จากบรรณาธิการ - แฟน Fanatic

แฟน แฟนคลับ เอฟซี แฟนด้อม ติ่ง… จะเรียกอะไรก็ตาม ในโลกข่าวสารท่วมท้นวันนี้คงหาใครที่ “ไม่เป็น” แฟนอะไรสักอย่างเลยน่าจะยากมาก (ใครยังหาแฟนในความหมายคู่รักไม่ได้ ไม่เกี่ยวนะครับ)

แฟนเพลง แฟนดารา แฟนซีรีส์ แฟนฟุตบอล แฟนการ์ตูน แฟนหนังสือ ฯลฯ

ค้นที่มาของคำว่า “แฟน” พบว่ามีรากมาจากศัพท์อังกฤษ fanatic ซึ่งความหมายติดลบเสียหน่อย เพราะหมายถึงบุคคลที่แสดงออกอย่างเกินเลยด้วยความหลงใหลหรือความเชื่อแบบฝังหัว ทั้งที่เป็นประเด็นซึ่งถกเถียงกันได้ เช่น ผู้ศรัทธาในศาสนาหรือผู้มีความเชื่อทางการเมือง

อิทธิพลของแฟนที่มีบันทึกน่าสนใจในอดีต ก็คือกรณีแฟนนิยาย เชอร์ล็อก โฮล์มส์  เมื่อผู้เขียน เซอร์อาเทอร์ โคแนน ดอยล์ปิดฉากให้เชอร์ล็อกตายในเรื่อง “ปัจฉิมปัญหา” (“The Final Problem”) ว่ากันว่าแฟนนิยายต่างพากันสวมปลอกแขนดำและบอกเลิกการเป็นสมาชิกนิตยสาร Strand ที่ตีพิมพ์นิยายเพื่อประท้วงกันมากมาย รวมทั้งรุมเขียนจดหมายต่อว่าถึงผู้แต่ง จนผู้แต่งอยู่เฉยไม่ได้ ต้องเปลี่ยนความตั้งใจ แต่งนิยายตอนต่อมาคืนชีพให้กับเชอร์ล็อก

ถึงวันนี้ในโลกสื่อสารออนไลน์ ปรากฏการณ์ของติ่ง แฟน แฟนคลับ แฟนด้อม ยิ่งขยายตัวมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะบรรดาคนที่หลงใหลสิ่งเดียวกันสามารถพูดคุยแลกเปลี่ยนกันได้ตลอด ตอบโจทย์เชิงจิตวิทยาของมนุษย์ในการมีตัวตนผ่านการเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม รวมถึงความต้องการความรัก ทั้งรักคนอื่นและถูกรัก

อาการแบบเบาะๆ ก็คือติดตามผลงานผ่านสื่อ สะสมสิ่งของพูดคุยความรู้สึกกับกลุ่มแฟนและช่วยเผยแพร่ข่าวสาร ไปจนถึงขอมีประสบการณ์ใกล้ชิด  ส่วนแฟนระดับเกินเลย ถ้าเข้าขั้น

คุกคามศิลปินก็มีคำเรียกในภาษาเกาหลีคือ “ซาแซง” (sasaeng) ส่วนญี่ปุ่นมี “โอตากุ” (otaku) ซึ่งคลั่งไคล้อะนิเมะหรือมังงะแบบหมกมุ่นจนปลีกตัวจากโลกของคนจริงๆ

น่าคิดเหมือนกันว่าถ้าปรากฏการณ์ยอดนิยมระดับ มิตร ชัยบัญชา พระเอกหนังซึ่งเป็นที่รักของคนไทยสมัย ๕๐ ปีก่อนมาอยู่สมัยนี้ บวกกับอิทธิพลสื่อออนไลน์ เขาจะดังในระดับไหนมีแฟนมีติ่งมากเท่าไร

คนรุ่นหลังมักสนใจประเด็นปริศนาความตายของมิตร แต่เรื่องที่อาจจำไม่ค่อยได้คือหลังจากดังมาก ๆ แล้วมิตรสนใจเป็นนักการเมือง ลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล จังหวัดพระนคร(กรุงเทพฯ สมัยนี้) ในปี ๒๕๑๑ และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพระนคร ในปี ๒๕๑๒ แต่ไม่ได้รับเลือกตั้งทั้งสองครั้ง

ฐานแฟนคลับปฏิเสธมิตรในฐานะนักการเมือง เพราะโดนคู่แข่งหาเสียงแบบแทงทะลุว่า ถ้ามิตรเป็นผู้แทนฯ จะไม่มีเวลาเล่นหนังให้ดูอีก

การเลือกตั้งปี ๒๕๑๒ เป็นการเลือกตั้งครั้งแรกในรอบ ๑๑ ปี หลังการรัฐประหารในปี ๒๕๐๑ พรรคที่ชนะคือพรรคสหประชาไทยของจอมพล ถนอม กิตติขจร เผด็จการทหารที่สืบทอดอำนาจต่อจากจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นการเลือกตั้งที่ขบวนการนิสิตนักศึกษาพบว่ามีการทุจริตโดยเจ้าหน้าที่รัฐและนักการเมืองอย่างมาก ก่อนจะนำมาสู่เหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ ในอีก ๔ ปีต่อมา

มิตรลงสมัครแบบไม่สังกัดพรรค และกล่าวหาเสียงครั้งหนึ่งว่า “ประชาชนคือผู้ปกครองและให้ความเมตตาอุปการะแก่ผม ผมเปรียบเสมือนสุนัขซึ่งประชาชนช่วยกันเลี้ยงไว้ ถ้าผมทรยศต่อคำพูด ต่อหน้าที่ ผมก็เลวเต็มทน  ด้วยเหตุนี้ทำให้ผมต้องมาเล่นการเมือง เพื่อจะได้มีโอกาสรับใช้ประชาชนผู้มีพระคุณต่อผม ต่อประเทศชาติอันเป็นที่รักของผมและประชาชน สิ่งใดที่ทำเพื่อประเทศชาติ เพื่อประชาชน ผม มิตร ชัยบัญชา พร้อมที่จะทำทุกวิถีทาง” (อ้างอิง  https://mgronline.com/drama/detail/9640000098787)

มีบันทึกด้วยว่าเหตุผลหนึ่งของมิตรคือเขาไม่ชอบนักการเมืองที่ใช้ดาราเป็นเครื่องมือหาเสียง และอยากทำให้อาชีพศิลปินมีความมั่นคง มีสวัสดิการเหมือนอาชีพอื่นๆ (อ้างอิง https://contreading.com/context/mitr-thology-thai-machine/)

ต้นปี ๒๕๖๖ วันนี้บรรยากาศการเลือกตั้งเริ่มขึ้นแล้ว น่าศึกษาว่าปรากฏการณ์ “แฟน” จะมีผลต่อการเลือกตั้งครั้งนี้มากแค่ไหน แลนด์สไลด์ ม้ามืด หรือประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยการเลือกตั้งปี ๒๕๑๒

สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ
บรรณาธิการบริหารนิตยสารสารคดี
suwatasa@gmail.com