ทีมยุ้มเหมียว เรื่อง : ณัฐธิดา เจริญฤทธิ์
ภาพ : สันติชัย เจริญฤทธิ์

strawhat01

ฉันนอนดูหนังวันพี ภาคคนแสดง

“แล้วนายเอาหมวกนี้มาคืนฉัน เมื่อนายได้เป็นราชาโจรสลัด”

คำพูดนี้เป็นหนึ่งในฉากเรื่องวันพี ขณะชายโจรสลัดชื่อ “แชงค์” มอบหมวกฟางที่เขาใส่ประจำให้กับ  “ลูฟี่”

ลูฟี่เป็นเด็กชายที่เห็นการปรากฏตัวของแชงค์ที่หมู่บ้านของเขา แชงค์เป็นโจรสลัดใจดี ชอบช่วยเหลือผู้คน สิ่งนี้ทำให้ลูฟี่อยากออกเรือไปกับกลุ่มโจรสลัดของแชงค์ ทว่าลูฟี่เด็กเกินกว่าจะเผชิญอันตรายในท้องทะเล เขาจึงไม่ได้รับอนุญาตให้ร่วมทาง และ บ่อยครั้งลูฟี่มักพูดกับผู้คนที่ผ่านมาว่า 

“วันหนึ่งฉันจะเป็นราชาโจรสลัด”

หลายคนเมื่อได้ยินประโยคนี้ก็หัวเราะ ไม่เชื่อในสิ่งที่เขาพูด มีแต่แชงค์ที่เชื่อและมองเห็นความตั้งใจแน่วแน่ของเขา จึงมอบหมวกฟางให้ลูฟี่ก่อนที่พวกเขาจะเดินทางไกล 

เมื่อฉากนี้จบลง ฉันกดหยุดเครื่องเล่นหนังไปชั่วขณะ และตอนนั้นเองน้ำตาก็พลันไหลริน เพราะฉันมีแชงค์อยู่ในชีวิตจริง เธอชื่อครูเดียร์ชนนิกานต์ เพรชประสิทธิ์ เป็นครูสอนภาษาอังกฤษของฉัน เราเจอกันเมื่อ ๔ ปีก่อน และเธอเป็นคนที่เชื่อมั่นในตัวฉันเสมอ ทุกๆ ครั้งที่ฉันบอกความฝัน ไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ให้ฟัง เธอมักมีคำพูดติดปาก ว่า

“น้องแนนทำได้ น้องแนนทำได้อยู่แล้ว ทำได้สิ”

ครูเดียร์ หญิงวัย ๓๗ ปี คนจังหวัดตรัง เธอเป็นผู้หญิงยิ้มสวย ยิ้มกว้าง และจริงใจ ผมยาวเป็นลอนรับกับใบหน้าที่ยิ้มแย้มใจดี

ตลอดระยะเวลากว่า ๔ ปีที่เรารู้จักกัน ฉันเห็นเธอเป็นแบบอย่างของผู้หญิงที่มีความสุข เป็นคนมอบพลังบวกแก่คนรอบข้างเสมอ เธอใช้ชีวิตในแบบที่อยากใช้ มีความสุขอยู่รอบๆ ตัว จนทำให้ฉันสงสัยว่า สิ่งใดที่หล่อหลอมให้เธอเป็นเธอในทุกวันนี้ และแน่นอนมีคนหนึ่งที่ฉันคิดว่ามีอิทธิพลและเป็นส่วนสำคัญนั่นคือ “ยายต๋อม” คุณแม่วัย ๖๗ ของเธอ

strawhat02

ยายต๋อม แชงค์ในชีวิตจริงคนแรกของครูเดียร์ 

เวลา ๑๑ โมงเช้า ฉันมีโอกาสได้พบยายต๋อม คุณยายแต่งตัวสวยจนฉันสัมผัสถึงความตั้งใจรอพบกันของเรา แก้วน้ำและถาดผลไม้วางอยู่บนโต๊ะ แสดงการใส่ใจพร้อมต้อนรับ ฉันขอให้คุณยายเล่าถึงลูกๆ ให้ฟัง 

“ยายมีลูกสาวสามคน ถ้าจะเจาะแต่น้องเดียร์ เขาเป็นเด็กอารมณ์ดี ร่าเริง ไม่ค่อยเจ็บป่วย” 

ครูเดียร์เป็นลูกคนสุดท้องที่แก่นๆ แมนๆ มีความมั่นใจ กล้าแสดงออก ส่วนพี่สาวคนโตเป็นคนค่อนข้างเงียบ เรียบร้อย และพี่คนกลางเป็นคนมีระเบียบ จัดการสิ่งต่างๆ ได้ดี ทุกๆ วันหลังเลิกเรียน เด็กทั้งสามจะไปรวมตัวที่ร้านอาหารของยายต๋อม ซึ่งที่ร้านมีนักร้อง หลายครั้งครูเดียร์ก็ขอขึ้นไปร้องเพลง แม้วันนั้นจะมีลูกค้ามากหรือน้อย เธอก็ไม่เคอะเขิน และเมื่อร้องเพลงจบ เธอจะได้รับเสียงปรบมือและมีไข่ดาวของโปรดวางบนโต๊ะเพื่อเป็นของรางวัลเสมอ

strawhat03

เขาอยากเป็นอะไรก็ให้เขาเป็น

“คุณยายกังวลไหมคะที่ลูกแต่ละคนมีความชอบต่างกัน คนหนึ่งทำงานศิลปะ คนหนึ่งขายเค้ก และครูเดียร์ ทำงานอิสระเกี่ยวกับภาษา ซึ่งไม่เหมือนคุณยายที่เคยรับข้าราชการ”

