เรื่องและภาพ : ณัฐชานันท์ กล้าหาญ

konmaew01
จะอยู่อย่างไรถ้า (ไม่) มีแมว

“ความเป็นแมวไม่ให้สิ่งอื่นใดนอกจากตนเอง และก็ไม่รับเอาสิ่งใดนอกจากตนเอง ความเป็นแมวไม่ครอบครองและก็ไม่ยอมให้ถูกครอบครอง เพราะความเป็นแมวนั้นเพียงพอแล้วสำหรับตอบความเป็นมนุษย์”

โคยะยิบราน

โตมร ศุขปรีชา นักเขียน นักแปล และบรรณาธิการเขียนไว้ในหนังสือ ขอให้ความรักอยู่กับแมว แมวตัวล่าสุดของเขาชื่อโคยะ ล่าสุดมันไม่ได้อยู่บนโลกอีกต่อไปแล้ว เพียงแต่ความทรงจำและแบบแผนบางอย่างของโคยะยังติดอยู่ในใจ

หนังสือเล่มนี้บรรยายถึงแมวแต่ละตัวในสถานการณ์ที่แตกต่าง แต่ล้วนส่งผลต่อชีวิตและการเติบโตในช่วงวัยเปลี่ยนผ่าน ทั้งการปลอบประโลมใจยามโลกหันหลังให้ การเป็นแม่แบบของคนเข้มแข็ง ความเป็นอิสระ สู้ชีวิต ความสง่างาม จึงนับได้ว่าแมวมีบทบาทสำคัญสำหรับชีวิตของคนบางกลุ่มในสังคมอย่างแท้จริง ในฐานะที่มากกว่าสัตว์เลี้ยงหรือหน่วยหนึ่งในวัฏจักรธรรมชาติ หน้าที่และที่ทางของมันปรับตัวเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยและสะท้อนความเป็นมนุษย์ออกมาได้ดีไม่แพ้การส่องกระจก

สมัยก่อนแมวเดินเล่นอยู่ในวิถีชีวิตคนทุกยุคทุกสมัยในเชิงของฟังก์ชัน ทั้งเป็นนักจับหนูมือหนึ่งในยุคเมโสโปเตเมีย (จนถึงปัจจุบัน)

เป็นผู้กุมอำนาจเหนือธรรมชาติในยุคอียิปต์โบราณ

เป็นความหวังของชาวบ้านเมื่อฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาลจนเกิดเป็นประเพณีแห่นางแมว

เป็นตัวละครในสำนวนภาษาไทย

เป็นแมวมงคลของชนชั้นสูงในสมัยอยุธยา

ไปจนถึงแมวดำผู้เป็นแม่มดร้าย ปีศาจ ซาตานจนถูกสังเวยในยุคกลาง

ถูกไล่ล่าและเผา หวังให้สูญพันธุ์อย่างไม่มีวันจบสิ้น

จนถึงปัจจุบันแมวก็ยังคงสถานะนักจับหนูตามสัญชาตญาณของมันเหมือนเดิม เพิ่มเติมคือเราเริ่มเห็นผู้ต่อคิวสมัครเป็น “ทาส” มากขึ้นเพราะโซเชียลมีเดียเปิดการมองเห็น

วิทยานิพนธ์ วัฒนธรรม “ทาสแมว” : ว่าด้วยเรื่องความสัมพันธ์ของมนุษย์กับสัตว์เลี้ยงและกระแสนิยม โดย ปัญฑา พัวพิพัฒน์เสลากุล เขียนไว้ว่า มีการค้นหาคำว่า “ทาสแมว” มากที่สุดในปี 2562 จากฐานข้อมูลของ Google trend โดยเขตกรุงเทพมหานครนำมาเป็นอันดับ 1 ตามด้วยจังหวัดอื่น ๆ

konmaew02
yukti02

“ในแง่หนึ่งความคิดเรื่องการเลี้ยงสัตว์ก็อยู่ในสังคมมนุษย์มานานแล้วล่ะ ซึ่งเรากำลังพูดถึงความเป็นเมืองที่มีมาหลายพันปีแล้ว สังคมเกษตรกับสังคมที่เป็นอุตสาหกรรม หรือสังคมการค้าขายก็ทรีตสัตว์เลี้ยงไม่เหมือนกัน ผมก็ไม่คิดว่าเกษตรกรจะมาเลี้ยงปลาในลักษณะที่เป็นตู้ปลา อาจจะมีแต่ว่าไม่ค่อยเยอะเท่าไหร่ ถ้าคนเลี้ยงหมาแมวในสังคมชนบทจะมีความสัมพันธ์แบบมีความสุขกับสัตว์เลี้ยง ก็ไม่ได้มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดแบบที่คนในสังคมเมืองมี” ยุกติ มุกดาวิจิตร นักวิชาการด้านมานุษยวิทยา (และทาสแมว) กล่าว

