เรื่องและภาพ นพรุจ สงวนจังวงศ์

ถ้าตัดดอกไม้ธูปเทียนกับการกราบไหว้ พระพุทธรูปก็ดั่งงานศิลปะชิ้นหนึ่ง

น่าแปลกที่ประติมากรรมบุรุษนามพระพุทธเจ้าสามารถเล่าเรื่องได้มากอย่างน่าอัศจรรย์ ทั้งศาสนา ค่านิยม วิถีชีวิต กระทั่งภูมิปัญญาของคนยุคก่อน รวมไว้ในแต่ละรูปปั้นนั้น

พระพุทธรูป - ล่องธารพุทธศิลป์

มิถุนายน-กันยายน ๒๕๖๖ กรมศิลปากรจัดนิทรรศการพิเศษเรื่อง “พระพุทธรูปสำคัญในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ” รวมพระพุทธรูป ๘๑ องค์ ที่มีประวัติสำคัญและสวยงามพิเศษจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติทั่วประเทศมาจัดแสดงรวมกันที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

น่าสนใจตั้งแต่ทางเข้า เล่ากำเนิดของพระพุทธรูป ก่อนนำทางสู่ใจความสำคัญด้านใน

อย่างตำนานเรื่องพระพุทธรูปไม้แก่นจันทน์ ครั้งพระพุทธเจ้าเสด็จโปรดพระมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ พระเจ้าปเสนทิโกศลแห่งแคว้นโกศลไม่ได้เข้าเฝ้าพระศาสดา รู้สึกว้าเหว่พระทัย จึงขอสร้างรูปเคารพของพระพุทธเจ้าด้วยไม้แก่นจันทน์ไว้เพื่อสักการบูชา จนเกิดเป็นพระพุทธรูปอย่างที่เห็นกันมาจนปัจจุบัน

ว่ากันด้วยหลักฐานโบราณคดี สันนิษฐานว่าพระพุทธรูปเก่าแก่สุดสร้างขึ้นในอินเดียช่วงพุทธ-ศตวรรษที่ ๖-๙ ด้วยศิลปะแบบคันธาระ รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมเปอร์เซียผสานกรีก-โรมันที่นิยมสร้างเทวรูปในรูปลักษณ์มนุษย์ ขณะที่นักวิชาการบางกลุ่มเห็นว่าพระพุทธรูปองค์แรกน่าจะสร้างขึ้นในศิลปะอินเดียสกุลช่างมถุรา โดยพัฒนามาจากรูปยักษา ยักษี และรุกขเทวดาพื้นเมืองของอินเดีย

เรื่องยากพลอยเข้าใจง่ายเมื่ออ่านป้ายให้ความรู้ประกอบการจัดแสดง

ภายในงานปรากฏ “พระพุทธรูปรุ่นเก่า” ที่อ่านชื่อแล้วแอบอมยิ้มเล็กๆ ในใจ ก็บรรดาพระในอาคารนี้ล้วนเก่าหมดทุกองค์ แต่คงไม่ใช่มุกตลกที่คนจัดงานใส่เข้ามา

longtharn002DSC002367

เรื่องจริงเฉลยว่า หมายถึงพระพุทธรูปที่ได้รับการค้นพบเป็นรุ่นแรกบนแผ่นดินสยาม เข้ามาพร้อมการติดต่อค้าขายและเผยแผ่ศาสนา เสมือนพระเครื่องขนาดเล็กที่พกติดตัวระหว่างเดินทาง และกลายเป็นแรงบันดาลใจของการสร้างพระพุทธรูปในไทยเวลาต่อมา

น่าสนใจถัดมาคือ “พระพุทธรูปทวารวดีและลพบุรี” สองอาณาจักรโบราณที่จัดแสดงติดกัน

ทวารวดีตั้งอยู่แถบภาคกลาง ศูนย์กลางคือจังหวัดนครปฐมปัจจุบัน สะท้อนการรับอิทธิพลและพัฒนามาจากพระพุทธรูปรุ่นเก่าที่ได้ผ่านตาในการจัดแสดงมาก่อนหน้า ส่วนพระพุทธรูปลพบุรีตั้งอยู่ด้านในสุด เป็นศิลปะแบบเขมรที่แผ่อิทธิพลสู่ภาคกลางของไทยช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๖ โดยมีลพบุรีเป็นเมืองสำคัญในขณะนั้น ชื่นชอบพิเศษคือ “พระพุทธรูปปางนาคปรก” สภาพสมบูรณ์และสวยงามตามฉบับศิลปะเขมร

