ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล : เรื่อง

หนองไข่น้ำกับโรงไฟฟ้าขยะ
โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะตั้งอยู่หลังกำแพง ติดแปลงเกษตร ประชาชนที่อาศัยอยู่ใกล้เคียงภายในระยะรัศมี ๓๐๐ เมตร และรอบนอก แสดงออกถึงการไม่เห็นด้วย ปักธงและขึงป้ายคัดค้านการก่อสร้าง

เมื่อวันที่ ๘ มีนาคม ๒๕๖๖ มีข่าวเล็กๆ ทางด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ไม่ค่อยได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนกระแสหลัก คือการพิพากษายกฟ้อง คดีที่ชาวบ้านหนองไข่น้ำ จังหวัดสระบุรี ขอให้ศาลปกครองกลางเพิกถอนข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ที่แก้ไขให้อนุญาตสร้างโรงไฟฟ้าขยะในชุมชนได้ โดยขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน

โดยศาลปกครองกลางชี้ว่า กระบวนการแก้ไขข้อบัญญัติให้สามารถสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อน เป็นไปตามขั้นตอนกฎหมาย สอดคล้องกับนโยบายมุ่งจัดหาพลังงานและแก้ไขปัญหาขยะล้นเมือง ตามที่รัฐเคยออกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ ๔/๒๕๕๙ จึงพิพากษายกฟ้อง

หนองไข่น้ำเป็นตำบลเล็กๆ ในอำเภอหนองแค ตั้งอยู่ห่างจากตัวอำเภอเมืองสระบุรีประมาณ ๒๑ กิโลเมตร มีเนื้อที่รวม ๑๑.๙ ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ ๗,๔๕๘ ไร่ แบ่งพื้นที่ออกเป็น ๑๑ หมู่บ้าน มีลำคลองและลำห้วยอย่างละ ๑ สายไหลผ่าน ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม คือ ทำนา หากเป็นประชากรวัยหนุ่มสาวนิยมทำงานเป็นลูกจ้างในโรงงานอุตสาหกรรม เนื่องจากมีโรงงานตั้งอยู่ในตำบลใกล้เคียงและจังหวัดใกล้เคียงจำนวนมาก

หลายปีแล้วที่ชาวตำบลหนองไข่น้ำประสบปัญหาเหมือนชาวบ้านในหลายพื้นที่ทั่วประเทศไทย คือมีโรงไฟฟ้าขยะเข้ามาตั้งภายในชุมชน ใกล้เคียงที่ทำกินและที่อยู่อาศัย

ผังเมืองรวมจังหวัดสระบุรีกำหนดให้พื้นที่ตำบลหนองไข่น้ำเป็นที่ดินประเภทชุมชน (สีชมพู) ให้ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการอยู่อาศัย พาณิชยกรรม เกษตรกรรม สถาบันการศึกษา ฯลฯ และมีข้อห้ามเรื่องการใช้ประโยชน์ที่ดินสำหรับประกอบกิจการโรงไฟฟ้า แต่หลังจากที่มีการออกคำสั่ง คสช. ที่ ๔/๒๕๕๙ เรื่อง การยกเว้นการใช้บังคับกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมสำหรับการประกอบกิจการบางประเภท จึงเกิดการ “ยกเว้นกฎหมายผังเมือง” เปิดช่องให้โรงไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะเข้ามาตั้งอยู่ในชุมชนได้

ย้อนเวลากลับไปปี ๒๕๖๒ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้ลงมติเห็นชอบ อนุมัติโครงการรับซื้อไฟฟ้าภายใต้ชื่อ “โครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะชุมชน” หมายถึงโครงการกำจัดมูลฝอยของราชการส่วนท้องถิ่นที่มีผลพลอยได้เป็นพลังงานไฟฟ้า ในปีเดียวกันมีบริษัทเอกชนผ่านการคัดเลือกให้ดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าขยะ กำลังการผลิต ๙.๕ เมกะวัตต์ ในตำบลหนองไข่น้ำ โดยการนำขยะที่ถูกแปรสภาพเป็น RDF แล้วมาจากโครงการกำจัดขยะมูลฝอยเทศบาลพระพุทธบาท

RDF (Refuse Derived Fuel) เป็นชื่อเรียกเชื้อเพลิงขยะที่ได้จากการนำขยะมูลฝอยที่ผ่านการคัดแยกแล้วมาผ่านกระบวนการแปรรูปและจัดการ ปรับปรุงคุณสมบัติทางกายภาพและคุณสมบัติทางเคมีให้กลายเป็นเชื้อเพลิงขยะ RDF