วันนี้เราชวนอาจารย์ยุกติและโตมรมาแลกเปลี่ยนมุมมองของยุคสมัยและวัฒนธรรมการเลี้ยงแมวที่สะท้อนถึงความสัมพันธ์และตัวตนของมนุษย์ผู้เป็นนายและเป็นบ่าว ว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาเราเห็นอะไรในตัวมนุษย์ผ่านความเป็นแมว และเห็นว่ามนุษย์มีวิธีจัดระเบียบความสัมพันธ์ในตัวเอง หรือตัวเองกับแมว สิ่งมีชีวิตตัวเล็ก ๆ ที่อาจจะมีอำนาจมหาศาลเพียงแค่อ้าปากร้องเมี้ยวอย่างไร

konmaew03

เราจะไม่ตกเป็นทาสแมว?

โตมรเล่าให้เราฟังว่าตอนที่เลี้ยงโคยะ เขาตั้งใจเลยว่าจะไม่ปวารณาตัวเป็นสิ่งที่เรียกว่า “ทาสแมว”

“คือมันไม่ใช่ลูกเรา มันเป็นเพื่อนเรา เพราะฉะนั้นเราไม่ได้เป็นทาสมัน แต่เป็นเพื่อนกัน ก็จะบอกมันว่าเราอยู่กันอย่างเพื่อนนะ ห้ามเรียกร้องมากเกินไป ให้มีความเท่าเทียมกัน เสมอภาคกัน

“เราไม่มีแมวอยู่ในชีวิตมานาน เพราะว่าพอมาอยู่กรุงเทพฯ มีคอนโดฯ มันก็เป็นภาระ ตอนที่เลี้ยงเพราะเริ่มรู้สึกว่าอยากมีแมวอยู่ในบ้าน เรารู้สึกว่าเวลาอยู่กับแมวแล้วสบายใจ ผ่อนคลาย ถึงแม้ว่าไม่ได้เข้าไปกอดจูบลูบคลำ แค่เห็นมันนั่งอยู่บนหัวเสาสวยงาม เราก็รู้สึกดีแล้ว”

โตมรเติบโตมากับแมวเพราะคุณแม่ชอบเลี้ยงแมวเป็นชีวิตจิตใจ วิถีชีวิตวัยเด็กจึงได้คลุกคลีอยู่กับแมวในหลากหลายสถานการณ์ ตั้งแต่เฝ้ามองชีวิตแมวสหกรณ์ (แมวจร) ของชุมชน แมว LGBTQ+ เห็นแมวโดนหมีตบต่อหน้าต่อตา ไปจนถึงการสูญเสียแมวที่ผูกพันตัวล่าสุดที่ชื่อว่าโคยะ

“เราไม่ได้คาดหวังอะไรแต่ก็อยากมีแมวในชีวิต ซึ่งตอนนั้นก็รู้อยู่แล้วว่าเราจะไปกะเกณฑ์ไม่ได้หรอกว่าแมวตัวนี้นิสัยจะเป็นอย่างไร ได้แต่เรียนรู้กันไป

“แต่ก่อนเราเป็นเด็กขี้กลัว แต่เรารู้สึกว่าแมวมันไม่กลัวอะไรเลย แล้วตอนหลังได้เรียนรู้อีกว่ามันไม่แสดงความเจ็บปวดต่อให้มันเจ็บก็ตาม ลักษณะแบบนี้ทำให้เราประทับใจ แล้วก็เหมือนมันค่อย ๆ ปลูกฝัง เหมือนมันค่อย ๆ เลี้ยงดูเราให้โตขึ้นมา แข็งแกร่งขึ้น” เขาเล่าและย้ำว่าตอนเลี้ยงโคยะ ต้องการแค่ให้มันมานั่งเชิด ๆ สวย ๆ ให้มองก็พอแล้ว

