เรื่อง : ขจรพงศ์ ประศาสตรานุวัตร
ภาพ : จิรศักดิ์ ทับแพ
“ผมอยากขอบคุณทะเล ถ้าไม่มีทะเลคงไม่มีผมในวันนี้”
ถ้อยคำที่เรียงร้อยผ่านความรัก ความผูกพัน ท่ามกลางแสงอาทิตย์ยามเย็นที่ค่อยๆ ลดความคมชัดของภาพตรงหน้าลง ณ ท่าเรือบริเวณชายเลนใต้สะพานประแสสิน
คุณค่อย ๆ ถูกบทสนทนาพัดพาสู่พื้นที่เร้นลับที่ความมานะของมนุษยชาติใด ๆ สามารถไขปริศนาได้เพียงเล็กๆ น้อยๆ
การสรรเสริญท้องทะเลข้างต้นโดย “ดำ” หนุ่มเจเนอเรชันวาย ผิวคล้ำแดด เจ้าของดวงตาที่หล่อเลี้ยงความตั้งใจและแน่วแน่ เล่าความสัมพันธ์ระหว่างตนกับทะเลว่า ทะเลเสมือนที่พึ่งพิง เสมือนมิตรภาพที่ก่อตัวตั้งแต่ครั้นจำความได้ พร้อมย้อนความว่าครั้งหนึ่งความอยากรู้อยากลองในวัยหนุ่ม ทำให้ชีวิตประสบกับมรสุมลูกใหญ่ที่พัดพาตนออกจากปากน้ำประแส สู่เส้นทางที่สร้างบาดแผลมากมาย
เมื่อมรสุมค่อยๆ สงบลง เช่นเดียวกับตะกอนของประสบการณ์ค่อยๆ ตกสู่เบื้องลึกในใจ ลมทะเลอันแสนสงบได้พัดพา “ดำ” หรือ อภิชาต เอื้อเฟื้อ เข้าสู่อ้อมกอดของท้องทะเล ณ ปากน้ำประแสอีกครั้ง เพื่อยึดโยงชีวิตกับกิจกรรมยังชีพแรกเมื่อมนุษย์ได้รู้จักท้องทะเล



ศูนย์กลางที่ท้องทะเล ชีวิตประมงพื้นบ้าน
หลังจากลงรถ คุณถูกตีด้วยกลิ่นทะเลที่คุ้นเคย การเดินทางสามชั่วโมงกว่าๆ จากเมืองหลวงมากด้วยมลพิษสู่ปากน้ำประแส จังหวัดระยอง ที่ชาวบ้านส่วนใหญ่ยังดำรงชีวิตผ่านการพึ่งพาท้องทะเลเป็นหลัก สิ่งแรกที่คุณทำคือค่อย ๆ เคลื่อนตัวพร้อมสัมภาระเข้าสู่โฮมสเตย์ พร้อมวาดแผนในหัวถึงกิจกรรมหลังดวงอาทิตย์กลับมาทอแสงจาง ๆ ที่ปลายขอบฟ้า
ระหว่างทางเดินสู่ตลาดรุ่งสาง สองฝากฝั่งขนาบด้วยบ้านไม้หลังเก่าเรียงราย บ้านเรือนตลอดฝั่งขวาเป็นเหมือนเขื่อนคั่นระหว่างคุณกับทะเล เมื่อใดปรากฏช่องว่าง แดดยามเช้าจะตัดข้ามทะเลตกกระทบสู่พื้นถนนและผิวของคุณ นอกจากแสงแดดริมทะเลที่สะท้อนสัญญาณแรกเริ่มของชีวิต อีกหนึ่งสัญญาณคือร้านรวงต่าง ๆ ที่ค่อย ๆ แง้มประตูรอรับลูกค้าในวันใหม่ เสียงทีวีบอกเล่าข่าวจากร้านขายของชำบรรเลงคู่กับเสียงประตูที่เลื่อนออก พร้อมเผยภาพกางเกงหลากสีเรียงรายภายในร้าน
เมื่อเสียงเท้ากระทบพื้นเริ่มแผ่ว เสียงพูดคุยประสานบรรเลงมาแทนที่ ภาพตลาดบ้านเก่าริมน้ำประแสขนาดเล็กตรงหน้าตั้งอยู่บนสามแยกทางเดินที่ปกคลุมไปด้วยชีวิตของผู้อาศัยรอบท้องทะเล ผู้คนมากมายต่างถือถุงหิ้วทั้งพลาสติกและผ้า บ้างหยุดยืนพูดคุย บ้างหยุดซื้อของตามร้านรวง สินค้าหลากหลายตั้งแต่ขนมท้องถิ่นใส่ถุงขนาดเล็กมัดปากด้วยหนังยาง ผลหมากรากไม้ กระทั่งสิ่งมีชีวิตน้ำเค็มหลากหลายขนาดวางเบียดอัดกันบนถาดสีเงินพร้อมน้ำแข็งโรยกระจายเป็นหย่อมๆ
คุณลัดเลาะผ่านตลาด ทะลุประตูบานเล็ก ฝั่งซ้ายมือมีศาลเจ้าจีนห่อคลุมด้วยปูนสีขาว เมื่อเดินตรงไปจะพบท่าเรือขนาดเล็ก เบื้องหน้าเป็นบันไดปูนขนาดกว้างที่เรือประมงหางยาวสามลำจอดหันข้างทาบท่า ขยับเคลื่อนขึ้นลงตามกระแสน้ำที่เคลื่อนคล้อยตามสายลม เมื่อมองข้ามไปอีกฟากฝั่งจะพบเรือเล็กใหญ่เรียงรายเป็นแถวหน้ากระดานบนผืนน้ำ มีตาข่ายขนาดใหญ่สีเขียวและดำ ที่ทั้งมัดไว้อย่างเป็นระเบียบ และวางเป็นกองๆ
วิถีชีวิตของผู้คนปากน้ำประแสผูกโยงกับท้องทะเลและมีความทรงจำต่อผืนน้ำเค็มตั้งแต่วัยเยาว์ ความสัมพันธ์อันแนบแน่นต่อท้องทะเลย้ำชัดโดย สงกรานต์ ทรงศิลป์ หนุ่มใหญ่ ร่างเล็ก ผู้ไว้ผมสั้นคล้ายทรงนักเรียน ใบหน้าคมเข้มกร้านแดดพร้อมฉายแววจริงจังเมื่อเล่าถึงอาชีพประมงพื้นบ้าน หรือการหาปลาโดยใช้เรือประมงขนาดเล็ก ที่พบเห็นได้ชินตาคือเรือหางยาวที่มีเครื่องยนต์พ่วงท้าย
ปัจจุบันสงกรานต์เป็นประธานกลุ่มประมงพื้นบ้านเรือรบประแส
“ทะเลเหมือนเส้นเลือดใหญ่ของเรา ที่เราได้มีความเป็นอยู่ มีอาหารการกินแต่ละวัน ตลอดจนได้ส่งเสียลูกจนเรียนจบ เพราะทะเล เราจะขาดตรงนี้ไม่ได้”
เช่นเดียวกับหลายพื้นที่ ประมงพื้นบ้านแห่งปากน้ำประแสมีเครื่องมือประมงที่หลากหลายโดยอิงจากสัตว์หลายชนิดที่ว่ายมาบรรจบกันในฤดูที่แตกต่าง เช่น ช่วงเดือนมิถุนายนถึงตุลาคมเป็นช่วงมรสุมทำให้จับปลาและออกทะเลลึกได้ยาก ประมงที่ชำนาญการจับปลาต้องปรับเครื่องมือจากอวนปลามาใช้อวนปูหรือลอบดักปูแทน หรือช่วงเดือนมิถุนายนถึงกันยายนชาวประมงบางส่วนจะมาพึ่งพิงอวนกุ้ง และรุนเคย เป็นต้น
หนุ่มใหญ่เปรียบเปรยว่าการทำประมงเป็นอาชีพหมุนเวียน ผ่านการใช้เครื่องมือประมงที่หลากหลาย สะท้อนความเข้าใจของชาวประมงพื้นที่ประแสถึงสภาพแวดล้อม ระบบนิเวศ และพฤติกรรมสัตว์น้ำในพื้นที่อย่างลึกซึ้ง
อีกสิ่งหนึ่งที่พี่น้องประมงบอกเล่าคล้ายกันคือ “สำนึกอนุรักษ์ทะเล” เช่น การอนุรักษ์ปูม้าอย่างครอบคลุม ทั้งฝั่งประมงผู้จับปูเป็นอาชีพ เมื่อพบปูที่มีไข่สีดำจะนำมาแปรงไข่ออกให้โตเป็นลูกปู ก่อนนำไปปล่อยตามพื้นที่อนุรักษ์ หรือกลุ่มแม่ค้าจะไม่รับซื้อปูที่มีไข่สีดำ รวมถึงการสื่อสารภายในกลุ่มประมงว่า ถ้าจับได้ปูที่มีไข่ต้องให้นำไปปล่อยทันที และยังมีความพยายามอื่น ๆ ในการอนุรักษ์สิ่งมีชีวิตในท้องทะเล เช่น การทำบ้านปลา ธนาคารปู และการจัดตั้งเขตอนุรักษ์ ตอกย้ำบทบาทของประมงพื้นบ้านที่คิดถึงการทำประมงอย่างยั่งยืนในพื้นที่
