ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล : รายงานและถ่ายภาพ

ต้นปี ๒๕๖๖

หลังเหตุการณ์น้ำมันดิบรั่วลงสู่อ่าวไทย คราบน้ำมันถูกกระแสน้ำพัดขึ้นหาดแม่รำพึง จังหวัดระยอง ผ่านมาร่วม ๑ ปี มีความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการฟ้องคดีระหว่างภาคประชาสังคมและประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน กับบริษัทเอกชนผู้ประกอบกิจการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างน้อย ๒ คดี…

น้ำมันรั่วระยอง ฟ้องคดีแพ่งและปกครอง เรียกร้อง “กองทุนฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง”
ชาวประมง พ่อค้าแม่ค้า และผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดระยอง ร่วมกับสมาคมประมงพื้นบ้านท้องถิ่นระยองเดินทางไปศาลปกครองระยอง เมื่อวันที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๖๖ (ภาพ : Rising Sun Law)

คดีแรกเป็น “การฟ้องคดีปกครอง” ต่อศาลปกครองระยอง

วันที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๖๖ กลุ่มชาวประมงพื้นบ้าน แม่ค้า ผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยว และอาชีพต่อเนื่อง เช่น แม่ค้ารถเร่ ร้านเช่าเตียงผ้าใบ ห่วงยาง ร้านค้าอาหารตามสั่ง ฯลฯ ภายในจังหวัดระยองจำนวนรวมกัน ๘๓๔ คน (เดิม ๘๓๗ ราย ถอนตัว ๓ ราย) ร่วมกับสมาคมประมงพื้นบ้านท้องถิ่นระยอง พร้อมทีมทนายความจากบริษัท กฎหมาย ไรซิ่ง ซัน จำกัด (Rising Sun Law) ยื่นฟ้องหน่วยงานรัฐ ๗ หน่วยงานต่อศาลปกครองระยอง ประกอบด้วยกระทรวงการคลัง, กระทรวงมหาดไทย, กรมเจ้าท่า, กรมธุรกิจพลังงาน, กรมประมง, กรมทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง และ กรมควบคุมมลพิษ เป็นจำเลยที่ ๑ ถึง ๗ ตามลำดับ

สาเหตุที่ยื่นฟ้องทั้งเจ็ดหน่วยงาน เพราะเห็นว่ามีหน้าที่ตามกฎหมายในการบริหารจัดการ และป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อทรัพยากรธรรมชาติจากเหตุการณ์น้ำมันดิบรั่วไหลจากจุดขนถ่ายน้ำมันในทะเลของบริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) แต่กลับละเลยต่อการป้องกันเหตุการณ์ หรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้า ประมาทเลินเล่อในการแก้ไขปัญหา

ผู้ฟ้องยังเห็นว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอนุญาตให้ใช้สารเคมีขจัดคราบน้ำมันอย่างผิดวิธี และใช้สารเคมีมากเกินความจำเป็น ขาดการประเมินมูลค่าความเสียหายที่จะเกิดกับทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งส่งผลกระทบตามมาต่อการดำรงชีวิต การประกอบอาชีพของกลุ่มชาวประมงพื้นบ้าน พ่อค้าแม่ค้า และอาชีพต่อเนื่อง

เหตุการณ์น้ำมันดิบรั่วลงทะเลระยองไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก เกือบสิบปีก่อน เมื่อ

วันที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๕๕๖ เคยเกิดเหตุการณ์ท่อขนส่งน้ำมันของบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) แตก ประเมินว่ามีน้ำมันดิบไม่น้อยกว่า ๕๐,๐๐๐ ลิตร ปนเปื้อนลงสู่ท้องทะเล

แม้วันนี้ท้องทะเลจะเริ่มดีขึ้นบ้างแล้ว แต่กลุ่มชาวประมงพื้นบ้าน พ่อค้าแม่ค้าอาหารทะเล ตลอดจนผู้ประกอบอาชีพที่เกี่ยวข้องบอกว่ายังคงได้รับผลกระทบ ประชากรสัตว์น้ำ ทรัพยากรธรรมชาติ ยังไม่ฟื้นฟูกลับมาสู่ระดับที่เคยเป็นก่อนเกิดเหตุน้ำมันรั่ว ความอุดมสมบูรณ์ของท้องทะเลยังไม่ได้รับการฟื้นฟูอย่างเป็นรูปธรรม