วิทยานิพนธ์ วัฒนธรรม “ทาสแมว” : ว่าด้วยเรื่องความสัมพันธ์ของมนุษย์กับสัตว์เลี้ยงและกระแสนิยม เขียนถึงมุมมองของการตกเป็นทูนหัวของบ่าวไว้ว่า

“คําว่าทาสที่ใช้กับแมว เหมือนจะตรงตามความหมายของผู้ที่ยอมตน อยู่ในอํานาจสิ่งใดสิ่งหนึ่งเสียมากกว่า เนื่องจากมนุษย์มิได้ขายตัวเป็นคนรับใช้ หรือแมวมิได้นําเงินไป ซื้อพวกเขามา แต่เป็นมนุษย์ต่างหากที่ยอมตกเป็นทาสของแมวอย่างไม่หวังสิ่งตอบแทนใด ๆ และยังปรนเปรอสิ่งอํานวยความสะดวกต่อแมวเกือบจะทุก ๆ ด้านอีกด้วย แสดงว่า แมวเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีอิทธิพลต่อมนุษย์เป็นอย่างมาก จนพวกเขายินยอมตกอยู่ภายใต้อาณัติของพวกมัน

บริบทของคําว่าทาสแมว ยังคงมีความคลุมเครืออยู่ เพราะความเป็นจริงมนุษย์ไม่ได้ยอมสัตว์เลี้ยงของพวกเขาไปเสียทุกเรื่อง และการมองแมวประดุจเจ้านายก็ดูจะมีความคลุมเครืออยู่ไม่น้อยเช่นเดียวกัน สืบเนื่องจากมนุษย์เปรียบแมวดั่งเจ้าชีวิตและแทนตัวเองว่า ‘บ่าว’ หรือ ‘ทาส’ แต่ในขณะเดียวกันมนุษย์กลับเอ่ยปากเรียกพวกมันว่า ‘น้อง’ หรือ ’ลูก’ และแทนตนเองว่าแม่หรือพ่อ ซึ่งปรากฏการณ์ดังกล่าวอาจเกิดจากพฤติกรรมการเลี้ยงดูที่มนุษย์กระทําต่อแมว ดูแลประคบประหงมดั่งคนสําคัญในชีวิตหรือสมาชิกในครอบครัว”

สัตว์เลี้ยงที่ได้รับการยกระดับสถานะเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว (Pet humanization) หรือเป็นผู้ร่วมบ้านที่มนุษย์ให้เวลาและความใส่ใจอย่างละเอียดทั้งด้านกายภาพและจิตใจทำให้ผลิตภัณฑ์และบริการต่าง ๆ พัฒนาตลาด (Pet economy) ให้คล้ายกับมนุษย์มากขึ้นตามไปด้วย เช่น การทำสปา โรงแรมแมว การอาบน้ำแต่งขน หรือการจัดงานฌาปนกิจแมวตามกําลังทรัพย์ของเจ้าของ

ตลาดสัตว์เลี้ยงจึงเติบโตอย่างต่อเนื่องเป็นจำนวนหลายหมื่นล้านบาทตามระดับความผูกพันและบริบทของสังคมเมืองที่เปลี่ยนไป วิทยานิพนธ์เล่มนี้อ้างว่าตลาดเติบโตปีละ 10% ต่อเนื่องเป็นเวลากว่า 10 ปี แม้จะมีวิกฤตทางเศรษฐกิจหรือสถานการณ์การเมืองก็ตาม

Kantar บริษัทวิจัยเผยว่าตลาดอาหารแมวมีการแข่งขันสูงเพราะมีแปดแบรนด์ที่ครองส่วนแบ่งทางการตลาดถึง 80% แย่งชิงกัน จำนวนครัวเรือนที่เลี้ยงสัตว์ (ทั้งสุนัขและแมว) เพิ่มขึ้น กลุ่มอาหารแมวพรีเมียมและซูเปอร์พรีเมียมเติบโตอย่างแข็งแกร่งมากในปี 2565 ทั้งตลาดแมวยังโตเร็วกว่าตลาดของสุนัขอีกด้วย

