ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล : รายงาน

เมื่อกลุ่มอนุรักษ์อุดรฯ ทวงถาม เอกสารประทานบัตรเหมืองโปแตช
หนองนาตาล หนองน้ำธรรมชาติขนาดพื้นที่ประมาณ ๘๐๐ ไร่ เป็นประปาชุมชนของชาวบ้าน อยู่ติดกับพื้นที่ที่จะเป็นโรงแต่งแร่ ตามแผนผังเหมืองมีการล้ำเข้ามาในหนองนาตาล ข้อห่วงกังวลของชาวบ้านข้อแรกคือการแย่งใช้น้ำ นำไปใช้ทำอุตสาหกรรมเหมือง ข้อสองคือการปนเปื้อนของเกลือที่จะไหลลงสู่แหล่งน้ำ ทำให้เกิดสภาพความเค็ม (ภาพ : เดชา คำเบ้าเมือง)

เมื่อวันที่ ๙ มีนาคม ๒๕๖๖ กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานีได้เดินทางจากจังหวัดอุดรธานีมายังกรุงเทพมหานคร เพื่อติดตามความคืบหน้าในการขอข้อมูลเอกสารประกอบการพิจารณาออกใบอนุญาตประทานบัตรโครงการเหมืองแร่โปแตซ หลังจากยื่นหนังสือมาทางไปรษณีย์แล้วไม่ได้รับการติดต่อกลับ ผ่านไปหลายวันแล้วก็ยังไม่มีการนำส่งเอกสาร

วันนั้นตัวแทนกลุ่มอนุรักษ์ซึ่งเดินทางมาจากจังหวัดอุดรธานีร่วมสิบคนได้เดินทางไปยังหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ๒ หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) และ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.)

สาเหตุของการยื่นหนังสือขอข้อมูลเอกสารประกอบการพิจารณาออกใบอนุญาตประทานบัตร เนื่องมาจากบริษัท เอเชีย แปซิฟิก โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด อันเป็นบริษัทลูกของบริษัท อิตาเลียนไทย ดิเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ได้รับอนุญาตประทานบัตรให้ทำเหมืองแร่ใต้ดินในปี ๒๕๖๕ ขนาดเนื้อที่กว่า ๒๒,๔๔๖ ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ ๕ ตำบล ในอำเภอประจักษ์ศิลปาคม และอำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี โดยมีอายุประทานบัตรยาวนาน ๒๕ ปี

ช่วงเช้า กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานีเดินทางไปสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตึกทิปโก้ ถนนพระราม ๖ หน่วยงานระดับกรมในสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อติดตามความคืบหน้าเรื่องการขอรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ อีไอเอ ที่ สผ. พิจารณาผ่านความเห็นชอบ แล้วทาง กพร. นำไปประกอบการออกใบอนุญาตทำเหมืองแร่ใต้ดิน มีการออกใบอนุญาตเมื่อเดือนกันยายน ๒๕๖๕

วรพจน์ ทองอุปการ ผู้อำนวยการกลุ่มงานเหมืองแร่และพัฒนาปิโตรเลียม ออกมาพูดคุยและขอขยายระยะเวลาส่งมอบข้อมูลและเอกสารที่ระบุไว้ในหนังสือต่อไปอีก ๒ สัปดาห์ ให้เหตุผลว่า ข้อมูลที่ทางกลุ่มขอเป็นข้อมูลเก่า ยากต่อการติดตาม และเอกสารบางอย่างต้องดำเนินการตามขั้นตอน

ต่อมา กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานีเดินทางไปยังกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ หน่วยงานในสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อติดตามความคืบหน้าของหนังสือขอข้อมูลเอกสารประกอบการพิจารณาการออกประทานบัตร รวมทั้งขอเอกสารประกอบต่างๆ เช่น เงื่อนไขแนบท้ายประทานบัตร ผังเมือง โครงสร้างทางธรณีวิทยา รายงานการไต่สวนพื้นที่ รวมถึงหลักฐานการมีส่วนร่วม เศรษฐรัชต์ เลือดสกุล รองอธิบดี กพร. ออกมารับเรื่องและรับปากกับตัวแทนกลุ่มอนุรักษ์ว่าจะดำเนินการตามเรื่องให้ภายใน ๑๕ วัน