การเกิดน้ำมันรั่วอีกครั้ง คราบน้ำมันถูกน้ำพัดขึ้นฝั่งหาดแม่รำพึง จึงยิ่งซ้ำเติมปัญหา เหตุการณ์ในปี ๒๔๖๕ คาดว่ามีน้ำมันดิบปนเปื้อนสู่ท้องทะเลกว่า ๔๐๐,๐๐๐ ลิตร มากกว่าเมื่อปี ๒๕๕๖ ถึง ๘ เท่า

ด้วยเหตุดังกล่าวผู้ฟ้องคดีทั้ง ๘๓๔ คน จึงห่วงกังวลว่าจะต้องใช้เวลาอีกไม่น้อยกว่า ๑๐ ปี เพื่อฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติขึ้นมาใหม่ จึงขอให้ศาลปกครองมีคำพิพากษา หรือมีคำสั่ง ดังต่อไปนี้

  1. ให้มีการออกกฎ ระเบียบหรือข้อบังคับเกี่ยวกับการรับมือแก้ไขและป้องกันสถานการณ์น้ำมันดิบรั่วไหล และมาตรการฟื้นฟูทรัพยากรที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว ที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากลและหลักเกณฑ์การกำจัดน้ำมัน ต้องมีการสำรวจความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งหมด และเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนได้มีส่วนร่วมในกระบวนการฟื้นฟูดังกล่าวด้วย
  2. ต้องปฏิบัติหน้าที่ในการเรียกให้บริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน โดยการเรียกให้บริษัทดังกล่าวจัดตั้งกองทุนฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง อ่าวระยอง ด้วยงบประมาณของบริษัท โดยในกองทุนดังกล่าว ต้องมีตัวแทนจากภาคประชาชนเข้ามีส่วนร่วมกับหน่วยงานราชการที่มีหน้าที่ฟื้นฟูทรัพยากรทะเลและชายฝั่งและบริษัท ในการกำหนดและเสนอแนวทางการฟื้นฟูทรัพยากรที่ได้รับผลกระทบจากเหตุน้ำมันรั่วในคดีนี้
  3. ต้องร่วมกันหรือแทนกันรับผิดเยียวยาชดใช้ความเสียหายอันเกิดจากการละเมิด จนเป็นเหตุทำให้ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งและสัตว์น้ำได้รับความเสียหาย ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตและการประกอบอาชีพของผู้ฟ้องคดีทั้งหมด และรับผิดเยียวยาชดใช้ค่าเสียโอกาสในการประกอบอาชีพในอนาคตของผู้ฟ้องคดี
oilrayongcase02
หาดแม่รำพึงถูกประกาศปิดเพื่อกำจัดคราบน้ำมัน ซึ่งพัดขึ้นฝั่งหลังเหตุการณ์น้ำมันรั่วต้นปี ๒๕๖๕ ทางจังหวัดระยองประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติ ห้ามนักท่องเที่ยวลงเล่นน้ำ และขอความร่วมมือปิดร้านค้าริมหาดจนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ (ภาพ : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล)

คดีที่สองเป็น “การฟ้องคดีแพ่ง” ต่อศาลจังหวัดระยอง ยื่นฟ้องหลังคดีแรกสามวัน

วันที่ ๒๓ มกราคม ๒๕๖๖ ประชาชนจำนวน ๘๓๒ คนยื่นฟ้อง บริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ SPRC เป็นจำเลยที่ ๑ และบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC เป็นจำเลยที่ ๒ ต่อศาลจังหวัดระยอง ขอให้หน่วยงานทั้งสองฟื้นฟูทะเลระยองจากเหตุการณ์น้ำมันรั่ว