คำตอบของยายต๋อมทำฉันพยักหน้าเห็นด้วย

“ยายไม่ได้ฟิก (fix) เลยว่าลูกจะเป็นอะไร ในความรู้สึกที่ยายเลี้ยงลูก เขาอยากเป็นอะไรก็ให้เขาเป็น อยากทำอะไรก็ให้เขาทำ และการได้ทำได้เลือกด้วยตนเอง เขาน่าจะมีความสุข”

ฉันค้นพบว่า คุณยายเลี้ยงลูกให้มีความภูมิใจในตนเอง (self-esteem) เพราะคุณยายสื่อสารเชิงบวกกับลูก ไม่ว่าจะเป็นการพูดชมเชย หรืออยู่ข้างๆ ให้กำลังใจ นอกจากนี้ยังเสริมสร้างจุดแข็ง ซึ่งเห็นได้จากที่่ครูเดียร์เป็นคนชอบภาษาอังกฤษมาก และเดินมาบอกคุณยายว่าอยากเรียนพิเศษภาษาอังกฤษ คุณยายก็พร้อมสนับสนุน และยังเปิดโอกาสให้ลูกลองทำสิ่งใหม่ โดยอนุญาตให้ครูเดียร์ไปเรียนต่อต่างประเทศที่ประเทศฟินแลนด์เมื่อสอบชิงทุน AFS สำเร็จ

strawhat04

หมวกฟางจากฟินแลนด์

สาวน้อยวัย ๑๖ ปี มุ่งมั่นสอบชิงทุนเพื่อไปเรียนรู้วัฒนธรรมที่แตกต่างและใช้ชีวิตในต่างแดน ความพยายามของเธอไม่สูญเปล่า เธอได้รับคัดเลือกเป็นนักเรียนทุน AFS ซึ่งประเทศที่เธอเลือกมีประชากรประมาณ ๕ ล้านคน มีทะเลสาบและเกาะจำนวนมาก พื้นที่ส่วนใหญ่ปกคลุมด้วยป่าสน ภูมิอากาศหนาวเย็น นั่นก็คือประเทศฟินแลนด์ เธอเป็นคนเอเชียคนแรกที่ไปอยู่หมู่บ้านนั้น เธอพบครอบครัวน่ารัก ได้เรียนโรงเรียนใกล้บ้าน สิ่งหนึ่งที่ครูและผู้อำนวยการโรงเรียนทำคือ นำวิชาเรียนที่เปิดสอนมาให้ดู และให้สิทธิ์เธอเลือกเรียนตามต้องการ

โรงเรียนที่ดีที่สุดของฟินแลนด์ ไม่ใช่โรงเรียนใหญ่ใจกลางเมือง ทว่าเป็นโรงเรียนใกล้บ้านที่สุด ระบบและมุมมองแบบฟินแลนด์เปิดโอกาสให้คนมีสิทธิ์เลือกเป็นตัวเอง และเริ่มต้นใหม่ได้เสมอ

หมวกฟางอีกใบที่เธอได้รับอาจมาจากบุคคล ครอบครัว ผู้พบเจอ หรือรวมถึงระบบการจัดการของภาครัฐ ที่ส่งเสริมให้มนุษย์มีความเชื่อว่า ทุกอย่างเป็นไปได้ ถ้าเกิดจากความต้องการของเรา และเราพร้อมจะลงมือทำ

strawhat05

ประมาณ ๑๕ ปีก่อน

หลังจากครูเดียร์เรียนจบคณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เธอมีความฝันและพยายามสอบชิงทุน Erasmus Mundus เพื่อเรียนต่อปริญญาโท โดยทุนนี้เป็นการแลกเปลี่ยนระหว่างนักเรียนในทวีปยุโรปกับมหาวิทยาลัยอื่นๆ ทั่วโลก

การเขียนขอทุนรอบแรกไม่เป็นผล แต่เธอไม่ย่อท้อ กลับมาทบทวนและวางแผนเพิ่มในสิ่งที่ตนเองยังทำไม่ดีพอ และพยายามใหม่อีกครั้ง ในที่สุดก็ได้รับคัดเลือก