นอกจากนี้การตั้งกลุ่มประมงขึ้นก็มีจุดประสงค์แรกเริ่มเพื่อให้สื่อสารการดำเนินงานต่าง ๆ กับภาครัฐราบรื่นขึ้น ค่อยๆ ก่อร่างความสัมพันธ์กันกระทั่งกลุ่ม “เหมือนครอบครัวเดียวกัน อะไรช่วยเหลือกันได้จะช่วยหมด ทั้งเงินทองหรืออุปกรณ์”ตามที่หนุ่มประมงวัยใกล้เกษียณเล่าด้วยแววตาสะท้อนความขอบคุณ
มากไปกว่านี้ วิถีชีวิตที่ถักทอผ่านผืนทะเลยังขยายเป็นวงกว้างจนครอบคลุมหมู่ผู้พึ่งพาทะเลทุกกลุ่มก้อน ทั้งประมงพื้นบ้านและประมงพาณิชย์ ดังที่หนุ่มร่างเล็กผู้เดิมย้ำว่า “ปัญหาของแต่ละกลุ่มเหมือนกัน พอคุยกัน เข้าใจกันก็ยิ่งรักกัน”
ชาวประมงพื้นบ้านหลายคนเล่าว่า เมื่อออกทะเลและเรือประมงเสียกลางท้องทะเล ผู้พบจะช่วยลากเรือกลับเข้าฝั่ง หรือแม้เรือประมงพื้นบ้านกับพาณิชย์ยังเกื้อกูลกัน เมื่อเรือพาณิชย์พบปลาบริเวณใด จะบอกกล่าวแก่พี่น้องประมงพื้นบ้านทันที
หลังจากคุณได้ลงนั่งบนแผ่นไม้กั้นกลางระหว่างคุณกับผืนทะเลไพศาลไว้ เมื่อเสียงเครื่องยนต์คลับคล้ายเสียงมอเตอร์ไซค์เก่าเริ่มบรรเลงบนผืนน้ำ เรือค่อยๆ เร่งความเร็วออกจากท่า พร้อมลมทะเลแสนเบาปะทะใบหน้า ลมที่ไม่เพียงหอบความเย็นกับเสียงที่แล่นผ่านหู แต่กลับหอบความสบายใจและความผ่อนคลายลูกใหญ่พาดผ่านจิตใจของคุณ
ระหว่างการเคลื่อนที่บนผืนน้ำ ภาพความเกื้อกูลระหว่างพี่น้องประมงฉายตัวผ่านการทักทาย พร้อมถามไถ่สารทุกข์สุขของผู้ขับเคลื่อนเรือประมงที่คุณโดยสาร กับชาวประมงท่านอื่นที่พาดผ่าน



สิ่งท้าทายที่ประมงประสบ
“เราหากินกับโชคชะตา เราไม่สามารถการันตีได้เลยว่าวันนี้ออกไปจะได้ของกลับมาหรือเปล่า”
หนุ่มประมงกล่าวพร้อมก้มหน้า แววตาแผ่ความผิดหวัง
ภาพความเคารพผืนน้ำเค็มและความเกื้อกูลระหว่างพี่น้องประมงค่อย ๆ เลือนไป เมื่อการทำประมงในปัจจุบันเผชิญความท้าทายที่หลากหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งความอุดมสมบูรณ์ที่ลดน้อยถอยลงอย่างรวดเร็ว กระทั่ง “วัฒนา” ชายชาวประมงวัยกลางคนที่คุณพบปะระหว่างล่องเรือประมงกลับเข้าฝั่ง เปรียบเทียบปูที่หาได้เมื่อ 20 ปีก่อนกับปัจจุบัน ผ่านแววตาปลงตกว่า
“เมื่อก่อนหาปูได้ 30-50 กิโลต่อวัน”พร้อมตะกร้าสีน้ำเงินในมือที่เอียงแนวเฉียง เมื่อมองลึกลงไป ภายในปรากฏปูม้าเพียง 7-8 ตัว มาตรวัดสัตว์ทะเลที่จับได้จากกิโลกรัมเปลี่ยนเป็นหลักตัว รวมถึงระยะเวลาที่จับสัตว์ได้จากเดือนเปลี่ยนเป็นวัน เช่น การรุนเคยที่เมื่อก่อนมีระยะเวลาถึง 4-5 เดือน ขณะปัจจุบันรุนได้เพียง 11-12 วันเท่านั้น
แท้จริงแล้วไม่ต้องย้อนไกลถึงหลายสิบปีเพื่อฉายวันคืนที่ทรัพยากรยังอุดมสมบูรณ์ หนุ่มประมง เจเนอเรชันวาย เปรียบเทียบการจับปลากระบอกก่อนปี 2556 ว่า
“เมื่อก่อนจับได้ถึง 100 กว่าโลต่อวัน แต่ตอนนี้จับได้เพียง 5-10 โล”
แม้ส่วนหนึ่งที่ความอุดมสมบูรณ์ลดลงมาจากการใช้ทรัพยากรในท้องที่มากเกินไป พร้อมผลตอบแทนที่สูง ขณะเดียวกันก็ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่าปัญหาอีกส่วนหนึ่งอยู่เหนือการควบคุมของพี่น้องประมง
ข้อสังเกตที่หลายคนย้ำเป็นเสียงเดียวกันคือ เหตุการณ์น้ำมันรั่ว ตั้งแต่ปี 2556 ซึ่งปัจจุบันคดียังอยู่ที่ศาลฎีกาพร้อมความคลุมเครือ แม้เวลาจะผ่านมาเกือบ 10 ปีแล้ว กับการแก้ปัญหาโดยใช้สารเคมีขจัดคราบน้ำมัน (dispersant) เพื่อกดน้ำมันสู่ก้นทะเล แต่ชาวประมงสะท้อนว่าทรัพยากรและความสมบูรณ์ก็ยังไม่กลับมาเป็นอย่างเก่า อาจเพราะวิธีข้างต้นเหมาะกับความลึกระดับพันเมตร แต่เหตุน้ำมันรั่วห่างจากชายฝั่งระยองราว 20 กิโลเมตร ทำให้วิธีนี้ไม่เกิดประสิทธิภาพเท่าที่ควร บวกกับการไม่รับฟังเสียงผู้คนในพื้นที่ถึงข้อเสนอการแก้ปัญหา ยิ่งไปกว่านั้น ในปี 2565 ได้เกิดน้ำมันรั่วครั้งใหม่ ทำให้หมุดความอุดมสมบูรณ์เดิมหลุดลอยห่างไกลมากขึ้นเรื่อย ๆ
อีกสาเหตุที่กระทบต่อความอุดมสมบูรณ์และการทำประมงพื้นบ้านคือภาวะโลกรวน (climate change) มีสาเหตุจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศนำไปสู่อุณภูมิโลกที่สูงขึ้น ทำให้เกิดปรากฏการณ์คลื่นความร้อนทะเล (marine heatwave) ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมสัตว์ทะเลที่จะเคลื่อนสู่พื้นที่ที่เย็นกว่า ความหลากหลายในทะเลไทยจึงลดลง ผลกระทบดังกล่าวถูกสะท้อนผ่านเสียงของประมงพื้นบ้านประแส ทั้งจากหนุ่มประมงรายเดิมที่ต้องออกทะเลลึกขึ้นกว่าเดิมถึง 10 กิโลเมตรเพื่อให้ได้ปลาเท่าเดิม รวมถึงคลื่นและความถี่ของมรสุมที่สูงขึ้น จำนวนวันที่ออกทะเลได้จึงลดลง
“ชีวิตชาวประมงไม่เคยได้รับการอุดหนุนจากรัฐเลย ต้องสู้เองตลอด ไม่เหมือนชาวไร่”
