เรื่อง : กนกวรรณ เพ็ชรโป๊ะ
ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช
และนุชจรี โพธิ์นิยม

มุ่งสู่พิพิธภัณฑ์พระรามเก้า องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ คลองห้า (อพวช.)ปทุมธานี ณ ห้องจัดแสดงนิทรรศการชั่วคราว ชั้น 1

ป้ายสีดำตรงทางเข้าปรากฏข้อความ “สู่สูญพันธุ์ (On the Edge of EXTinction)” นิทรรศการที่บอกเล่าเรื่องราวของสิ่งมีชีวิตที่ “สูญพันธุ์” ไปแล้วและ “กำลัง” จะสูญพันธุ์

saman9

พ้นประตูเข้าไปจึงพบ “เสือโคร่ง” ประดับข้อความ “สุดท้าย ก็สูญพันธุ์” กระตุกให้ขบคิดถึงบางสิ่ง ตอกย้ำด้วยข้อมูล “สถานภาพของสิ่งมีชีวิต” ที่สูญพันธุ์ ใกล้สูญพันธุ์ ใกล้ถูกคุกคาม และข้อมูลที่ยังไม่เพียงพอต่อการประเมิน

saman6
ภาพจากพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา natural history museum
samanf

สิ่งสะดุดตา คือรูปปั้น “สมัน” สีขาว ทั้งยังยกสูงจากพื้นตระหง่านท่ามกลางสัตว์สตัฟฟ์อื่น ๆ โดยมี “เขาสมันกิ่งข้างซ้าย” ของจริงเคียงคู่เขาปลอม เช่นเดียวกับลำตัวและปรากฏข้อความสีแดง “สูญพันธุ์”

สิ่งสะดุดตา คือรูปปั้น “สมัน” สีขาว ทั้งยังยกสูงจากพื้นตระหง่านท่ามกลางสัตว์สตัฟฟ์อื่น ๆ โดยมี “เขาสมันกิ่งข้างซ้าย” ของจริงเคียงคู่เขาปลอม เช่นเดียวกับลำตัวและปรากฏข้อความสีแดง “สูญพันธุ์”

สมันเป็นสัตว์ป่าที่ได้รับการกล่าวไว้ในวรรณคดีไทยมาแต่โบราณ เช่นในสมัยอยุธยา ปรากฏในกาพย์ห่อโคลงประพาสธารทองแดงของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศไชยเชษฐ์สุริยวงศ์ (เจ้าฟ้ากุ้ง) หรือในสมัยรัตนโกสินทร์ บทละครเรื่องรามเกียรติ์ พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1) นอกจากนี้ยังปรากฏอยู่ในเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน บทละครเรื่องอภัยนุราช โดยสุนทรภู่ และลิลิตตะเลงพ่าย โดยกรมพระปรมานุชิตชิโนรสอีกด้วย

สมันเป็นสัตว์ประจำพื้นที่ลุ่มภาคกลาง และสูญพันธุ์จากโลกนี้ไปแล้ว ด้วยระยะเวลาไม่ถึง 100 ปี ด้วยความงดงามของมันที่มีเขาแตกกิ่งก้านมากมายจนเด่นสะดุดตาในทุ่งโล่ง จึงได้ชื่อว่าเป็นกวางที่มีเขางามที่สุดในโลก แต่การปรับเปลี่ยนพื้นที่เพื่อรองรับการผลิตข้าวของประเทศไทยได้แปรสภาพป่ารกร้างเป็นนาข้าว มีการขุดคลองเพื่อการคมนาคมและชลประทาน ชุมชนเริ่มเพิ่มมากขึ้นจนรุกล้ำพื้นที่อยู่อาศัย รวมถึงการล่าอย่างต่อเนื่อง เพราะมีคำเล่าลือกันว่าสมันนั้นมีรสดี ทำให้สัตว์ประจำทุ่งกลายเป็นสัตว์หายากในปลายศตวรรษที่ 19

วัชระ สงวนสมบัติ ผู้อำนวยการศูนย์บริหารคลังตัวอย่างทางธรรมชาติวิทยาและสัตว์สตัฟฟ์ ได้ให้ข้อมูลว่า

“คนไทยรู้จักสมันมาตั้งแต่สมัยโบร่ำโบราณ เมนูต่าง ๆ ในสมัยราชกาลที่ 5 อย่างตำราคู่มือแม่ครัวหัวป่าก์ ก็มีแกงสมันบันทึกไว้ แสดงว่าเมื่อก่อนไม่ได้หายาก เป็นสัตว์ตามทุ่งตามนาในที่ราบลุ่มภาคกลาง จึงง่ายต่อการถูกล่ามาทำอาหาร”

saman5

ยังมีสมันบางส่วนถูกจับส่งต่างแดน มีบันทึกว่าปี 2405-2457 มีสมันเลี้ยงอยู่ในสวนสัตว์ต่างประเทศหลายแห่ง และสามารถขยายพันธุ์สมันในที่เลี้ยงจนสำเร็จ แต่กลับไม่สามารถประคองประชากรสมันให้คงไว้ได้ตลอด