potassmine02
โนนหมากโม พื้นที่สูงกว่าระดับน้ำทะเลปานกลาง ๒๐๒ เมตร เป็นพื้นที่สูงกว่าชุมชน ชาวบ้านถือว่าเป็นต้นน้ำ มีทำเกษตรโดยรอบ ตามแผนผังจะเป็นลานกองเกลือที่ถูกขุดขึ้นมาจากเหมือง ข้อห่วงกังวลคือหากมีฝนตก ลมพัด กองเกลือ น้ำเกลือจะไหลไปตามลำห้วยต่างๆ เข้าสู่พื้นที่เกษตรกรรม (ภาพ : เดชา คำเบ้าเมือง)

ตัวแทนกลุ่มอนุรักษ์ชี้แจงว่าพวกตนเคยทำเรื่องขอข้อมูลมาก่อนหน้านี้แล้ว แต่ไม่ได้รับเอกสาร ไม่มีการติดต่อกลับ จึงจำเป็นต้องเดินทางจากอีสานบ้านเกิดมาทวงถามข้อมูลถึงเมืองหลวง

การเคลื่อนไหวของภาครัฐทั้งระดับนโยบายและระดับปฏิบัติ เกี่ยวกับโครงการเหมืองแร่โพแทชภายในจังหวัดอุดรธานี มีมาตั้งแต่ก่อนกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานีจะถือกำเนิดขึ้นเมื่อปี ๒๕๔๔

สืบเนื่องจากฐานคิดในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติแบบรวมศูนย์อำนาจการตัดสินใจเอาไว้ที่รัฐบาลส่วนกลาง ไม่เปิดช่องให้เกิดการสื่อสาร การรับรู้ข้อมูลข่าวสาร และกระบวนการมีส่วนร่วมตัดสินใจของคนท้องถิ่น ผู้มีวิถีชีวิตผูกพันกับฐานทรัพยากรธรรมชาติ ผู้ที่ต้องอาศัยใช้ชีวิตอยู่ในบริเวณที่ถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่ตั้งโครงการ

ในพื้นที่ภาคอีสาน ราวปี ๒๕๑๖ ถือเป็นช่วงแรกๆ ที่รัฐพยายามเข้ามาสำรวจหาแหล่งแร่เพื่อใช้ประโยชน์ในทางเศรษฐกิจ มีเจ้าหน้าที่จากกรมทรัพยากรธรณีออกสำรวจแหล่งแร่ชนิดต่างๆ ทั่วทั้งภาค ซึ่งจังหวัดอุดรธานีถูกวางเป็นพื้นที่เป้าหมายลำดับแรกๆ ของการสำรวจ

potassmine03
ผิวดินที่อำเภอแห่งหนึ่งในจังหวัดชัยภูมิมีส่าเกลือผุดทั่วเป็นดอกดวงสีขาว สัญลักษณ์อย่างหนึ่งว่าลึกลงไปใต้พื้นดินเป็นแหล่งเกลือหินและแร่โพแทส (ภาพ : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล)

คนที่เกิดทันยุคนั้นยังจำได้ว่าการเข้ามาสำรวจหาแหล่งแร่ในอดีต เจ้าหน้าที่ภาคสนามมักจะอ้างกับชาวบ้านว่าทางราชการเป็นผู้ส่งตัวมา ยื่นเอกสารราชการให้ชาวบ้านดู แต่ไม่ชี้แจงข้อมูลเนื้อหาให้รับรู้เข้าใจ ธรรมชาติของชาวบ้านในพื้นที่อันห่างไกลได้ยินว่าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐมาทำงานหลวงก็ไม่มีใครกล้าขัดขวาง หรือแม้แต่จะเอ่ยปากซักถาม ปล่อยให้มีการขุดเจาะสำรวจที่ดิน เกิดผลกระทบทันทีคือเสียงดังจากการขุดเจาะทั้งกลางวันและกลางคืน รถและอุปกรณ์ขุดเจาะบดทับทำลายคันนา บางพื้นที่ก็มีน้ำเค็มหรือน้ำเกลือไหลขึ้นมาจากหลุมที่ถูกขุดเจาะ

โปแตซ (Potash) หรือแร่โปแตซ มีชื่อทางเคมีว่า โพแทสเซียมคลอไรด์ (potassium chloride) จัดอยู่ในกลุ่มเกลืออนินทรีย์ (inorganic salt) ประกอบด้วยสารเคมี ๒ ชนิด คือ โพแทสเซียมคลอไรด์ เป็นส่วนใหญ่มีปริมาณร้อยละ ๙๕-๑๐๐ และโซเดียมคลอไรด์ หรือ “เกลือแกง” ปริมาณร้อยละ ๐-๕ อาจกล่าวได้ว่าโพแทสเป็นกลุ่มแร่ที่มีโพแทสเซียมเป็นส่วนประกอบสำคัญ และมักพบร่วมกับเกลือหิน

ปัจจุบันโปแตซถูกใช้เป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตปุ๋ยโพแทสเซียม ๑ ใน ๓ ส่วนผสมสำคัญของปุ๋ยเคมีคือ ไนโตรเจน (N) ฟอสฟอรัส (P) และโพแทสเซียม (K) ที่มีคุณสมบัติเพิ่มผลผลิตและป้องกันโรค แต่เนื่องจากแร่โพแตสมีส่วนผสมของเกลือด้วยจึงต้องนำมาผ่านกระบวนการก่อน

การทำเหมืองโพแทสนอกจากจะใช้พื้นที่กว้างเพื่อวางกองกากเกลือ ยังต้องขุดอุโมงค์ลึกลงไป ๒๐๐-๓๐๐ เมตร แล้วทำเหมืองใต้ดินกินอาณเขตกว้างขวางกว่าบนดินอีกหลายเท่า

การเพิ่มขึ้นของประชากรทำให้ความต้องการพืชผลทางการเกษตรเพิ่มขึ้น และทำให้ความต้องการแร่โพแทชเพิ่มขึ้นตามไปด้วย  แต่การทำเหมืองโพแตซต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม ในเมืองไทยถูกต่อต้านมาโดยตลอดเพราะทำให้เกิดกองกากเกลือสูงเป็นภูเขาเลากา มีโอกาสที่ผืนดินจะเปลี่ยนสภาพเป็นดินเค็ม แหล่งน้ำไม่มีปลาและสัตว์น้ำอยู่อาศัย สังกะสี หลังคาบ้าน ข้าวของเครื่องใช้ในรัศมีไอเค็มกระจายไปถึงผุผังเร็วกว่าปรกติ

พิกุลทอง โทธุโย สมาชิกกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ชี้แจงว่าทางกลุ่มต่อสู้คัดค้านโครงการเหมืองโปแตซในพื้นที่มานานกว่ายี่สิบปี และยื่นหนังสือขอข้อมูลเอกสารกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดเมื่อวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ตัวแทนกลุ่มได้เดินทางมากรุงเทพฯ เพื่อยื่นหนังสือที่สำนักงาน สผ. และ กพร. แต่ก็ไม่ได้รับคำตอบหน่วยงานราชการทั้งสอง จึงต้องเดินทางมาทวงถามด้วยตนเองอีกครั้ง สาเหตุที่ต้องคัดค้านโครงการเพราะเห็นว่าเหมืองโปแตซจะส่งผลกระทบรุนแรงทั้งด้านชุมชน สังคม สิ่งแวดล้อม ก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพ และทำลายวิถีชีวิตของผู้คนในท้องถิ่น นอกจากนี้ ทางกลุ่มคิดว่าขั้นตอนการดำเนินการ รวมถึงกระบวนการขอประทานบัตรของบริษัทฯ นั้นอาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย

potassmine04
ตัวแทนกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานีเดินทางจากอุดรธานีมาติดตามความคืบหน้าเรื่องการยื่นหนังสือขอข้อมูลเอกสารประกอบการพิจารณาออกใบอนุญาตประทานบัตร ที่ สผ. และ กพร. ในกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ ๙ มีนาคม ๒๕๖๖ หลังส่งหนังสือมาทางไปรษณีย์แล้วไม่ได้รับการติดต่อกลับ (ภาพ : เดชา คำเบ้าเมือง)
potassmine05
กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานีออกเดินรณรงค์ไปตามถนนภายในเขตเทศบาลนครอุดรธานี จากหน้ามหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานีไปสิ้นสุดที่สนามทุ่งศรีเมือง เมื่อวันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๖ รณรงค์คัดค้านการให้สัมปทานเหมืองแร่โปแตช และกระจายข่าวหาผู้สนับสนุนการยื่นฟ้องต่อศาลปกครองเพิกถอนใบอนุญาตประทานบัตร (ภาพ : คนอุดรสู้เหมือง : No Potash Mining)

ย้อนเวลากลับไปราวสิบปีก่อน กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานีเคยฟ้องยกเลิกรายงานในใบไต่สวนประกอบคำขอประทานบัตรโครงการเหมืองแร่โปแตช จังหวัดอุดรธานี จำนวน ๔ แปลง เนื้อที่กว่า ๒๖,๔๔๖ ไร่ ซึ่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลปกครองอุดรธานีมีคำพิพากษาให้หน่วยงานรัฐกลับไปดำเนินกระบวนการใหม่ ตาม พ.ร.บ.แร่ ๒๕๖๐ ปัจจุบันอยู่ระหว่างกระบวนการอุทธรณ์คดีในชั้นศาลปกครองสูงสุด

เมื่อมีการพิจารณาออกใบอนุญาตประทานบัตรในปีที่ผ่านมา ทางกลุ่มคาดว่าคงจะต้องมีการขยับเคลื่อนกันในทางกฎหมาย

วีรวัฒน์ อบโอ ทนายความมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน ให้ข้อมูลว่า “การฟ้องเพิกถอนประทานบัตร มีหลายประเด็นมากที่เราน่าจะต้องฟ้อง ทั้งประเด็นเรื่องรายงานอีไอเอ ขั้นตอนการรังวัดกำหนดเขตเหมือง การสำรวจข้อมูล การกันพื้นที่ และการรับฟังความคิดเห็น เพราะขั้นตอนเหล่านี้เป็นขั้นตอนสำคัญที่หน่วยงานรัฐต้องนำไปพิจารณาเพื่อออกประทานบัตร ไม่ใช่แค่รายงานใบไต่สวนแบบครั้งก่อน”

เป็นไปได้ว่าวันหนึ่งในช่วงสิ้นเดือนมีนาคม ๒๕๖๖ กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี และมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน จะร่วมกันฟ้องศาลปกครองอีกครั้ง เริ่มต้นการต่อสู้ครั้งใหม่ในกระบวนการยุติธรรมเพื่อเพิกถอนประทานบัตรโครงการ

ขอขอบคุณ

  • คุณมิ่งขวัญ ถือเหมาะ

“ชาวบ้านค้านมาหลายรัฐบาล ผ่านนายกหลายคน แต่พอมาเจอรัฐบาลที่ไม่ค่อยฟังเสียงประชาชน อยู่ดีๆ ก็ทุบโต๊ะเคาะปึงลงมาเลยว่าให้ทำเหมืองที่นี่”

เดชา คำเบ้าเมือง
ตำบลห้วยสามพาด อำเภอประจักษ์ศิลปาคม จังหวัดอุดรธานี
สมาชิกกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี

บ้านของผมอยู่ในเขตประทานบัตรเหมือง๒๒,๔๔๖ ไร่ เป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยตรง ครั้งนี้กลุ่มของเราเดินทางมาตามเรื่องขอดูเอกสารจากสองหน่วยงาน หลังจากปีที่แล้วรัฐบาลประยุทธ์ไฟเขียวให้เดินหน้าเหมืองโปแตซ นำมาสู่การออกใบอนุญาตประทานบัตร พวกเราอยากรู้ว่าเอกสารประกอบการยื่นขอประทานบัตรมันเป็นยังไง เป็นเอกสารตามที่ชาวบ้านเคยฟ้องเมื่อปี ๒๕๕๖ แล้วศาลตัดสินปี ๒๕๖๑ ว่าต้องดำเนินกระบวนการขอประทานบัตรใหม่ตามกฎหมายแร่ฉบับใหม่ปี ๒๕๖๐ ใช่มั๊ย

