ยสินทร กลิ่นจำปา : เขียน
ณัฐมล น้อยตะริ : ช่างภาพ
เรียงรายโกงกางดูแน่นขนัด ทิวเขียวของยอดไม้อ้ารับแสงแดดเบิกบาน พลิ้วตามกระแสลมทะเลจนเกิดเสียงบางๆ ไพเราะหู เมื่อมองตามทางเดินซึ่งทอดยาวลึกเข้าไป จะพบใบไม้หล่นหนาเตอะตามทาง ผมกำลังอ้อยอิ่งบริเวณทางเข้าของเส้นทางศึกษาธรรมชาติป่าชายเลนปากน้ำประแส ริมชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก อำเภอแกลง จังหวัดระยอง
ก่อนถึงที่หมายของวันอย่างทุ่งโปรงทองซึ่งอยู่ห่างจากปากทางเข้าราว 2.7 กิโลเมตร ป้ายไวนิลขาวใบหนึ่งชวนสะกิดใจตั้งแต่ไม่เริ่มเยื้องย่าง ผมยั้งเท้า กวาดสายตาอ่านเพื่อระคายความสงสัย
ป้ายขาวเผยข้อความ ‘ประกาศ’ ห้ามจับสัตว์น้ำบริเวณป่าชายเลนทุ่งโปรงทองเป็นการชั่วคราว ระยะเวลา 3 เดือน (7 มกราคม 2566 – 6 เมษายน 2566) เนื้อหาใจความคือ การปล่อยปูทะเลพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ 1,500 กิโลกรัม คืนสู่ธรรมชาติ พร้อมลูกปูทะเลไม่ระบุจำนวน
ผมทดสิ่งที่เห็นไว้ในใจ เริ่มสาวเท้าเข้าป่าชายเลน เงาทึบทึมของลำต้นโกงกางสูงชะลูด ก่อเป็นความรู้สึกอึดอัดบดบังสายตา คืออาณาบริเวณแรกที่ผมสัมผัส แถวแนวถูกจัดวางบรรจงราวสวนยางพาราไร้ชีวิต ใบโกงกางสีน้ำตาลร่วงเปรอะทางเดิน พร้อมกันนั้น แว่วเสียงกุ้งดีดขัน “เป๊าะ แป๊ะๆ” บรรเลงเป็นระยะ
อดีตอันซึมเซาของป่าชายเลนประแสเริ่มพุ่งพวยออกมาพร้อมซิมโฟนีของผืนป่า ความทรงจำจากปากคำของชายชราคนหนึ่งเริ่มเขยื้อนขยับ ก่อเป็นรูปร่าง กระจ่างชัด ฉายภาพอดีตของรยางค์รากโกงกางซีดเซียวเหล่านี้
ชายตามองป่า ด้วยสายตาของอดีตคนตัดฟืน
“ตอนนั้นรุ่งเรืองมาก ในเรื่องของวัฒนธรรม การค้าขาย การทำนาก็รุ่งเรือง ป่าก็สมบูรณ์มาก”
ชโลม วงศ์ทิม อดีตผู้นำชุมชนตำบลปากน้ำประแส ผู้ก่อตั้งวิสาหกิจชาใบขลู่และการท่องเที่ยวอนุรักษ์ ย้อนนึกวัยเยาว์
จากพื้นที่ป่าประมาณ 7,000-8,000 ไร่ เหลือเพียง 4,000-5,000 ไร่ ชายชราวัย 80 ไล่เรียงให้ฟังว่า นับแต่มีการสัมปทานของเอกชน ขายที่ดินให้นายทุนทำประโยชน์ เช่น บ่อกุ้ง ปล่อยน้ำเสีย ตลอดจนการตัดไม้ทำฟืนของคนในพื้นที่ ความอุดมสมบูรณ์ของป่าชายเลนปากน้ำประแสจึงร่อยหรอลดหลั่นลงเรื่อยมา
