จากบรรณาธิการ
นิตยสาร สารคดี ฉบับที่ 415 กันยายน 2562

อุลตร้าแมน

ยอดมนุษย์อุลตร้าแมน เริ่มฉายตอนแรกในทีวีเมื่อปี ๒๕๐๙ และมีการสร้างต่อมาเรื่อย ๆ พร้อมกับการปรากฏตัวของอุลตร้าแมนตัวใหม่ ๆ ไม่ว่าจะเป็นอุลตร้าแมนเซเว่น, ทาโร่, เอซ,คอสมอส ฯลฯ จนล่าสุดปี ๒๕๖๒ นี้คืออุลตร้าแมนไทกะ

จุดเริ่มต้นความสัมพันธ์ของอุลตร้าแมนซึ่งเป็นมนุษย์จากนครแห่งแสงสว่างในเนบิวลา M78 กับมนุษย์โลก เกิดจากการตามล่าสัตว์ประหลาดยักษ์ที่หนีมาถึงโลก แล้วยานทรงกลมของอุลตร้าแมนบังเอิญชนกับเครื่องบินขับโดยเจ้าหน้าที่พิทักษ์โลกชื่อฮายาตะ ทำให้ฮายาตะเสียชีวิต อุลตร้าแมนจึงมอบชีวิตคืนให้เขาพร้อมกับแคปซูลเรียกอุลตร้าแมนให้มารวมร่างเพื่อสู้กับสัตว์ประหลาดได้นาน ๓ นาทีบนโลก

พลังงานของอุลตร้าแมนคือแสงสว่างจากดวงอาทิตย์

อุลตร้าแมนจึงเป็นนักรบพลังแสง มีท่าไม้ตายปล่อยลำแสงอันร้ายกาจออกมากำจัดสัตว์ประหลาดยักษ์จากนอกโลก

การแปลงร่างเป็นฮีโร่ร่างยักษ์ และการต่อสู้ ทุ่ม เตะ ต่อย แบบยูโด กับบรรดาเหล่าสัตว์ประหลาดเพื่อช่วยมนุษย์โลก เป็นจุดขายที่หนังทีวีชุดอุลตร้าแมนดึงดูดผู้ชมโดยเฉพาะเด็ก ๆ มาตลอดเวลายาวนานกว่า ๕๐ ปี

อุลตร้าแมนยุคแรกบทบาทของพระเอกกับผู้ร้ายนั้นแยกกันชัดเจน มายุคหลัง ๆ บทเริ่มมีการตีความใหม่ ๆ  สัตว์ประหลาดอาจไม่ได้ชั่วร้าย มันเพียงต้องการมาอาศัยบนโลก เพราะดาวบ้านเกิดถูกทำลาย โดยเฉพาะอุลตร้าแมนคอสมอสนั้นถือว่าได้เปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับสัตว์ประหลาดอย่างมาก เขาไม่ได้มีแค่พลังแสงทำลาย แต่ยังมีพลังแสงแห่งเมตตาไว้สยบสัตว์ประหลาดดุร้ายให้สงบนิ่ง เด็ก ๆ ในเรื่องก็มองสัตว์ประหลาดว่ามีความทุกข์ความเจ็บปวด ต้องการความช่วยเหลือ และเห็นว่ามนุษย์โลก
กับสัตว์ประหลาดก็สามารถอยู่ร่วมกันได้

ยุคแรก ๆ มนุษย์ที่เป็นร่างทรงของอุลตร้าแมนบุคลิกจะเป็นคนดี ใจเย็น รอบคอบ เสียสละแม้แต่ชีวิตตนเองเพื่อช่วยเหลือคนอื่น  พอยุคหลัง ๆ ร่างทรงไม่ได้มีแค่คนเดียว อาจมีหลายคน บุคลิกนิสัยก็เริ่มเป็นคนปรกติที่มีอารมณ์ มีบาดแผลในใจ หรือมาแบบวัยรุ่น คือใจร้อน มุทะลุ น่าจะเพื่อเอาใจคนรุ่นใหม่ที่อาจเอือม ๆ กับขนบคนเพอร์เฟกต์ ถึงกับบางเรื่องเขียนบทให้มนุษย์ร่างทรงรู้สึกเจ็บปวดมากกับการแปลงร่างเป็นอุลตร้าแมน เพราะใจเขาไม่อยากจะเป็นฮีโร่

