เรื่อง : กนกวรรณ เพ็ชรโป๊ะ
ภาพ : วรวุฒิ แก่นจันทร์

ตรงหน้าคือ “สำนักงานอธิการบดีและบริหารสินทรัพย์ มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์” จังหวัดกาฬสินธุ์

เดินขึ้นบันได้เข้าไปจะปรากฏบูธต่าง ๆ ที่เป็นผลผลิตทางการเกษตรของคณาจารย์ นักศึกษา และกลุ่มอาชีพที่มาจากหลายจังหวัด แต่เรายังไม่มีโอกาสได้เดินเข้าไปดู เพราะเรามีจุดมุ่งหมายอยู่ที่ชั้น 3 ห้องพยับหมอก

หน้าทางเข้าห้อง มีเจ้าหน้าที่คอยอำนวยความสะดวกทำให้การลงทะเบียนเป็นได้อย่างราบรื่นและรวดเร็ว เมื่อเข้าไปในห้อง ทั้งซ้ายและขวาต่างแน่นขนัดไปด้วยผู้คนที่มาจากหลาย ๆ หน่วยงาน เพื่อมาเข้าร่วมการเปิดงานแลกเปลี่ยนเรียนรู้การแก้ไขปัญหาความยากจนในครั้งนี้ เมื่อหาที่นั่งและได้รับเอกสารจึงสะดุดตาข้อความ

“ความยากจนอยู่เป็นสิ่งที่อยู่คู่กับสังคมมนุษย์มาทุกยุคสมัย ประเทศไทยเองยังถูกระบุว่าเป็นประเทศในลำดับต้น ๆ ของโลกในด้านความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ทั้งยังเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อความมั่นคงและคุณภาพชีวิตของมนุษย์”

ทำให้เราทราบว่าปัญหาความยากจนยังเป็นปัญหาต้น ๆ ที่สมควรได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน

ความยากจน หนึ่งก้าวของความสำเร็จ

ก่อนเปิดงานเรายังได้รับชมวีดิทัศน์ที่แนะนำจังหวัดกาฬสินธุ์ ทั้งผลผลิตทางการเกษตร แหล่งท่องเที่ยว ศิลปวัฒนธรรม รวมถึงบทบาทหน้าที่ และผลงานของมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ ทำให้ผู้ร่วมงานได้ตื่นตาตื่นใจ และได้รู้จักจังหวัดกาฬสินธุ์มากยิ่งขึ้น

นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ประธานกรรมการบริหาร หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) กล่าวว่า

“บพท. มีการวางจุดมุ่งหมายให้สถาบันการศึกษามาเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ เนื่องจากมหาวิทยาลัยมีองค์ความรู้ที่หลากหลาย และไม่มีผลประโยชน์ซ้อนทับในพื้นที่ เป็นการประกันความยั่งยืนในการแก้ไขปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ โดยใช้โมเดลแก้ปัญหาความยากจนของประเทศจีน ทั้งนี้เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างเบ็ดเสร็จและแม่นยำ บพท. จึงดำเนินการแก้ไขปัญหาความยากจนในพื้นที่ 20 จังหวัดที่มีรายได้ครัวเรือนต่ำที่สุดจากข้อมูลดัชนีความก้าวหน้าของคนปี 2562 ได้แก่ ปัตตานี อำนาจเจริญ แม่ฮ่องสอน ชัยนาท สุรินทร์ ยโสธร ศรีสะเกษ สกลนคร มุกดาหาร กาฬสินธุ์ บุรีรัมย์ นราธิวาส อุบลราชธานี ลำปาง พัทลุง นครราชสีมา ร้อยเอ็ด พิษณุโลก เลย และยะลา”

successkalsin0012

โดยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) เป็นองค์กรที่มีหน้าที่จัดสรรทุนวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่ทั้งในระดับชุมชน ท้องถิ่น และเมือง มีวัตถุประสงค์ในการสนับสนุนให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยใช้กระบวนการวิจัยเชื่อมโยงการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ-ชุมชน-เอกชน-องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และสถาบันการศึกษา

บพท. จึงลงนามร่วมมือกับมหาวิทยาลัยกว่างซี แห่งสาธารณะรัฐประชาชนจีนเพื่อ “ขจัดความยากจนและยกระดับฐานะทางสังคม” ณ มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ เมื่อวันที่ 18 มกราคม ที่ผ่านมา นับเป็นจุดเริ่มต้นของการประสานความร่วมมือในการพัฒนาองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมในการแก้ไขปัญหาความยากจนร่วมกัน

