วรรณพร กิจโชติตระการ : เรื่อง
คชาธร ขจรบุญ : ภาพ
“เรายังอยากเห็นเขาอยู่ทุกวัน”
นี่คือราคาที่กลาสพร้อมจ่ายเพื่อเหตุผลเดียว…
รูป รส กลิ่น เสียง และสัมผัส ความทรงจำของคนเราบันทึกไว้ในรูปแบบที่แตกต่างกัน บางคนอาจจดจำรายละเอียดต่าง ๆ เป็นภาพและเสียง หรือบางคนอาจจดจำด้วยกลิ่นและสัมผัส แต่เมื่อวันเวลาผ่านไป ความทรงจำเหล่านั้นอาจเลือนรางจางหาย ไม่ว่าจะเป็นข้าวของที่หักพัง ผู้คนที่จากลา หรือสัตว์เลี้ยงที่ “กลับดาว” แบบนิทานเรื่อง “ตำนานดาวลูกไก่”
ในยุคที่สัตว์เลี้ยงมีความสำคัญกับเจ้าของมากขึ้น สุนัขไม่ใช่แค่สัตว์ที่เลี้ยงไว้เฝ้าบ้าน และแมวก็ไม่ใช่แค่สัตว์ที่เลี้ยงไว้จับหนู สำหรับหลาย ๆ ครอบครัวสัตว์เลี้ยงถือเป็นลูก หลาน หรือพี่น้อง เปรียบเสมือนสมาชิกในครอบครัวคนหนึ่งที่ใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันแทบตลอดเวลา ก่อให้เกิดความรักความผูกพัน จนหลายครั้งก็ยากจะทำใจเมื่อพวกเขาจากไปแบบไม่มีวันหวนกลับ เจ้าของสัตว์เลี้ยงหลายคนจึงมีวิธีเก็บรักษาความทรงจำอันมีค่าไว้ให้ได้มากที่สุด ยามสัตว์เลี้ยงยังมีชีวิตอยู่ก็บันทึกไว้ด้วยรูปถ่ายและวิดีโอ แต่ยามสัตว์เลี้ยงจากไปแล้ว สำหรับบางคนแค่ภาพนิ่งหรือภาพเคลื่อนไหวคงไม่เพียงพอ “การสตัฟฟ์สัตว์” จึงเป็นอีกทางเลือก
การสตัฟฟ์สัตว์ (Taxidermy) เป็นการใช้เทคนิคทางวิทยาศาสตร์ร่วมกับศิลปะการรักษาสภาพของซากสัตว์ให้คงอยู่เหมือนตอนมีชีวิต สามารถทำได้กับสัตว์ที่มีกระดูกสันหลัง โดยใช้วิธีแยกผิวหนังออกจากซากสัตว์และนำมาแช่น้ำยาฟอกหนังเพื่อรักษาสภาพ จากนั้นเก็บอวัยวะบางส่วนอย่างเล็บที่ติดหนังเอาไว้แล้วใช้วัสดุ เช่น ไม้ ปูนพลาสเตอร์ หรือโพลียูรีเทนโฟม (PU Foam) มาทำหุ่นเทียมแทนโครงสร้างเดิม กว่าจะมาถึงขั้นตอนนี้ ต้องผ่านการจดบันทึกลักษณะของซากสัตว์อย่างละเอียด ทั้งสัดส่วน สีขน ดวงตา หรือจุดเด่นต่าง ๆ เพื่อการขึ้นโครงปั้นหุ่น รวมถึงการทำอวัยวะเทียม เช่น ลูกตา ฟัน หรือลิ้น ให้ถูกต้องและสมจริงที่สุด
ในต่างประเทศอย่างสหรัฐอเมริกา การสตัฟฟ์สัตว์ได้รับความนิยมจากนักล่าสัตว์และมีบทบาทสำคัญในการอนุรักษ์ซากสัตว์เพื่อการศึกษา ตั้งแต่ช่วงศตวรรษที่ 19 ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่สัตว์สตัฟฟ์จากต่างประเทศเริ่มเข้ามาในไทย และจัดแสดงในสมัยรัชกาลที่ 4 และ 5 เป็นต้นมา