ชื่อ Ultraman มาจากสองคำ คือ ultra ที่แปลว่า ยิ่งกว่า เหนือกว่า กับ man  อุลตร้าแมนคือยิ่งกว่ามนุษย์

ในแง่รูปธรรมภายนอก อุลตร้าแมนเหนือกว่ามนุษย์แน่ ๆ นอกจากมีผิวโลหะ บินได้ แถมสื่อสารกันด้วยโทรจิต  เบื้องหลังการออกแบบยังมีเรื่องเล่าว่า ใบหน้าอุลตร้าแมนถอดแบบจากใบหน้าของพระพุทธรูป  ส่วนท่าไม้ตายปล่อยลำแสงที่ต้องยกแขนซ้ายขวามาไขว้กันเป็นกากบาท ก็มีประวัติว่า เอจิ สึบูรายะ ผู้สร้างอุลตร้าแมนนั้นนับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก

เขาเลยได้ไอเดียจากรูปไม้กางเขนของพระเยซู นำมาเป็นท่าสัญลักษณ์ ปล่อยแสงความดีทำลายความชั่ว

ในแง่คุณธรรม อุลตร้าแมนเป็นตัวแทนความกล้าหาญ ความรับผิดชอบต่อหน้าที่ และความเสียสละ เช่นอุลตร้าแมนตัวแรกนั้นตอนสุดท้ายยอมสละชีวิตสู้กับสัตว์ประหลาดจนหมดเวลา ๓ นาที

ถามว่าอุลตร้าแมนกับพระพุทธรูปเหมือนหรือต่างกันอย่างไร

ประเด็นแรก พระพุทธรูปไม่ใช่รูปเหมือนของพระพุทธเจ้า แต่เป็นงานศิลปะที่คนสร้างขึ้นเป็นสัญลักษณ์แทนพระพุทธเจ้า มีความเปลี่ยนแปลงมาตามยุคสมัยและฝีมือช่าง เช่นในดินแดนสยาม สมัยทวารวดี เชียงแสน สุโขทัย อยุธยา พระพุทธรูปก็แตกต่างกัน สุโขทัยพระพักตร์มีเมตตา อยุธยาดูน่าเกรงขาม  ส่วนอุลตร้าแมนแต่ละตัวก็มีหน้าตาและบุคลิกแตกต่างกันเช่นกัน

เอาเข้าจริงพระพุทธรูปไม่ใช่แค่สัญลักษณ์ เพราะพระพุทธรูปแต่ละองค์ตามวัดวาอารามต่าง ๆ ก็เหมือนมีตัวตนขึ้นมา มีชื่อเรียกขานเฉพาะ ประวัติความเป็นมา ตำนานอิทธิฤทธิ์ และได้รับความเชื่อถือศรัทธาแตกต่างกันไป ในแง่นี้อุลตร้าแมนแต่ละตัวก็มีประวัติและวีรกรรมต่าง ๆ กันเช่นกัน

ส่วนเมื่อเทียบกับพระเยซูกลับดูไม่มีอะไรเหมือนกัน ที่พอจะใกล้เคียงคงเป็นการสละชีวิตเพื่อช่วยมนุษย์โลก ขณะที่พระเยซูทรงสละชีวิตเพื่อไถ่บาปให้แก่มวลมนุษย์ และต่อมาทรงฟื้นจากความตาย (อุลตร้าแมนก็ได้รับการช่วยจนฟื้น)

พระเยซูสอนว่า “ถ้าผู้ใดตบแก้มขวาของท่าน ก็จงหันแก้มซ้ายให้เขาด้วย” ซึ่งเป็นการสอนไม่ให้ยึดติดกับการแก้แค้น ไม่ทำความชั่วเพื่อตอบโต้ความชั่ว แต่ตอบแทนด้วยการทำความดี

เวลาอุลตร้าแมนสู้กับสัตว์ประหลาด

คงต้องทำขัดกับคำสอนนี้แน่นอนครับ

สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ
บรรณาธิการบริหารนิตยสารสารคดี
suwatasa@gmail.com