เธอเป็นคนไทยคนเดียวในรุ่นที่เข้าศึกษาต่อ European Master in Tourism Management by University of Southern Denmark, University of Girona ระหว่างเรียนเธอมีความสุขกับการใช้ชีวิตในแบบที่ต้องการ ครั้งหนึ่งในวันเกิดของครูเดียร์ เธอชวนเพื่อนๆ มาร่วมกินอาหารที่บ้านพัก มีการทำอาหารไทยและอาหารหลากหลายชาติที่เพื่อนๆ นักเรียนทุนตั้งใจเตรียมและปรุง แม้ครูเดียร์จะนำเงินเก็บมาทำอาหารเลี้ยงเพื่อนๆ แต่สิ่งที่ได้รับคือรอยยิ้ม เสียงหัวเราะ และความทรงจำดีๆ ที่เธอรู้สึกว่าคุ้มค่าที่สุด

ทุน Erasmus Mundus จะต้องมีการย้ายไปอยู่ประเทศต่างๆ ทั้งหมดสี่ประเทศ และเมื่อทุกคนรู้ว่าเธอจะไปรีโอเดจาเนโร ก็เป็นห่วง เพราะเมืองนี้ได้ชื่อว่าเป็นเมืองอันตรายมาก มีทั้งขโมย ฆาตกรรมอาชญากรรม ข่มขืน อีกทั้งบราซิลยังเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูง

แต่เธอมองว่า “ทุกที่บนโลกเป็นได้ทั้งที่อันตรายที่สุดและที่ปลอดภัยที่สุด ถ้าคนอื่นอยู่ได้ เราก็น่าจะอยู่ได้” นี่คือความคิดของเธอ

เธอเป็นครูอาสาให้กับองค์กร SER Alzira de Aleluia ใน Vidigal Favela คำว่า favela หมายถึง สลัม ซึ่งมีกระจัดกระจายทั่วรีโอเดจาเนโร เป็นความฝันของเธอที่ได้ทำงานอาสาครบทุกทวีป ทั้งในประเทศไม่พัฒนาหรือกำลังพัฒนา

เธออยากให้โอกาสคนที่ไม่มีโอกาส อยากลองใช้ชีวิตในประเทศที่คนส่วนใหญ่บอกว่ายากจนและเหลื่อมล้ำมาก เพื่อรู้ว่าเขาเหล่านั้นอยู่กันอย่างไร คิดอย่างไร มีความสุขและทุกข์ด้วยเหตุใด

เรื่องแรกที่เธอเรียนรู้ คือ “มีมาก มีน้อย ก็สุขได้ หากเราพอใจในสิ่งที่มี”

เรื่องที่ ๒ “คนที่มีน้อยที่สุด อาจเป็นผู้ให้ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเช่นกัน”

แม้คนที่ favela จะฐานะไม่ค่อยดี แต่ทุกครั้งที่เธอกลับที่พักก็ไม่เคยหิวเลย เพราะเมื่อเธอเดินไปซื้อของเจอคนกำลังทำบาบีคิว เขาก็อยากแบ่งปัน คนที่นั่นใจดีกับเธอมาก มักช่วยเหลือในสิ่งที่ช่วยได้เสมอ

เรื่องสุดท้าย คือ “ความสุขอยู่ที่ใจ” เพราะตลอด ๒ เดือนในรีโอเดจาเนโร เธอมีความสุขทุกวัน สุขที่ไม่ได้คาดหวัง สุขที่เกิดจากสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่ทั้งได้ให้และได้รับ เธอค้นพบตัวเอง ได้ทำสิ่งที่อยากทำมานาน ได้พัฒนาจิตวิญญาณ ได้รับพลังดีๆ จากที่อยู่ ผู้คน และโลกใบนี้

strawhat06
strawhat07

ยายภูมิใจในตัวลูกๆ ทุกคน

หลังจากยายต๋อมตอบคำถามฉันเกี่ยวกับเรื่องของครูเดียร์ ฉันจำได้ประโยคหนึ่งที่คุณยายพูดไปยิ้มไปคือ “ยายภูมิใจในตัวลูกๆ ทุกคน” ฉันเองก็ภูมิใจและดีใจที่รู้จักครูเดียร์

ก่อนลากลับ ฉันยกมือไหว้และขอกอดยายต๋อม อ้อมกอดคุณยายเหมือนพลังที่ส่งต่อความเชื่อมั่นในตัวเอง เต็มไปด้วยความอบอุ่นและเมตตา

เมื่อออกจากบ้านคุณยายฉันชวนครูเดียร์ย้อนเวลากลับไปร้านกาแฟร้านแรกที่เราบังเอิญพบกัน ซึ่งวันนี้ฉันพูดภาษาอังกฤษได้อย่างใจต้องการได้ใช้ชีวิตในแบบที่อยากใช้ หากไร้การพบกันวันนั้น ฉันคงไม่ได้เจอครูเดียร์ และเราคงไม่ได้ให้และรับหมวกฟางใบนี้

“คงดีไม่น้อยที่เราได้รับและมอบความสุขความเชื่อมั่นให้กันและกัน”

ครูอาสา #ครอบครัว #ยาย #วันพีซ #สุขหมุนรอบตัวเรา #ค่ายนักเล่าความสุข #มูลนิธิเล็กประไพวิริยะพันธุ์ #นิตยสารสารคดี #เพจความสุขประเทศไทย #สสส