วิญญาณจากไป แต่ยังอยากให้ร่างกายอยู่
“พิชชา ปัจจุทธรณ์” หรือ “กลาส” วัย 26 ปี หนึ่งในคนที่ตัดสินใจสตัฟฟ์ร่างของสัตว์เลี้ยงไว้ในวันที่จากไป “ตันตัน” กิ้งก่าเวลด์คาเมเลียนซึ่งตั้งชื่อตามร้านอาหารโปรดของพิชชา สัตว์เลี้ยงที่ซื้อมาในราคา 2,000 บาท ก่อนที่ค่าใช้จ่ายจะบานปลายไปไกลกว่าที่คิดในภายหลัง เจ้าสัตว์เลื้อยคลานขนาดตัวกว้างประมาณฝ่ามือแต่ยาวถึงสองคืบกำลังเกาะอยู่บนกิ่งไม้ปลอมที่ครอบด้วยโหลแก้วขนาดใหญ่ สูงประมาณหนึ่งไม้บรรทัดครึ่ง ช่วงตัวมีสีเขียว ฟ้า และเหลืองเหมือนตอนที่ยังมีชีวิต ดวงตาสองข้างปูดโปนเหลือกไปคนละทิศ หางขดม้วนเหมือนกับกิ้งกือ
เจ้าตันตันจัดอยู่ในประเภทสัตว์เลี้ยงชนิดพิเศษ (exotic pet) จึงมีค่ารักษาพยาบาลสูงกว่าสัตว์ทั่วไป วันหนึ่งขณะที่นั่งเล่นอยู่ด้วยกัน กลาสสังเกตเห็นความผิดปกติ จึงพาตันตันไปพบสัตวแพทย์ แม้จะรักษาอยู่หลายครั้ง แต่อาการเจ็บป่วยกลับไม่ดีขึ้น จนกลาสเริ่มคิดถึงสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดอย่างการจากไปของตันตัน
“เวลาป่วยบ่อยก็เริ่มคิดแล้วว่าจะทำอย่างไรดี วางแผนมาตลอดว่าจะสตัฟฟ์ดีไหม”
เมื่อเหตุการณ์น่าเศร้านี้เกิดขึ้นจริง ร่างของตันตันจึงถูกส่งไปยังร้านรับสตัฟฟ์สัตว์ ผ่านไปนานนับเดือน ร่าง ของตันตันก็กลับมาในราคาค่าตัวเกือบ 10,000 บาท แม้จะไม่ใช่สัตว์เลี้ยงที่มีขนาดใหญ่อย่างหมาแมว แต่ด้วยความยากในการรักษาสภาพ การปั้นรูปทรง การแต่งแต้มสีใหม่ การจัดท่าทางให้สมจริงเหมือนตอนมีชีวิต รวมไปถึงการสร้างสภาพแวดล้อมแบบสามมิติ หรือที่เรียกว่า diorama ให้กับสัตว์สตัฟฟ์ แต่กลาสยินดีจ่ายเพื่อเหตุผลเดียว
“เรายังอยากเห็นเขาอยู่ทุกวัน”
พิชชามองว่าแม้สัตว์บางตัวจะสายพันธุ์เดียวกันและมีสีคล้ายกัน แต่ก็ไม่ได้มีลวดลายเหมือนกันทุกตัว การสตัฟฟ์จึงเป็นทางเลือกในการเก็บรักษาความทรงจำเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงที่รักเอาไว้ได้ดีกว่าการซื้อตัวใหม่มาเลี้ยงแทนที่ตัวเดิม
เริ่มจากรัก จึงทำด้วยความใส่ใจ