“ยุคที่เลี้ยงโคยะ โรงแรมที่ pet friendly มีน้อยมาก แต่ตอนนี้เยอะขึ้น เลยรู้สึกว่ามันมีโอกาสทางธุรกิจ เช่นโรงแรมแมว ไม่ใช่โรงแรมที่จะเอาไปฝากแล้วเจ้าของไปเที่ยวนะ แต่เป็นโรงแรมที่เจ้าของไปเที่ยวได้พร้อมแมว แล้วอาจจะมีสระว่ายน้ำที่แมวว่ายได้ เจ้าของก็ลงไปว่ายกับแมว หรือมีทุ่งหญ้ากว้าง ๆ ที่แมววิ่งได้ แต่มีการกั้นขอบเขตที่แมวจะไม่มุดแล้วหายไปเลย

“เราเลี้ยงโคยะมา 10 ปี เห็นเลยว่าตั้งแต่ปีแรกถึงปีสุดท้ายความหลากหลายของอาหารเพิ่มขึ้นมหาศาลมาก มีอาหารอินทรีย์ สินค้าเยอะแยะไปหมด” โตมรเล่าประสบการณ์

yukti06

ในแง่ของสังคม อาจารย์ยุกติมองว่าสังคมที่เปลี่ยนไปก็ส่งผลให้ความรู้สึกที่มีต่อสัตว์เปลี่ยนแปลงไปเช่นกัน สถานะของสิ่งมีชีวิตที่อยู่ร่วมกันถูกทำให้เป็นคนมากขึ้นในสังคมที่เป็นเมืองมากขึ้น

“เราได้ยินว่าคนเวียดนามเขากินหมากันใช่ไหม ทีนี้คนที่อยู่ในชนบทน่ะ หมาที่เขาเลี้ยงถ้ามันตายบางทีเขาก็กินนะ เพราะว่ามันไม่ได้เป็นสัตว์เลี้ยงในความหมายที่ผูกพันกับคนในครอบครัวที่เหมือนเป็นพี่ น้อง ลูก อย่างที่เราจะเปลี่ยนสรรพนามแมว หรืออย่างที่เราได้ยินพวกฝรั่งพูดว่าหมาเป็นเพื่อนรักของเขา นี่คือการทรีตสัตว์เลี้ยงคนละแบบ แมวก็เหมือนกัน เพียงแต่ว่าเรารู้อยู่ว่าสัตว์แต่ละตัวก็มีนิสัยไม่เหมือนกัน

“คนที่ชอบแมวก็จะเป็นคนที่ทนแมวได้หรือชอบลักษณะเฉพาะของแมวที่อาจจะตัวเล็ก เป็นตัวของตัวเองพอสมควร แต่ในขณะเดียวกันก็สนิทสนมกับคนได้

“ในวิถีชีวิตของความเป็นเมือง สังคมแบบเดี่ยวที่คนเริ่มไม่แต่งงาน แมวก็เหมือนเป็นลูก หรือแม้แต่การที่คนสูงอายุเลี้ยงแมว แมวก็ทำให้คลายเหงา ในแง่หนึ่งคือคนก็ต้องการเพื่อน ต้องการสิ่งมีชีวิตที่ไม่เรียกร้องขนาดคนอีกคนหนึ่ง”

บทความ “มานุษยวิทยาแมว” โดย ดร. นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ อ้างว่า แมวเป็นสัตว์เลี้ยงที่ค่อนข้างใช้ชีวิตอิสระและไม่ค่อยแยแสกับการอยู่กับมนุษย์ เมื่อเปรียบเทียบกับสุนัขแล้วแมวค่อนข้างมีชีวิตของตัวเอง เห็นได้จากการชอบท่องเที่ยวไปในที่ต่าง ๆ ตามลำพัง ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างแมวกับมนุษย์มีระยะห่าง ซึ่งในยุคกลางของอังกฤษ แมวที่จับหนูได้มากจะถูกให้คุณค่ามากกว่าแมวที่ไม่เก่งในการจับหนู เห็นได้ชัดว่าคุณค่านี้แตกต่างจากผู้เลี้ยงแมวในเมืองปัจจุบันที่มักจะเลี้ยงไว้เป็นความชอบส่วนบุคคล

แต่มนุษย์เองก็ไม่อาจทำความเข้าใจพฤติกรรมของแมวได้ทั้งหมด เนื่องจากแมวได้ยินเสียงที่มนุษย์ไม่ได้ยินและมองเห็นได้ดีกว่า ประสาทสัมผัสของแมวสร้างการรับรู้ในสิ่งที่มนุษย์ไม่สามารถรับรู้ได้ เราจึงทำได้แต่ตีความผ่านพฤติกรรมอันกำกวมลึกลับของมัน

