ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล : เรื่องและภาพ

คุณภาพชีวิต-ที่ทำกิน-คดีความ คกก.อิสระฯชี้แนวทางแก้ปัญหา บางกลอย
สะพานแขวนข้ามแม่น้ำเพชรบุรีซึ่งไหลผ่านหมู่บ้านบางกลอยล่างและหมู่บ้านโป่งลึก การพัฒนาถนนและสะพานอยู่ในหมวดแผนการระยะยาวเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต

เมื่อวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๖ คณะกรรมการอิสระเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหาชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอย ได้จัดการประชุมครั้งที่ ๑/๒๕๖๖ ขึ้น ณ อาคารสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ทำเนียบรัฐบาล เนื้อหาสำคัญที่ถูกหยิบยกมาพิจารณา ได้แก่ แนวทางแก้ไขปัญหาคุณภาพชีวิต ปัญหาด้านคดีความ รวมถึงแนวทางกลับไปดำเนินวิถีชีวิตและทำกินระบบไร่หมุนเวียนในพื้นที่บางกลอยบน

ย้อนเวลากลับไปวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕ นายกรัฐมนตรี ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหาชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอย หมู่ที่ ๑ ตำบลห้วยแม่เพรียง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี เพื่อแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน รวมถึงพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย โดยมี อนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีสัดส่วนของนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญแต่ละด้านเข้าร่วม

ร่วมหนึ่งปีผ่านไป มีการจัดการประชุมร่วมกันแล้วจำนวน ๒ ครั้ง และมีการลงพื้นที่เก็บข้อมูลโดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) หน่วยงานสำคัญที่มีฐานะเป็นเลขานุการของคณะกรรมการอิสระฯ ขณะที่ อนุชา นาคาศัย ในฐานะประธานคณะกรรมการอิสระฯ ก็เคยนำคณะลงพื้นที่ รับฟังข้อมูลและข้อเท็จจริงจากชาวบ้าน อาทิ ปัญหาที่ดินทำกิน ปัญหาแหล่งน้ำ และการอนุรักษณ์ความเป็นชาติพันธุ์บนผืนแผ่นดินไทย

bangkloy02 1
บ้านเรือนชาวกะเหรี่ยงในหมู่บ้านบางกลอยล่างทำจากไม้ไผ่ ส่วนหนึ่งต้องการกลับไปตั้งถิ่นฐานในพื้นที่บ้านบางกลอยบนก่อนถูกอพยพโยกย้าย แต่อีกส่วนก็ต้องการลงหลักปักฐานอยู่ที่นี่

ภายหลังปรับปรุงข้อมูลสำมะโนประชากรให้มีสถานะเป็นปัจจุบัน มีความถูกต้องและชัดเจน หนึ่งในข้อมูลสำคัญที่ได้รับการรับรองจากที่ประชุมครั้งล่าสุด คือชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอยแบ่งออกเป็น ๔ กลุ่ม ตามความคาดหวังในการดำรงชีวิต ได้แก่

  1. กลุ่มที่ต้องการกลับไปตั้งถิ่นฐานในพื้นที่บ้านบางกลอยบน (พื้นที่เดิมของชุมชนก่อนถูกโยกย้าย) เลือกดำรงชีวิตแบบดั้งเดิมด้วยระบบเกษตรแบบไร่หมุนเวียน
  2. กลุ่มที่ขาดที่ทำกิน หากรัฐจัดสรรที่ดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ สามารถทำเกษตรและสร้างรายได้อย่างมั่งคง ก็พร้อมที่จะตั้งถิ่นฐานอยู่ในพื้นที่บ้านบางกลอยล่าง (บริเวณพื้นที่ตั้งชุมชนปัจจุบัน)
  3. กลุ่มที่พร้อมจะอยู่ในพื้นที่บ้านบางกลอยล่าง ได้รับการจัดสรรที่ดินและเลือกเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตในระบบการเกษตรแบบสมัยใหม่ แต่ยังมีความต้องการที่จะได้รับการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดี
  4. กลุ่มที่ย้ายออกจากชุมชนไปอย่างถาวร แต่ยังคงติดต่อสัมพันธ์กับญาติพี่น้องในพื้นที่บ้านบางกลอยล่าง