“รสริน จินดาพานิช” หรือ “อีฟ” วัย 24 ปี ทายาทและช่างฝีมือประจำร้าน “ศิลป์สตัฟฟ์” ในจังหวัดพะเยา เล่าให้ฟังว่าแรกเริ่มนั้น เธอเป็นเพียงเด็กนักเรียนธรรมดาที่รักสัตว์และชอบงานศิลปะ พ่อเป็นช่างทำโมเดล ก่อนจะขยับขยายมาทำสัตว์สตัฟฟ์ซึ่งเป็นความชอบส่วนตัว เธอจึงมีโอกาสศึกษาและเป็นลูกมือพ่อมาตั้งแต่เด็ก นับถึงตอนนี้เธอสตัฟฟ์สัตว์มานานกว่า 9 ปีแล้ว
รสรินบอกว่าสัตว์ที่ยากที่สุดไม่ใช่สัตว์แปลกหายาก แต่เป็นสัตว์เลี้ยงตามบ้าน โดยเฉพาะน้องหมาน้องแมวที่มีบุคลิก ลักษณะท่าทาง นิสัย หรือคาแรกเตอร์ (character) แตกต่างกันชัดเจน คาแรกเตอร์มักมีความสำคัญลำดับต้น ๆ เพราะเจ้าของย่อมมีความทรงจำที่ชัดเจนกว่าคนทำสัตว์สตัฟฟ์ การยอมจ่ายเงินราคาสูงเพื่อทำให้สิ่งที่รักกลับมาอยู่ข้างกายอีกครั้งแม้จะเป็นร่างเปล่า ความคาดหวังจึงสูงตามไปด้วย
“เราต้องดูทั้งรูปทั้งวิดีโอ รายละเอียดเยอะมาก รอยยิ้ม สีหน้า แม้แต่ดวงตาก็ยังต้องสั่งผลิตเฉพาะเลย” ช่างฝีมือหญิงกล่าว
หลายครั้งที่ช่างคนนี้ต้องปฏิเสธลูกค้า เพราะร่างที่ได้รับมาเสียหายเกินกว่าจะสตัฟฟ์ได้ ช่างย่อมอยากให้ลูกค้าได้รับความทรงจำที่สวยงาม มากกว่าการต้องทนมองเห็นร่างของ “น้อง ๆ” ที่รักในสภาพเจ็บป่วยหรือไม่สมบูรณ์ ความจริงใจและการถนอมความรู้สึกลูกค้าสำคัญกว่าการรับเงินมาแล้วสร้างสิ่งที่ตอกย้ำความเจ็บปวดให้กับเจ้าของ
นอกจากนี้ยังมีสัตว์ชนิดอื่น ๆ ที่นำมาสตัฟฟ์เพื่อคืนชีพและสร้างความทรงจำให้กับคนทั่วไป ครั้งหนึ่ง “ลุงกก” นกเงือกชราดวงตาพิการตัวใหญ่ อายุกว่า 30 ปี ที่บินตกลงมาเพราะหมดอายุขัย ถูกส่งมาจากกลุ่มอนุรักษ์นกเงือกเกาะช้าง จังหวัดตราด เพื่อให้ทางร้านคืนชีพและส่งต่อให้อุทยานฯ ใช้บรรยายให้คนรุ่นหลังศึกษา ด้วยความหวังว่าผู้คนจะช่วยกันดูแลสัตว์ป่าที่ชาวบ้านถือว่าเป็น “สมบัติธรรมชาติอันล้ำค่า” ของป่าผืนสวยบนเกาะกลางทะเลแห่งนี้ รสรินให้ความเห็นว่า ก็คงจะดีกว่าปล่อยให้สัตว์ล้ำค่านี้หายไปหรือเหลือเพียงภาพถ่ายที่ไม่สามารถจับต้องได้
ประเด็นนี้ทำให้ผู้เขียนนึกถึงน้ำเสียงที่เต็มไปด้วยความเสียดายของหลายคนในวงการสัตว์สตัฟฟ์ที่มีต่อ “สมัน” หนึ่งในกวางที่มีเขาสวยที่สุดในโลก และเป็นสัตว์ท้องถิ่นของไทยซึ่งสูญพันธุ์ไปในปี 2481 โดยสมันตัวสุดท้ายจากไปเพราะคนเมาตีจนเสียชีวิต คนรุ่นใหม่จึงไม่มีโอกาสเห็นสมันตัวเป็นๆ อีกเลย