รายละเอียดคำฟ้องสรุปได้ว่า SPRC และ PTTGC เป็นผู้ได้รับอนุญาตจากรัฐให้ประกอบกิจการโรงกลั่นน้ำมันขนาดใหญ่ ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด การประกอบกิจการจะต้องขนถ่ายน้ำมันดิบจากทุ่นรับน้ำมันกลางทะเลเพื่อทำหน้าที่ลำเลียงขนส่งน้ำมันดิบที่ขนส่งมาโดยเรือบรรทุกน้ำมันผ่านระบบทุ่นรับน้ำมันและระบบท่อขนส่งน้ำมันเข้าสู่คลังเก็บน้ำมันของ SPRC และ PTTGC ซึ่งทั้งสองเป็นเจ้าของโรงกลั่นน้ำมัน เครื่องจักรบางส่วน และทุ่นรับน้ำมันร่วมกัน

ในส่วนของทุ่นรับน้ำมันนั้น เป็นการลงทุนร่วมกันฝ่ายละครึ่งหนึ่ง และมีข้อตกลงเรื่องการผลัดเปลี่ยนกันเป็นผู้บริหารกิจการฝ่ายละ ๕ ปี ในฐานะของเจ้าของร่วมในทุ่นรับน้ำมันและอุปกรณ์เครื่องจักรที่ใช้ในการลำเลียงขนส่งน้ำมันดิบ SPRC และ PTTGC จึงมีหน้าที่ที่จะต้องร่วมรับผิดชอบ ดูแล บำรุงรักษา ทุ่นรับน้ำมันและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง เช่น ระบบท่อและวาล์วควบคุมน้ำมันให้อยู่ในสภาพดี ป้องกันไม่ให้ชำรุดหรือเกิดความบกพร่องจนอาจเกิดการรั่วไหลหรือแพร่กระจายของน้ำมันดิบปนเปื้อนออกสู่สิ่งแวดล้อมภายนอก โดยจะต้องใช้ความระมัดระวังดูแลให้เป็นไปตามกฎเกณฑ์ ระเบียบ และมาตรฐานของคณะกรรมการป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมัน (กปน.) ข้อตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับมาตรฐานของการขนส่งน้ำมันทางทะเล ตลอดจนเป็นไปตามข้อกำหนดของรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)

แต่เหตุการณ์น้ำมันดิบรั่วลงสู่ทะเลเมื่อวันที่ ๒๕ มกราคม ๒๕๖๕ ได้ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อระบบนิเวศและทรัพยากรธรรมชาติ โจทก์ทั้ง ๘๓๒ คน จึงยื่นฟ้องต่อศาลจังหวัดระยองขอให้ SPRC และ PTTGC รับผิดชอบใน ๓ ประเด็น ดังต่อไปนี้

  1. ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันแก้ไขฟื้นฟูทรัพยากรและสภาพแวดล้อมทางทะเลและชายฝั่งที่ได้รับความเสียหายจากมลพิษของคราบน้ำมันดิบและสารเคมี ด้วยการเก็บกู้ตะกอนสารพิษที่เกิดจากการรวมตัวของน้ำมันดิบและสารเคมีที่ตกค้างในบริเวณที่เกิดเหตุน้ำมันดิบรั่วไหลและบริเวณใกล้เคียง ตลอดแนวชายหาดและป่าชายเลน รวมทั้งที่ตกค้างสะสมอยู่ในจุดที่เป็นแหล่งอาศัย แหล่งแพร่พันธุ์ของสัตว์น้ำ ด้วยกระบวนการหารือและกำกับดูร่วมกันระหว่างโจทก์ จำเลย และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง
  2. ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนมูลค่าความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมทางทะเลและชายฝั่งในจำนวนเงิน ๕,๐๐๐ ล้านบาท เพื่อมอบให้หน่วยงานราชการที่มีหน้าที่กำจัดมลพิษ และฟื้นฟูความสมบูรณ์ของทรัพยากรทางทะเลร่วมกับโจทก์ และชุมชนประมงชายฝั่ง เพื่อจัดตั้งเป็น “กองทุนฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง อ่าวระยอง” เพื่อฟื้นฟูทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมทางทะเลและชุมชนประมงชายฝั่งอ่าวระยอง ที่มีโจทก์ จำเลยทั้งสอง และหน่วยงานราชการร่วมกันบริหารจัดการ ฟื้นฟูทะเลจนกว่าระบบนิเวศทางทะเลจะกลับมาให้บริการทางอาหารและการนันทนาการได้ในภาวะปกติก่อนเกิดเหตุน้ำมันรั่วในปี ๒๕๕๖
  3. ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ความเสียหายจากเหตุการณ์น้ำมันดิบรั่วไหลให้แก่โจทก์ที่ได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการที่ต้องขาดโอกาสในการประกอบอาชีพ รวม ๒๔๖,๓๔๓,๗๙๙ บาท
oilrayongcase03
กลุ่มชาวประมงพื้นบ้าน พ่อค้าแม่ค้า ผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยว และอาชีพต่อเนื่อง เช่น แม่ค้ารถเร่ ร้านเช่าเตียงผ้าใบ ห่วงยาง ร้านค้าอาหารตามสั่ง ฯลฯ ได้รับผลกระทบเป็นลูกโซ่หลังเหตุการณ์น้ำมันรั่ว (ภาพ : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล)