อาจารย์ยุกติเสริมปนเสียงหัวเราะว่า ถึงแมวจะไม่ฟังเรา แต่ก็ไม่เท่าคน อย่างไรแมวก็ยังอยู่ในสถานะที่ด้อยกว่า อย่างมากก็เป็นเด็กน้อยคนหนึ่ง เวลาที่เราอุ้มหรือมองมันมีส่วนที่ทำให้เรารู้สึกว่าแมวน่าเอ็นดูอยู่ตลอดเวลาแม้ว่าจะอายุมากขึ้นก็ตาม แต่คนไม่ได้เป็นอย่างนั้น

“สมมติว่าเราอยู่คนเดียว แล้วมาทำงานในกรุงเทพฯ อยู่ในเมืองที่วุ่นวาย เช้าตื่นขึ้นไปทำงาน โดนเจ้านายด่า เวลาที่เรากลับห้อง กลับหอ เราอยากมีอะไรสักอย่างหรือใครสักคนหนึ่งรอเราอยู่

“จริง ๆ ก็เศร้าเหมือนกัน เรารู้สึกว่าแมวเป็นแค่ส่วนหนึ่งในชีวิตที่เรากลับมาแล้วจะได้เจอมัน ได้อุ้ม กอด หอม แต่เวลาอื่นตอนอยู่ที่ทำงานเราก็ไม่ได้สนใจมัน เราไม่ได้คิดถึงมันด้วยซ้ำเพราะมีองค์ประกอบอื่น ๆ ในชีวิตที่ต้องดูแลจัดการ ซึ่งไม่ใช่ความผิดนะ เราจะมานั่งนึกถึงแมวตลอด 24 ชั่วโมงไม่ได้หรอก แต่แมวมันมีเราเท่านั้นเอง โดยเฉพาะแมวที่เลี้ยงในระบบปิด ทั้งชีวิตของมันก็คือเรา” โตมรเสริม

ในสมัยก่อนหลายคนอาจจะรู้กันดีว่าแมวนั้นเป็นสิ่งมีชีวิตที่เก่งฉกาจ ปราดเปรียว และดูแลตัวเองได้ดีเป็นที่สุด (เหมือนที่เห็นได้ในแมวจรดังเช่นทุกวันนี้) เพราะแต่ก่อนแมวคือเพชฌฆาตกำจัดหนูในยามที่มนุษย์ต้องขอแรงให้ช่วยรับมือกับหนูยามเดินทางเร่ร่อนและทำการเกษตร

ปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับแมวป่าจึงเริ่มขึ้นมาจากจุดนั้น มนุษย์เริ่มให้อาหารมันจนมันยอมออกจากป่า แถมยังได้หนูเป็นรางวัลชั้นยอด ความสัมพันธ์ที่พึ่งพากันและกันจึงค่อย ๆ ก่อตัวพัฒนามาเรื่อย ๆ จนถึงทุกวันนี้ สัญชาตญาณนักล่าของมันยังโดดเด่น และในหลากหลายมิติแมวก็แสดงให้เห็นถึงความเป็นเอกเทศ มีจิตวิญญาณนักสู้จนน่าทึ่ง

“ในหนังสือที่เขียนจะมีแมวตัวหนึ่งชื่อแบงค์ มันถูกหมีตะปบ แต่มันไม่แคร์แม้กระทั่งความเจ็บปวด ดูจากตา จากการที่มันถูกตะปบจนหนังถลอกร่นออกมาแล้วเนี่ย มันก็ยังอยากจะเล่นอยู่แม้ร่างกายจะไม่ไหวแล้ว

“การที่แมวไม่แคร์ ไม่ได้แปลว่าไม่ใส่ใจ แต่ไม่แคร์ก็คือไม่จำเป็นต้องรับเอาความเจ็บปวดเหล่านั้นมาใส่ข้างในตัว แต่เรารับรู้ว่าความเจ็บปวดนั้นคืออะไร หรือเกิดขึ้นกับเราเอง

“แมวมันรู้แหละว่าเกิดอะไรขึ้น แต่ความเจ็บปวดนั้นไม่ได้กระทบข้างในมัน อย่างเราเป็นแผลนิดหนึ่งเราก็จะร้อง เจ็บปวด แต่อันนี้คือไม่เป็นไร ฉันไม่แคร์ ซึ่งอิงไปถึงเรื่องอื่น ๆ ในชีวิตเราด้วย คิดว่าแมวเป็นต้นแบบเรื่องนี้ให้เราได้ อย่างโคยะเวลาที่มันป่วย มันเจ็บถึงวันสุดท้ายมันยังสนใจนกที่บิน แต่มันไม่ได้แคร์ความเจ็บปวดข้างในตัวมัน” โตมรเปรียบเทียบ

