เรื่องและภาพ : สุชาดา ลิมป์
ตรงหน้าคือ “เทือกเขากาลอ” ในพื้นที่อำเภอรามัน จังหวัดยะลา
ยอดสูงสุดราว ๑,๐๙๖ เมตรอยู่เขตอำเภอบันนังสตาของยะลา
คนพื้นที่เล่าว่ากว่า ๒๒,๐๐๐ ไร่เป็นต้นน้ำ แซมแปลงเกษตรไม้ผลนับหมื่นไร่ทั้งมังคุด เงาะ เฉพาะทุเรียนก็ ๕,๐๐๐ ไร่ ยังมีนาข้าว สำคัญคือเป็นแหล่งเลี้ยงชันโรงธรรมชาติ…แต่เป็นความลับใหญ่ของผู้เลี้ยง
ชาวบือมัง-รามันจึงจัดตั้ง “ศูนย์เรียนรู้ธุรกิจชุมชนผึ้งชันโรงตำบลบือมัง” หมู่ที่ ๖ เป็นพื้นที่เลี้ยงชันโรงในสวนหย่อมร่มรื่นเพื่อศึกษาพฤติกรรมอย่างใกล้ชิด มีเกษตรกรผู้เลี้ยงและเจ้าหน้าที่ศูนย์ให้ความรู้เกี่ยวกับฝูงแมลงและประโยชน์ของน้ำผึ้ง สอนวิธีใช้เครื่องมือจนเก็บผลผลิต
สนุกดีที่รู้ว่าสำหรับชุมชนนี้ หมู่แมลงจิ๋วมีเรื่องให้เล่ามากกว่าน้ำผึ้ง
:: บ้านเล็กของครอบครัวใหญ่ ::
แม้เป็นแมลงตระกูลผึ้งลักษณะคล้ายผึ้งมิ้ม แต่ชันโรงไม่มีเหล็กใน
ธรรมชาติจึงมอบฟันกรามที่แข็งแรงทดแทนให้ใช้กัดศัตรู-ปกป้องรัง
บ้านของชันโรงก็ไม่เหมือนผึ้ง ผึ้งในธรรมชาติทำรังตามกิ่งไม้สูงส่วนชันโรงทำรังตามโพรงไม้หรือใต้ดิน ลักษณะรังเหนียวเป็นมันคล้ายขี้ผึ้ง สร้างปากทางเข้ารังด้วยไขผสมยางไม้และกรวดหรือดิน โดยมีชันโรงงานเฝ้าหน้ารังกันศัตรูบุกรุก เกษตรกรผู้เลี้ยงชันโรงที่ใส่ใจพฤติกรรมสัตว์จะออกแบบบ้านให้เจ้าพวกปีกจิ๋วตั้งอยู่บนตอไม้คล้ายจำลองโพรงของลำต้นไม้ใหญ่ มียางเหนียวตรงปากทางเข้า-ออกลักษณะเป็นท่อ
“ศัตรูของชันโรงที่ผู้เลี้ยงต้องระวังคือมดแดง จิ้งจก กบ คางคก และช่วงหน้าฝนเดือนธันวาคมถึงกุมภาพันธ์ก็ต้องระวังพวกมดหนีน้ำขึ้นรังชันโรง ถ้ารังเสียหายชันโรงจะพักการผลิตน้ำผึ้งไปหายางไม้จากต้นยาง ต้นมังคุด ต้นชิงชัน หรือพืชอื่นๆ ที่มียางไม้นำมาซ่อมแซมรัง ใช้เวลาฟื้นฟูอย่างน้อย ๓ เดือน”
รุสดี ยะหะแม กลุ่มเลี้ยงชันโรง และประธานวิสาหกิจชุมชนธนาคารต้นไม้บือมัง เล่าความรู้
หากยกหลังคา มองจากมุมสูงจะเห็นโครงสร้างในบ้านแบ่งเป็นห้องหับ แต่ละห้องของสถาปนิก-วิศวกรชันโรงไม่ได้จัดระเบียบเรียงรูปหกเหลี่ยมเรขาคณิตอย่างผึ้ง จะเป็นหลอดพองนูนทรง “กระเปาะ” เพื่อแยกการใช้สอย บ้างไว้เก็บเกสรดอกไม้ จุน้ำหวาน วางไข่ หรือเลี้ยงตัวอ่อน บรรยากาศเวลานี้จอแจด้วยสารพัดจังหวะเคลื่อนไหวของสมาชิกที่ต่างง่วนกับกิจกรรมทั้งเดิน กระพือปีก และเพิ่งกลับจากแสวงหาน้ำต้อยมาไม่รู้กี่ร้อยดอกเพื่อเปลี่ยนเป็นน้ำผึ้งสะสมในกระเปาะไว้เลี้ยงครอบครัว
ภายในพื้นที่ศูนย์การเรียนรู้จัดแสดงรังเทียมของชันโรงหลายหลัง ตั้งเรียงรายแบบมีระยะห่าง ดูคล้ายหมู่บ้านเล็กที่ซ้อนอยู่ในชุมชนบ้านบือมัง บ้านแต่ละหลังมีขนาดเหมาะสมกับตัวและจำนวนผู้อาศัย