ด้านมร.Xiao Jian Zhuang รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยกว่างซี แห่งสาธารณะรัฐประชาชนจีน กล่าวว่า

“广西大学高度重视持续‘精准助力脱贫攻坚,助力乡村振兴发展’并尝试寻找有效的方法来使用都带来了科学和技术 并培训人员全力投入开发工作。大学发挥战略支撑作用。制定成功指南组织学术培训,恢复和发展人力资源,文化,生态系统,组织等各方面的知识和能力。”

(มหาวิทยาลัยกว่างซีให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับ ‘การช่วยขจัดปัญหาความยากจนอย่างมีเป้าหมายและมีส่วนช่วยในการฟื้นฟูและพัฒนาชนบท’ มาอย่างต่อเนื่อง และพยายามมองหาวิธีการที่ได้ผลมาใช้ ทั้งการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และการฝึกอบรมบุคลากรเพื่อให้ทำงานด้านการพัฒนาได้อย่างเต็มที่ โดยมหาวิทยาลัยมีบทบาทในการให้การสนับสนุนเชิงกลยุทธ์ การกำหนดแนวทางสู่ความสำเร็จ และจัดการฝึกอบรมทางวิชาการเพื่อให้การฟื้นฟูพัฒนาด้านต่าง ๆ ทั้งความรู้ความสามารถของทรัพยากรบุคคล วัฒนธรรม ระบบนิเวศ และองค์กร)

successkalsin0102

นอกจากนี้เรายังมีโอกาสในการลงพื้นที่เพื่อศึกษาดูงานการแก้ไขปัญหาความยากจน สถานที่แรกคือในตำบลสหัสขันธ์ อำเภอสหัสขันธ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นลักษณะของการพัฒนาอาชีพ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเพาะเห็ดหรือเลี้ยงไก่ เลี้ยงปลา ในส่วนพื้นที่ที่เราได้เข้าไปเยือนเป็นการพัฒนาในเรื่องของการเพาะเห็ดฟาง

จากเดิมครัวเรือนยากจนจะไม่มีการประกอบอาชีพเป็นหลักแหล่ง แต่จะเป็นลักษณะการรับจ้างทั่วไป ซึ่งการพัฒนาอาชีพ ทางมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ได้นำนวัตกรรมเกี่ยวกับการสร้างโรงเรือนหรือการใช้กากมันสำปะหลังมาช่วยในการลดต้นทุนในการผลิตเห็ดฟาง ประกอบกับในระดับต้นน้ำหรือก็คือการพัฒนาอาชีพให้กับครัวเรือนยากจน ส่วนกลางน้ำก็คือติดต่อให้กับพ่อค้าเพื่อมารับซื้อเห็ดที่ครัวเรือนผลิตได้เพื่อไปส่งยังปลายน้ำที่เป็นตลาดใหญ่อีกทีหนึ่ง ด้วยเหตุว่าถ้าครัวเรือนนำไปขายเอง ก็จะมีค่าใช้จ่ายในเรื่องการต้องเก็บรักษา รวมถึงหาตลาดเอง การพัฒนาอาชีพในครั้งนี้จึงเป็นการช่วยส่งเสริมเกษตรกรให้ไปในทิศทางเดียวกัน เป็นความร่วมมือของมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์และหน่วยงานต่าง ๆ โดยได้รับการสนับสนุนจาก บพท. ในการเข้าไปมีส่วนช่วยให้ครัวเรือนยากจนในตำบลมีแหล่งทำกิน

นายอุทัย เก่งสาริกิจ ครัวเรือนยากจน กล่าวว่า

“ต้นกล้าท้าจนก็ช่วยเหลือได้มากเลยครับ ตอนที่ยังไม่มีอะไร อาจารย์มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ก็ได้นำเห็ดมา เราก็คิดว่ามันจะเป็นไปได้ไหม พอได้ทำจริง ๆ มันก็เป็นไปได้ แต่ก่อนเก็บของเก่าได้เดือนละ 4,000-5,000 บาท พอมาทำโรงเห็ด ทำครั้งแรกได้เงินเป็นหมื่นขึ้น ทางมหาวิทยาลัยก็ไม่ทอดทิ้ง ทางผู้นำก็คอยมาดูแล เราก็คิดว่าดีที่มีโครงการดี ๆ แบบนี้ในการช่วยเหลือครอบครัวเราได้”