แมวจึงไม่ได้เป็นสัตว์ที่แข็งแรงแค่ภายนอก แต่ท่าทีและวิธีคิดภายในตัวมันก็แข็งแกร่งและมีหัวจิตหัวใจจนทำให้มนุษย์เรียนรู้จากมันได้เช่นเดียวกัน

กิจกรรมที่มนุษย์สังเกตเห็นหรือทำร่วมกันกับแมวจึงสะท้อนให้เห็นถึงคุณค่าทางอารมณ์และวิธีคิดของมนุษย์ในแต่ละยุคสมัย เพราะแมวหนึ่งตัวสามารถเป็นตัวแทนเชิงสัญลักษณ์ของความเชื่อ วิถีชีวิต ศาสนา ประเพณีวัฒนธรรม เศรษฐกิจ และมิติอื่น ๆ ที่อาจจะอธิบายความเป็นมนุษย์ได้ดีกว่าตัวมนุษย์เองเสียอีก

konmaew04

แมวกลายเป็นคน คนกลายเป็นแมว

เราถามอาจารย์ยุกติและโตมรว่า ยุคสมัยที่เปลี่ยนไป โซเชียลมีเดียเริ่มเข้ามาสร้างตัวตนเสมือนจนเป็นเรื่องปรกติ การเลี้ยงแมวก็มีเทรนด์ที่เติบโตขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เช่น ปรากฏการณ์ทาสแมว การอวดแมว แมวเซเลบ งานแมวในสถานที่ต่าง ๆ ที่สร้างภาพลักษณ์บางอย่างให้ทั้งผู้เลี้ยงและตัวแมวเอง ปรากฏการณ์เช่นนี้สะท้อนอะไร

“โดยส่วนตัวรู้สึกว่าแมวเป็นสัตว์ที่มีความสง่างามอยู่ในตัว ไม่เคยคิดว่าแมวตลกเลยนะ จนกระทั่งเมื่อโตขึ้นแล้วพบว่า ระยะหลัง ๆ ช่วง 20 ปีที่ผ่านมาได้ยินคนพูดว่าเดี๋ยวกลับบ้านไปก็หายเครียดเพราะเดี๋ยวแมวของฉันจะทำตลกให้ดู ตอนนั้นเป็นครั้งแรกที่รู้สึกว่า เฮ้ย จริงด้วยว่ะ มันก็ตลกได้เหมือนกัน

“ถ้าเป็นสมัยก่อน เราไม่ได้เลี้ยงแมวเปอร์เซียหรืออเมริกันช็อตแฮร์ เจอแต่แมวไทยทั่วไปตามถนน เราก็ไม่ได้รู้สึกว่าแมวเหล่านั้นตลก แต่จะรู้สึกถึงความแข็งแกร่ง เป็นอิสระ เย่อหยิ่ง หรือเหนือว่ามนุษย์ แต่พอระยะหลังเริ่มมีแมวแบบน่ารัก ๆ เข้ามา ซึ่งน่าจะเป็นสิ่งสอดรับกับการที่สังคมยุคใหม่มันเปลี่ยน แล้วเราอยู่คนเดียวมากขึ้น อยู่ในคอนโดฯ สัตว์เลี้ยงที่เหมาะกับเราก็คือแมว เลี้ยงไว้เพื่อความผ่อนคลาย ตลกขบขัน” โตมรสะท้อน

“เริ่มตั้งแต่การตั้งชื่อแมวก็บอกอะไรเกี่ยวกับตัวเจ้าของเยอะ เช่น ชื่อถุงเงินถุงทอง วิธีการดูแลแมว การเลือกอาหารแมว ของเล่นแมว ดังนั้นการเลี้ยงแมวก็เป็นเครื่องสะท้อนตัวตนของผู้เลี้ยง

“อีกด้านหนึ่งเราก็ต้องมองว่า แมวก็ทำให้คนกลายเป็นแมวไม่น้อยเหมือนกัน เพราะความที่คนเลี้ยงอยากเอาใจแมว หรือการเลี้ยงแบบผูกพันมากขึ้น แมวก็เข้ามาเปลี่ยนคนเหมือนกัน