“การเลี้ยงจะต้องดูบริบทของพื้นที่ด้วยว่าเหมาะสมกับชันโรงสายพันธุ์ใด บางพื้นที่สามารถเลี้ยงได้หลายสายพันธุ์ขณะที่บางพื้นที่เลี้ยงได้สายพันธุ์เดียว ที่บือมังมีการสำรวจชันโรงในธรรมชาติพบว่ามีเกือบ ๑๐ สายพันธุ์ ทั้งพันธุ์ตัวเล็กและพันธุ์ตัวใหญ่ แต่ทางกลุ่มส่งเสริมให้สมาชิกเลี้ยงสายพันธุ์ตัวใหญ่อย่าง ‘อิตาม่า’ หรือ ‘บาคารี’ เพราะมีพฤติกรรมที่ขยันผสมเกสรเป็นพิเศษ แค่ว่าผลผลิตน้ำผึ้งอาจน้อยกว่าพันธุ์อื่น”
แต่ไม่ใช่ปัญหา เมื่อเขารู้เทคนิคเพิ่มปริมาณน้ำผึ้ง
เป็นจุดแข็งจากการที่ชุมชนมีชาวบ้านราว ๕๐ คนเป็นกลุ่มทายาทเกษตรกรคนรุ่นใหม่ บัณฑิตคืนถิ่นที่มีความคิดก้าวหน้า รวมตัวตั้ง “วิสาหกิจชุมชนธนาคารต้นไม้บือมัง” อยู่จึงมีความรู้ด้านเกษตรควบคู่กับรู้จักระบบนิเวศเป็นทุนให้สามารถนำประโยชน์มาต่อยอดการเพิ่มปริมาณน้ำผึ้งชันโรง
“อย่างแรกคือการเลี้ยงชันโรงในพื้นที่เดียวกันไม่ควรเกิน ๑๐๐ รัง และแต่ละพื้นที่ควรตั้งห่างสัก ๑ กิโลเมตร ป้องกันการวิวาทของชันโรงแย่งแหล่งพืชอาหาร กลุ่มของเราเพิ่งมีการเลี้ยงจำนวน ๒๐๐ กว่ารัง แต่ตั้งเป้าว่าทั้งตำบลบือมังต้องเลี้ยงสัก ๑,๐๐๐ รัง เพื่อให้มีน้ำผึ้งขายอย่างน้อยเดือนละ ๓๐๐ กิโลกรัม และอีกอย่างสำคัญมากคือต้องเพิ่มแหล่งพืชอาหารให้ชันโรง เพื่อลดการใช้พลังงานบินหาอาหารจนเหนื่อย เพราะชันโรงเป็นแมลงบินต่ำจึงไม่ไปหาอาหารไกล สายพันธุ์ใหญ่มีรัศมีการบินหาอาหาร ๒-๓ กิโลเมตร สายพันธุ์เล็กจะหาอาหารในรัศมี ๓๐๐ เมตรถึง ๑ กิโลเมตร แม้บือมังจะเป็นหมู่บ้านเชิงเขาที่รายล้อมป่าและพืชพรรณนานาชนิด มีต้นไม้ใหญ่จำนวนมาก แต่สิ่งที่ยังต้องเสริมคือพืชอาหารจากการปลูกดอกไม้ ที่บือมังเน้นปลูก ‘พวงชมพู’ เพราะออกดอกมีน้ำหวานให้กินตลอดปี ซึ่งต้องปลูกใกล้รังในระยะ ๑๕๐ เมตร ยิ่งมีแหล่งอาหารใกล้รังความถี่ในการบินกลับรังเพื่อสร้างน้ำผึ้งจะมากขึ้น”
ทางเข้าศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้จึงปลูกต้น “พวงชมพู” ที่กำลังออกดอกสีชมพูหวานแซมใบรูปหัวใจสีเขียวสด ไม่เพียงเป็นแหล่งอาหารให้ชันโรงยังได้อาศัยแสดงตัวอย่างการศึกษาให้มนุษย์
:: ดอก–ผลงานวิจัย…เรื่องเซอร์ไพรส์จากชันโรง::
เหตุจากปี ๒๕๖๓-๒๕๖๕ ช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-๑๙
แรงงานบือมังจำนวนมากไร้อาชีพด้วยสภาวะปิดประเทศไม่อาจไปทำงานที่มาเลเซีย มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา สภาเกษตรกรจังหวัดยะลา และพหุภาคีเครือข่ายจึงผนึกกำลังช่วยชุมชนด้วยความรู้เลี้ยงชันโรงจากงานวิจัยภายใต้การสนับสนุนของหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.)