แนวทางการแก้ไขปัญหาและพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย เป็นไปตามบทบัญญัติของ

รัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๖๐ มาตรา ๗๐ และพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๒ มาตรา ๖๔ และมาตรา ๖๕ รวมทั้งเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี ๓ สิงหาคม ๒๕๕๓ ว่าด้วยเรื่องแนวนโยบายและหลักปฏิบัติในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง

ในกรณีชาวบ้านกลุ่มที่ ๑ : ที่ประชุมเห็นว่า ในการดำรงวิถีชีวิตแบบดั้งเดิม ให้จัดทำแผนการดำเนินชีวิตที่มีความสัมพันธ์กับบริบทของพื้นที่ที่มีลักษณะเฉพาะ มีเงื่อนไขของการอยู่อาศัยและทำกินตามห้วงเวลา ตาม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๖๒ มาตรา ๖๔ และมาตรา ๖๕ อย่างเหมาะสม และต้องให้ความสำคัญกับระบบนิเวศ และความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่บ้านบางกลอยบน

ส่วนชาวบ้านกลุ่มที่ ๒–๔ ที่ประชุมเห็นควรให้มีการจัดทำแผนการพัฒนาคุณภาพชีวิต และสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ให้สอดคล้องและเหมาะสมกับความต้องการของคนแต่ละกลุ่ม

bangkloy03 1
พื้นที่ทางการเกษตรที่ได้รับจัดสรรจากภาครัฐ เจ้าหน้าที่พยายามพัฒนาเป็นแปลงนาตัวอย่าง แต่ยังมีปัญหาขาดแคลนน้ำ และผืนดินไม่อุดมสมบูรณ์

ที่ผ่านมา ในสายตาชาวบ้าน “กลุ่มบางกลอยคืนถิ่น” การแก้ไขปัญหาต่างๆ ของหน่วยงานต่างๆ นั้นไม่ทันต่อสถานการณ์ความเดือดร้อน โดยเฉพาะคดีความของชาวบ้าน ๓๐ คน ที่ถูกเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานจับกุมเมื่อช่วงต้นปี ๒๕๖๔ อีกทั้งเห็นว่าการหาแนวทางความเป็นไปได้ในการกลับขึ้นไปทำไร่หมุนเวียนในพื้นที่บ้านบางกลอยบนก็ล่าช้า

ในส่วนของคดีความนั้นคณะกรรมการอิสระฯ ได้ประสานงานไปยังกระทรวงยุติธรรม และขอให้ทางกระทรวงยุติธรรมติดตามอย่างใกล้ชิด เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับชาวบ้าน ทางคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติก็ได้ประสานงานไปยังผู้พิพากษา รวมถึงอัยการที่เกี่ยวข้อง

การแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่บ้านบางกลอยล่าง มีแนวโน้มว่าจะใช้แนวทางการพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยดำเนินการตามแผน ๓ ระยะ แบ่งออกเป็น ระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ภาคีเครือข่าย saveบางกลอย สรุปสาระสำคัญไว้ดังนี้

ระยะสั้น

๑. เสนอให้ทดลองทำ “นาข้าวแปลงรวม” โดยใช้พื้นที่ที่บ้านโป่งลึกทำไร่ตัวอย่าง

๒. การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต ยกตัวอย่าง การเก็บหาน้ำผึ้งป่า ต้องหารือเนื้อหาของ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๖๒ มาตรา ๖๔ และมาตรา ๖๕

๓. การแก้ไขปัญหาด้านคดีความ เบื้องต้นสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีจะทำหน้าที่ประสานการพิจารณาคดีความฟ้องร้อง

ระยะกลาง

๑. การพัฒนาระบบประปาภูเขา จะแบ่งตอนออกเป็นขั้นสำรวจ และขั้นดำเนินงาน

๒. การพัฒนาที่อยู่อาศัย กรณีที่อยู่อาศัยทรุดโทรม ประสานสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. สำรวจและดำเนินงานตามโครงการบ้านมั่นคง

๓. การจัดการขยะ ให้องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ห้วยแม่เพรียง มีบทบาทหน้าเชิงรุกแก้ไขปัญหาเพื่อสุขภาวะที่ดีของผู้คนในชุมชน

