ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล : เรื่องและภาพ

นัยสำคัญประการหนึ่งของการเข้าสู่ “สังคมผู้สูงวัย” (Aging Society) คือการลดลงของขนาดกำลังแรงงาน

ปัจจุบันประเทศไทยมีประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่า 11.63 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 17.57 ของประชากรทั้งหมด สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดการณ์ว่าประชากรวัยทำงานของไทยจะมีแนวโน้มลดลงจาก 43.26 ล้านคนในปี 2563 เหลือ 36.5 ล้านคนในปี 2583

ในอนาคตภายภาคหน้า การก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยแบบสมบูรณ์ (Aged Society) จะกระทบพัฒนาการทางเศรษฐกิจที่ยังต้องพึ่งพากำลังแรงงาน โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการ งานดูแลผู้สูงอายุ

.

ในช่วงยี่สิบปีที่ผ่านมา แรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านกลายเป็นทรัพยากรสำคัญที่ทำให้ระบบเศรษฐกิจไทยเจริญเติบโต จากข้อมูลของสำนักบริหารแรงงานต่างด้าวในเดือนมิถุนายน 2566 มีคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตทำงานทั่วราชอาณาจักรจำนวน 2,745,223 คน เฉพาะแรงงานจากประเทศกัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม มีจำนวนรวมกันมากกว่า 2.49 ล้านคน แรงงานเหล่านี้เข้ามาทำงานในภาคการผลิต อาทิ กิจการก่อสร้าง เกษตรและปศุสัตว์ กิจการต่อเนื่องจากการเกษตร อุตสาหกรรมเสื้อผ้า อุตสาหกรรมอาหาร งานขายส่งและงานขายปลีก งานรับใช้ในบ้าน ฯลฯ
สาเหตุที่ทำให้การใช้แรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านกลายเป็นหนึ่งในทางเลือกสำคัญ ส่วนหนึ่งเกิดจากการบริหารจัดการการทำงานของแรงงานข้ามชาติที่เป็นไปอย่างเป็นระบบมากขึ้น

.

ความพยายามจัดการประชากรเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุปรากฎชัดเจนผ่านการกำหนดกฎหมายและนโยบายหลายส่วน ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขปัญหาสถานะบุคคลให้แก่ชนกลุ่มน้อยและผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียนในประเทศไทยจำนวนมากกว่าแสนคน ให้มีสถานะเป็นคนเข้าเมืองที่ถูกต้อง มีถิ่นที่อยู่อาศัยถาวรในประเทศไทย และมีสัญชาติไทยตามกฎหมาย หรือการพัฒนาสถานะของเด็กที่พ่อแม่ไม่มีสัญชาติไทยและเกิดในประเทศไทยทุกคนให้มีสิทธิอยู่อาศัยในประเทศไทย สามารถยื่นขอสัญชาติไทยในอนาคต หากจบการศึกษาระดับปริญญาตรี อาศัยกฎหมายคนเข้าเมืองและกฎหมายสัญชาติมาเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาแนวทางดังกล่าว นอกจากนั้นแล้วประเทศไทยยังใช้กฎหมายคนเข้าเมืองและกฎหมายการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว กำหนดเงื่อนไขในการดึงนักลงทุนและแรงงานทักษะสูงให้เข้ามาทำงานในประเทศไทยในระยะเวลายาวๆ เพื่อหวังกระตุ้นการลงทุน

อย่างไรก็ตาม การขาดแผนกำลังแรงงาน แผนพัฒนากลุ่มแรงงานที่มีทักษะ และกลุ่มแรงงานที่รอการพัฒนาทักษะในสังคมผู้สูงอายุ ยังคงเป็นโจทย์ท้าทายสำคัญของประเทศไทย

.

