัง เหมือนเขาอยากทำอะไรก็ทำ” ต๋อย ทาอ่อน ชาวชุมชนบ้านกลาง สมาชิกกลุ่มฮักแม่น้ำเลยให้ความเห็นถึงโครงการยักษ์ที่เข้ามาหายใจรดต้นคอ

ขณะที่หน่วยงานราชการก็เห็นว่าการปฏิเสธว่าไม่เอาของชาวบ้านไม่มีเหตุผลรองรับ อยู่ๆ จะมาบอกว่าไม่เอาไม่ได้

ความต้องการและการไม่ยอมรับโครงการผันน้ำของสองฝ่ายอาจเกิดขึ้นจากโลกทัศน์ที่แตกต่างกัน

ผู้มีอำนาจและภาครัฐมองว่าน้ำเป็นทรัพยากรที่ต้องควบคุมและจัดการ แม่น้ำเลยที่ไหลลงสู่แม่น้ำโขงตามธรรมชาติเป็นสายน้ำไหลทิ้ง ไม่ได้ใช้น้ำให้เกิดประโยชน์

ส่วนชาวบ้านและผู้คนที่ใช้ชีวิตผูกพันอยู่กับสายน้ำทั้งแม่น้ำเลยและแม่น้ำโขงมองว่าน้ำเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่ต้องทะนุถนอมเอาไว้

พวกเขาได้แต่หวังว่าแม่น้ำโขงและแม่น้ำสาขาจะไม่เปลี่ยนแปลงไปมากกว่านี้

หมายเหตุ : บทความชิ้นนี้ได้รับการสนับสนุนโดย Internews’s Earth Journalist Network

ขอขอบคุณ : ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม