ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล : รายงานและถ่ายภาพ

0wavewall01
ความพยายามป้องกันชายฝั่งด้วยกล่องกระชุหิน นำก้อนหินขนาดใหญ่มาบรรจุในโครงลวดเหล็กวางเรียงขนานกับแนวชายฝั่ง คุณภาพของกล่องกระชุหินมีผลต่ออายุการใช้งาน ถ้าไม่ได้มาตรฐานอาจเกิดสนิมและพังได้ง่าย

เมื่อวันที่ ๑๕ มีนาคม ๒๕๖๖ คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติได้จัดประชุม ครั้งที่ ๑/๒๕๖๖ ณ ห้องประชุมมูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ ๕ จังหวัด มีผู้แทนจากหลายฝ่ายเข้าร่วมประชุม หนึ่งในวาระที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณา คือ การแก้ปัญหากำแพงกันคลื่น ตามข้อเรียงร้องของภาคประชาชน

มติที่ประชุมเห็นชอบให้ “กำแพงติดแนวชายฝั่งทะเลทุกขนาดต้องจัดทำ EIA”

หลังจากเพิกถอนโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นออกจากทำ EIA มาตั้งแต่ปี ๒๕๕๖ ผ่านมาร่วม ๑๐ ปี กำแพงกันคลื่นหรือที่ทางสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ใช้คำว่า “กำแพงติดแนวชายฝั่งทะเล” ภาษาอังกฤษคือ “Seawall” ทุกขนาด จึงต้องกลับมาทำ EIA อีกครั้ง นับเป็นความสำเร็จของภาคประชาชนที่ออกมาเรียกร้อง

ย้อนกลับไปยังจุดเริ่มต้นของปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งจากกำแพงกันคลื่น

ก่อนหน้าปี ๒๕๕๖ กำแพงกันคลื่นเคยเป็นโครงสร้างที่ต้องทำรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม หรือ อีไอเอ (EIA) กระทั่งคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติลงมติในที่ประชุม ครั้งที่ ๖/๒๕๕๖ วันที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๕๖ เห็นชอบให้ยกเลิกการทำ EIA สำหรับโครงการหรือกิจการประเภท “กําแพงริมชายฝั่ง” ต่อมาวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๖ เอกสารท้ายประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่องกำหนดประเภทและขนาดของโครงการหรือกิจการซึ่งต้องทำ EIA จึงยกเลิกข้อความ ตัดประโยค “๒๕.๑ กำแพงริมชายฝั่ง ติดแนวชายฝั่ง ความยาวตั้งแต่ ๒๐๐ เมตร ขึ้นไป ให้เสนอในขั้นขออนุมัติหรือขออนุญาตโครงการ” ออกไป

ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงข้อความในเอกสารเพียงไม่กี่ประโยคที่ทำให้เกิดผลกระทบตามมาอย่างคาดไม่ถึง คือทำให้โครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่น การวางกองหิน กระชุหิน ถุงใยสังเคราะห์บรรจุทรายบนหาดทรายและริมฝั่งทะเลไม่ต้องทำ EIA ไม่ต้องผ่านกลไกการตรวจสอบทางวิชาการ รวมทั้งตัดตอนกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนผ่านการทำรายงาน EIA

เวลานั้น สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) หน่วยงานในสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีหน้าที่พิจารณาโครงการและกิจการต่างๆ ที่ต้องทำ EIA ให้เหตุผลกับสังคมว่า

การสร้างกำแพงริมทะเลส่วนใหญ่เป็นโครงการของรัฐ นำโดยกรมโยธาธิการและผังเมือง กรมเจ้าท่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การดําเนินงานของหน่วยงานต่างๆ เหล่านี้เป็นภารกิจที่ต้องเร่งแก้ไขปัญหาและบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ที่ได้รับผลกระทบ ทั้งจากน้ำกัดเซาะชายฝั่ง การตกตะกอนบริเวณปากร่องน้ำซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการเดินเรือขนาดเล็ก จึงมีความจําเป็นต้องเร่งแก้ปัญหา ป้องกันไม่ให้เกิดการกัดเซาะลุกลาม ที่ผ่านมาเมื่อหน่วยงานต่างๆ ได้รับงบประมาณมาดําเนินการ มีอุปสรรคในขั้นตอนการจัดทํารายงานอีไอเอ ที่ใช้เวลานานกว่าจะแล้วเสร็จ จนไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ทันท่วงที…

กลายเป็นจุดเริ่มต้นของ “โรคระบาดบนหาดทราย” มาจนถึงทุกวันนี้ เพราะเมื่อยกเลิกการทำ EIA โครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นก็ยิ่งผ่านการอนุมัติและเกิดขึ้นโดยง่าย หน่วยงานต่างๆ ทั้งส่วนกลางและท้องถิ่นพากันตั้งโครงการและเบิกงบประมาณไปใช้สร้างกำแพงกันคลื่น

หน่วยงานหลักที่ได้รับงบประมาณสร้างกำแพงกันคลื่น

จากข้อมูลการใช้งบประมาณในการป้องกันชายฝั่ง ด้วยการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ กรมเจ้าท่า และกรมโยธาธิการและผังเมือง พบว่าหลังการเพิกถอนกำแพงกันคลื่นออกจากการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) มีโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นเกิดขึ้น ๑๒๕ โครงการทั่วทุกชายหาดในประเทศไทย ใช้งบประมาณในการดำเนินการรวม ๘,๔๘๗,๐๗๑,๑๐๐ บาท โดยกรมเจ้าท่าดำเนินการโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่น จำนวน ๑๘ โครงการ งบประมาณ ๑,๗๙๒,๑๗๑,๐๐๐ บาท ในส่วนกรมโยธาธิการฯ ดำเนินการโครงการกำแพงกันคลื่น ๑๐๗ โครงการ ใช้งบประมาณ ๖,๖๙๔,๘๙๙,๔๐๐ บาท รวมระยะทางการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นเฉพาะของกรมโยธาธิการ ๗๐.๔๑๓ กิโลเมตรตลอดแนวชายฝั่ง

จากตัวเลขการใช้จ่ายงบประมาณ สะท้อนว่า กรมโยธาธิการและผังเมือง กลายเป็นหน่วยงานหลักที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณในการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นมากที่สุดต่อเนื่องทุกปี แต่ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งไม่ได้ลดลงแต่อย่างใด อีกทั้งยังเป็นต้นเหตุทำให้เกิดความขัดแย้งในหมู่พี่น้องประชาชนภายในชุมชนที่เข้าไปดำเนินโครงการ

อ้างอิง/รวบรวมข้อมูล : Beach for life
0wavewall02
หาดปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่ต้องสูญเสียเม็ดทราย กลายเป็นปัญหาเรื้อรัง

ตลอดระยะเวลา ๑ ทศวรรษ มีหลักฐานเชิงประจักษ์มากมายที่แสดงให้เห็นว่า กำแพงกันคลื่นซึ่งถูกสร้างอย่างเร่งรีบ รวบรัด ไม่ผ่านการศึกษาผลกระทบทางสิ่งเเวดล้อมและสังคมอย่างรอบด้าน ไม่มีกลไกทางกฎหมายที่เข้มงวดกวดขันเข้ามาควบคุมตรวจสอบ ทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และผู้คน

หาดทรายหลายแห่งสูญหายไป กลายเป็นแนวกำแพงคอนกรีตหรือไม่ก็บันไดปูน

ปลายปี ๒๕๖๕ มีการรณรงค์อย่างแข็งขันของผู้ที่มองเห็นผลกระทบ การได้ไม่คุ้มเสีย รวมถึงความสูญเสียงบประมาณมหาศาล กลุ่ม Beach for life และ ภาคีเครือข่ายประชาชนทวงคืนชายหาดประมาณ ๙๔ องค์กร จึงยื่นข้อเรียกร้อง ๓ ข้อ ให้รัฐบาลคุ้มครองปกป้องชายหาดอย่างเร่งด่วน ได้แก่

แก้ไขมติคณะที่ประชุมคณะรัฐมนตรีที่ให้อำนาจกรมโยธาธิการและผังเมืองป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง

[ขอให้คณะรัฐมนตรีแก้ไขมติคณะที่ประชุมคณะรัฐมนตรี วันที่ ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๓๔ และ วันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๙ ที่ให้อำนาจกรมโยธาธิการและผังเมืองดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ด้วยเหตุผลที่ว่า กรมโยธาธิการฯ ไม่มีความรู้ ความเข้าใจในการป้องกันและจัดการปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งได้อย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ ผลการดำเนินงานที่ผ่านมาพิสูจน์ชัดเจนแล้วว่าโครงการของกรมโยธาธิการฯ ใช้งบประมาณจำนวนมหาศาล แต่กลับสร้างความเสียชายหาดต่อชายหาด] 

. นำโครงการกำแพงกันคลื่นกลับมาเป็นโครงการที่ต้องทำอีไอเอ

[ขอให้คณะรัฐมนตรีมีคำสั่งให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นำโครงการกำแพงกันคลื่นกลับมาเป็นโครงการที่ต้องทำการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ อีไอเอ ดังเดิม เพื่อเป็นหลักประกันสิทธิให้แก่ประชาชนและชุมชน รวมถึงเพื่อให้เกิดกระบวนการและกลไกในการตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมและชุมชนก่อนดำเนินการโครงการ]

ฟื้นฟูสภาพชายหาดที่ได้รับความเสียหายจากการก่อสร้างกำแพงกันคลื่น

[ขอให้คณะรัฐมนตรี มีคำสั่งให้มีการฟื้นฟูสภาพชายหาดที่ได้รับความเสียหายจากการก่อสร้างกำแพงกันคลื่น โดยเฉพาะหาดท่องเที่ยวสำคัญของประเทศไทย เพื่อฟื้นฟูชายหาดให้กลับมาดังเดิม]

ผลจากการรณรงค์ สร้างความตระหนัก ทำให้รัฐบาลยอมตั้งคณะกรรมการศึกษาแนวทางแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งในประเทศไทย ประกอบด้วยตัวแทนเจ้าหน้าที่จากหน่วยงาน อาทิ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อธิบดีกรมเจ้าท่า อธิบดีกรมโบธาธิการและผังเมือง ฯลฯ รวมถึงผู้แทนกลุ่ม Beach for life และเครือข่ายประชาชนทวงคืนชายหาด ลงนามแต่งตั้งโดยนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๒๒ ธันวาคม ๒๕๖๕

0wavewall03
การแก้ปัญหาด้วยโครงสร้างแข็ง ที่ไม่ต้องทำรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอ นอกจากทำลายทัศนียภาพแล้วอาจเป็นอันตรายต่อผู้ใช้ประโยชน์บริเวณชายหาด
0wavewall04
สภาพชายหาดที่สูญเสียเม็ดทราย หลายแห่งเกิดจากการสร้างกำแพงกันคลื่นในพื้นที่อื่นที่อยู่ติดกัน ไม่ได้เป็นการกัดเซาะชายฝั่งโดยธรรมชาติ

ต้นปีต่อมา…

วันที่ ๑๐-๒๕ มกราคม ๒๕๖๖ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนผ่านเว็บไซต์กองพัฒนาระบบการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ถือเป็นส่วนหนึ่งของการทบทวนโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นที่ไม่ต้องทำ EIA ผลปรากฏว่ามีผู้เข้ามาแสดงความคิดเห็นจำนวน ๓๑๕ คน ในที่นี้ ๒๗๓ คน หรือประมาณร้อยละ ๘๕ เห็นด้วยให้ “กำแพงติดแนวชายฝั่งทะเลทุกขนาด” ต้องทำ EIA เมื่อประกอบกับข้อเท็จจริงในทางวิชาการ หลักฐานเชิงประจักษ์ตลอดระยะเวลา ๑๐ ปี ชัดเจนว่ากำแพงกันคลื่นเป็นโครงสร้างแข็งที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อชายหาด รบกวนกระบวนการทางธรรมชาติ สภาวะสิ่งแวดล้อม รวมถึงวิถีชีวิตผู้คนบนฝั่ง

๑๕ มีนาคม ๒๕๖๖ คณะกรรมการสิ่งเเวดล้อมเเห่งชาติ พิจารณาเห็นชอบให้โครงการหรือกิจการประเภทกำเเพงติดแนวชายฝั่งทะเลทุกขนาดต้องทำ EIA ตามที่ สผ.นำเสนอ
นับเป็นความคืบหน้า ผลสำเร็จตามข้อเรียกร้องข้อที่ ๒ จากทั้งหมด ๓ ข้อของกลุ่ม Beach for life และเครือข่ายประชาชนทวงคืนชายหาด

หลังรณรงค์เรียกร้องให้ความรู้ความเข้าใจเรื่องชายหาดและปัญหากัดเซาะชายฝั่งมานานนับสิบปี

0wavewall05
วิถีชีวิตและพฤติกรรมของผู้คนริมฝั่ง กระทั่งนักท่องเที่ยวต้องเปลี่ยนแปลงไป ส่งผลกระทบทั้งด้านเศรษฐกิจ คุณภาพชีวิต และส่งผลต่อระบบนิเวศ
เปลี่ยนหลักคิด คืนชีวิตให้หาดทราย

หนังสือ เปลี่ยนหลักคิด คืนชีวิตให้หาดทราย บทสรุปสำหรับผู้บริหารและประชาชน นำเสนอทางเลือกเชิงนโยบายในการแก้ปัญหาและฟื้นฟูหาดทรายที่ถูกกัดเซาะ กรณีศึกษาชายหาดสมิหลา-นาทับ จังหวัดสงขลา ผลิตและเผยแพร่โดยโครงการนโยบายสาธารณะเพื่อการใช้ประโยชน์หาดทรายอย่างยั่งยืน คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เรียบเรียงจากงานศึกษาวิจัย ระบุว่า

จากการเปรียบเทียบทางเลือกต่างๆ ในการจัดการปัญหาการกัดเซาะหาดทรายในช่วง ๒๐ ปี (๒๕๕๗-๒๕๗๗) พบว่า ทางเลือก “การป้องกันและฟื้นฟูหาดทรายด้วยวิธีที่สอดคล้องกับวัฏจักรสมดุลของหาดทราย และการใช้ประโยชน์หาดทรายจากการทำหน้าที่เป็นกันชนธรรมชาติ ร่วมกับการรื้อถอนโครงสร้างที่รบกวนระบบสมดุลทรายบริเวณที่เคยเป็นหาดธรรมชาติออก” เป็นทางเลือกที่มีผลตอบแทนสุทธิเป็นบวก (NPV = ๓๗ ล้านบาท) หมายถึงมีความคุ้มค่าในการลงทุน มีการกระจายต้นทุน และผลตอบแทนต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน และยังพบอีกว่าหากมีการรื้อถอนสิ่งแปลกปลอมที่เป็นสาเหตุการกัดเซาะออกไป จะทำให้ผลตอบแทนสุทธิเพิ่มสูงขึ้น (NPV = ๒๑๔.๗ ล้านบาท)

ส่วนทางเลือก “การป้องกันการกัดเซาะโดยใช้โครงสร้างเขื่อน หรือกระสอบทราย” ดังแนวทางที่เป็นอยู่ในปัจจุบันพบว่ามีผลตอบแทนสุทธิเป็นลบ (NPV = -๒,๖๔๖ ล้านบาท) เนื่องจากมีต้นทุนโครงสร้างที่สูง และจะต้องบำรุงรักษาไปตลอด ประกอบกับหาดทรายที่เปลี่ยนสภาพไป ทำให้ใช้ประโยชน์ได้ลดลง และยังพบอีกว่าภาระต้นทุนตกกับผู้เสียภาษีมากกว่าสามเท่าของนักท่องเที่ยวและชุมชนท้องถิ่น

นอกจากนี้การศึกษาได้ตรวจสอบข้อจำกัดทางกฎหมาย พบว่ามีความเป็นไปได้ทางกฎหมายทุกทางเลือก โดยทางเลือกที่มีการรื้อถอนจะมีความยุ่งยากมากกว่า จากข้อค้นพบนี้ การวิจัยได้เสนอให้การจัดการปัญหากัดเซาะชายฝั่งควรมีทิศทางป้องกัน และฟื้นฟูหาดทรายด้วยวิธีที่สอดคล้องกับวัฏจักรสมดุลของทรายตามธรรมชาติ ซึ่งจะทำให้สังคมได้รับประโยชน์โดยสมบูรณ์
0wavewall06
กำแพงกันคลื่น หรือ กำแพงติดแนวชายฝั่งทะเล (Seawall) ทั้งแบบลาดเอียง แบบขั้นบันได รวมถึงการวางถุงใยสังเคราะห์บรรจุทรายอย่างในภาพ จะต้องทำอีไอเอ หลังยกเว้นไปตั้งแต่ปี ๒๕๕๖
อภิศักดิ์ ทัศนี
คณะกรรมการศึกษาแนวทางแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งในประเทศไทย ผู้แทนกลุ่ม Beach for life และเครือข่ายประชาชนทวงคืนชายหาด

๓ ข้อเรียกร้องของภาคประชาชน

ข้อเรียกร้องของภาคประชาชนมีทั้งหมด ๓ ข้อ การนำกำแพงกันคลื่นกลับมาทำอีไอเอเป็นข้อที่ ๒ ข้อที่ ๑ คือ แก้ไขมติคณะรัฐมนตรีที่ให้อำนาจกรมโยธาฯ ป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ข้อที่ ๓ คือ ฟื้นฟูสภาพชายหาด ทั้ง ๓ ข้อถูกกำกับโดยคณะกรรมการศึกษาแนวทางแก้ไขปัญหา ข้อที่ ๑ เรายืนยันชัดเจนว่าถ้ากรมโยธาธาไม่ปรับบทบาทหน้าที่ในการป้องกันชายฝั่ง ยังคงดึงดันที่จะสร้างกำแพงกันคลื่นต่อไป ก็ต้องแก้มติคณะรัฐมนตีเพื่อให้กรมโยธาฯ ยุติบทบาท แต่การประชุมที่ผ่านมา ตั้งแต่แต่งตั้งคณะกรรมการ ปรากฏว่าทางกรมโยธาฯ ยอมหลายเรื่อง เช่นยอมให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งหรือ “กรมทะเล” เป็นผู้ออกแบบกลไก ออกแบบระบบกลั่นกรองโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นให้มีประสิทธิภาพ เลือกพื้นที่ที่มีความจำเป็นจริงๆ เท่านั้น ปัญหาตอนนี้คือกำแพงกันคลื่นถูกสร้างในพื้นที่ที่ไม่มีความจำเป็น ถ้ามีใครเข้ามาชี้ว่ากรณีนี้จำเป็น มันก็สร้างได้นะ

หนึ่ง กรมโยธาฯ ยอมไม่เป็นหน่วยงานที่ออกไปศึกษาแล้วสร้างกำแพงกันคลื่น สอง เขายอมเอากฎหมายผังเมืองมากำหนดพื้นที่ถอยร่น ซึ่งถือเป็นหนึ่งในมาตรการป้องกันชายฝั่ง อย่างกรณีชายหาดที่ไม่มีคนหรือทรัพย์สิน ตัวชายหาดก็แนวกันชนหรือเป็นบัฟเฟอร์โซนตามธรรมชาติ กรมโยธาฯ พร้อมจะปรับเรื่องนี้

ถ้ากรมโยธาฯ ทำหน้าที่แบบนี้ ก็มีอำนาจหน้าที่ในการป้องกันชายฝั่งได้ แต่ต้องไม่มีบทบาทโดยตรงในการเลือกชายหาดทำกำแพงกันคลื่นเหมือนเมื่อก่อน ถึงมีอำนาจเต็มที่แต่ต้องผ่านกลไกในการกรอง กรมทรัพยกรทางทะเลและชายฝั่งจะเป็น regulator เข้ามากรองว่าพื้นที่ไหนเหมาะสมหรือไม่เหมาะสม ถ้าเหมาะสมที่จะสร้างกำแพง มีการกัดเซาะชายฝั่งเกิดขึ้นอย่างรุนแรง จำเป็นต้องทำกำแพงจริงๆ ก็เข้าสู่กระบวนการทำอีไอเอ

ไม่ใช่แค่กรมโยธาฯ รวมทั้งกรมเจ้าท่า จะต้องให้มีหน่วยงานหนึ่งขึ้นมากรองเช่นกัน

สรุปแล้วทุกหน่วยงานยอมให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเป็น regulator เข้ามาบอกว่าพื้นที่ไหนมีความจำเป็นหรือไม่จำเป็น

มีกรมทรัพยากรทะเลและชายฝั่งเป็นผู้ออกแบบ หรือหน่วยกำกับ มีคนปฏิบัติคือกรมโยธาฯ และกรมเจ้าท่า ปฏิบัติตามแนวนโยบาย ซึ่งที่ผ่านมาไม่ได้เป็นแบบนี้ ถึงแม้ “กรมทะเล” จะบอกว่าพร้อมเป็น regulator แต่โดยกฎหมายและอำนาจหน้าที่มันไม่ชัดเจน

ตอนนี้กำลังออกแบบโครงสร้างระบบอนุมัติอนุญาตโครงการ ถ้าคณะกรรมการทั้งหมดออกแบบเสร็จ ก็จะเข้าสู่การออกเป็นมติคณะรัฐมนตรีต่อไป

ในข้อเรียกร้องข้อที่ ๓ ให้ฟื้นฟูชายหาดก็รวมอยู่ในนี้ ต้องดูว่าคณะกรรมการชุดนี้จะออกแบบ framework พิจารณาว่าหาดถูกกัดเซาะแบบไหน ถ้ากัดเซาะชั่วคราวก็ใช้มาตรการชั่วคราว ถ้ากัดเซาะถาวรก็ไปพิจารณาต่อว่าเมื่อกัดเซาะแล้วมันมีความจำเป็นต้องป้องกันต่ออีกมั๊ย ถ้าไม่มีบ้านคนก็อาจจะไม่ต้องป้องกัน หรือถ้ากัดถาวรแล้วมันกัดเข้าโครงสร้าง จำเป็นต้องรื้อถอนโครงสร้างก็ต้องไปดู เป็นการตอบข้อเรียกร้องข้อที่ ๓ ว่าการกัดนั้นเกิดจากโครงสร้างป้องกันชายฝั่ง และโครงสร้างนั้นไม่มีประสิทธิภาพแล้ว ต้องรื้อออก หรือต้องเติมทราย ต้องฟื้นฟูหาดให้กลับมาเหมือนเดิม ทั้งสามข้อใช้คณะกรรมการชุดเดียวกันออกแบบกลไกการทำงาน

๑๐ ปี กว่า ๑๒๐ หาด

ความตระหนักของหน่วยงานหรือแม้แต่ข้าราชการเกี่ยวข้อง ยังไม่ได้ตระหนักว่าต้องเอากำแพงกันคลื่นกลับมาทำอีไอเอ ไม่ได้ตระหนักถึงผลกระทบของจริงๆ แต่เป็นเพราะแรงกดดันของภาคประชาชน เป็นเพราะความรู้ความเข้าใจของภาคปะชาชนที่มันเติบโต เห็นบทเรียน มีแรงกดดันของภาคประชาชนที่ออกมาเรียกร้อง เขาถึงเอากลับมา

จริงๆ ในทางกฎหมาย ผ่านไป ๕ ปี จะต้องทบทวนกฎหมายใหม่ แต่นี่ ๑๐ ปี คุณปล่อย ถ้าไม่มีขบวนการของภาคประชาออกมาเรียกร้อง มันคงต่อไปเป็น ๑๕ ปี ๒๐ ปี

เราเรียกร้องอย่างเข้มข้นมาตั้งแต่ปี ๒๕๖๑-๒๕๖๒ แต่เขาไม่สนใจ ถ้าเขาสนใจที่จะเอากลับมาทำอีไอเอ ก็ต้องเอากลับมาตั้งแต่ปี ๒๕๖๒ ที่กฎหมายครบ ๕ ปี ถึงแม้จะมีการเคลื่อนไหว สผ. ก็ยังยืนยันว่ากลไกที่มีอยู่ ณ เวลานั้นดี กระทั่งมีม็อบที่เราไปนอนกดดันหน้ากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมปลายปี ๒๕๖๕ เขาถึงยอม

ประเด็นปัญหาทางสิ่งแวดล้อม ๑๐ ปีนี่โคตรนาน การถอดอีไอเอกำแพงกันคลื่นออกมาในช่วงเวลา ๑๐ ปี ความเสียหายในแง่ของโครงการ ชายหาด พื้นที่ก่อสร้างกำแพงกันคลื่น อย่างน้อย ๑๒๐ โครงการที่ถูกอนุมัติโดยไม่มีการทำอีไอเอ จำนวน ๑๒๐ ชายหาดที่ถูกทำลาย มันมหาศาล ไม่รวมตัวเลขงบประมาณในการก่อสร้าง ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ

นี่คือเรื่องที่เกิดขึ้นตลอด ๑๐ ปี ความเสียหายเกิดแล้ว หลายที่เยียวยาไม่ได้ ตอนนี้บางที่ไม่รู้จะแก้ยังไง จะทำให้กลับมาเป็นชายหาดเหมือนเดิมยังไง คิดไม่ออกเลย อย่างกรณีหน้าสตน นครศรีธรรมราช บ้านเขาเสียหายไปแล้วจากเขื่อน แล้วเราจะฟื้นฟูยังไง เมื่อหาดทรายกลายเป็นหิน เราจะเปลี่ยนให้กลับมาเป็นหาดทราย มีชายหาดเหมือนเดิมยังไง ชุมชนเองก็ถูกเปลี่ยนวิถีไปเรียบร้อยแล้ว

นิยาม “กำแพงกันคลื่น” หรือ “กำแพงติดแนวชายฝั่งทะเล”

ทาง สผ. ใช้คำว่า “กำแพงติดแนวชายฝั่งทะเล” มาตั้งแต่ปี ๒๕๕๒ เขาขอใช้คำเดิมเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในการตีความ เรายื่นจดหมายไปที่ สผ. มีนักวิชาการขอให้ใช้คำว่า “กำแพงกันคลื่น” แต่ทาง สผ. ยืนยันว่าเขาใช้มาตั้งแต่ต้น และเป็นนิยามเดียวกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ส่วนตัวไม่ได้มีปัญหาอะไร แต่คิดว่าถ้าใช้ให้ชัดไปเลยว่ากำแพงกันคลื่น ซึ่งเป็นที่รับรู้และเข้าใจในเชิงวิชาการด้วยจะดีกว่า

ตามหลักการแล้วควรใช้คำว่า “กำแพงกันคลื่น” มากกว่า เพราะการใช้คำว่า “กำแพงติดแนวชายฝั่งทะเล” อาจหมายถึงกำแพงกันดิน ทำให้ต้องใช้ความเชี่ยวชาญระบุว่าเป็นกำแพงกันคลื่นหรือกันดินที่อยู่ติดชายฝั่งทะเล

อ่านเพิ่มเติม