เรื่อง : กนกวรรณ เพ็ชรโป๊ะ
ภาพ : บันสิทธ์ บุณยะรัตเวช

พิพิธภัณฑ์บัว มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี จัดตั้งพิพิธภัณฑ์บัวขึ้นในปี 2543 ตามโครงการพระราชดำริสมเด็จพระเทพพระรัตนราชสุดา ฯ และเข้าร่วมโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชในปี 2546 เพื่อดำเนินการสำรวจเก็บรวบรวมพันธุ์บัว

หน้าทางเข้า ซ้าย-ขวาดารดาษไปด้วยดอกบัวไทย-เทศ ในจำนวนพื้นที่ 18 ไร่มีบัวมากกว่า 300 สายพันธุ์ ทางพิพิธภัณฑ์ปลูกบัวไว้ในบ่อปูนซีเมนต์ และจัดทำทางเดินเพื่อให้ผู้ที่มาเยี่ยมชมสามารถชมบัวได้อย่างใกล้ชิด

กฤษณะ กลัดแดง นักวิทยาการเกษตรปฏิบัติการ ให้ข้อมูลว่า

“บัวมี 2 ประเภท หากแบ่งตามต่างประเทศจะแบ่งได้เป็น “Lotus” และ “water lily” หากเป็นในไทยจะแบ่งเป็น “บัวหลวง” ที่อยู่ในกลุ่มบัวก้านแข็ง และ “บัวสาย” อยู่ในกลุ่มบัวก้านอ่อน”

หากมาดูอาจจะสับสน เนื่องจากทางพิพิธภัณฑ์ยังไม่มีข้อมูลในส่วนของชื่อ หรือสายพันธุ์ให้เราได้ดู เพราะบัวบางสายพันธุ์มีมูลค่าในตลาด และสุ่มเสี่ยงต่อการถูกขโมย

ตื่นตาตื่นใจในส่วนของบัว “จงกลนี” บัวส่วนมากจะโชว์ศักยภาพได้ดีในช่วงหน้าร้อน แต่จงกลนีแตกต่าง เพราะจะโชว์ศักยภาพได้ดีคือช่วงหน้าหนาว อีกทั้งยังมีถิ่นกำเนิดในไทยที่เดียว จงกลนีไม่สามารถขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ดได้ แต่จะมีการแยกหน่อย่อย พอแก่ก็นำไปแช่น้ำให้เกิดราก-ใบ แล้วนำไปปลูกก็จะได้หลายต้น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรีได้จัดให้เป็น “หนึ่งในความมหัศจรรย์ของพิพิธภัณฑ์บัว” ทว่าจงกลนียังมีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ หากปลูกในระบบนิเวศที่ไม่สมบูรณ์มันก็หุบ- ยุบตัว-แล้วตายไป ตามแหล่งน้ำธรรมชาติก็ไม่สามารถพบบัวตัวนี้ได้อีก

lotusmusuem9614

ไม่ใช่แค่ได้ชมความสวยงาม แต่หากยังได้รับความรู้เรื่องการบานและหุบของบัว โดยปกติบัวจะบานเช้า เย็นหุบ อยู่ได้ 3-4 วัน แต่ยากในส่วนของการดูแล ดอกบัวที่บานวันแรกถ้าโดนละอองน้ำ มันจะเกิดปฏิกิริยาทำให้ดอกหุบในวันนั้นเลย อีกทั้งบัวที่ปลูกในบ่อต้องเปลี่ยนดินและปลูกใหม่ทุก 6 เดือนถึง 1 ปี

lotusmusuem9543

ถัดไป-ภายในตัวอาคาร มีของที่ระลึกที่ทำจากบัวหลายอย่าง ทั้งภาพพิมพ์ลาย หรือการใช้ก้านบัวมาถักทอแทนเส้นใยของหวาย และยังมีการทำวิจัยเกี่ยวกับการนำสีของดอกบัวมาทำเป็นสีธรรมชาติที่จะใช้ในการวาดรูป ซึ่งยังอยู่ในขั้นตอนของการทำวิจัย ทั้งนี้ ยังมีเรื่องอาหาร เครื่องสำอางและยา ที่นักศึกษาในมหาวิทยาลัยเข้ามามีส่วนร่วมในการบูรณาการของพิพิธภัณฑ์บัว โดยใช้เกสร-ต้นอ่อน-เมล็ด ของบัวหลวงนำไปเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อให้เกิดแคลลัส แล้วสกัดเอาสารสำคัญไปทำเวชภัณฑ์เกี่ยวกับความงาม