๔. การปรับกลไกการดำเนินงานของคณะกรรมการอิสระฯ ให้มีการดำเนินงานเชิงพื้นที่มากขึ้น

ระยะยาว

๑. การพัฒนาเส้นทางถนนและสะพาน ให้นำเรื่องเสนอต่อคณะกรรมการอิสระฯ ต่อไป

๒. พัฒนาระบบประปาภูเขา ให้ดำเนินการภายหลังการสำรวจพื้นที่ตามแผนระยะกลาง

๓. การนำแผนพัฒนาบางกลอยบรรจุไว้ในแผนพัฒนาจังหวัด เพื่อให้ชาวบ้านบางกลอยสามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน และควรเชิญหน่วยงานต่างๆ เข้าร่วมประชุม

๔. การบูรณาการเชิงพื้นที่ ให้เป็นไปตาม พ.ร.ฎ.ว่าด้วยการบริหารงานเชิงพื้นที่แบบบูรณาการ พ.ศ. ๒๕๖๕ เพื่อให้ชาวบ้านบางกลอยได้รับการพัฒนาคุณภาพชีวิต

bangkloy04 1
ภาพถ่ายมุมสูงของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช แสดงให้เห็นพื้นที่ถากถางเตรียมทำไร่บริเวณบ้านบางกลอยบน จนทำมาซึ่งคดีความฟ้องรองชาวบ้าน ๓๐ คน

ในส่วนของประชาชนที่อยากจะกลับขึ้นไปตั้งถิ่นด้านเดิมบนพื้นที่บ้างบางกลอยบน ที่ประชุมมีมติเสนอนายกรัฐมนตรี ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับคณะกรรมการอิสระฯ ออกสำรวจพื้นที่ตามมาตรา ๖๔ ของ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๖๒ เน้นย้ำว่าขอให้ทำโครงการศึกษาร่วมกัน

สุนี ไชยรส หนึ่งในคณะกรรมการอิสระฯ ที่เข้าร่วมประชุมให้รายละเอียดเกี่ยวกับการประชุมว่า “ตัวมติอาจจะยังไม่ออกมาอย่างชัดเจน แต่เค้าโครงของมันคือให้ศูนย์มานุษยวิทยาฯ ร่วมกับสถาบันวิจัยสังคม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เข้าไปสำรวจพื้นที่ไร่หมุนเวียน นำมาเข้าสู่กระบวนการที่บอกว่าเป็นพื้นที่นำร่อง มาพิสูจน์กันว่าไร่หมุนเวียนมันไม่ได้ทำลายป่าเหมือนอย่างที่บางส่วนข้าใจ ทำความเข้าใจเรื่องพื้นที่ไร่หมุนเวียนให้ได้ ซึ่งก็ต้องให้โอกาสพวกเขาได้ลงมือกลับไปทำ อาจจะต้องใช้เวลาอย่างน้อย ๕ ปีหรือ ๗ ปี ถึงจะรู้ผล เพราะไร่หมุนเวียนมันไม่ใช่ทดลองแล้วรู้เลยในปีเดียว

“หลักการคือขอความร่วมมือกรมอุทยานฯ จัดทีมนักวิจัยที่มาจากศูนย์มานุษยวิทยาฯ และหน่วยงานต่าง ๆ เข้าไปในพื้นที่ ไปสำรวจพื้นที่เดิมก่อนที่จะมีการอพยพโยกย้าย สำรวจชาวบ้านที่ต้องการกลับไป เพราะถึงตอนนี้ชาวบ้านไม่ได้ต้องการกลับไปทั้งหมด จะแบ่งเป็น ๒-๓ กลุ่ม คือ ขอกลับแน่นอน ขออยู่ในพื้นที่ใหม่แน่นอน ขอรอดูก่อนเพราะติดพันปัญหาบางอย่าง ต้องสำรวจให้ละเอียดแล้วนำพากลุ่มแรกไปสู่กระบวนการทดลองอย่างเป็นรูปธรรม นี่ตามหลักการนะ ซึ่งก็ต้องได้รับความร่วมมือจากกรมอทุยานฯ มติจะประมาณนี้