ท้ายที่สุด สมันตัวผู้ที่วิ่งปะปนอยู่กับฝูงละมั่งถูกยิงตายโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ เมื่อเดือนกันยายน ปี 2475 ที่แควน้อย จังหวัดกาญจนบุรี หลังจากนั้นจึงเหลือเพียงสมันในกรงเลี้ยง น่าเศร้าที่การเพาะพันธุ์ในกรงเลี้ยงทำไม่สำเร็จ จึงไม่อาจเพิ่มจำนวนได้อีก ปี 2481 พระยาวินิจวนันดร รับราชการในกรมป่าไม้ทราบข่าวว่าที่วัดแห่งหนึ่งในอำเภอมหาชัย จังหวัดสมุทรสาคร ได้เลี้ยงสมันเพศผู้ตัวหนึ่ง จึงพยายามติดต่อขอซื้อเพื่อจะนำมาเพาะเลี้ยง แต่ก็สายเกินไป เพียงหนึ่งวัน เมื่อชายขี้เมาคนหนึ่งมาตีสมันตัวนั้นตายเพียงเพราะมันยืนขวางทาง จากนั้นก็ไม่มีใครเคยเห็นสมันอีกเลย จึงเป็นได้ว่าสมันโชคร้ายตัวนั้นเป็นสมันตัวสุดท้ายในโลกก่อนที่ต่อมา IUCN จะประกาศว่า “สูญพันธุ์”แม้จะมีข่าวลือว่าพบสมันอีกในที่ต่าง ๆ แต่ก็ไม่มีหลักฐาน

สมันคงเหลืออยู่บนโลกเพียงแค่ เขา กระดูก กับผืนหนัง ที่เก็บรักษาเอาไว้ในพิพิธภัณฑ์ต่าง ๆ แต่ที่ยังเหลือไว้ให้ได้เห็นทั้งตัวและยืนอยู่เพียงตัวเดียวคือที่ Muséum national d’Histoire naturelle กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เป็นสมันสตัฟฟ์ที่เคยเลี้ยงไว้ที่ Jardin des Plantes และเมื่อมันตายลง “พิพิธภัณฑ์” ได้ทำหน้าที่อย่างดีในการสงวนรักษาต่อจนมีให้เห็นได้อย่างในทุกวันนี้

saman8

“จริง ๆ คนทั้งโลกได้เห็นคือตัวที่สตัฟฟ์อยู่ตัวเดียวที่ฝรั่งเศส ซึ่งเป็นสมันตัวเดียวที่มีหน้ามีตาให้คนเห็นในโลกนี้ครับ ซึ่งในประเทศไทยไม่มีโอกาสได้เห็นแล้ว เราต้องไปดูที่ฝรั่งเศส ดังนั้น อพวช.ก็เลยเตรียมพร้อมที่จะสร้างขึ้นมาใหม่เพื่อให้คนไทยได้เห็น ก็รอเวลาที่เหมาะสมครับ”

เขาสมันจำนวน 25 คู่ 21 กิ่ง ได้รับบริจาคจากนายแพทย์บุญส่ง เลขะกุล ถูกเก็บไว้เพื่อเป็นสมบัติของชาติ อีกทั้งทางพิพิธภัณฑ์ยังมีแผนการสร้างสมันขึ้นมาใหม่ด้วยการใช้เขาสมันจริงผสมกับหุ่นจำลองที่หุ้มด้วยขนกวางชนิดอื่น เพื่อให้คนไทยได้เห็นสมันตัวจริงอีกครั้งหนึ่ง

วัชระเสริมต่อ

“ตอนนี้เราเอาข้อมูลในอดีตทั้งหมดรวบรวมไว้แล้ว สมันมีสัดส่วนเท่าไหร่ หน้าตาเป็นอย่างไร แล้วเราก็ปั้นหุ่นขึ้นมา พร้อมที่จะใส่เขาจริงหนึ่งอัน ในอนาคตอาจทดลองนำ ‘กวางบาราซิงห์’ ที่เป็นสัตว์ตามที่ลุ่มของอินเดีย หน้าตา สีสัน ใกล้เคียงกับสมันมากที่สุด ซึ่งมีเลี้ยงอยู่ในสวนสัตว์ โดยนำขนหรือหนังของบาราซิงห์มาหุ้มตามสัดส่วนของสมันแล้วให้คนไทยได้เห็นสัตว์เสมือนจริงอีกครั้ง”

saman4

ยังมีสัตว์สำคัญอีกมากในนิทรรศการ “สู่สูญพันธุ์” ชวนให้ตระหนักถึงเหตุที่เป็นภัยคุกคามต่อสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย และเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ “สุดท้ายก็สูญพันธุ์” และอาจทำได้เพียงถอนหายใจเสียดายที่ลูกหลานไม่มีโอกาสเห็นตอนพวกมันมีลมหายใจ

สถานที่จัดงาน

ณ ชั้น 1 พิพิธภัณฑ์พระรามเก้า องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ หรือ NSM คลองห้า ปทุมธานี

บัตรเข้าชม

เด็ก นักเรียน อายุไม่เกิน 18 ปี เข้าฟรี
นักศึกษาปริญญาตรี อายุไม่เกิน 23 ปี (แสดงบัตร) เข้าฟรี
ผู้ใหญ่ 100 บาท
ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป (แสดงบัตร) เข้าฟรี
สมาชิก อพวช. (แสดงบัตร) เข้าฟรี

เวลาเปิดให้บริการพิพิธภัณฑ์
วันอังคาร-ศุกร์ เวลา 9.30-15.00 น. วันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา 9.30-17.00 น.
หยุดทุกวันจันทร์ สอบถามเพิ่มเติมโทร 0 2577 9999 ต่อ 2122-2123

เอกสารอ้างอิง

  • พิพิธภัณฑ์พระรามเก้า. (2566). นิทรรศการสู่สูญพันธุ์. สืบค้นเมื่อ 28 ธันวาคม 2566.
  • วิมุติ วสะหลาย. (25 สิงหาคม 2564). สมัน, เนื้อสมัน, กวางเขาสุ่ม. สืบค้นเมื่อ 28 ธันวาคม 2566. จาก http://www.verdantplanet.org/animalfiles/362/