เข้าสู่ช่วงเดือน มีนาคม-เมษายน ของปีถัดมา มีความคืบหน้าเกี่ยวกับการผลักดันโครงการโรงไฟฟ้าขยะในชุมชนตำบลหนองไข่น้ำ เมื่อทาง อบต.หนองไข่น้ำ ลงมติเห็นชอบและออก “ข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนตำบลหนองไข่น้ำ เรื่อง กำหนดบริเวณห้ามก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเปลี่ยนการใช้อาคารบางชนิดหรือบางประเภทในพื้นที่บางส่วนในท้องที่เขตองค์การบริหารส่วนตำบลหนองไข่น้ำ อำเภอหนองแค จังหวัดสระบุรี (ฉบับที่ ๒ ) พ.ศ.๒๕๖๓” แก้ไขให้สามารถก่อสร้างอาคารที่เป็น “โรงงานผลิตไฟฟ้าจากพลังงานความร้อน” ในพื้นที่ชุมชนได้

ประชาชนในตำบลหนองไขน้ำที่อาศัยอยู่ใกล้พื้นที่ตั้งโรงไฟฟ้าไม่รู้มาก่อนว่ามีการแก้ไขข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนตำบล เนื่องจากไม่มีการให้ข้อมูล หรือจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของคนในพื้นที่

กว่าที่จะทราบว่ามีโครงการโรงไฟฟ้าขยะเข้ามาประชิดติดที่ทำกินและที่อยู่อาศัย ก็ช่วงกลางปี ๒๕๖๓ ที่ทางบริษัทเอกชนจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ ๑ ตามระเบียบ กกพ.

หลังเวทีผ่านพ้นไป คนท้องถิ่นในนาม “เครือข่ายชาวบ้านตำบลหนองไข่น้ำ” จึงรวมตัวกันเพื่อศึกษาหาข้อมูล มีการขอข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จนทราบว่าเคยมีการแก้ไขข้อบัญญัติขององค์การบริหารส่วนตำบล นำมาสู่การเคลื่อนไหวคัดค้าน ยื่นหนังสือแสดงความไม่เห็นด้วยกับโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะในชุมชนหลายต่อหลายครั้ง ยกตัวอย่างกรณีที่ชาวตำบลหนองไข่น้ำจำนวน ๑๕๙ ราย ยื่นหนังสือคัดค้านต่อผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี กรณีที่ยื่นหนังสือคัดค้านและขอให้ทบทวนการออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร (อ.๑) ต่อ กกพ. การเดินทางมายื่นหนังสือขอให้ยกเลิกโครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะ พร้อมทั้งขอให้ยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ ๔/๒๕๕๙ ที่กรุงเทพมหานคร รวมทั้งยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนข้อบัญญัติท้องถิ่นที่อนุญาตให้ก่อสร้างอาคารโรงไฟฟ้า

วันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ ขณะเดินทางมาเรียกร้องที่หน้าทำเนียบรัฐบาล กรุงเทพมหานคร รุ่งศักดิ์ สุจริต ผู้ใหญ่บ้านหมู่ ๒ ซึ่งร่วมเดินทางมากับลูกบ้าน ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวประชาไทว่า ตำบลหนองไข่น้ำ มีทั้งหมด ๑๑ หมู่บ้าน พื้นที่หมู่ ๑, ๒ และ ๔ อยู่ติดกับโรงไฟฟ้า มีประชากรหลายร้อยครัวเรือนที่จะได้รับผลกระทบโดยตรง ที่ผ่านมาผู้บริหารท้องถิ่นในระดับที่สูงกว่าตน ซึ่งมีอำนาจและไม่ใช่คนที่ได้รับผลกระทบต่างพยายามโน้มน้าวให้ประชาชนในหมู่อื่นๆ เห็นด้วยกับโครงการ จึงทำให้มีประชาชนจาก ๓ หมู่บ้านเท่านั้นที่ออกมาเรียกร้อง

สองปีต่อมา วันที่ ๘ มีนาคม ๒๕๖๖ ศาลปกครองกลางพิพากษายกฟ้องคดีความที่ประชาชนฟ้ององค์กรบริหารส่วนท้องถิ่นและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ทนายความจากมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW)สรุปประเด็นการยกฟ้อง ดังนี้

nongkai02
ภาพมุมสูงแสดงบริเวณที่จะสร้างโรงไฟฟ้าขยะ สภาพโดยรอบเป็นทุ่งนา มีบ่อน้ำธรรมชาติ บ้านเรือน หอพักหลายหลัง โครงการนี้จะนำเชื้อเพลิงขยะ RDF มาจากอำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี (ขอบคุณ : Google)
nongkai03
ต้นปี ๒๕๖๔ เครือข่ายชาวบ้านตำบลหนองไข่น้ำเดินทางมายื่นเรื่องร้องเรียนกับหลายหน่วยงานในกรุงเทพมหานคร อาทิ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.), สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในภาพเป็นกิจกรรมปราศรัยและยื่นหนังสือขอให้ยกเลิกโครงการโรงไฟฟ้าขยะซึ่งตั้งอยู่ในชุมชน และคำสั่ง หัวหน้า คสช. ๔/๒๕๕๙ ที่หน้าทำเนียบรัฐบาล (ขอบคุณ : สำนักข่าวประชาไท)
nongkai04
คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ ๔/๒๕๕๙ ทำให้เกิดการ “ยกเว้นกฎหมายผังเมือง” เปิดช่องให้โรงไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะเข้ามาตั้งอยู่ในชุมชนได้  