สมันสตัฟฟ์สภาพสมบูรณ์ที่สุดตัวเดียวในโลกอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติแห่งชาติ (Muséum National d’Histoire Naturelle) ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ในประเทศไทยตอนนี้เหลือเพียงแค่ “เขาสมัน” ที่พิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งมีเขาสมันประกอบร่วมกับหัวสมันปลอม ส่วนที่องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติมีแค่เขาสมันเปล่าๆ
จากซากสัตว์ที่จากไป สู่ของสะสมมูลค่าสูง
ร้านสตัฟฟ์สัตว์บางร้านอาจรับสตัฟฟ์สัตว์เลี้ยงเป็นหลัก แต่ก็มีร้านที่ “ซื้อซากทำขาย” เป็นหลักเช่นกัน ร้านประเภทนี้จะซื้อซากสัตว์จากโรงพยาบาลสัตว์ ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ หรือจากเจ้าของสัตว์เลี้ยง เพื่อนำมาทำสัตว์สตัฟฟ์โดยมีกลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่เป็นนักสะสมหรือผู้ที่ต้องการซื้อเก็บไว้เก็งกำไร
เมื่อเดินทางมาถึงตลาดนัดจตุจักรที่ถือเป็นแหล่งรวมของแปลกในกรุงเทพ ฯ การตามหาร้านขายสัตว์สตัฟฟ์อย่าง “Area89 Taxidermy” ไม่ใช่เรื่องยากนัก เพราะอยู่ใกล้กับถนนใหญ่มากที่สุดเมื่อเทียบกับร้านอื่นที่อยู่ในซอย แต่ไม่รู้ว่าเพราะโทนร้านสีน้ำเงินเข้มประดับด้วยไฟส้ม หรือเพราะสายตาหลายสิบคู่ที่จ้องมองผ่านประตูกระจกกันแน่ที่ทำให้ร้านนี้ดูลึกลับน่ากลัวกว่าร้านในตรอกลึกเสียอีก จนอดคิดเล่น ๆ ไม่ได้ว่า หากซากสิ่งมีชีวิตเหล่านั้นพูดได้ คงได้ยินเสียงกระซิบว่า“ ซื้อฉันสิ ซื้อฉันสิ”
ทันทีที่ย่างเท้าเข้าร้าน ความรู้สึกกลัวแปรเปลี่ยนเป็นตื่นตาตื่นใจ จากนั้นกลายเป็นความตื่นเต้นเมื่อได้เห็นสัตว์สตัฟฟ์ขนาดเล็กใหญ่จัดวางอย่างสวยงามตามตำแหน่งต่างๆ บนที่สูงบ้างต่ำบ้าง แต่ละตัวสีสันสดใสแจ่มชัดและมีท่าทางที่จัดแจงให้เหมือนกับมีชีวิต ทั้งกวางที่ยืนอยู่ด้านในสุดของร้าน คาปิบารากับตัวนิ่มใต้โต๊ะ น้องหมามุมพื้นห้อง หรือนกจำนวนมากที่กำลังกางปีกแข่งกันอวดขนสวยอย่างไม่มีใครยอมใคร
“นิติธร สุดเสงี่ยม” หรือ “กานต์” ชายเจ้าของร้านวัย 43 ปีเล่าให้ฟังว่า สัตว์ที่ลูกค้ามักมาซื้อไปตกแต่งส่วนใหญ่คือนก เนื่องจากมีสีสันสวยงามและมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ หากวันไหนมองดูจนเบื่อแล้วก็สามารถนำไปขายต่อเอากำไร หรือแลกเปลี่ยนกับนักสะสมด้วยกันเอง การค้าขายหรือแลกเปลี่ยนสัตว์สตัฟฟ์เป็นเรื่องปกติในวงการนี้ นักสะสมบางคนถึงขั้นติดตามข่าวสารการขึ้นบัญชีอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ หรือ “บัญชีไซเตส” (CITES) เพื่อรอขายเก็งกำไร
จากอนุสัญญาที่มีจุดประสงค์ควบคุมการค้าเพื่อคุ้มครองสัตว์ป่า สู่คู่มือเก็งกำไรสัตว์หายาก สัตว์ชนิดไหนจัดอยู่ในบัญชีหมายเลข 1 แปลว่าอยู่ในภาวะใกล้สูญพันธุ์ ห้ามซื้อขายเด็ดขาด ยกเว้นเพื่อการวิจัยหรือเพาะพันธุ์ บัญชีหมายเลข 2 แปลว่ามีความเสี่ยงใกล้สูญพันธุ์ต่ำ ซื้อขายได้แต่ต้องควบคุมปริมาณไม่ให้จำนวนสัตว์ลดลงอย่างรวดเร็วจนใกล้สูญพันธุ์ และสุดท้ายบัญชีหมายเลข 3 เป็นสัตว์ชนิดที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายของประเทศใดประเทศหนึ่ง แล้วขอความร่วมมือประเทศภาคีสมาชิกให้ช่วยดูแลการนำเข้า
บางคนติดตามจำนวนของนกบางชนิดที่ยังเหลืออยู่ในโลก เมื่อรู้ว่าชนิดไหนใกล้สูญพันธุ์ แต่ยังอยู่ในลำดับที่เก็บครอบครองได้ก็จะรีบตามหา อย่าง “นกกระตั้วดำ” ตอนที่ยังไม่มีชื่ออยู่ในบัญชีไซเตส ราคาซื้อขายคู่หนึ่งอยู่ที่ 100,000 บาท ซึ่งในยุคนั้นถือว่าหาซื้อได้ยากมากแล้ว เพราะมีจำนวนน้อย แต่ปัจจุบันนกกระตั้วดำขึ้นบัญชีไซเตสทำให้มูลค่าเพิ่มสูงขึ้น ต่อให้มีเงิน 400,000 บาท ก็ยังซื้อไม่ได้ นักสะสมสายเก็งกำไรจำนวนไม่น้อยจึงทยอยซื้อนกสตัฟฟ์เก็บไว้
“พอถึงวันที่ประกาศเลื่อนขั้นจะมีค่ามากเลย เพราะเป็นสัตว์ที่ไม่มีหรือหาไม่ได้แล้ว” เจ้าของร้านกล่าว นี่คืออีกหนึ่งเหตุผลที่แม้ลูกค้าจะต้องรอคิวสั่งซื้อนกสตัฟฟ์นานแค่ไหนก็จะไม่ค่อยทิ้ง “ของ” ต่างกับสัตว์เลี้ยงสตัฟฟ์ที่เจ้าของบางคนยังทำใจหรือทนมองไม่ได้ จึงฝากไว้ที่ร้านก่อน นานวันเข้าก็ทิ้งไว้โดยไม่มารับกลับ
อย่างไรก็ตามมีนกบางชนิดที่ราคาถูกอย่างไม่น่าเชื่อ เช่น “นกยูงอินเดีย” หนึ่งในสัตว์ปีกที่คนนิยมซื้อไปเป็นของตกแต่ง อาจเพราะความสวยงามของสีสันบนตัว หรือความเชื่อเรื่องดวงความรัก จึงมักเห็นนกยูงประดับอยู่ในงานแต่งบ่อยครั้ง ซากนกยูงตัวนั้นอาจมีท่าทางพับหางลงบนพื้น มีแท่นให้ส่วนลำตัววางพักคล้ายตัวที่อยู่ในร้าน หรืออาจคล้ายกับอีกตัวที่วางอยู่บนฐานเตี้ยตั้งชิดกำแพง แต่รำแพนหางใหญ่กว่าขนาดตัวไม่รู้กี่เท่า เมื่อลองจับแพขนหางสีเขียวแซมฟ้าที่มีลวดลายจุดสีเข้มดวงใหญ่คล้ายดวงตานับร้อย ๆ คู่ ก็รู้สึกนุ่มลื่นเหมือนเส้นด้ายหลายเส้นมัดรวมกันไว้