น้ำเสียงแสดงความน้อยเนื้อต่ำใจจากสงกรานต์ ซ้ำร้ายจากกติกาของรัฐยิ่งเพิ่มภาระเอกสารมากมายที่รอให้ต่ออายุทุกปี เช่น ใบประกาศนียบัตรนายท้ายเรือ ใบประกาศนียบัตรห้องเครื่องเรือ ใบทะเบียนเรือไทย และใบขออนุญาตใช้เรือ เป็นต้น ทั้งที่ประมงพื้นบ้านออกหาปลาเพียงคนเดียว กลับต้องต่ออายุเอกสารที่ใช้ตำแหน่งตามเรือพาณิชย์ที่มีผู้รับผิดชอบรายตำแหน่ง มากกว่านี้ยังต้องเจอกับมาตรฐานที่แตกต่าง ที่แม้จะปฏิบัติตามหน่วยงานหนึ่งจนผ่านเกณฑ์แล้ว ยังต้องเผชิญกับอีกหน่วยงานที่ใช้เกณฑ์ที่แตกต่าง กอปรกับภาระภาษีเครื่องมือประมงที่เก็บเป็นรายชิ้น ต่อให้ใช้บางเครื่องมือเพียงครั้งเดียวต่อปีก็ตาม
ความสมบูรณ์ที่ลดลง ส่งผลให้ยามออกทะเลจับสัตว์น้ำได้น้อยลง แต่ต้องรับภาระทางกฎหมายที่เพิ่มขึ้น รายได้ที่เคยได้ก็ลดลงตาม ชายประมงทั้งสองเป็นประจักษ์พยานต่อบรรดาเพื่อนฝูงที่ล้มหายจากอาชีพประมงพื้นบ้านมากขึ้นเรื่อยๆ ส่วนใหญ่ขายเรือทิ้งและออกจากพื้นที่ไปประกอบอาชีพอื่น เช่น พนักงานโรงงาน หรือรับจ้างประมงเรือใหญ่ รวมทั้งคนรุ่นใหม่พบว่าการทำประมงประสบความยากลำบาก มีผลตอบแทนเพียงประทังชีพ จึงมีแนวโน้มหันเหสู่อาชีพใหม่นอกปากน้ำประแสมากขึ้นเรื่อย ๆ
ก่อเกิดคำถาม “หรือปากน้ำประแสกำลังเคลื่อนเข้าสู่ยุคหลังประมงพื้นบ้าน?”



อนาคตหลังประมงพื้นบ้าน
“ที่นี่ไม่มีงานให้ทำ ต้องออกไปข้างนอกอย่างเดียว” ดำ หรือ อภิชาต เอื้อเฟื้อ สะท้อน
บทหนึ่งในหนังสือเรื่อง วิชาเศรษฐศาสตร์ที่ดีสำหรับห้วงเวลาที่ยากลำบาก (Good Economics for Hard Times) เขียนโดยนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลอย่าง อับฮีจีต บาเนอร์จี (Abhijit Banerjee) และ เอสเทอร์ ดูโฟล (Esther Duflo) กล่าวถึงแนวคิดเรื่อง “ความหนืดในระบบเศรษฐกิจ” (Sticky Economy) พร้อมเชื่อมโยงกับพฤติกรรมการเคลื่อนย้ายของแรงงานว่า ผู้คนในพื้นที่หนึ่งๆ มักมีแรงจูงใจที่ต่ำในการเคลื่อนย้ายสู่พื้นที่ที่ให้ค่าแรงที่สูงกว่า สาเหตุส่วนหนึ่งเพราะ ขาดคนรู้จักในพื้นที่ที่ค่าแรงสูงกว่า ความอบอุ่นใจของการอยู่บ้านเกิด และความกังวลต่อความไม่แน่นอนในชีวิตถ้าโยกย้ายถิ่นฐาน เป็นต้น จากสาเหตุข้างต้นทำให้โอกาสที่คนจะเคลื่อนย้ายเพียงเพราะเหตุผลด้านค่าแรงจึงค่อนข้างน้อย
แต่การโยกย้ายก็ยังเกิดขึ้น? นักเศรษฐศาสตร์ทั้งสองให้เหตุผลว่า การอพยพของแรงงานจำนวนมากมักมีสาเหตุจาก “ภัยพิบัติที่เหนือการควบคุม” ของผู้คนท้องที่ เช่น การเกิดภัยธรรมชาติครั้งใหญ่ หรือการเกิดสงคราม ถ้าไม่เกิดเหตุระดับภัยพิบัติจริง ๆ ผู้คนส่วนใหญ่คงเลือกดำรงตนอยู่ในถิ่นฐานบ้านเกิด แม้ค่าแรงจะต่ำมากก็ตาม
