เรื่อง : น้องลูกเนียง
ภาพ : กวิน สิริจันทกุล

อาบป่า อ่านใจ โอบอุ้มชูใจในภูเขียว

ท่ามกลางความสงบของแมกไม้แห่งภูเขียว ช่วงเวลาเช้าเมฆหมอกปกคลุมผืนป่าเริ่มจางหายราวกับม่านการแสดงกำลังเปิดออก เสียงของนกนานาชนิดเริ่มขับขานบทเพลง ฝูงกวาง เนื้อทรายและเก้งต่างออกมาร่ายรำ ลิง ค่าง ชะนีต่างร้องระงมกลางพงไพร ทว่าหัวใจของทุกคนกลับสงบลง ราวกับ ‘มนุษย์’ และ ‘ธรรมชาติ’ ได้เชื่อมโยงเข้าหากันอีกครั้ง

กิจกรรม ‘Parkใจ อาบป่า อ่านใจ เข้าใจธรรมชาติ เข้าใจตัวเอง’ ครั้งนี้จัดขึ้นท่ามกลางธรรมชาติอันเขียวชอุ่มในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว-ทุ่งกะมัง โดยใช้เวลากว่า 4 วัน 3 คืน ให้ร่างกายได้โอบรับพลังงานดีๆ จากป่า ส่วนหัวใจได้รับการโอบอุ้มความสุข พร้อมเข้าถึงสายสัมพันธ์ของธรรมชาติผ่านการอาบป่า

ทั้งนี้ตลอดกิจกรรม ผู้เข้าร่วมยังได้รับความรู้และความสนุกสนาน จากวิทยากรทั้ง 5 คน ที่พร้อมให้ความรู้ในเรื่องธรรมชาติและเติมเต็มคำตอบช่องว่างของหัวใจผ่านกิจกรรมมากมายในป่าใหญ่

เริ่มด้วยการบรรยายและทำความรู้จักพื้นที่กับ อาเฌอ ประสิทธิ์ คำอุด

เจ้าหน้าที่ฝ่ายส่งเสริมและเผยแพร่การอนุรักษ์สัตว์ป่า เขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าภูเขียว ผู้รักในการถ่ายภาพธรรมชาติและสัตว์ป่า กล่าวถึงความสำคัญของพื้นที่

“ทุ่งกะมัง เป็นพื้นที่ป่าดิบเขาปนป่าสนที่สมบูรณ์ที่สุดในภาคอีสาน มีสัตว์ป่าหายากหลากหลายชนิด รวมถึงสัตว์ป่าที่คาดว่าสูญพันธ์อย่างกระซู่ นอกจากนี้ป่าภูเขียวยังเป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำชี ที่หล่อเลี้ยงชีวิตคนอีสาน”

อีกทั้งยังให้ความรู้เรื่องสัตว์ป่าพร้อมพาผู้เข้าร่วมทุกคนเข้าไปศึกษาในเส้นทางเดินป่าในธรรมชาติ เพื่อให้ร่างกายและจิตใจรวมเป็นส่วนหนึ่งกับธรรมชาติ

“เข้าป่า อาจไม่จำเป็นต้องจำชื่อของต้นไม้ หรือสัตว์ทุกชนิด เพียงแต่ขอให้รู้คุณค่าของป่า รู้ว่าต้นไม้ทุกต้นคือบ้านของสัตว์ป่า และมนุษย์ทุกคนคือส่วนหนึ่งของธรรมชาติ เท่านั้นก็เพียงพอ”

ต่อด้วยการติดเครื่องมือขยายผัสสะเพื่อสัมผัสกับธรรมชาติ โดย ต้น สุรศักดิ์ เทศขจร กระบวนกรจากโครงการ ‘Parkใจ’ ผู้เชื้อเชิญทุกคนเปิดประตูบานเล็กๆ ในหัวใจให้สัมผัสกับความสงบ พร้อมรับฟังเสียงของธรรมชาติผ่านกิจกรรมการ ‘พักใจ อาบป่า อ่านใจ ’

“เราใช้ชีวิตในเมืองที่เร่งรีบ ทุกคนดำเนินชีวิตอย่างรวดเร็ว จนบางทีอาจละเลยสิ่งสำคัญบางอย่างไป การอาบป่าช่วยให้ทุกคนได้ลองละเมียดละไมกับสิ่งตรงหน้า อยู่กับตัวเอง ให้คำตอบตัวเองอย่างช้าๆ โดยมีธรรมชาติเป็นสื่อกลาง เรามีผัสสะที่ดีมากติดตัวมาตั้งแต่เกิด เพียงแต่เราหลงลืมมันไป วันนี้เราจะช่วยให้ธรรมชาติพาผัสสะเหล่านี้กลับมาอีกครั้ง”