ข้อ ๑. กระบวนการออกข้อบัญญัติ อบต.หนองไข่น้ำ เรื่องกำหนดบริเวณห้ามก่อสร้างฯ เป็นไปตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดไว้แล้ว และกฎหมายไม่ได้กำหนดให้ต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชนก่อน

ศาลปกครองกลางเห็นว่าการที่ประธานสภา อบต.หนองไข่น้ำ ออกหนังสือเชิญกำนันและผู้ใหญ่บ้านเข้าร่วมรับฟังการประชุม ปิดประกาศเรื่องการประชุมสภา อบต.หนองไข่น้ำ โดยระบุวัน เวลา สถานที่ รวมทั้งเรื่องที่จะนำเข้าที่ประชุมเพื่อพิจารณา ไว้ ณ ที่ทำการ อบต.หนองไข่น้ำ ถือได้ว่ามีการประชาสัมพันธ์ให้รับทราบพอสมควรแล้วตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยข้อบังคับการประชุมสภาท้องถิ่น

ข้อ ๒.ข้อบัญญัติ อบต.หนองไข่น้ำ เรื่องกำหนดบริเวณห้ามก่อสร้างฯ (ฉบับที่ ๒) ..๒๕๖๓ ไม่ขัดต่อผังเมืองรวมจังหวัดสระบุรีที่กำหนดห้ามสร้างโรงไฟฟ้าในที่ดินประเภทชุมชน

ข้อนี้ศาลปกครองกลางเห็นว่า ผังเมืองรวมจังหวัดสระบุรี กำหนดว่ามิให้ใช้บังคับในท้องที่ที่มีการประกาศใช้บังคับผังเมืองรวมอื่นอยู่แล้ว เดิมพื้นที่ตำบลหนองไข่น้ำอยู่ภายใต้บังคับผังเมืองรวมชุมชนหินกอง-โคกแย้ จึงไม่อยู่ภายใต้บังคับของผังเมืองรวมจังหวัดสระบุรี และถึงแม้ว่าพื้นที่พิพาทจะอยู่ในพื้นที่สีเขียวตามกฎกระทรวงหินกอง-โคกแย้ มีข้อกำหนดห้ามประกอบกิจการโรงไฟฟ้า แต่เนื่องจากขณะที่ออกข้อบัญญัติ อบต. หนองไข่น้ำ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๖๓ แก้ไขให้สามารถอนุญาตการประกอบกิจการโรงไฟฟ้าในพื้นที่ชุมชนหนองไข่น้ำได้ กฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมชุมชนหินกอง-โคกแย้ จังหวัดสระบุรี พ.ศ.๒๕๕๐ ได้สิ้นสุดการใช้บังคับไปแล้ว จึงไม่ขัดกับกฎกระทรวงผังเมืองรวมชุมชนหินกอง-โคกแย้ เช่นเดียวกัน นอกจากนี้ ศาลยังเห็นว่าการออกข้อบัญญัติดังกล่าวสอดคล้องกับนโยบายของรัฐที่มุ่งจัดหาพลังงาน และแก้ไขปัญหาขยะล้นเมือง เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ ตามเหตุผลของรัฐที่ออกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ ๔/๒๕๕๙ เรื่องการยกเว้นการใช้บังคับกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมสำหรับการประกอบกิจการบางประเภท

สำหรับนักปกป้องสิทธิ หรือผู้ที่ทำงานด้านพัฒนาคุณภาพชีวิต สังคม และสิ่งแวดล้อม ต่างตระหนักดีว่าการบังคับใช้กฎหมายผังเมืองเป็นมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมเชิงพื้นที่ที่มีความสำคัญ ช่วยปกป้องสิทธิ เสรีภาพ และสร้างการมีส่วนร่วม เนื่องจากการจัดทำผังเมืองรวมตาม พรบ.การผังเมือง พ.ศ.๒๕๑๘ และฉบับปัจจุบัน พ.ศ.๒๕๖๒ จะต้องประกาศเผยแพร่ให้ประชาชนรับทราบ และหน่วยงานจะต้องจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็น เมื่อรับฟังความคิดเห็นแล้วก็ต้องนำความคิดเห็นไปประกอบการพิจารณาวางหรือทบทวนผังเมืองรวม
ผู้ฟ้องคดีจึงยังไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของศาล

อัมรินทร์ สายจันทร์ ทนายความจากมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม ชี้แจงว่า ชาวบ้านมีความคาดหวังว่าศาลจะให้ความสำคัญกับการตีความบังคับใช้กฎหมายผังเมือง ซึ่งถือเป็นมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมเชิงพื้นที่ที่มีความสำคัญ และช่วยคุ้มครองปกป้องสิทธิการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตัดสินใจที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่านี้ แต่ก็ยังไม่มีปรากฎขึ้นมาในคำพิพากษา การจะมีสิ่งแวดล้อมที่ดี ระบบการตัดสินใจของหน่วยงานรัฐต่างๆ ต้องให้ความเคารพต่อสิทธิของประชาชนและชุมชนโดยเฉพาะสิทธิในด้านสิ่งแวดล้อม

ด้วยเหตุนี้ผู้ฟ้องคดีและมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อมจึงเตรียมใช้สิทธิอุทธรณ์ ด้วยความหวังว่าศาลปกครองสูงสุดจะวางบรรทัดฐานการคุ้มครองสิทธิทางสิ่งแวดล้อมและการบริหารราชการที่ดีต่อไป

ธนพร วิจันทร์
ชาวตำบลหนองไข่น้ำอำเภอหนองแค จังหวัดสระบุรี


บ้านอยู่ห่างจากรั้วโรงไฟฟ้าไม่ถึง ๒๐๐ เมตร เปิดประตูบ้านมาก็เห็นโรงไฟฟ้า เพื่อนบ้านที่อยู่ข้างๆ ก็ติดรั้วโรงไฟฟ้าเลย เราทำสวน แล้วก็ทำงานในโรงงานด้วย ชาวบ้านญาติพี่น้องก็ทำไร่ ทำนา ทำสวน บางคนเป็นเจ้าของกิจการหอพัก ที่เราพอจะรู้คือช่วงปี ๒๕๖๑-๒๕๖๒ มีคนมาหาซื้อที่ดิน พื้นที่น่าจะประมาณ ๑๐ ไร่ ได้ยินว่าจะทำโรงงานขนมปัง ไม่รู้เลยว่าจะกลายเป็นโรงไฟฟ้า

พื้นที่ตรงนั้นเคยเป็นที่นา รอบๆ ตอนนี้ก็ยังเป็นที่นา มีบ่อน้ำ เขาล้อมรั้วแล้วรอบๆ ก็ยังทำนากันอยู่ ช่วงที่ไม่ได้ทำนาก็ปลูกผัก บวบ แตง แล้วก็มีบ้านคน มีหอพัก มีห้องเช่ารวมกันหลายร้อยห้องเพราะอยู่ใกล้นิคมอุตสาหกรรมหนองแค

ตอนแรกก็เห็นว่าเขาจะให้โรงไฟฟ้าอยู่ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม มันก็น่าจะเป็นอย่างนั้น ทำไมต้องเอาโรงไฟฟ้าออกมาตั้งข้างนอก ถ้าอยู่ในนิคมเราคงไม่ติดขัดไม่กังวลมากอย่างนี้ ทำไมถึงไม่โซนนิ่งให้โรงงานอยู่ในพื้นที่เฉพาะ เราพยายามศึกษา เห็นว่ามีข้อกำหนดให้โรงไฟฟ้าต้องตั้งอยู่ห่างชุมชนอย่างน้อย ๓๐๐ เมตร แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงไม่ได้เป็นอย่างนั้น ถนนที่อยู่ติดโรงไฟฟ้าก็เป็นถนนเส้นเล็กๆ ที่รถแทบจะแล่นสวนกันไม่ได้ เป็นซอยเล็กๆ สำหรับเข้าบ้านมากกว่า มันไม่เหมาะสมจริงๆ เขาต้องตระหนัก ถ้าจะขนส่งวัตถุดิบคงต้องผ่านที่ดินอีกแปลง เขาอาจจะตกลงกันไว้แล้ว เห็นในรายงานว่าปีหนึ่งเขาจะเดินเครื่อง ๓๓๑ วัน หยุดแค่ ๓๔ วัน แล้วเราจะอยู่กันยังไง

เขาเคยพาเราไปดูงาน ไปดูโรงไฟฟ้า แต่ก็เป็นโรงไฟฟ้าที่ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมของจังหวัดชลบุรี มีมาตรการ แต่โรงไฟฟ้าขยะที่กำลังจะเกิดในตำบลของเรามันตั้งอยู่ในชุมชน ทำไมถึงเอาโรงไฟฟ้ามาตั้งนอกนิคม