การยื่นฟ้องในคดีต่อศาลจังหวัดระยองมีการเรียกค่าสินไหมทดแทน ถือเป็นคดีมีทุนทรัพย์ เมื่อศาลรับฟ้อง โจทก์จะต้องวางเงินค่าธรรมเนียมศาลต่อศาล

จากข้อเรียกร้องให้ทั้งสองบริษัทชดใช้ค่าสินไหมจำนวน ๕,๐๐๐ ล้านบาท คำนวณแล้วโจทก์จะต้องวางเงินค่าธรรมเนียมศาลกว่า ๕ ล้านบาท (ตัวเลขที่ชัดเจน คือ ๕,๑๕๐,๐๐๐ บาท) ซึ่งถือเป็นจำนวนเงินที่มากสำหรับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากน้ำมันรั่ว โจทก์จึงยื่นคำร้องขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล

ไพบูลย์ เล็กรัตน์ หนึ่งในผู้ฟ้องคดี ประกอบอาชีพเป็นชาวประมงพื้นบ้าน ให้สัมภาษณ์รายการ คุณเล่า เราขยาย สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส เมื่อวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๖ ถึงเหตุผลในการขอยกเว้นค่าธรรมเนียมว่า การฟ้อง ๕,๐๐๐ ล้านบาทเพื่อตั้งกองทุนฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ไม่ได้ฟ้องเพื่อที่จะเอาเงินมาเป็นของตนเอง เป็นการฟ้องให้รัฐหรือหน่วยงานที่มีหน้าที่กำจัดมลพิษ เงินก้อนนี้ถ้าเกิดขึ้นจริงรัฐจะเป็นผู้ดูแลบริหารจัดการร่วมกับภาคประชาชนในการฟื้นฟูท้องทะเล

การเรียกร้องเงินก้อนนี้จึงเป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ไม่ใช่เพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวแต่อย่างใด

ทางด้าน วราภรณ์ อุทัยรังษี ทนายความประจำ บริษัท กฎหมาย ไรซิ่ง ซัน จำกัด ให้ความเห็นไว้ในรายการเดียวกันว่า การฟ้องเพื่อเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเพื่อให้หน่วยงานรัฐนำมาใช้ฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเล เป็นการเรียกร้องเพื่อทะเลที่เป็นสมบัติร่วมกันของประชาชน เป็นการเรียกร้องเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของคนในสังคม จึงควรได้รับการผ่อนปรนภาระค่าธรรมเนียมศาลจำนวน ๕ ล้านกว่าบาทจากศาล