“ลุงเป็นนักทำลายป่าคนหนึ่ง ตัวยง ตัดฟืน เผาถ่าน ส่งลูกเรียน เรียนจบหมด 3 คน แล้วลุงก็มาคิดว่า ถ้าป่าหมดแล้วจะทำยังไง ต่อไปลูกหลานจะอยู่ยังไง เราจะคืนธรรมชาติให้เขาไหม ลำพังคนเดียวลุงทำไม่ได้ ลุงทำไม่ได้คนเดียว”
พ.ศ. 2537 คะเนจากสายตาหนุ่มใหญ่ในปีดังกล่าว ป่าเหลือแต่ตอและเกรียนโกร๋น ขณะที่กุ้งหอยปูปลาเริ่มหายาก ชโลมพบว่า หากนำกล้าไม้ที่ตกหล่นตามดินเลนปักลงดิน ใช้ระยะเวลาราวหนึ่งเดือนบวกลบ กล้านั้นจะเริ่มแตกใบเขียว ชโลมจึงทั้งปลูกและเพาะกล้าไม้ ฟื้นฟูป่าในความทรงจำด้วยสองมือของตัวเองเป็นอันดับแรก ทำเรื่อยมาจนเลขปฏิทินระบุ พ.ศ. 2543 เขากลายเป็นผู้นำชุมชนตำบลปากน้ำประแส และเริ่มหาแนวทางดึงชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น
ในปีดังกล่าว ชโลมเรียกประชุมหมู่บ้าน หารือโครงการสร้างสะพานทางเดินหรือ walkway เข้าไปที่ศาลเจ้าพ่อแสมผู้ ซึ่งตั้งอยู่ใจกลางป่าชายเลนที่หลงเหลือน้อยนิด “ชาวบ้านเอาด้วย” ผลประกอบการเป็นไปในทิศทางบวก “แต่ถ้าบอกว่าจะทำ walkway เพื่ออนุรักษ์ป่า ไม่มีใครเอาด้วยหรอก เพราะเขายังตัดไม้กันอยู่”
เมื่อเสกทางเข้าได้ราว 70 เมตร ผู้นำเครือข่ายลุ่มน้ำประแส นำโดยชโลม และชาวบ้านอีกกว่า 35 ชีวิต1 ร่วมกันปลูกป่าชายเลนในพื้นที่สาธารณะและตั้งศาลาพักมุงหญ้าคาหลังแรกที่บริเวณทุ่งโปรงทอง ชโลมบรรยายว่า สองข้างทางขณะนั้น มีหิ่งห้อยเหลืองอร่าม เวลาลมพัดมาจะเป็นพลิ้วเหมือนลูกคลื่น
แต่ผลตอบรับของชุมชนยังไม่น่าประทับใจนัก ชโลมจึงหาหนทางเพิ่มรายได้ให้ชุมชนอีกทางหนึ่ง เขาก่อตั้งกลุ่มชาใบขลู่และการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เมื่อชาวบ้านเห็นพ้อง การรักษาความสะอาดทั้งภายในหมู่บ้านและหนทางตามป่าชายเลนจึงเกิดขึ้นโดยปริยาย ผู้คนแห่แหนมาศึกษาระบบนิเวศ ดูนก ล่องเรือ ขอพรเจ้าพ่อ มีโฮมสเตย์และสามล้อให้บริการ ประแสจึงกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวครบวงจร
“จากเหลือผืนป่า 30 เปอร์เซ็นต์ ณ เวลานี้ 70-80 เปอร์เซ็นต์ สมบูรณ์มาก” อดีตผู้นำชุมชนที่วางมือได้ 2 ปี ประเมินผลงานตัวเอง “ผมอยากจะให้ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์เหมือนกัน”
ปลูกป่า ได้ป่าปลูก?