ไม่เพียงเท่านี้ เราได้ไปยังตำบลโนนน้ำเกลี้ยง อำเภอสหัสขันธ์ เป็นอีกที่ที่น่าสนใจ โดยเป็นเรื่องของเตาถ่าน หากถามว่าน่าสนใจเช่นไร เนื่องด้วยปกติเวลาเผาถ่านจะมีควันออกมามากจนทำให้เป็นมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม แต่ที่นี่เป็นเตาถ่านที่มีควันน้อยมากจนแทบไม่มีเลย

อาจารย์โกศล อาจารย์มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ กล่าวว่า

“ผมได้เห็นพ่อเทพเผาถ่านแล้วควันเยอะ ก็เลยพัฒนาเตาเผาถ่านขึ้นมาเป็นเส้นผ่าศูนย์กลาง 80 เซนติเมตร จะได้ประมาณ 4 กระสอบ อีกตัวเป็นเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 เมตร จะได้ประมาณ 8-9 กระสอบ ก็มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับพ่อเทพและแม่น้อย ผมก็เอามาให้ทดลอง แล้วนำกลับไปแก้ไข จนกระทั่งทำได้สำเร็จสำหรับข้อดีของเตานี้คือควันจะน้อยมาก แต่ก็ยังใช้ฟืนในการให้ความร้อนอยู่ จะมีช่องเปิดให้บรรจุไม้เข้าไป ไม้ที่เราใส่เข้าไปถ้ามันมีความชื้นสูง หรือเราตัดแล้วใส่เข้าไปเลยก็จะเผาประมาณ 6-8 ชั่วโมง แต่ถ้าเป็นไม้มาด ๆ ตัดแล้วทิ้งไว้ ถ้ามาเผาก็แค่ 4-6 ชั่วโมง แต่ถ้าเป็นไม้ที่แห้งแล้วก็จะ 3-4 ชั่วโมง เวลาที่เตาคลายแก๊สออกมาเราก็จะใช้แก๊สในการมาเผาช่วย ฟืนก็จะใช้น้อยลงกว่าเดิม อีกส่วนหนึ่งที่ได้ก็คือน้ำส้มควันไม้”

อาจารย์โกศล เสริมอีกว่า

“หลักการก็คืออบให้ร้อน อบให้ถึงอุณหภูมิ ช่วงที่มันอบอยู่อุณหภูมิจะอยู่ที่ 300-400 ช่วงที่มันคลายแก๊สออกมาจะอยู่ที่ 500-600 องศา โดยเราจะเน้นเผาเหง้ามันซึ่งเป็นจุดเน้นของทางมหาวิทยาลัย นั่นก็คือใช้วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาทำถ่าน ข้อดีของเตาแบบนี้ หลักการก็คือใช้วิธีอบ ถ้าเอาถ่านเข้าไป 3 กระสอบ ก็จะได้ถึง 2 กระสอบกว่า ๆ หมายความว่าเตาแค่ไล่ความชื้นออกไป ไม่ได้เผาโดยตรง รูปทรงที่ออกมาก็จะเป็นรูปทรงเหมือนเดิม”

แล้วไม่ใช่แค่ครัวเรือนของพ่อเทพกับแม่น้อยเท่านั้น ยังกระจายไปสู่ชุมชน กล่าวคือ คนในชุมชนสามารถเก็บไม้ที่หล่นตามไร่นา หรือตามทาง แล้วนำมาขายทางแม่น้อยก็จะรับซื้อไว้ หรือเด็กนักเรียนที่เลิกเรียน ระหว่างทางกลับบ้านก็สามารถเก็บไม้ หรือเหง้ามันมาขาย แม่น้อยก็รับซื้อเช่นเดียวกัน เป็นการกระจายรายได้สู่ชุมชนอีกทางหนึ่ง

ทั้งนี้ การจัดพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือการแลกเปลี่ยนความรู้ด้านการแก้ไขปัญหาความยากจนระหว่างหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) แห่งราชอาณาจักรไทย กับ มหาวิทยาลัยกว่างซี แห่งสาธารณะรัฐประชาชนจีน นอกจากนำไปสู่ความร่วมมือในการพัฒนาองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมด้านการแก้ไขปัญหาความยากจนร่วมกันแล้ว ยังเป็นการเปิดพื้นที่ให้เครือข่ายมหาวิทยาลัยพัฒนาพื้นที่ใน 20 จังหวัด เครือข่ายมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) 7 สถาบัน และสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย (วว.) และกลไกภาคีในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์มีโอกาสร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างสถาบันและองค์กรที่เกี่ยวข้อง นำไปสู่การแก้ไขปัญหาความยากจนที่เบ็ดเสร็จและยั่งยืนในอนาคต

S_10690562

successkalsin562

ขอขอบคุณ: หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ที่สนับสนุนการลงพื้นที่