“ก่อนหน้านี้ผมเซอร์เวย์ละแวกนี้จึงทราบว่ามีการเลี้ยงชันโรงมากในจังหวัดยะลา นราธิวาส และปัตตานี ซึ่งเป็นพื้นที่โดดเด่นเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ เมื่อชาวบ้านมีทุนความรู้เดิมอยู่จึงนำความรู้จากงานวิจัยมาส่งเสริมการอนุรักษ์ทรัพยากรและพัฒนาวิถีชีวิต สนับสนุนให้ตั้งกลุ่มเลี้ยงชันโรง จัดตั้งวิสาหกิจชุมชน เพื่อความแข็งแกร่งด้านการตลาดและยกระดับการสร้างรายได้ที่เป็นได้มากกว่าเรื่องน้ำผึ้ง เช่น ผลิต-จำหน่ายรังเลี้ยงชันโรง พัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปจากการเลี้ยงชันโรงทั้งตัวสินค้า ตราสินค้า และมาตรฐานบรรจุภัณฑ์ให้มีความสอดคล้องกับพื้นที่ตน ไปจนเสริมศักยภาพของเกษตรกรให้เป็นนวัตกรผู้มีความสำคัญต่องานและพัฒนาทักษะไปสู่การเป็นผู้ประกอบการอย่างครบวงจร”
ผศ.ดร.อิสมะแอ เจ๊ะหลง นักวิจัยจากคณะวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการเกษตร มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ผู้รับผิดชอบ “โครงการการพัฒนาศักยภาพและยกระดับห่วงโซ่มูลค่าของเกษตรกรกลุ่มเลี้ยงผึ้งชันโรงและวิสาหกิจชุมชนเลี้ยงผึ้งชันโรงจังหวัดยะลาและนราธิวาส” เสริมหลักเน้นทำงานเป็นเครือข่าย
“ปัจจุบันเรามีพื้นที่วิจัยภายใต้โครงการอยู่ ๕ กลุ่ม ในจังหวัดนราธิวาสมีวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้เลี้ยงชันโรง อำเภอแว้ง กับวิสาหกิจชุมชนกลุ่มชันโรงบ้านไพรวัน อำเภอตากใบ ส่วนที่จังหวัดยะลามีวิสาหกิจชุมชนบัยตุลมานบ้านเจาะตูแน อำเภอยะหา, วิสาหกิจชุมชนธนาคารต้นไม้บือมัง อำเภอรามัน และกลุ่มครัวเรือนตกเกณฑ์ จปฐ อำเภอกรงปีนัง ซึ่งแต่ละพื้นที่มีความโดดเด่นเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพของพืชอาหารทั้งประเภทพืช ขนาดเรณู เกสร ทำให้ได้ชนิดของน้ำผึ้งที่แตกต่างกัน”
ด็อกเตอร์หนุ่มเผยเรื่องน่าตื่นเต้นขณะเก็บตัวอย่างน้ำผึ้งชันโรงที่อำเภอสายบุรีและอำเภอแว้ง
“เราพบผลผลิต ‘น้ำผึ้งชันโรงสีม่วงดำ’ กับ ‘น้ำผึ้งชันโรงสีเขียวมรกต’ ซึ่งสีม่วงดำได้จากชันโรงไปเก็บเกสรบริเวณใต้ฐาน ‘ดอกโคลงเคลง’ ส่วนสีเขียวมรกตมาจาก ‘ดอกเสม็ดขาว’ ชันโรงไม่ได้กินแต่เกสรดอกโคลงเคลงหรือดอกเสม็ดขาวหรอกครับ ยังคงกินพืชหลากหลาย แต่ปริมาณในการเก็บเกสรของดอกไม้แต่ละชนิดนั้นมีมากถึง ๗๐-๘๐ เปอร์เซ็นต์จึงทำให้น้ำผึ้งมีสีม่วงดำหรือสีเขียวมรกต และแม้พืชสองชนิดนี้จะมีในหลายจังหวัดแต่ผลผลิตน้ำผึ้งชันโรงสีม่วงดำกับสีเขียวมรกตกลับพบได้เพียงสามจังหวัดชายแดนใต้ และเป็นเสน่ห์ของน้ำผึ้งจากชันโรงที่ไม่พบในน้ำผึ้งจากผึ้งอื่นด้วย ถือเป็นการค้นพบที่น่าตื่นเต้นมาก”