ใบไม้ตามทางเดินเริ่มบางตา ระยะห่างระหว่างโกงกางเริ่มกว้างขึ้น ต้นแสมทะเลเริ่มเผยตัวตามที่ว่าง รากอากาศนับพันดูหายใจคล่องปลอดโปร่งขึ้น ใบกลมกลึงของต้นลำพูลู่ตามแรงลมทะเล ประชากรของพืชพันธุ์ดูมีความหลากหลายละลานตา ผมนั่งพักที่ต้นแสมยักษ์ซึ่งทางเดินล้อมกรอบรอบลำต้นไว้
“สิ่งหนึ่งที่ทำให้มีใบไม้ร่วงจำนวนมาก เพราะความเค็มของน้ำมีการเปลี่ยนแปลง” รศ. กิติเชษฐ์ ศรีดิษฐ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในบริเวณแรกของเส้นทางศึกษาธรรมชาติ
ด้วยหมวกนักวิทยาศาสตร์ที่สนใจธรรมชาติวิทยาและศึกษาสังคมพืช (plant community) กิติเชษฐ์กล่าวต่อไปว่า หากความเค็มทวีความเข้มจัดขึ้น พืชชายเลนจำเป็นต้องกำจัดเกลือออกจากเซลล์ เพราะน้ำจืดที่พืชชายเลนดูดซับ ย่อมเป็นน้ำจืดที่ไหลจากบริเวณความเข้มข้นสูง ไปสู่ความเข้มข้นต่ำเสมอ ฉะนั้น เมื่อเซลล์มีเกลือมาก ต้นไม้จึงกำจัดเกลือด้วยการทิ้งใบ และแม้ว่าโกงกางไม่มีต่อมกำจัดเกลือหลังใบ แต่ก็สามารถกำจัดเกลือโดยทิ้งทั้งใบและกิ่ง
สำหรับกิติเชษฐ์ ป่าชายเลน (mangrove) ถือเป็นสังคมพืชที่มีการเดินทางอยู่ตลอดเวลา (walking ecosystem) เพราะคุณสมบัติของป่าชายเลนคือการกักเก็บตะกอน เมื่อตะกอนหนาเพียงพอ ฝักเมล็ดของโกงกาง จะสามารถปักลงชั้นตะกอนได้อย่างมั่นคงตามกระแสน้ำ ทิศทางลม หรือการสุ่มของธรรมชาติ ต้นแสม ลำพู หรือพืชที่อยู่ก่อนหน้าจะค่อยๆ ล้มหายตายจาก เพราะโกงกางขึ้นแทรกแทนที่ โดยจังหวะจะโคลนอันเชื่องช้าของโลก จะนำพาฝักเมล็ดของแสมหรือลำพู พัดยื่นออกไปบริเวณขอบนอกของป่าชายเลน พวกมันจะแตกกิ่งก้าน กักเก็บตะกอน และรอคอยการมาถึงของฝักโกงกางต่อไป
“แปลว่าป่าชายเลนไม่มีทางหยุดอยู่เฉยๆ”
กิติเชษฐ์สรุปว่า ท้ายสุด พื้นที่ชุ่มน้ำ (wetland) ทุกแห่งจะกลายเป็นบก (terrestrial) ป่าชายเลนจึงต้องมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา หากป่าชายเลนไม่เปลี่ยนแปลง ย่อมเป็นสัญญาณความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับระบบ
นอกจากนั้น กิติเชษฐ์เพิ่มเติมประเด็น ‘carrying capacity’ ได้อย่างน่าสนใจ คำๆ นี้หมายถึง ความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตที่มากที่สุดในสิ่งแวดล้อมทางชีวภาพหนึ่ง แปลว่า ในระบบนิเวศหนึ่งๆ จะยอมให้สิ่งมีชีวิตชนิดใดชนิดหนึ่งมีปริมาณจำกัด ถ้าเกิดกิจกรรมของมนุษย์เพิ่มหรือลดปริมาณสิ่งมีชีวิตนั้น ก็ย่อมไปเปลี่ยนแปลงจำนวนของสิ่งมีชีวิตกลุ่มอื่นด้วยเช่นกัน