เริ่มจากการเปลี่ยนตาของเราให้มองได้ไกลและละเอียดยิ่งขึ้นราวกับ ‘นกฮูก’ ต่อมาคือการเดินที่แผ่วเบาดั่ง ‘หมาจิ้งจอก’ ให้เท้าของเราเป็นผู้สัมผัสกับผืนดิน ยอดหญ้า ฯลฯ ถัดมาคือการเปิดผัสสะในด้านกลิ่นและรสชาติ โดยใช้จมูกและลิ้นจดจำรับผัสสะให้ดียิ่งขึ้น สุดท้ายคือเปิดการรับรู้และการรับฟังให้เหมือนดั่ง ‘กวาง’ ผัสสะชนิดนี้เองที่สำคัญในการใช้ชีวิตในป่า เนื่องจากเวลาเข้าป่าเราจะได้ยินเสียงของสัตว์ก่อนที่จะเห็นตัวเสมอ และกวางคือสัตว์ที่เป็นสัญลักษณ์ของผู้ถูกล่า กวางจึงต้องมีเซนส์ประสาทที่ยอดเยี่ยมอยู่ตลอด โดยเฉพาะการฟังเสียงและความรู้สึกนั่นเอง

.

“เมื่อเราเริ่มเปิดผัสสะทั้งหมด เราจะเริ่มรับรู้ว่าโลกใบนี้ไม่ได้มีเราเป็นศูนย์กลาง แต่ยังมีสัตว์และพืชนานาชนิดต่างรายล้อมเรา บนพื้นมีหญ้า บนฟ้ามีเมฆ ขณะเดียวกันก็มีสัตว์นานาชนิดที่ส่งเสียงร้องทักทายตลอดเวลา เพียงแต่ในช่วงเวลาปกติเราอาจไม่เคยรับรู้เท่านั้นเอง”

ว่าน จิตรทิวัส พรประเสริฐ หนึ่งในช่างภาพสารคดีที่ไปมากด้วยประสบการณ์ในการถ่ายภาพสัตว์ป่า และยังเป็นคนที่ ‘เนิร์ด’ ในเรื่องของระบบนิเวศวิทยา หากใครได้เดินป่ากับเขา รับรองได้ว่าจะพบเจอโลกอีกใบที่เล็กจิ๋ว แต่เต็มไปด้วยสวยงามพร้อมสัมผัสกับธรรมชาติได้ละเอียดยิ่งขึ้น

“ธรรมชาติคือสิ่งมหัศจรรย์ที่สรรสร้างทุกสิ่งได้อย่างลงตัว ดูอย่างพืชในบริเวณนี้ เต็มไปด้วยพืชที่กินแมลง เนื่องจากพื้นดินในบริเวณนี้เต็มไปด้วยความเป็นกรดมีธาตุไนโตรเจนต่ำ ซึ่งธาตุเหล่านี้พืชเอาไปใช้สร้างโปรตีนได้น้อย ดังนั้นพืชพวกนี้จึงจับแมลงกินเพื่อเพิ่มธาตุอาหารให้เพียงพอกับความต้องการ”

บก.ดำ สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ บรรณาธิการบริหาร นิตยสารสารคดี ผู้คร่ำวอดในเส้นทางน้ำหมึกสายอนุรักษ์ พร้อมกับนักดูนกมือฉมังที่มาร่วมถ่ายทอดความรู้ให้กับผู้เข้าร่วม อีกทั้งในยามค่ำคืน บก.ดำ ยังได้ผันตัวเองสู่การเป็นนักสื่อสารวิทยาศาสตร์-ดาราศาสตร์ พาทุกคนเรียนรู้ในเรื่องของโลกและอวกาศ พร้อมกับการอาบแสงดาวและชมพระจันทร์ในความมืดอันอัสดง

“โลกและดวงจันทร์เป็นเพียงเศษส่วนเพียงเสี้ยวเดียวในจักรวาลอันกว้างใหญ่ ยิ่งมนุษย์ไม่ต้องพูดถึง ราวกับฝุ่นผงในอวกาศ มนุษย์มีอายุขัยเพียง 2 หมื่นกว่าวัน แต่จักรวาลอยู่มาหลายพันล้านปี ดังนั้นมนุษย์เป็นเพียงส่วนประกอบเล็กๆ ในธรรมชาติอันยิ่งใหญ่”

ปิดท้ายด้วยวิทยากรสุดสำคัญที่ขาดไปไม่ได้ มะขวัญ วิภาดา แหวนเพชร กระบวนกร ‘วิชาความสุข’ และ ‘ความสัมพันธ์’ ผู้เชิญชวนให้ทุกคนออกมาสัมผัสธรรมชาติ เพื่อให้ป่าเป็นเครื่องมือสำคัญในการเรียนรู้และเยียวยาจิตใจไปพร้อมกัน

การค้นหาตัวตนและความสุขอาจเป็นเรื่องยากสำหรับหลายคน แต่น่าแปลกใจที่มะขวัญสามารถทำกิจกรรมเพื่อให้เกิดการตกตะกอนเรื่องสำคัญของชีวิตพร้อมทั้งพาทุกคนไปพบเจอคำตอบในการดำเนินชีวิตโดยให้ธรรมชาติเป็นผู้ตอบคำถามเหล่านั้น จนหลายคนค้นพบว่าแท้จริงแล้วความสุขอาจไม่ได้อยู่ไกล เพียงเราค้นพบแก่นแท้ในจิตใจของตัวเอง พร้อมกับยืนรับทุกปัญหาด้วยรากอันมั่นคง ดั่งต้นไม้ที่ยืนทรนงกลางป่าใหญ่