คุณนึกถึงคำพูดของสงกรานต์ ด้วยน้ำเสียงภาคภูมิใจต่ออาชีพประมง
“คนพื้นบ้านจริง ๆ จะไม่ทิ้งอาชีพ เพราะเป็นอาชีพบรรพบุรุษ ต่อให้ได้ปลาตัวสองตัวก็ทำกับข้าวกินได้”
“ตุ้ม” อีกหนึ่งหนุ่มประมง ที่ “ดำ” บอกว่าเป็นเพื่อนร่วมอุดมการณ์ด้านประมงพื้นบ้านมาเนิ่นนาน ได้กล่าวถึงเพื่อนๆ ที่เลือนหายจากอาชีพประมงพื้นบ้านว่า
“ถ้าทะเลยังสมบูรณ์เหมือนเมื่อก่อน คนส่วนใหญ่ก็อยากกลับมาทำประมงพื้นบ้านกันทั้งนั้น”
การเคลื่อนย้ายใด ๆ อาจไม่ได้มาจากความสมัครใจของหนุ่มสาวปากน้ำประแส แต่เพราะนอกจากประมงแล้ว ในพื้นที่นี้กลับไม่มีทางเลือกการประกอบอาชีพอื่นมากนัก เมื่อความอุดมสมบูรณ์ค่อย ๆ จางหาย พร้อมเหตุจำเป็นหลายอย่าง จำนวนคนหนุ่มสาวในพื้นที่จึงค่อย ๆ ลดน้อยถดถอยลง เฉกเช่นกับปากน้ำประแสที่ค่อย ๆ ไหลตามการขับเคลื่อนของกระแสลมทางเศรษฐกิจ
ผลลัพธ์การพัดพานี้จะนำปากน้ำประแสสู่หน้าตาแบบไหน? ผู้คนในพื้นที่จะเหลือแต่ผู้สูงอายุที่ถูกทิ้งไว้ หรือยังมีผู้คนต่างรุ่นต่างวัย?
คุณคิดถึงนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลอย่าง อมาตย เซน ในหนังสือเรื่อง เสรีภาพคือการพัฒนา (Development as Freedom)เซนนิยามเสรีภาพว่า “เป็นขีดความสามารถ (capability) ของปัจเจกในการทำสิ่งหนึ่งให้เกิดขึ้นได้จริง” และส่วนหนึ่งของเสรีภาพคือ ขีดความสามารถในการเลือกและตัดสินใจเส้นทางของตัวปัจเจกเอง
เซนย้ำว่า การพัฒนาคือการขยายขอบเขตเสรีภาพของปัจเจก ดังนั้นการพรากซึ่งขีดความสามารถของปัจเจกไม่ต่างอะไรจากการพรากเสรีภาพปัจเจก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเสรีภาพในการกำหนดเส้นทางชีวิตของตัวเอง
เมื่อคุณย้อนกลับมามองพื้นที่ประแส คำถามกลับปะทุว่า ผู้คนในพื้นที่มีเสรีภาพในการเลือกเส้นทางชีวิตตัวเองมากน้อยแค่ไหน หรือถูกบีบให้เลือกจากสิ่งที่เหนือการควบคุม? แล้วภาคส่วนที่เกี่ยวข้องล่ะ? ควรมีบทบาทมากน้อยแค่ไหนในการลดผลกระทบและธำรงซึ่งเสรีภาพของผู้คนในพื้นที่?
อ้างอิง
- อภิชาต เอื้อเฟื้อ, ผู้ให้สัมภาษณ์, 17 มิถุนายน พ.ศ. 2566
- สงกรานต์ ทรงศิลป์, ผู้ให้สัมภาษณ์, 17 มิถุนายน พ.ศ. 2566
- Sen, A. (2001). Development As Freedom. Oxford University Press.
- Banerjee, A. V., & Duflo, E. (2019). Good Economics for Hard Times. Allen Lane.