“ถ้าเราพูดถึงการเลี้ยงแมวในสังคมเกษตรกรรม แมวคงไม่ค่อยจะเปลี่ยนคนเท่าไหร่หรอก ดังนั้นการที่จะต้องสร้างพื้นที่ให้แมว ดูแลมูลสัตว์ต่าง ๆ ก็ไม่จำเป็นด้วยซ้ำ แต่เลี้ยงแมวในสังคมเมือง แค่เรื่องส้วมก็อาจจะเป็นเรื่องใหญ่แล้ว แมวก็เลยเปลี่ยนคนได้” อาจารย์ยุกติเสริม

หากใครเลี้ยงแมวสักสองสามตัว คนคนนั้นก็จะต้องเปลี่ยนตามแมวสองสามตัวนั้น เพราะแมวมีลักษณะแตกต่างกัน ยิ่งคนที่เลี้ยงแมวอย่างเอาใจใส่มากก็จะยิ่งเปลี่ยนตามแมวแต่ละตัว

ในแง่ของนิสัยก็อาจจะแตกต่างจากผู้เลี้ยงสุนัข เช่นเราอาจจะต้องยอมรับในความเป็นตัวของตัวเองของแมวมากกว่า ในขณะที่การเลี้ยงสุนัข (ไม่ทุกตัว) เราบังคับหรือสั่งมันได้มากกว่า

บทความ “มานุษยวิทยาแมว” ก็เขียนไว้เช่นกันว่า การตั้งชื่อให้แมวอาจสะท้อนว่ามนุษย์กำลังทำให้แมวกลายเป็นบุคคลที่มีความสำคัญในชีวิต เพราะการตั้งชื่อบ่งบอกว่าแมวคือสิ่งที่ต้องจดจำ และยังช่วยจำแนกแมวแต่ละตัวออกจากกัน ทำให้มันกลายเป็นบุคคลที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นความพยายามของมนุษย์ที่จะทำให้แมวมีสถานะเป็นดังบุคคลด้วย

“สังคมปัจจุบันมีโซเชียลมีเดียเข้ามา ทำให้เกิดสังคมที่แตกต่างจากเดิม มีช่องทางของการสร้างเครือข่ายทางสังคมที่ต่างออกไป ถ้าใครเลี้ยงแมวและอยู่กับมันเป็นหลัก แมวตัวนั้นก็ไม่ได้เป็นแมวของสังคมที่ใหญ่มาก แต่ถ้าคุณเลี้ยงแมวเพื่อที่จะโชว์สังคมที่ใหญ่หน่อย เช่นในโซเชียลมีเดีย แมวของคุณก็เป็นแมวของสังคมที่ใหญ่ขึ้น เหมือนคุณเลี้ยงลูกแล้วพาลูกออกสื่อตลอดเวลา

“เราเห็นว่าในสังคมเมืองการเลี้ยงแมวเติบโตไปในทิศทางแบบนี้มากขึ้นเรื่อย ๆ หรือดูจากที่คลินิกสัตว์ต่าง ๆ เยอะมาก หาง่ายกว่าของคนอีก เพียงแต่ว่าทิศทางของเมืองที่ได้รับอิทธิพลจากสัตว์เลี้ยงก็อาจจะมีส่วนทำให้คนเลี้ยงแมวแบบปิดมากขึ้นเรื่อย ๆ

“ในสังคมชนบทแมวก็อาจจะกลายมาเป็นสัตว์ที่ใกล้ชิดกับคนมากขึ้น แต่ผมคิดว่ามันมีลักษณะของการเลี้ยงไว้เพื่อจับหนูมากกว่า หรือไม่ก็เป็นเพื่อน ไม่ถึงกับใกล้ชิดมาก” อาจารย์ยุกติเสริม

“บางคนก็รักแมวของตัวเองจริง ๆ แล้วบางทีแมวก็ทำท่านู้นท่านั้น เขาก็อยากจะเล่า มันก็ตลก เลยทำให้กลายเป็น influencer ด้านแมว ซึ่งเห็นอยู่เยอะมาก ในแพลตฟอร์ม TikTok ก็ช่วยขับเน้น เพราะเราไม่ได้อยากนั่งดูแมวยาวบน Youtube 20 นาที TikTok มันตัดมาสั้น ๆ ได้ วันวันหนึ่งทำไปเลยห้าหกคลิป แล้วสุดท้ายคนก็จะมาดูเอง สร้าง character ไป ดูแล้วก็ตลกขบขัน” โตมรสะท้อน