ราคาของนกยูงอินเดียขณะมีชีวิตหรือ “ราคาเป็น” ของพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์อยู่ที่ 7,000-10,000 บาท แต่เมื่อนำมาสตัฟฟ์เพื่อจำหน่ายสามารถขายได้ถึงหลักแสนบาท
“ถ้าไม่มีจรรยาบรรณ เราก็ไปจิ้มเลือกสัตว์ตัวที่ยังไม่ตายเลย” เจ้าของร้านพูดปิดจบหลังจากอธิบายเรื่องราคานกยูงอินเดีย
กลับกัน “นกแก้วมาคอว์สการ์เลต” นกขนาดใหญ่ที่มีเสียงร้องดังแสบแก้วหู ราคาเป็นสูงถึง 280,000 บาท แต่ราคาซากที่จะซื้อมาสตัฟฟ์กลับตกลงมาที่ 39,000 บาท ดังนั้นการฆ่าสัตว์ที่มีมูลค่าสูงตอนยังมีชีวิตเพื่อนำมาเป็นของตกแต่งบ้านหรือของสะสมจึงไม่คุ้มค่าในความคิดของผู้เลี้ยงและเจ้าของธุรกิจสตัฟฟ์สัตว์อย่างนิติธร ทั้งในแง่จำนวนเงินและการคร่าชีวิตสัตว์เพื่อนำมาสตัฟฟ์
“ฟาร์มจะไม่ฆ่าให้เรา เราก็จะไม่เลือกที่ยังมีชีวิต”
นอกจากจำหน่ายในประเทศไทยแล้ว ทางร้านยังส่งออกไปต่างประเทศบ้างนาน ๆ ครั้ง แม้จะเตรียมใบสำแดงของสัตว์บางชนิดที่จำเป็นต้องใช้ ซึ่งได้มาตอนซื้อซากสัตว์เพื่อยืนยันที่มาที่ไป แต่ลูกค้ายังต้องทำเรื่องขอเอกสารอนุญาตนำของเข้าประเทศด้วยตัวเอง หากติดปัญหาใดที่ทำให้ไม่สามารถนำเข้าประเทศปลายทางได้ ของจะถูกเผาทำลาย ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่ลูกค้าต้องแบกรับ หรือบางครั้งค่าจัดส่งก็สูงมาก ครั้งหนึ่งร้านเคยส่งนกสตัฟฟ์ตัวเล็กๆ ไปที่ประเทศเกาหลีใต้ ทั้งที่ลูกค้าสามารถหาซื้อได้ในประเทศ แต่กลับยอมจ่ายค่าจัดส่งที่สูงเหยียบหมื่น เพราะถูกใจนกของไทยมากกว่า ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความพอใจของลูกค้าเป็นหลัก
ถึงแม้วงการสตัฟฟ์สัตว์ในไทยจะยังไม่แพร่หลายเท่ากับต่างประเทศ และตลาดซื้อขายยังแคบกว่ามาก แต่ความนิยมสัตว์สตัฟฟ์ของคนไทยยังคงมีอยู่เรื่อยๆ ปริมาณการซื้อขายอาจมากบ้างน้อยบ้างตามสภาพเศรษฐกิจ
ร้านขายนกยูงสตัฟฟ์อีกเจ้าในตลาดนัดแห่งเดียวกัน ต้องเดินซอกแซกเข้าซอยไปอีกสักหน่อยจึงจะเจอร้านเล็ก ๆ ตกแต่งด้วยโทนสีขาว มองเห็นนกยูงยืนเรียงรายนับได้ 7 ตัว มีทั้งสีขาว สีน้ำตาล และสีเขียว ขนาดใหญ่กว่าตัวที่อยู่ในร้านแรก
