Bhajanam ภักติ - จากบรรณาธิการ ฉบับที่ 467

เร็วๆ นี้ อยู่ๆ ผมก็คิดถึงการฟังแผ่นเสียงซีดี ก็เลยหาเครื่องเล่นแบบพกพามาเสียบกับคอมพิวเตอร์ ค้นกล่องพลาสติกเก่ามาเปิดฝา ในนั้นผมพบแผ่นซีดีหลากหลายที่เก็บไว้นานจนจำไม่ได้ว่าเก็บอะไรไว้บ้าง

ไล่เรียงแผ่นไปเรื่อย ๆ เรียกความทรงจำที่คุ้นเคย ในท่ามกลางแผ่นวงป็อป ร็อก เร็กเก้ โฟล์ก เฮฟวีเมทัล ผมมาสะดุดใจกับแผ่นปกภาพขาวดำใบหน้าหญิงสาวเชื้อสายอินเดีย ที่แตกต่างกับปกแผ่นอื่น ๆทั้งหมด

ผมเสียบแผ่นซีดีเข้าเครื่องด้วยความรู้สึกโหยหา ความทรงจำผุดเตือนว่าเมื่อ ๓๐ ปีก่อน ผมเคยฟังเสียงเธอมาไม่รู้กี่รอบ เสียงร้องเธอเอื้อนเอ่ยทำนองคล้ายบทสวดโบราณ สะกดอารมณ์ให้อยู่ในภวังค์ของการเข้าถึงเทพเจ้าและสิ่งศักดิ์สิทธิ์  บางเพลงเธอเล่นกับการกระดกลิ้นเป็นเสียงพยางค์สั้น ๆ ด้วยจังหวะทำนองกระชั้นรวดเร็วอย่างไม่น่าเชื่อ

เธอชื่อ Sheila Chandra อัลบัมที่ผมมีชื่อ Weaving My Ancestor’sVoices ถือเป็นหนึ่งในอัลบัมที่สร้างชื่อเสียงให้กับเธอ ศิลปินเชื้อสายอินเดียที่นำเสียงแบบ “อินเดีย” ไปสร้างชื่อในยุโรปช่วงทศวรรษ ๑๙๘๐

เมื่ออ่านชื่อเพลงที่คล้ายบทสวดในอัลบัม เขียนว่า Bhajan ก็รู้สึกคุ้นว่าเคยเห็นที่ไหน

ก่อนหน้านี้หลายเดือน มีหนังสือเล่มหนึ่งที่ผมหยิบมาอ่านผ่าน ๆระหว่างเตรียมงานสารคดีฉบับศาสนาผีอีสานใต้ คือ ผี พราหมณ์ พุทธในศาสนาไทย เขียนโดยอาจารย์คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง วิจักขณ์ พานิช และ ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

เสียงเรียกในใจให้กลับไปเปิดหนังสืออีกครั้ง ก็เลยพบคำว่า ภชัน ภชันมฺ หรือ Bhajanam ปรากฏในบทความชื่อ “สิ่งที่ขาดหายไปในศาสนาพราหมณ์-ฮินดูของไทย ๓ : วัฒนธรรมรำเต้นขับร้อง ‘ภชัน’ และ ‘กีรตัน’” ของอาจารย์คมกฤช

รู้สึกตื่นเต้นกับความบังเอิญจริงๆ ที่พบคำอธิบายบทเพลงที่เคยหลงใหลมานาน ไม่นับความบังเอิญที่ได้พบแผ่นซีดีเก่าเก็บ

อาจารย์คมกฤชเล่าว่า ภชัน คือการขับร้องสรรเสริญเทพเจ้า ร้องโดยคนเดียวจะมีดนตรีหรือไม่ก็ได้ และมีจุดกำเนิดมาจากการเกิดขึ้นของขบวนการ “ภักติ” ในคริสต์ศตวรรษที่ ๕-๘ ทางภาคใต้ของอินเดีย

ตามวัฒนธรรมฮินดูการเข้าถึงพระเจ้าต้องผ่านพิธีกรรมซึ่งพราหมณ์เป็นผู้ประกอบพิธีอันศักดิ์สิทธิ์ แต่แนวคิด “ภักติ” ปฏิเสธอำนาจของพราหมณ์และพิธีกรรมอันซับซ้อน เชื่อว่าทุกคนสามารถเข้าถึงพระเจ้าหรือพบการหลุดพ้นได้ผ่านความภักดีของตนเอง โดยการเอ่ยพระนามสั้นๆ ขับร้องสรรเสริญด้วยบทเพลง เต้นรำ เพื่อเข้าถึงภาวะแห่งความภักดี ซึ่งเป็นความรู้สึกดื่มด่ำในความรักระหว่างพระเจ้ากับวิญญาณของตน

อาจารย์คมกฤชยังตั้งข้อสังเกตน่าคิดว่า ขณะที่ศาสนาฮินดูในอินเดียส่วนมากได้เคลื่อนย้ายจากการขับเน้นความศักดิ์สิทธิ์มาสู่ความรักและความภักดี จากการให้ความสำคัญกับชนชั้นมาให้ความสำคัญกับคนธรรมดาที่มีความรักต่อพระเจ้าและเพื่อนมนุษย์ แต่ศาสนาพราหมณ์-ฮินดูในไทยยังเน้นความศักดิ์สิทธิ์เป็นพิเศษ

ผมกลับมาค้นประวัติ Sheila Chandra ในออนไลน์ว่าปัจจุบันชีวิตเธอเป็นอย่างไร ก็ต้องตกใจที่พบว่าใน ค.ศ. ๒๐๐๙  จู่ๆ เธอก็เป็นโรคร้าย Burning Mouth Syndrome (BMS) ซึ่งหาสาเหตุไม่ได้และไม่มีสัญญาณใด ๆ มาก่อน แต่ผลลัพธ์คือเธอไม่สามารถพูดหัวเราะ และร้องเพลงได้อีก เพราะจะรู้สึกเจ็บปวดแสนสาหัสที่ปาก

ทว่าเธอไม่เคยก้มหัวให้กับชะตากรรม ผันตัวเองเป็นโค้ชให้นักร้องคนอื่น และเขียนหนังสือเกี่ยวกับการใช้ความคิดสร้างสรรค์เพื่อความสำเร็จในอาชีพ…

ข้อมูลที่สืบค้นได้มีเพียงเท่านี้ ทำให้ผมได้แต่คิดจินตนาการไปเองว่า หรือเธออาจค้นพบหนทางแห่งการหลุดพ้นตามแนวทางของภักติ จากบทเพลงภชันที่เธอเคยร้อง

“โอม ศรี คเณศายะ นะมะฮา” ขอความสำเร็จมีแด่เธอและผู้อ่านทุกคน
“โอม ศานติ โอม ศานติ โอม ศานติ”

สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ
บรรณาธิการบริหารนิตยสารสารคดี
suwatasa@gmail.com