เพราะแม้จะเป็นจังหวัดเดียวกันอย่างที่อำเภอบือมังที่มีต้นโคลงเคลงขึ้นเยอะทั้งในสวนยางพาราและทุ่งนา แต่ด้วยข้อจำกัดทางธรรมชาติที่จะออกดอกตามฤดูกาลราวเดือนห้าเดือนหกซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ผู้เลี้ยงชันโรงนิยมเก็บน้ำผึ้งพอดีก็ทำให้ชาวบือมังยังไม่ได้ผลผลิตน้ำผึ้งสีม่วง
แต่เรื่องอัศจรรย์จากเจ้าพวกชันโรงต่างอำเภอก็เป็นสิ่งต่อยอดสำคัญของงานวิจัย
“เพราะมันทำให้เราอยากวางแผนต่อว่าถ้าชาวบือมังอยากควบคุมสีหรือรสของน้ำผึ้งให้มีลักษณะจำเพาะโดดเด่นเป็นของท้องถิ่นบ้างก็สามารถบริหารจัดการพืชอาหารให้เหมาะสมในพื้นที่เดินทางของชันโรงได้ เพียงปลูกดอกไม้ที่ต้องการเพิ่มจากที่มีอยู่ในธรรมชาติให้ใกล้รังและมีจำนวนมากพอราว ๓-๔ กิโลเมตรต่อไร่ ให้ฝูงชันโรงมีโอกาสกินเยอะจนได้ปริมาณที่เพียงพอต่อผลผลิตน้ำผึ้งที่ต้องการ”
ยังนึกไม่ออกว่า ถ้าวันหนึ่งมีวิทยาการก้าวไกลไปถึงขั้นไม่ต้องปลูกต้นไม้ดอกไม้ลงดินก็ให้ผลิตผลจากพืชได้ มนุษย์จะดิ้นรนหาวิธีเลี้ยงชันโรงเพื่อเก็บน้ำผึ้งอย่างไรต่อ แต่กว่าจะวันนั้น…วันนี้เกษตรกรชาววิสาหกิจชุมชนธนาคารต้นไม้บือมังเลือกฝากชีวิตไว้กับระบบนิเวศที่ธรรมชาติออกแบบวงจรชีวิตให้พืชกับแมลงเอื้ออาทรกัน ขณะที่แมลงจิ๋วง่วนอยู่กับการลุยผ่านเรณูที่อยู่ลึกลงไปในดอกไม้ มันก็ตอบแทนโดยผสมเกสรให้ แล้วเมื่อย้ายไปกินน้ำต้อยที่ดอกใดอีกก็จะนำพาเรณูที่ติดตามขนขาไปผสมพันธุ์กับอีกดอกให้
เป็นการรับประโยชน์ร่วมกันของพืช-สัตว์ เป็นความหวังของการผลิตน้ำผึ้งให้ชุมชน
:: น้ำผึ้งชันโรง เสน่ห์แท้จากแมลงปีกจิ๋ว ::
ผศ.ดร.อิสมะแอ ภูมิใจอวดน้ำผึ้งชันโรงว่าต่างจากน้ำผึ้งที่ผลิตขึ้นโดยผึ้ง
น้ำผึ้งชันโรงไม่เพียงมีสารของฟลาโวนอยด์ (Flavonoids) ชะลอความแก่ ต้านเชื้อโรค ยับยั้งการเติบโตของเชื้อราและจุลินทรีย์ รวมถึงช่วยปรับสมดุลสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ร่างกายได้ดีไม่แพ้น้ำผึ้งจากผึ้ง