ทั้งอาจารย์ยุกติและโตมรต่างเป็นคนรักแมวด้วยกันทั้งคู่ ไม่ว่าเหตุผลที่แท้จริงในการเลี้ยงแมวของแต่ละคนคืออะไร แต่ทุกคนรู้ดีว่าวันหนึ่งแมวก็ต้องจากเราไป

แมวอาจจะทำหน้าที่ยึดเหนี่ยวจิตใจเราด้วยการอยู่ตรงนั้นเพื่อเราโดยการเป็นตัวของตัวเอง และไม่ว่าแมวตัวนั้นจะมีชื่อเสียงมากหรือเป็นเพียงแมวของเราคนเดียว เมื่อมีความรักเกิดขึ้น ก็นับได้ว่ามันเป็นอีกหนึ่งชีวิตที่สำคัญ

“ถ้าไม่มีแมวเลยจะเป็นยังไง ก็จะรู้สึกว่ามีมันดีกว่า ไม่มีแล้วรู้สึกขาดหาย มันเหมือนเพื่อนที่เป็นสิ่งมีชีวิตเพิ่มเข้ามาอีกตัวหนึ่ง ไม่ได้ถือว่าเป็นภาระมากถ้าจะเลี้ยงมันจริง ๆ” อาจารย์ยุกติเล่าติดหัวเราะเล็กน้อยเพราะรู้ดีว่าการเลี้ยงแมวไม่ใช่งานง่าย

ส่วนโตมรพูดถึงชีวิตที่ไร้แมวได้ลึกซึ้งเหมือนแมวแต่ละตัวที่เขาเขียนไว้ในหนังสือ และในคำตอบนี้ก็อาจจะหมายรวมถึงโคยะ แมวรักที่เสียชีวิตไปแล้วด้วย

“เหมือนถามว่ามีลูกแล้วลูกสำคัญอย่างไร คือเราบอกว่าใช่ นี่ไม่ได้เป็นลูก แต่ว่ามันเหมือนอะไรบางอย่างที่สำคัญในชีวิต

“จริง ๆ ตอบไม่ได้ เพราะมันอยู่ตรงนั้น เป็นส่วนหนึ่งเป็นส่วนเดียวกันกับชีวิตไปเลย อย่างตอนที่โคยะไม่อยู่แล้ว มันเหมือนว่าหัวใจหายไปส่วนหนึ่ง ถูกหั่นไปเลย ซึ่งแปลกนะ ไม่เหมือนตอนที่พ่อเสีย เพราะตอนนั้นไม่เหมือนหัวใจหายไปบางส่วน หัวใจมันพลิกไปอีกข้างหนึ่ง ประมาณว่า เอาละไม่มีพ่อแล้วตอนนี้ต้องทำอะไรบ้าง

“แต่นี่ไม่ได้โตขึ้นหรือไม่โต มันเหมือนขาดไปเลย ไม่มีอะไรจะมาเติมเต็มได้

“โคยะไม่เหมือนแมวตัวอื่น ไม่ใช่แมวสหกรณ์ มันเป็นแมวที่เป็นของเราหรือเราเป็นของแมวนะ เหมือนตัวตนของทั้งแมวกับเรามันทับกันอยู่บางส่วน เลยทำให้เรารู้สึกว่าพอแมวไม่อยู่ บางส่วนของหัวใจมันหายไป”

อ้างอิง

  • หนังสือ ขอให้ความรักอยู่กับแมว โดย โตมร ศุขปรีชา
  • ทำดีมากเจ้าทาสแมว! เผยเทรนด์ปี 2565 ตลาดคนเลี้ยงหมา โตช้ากว่า “คนเลี้ยงแมว
  • มานุษยวิทยาแมว (Anthropology of Cat)
  • แมว” ในภาษาและวัฒนธรรมไทย (“Cat” in Thai Language and Culture)
  • วัฒนธรรม “ทาสแมว” : ว่าด้วยเรื่องความสัมพันธ์ของมนุษย์กับสัตว์เลี้ยงและกระแสนิยม
  • A CAT’S TALE ประวัติศาสตร์แมวมอง โดย พอล คูดูนาริส