คำถามสำคัญสำหรับป่าชายเลนคือ การปลูกป่าหรือปล่อยสัตว์น้ำในนามของการทำความดี การทำกิจกรรมเพื่อสังคม (Corporate Society Responsibility: CSR) หรือกระทั่งในนามของการอนุรักษ์ อาจไม่สมดุลกับความสามารถในการรองรับของระบบนิเวศ ณ ตรงนั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ ความสมบูรณ์ที่คะเนจากสายตา ดัชนีพืชและสัตว์ หรือคาร์บอนเครดิต จะมีความหมายใดในมุมมองของธรรมชาติ
ไม่ใกล้ไม่ไกล ผมเห็นเวิ้งฟ้าใสเคล้าปุยเมฆน้อยๆ ราวขนมสายไหม เส้นขอบฟ้าคือทะเลไกล เลื่อนลงมาคือแนวไม้ไผ่ ทิวสน หาดทราย ร่องน้ำ หาดทรายอีกแห่ง และร่องน้ำอีกครั้ง คล้ายผมซุ่มอยู่หลังต้นแสมทะเลและลำพูขึงขังสงบเงียบ จ้องมองแนวกล้าโกงกางที่ปลูกอย่างผ่านการคำนวณด้วยมันสมอง มันขึ้นคร่อมหาดทรายขนาดกลางที่อยู่ระหว่าง 2 ร่องน้ำ ลำต้นเตี้ยผอมตั้งฉากของมันให้ความรู้สึกแห้งแล้งพิกล
เสมือนป่าชายเลน กล้าโกงกางเหล่านั้นปักอยู่บน ‘ตะกาด’ หรือเนินทราย (dune) ที่น้ำทะเลยังท่วมถึง แต่ตำแหน่งของตะกาดไม่ได้ปะทะน้ำทะเลโดยตรง ตะกาดตั้งมั่นด้านหลังสันทรายชั้นแรกที่พบปะมหาสมุทร ตะกาดจึงคล้ายพื้นที่ชุ่มน้ำ และอาจมีสมาชิกจากป่าชายเลนบางชนิดมาลงหลักปักฐาน เช่น แสม ชะคราม ผักเบี้ยทะเล
ตะกาดที่เราคุ้นเคยกันดี คือทุ่งโปรงทอง บริเวณนั้นคือตะกาดซึ่งเป็นสันดอนทรายและน้ำเค็มยังขึ้นถึง แต่เมื่อปลูกต้นไม้ที่ไม่ใช่พืชตะกาด ลำต้นก็จะแคระแกร็น เพราะเกิดภาวะขาดไนโตรเจน ทำให้ใบเป็นสีเหลือง
กิติเชษฐ์เสริมว่า ใบสีเหลืองของต้นโปรง อาจเกิดภาวะตึงเครียด (stress) หรือภาวะที่พืชเค้นให้เกิดการแสดงออกทางสัณฐานวิทยา เมื่อเกิดความเครียด การสร้างคลอโรฟิลล์ของพืชก็ไม่สมบูรณ์ สีเหลืองของใบจึงอาจเกิดจากการผลิตอาหารได้ล่าช้า
“เราทุกคนต่างได้รับนิเวศบริการ เราเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศ ถ้าเราเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศ ระบบนิเวศไม่ได้พัง แต่มันจะเปลี่ยนสมดุล ฉะนั้น ในสมดุลที่เปลี่ยนไป เราไม่รู้ว่าสิ่งมีชีวิตอะไรบ้างที่ต้องหายไปจากระบบนิเวศ” อาจารย์วัยเก๋าแสดงความเห็น