และเนื่องจากหน่วยงานราชการมีข้อจำกัดในการเรียกค่าสินไหมทดแทนจากผู้ก่อมลพิษ โจทก์จึงมีความจำเป็นในการเรียกร้องให้จำเลยรับผิดเรื่องค่าสินไหมทดแทน ตัวเลขค่าสินไหมทดแทนจำนวน ๕,๐๐๐ ล้านบาท ก็เป็นเพียงการประมาณการณ์ขั้นต่ำเท่านั้น ด้วยเหตุข้างต้น โจทก์จึงยื่นคำร้องขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล

แต่ผลปรากฎว่าศาลสั่งไม่ให้ยกเว้น โดยศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า คำขอของโจทก์ที่ขอให้ทางบริษัทชดใช้ค่าสินไหมทดแทน มูลค่าความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมและชายฝั่ง จำนวน ๕,๐๐๐ ล้านบาท เป็นค่าเสียหายที่โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกแทนรัฐ แม้โจทก์จะไม่มีทรัพย์สินเพียงพอหรือไม่ได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียม ก็ไม่เดือดร้อนเกินสมควร

บทความเกี่ยวกับการเรียกสินไหมทดแทน และคำสั่งไม่ให้ยกเว้น ปรากฎในเพจ Rising Sun Law ของบริษัท กฎหมาย ไรซิ่ง ซัน จำกัด ดังนี้ …

การที่ศาลวินิจฉัยว่า ค่าสินไหมทดแทนมูลค่าความเสียหายต่อทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งจำนวน ๕,๐๐๐ ล้านบาท เป็นค่าสินไหมทดแทนตามมาตรา ๙๖ และมาตรา ๙๗ แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ ๒๕๓๕ (พ.ร.บ. สิ่งแวดล้อมฯ) ซึ่งผู้เรียกร้องต้องเป็นหน่วยงานของรัฐเท่านั้น ไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมาย เนื่องจาก ค่าสินไหมทดแทนดังกล่าว เป็นการเรียกค่าเสียหายที่เกิดต่อทรัพยากรทะเล ซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน

โดยความเสียหายจากเหตุน้ำมันรั่ว กระทบต่อความอุดมสมบูรณ์และสมดุลของระบบนิเวศในระยะยาว ทำให้วิถีชีวิตประมงพื้นบ้าน ค้าขาย กิจการเกี่ยวเนื่องกับการประมง และกิจการให้บริการกับนักท่องเที่ยว ได้รับความเสียหาย ซึ่งความเสียหายที่เกิดขึ้นนี้เกินความรับผิดชอบที่ของรัฐที่จะทำได้ โจทก์ทั้ง ๘๓๒ คน ซึ่งเป็นผู้ใช้ประโยชน์และมีหน้าที่บำรุงรักษาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ย่อมมีสิทธิเรียกให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าว ทั้งนี้ การเรียกค่าสินไหมทดแทนนี้ ไม่ได้เป็นเพียงการเรียกตามพ.ร.บ. สิ่งแวดล้อมฯ เท่านั้น แต่เป็นการเรียกค่าสินไหมทดแทนจากการกระทำละเมิด ซึ่งจำเลยผู้ก่อกระทำละเมิดต้องรับผิดแก้ไขและป้องกันไม่ให้ผลจากการทำละเมิดก่อให้ความเสียหายต่อเนื่องด้วย

นอกจากนี้ มาตรา ๔๓ แห่งรัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ กำหนดให้บุคคลและชุมชน มีสิทธิจัดการ บำรุงรักษา และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืนตามวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ ดังนั้น เมื่อโจทก์ทั้ง ๘๓๒ คน เป็นผู้ดำเนินวิถีชีวิตและวิถีการทำกินร่วมกันในอ่าวระยอง พึ่งพาอาศัยความอุดมสมบูรณ์และบริการทางระบบนิเวศของอ่าวระยอง และมีการรสืบทอดวิถีประมงพื้นบ้าน วิถีชีวิตชุมชนชายฝั่ง และการขัดการและอนุรักษ์ทรัพยากรอย่างยั่งยืนมาอย่างยาวนาน โจทก์ทั้งหมดจึงเป็นชุมชนและต้องได้รับความคุ้มครองตามมาตรา ๔๓ ซึ่งรวมถึงการเรียกให้ผู้กระทำละเมิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนความเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติด้วย