“ถึงเวลานี้เราพบว่า ไม่ว่าจะรายงานของใครก็ตาม ต่างยอมรับว่าพี่น้องกะเหรี่ยงอยู่มาก่อนจริง เพราะฉะนั้นต้องหาทางออก แยกสำรวจค้นให้ชัด ไปสำรวจพื้นที่ให้ชัดว่าตรงไหนเขาอยู่มาก่อน คุยกันให้ดีแล้วนำไปสู่ปฏิบัติการทดลองทำไร่หมุนเวียนแบบปกาเกอะญอจริงๆ”

ทางด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิต ซึ่งแบ่งแผนดำเนินงานออกเป็น ๓ ระยะ สุนี ไชยรส ให้ความเห็นว่า “เราคิดว่าสถานการณ์เร่งด่วนที่สุดคือระยะสั้น ระยะกลางระยะยาวก็จะเป็นอย่างพูด คือเป็นเรื่องของการออกแบบแผนจัดการป่า ให้คนอยู่กับป่า การพัฒนาอาชีพ เยอะแยะไปหมด ก็ต้องถือว่าคณะกรรมการอิสระฯ มีความพยายามที่จะมองไประยะยาว ไม่ได้แก้แค่เรื่องเฉพาะหน้า แต่ต้องไม่ลืมว่าสถานการณ์ด่วนที่สุดตอนนี้คือระยะสั้น ถ้าไม่เริ่มต้นระยะสั้น ก็ไม่มีทางที่จะไปสู่แผนระยะกลางกับระยะยาวได้ ถึงวันนี้แผนระยะสั้นก็ยังเดินช้ามาก อย่างความพยายามที่จะให้ชาวกะเหรี่ยงได้กลับไปทำไร่หมุนเวียนในพื้นที่ที่เขาเคยอยู่มาก่อน ถึงตอนนี้ก็ยังไม่ได้ทำ และกำลังจะผ่านไปอีกปี”

ก่อนหน้านี้ คณะกรรมาธิการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร เคยเสนอข้อเสนอเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหากรณีบางกลอยไว้ทั้งหมด ๖ ข้อ ประกอบด้วย

๑. ตั้งองค์กรหรือคณะกรรมการที่เป็นกลางร่วมเป็นคณะกรรมการ เพราะปัญหานี้เป็นปัญหาที่พบได้ทั่วประเทศ จึงควรได้รับการแก้ไขอย่างถูกทิศทาง

๒. กำหนดมาตรการเยียวยาและคืนสิทธิให้กลุ่มขาวบ้านผู้เดือดร้อน และประสงค์กลับไปอยู่อาศัยทำกินตามระบบเกษตรไร่หมุนเวียน แบบวิถีชุมชนชาติพันธุ์

๓. เร่งดำเนินการจัดสรรที่ดินให้กับชาวบ้านที่ไร้ที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย แต่ประสงค์จะดำรงชีวิตอยู่ในชุมชนบ้านบางกลอยล่าง

๔. ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการให้สัญชาติแก่ราษฎรในหมู่บ้านบางกลอย

๕. กำหนดแนวทางลดผลกระทบด้านคดีความที่กำลังเกิดขึ้นกับกลุ่มชาวบ้านอย่างเป็นรูปธรรม

๖. การดำเนินการใดๆ ที่จะใช้เป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหา ควรสร้างกลไกการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการตัดสินใจอย่างแท้จริง

ข้อเสนอของคณะกรรมาธิการทั้ง ๖ ข้อข้างต้น สอดคล้องกับแนวทางของกรรมการอิสระฯ ที่จัดการประชุมครั้งล่าสุด จึงมีมติเห็นชอบแนวทาง พร้อมจัดทำหนังสือถึงคณะกรรมาธิการที่ดินแจ้งถึงการดำเนินการที่สอดคล้องกันต่อไป

การสำรวจพื้นที่อยู่อาศัยด้วยหลักฐานภาพถ่ายทางอากาศ เหมือนกรณีปัญหา “ชาวเลเกาะหลีแป๊ะ”

การสำรวจพื้นที่อยู่อาศัยและทำกินของชาวบ้านบางกลอยมีหลักฐานภาพถ่ายทางอากาศ คล้ายการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและทำกินของชาวเลเกาะหลีแป๊ะ จังหวัดสตูล ซึ่งถูกเอกชนสร้างรั้วปิดกั้นเส้นทางสัญจรไปโรงเรียนและทางเดินลงสู่หาด เพิ่งจะปรากฏเป็นข่าวใหญ่เมื่อช่วงต้นปี ๒๕๖๖