สีเหลืองของต้นโปรงขาว จึงกลายเป็นสีทองอร่ามของทุ่งโปรงทอง และเมื่อหยดแดดโรยราของบ่ายแก่สาดทั่วยอดโปรงเตี้ยๆ ผมประทับภาพทุ่งโปรงทองให้กลายเป็นดิจิทัลฟุตพริ้นท์ อวดสายตาเพื่อนในโซเชียลมีเดีย แน่นอนว่าเป็นภาพที่ไม่เห็นผิวทรายของตะกาดเบื้องล่าง
แสงสุดท้ายกำลังคล้อยต่ำลง กิจวัตรในป่ากำลังดำเนินไป แต่ความสงสัยในใจยังคงอยู่
ข้อมูลจากกรมประมง ระบุว่า คนไทยจำนวนไม่น้อยนิยมการปล่อยสัตว์น้ำ เพื่อการสะเดาะเคราะห์ต่อชะตาเสริมสร้างบารมี แต่สัตว์น้ำต่างถิ่น หรือเอเลี่ยน สปีชีส์ (Alien Species) ไม่ควรถูกปล่อยลงน้ำอย่างไร้กฎเกณฑ์ เพราะระบบนิเวศของแหล่งน้ำจะมีปัญหา สูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ สัตว์น้ำพื้นเมืองลดน้อยลง จนอาจถึงขั้นสูญพันธุ์
แม้ว่าจะมีการปล่อยปูพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ แต่ปูท้องถิ่นตามลำคลองและป่าชายเลนประแส ได้แก่ ปูดำ ปูเขียวใบไม้ ปูสังกะสี ปูอีแต๋น รวมถึงปูทองหลางที่กำลังจะสูญพันธุ์ คำถามคงหนีไม่พ้นว่าปูหลักตันที่วัดแถบนครราชสีมาเป็นเจ้าภาพนำมาปล่อยนั้น เป็นพันธุ์ท้องถิ่นหรือกระทั่งมีจำนวนที่เหมาะสมกับระบบนิเวศหรือไม่
ใต้ชายคาศาลา บริเวณศาลเจ้าพ่อแสมผู้ ผมมีโอกาสนั่งคุยกับ เล–อรทัย มาลาน้อย สาวใหญ่จากอุดรราชธานีที่ย้ายถิ่นมาทำงานเป็นคนตัดไม้เผาถ่านที่ประแสราว 30 ปีก่อน เธอเล่าว่า ความจนบีบห้ามให้เธอเกี่ยงงาน เธอเสียใจกับอดีตที่มีส่วนแผ้วถางป่า แต่ในปัจจุบัน เธอทิ้งอาชีพคนตัดไม้ไว้เบื้องหลัง และร่วมมือกับสามีคนท้องถิ่น ดูแลทำความสะอาดบริเวณศาลเจ้า อำนวยความสะดวกนักท่องเที่ยว รวมถึงเป็นชาวประมงเมื่อถึงฤดูกาล
เลชี้ว่า ชาวบ้านรู้สึกยินดีที่มีการปล่อยปูทะเลกว่า 3 ตันบริเวณเรือรบประแส แต่คนต่างถิ่นที่รู้ข่าวคราวกลับแอบวางลอบดักปู ขนใส่เรือกลับถิ่นฐานตัวเองสบายใจเฉิบ
“รัฐห้ามเราก็เชื่อฟัง มีแต่ชาวบ้านที่อื่นมาหากัน พอมารู้อีกทีก็เสียดาย น่าจะลุยซะตอนนั้น” เลแย้ม “แต่ก็คงไม่ทำหรอก”
เฉกเช่นกับชโลม เล และชาวบ้านคนอื่นคงนึกครึ้มใจไม่น้อย เมื่อสองมือของตนสามารถปั้นเสกขจีเขียวของต้นไม้ หรือกระทั่งเป็นส่วนเล็กส่วนน้อยที่ละเลงความเหือดแห้งให้ผืนดินปากน้ำ ตลอดจนเป็นผู้สังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงของทรัพยากรและสิ่งมีชีวิตชนิดพลิกฝ่ามือ บ้างหายไปตามกาลเวลา บ้างเพิ่มจำนวนตามความปรารถนาดี