ยังพิเศษกว่าตรงลักษณะเด่นของน้ำผึ้งชันโรงมีรสเปรี้ยวอมหวาน มีสรรพคุณทางยาสูงกว่าน้ำผึ้งจากผึ้งสองเท่า มีสารต้านอนุมูลอิสระสูงกว่าน้ำผึ้งจากผึ้ง ๕-๑๐ เท่า มีสารอาหารที่หลากหลายกว่าและให้คุณค่าทางโภชนาการสูงกว่าน้ำผึ้งจากผึ้งหลายเท่า
“ส่วนหนึ่งเป็นเพราะลักษณะนิสัยของชันโรงเป็นนักกินที่ไม่เลือกชนิดพืชอาหาร ต่างจากผึ้งที่เลือกเยือนดอกไม้บางชนิดจึงมีสารอาหารหลากหลายน้อยกว่า รวมถึงกระบวนการหมักทางธรรมชาติภายในตัวชันโรงและสายพันธุ์ดอกไม้บางชนิดที่เป็นอาหารก็ยังทำให้เกิดสีสันและรสชาติของน้ำผึ้งที่หาไม่ได้จากผึ้ง”
รุสดี-ประธานวิสาหกิจชุมชนธนาคารต้นไม้บือมังช่วยสมทบ
“ต้นทุนการเลี้ยงชันโรงตามบ้านตกรังละ ๒,๐๐๐-๓,๐๐๐ บาท ทุนค่อนข้างสูง แต่ก็ขายน้ำผึ้งได้ราคาดีเพราะเป็นที่ต้องการของตลาด ผมคิดว่าถ้าเกษตรกรจะเลี้ยงเป็นอาชีพหลักต้องเลี้ยงอย่างน้อย ๑๐ รัง เพราะการเก็บน้ำผึ้งจะอยู่ในช่วงมกราคมถึงมิถุนายน ช้าสุดไม่เกินสิงหาคม พอเข้าหน้าฝนชันโรงจะดุ”
แม้ไม่มีเหล็กใน แต่เพื่อพิทักษ์น้ำผึ้งสมบัติล้ำค่า การเป็นนักฆ่าพลีชีพก็เป็นหน้าที่ต้องทำ
“ปลายฝนยิ่งไม่ควรเก็บ เพราะความสมบูรณ์ทั้งปริมาณและคุณภาพของน้ำผึ้งจะลดลง เว้นแต่พื้นที่นั้นมีพืชอาหารหนาแน่นพอเลี้ยงดูชันโรงอย่างสมบูรณ์ก็เก็บน้ำผึ้งได้ตลอดปีไม่มีปัญหา สำหรับกลุ่มเราจะให้ความสำคัญกับคุณภาพของน้ำผึ้งมาก ถ้าเก็บออกจากรังแล้วอย่างไรก็มีระยะเวลารักษาไว้นอกรังเพียง ๖ เดือน เราจึงไม่เก็บน้ำผึ้งออกมาทั้งหมด จะเหลือไว้ในรังด้วยเพื่อให้ชันโรงได้ใช้เลี้ยงดูตัวอ่อนด้วยและให้ทั้งฝูงไว้กินเสริมพลังงานในฤดูกาลขาดแคลนอาหาร”
โดยปรกติผลผลิตในแต่ละเดือนหากเลี้ยงชันโรง ๓ รัง จะเก็บน้ำผึ้งได้ราว ๑ กิโลกรัม ราคาขายกิโลกรัมละ ๗๐๐-๗๕๐ บาท พ่อค้าคนกลางมารับไปขายต่อกิโลกรัมละ ๑,๐๐๐-๒,๐๐๐ บาท บ้างถูกแบ่งส่งไปร้านอาหารหรือร้านเครื่องดื่มเจ้าประจำเพื่อนำไปใช้เป็นส่วนประกอบปรุงรส บางรายอาจนำไปบรรจุขวดติดฉลากผลิตภัณฑ์ของตนแล้วขายปลีก ถ้าส่งตลาดมาเลเซียจะได้ราคาสูงกว่านั้นอีก แต่แค่ขายในประเทศก็ไม่พอแล้ว บางฤดูกาลมียอดสั่งซื้อนับพันกิโลกรัม สำหรับเกษตรกรบือมัง ด้านการตลาดจะพุ่งเป้าที่อำเภอเบตงซึ่งมีนักท่องเที่ยวเดือนละนับแสนคน ปีละนับล้านคน ขอเพียงมีนักท่องเที่ยวสัก ๕ เปอร์เซ็นต์อุดหนุนน้ำผึ้งชันโรงภายใต้เครี่องหมายการค้า “Dr. Bee” ก็ได้ราว ๕,๐๐๐ ขวดต่อเดือนแล้ว มากกว่านั้นชุมชนอาจมีไม่พอขายอยู่ดีเพราะยังต้องพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์แปรรูปอื่น