ทั้งนี้ พ.ร.บ. สิ่งแวดล้อมฯ ไม่ได้มีเจตนารมณ์จะจำกัดตัดสิทธิของชุมชน การตีความจึงต้องให้สามารถใช้กฎหมายไปในทางที่จะไม่จำกัดสิทธิของชุมชนด้วย การที่ศาลวินิจฉัยว่าการเรียกร้องค่าเสียหายตาม พ.ร.บ. สิ่งแวดล้อม จะต้องเป็นหน่วยงานรัฐเท่านั้น จึงขัดต่อการคุ้มครองสิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญ

ทั้งนี้ ค่าสินไหมทดแทนมูลค่า ๕,๐๐๐ ล้านบาท เป็นเพียงการประมาณการณ์ขั้นต่ำเท่านั้น และเนื่องจากหน่วยงานราชการที่กระทำละเมิดโดยละเลยหน้าที่ตามกฎหมายในการกำกับดูแลกิจการน้ำมันและบริหารจัดการสถานการณ์น้ำมันรั่ว ก็มีข้อจำกัดในการเรียกค่าสินไหมทดแทนจากผู้ก่อมลพิษ โจทก์จึงมีความจำเป็นเรียกให้จำเลยทั้งสองรับผิดในค่าสินไหมทดแทนจำนวน ๕,๐๐๐ ล้านบาทด้วย

โจทก์ในที่นี้คือชาวบ้านกว่าแปดร้อยคนเห็นว่าเป็นการใช้ดุลพินิจที่ไม่ถูกต้องและไม่ครบถ้วน จึงยื่นอุทธรณ์ เน้นย้ำเหตุผลว่าค่าเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติเป็นค่าเสียหายที่โจทก์ซึ่งมีหน้าที่บำรุงรักษาสมควรจะเรียกให้ผู้ก่อมลพิษรับผิดได้ ต้องติดตามว่าศาลอุทธรณ์ภาค ๒ จะมีคำสั่งรับอุทธรณ์ หรือจะให้มีการไต่สวนคำร้องขอยกเว้นค่าธรรมเนียมหรือไม่ อย่างไรต่อไป

oilrayongcase04
ชาวบ้านริมทะเลในพื้นที่จังหวัดระยองถ่ายภาพและเก็บบันทึกภาพถ่ายคราบน้ำมัน และก้อนน้ำมันที่เรียกว่า “ทาร์บอล” พัดขึ้นหาด หลังเหตุการณ์น้ำมันรั่วปี ๒๕๕๖ ผ่านพ้นไปแล้วเป็นปี (ภาพ : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล)

ในส่วนค่าเสียหายจากการขาดโอกาสในการประกอบอาชีพ รวม ๒๔๖,๓๔๓,๗๙๙ บาท ศาลเห็นว่า ค่าธรรมเนียมศาลของโจทก์แต่ละคนคิดเป็นจำนวนไม่มาก เชื่อว่าโจทก์มีทรัพย์สินเพียงพอจ่าย หรือหากไม่ได้รับยกเว้น ก็ไม่เดือดร้อนเกินสมควร จึงมีคำสั่งยกคำร้องขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล

ในส่วนของคดีแพ่งที่ยื่นฟ้องต่อศาลจังหวัดระยองคดีนี้ ภายหลังยื่นอุทธรณ์ ชาวบ้านผู้เป็นโจทก์ทั้งหมด (จำนวน ๘๓๒ ราย) เห็นว่า เพื่อให้การดำเนินกระบวนพิจารณาสามารถดำเนินไปโดยสะดวก จึงพยายามรวบรวมเงินมาชำระค่าธรรมเนียมศาล ในส่วนที่เป็นค่าเสียหายส่วนบุคคลของโจทก์แต่ละรายรวม ๑๖๐ คน ไว้ก่อนเป็นเบื้องต้น ส่วนโจทก์รายอื่นๆ มีภาระจะต้องเสียค่าธรรมเนียมศาลของโจทก์แต่ละคนเป็นจำนวนที่สูงมากกว่าที่จะจัดหามาได้ในขณะนี้ จึงประสงค์จะขอรอการพิจารณามีคำสั่งของศาลอุทธรณ์ในส่วนค่าฤชาธรรมเนียมของความเสียหายของโจทก์แต่ละรายเสียก่อน