longtharn006DSC02647
longtharn007DSC02409

เดินเลี้ยวมาโถงกลาง จัดแสดงพระพุทธรูปหลากศิลปะหลายยุคสมัย สะดุดตาราวต้องมนตร์สะกดให้ทุกคนที่เข้ามาหยุดยืนมองคือหมู่ “พระพุทธรูปศิลปะล้านนา” ประดิษฐานบนแท่นสีแดงขนาดใหญ่ ใหญ่จนเมื่อเดินเข้าใกล้ต้องแหงนคอชมศิลปะที่รับแรงบันดาลใจจากบ้านเมืองใกล้เคียงอย่างพม่า ลำพูน สุโขทัย หรือล้านช้าง ซึ่งเดินทางมาจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติในจังหวัดต่างๆ เพื่อนิทรรศการนี้โดยเฉพาะ

longtharn008DSC02413
longtharn009DSC02425

อีกจุดเด่นของงานคือหมู่ “พระพุทธรูปสุโขทัย” นอกจากขนาดที่ใหญ่กว่าพระในยุคอื่นหลายองค์ที่ร่วมแสดงยังนับเป็นยุคทองของศิลปะไทยที่พัฒนาจนเป็นเอกลักษณ์ สวยงามตามคติมหาบุรุษของอินเดีย บอกเล่าสังคมที่เลื่อมใสและเปิดรับศาสนาพุทธ สวยสะกดยกให้ “ปางลีลา” ที่อ่อนช้อยพลิ้วไหวอยู่ด้านหลัง สะท้อนการใช้ฝีมือเชิงช่างชั้นสูง นอกจากนี้บริเวณด้านข้างของโถงกลางยังจัดแสดงพระจากยุคศรีวิชัยและล้านช้างที่ต่างก็มีที่มาและเอกลักษณ์เฉพาะตัวไม่แพ้สมัยอื่น

longtharn010DSC02501

ยังมีพระในศิลปะแบบอยุธยาที่ดูน่าจะมีจำนวนมากสุดในงานนี้ เป็นยุคที่งานศิลปะและพระพุทธรูปโดดเด่นมากสมัยหนึ่ง แบ่งได้สามยุค คือ อยุธยาตอนต้น ตอนกลาง และตอนปลาย

ส่วนตัว-สะดุดใจกับพระพุทธรูปเล็กองค์หนึ่ง ดูน่ารักกว่าองค์อื่น

longtharn012DSC02514

เป็นการผสานรูปแบบศิลปะล้านนาและอยุธยาตอนกลาง และที่ทำให้พระองค์น้อยนี้ดูโดดเด่น

ขึ้นอีกคือการลงรักบนองค์พระและลงชาดบนจีวร เหมือนว่าคนสร้างในยุคนั้นอยากทำให้ดูสมจริง

เดินเข้าสู่รัตนโกสินทร์ ยุคที่ดำเนินอยู่จนปัจจุบัน พระพุทธรูปยุคนี้ช่วงแรกพัฒนาจากสมัยอยุธยากระทั่งสร้างรูปแบบของตน ชวนสังเกต “พระพุทธรูปจีวรลายดอก” จากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อุบลราชธานี ที่เล่นกับแสงไฟจนเกิดเงาโดดเด่น ลวดลายเต็มผืนจีวรนั้นมีต้นแบบจากการที่ผู้คนยุคนั้นนิยมถวายจีวรลายดอกดวงแก่ภิกษุสงฆ์ มีข้อมูลกำกับว่าพระองค์นี้หล่อขึ้นที่กรุงเทพฯ แต่ไม่มีหลักฐานว่าย้ายไปอยู่ที่อุบลราชธานีได้อย่างไร แต่ที่สุดวันนี้ท่านก็ได้กลับมาเยือนเมืองกำเนิดอีกครั้ง

longtharn015DSC02549

พระพุทธรูปแต่ละองค์มีความงามและเรื่องราวเป็นเอกลักษณ์ การเปลี่ยนแปลงของพระพุทธรูป

แต่ละยุคสมัยดั่งพัฒนาการมนุษย์ที่แปรผันตามบริบทสังคมช่วงเวลาต่างๆ นับพันปี

ซึ่งหากไม่มาที่นี่ คงยากที่จะมีโอกาสติดตามไปดูได้ครบในแต่ละจังหวัด

เอกสารอ้างอิง

  • กรมศิลปากร. (๒๕๖๖). พระพุทธรูปสำคัญในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ (สูจิบัตร).