แม้ว่าตามจริงคุณค่าทางอาหารของน้ำผึ้งชันโรงแต่ละยี่ห้อหากจะต่างกันบ้างคงหลักมิลลิกรัม
“แต่น้ำผึ้งชันโรงจาก Dr. Bee การันตีด้วยงานวิจัย ยืนยันได้ว่าผลิตภัณฑ์เรามีสาร ‘Trehalose’ เป็นน้ำตาลโมเลกุลคู่ที่เกิดจากการสังเคราะห์ขึ้นโดยธรรมชาติ นั่นคือสิ่งที่กินน้ำผึ้งแล้วไม่ทำให้อ้วนและยังช่วยลดน้ำตาลในเลือดด้วย ที่สำคัญคือมั่นใจได้ว่าเป็นน้ำผึ้งแท้ มีฟองลอยซึ่งเป็นอัตลักษณ์ของน้ำผึ้ง”
เป็นธรรมดาที่เมื่อน้ำผึ้งออกเดินทางสู่สายตาผู้บริโภค มักมีคำถามเรื่องน้ำผึ้งแท้-น้ำผึ้งปลอม ไม่ได้หมายถึงปลอมแปลง (เพราะไม่มีใครสังเคราะห์น้ำผึ้งขึ้นมาเลียนแบบผึ้ง-ชันโรงได้) แต่หมายถึงปลอมปน (แต่งเติมสิ่งที่ไม่ได้มาจากน้ำผึ้งจากดอกไม้ลงไป ทำให้ผู้บริโภคได้น้ำผึ้งจากดอกไม้ไม่เต็มส่วน)
ข้อกังขานี้ ผศ.ดร. อิสมะแอ หงายไพ่ใบสุดท้ายอันเป็นผลพลอยได้จากกระบวนการวิจัย
“เราพบวิธีตรวจสอบน้ำผึ้งแท้ด้วยตนเองโดยใช้ ‘ชุดทดสอบ Test Kits’ ซึ่งมีสารละลายให้ในหลอดทดลองที่เราคิดค้นด้วยข้อมูลวิจัยกว่า ๑๙ ปี จนแน่ใจผลทดสอบสารปนเปื้อนในน้ำผึ้งว่าถูกต้องแม่นยำ เพียงนำผลิตภัณฑ์น้ำผึ้งมาหยดตัวอย่างใส่ในหลอดแล้วเขย่าให้ผสมกับสารละลาย หลังเขย่าถ้าได้สีใสแสดงว่าเป็นน้ำผึ้งแท้ ถ้าออกขุ่นแสดงว่ามีการปลอมปน”
ปรกติหากไม่นับการตรวจสอบน้ำผึ้งแบบชาวบ้านด้วยวิธีหยดน้ำผึ้งใส่ทิชชูเพื่อสังเกตว่าของแท้จะซึมช้าของปลอมที่ซึมเร็วเพราะมีน้ำเจือปนมาก หรือหยดน้ำผึ้งใส่แก้วจุน้ำสะอาดเพื่อสังเกตว่าของแท้จะรวมตัวกองก้นแก้วเมื่อคนแล้วจะยังไม่ละลายในทันที หรือฮาร์ดคอว์หน่อยก็นำหัวไม้ขีดมาจุ่มน้ำผึ้งแล้วจุดไฟข้างกลักเพื่อสังเกตว่าถ้าขีดติดไฟก็เป็นน้ำผึ้งแท้ ส่วนการวิเคราะห์คุณภาพเพื่อตรวจสอบสารปนเปื้อนในน้ำผึ้งแบบได้การยอมรับมาตรฐานต้องทำโดยผู้เชี่ยวชาญในห้องปฏิบัติการเคมีซึ่งมีขั้นตอนซับซ้อน ใช้เทคโนโลยีสูง และมีค่าใช้จ่ายมาก ผู้ที่นำน้ำผึ้งไปขอรับการตรวจสอบจึงมักเป็นบริษัทขนาดใหญ่ ชุดทดสอบ Test Kits จึงน่าสนใจสำหรับประชาชนทั่วไปให้ตรวจสอบน้ำผึ้งแท้ได้อย่างมีคุณภาพด้วยตนเอง
เป็นอีกหนึ่งของขวัญจากคณะชันโรง-ผู้นำพาผลสำเร็จสู่งานวิจัยไทย