การบริหารจัดการประชากรเพื่อรองรับสังคมสูงอายุ ในทางเลือกสำหรับการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนกำลังแรงงาน และสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว การดึงกำลังแรงงานเข้ามาในระบบเป็นทางเลือกที่จำเป็นอย่างหนึ่ง การบูรณาการประชากรอย่างมียุทธศาสตร์จึงมีความจำเป็นสำหรับประเทศไทย ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐบาลและสังคมไทยควรให้ความสำคัญ กำหนดยุทธศาสตร์ที่ครอบคลุมทั้งการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติ การสร้างการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติ การเกิดสภาวะแวดล้อมของการอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรม รวมทั้งการบูรณาการทางสังคมของคนข้ามชาติและคนไม่มีสัญชาติไทยในประเทศไทยอย่างจริงจังเพื่อรองรับผลกระทบจากสังคมผู้สูงวัยที่กำลังจะเกิดขึ้น

.

เนื่องในวันผู้ย้ายถิ่นสากล (International Migrants Day 2023) ที่มุ่งหวังรณรงค์ให้เห็นถึงความสำคัญของแรงงานข้ามชาติและผู้ติดตามที่เป็นบุคคลในครอบครัว ต้องทำงานและย้ายถิ่นฐาน ซึ่งกระจายตัวอยู่ทั่วโลกได้รับการคุ้มครองตามหลักสิทธิมนุษยชนและสิทธิแรงงาน เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ นำโดยมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (HRDF : Human Rights and Development Foundation) จึงจัดกิจกรรมอันเนื่องในวันผู้ย้ายถิ่นสากล เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2566 เพื่อสื่อสารถึงผู้กำหนดนโยบายการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติรองรับสภาวะสังคมผู้สูงวัย

ภายในงานมีกิจกรรมการแสดงของกลุ่มเยาวชนลูกหลานผู้ย้ายถิ่น ทานอาหารพื้นถิ่น จิบชาพม่า ฉายหนังสั้น เปิดพื้นที่รับฟังเสียงผู้ย้ายถิ่นฐาน รวมถึงเสวนาหัวข้อ “แรงงานข้ามชาติกับสังคมผู้สูงวัย : การจ้างงาน สิทธิ สวัสดิการ” ณ ห้องอเนกประสงค์ ชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

International Migrants Day 2023 แรงงานข้ามชาติในสังคมผู้สูงวัย

“ข้ามความเป็นชาติ ก็อาจเห็นทางออก”

รศ.ดร.ธีรนงค์ สกุลศรี
สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล

อยากให้กำลังใจทุกฝ่าย ทุกท่านก็ทราบว่าประเทศเรามีปัญหามาก เร่งด่วนไปหมด ไม่ได้ถูกใจทุกเรื่อง ก็อยากให้อยู่ร่วมกันได้ ประเด็นที่อยากให้คิดคือถ้าต้องการแก้ปัญหาเรื่องแรงงานจริงๆ เหมือนเป็นความฝัน ความหวังนิดหนึ่งคือ ข้ามความเป็นชาติ ก็อาจเห็นทางออก นโยบายสวัสดิการ การเตรียมความพร้อมสูงอายุ ก็อยากให้ดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม

olderlabor02

“ปฏิเสธไม่ได้ว่าเราต้องนำเข้าแรงงานอีกเยอะในอนาคต”

วรรณวิภา ไม้สน
รองประธานคณะกรรมาธิการการสวัสดิการสังคม สภาผู้แทนราษฎร

ไม่ว่าจะเป็นแรงงานในประเทศหรือแรงงานข้ามชาติ ต้องยอมรับว่าไทยมีปัญหาหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการจัดสรรงบประมาณ ความซ้ำซ้อนของกระทรวงต่างๆ การจัดสวัสดิการให้คนไทยยังมีหน่วยงานและคนที่ตกหล่นเยอะมาก