อาหารก็ทำได้หลายอย่าง เช่น บัวกระด้ง บัววิกตอเรีย ก้าน-ใบ เอามาทำแกงหรือผัด เช่นเดียวกับการทานบัวสาย

กฤษณะ เสริมต่อว่า

“นวัตกรรมชนเผ่าอินทาที่อยู่ในประเทศพม่า เขาเอาเส้นใยบัวหลวงไปทอผ้า เป็นผ้าใยบัว ซึ่งราคาค่อนข้างสูงมาก เขาทำเหมือนประเพณีเข้าพรรษาบ้านเรา โดยทำผ้าชนิดนี้เพื่อถวายพระ”

คนไทยไม่นิยมนำเส้นใยบัวมาทอผ้า เพราะมีราคาค่อนข้างสูงกว่าจะได้สักผืน อีกทั้งยังมีความแข็งมาก ต้องผ่านกระบวนการหลายครั้งทำให้ไม่คุ้มต่อการลงทุน

เสน่ห์ของพิพิธภัณฑ์บัว นอกจากจะได้เห็นความหลากหลายแล้ว ยังมีคุณค่าในแง่ของการอนุรักษ์ด้วย ทั้งในประเทศไทยเองก็มีพิพิธภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับบัวอยู่ไม่กี่ที่ ในภาคกลางจะเป็นสถาบันบัวราชมงคลตะวันออก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก เป็นสถาบันแห่งแรกของทวีปเอเชียที่สามารถผสมพันธุ์บัวฝรั่งได้สำเร็จ และสามารถพัฒนาสายพันธุ์บัวขึ้นเองจนได้รับรางวัลจากการประกวดพันธุ์บัวในระดับนานาชาติจำนวนทั้งสิ้น 15 สายพันธุ์ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะเป็นอุทยานบัว แหล่งรวบรวมบัวพันธุ์ต่าง ๆ และรองรับการประชุมวิชาการบัวนานาชาติปี 2553 ที่จัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร นอกจากนี้ยังเป็นสถานที่ศึกษา ค้นคว้า ของนิสิต นักศึกษา และประชาชนทั่วไป ในส่วนของเอกชนเป็นของปางอุบล จังหวัดนนทบุรี ปางอุบลเป็นทั้งสวนบัว เป็นแหล่งเรียนรู้ เป็นพื้นที่เพาะพันธุ์และรวบรวมพันธุ์บัว รวมถึงเป็นพื้นที่สำหรับการทดลองใหม่ ๆ ที่เกี่ยวกับบัว

คนไทยโชคดี เพราะหากเป็นที่ต่างประเทศเราจะเห็นพวกที่เป็นงานสตัฟฟ์เสียส่วนใหญ่ จำพวกงานอบแห้ง แต่ถ้าเป็นเมืองไทยเราสามารถเห็นได้เองตามธรรมชาติ อีกทั้งยังเหมาะแก่การพัฒนาสายพันธุ์ ทำให้คนไทยหลายคนสามารถคว้ารางวัลจากระดับโลกมาได้

lotusmusuem9720

ไม่จำเป็นต้องเป็นนักอนุรักษ์บัว หรือนักพัฒนาสายพันธุ์ใด ๆ ก็สามารถมาดูบัว หรือชื่นชมบัว แถมยังได้รับความรู้กลับไปเต็ม ๆ อีกด้วย

ที่อยู่และเบอร์ติดต่อ

39 หมู่ 1 ถนนรังสิต-นครนายก ตำบลรังสิต อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี 12110
โทรศัพท์ : 0-2549 3043, 0-2549 3040-45
โทรสาร : 0-2577 2357, 0-2577 1150

วันและเวลาทำการ
วันจันทร์ – วันศุกร์ (หยุดวันนักขัตฤกษ์) เวลา 08.30-16.30 น.
ไม่เสียค่าเข้าชม