คณะกรรมการอิสระฯ สนับสนุนภาพถ่ายทางอากาศบริเวณบ้านบางกลอย-ใจแผ่นดิน ของกรมแผนที่ทหาร เพื่อนำมาเป็นสารตั้งต้นในการเริ่มการสำรวจตามมาตรา ๖๔ เพราะเป็นหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ จะได้เห็นร่องรอยการทำประโยชน์ว่ามีอยู่จริง โดยให้ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เป็นหน่วยงานในการอ่านแปลภาพถ่าย


bangkloy05
ขาดอาหาร-ไร้ที่ทำกิน-ถูกคุกคาม สะท้อนปัญหากะเหรี่ยงบางกลอยปัจจุบัน

เมื่อวันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๖ ชาวบ้านบางกลอยในนาม “กลุ่มบางกลอยคืนถิ่น” ได้จัดการประชุมขึ้นภายในหมู่บ้าน เพื่อสรุปสถานการณ์ปัญหาและข้อเสนอแนะถึงคณะกรรมการอิสระเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหาชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอย

ปัญหาที่ชาวบ้านช่วยกันสะท้อนออกมา ได้แก่ การขาดแคลนอาหาร การเจ็บป่วย รวมถึงการถูกคุกคามจากเจ้าหน้าที่รัฐ ยกตัวอย่างเหตุการณ์เมื่อวันที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๖๖ ชาวบ้านบางกลอยได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ว่าพบ ตะกินุ กว่าบุ ชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย ระหว่างลาดตระเวนป่า มีเจ้าหน้าที่คนหนึ่งยิงปืนข่มขู่จนตะกินุหนีไป และหายไปจากชุมชนประมาณ ๗ วัน ทำให้ญาติของตะกินุวิตกกังวล ชาวบ้านบางกลอยต้องจัดคนเข้าไปลาดตระเวนตามหา

หลังจากนั้นตะกินุกลับมาถึงหมู่บ้านโดยสวัสดิภาพ โดยไม่ได้รับบาดเจ็บหรือเป็นอันตรายถึงชีวิต

อย่างไรก็ตาม เกิดคำถามกันในหมู่ชาวบ้านว่าการกระทำของเจ้าหน้าที่ลุแก่อำนาจหรือขาดความชั่งใจหรือไม่ พงษ์ศักดิ์ ต้นน้ำเพชร ชาวบ้านบางกลอย ให้ความเห็นว่าตนเองกังวลว่าเหตุการณ์เช่นนี้อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคต เนื่องจากเคยเห็นตัวอย่างชุมชนในพื้นที่อนุรักษ์ถูกเจ้าหน้าที่ยิงจนเสียชีวิตมาแล้ว

ทางด้านปัญหาความมั่นคงทางอาหาร สาเหตุหนึ่งเกิดจากการที่ชาวบ้านบางส่วนไม่มีที่ดินทำกิน หรือมีที่ดินแต่ไม่สามารถเพาะปลูกผลิตอาหารได้จริง ความจำเป็นเรื่องด่วนในช่วงนี้คือขาดแคลนข้าวและพริก

ปัญหาด้านสุขภาพ มีชาวบ้านหลายคนเจ็บป่วยด้วยโรคไข้เลือดออก และไข้หวัด บางคนมีอาการท้องเสีย อาเจียน ถ่ายเป็นเลือด อาการของโรคเหล่านี้แพร่ระบาดภายในหมู่บ้านช่วงต้นปี

ขณะที่สถานการณ์ด้านรายได้ ชาวบ้านที่ทำงานทอผ้าในโครงการศูนย์ฝึกศิลปาชีพบ้านบางกลอย ตามแนวพระราชดำริสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ระบุว่าได้รับรายได้ต่อวันต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำตามกฎหมาย และมีการจ่ายค่าแรงล่าช้า บางครั้งได้รับค่าแรงตามกำหนดแต่น้อยกว่าที่ตกลงกันไว้

สถานการณ์เหล่านี้ดำเนินมาอย่างยาวนาน และยังดำรงอยู่แม้จะมีการประสานงานจากอดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้วช่วงปลายปี ๒๕๖๕