ชายเจ้าของร้านยืนโยกเยกเขย่งขา มือหนึ่งถือไม้ขนไก่ไล่ปัดฝุ่นบนตัวนกยูง ขณะที่เล่าเรื่องค้าขายว่าก่อนโควิด-19 ระบาด เคยขายนกยูงสตัฟฟ์ได้นับ 10 ตัวภายในเดือนเดียว แต่พอมีโรคระบาดขายไม่ได้เลยในบางเดือน หรือบางเดือนขายดีหน่อยก็ได้ตัวสองตัวถึงจะพอค่าใช้จ่าย ส่วนการขายออนไลน์นั้นยังไม่เป็นที่นิยมสำหรับร้านนี้ “ตัวละแสน ถ้าให้เราซื้อ เราซื้อไหม” เจ้าของร้านถามเสียงเข้ม ผู้เขียนตอบด้วยการส่ายหัวรัว ๆ
ถึงแม้ช่องทางขายนี้จะไม่ได้รับความนิยม ก็ใช่ว่าจะขายไม่ได้เลย หากลูกค้าเป็นคนรู้จักหรือขาประจำที่ไว้ใจกัน แค่ถ่ายรูปส่งให้ดู ตกลงราคาซื้อขาย และจัดส่งโดยไม่ต้องรอดูของจริงเลยก็มี แต่กับลูกค้าทั่วไปมักมาดูที่ร้านก่อน บางคนมาพร้อมกับมัณฑนากรเพื่อช่วยกันดูว่าสัตว์ตัวไหนต้องจัดวางอย่างไรถึงจะเข้ากับสถานที่ บางคนมีค่านิยมซื้อสะสมเพื่อแสดงอำนาจบารมีและฐานะ บางคนไม่สามารถเลี้ยงสัตว์ชนิดนั้นได้ ก็ซื้อไปตกแต่งเติมเต็มความต้องการของตัวเอง บางคนโดนหมอดูทัก ก็มาซื้อกลับไปเพื่อเสริมดวง
เจ้าของร้านบอกว่าหนึ่งในสัตว์ปีกยอดนิยมคือนกยูง เพราะเชื่อว่าเป็นสัตว์ที่ช่วยเสริมโชคด้านชื่อเสียง ดึงดูดความสนใจจากผู้อื่น หรืออีกแง่หนึ่งสื่อถึงความเป็นหนุ่มสาว ความโรแมนติก และยังมีสัตว์ปีกอีกชนิดที่ได้รับความนิยมไม่แพ้กันคือนกฮูก สัญลักษณ์ของสติปัญญา ความเฉลียวฉลาด ความรอบรู้ และความโชคดี
เมื่อการสตัฟฟ์สัตว์ต่างกับ Taxidermy ในมุมมองของช่าง
นอกจากคุณค่าในตัวเองของสัตว์ชนิดนั้นๆ ที่ทำให้สัตว์สตัฟฟ์มีราคาสูง ความเป็น “งานฝีมือ” คืออีกหนึ่งเหตุผลในคุณค่าของสัตว์สตัฟฟ์
ขั้นตอนการทำตั้งแต่การเก็บซาก วัดตัว เลาะหนัง ปั้นหุ่น หล่อโครง จัดท่า และเย็บติด ล้วนไม่ง่ายและต้องใช้ฝีมือคนแทบทั้งสิ้น เป็นงานที่อาศัยเวลา ความชำนาญ และประสบการณ์หล่อหลอมอยู่หลายปีกว่าจะทำได้งดงามเทียบเท่างานศิลปะหนึ่งชิ้น โดยเฉพาะยุคหลังที่การสตัฟฟ์ไม่ได้ใช้เก็บรักษาซากสัตว์เพื่อการศึกษาเพียงอย่างเดียว
แม้ความหมายของ “การสตัฟฟ์สัตว์” กับ “Taxidermy” จะเหมือนกัน แต่ในมุมมองของช่างที่ทำงานด้านนี้กลับแสดงความเห็นว่างานสองอย่างนี้ให้ความรู้สึกแตกต่างกันอยู่บ้างเล็กน้อย มองออกว่างานชิ้นไหนทำขึ้นเพื่อจุดประสงค์อะไร เพื่อการศึกษาหรือความสวยงาม สังเกตได้จากท่าทาง การจัดแสดง และสีสันต่าง ๆ