สิ่งที่ฝ่ายบริหารหรือพวกเราทำได้ทันที คือการบังคับใช้กฎหมายปัจจุบันอย่างจริงจัง ไม่ว่าแรงงานไทยหรือแรงงานข้ามชาติ ทุกวันนี้ยังไม่รู้เลยว่าตนมีสิทธิอะไรบ้าง นายจ้างก็ไม่รู้เลยว่าที่ทำไปถูกกฎหมายหรือเปล่า สิ่งเหล่านี้ทำได้ทันที ไม่เปลืองงบ

หากมีเรื่องไหนแก้ปัญหาในเชิงโครงสร้าง การแก้กฎหมาย ถ้ากฎหมายนั้นเป็นประโยชน์ต่อประชาชน เราไม่มีทางตีตก ดิฉันพร้อมจะช่วย เราถือว่าเรื่องนี้เป็นประโยชน์ ยินดีจับมือร่วมกับรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาในเรื่องแรงงาน

ที่ผ่านมาได้แต่พร่ำพูดว่าเราอยู่ในสังคมสูงวัย อนาคตจะขาดแคลนแรงงาน ปีล่าสุดมีคนตายมากกว่าคนเกิด แต่ก็ยังไม่เห็นนโยบายหรือแผนที่จะทำอะไรชัดเจน แค่บังคับใช้กฎหมายก็ยังไม่ชัด

ฝ่ายบริหารต้องคิดระยะยาว ปฏิเสธไม่ได้ว่าเราต้องนำเข้าแรงงานอีกเยอะในอนาคต ปัจจุบันนี้ยังขาดแคลนอยู่เลย เรามีธุรกิจประมงใหญ่เป็นอันดับต้นๆ ของโลก แต่ทุกวันนี้เรือจอด วิ่งได้ครบทุกลำหรือยัง เพราะไม่มีแรงงานทำ ถ้าเศรษฐกิจมันจะก้าวหน้า มองภาพกว้างๆ มองอนาคต ดิฉันเชื่อว่าทุกปัญหาแก้ไขได้

olderlabor03

“พวกเราย้ายถิ่นมาไม่ได้ต้องการแย่งชิงอะไร”

ซอหยิ่น
แรงงานข้ามชาติ กลุ่มคนงานหญิงเพื่อความยุติธรรม

ในฐานะแรงงานข้ามชาติและเป็นแกนนำกลุ่มคนงานหญิงเพื่อความยุติธรรม อยากฝากถึงรัฐบาลว่า พวกเราย้ายถิ่นมาไม่ได้ต้องการแย่งชิงอะไร เราต้องการมีชีวิตที่ดีขึ้นเท่านั้น

ทุกวันนี้ค้าจ้างขั้นต่ำในเชียงใหม่ 340 บาท เราเองได้วันละ 300 บาท คุณภาพชีวิตของครอบครัวและเด็กๆ จะดีขึ้นได้อย่างไร มันต้องกินใช้ ค่าห้อง ค่าใช้จ่ายต่างๆ ประถมเรียนฟรี แต่มัธยมต้องจ่าย มันเป็นภาระหนักมาก ลูกแรงงานข้ามชาติจึงหลุดออกจากระบบแล้วไปกองที่ กศน. ถามว่าจะต่อปริญญาอย่างไร จะเป็นไปได้ยังไงที่จะเรียนถึงปริญญาตรี

เรื่องการขึ้นทะเบียนผู้ติดตาม รัฐบาลเคยเปิดให้ลงทะเบียนผู้ติดตามแค่ครั้งเดียว เราก็พาลูกไปขึ้นทะเบียนในปีนั้น แต่ปีต่อมาคุณไม่มีประกาศ เราก็ไม่รู้ว่าต้องพาลูกไปอีก ลูกหลานแรงงานใช้เลขผู้ติดตามตั้งแต่อนุบาล ยันตอนนี้ลูกหลานเราถึง ม.3 ม.6 ไปต่อไม่ได้ เพราะเลข 13 หลักหมดอายุ เรื่องนี้เป็นปัญหามาก วอนให้เจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องช่วยดูแลเรื่องลูกแรงงาน ลูกหลานของเราทั้งที่เกิดในประเทศไทยและติดมาจากประเทศต้นทาง มี 4 เงื่อนไขที่ลูกหลานแรงงานจะได้สัญชาติไทย