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจุดประสงค์ของการปล่อยปูพ่อพันธุ์แม่พันธุ์หรือการปลูกป่าจะคืออะไร ใครเป็นเจ้าภาพ ตลอดจนส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไร ปฏิเสธไม่ได้ว่า แสงสปอตไลท์จากได้ฉายสาดสู่ดินแดนริมชายฝั่งตะวันออกแห่งนี้ และทำให้การอนุรักษ์จากต่างมุมมอง กลับส่งผลต่อคนท้องถิ่นในระนาบเดียวกัน
ท่าทางคล่องแคล่วของ อิ๋ง–สนุก ปะสิ่งชอบ ชาวบ้านในพื้นที่ กำลังป่ายปีนรากโกงกางหลังสายตาเฉียบคมเล็งเห็นปูดำที่เคลื่อนไหวอยู่ตามรูเลน
“ปูนี้จะเป็นปูที่เขาปล่อยไหม” ผมที่เดินเท้าเปล่าตามผู้เชี่ยวชาญอย่างเก้งๆ กังๆ ถามไล่หลัง
“อันนั้นน่าจะหมดแล้ว” เสียงแหบติดหัวเราะแห้งของชายวัย 57 ชวนขำขื่นใจ เพราะคนนอกเข้ามาจับอย่างเอิกเกริก
“แล้วปูดำทำเมนูอะไรอร่อยที่สุด”
“นึ่งก็ได้ ผัดผงกะหรี่ ได้หมด” คนล้วงปู ผู้เลี้ยงหอยนางรม คนขับเรือนำเที่ยว และพ่อค้าขายของในตลาด กล่าวต่อไปว่า
“ถ้านึ่งกินนะ บ้านผมจะเหลือแต่ตัว ก้ามไม่มีหรอก ลูกหลานเอาไปกินหมด ตัวปูมันแกะยาก แต่ก้ามปูทุบสองสามทีก็ได้แล้ว เด็กกินแบบนี้ กินกันตลอด กินจนมันเบื่อ”
เอกสารประกอบการเขียน
สัมภาษณ์
- กิติเชษฐ์ ศรีดิษฐ. (2566). สัมภาษณ์, 16 มิถุนายน
- สนุก ปะสิ่งชอบ. (2566). สัมภาษณ์, 16 มิถุนายน
- ชโลม วงศ์ทิม. (2566). สัมภาษณ์, 17 มิถุนายน
- อรทัย มาลาน้อย. (2566). สัมภาษณ์, 17 มิถุนายน
เอกสารภาษาไทย
- กัลยรัตน์ จุลลมณฑล และคณะ. 2562. ณ ประแส(ร์) กระแสชีวิตของคนปากน้ำหนังสือที่รวบรวมงานศึกษาภาคสนามของนักศึกษาสาขามานุษยวิทยา ณ ชุมชนปากน้ำประแส อำเภอแกลง จังหวัด ระยอง ระหว่างวันที่ 17–23 พฤษภาคม 2562. กรุงเทพฯ: คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร.
เอกสารอิเล็กทรอนิกส์
- สำนักงานประมงจังหวัดนนทบุรี. 2563. “ปล่อยสัตว์น้ำอย่างไรให้ถูกต้อง.” เข้าถึงเมื่อ 21 มิถุนายน 2566. https://www4.fisheries.go.th/local/index.php/main/view_activities/2/90027
- อภิชาต ภัทรธรรม. มปป. “การใช้ประโยชน์พื้นที่กับ carrying capacity.” เข้าถึงเมื่อ 22 มิถุนายน 2566.https://kukr.lib.ku.ac.th/proceedings/ kucon/search_detail/dowload_digital_file/4 599/95921