นอกจากนี้ ในส่วนที่เป็นค่าเสียหายที่ขอให้จำเลยรับผิดชำระค่าเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทางทะเล จำนวน ๕,๐๐๐ ล้านบาท เมื่อคำนวณเป็นค่าธรรมเนียมที่โจทก์ทุกรายจะต้องมีภาระร่วมกันชำระให้แก่ศาลเป็นเงินจำนวนถึง ๕,๑๕๐,๐๐๐ บาท ในส่วนนี้โจทก์ทั้ง ๘๓๒ คนยังไม่มีทรัพย์สินเพียงพอที่จะชำระได้ จึงขอรอผลการพิจารณามีคำสั่งของศาลอุทธรณ์ในส่วนค่าธรรมเนียมดังกล่าวเสียก่อนแล้วจึงค่อยพิจารณาดำเนินการตามคำสั่งของศาลต่อไป

ความคืบหน้าคดีปกครอง ที่ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองระยองนั้น เมื่อวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๖ ชาวบ้านซึ่งเป็นผู้แทนฟ้องคดีได้รับหมายศาลนัดไต่สวนคำร้องขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลในวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๖ โดยศาลมีคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีทั้งหมดชี้แจงรายการบัญชีทรัพย์สิน-หนี้สิน พร้อมแนบหลักฐานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เช่น สมุดบัญชีธนาคารที่มีรายการเดินบัญชีที่เป็นปัจจุบัน ทุกธนาคาร ทุกเล่ม โฉนดที่ดิน ทะเบียนรถ เป็นต้น เพื่อประกอบการพิจารณาขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล มิฉะนั้น ศาลจะพิจารณาไม่รับฟ้อง

ชาวบ้านทั้งหมดประชุมหารือกันแล้วเห็นว่า ไม่สามารถจัดเตรียมหลักฐานดังกล่าวได้ทันในระยะเวลาที่ศาลกำหนด และเนื่องจากเมื่อคำนวณค่าธรรมเนียมศาลแล้ว ค่าใช้จ่าย เช่น ค่าเดินทางไปจัดหาเอกสารหลักฐานดังกล่าวเป็นจำนวนที่ใกล้เคียงกับค่าธรรมเนียมศาล จึงมีมติร่วมกันให้ยื่นคำขอถอนคำร้องขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล

และที่สำคัญเนื่องจากการฟ้องคดีนี้มีวัตถุประสงค์หลักคือการฟ้องบังคับให้หน่วยงานราชการมีมาตรการในการฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งโดยเร็ว ชาวบ้านเองไม่ต้องการให้คดีต้องมีอุปสรรคที่ทำให้คดีล่าช้า ชาวบ้านจึงพยายามช่วยกันรวบรวมเงิน เฉลี่ยรายละ ๑,๓๗๐ บาท รวมเป็นเงิน ๑,๑๔๒,๕๘๐ บาท เพื่อนำมาวางเป็นค่าธรรมเนียมศาลในวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๖ โดยศาลมีคำสั่งให้จ่ายค่าธรรมเนียมศาลคนละ ๑,๒๖๐ บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น ๑,๐๔๙,๕๘๐ บาท

เงินส่วนที่เหลือที่รวบรวมมา ประมาณ ๙๐,๐๐๐ บาท ชาวบ้านมีมติให้เก็บรวบรวมไว้เป็นกองทุนสำหรับการฟื้นฟูทะเลต่อไป

อีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ทางกลุ่มฯ ตัดสินใจเช่นนี้ ก็เพราะมีความเห็นร่วมกันว่าไม่อยากให้พี่น้องคนใดตกขบวน ยอมรับว่าถ้าไม่จ่ายค่าธรรมเนียมศาลแล้วเกิดตกหล่น ต่อไปคงไม่มีช่วยฟ้องทวงสิทธิ เรียกร้องการแก้ไขปัญหาในอนาคตให้ลูกหลาน