เราอยากมีสวัสดิการดีๆ อยากเข้าประกันสังคม เรามีลูกก็จะได้เงินสงเคราะห์บุตร แต่ลูกจ้างทำงานบ้าน ลูกจ้างเกษตรไม่ต่อเนื่องยังไม่ให้เข้าสู่ระบบ อยากทราบว่าจะมีอะไรมาดูแลพวกเรา นายจ้างเรามีภาระหลายด้าน เขามีอารมณ์ มีการเลิกจ้างเป็นช่วงๆ ประวัติเราก็ไม่ต่อเนื่อง ฝากไว้ด้วยค่ะ การกำหนดการทำงานที่ชัดเจน มีสวัสดิการ การล่วงละเมิดทางเพศ ขอให้มีกฎหมายที่น่ารักๆ ออกมาค่ะ”

olderlabor04

“ปัญหาไม่ได้มีเฉพาะแรงงานข้ามชาติ แต่มีกับแรงงานไทยด้วย”

สมชาย หอมลออ
ประธานกรรมการมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา

ที่แรงงานข้ามชาติถูกเอารัดเอาเปรียบมาก เพราะเขาตกอยู่ในสถานะผิดกฎหมาย รัฐบาลมีนโยบายให้ลงทะเบียนก็ช่วยได้เยอะ แต่การต่อวีซ่า และขอใบอนุญาตทำงานมีความซับซ้อน และทำให้แรงงานจำนวนมากตกอยู่ในสถานะผิดกฎหมาย ต้องเสียค่าใช้จ่าย มีความล่าช้า ต้องแก้ไขปัญหานี้เป็นเบื้องต้น เมื่อแรงงานมีสถานะถูกกฎหมายก็จะได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายดีขึ้น

การอาศัยเจ้าหน้าที่ และองค์กรภาคประชาสังคมเป็นหูตาให้นายจ้างปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเดียวไม่เพียงพอ ต้องทำให้แรงงานคุ้มครองตัวเองได้

ความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างนายจ้างลูกจ้าง มันต่างกันมาก นายจ้างมีอิทธิพล การจัดตั้งเป็นสหภาพแรงงานสำคัญมาก ปัญหาไม่ได้มีเฉพาะแรงงานข้ามชาติ แต่มีกับแรงงานไทยด้วย ไม่ได้รับความสะดวกในการจัดตั้ง ไม่ได้รับการคุ้มครอง ต้องแก้กฎหมายแรงงานสัมพันธ์ให้เป็นไปตามหลักองค์การแรงงานระหว่างประเทศ เพื่อให้เขาได้รับการคุ้มครองจริงๆ เขาจึงสามารถปกป้องและสิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบการเจรจาต่อรองร่วม แรงงานต้องรวมพลังกันถึงจะมีพลังไปต่อรองเจรจา และเจรจาต่อรองนอกองค์กรได้ด้วย กับรัฐบาล เพื่อให้คุ้มครองสวัสดิภาพแรงงาน

ทั้งแรงงานข้ามชาติและแรงงานไทย รวมไปถึงคนยากจน มีปัญหาในการออกเสียง โครงสร้างต้องปฏิรูป ต้องกระจายอำนาจ ปฏิรูปเศรษฐกิจ การรวมตัวกันจะทำให้เสียงของพวกเขาได้รับฟังจากรัฐบาล ทั้งจากท้องถิ่นและส่วนกลาง ต้องยอมรับว่าแรงงานข้ามชาติไม่มีโอกาสส่งเสียงเลย นี่เป็นคำถามตัวโตว่ารัฐบาลได้ฟังเสียงคนอื่นๆ หรือยัง