หากใครเคยไปเที่ยวชมตามพิพิธภัณฑ์ ไม่ว่าจะเป็นพิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ที่คลอง 5 จังหวัดปทุมธานี จะเห็นสัตว์สตัฟฟ์หายากจัดแสดงอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย ตามหมวดหมู่และประเภทของสัตว์ มีป้ายกระดาษเล็กๆ ห้อยติดตัวเพื่อแสดงหมายเลขกำกับและข้อมูลเบื้องต้นของสัตว์สตัฟฟ์ตัวนั้น แม้สัตว์สตัฟฟ์บางตัวจะไม่ได้มีสีสันฉูดฉาดหรือสภาพสมบูรณ์เท่ากับตัวที่ขายตามร้าน อาจเป็นเพราะความเก่า เทคโนโลยีที่ใช้สตัฟฟ์ในอดีตยังไม่พัฒนาเท่ากับสมัยนี้ หรือเพราะต้องการเก็บรักษาสภาพไว้ให้ “เป็นจริง” มากที่สุด แต่การแต่งแต้มเติมสีหรือดัดแปลงท่าทางให้เกินจริงไม่ใช่วัตถุประสงค์ของงานนี้
“ท่านกกางปีกแบบนี้ ซึ่งนกจริง ๆ ไม่ทำ เราทำไม่ได้ แต่สำหรับงานประดับทำได้ คนละวัตถุประสงค์กัน”
ขณะกำลังอธิบาย “วันชัย สุขเกษม” หรือ “หน่อย” ผู้เชี่ยวชาญด้านการสตัฟฟ์สัตว์แห่งพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา ทำท่ากางปีกนกแปลก ๆ เพื่อเลียนแบบนกสตัฟฟ์ที่เขาเคยเห็น
การทำเพื่อหารายได้ ความกดดันก็ต่างกัน ยิ่งในกรณีการสตัฟฟ์สัตว์เลี้ยงซึ่งต้องให้คาแรกเตอร์เหมือนแบบมากที่สุด หรืออาจมีบางอย่างที่ต้องทำเกินธรรมชาติ ยกตัวอย่างเช่น หางนกยูงปกติมีจำนวน 100 ถึง 200 เส้น แต่หากลูกค้าต้องการให้มีหางมากกว่านั้น ช่างก็จะเติมให้ตามความต้องการ ต่างจากการเก็บสัตว์สตัฟฟ์เพื่อศึกษาวิจัยที่ไม่สามารถแต่งเติมจนเกินธรรมชาติ ทำได้เพียงซ่อมแซมบาดแผลเล็กน้อยให้สัตว์สตัฟฟ์ตัวนั้นสมบูรณ์ขึ้น
เมื่อก่อนการสตัฟฟ์สัตว์ในไทยอาจมีไว้เพื่อการศึกษาเท่านั้น ถ้าอยากเรียนรู้ต้องไปดูที่พิพิธภัณฑ์ แต่วันนี้ไม่ใช่เรื่องไกลตัวเข้าถึงยากเหมือนเดิมอีกแล้ว
สัตว์สตัฟฟ์กลายเป็นงานศิลปะชิ้นเยี่ยมซึ่งผ่านช่างฝีมือที่สรรค์สร้างอย่างประณีต จนกลายเป็นเครื่องราง ของตกแต่ง สินค้าเก็งกำไร หรือแม้แต่ความทรงจำที่เป็นรูปธรรมจับต้องได้ถึงสัตว์เลี้ยงที่จากไปสำหรับเจ้าของที่คิดถึงอย่างสุดหัวใจ
นี่คืออีกหนึ่งหน้าที่สำคัญของการสตัฟฟ์สัตว์