“งานวิจัยชิ้นหนึ่งเปิดเผยว่าสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนเป็นโรคซึมเศร้าคือการตัดขาดจากธรรมชาติ พวกเราจึงมารวมตัวกันเพื่อฟื้นคืนสายสัมพันธ์ระหว่างตัวเรา หัวใจของเรา ให้กลับมารู้จักกับธรรมชาติอีกครั้ง”

มะขวัญยังชวนให้ทุกคนได้รู้จักกับ ‘วงกลมแห่งฤดูกาล’ ของชาวอินเดียนชาติพันธ์ุพื้นเมืองของอเมริกา ซึ่งพวกเขาใช้ชีวิตเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติมาโดยตลอด และพวกเขาอธิบายว่า อารมณ์ความรู้สึกของมนุษย์นั้นไม่ต่างจากฤดูกาลทั้ง 4 ที่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนไป ไม่มีสิ่งใดย่ำอยู่ที่เดิม โดยฤดูร้อนเปรียบดั่งวัยเด็ก เป็นอารมณ์แห่งความสดใส การค้นหาและความสนุก ต่อมาคือฤดูใบไม้ร่วง คือตัวแทนของการเติบโต และจมลงในวังวนของบางอย่างเพื่อค้นหาตัวตนที่แท้จริง จากนั้นจึงเข้าสู่ ฤดูหนาวคือการได้ไตร่ตรองชีวิตและค้นพบความหมายของการใช้ชีวิต สุดท้ายจึงเข้าสู่ วสัตฤดู ที่ดอกไม้ล้วนผลิบาน เปรียบดั่งการแบ่งปันความสุขในชีวิตและจิตใจแก่ผู้อื่น

“เมื่อใดก็ตามที่คิดว่าเรากำลังเจอความทุกข์ ขอให้รับรู้ไว้ว่าฤดูกาลในช่วงชีวิตของเรากำลังเปลี่ยนไป และวนไปมาจนในที่สุด ฤดูแห่งความสุขจะกลับมาอีกครั้ง”

สิ่งที่น่ามหัศจรรย์ที่สุดในช่วงเวลาที่ได้ทำกิจกรรม คือการได้รับพลังงานดีๆ จากสิ่งรอบตัว ไม่ว่าจะเป็นการได้นั่งท่ามกลางธรรมชาติ ได้ลองโอบกอดต้นไม้ใหญ่ เงี่ยหูฟังเสียงของพฤกษา และรับชมการเริงระบำของนกนานาชนิดๆ พร้อมรับพลังงานดีๆ จากผู้เข้าร่วมทุกคน จากที่เคยเป็นคนแปลกหน้า สู่มนุษย์ผู้โอบอุ้มชูใจให้แก่กัน แลกเปลี่ยนเรื่องราวดีๆ พร้อมเป็นผู้รับฟังซึ่งกันและกัน

“ท่ามกลางคนแปลกหน้ากว่า 15 ชีวิต แต่ทำไมรู้สึกเหมือนเป็นเซฟโซนในการพูดคุยและเยียวยาจิตใจ คงเป็นเพราะป่าที่ให้พวกเราได้ปลดปล่อยความเครียด ความกังวล ความซับซ้อนต่างๆในชีวิตลง”

“ผมเพิ่งได้เข้าใจว่า การอาบป่า ไม่ใช่แค่การเดินป่า แต่คือการนำตัวเองลงไปหยั่งลึกอยู่กับธรรมชาติ ให้เขากับเรากลายเป็นหนึ่งเดียวกันอีกครั้ง”

“ธรรมชาติคือสิ่งที่เรียบง่ายและลงตัวที่สุด แต่มนุษย์ต่างหากที่ซับซ้อน การได้เดินทางมาใช้ชีวิตกับแม่โลกและธรรมชาติทำให้ความซับซ้อนที่เคยมีหายไป และได้รับการโอบอุ้มชูใจกลับมาอีกครั้ง”

“การเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ นอกจากเป็นการเปิดใจเชื่อมโยงกับธรรมชาติอย่างลึกซึ้ง ยังเป็นการค้นพบความสุขและอ่านใจตัวเองเพื่อค้นหาคำตอบที่ขาดหายไป”

คำกล่าวเหล่านี้เป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของการค้นหาคำตอบในระหว่างการแลกเปลี่ยนและรับฟังเรื่องราวระหว่างกันท่ามกลางความสงบของผืนป่า

สุดท้ายคำตอบที่ได้จากการ อาบป่า อ่านใจ ในครั้งนี้ หลายคนคงมีคำตอบที่ไม่เหมือนกัน แต่สิ่งที่ทุกคนได้รับคือการได้เป็นพาตัวเองไปเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ และการได้รับความสุขที่ปริล้นออกมาผ่านสีหน้าและแววตาในการร่วมกิจกรรม Parkใจ อาบป่า อ่านใจ เข้าใจธรรมชาติ เข้าใจตัวเอง

2023aabpaabjai01