ตั้งแต่ศาลมีคำพิพากษาจนถึงวันนี้ เรามองว่าที่ผ่านมา ยังไม่เห็นว่าทางบริษัทหรือกรมเหมืองแร่ได้ดำเนินการใหม่ตามคำพิพากษาของศาล แล้วเขาจะเอาเอกสารส่วนใดไปประกอบการพิจารณาอนุญาตประทานบัตร ทั้งรายงานอีไอเอ เอกสารประกอบคำขอประทานบัตร รายละเอียดเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมเอย หรือขั้นตอนการทำเหมืองเอย เราตั้งข้อสังเกตว่ามันเป็นสิ่งที่ไม่ชอบ

อีกประเด็นหนึ่งคือทางกลุ่มตั้งธงไว้ว่าจะมีการฟ้องศาลปกครอง ซึ่งก็ต้องนำเอกสารเหล่านี้มาดูว่ามีส่วนไหนที่บริษัท ผู้ประกอบการ หน่วยงาน ไม่ได้ดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมายแร่ ตามขั้นตอนประทานบัตร เราฟ้องแน่ กำหนดไว้ว่าน่าจะวันที่ ๒๙ มีนาคม

การที่ สพ. ขอขยายระยะเวลาส่งมอบข้อมูลและเอกสารต่อไปอีก ๒ สัปดาห์ ส่วนกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่บอกว่าจะดำเนินการตามเรื่องให้ภายใน ๑๕ วัน ถามว่าพวกเราพอใจมั๊ย ก็ไม่พอใจเสียทีเดียว ซึ่งถ้าไม่มาตามถึงกรุงเทพฯ ก็คงไม่ได้ขยับถึงขนาดนี้ด้วยซ้ำไป

อันที่จริงหลังจากที่มีการออกประทานบัตร ชาวบ้านที่อุดรธานีก็ยื่นเรื่องตามที่จังหวัด ทั้งที่ผู้ว่าฯ ที่อุตสาหกรรมจังหวัด แต่ก็ไม่มีความคืบหน้า ได้เอกสารมาก็เป็นเอกสารที่ไม่มีข้อมูลเชิงลึก เป็นเอกสารขั้นตอนแจ้งเพื่อทราบทั่วไป พอทางกลุ่มได้มาตามเรื่องถึงกรุงเทพฯ ก็เห็นว่าเขาต้องดำเนินการ ถามว่าพอใจมั๊ยก็ไม่พอใจ แต่ว่าในกระบวนการที่เกิด สิ่งที่ชาวบ้านทำก็เห็นว่าอย่างน้อย ได้มองเห็นความเคลื่อนไหวของชาวบ้านที่ออกมาติดตามเพราะกระบวนการของทางราชการที่มันล่าช้า ซึ่งหลังจากนั้น สผ. ก็เริ่มขยับ มีหนังสือตอบกลับมาว่าจะดำเนินการในวันที่ ๒๔ มีนาคม อย่างน้อยก็เห็นว่าเขาโดนจี้และต้องเร่ง ถ้ายื่นอยู่แค่จังหวัด ป่านนี้ก็คงไม่ขยับอะไร

ที่ผ่านมาเราต้านไม่ให้เกิดเหมืองโพแตซในพื้นที่ของเราได้ ชาวบ้านค้านมาหลายรัฐบาล ผ่านนายกหลายคน แต่พอมาเจอรัฐบาลที่ไม่ค่อยฟังเสียงประชาชน ถึงแม้ศาลตัดสินออกมา พูดแบบภาษาชาวบ้านก็คือตัดสินให้ชาวบ้านชนะ แล้วตอนนี้อยู่ระหว่างการอุทธรณ์ของศาลปกครองสูงสุด รัฐบาลก็ไม่ฟัง อยู่ดีๆ ก็ทุบโต๊ะเคาะปึงลงมาเลยว่าให้ทำเหมืองที่นี่