วีรศักดิ์ คงณรงค์ นายกสมาคมประมงพื้นบ้านท้องถิ่นระยอง ให้ความเห็นว่า “วันนี้ศาลให้พวกเรานำเอกสารหลักฐานมาแสดงต่อศาล เพื่อเป็นเหตุในการยกเว้นค่าธรรมเนียม แต่ในความเป็นจริงชาวบ้านทำไม่ได้หรือไม่มี เช่น บัญชีเงินฝาก ซึ่งเราไม่มี เพราะเราหาเช้ากินค่ำ หรือหลักฐานที่แสดงว่ามีบ้านเป็นของตนเอง เพราะชุมชนประมงส่วนใหญ่จะเป็นผู้อาศัย รวมทั้งหลักฐานด้านหนี้สินต่างๆ ซึ่งชาวบ้านไม่สามารถทำได้ เพราะไม่มีบัญชีทรัพย์สินที่ชี้ได้ว่ามีความเดือดร้อน เอกสารหลักฐานเหล่านี้จึงเป็นภาระที่หนักหน่วงของเรา ปัญหานี้สร้างภาระให้กับผู้ฟ้องคดีอย่างเราเป็นอย่างมาก ทั้งที่เราเป็นโจทก์ ไม่ใช่จำเลย”

การฟ้องคดีเพื่อให้หน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายจากการปฏิบัติงานล่าช้า เนื่องจากที่ผ่านมาประชาชนต้องแบกรับผลกระทบทั้งด้านสิ่งแวดล้อม วิถีชีวิต การประกอบอาชีพ สูญเสียโอกาสสร้างรายได้ทั้งปัจจุบันและอนาคต เมื่อประชาชนมีเวลาหาหลักฐานนำมาแสดงแค่ไม่กี่วัน สุดท้ายจึงจำเป็นต้องตัดสินใจเลือกแนวทาง การเอาเงินมาวางศาล ในจำนวนนี้บางคนต้องไปกู้เงินมา บางคนต้องอาศัยการเรี่ยไรเงินช่วยกัน จนเกิดคำถามตามมาว่า คดีสิ่งแวดล้อมที่ผู้ก่อมลพิษสร้างความเดือดร้อน ทำให้การทำมาหากินลำบาก แต่ผู้ได้รับผลกระทบถูกเรียกค่าขึ้นศาล มันยุติธรรมหรือไม่ อะไรคือหลักการคุ้มครองเรื่องการเข้าถึงการเยียวยา โดยเฉพาะผลกระทบที่เกิดจากภาคธุรกิจ

การฟ้องคดีแพ่งและคดีปกครอง เป็นไปตามความตั้งใจของผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนว่าอยากให้หน่วยงานรัฐเข้ามาแก้ไขปัญหา ฟื้นฟูทะเลระยองให้กลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง

ที่ผ่านมาหากหน่วยงานต่างๆ มีความจริงจังจริงใจ แสดงความรับผิดชอบในการแก้ไขปัญหา ที่สำคัญคือระมัดระวังไม่สร้างปัญหาขึ้นมา ผู้ฟ้องก็คงไม่ต้องมาดิ้นรนกันขนาดนี้

ขั้นตอนต่อไปคือศาลนัดไกล่เกลี่ยวันที่ ๑๔ มีนาคม ๒๕๖๖ และนัดสืบพยานวันที่ ๘ พฤษภาคม ๒๕๖๖

ร่วม ๑ ปีหลังเหตุการณ์น้ำมันดิบรั่วลงสู่อ่าวไทย การต่อสู้เพื่อเรียกร้องให้ฟื้นฟูอ่าวระยองผ่านคดีแพ่งและปกครองเพิ่งจะเริ่มต้นขึ้นเท่านั้น

ขอขอบคุณ

  • วราภรณ์ อุทัยรังษี
  • บริษัท กฎหมาย ไรซิ่ง ซัน จำกัด (Rising Sun Law)
  • ส.รัตนมณี พลกล้า
  • มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน