“ข้อมูลที่เราใช้ในงานสารคดีมีหลักๆ อยู่ทั้งหมด 3 ประเภท ประเภทแรกคือ ‘ข้อมูลค้นคว้า’ ที่เราหามาแล้วจากบ้าน ส่วนในวันนี้เราจะมาเก็บข้อมูลสองประเภทหลัง คือ ‘ข้อมูลสัมภาษณ์’ ที่เราจะไปถามจากแหล่งข้อมูลจริง และ ‘ข้อมูลสัมผัส’ ที่มาจากประสบการณ์ตรงที่คุณได้เข้าไปสัมผัสด้วยตัวคุณเอง” ครูค่ายกล่าวเปิดห้องเรียนที่ศาลาวัดอุโปสถาราม ริมแม่น้ำสะแกกรัง
วันที่ 12-14 กรกฎาคม ค่ายสารคดีครั้งที่ 19 อยู่ดีตายดี ย้ายห้องเรียนมาอยู่กันที่จังหวัดอุทัยธานี ริมฝั่งตะวันตกของแม่น้ำสะแกกรังคือเมืองอุทัยใหม่ ชุมชนคนจีนและย่านตลาดบ้านท่าสำหรับส่งสินค้าทางเรือในยุคที่การคมนาคมทางน้ำยังเฟื่องฟู ฝั่งตะวันออกคือเกาะเทโพ พื้นที่ระหว่างแม่น้ำสองสายอันอุดมสมบูรณ์ที่เกษตรกรอยู่ร่วมกับภูมินิเวศอันเป็นเอกลักษณ์ เมื่อมองลงไปในแม่น้ำจะเห็น “บ้านเรือนแพ” วิถีริมน้ำที่มีมาตั้งแต่อดีต ในขณะที่ข้างๆ กันบนแนวตลิ่งก็จะพบเหล่าผู้รักสุขภาพ ทั้งนักวิ่ง เดิน ปั่น มาใช้พื้นที่สาธารณะกันเป็นปกติในช่วงเช้าและเย็น
อุทัยธานีต้อนรับชาวค่ายอย่างเป็นมิตร โดยมี อ.เสถียร แผ่วัฒนกุล ข้าราชการครูเกษียรผู้ศึกษาเรื่องราวเมืองอุทัย และนกเขา-ปราโมช เลาหวรรณถนะ รองประธานถนนคนเดินตรอกโรงยา ผู้ดูแลการท่องเที่ยวในชุมชน มาเล่าถึงภาพรวมชุมชนในมิติต่างๆ ให้น้องค่ายได้เข้าใจบริบทของพื้นที่มากขึ้น ในขณะที่ทีมครูค่ายก็ได้แนะนำมารยาทและข้อควรระวังในการเก็บข้อมูลพื้นฐาน ก่อนน้องๆจะแยกย้ายกันไปเก็บข้อมูลและผลิตผลงานสารคดี “อยู่ดีตายดี” ในหัวข้อที่ตัวเองสนใจ
“ปกติไม่เคยภูมิใจในงานเขียนของตัวเองเลย แต่วันนี้รู้สึกว่าเพื่อนช่างภาพที่คู่กันทำให้งานของเราเองดีไปด้วย ภูมิใจมาก” หนึ่งในน้องค่ายเล่าหลังจากลงพื้นที่เสร็จ
“ปัญหาที่เจอคือความรู้สึกต่อตัวเองว่ายังดีไม่พอ ทำไม่ได้ กดดัน แต่ก็มีครูและพี่สตาฟเข้ามาช่วย” น้องอีกคนเล่าบ้าง
“ทุกอย่างเกิดขึ้นเร็วมาก สนุก ปั่นงานจนนาทีสุดท้าย วันนี้จะเป็นประสบการณ์ของทุกคน” เพื่อนๆ ร่วมแลกเปลี่ยน
การลงพื้นที่เก็บข้อมูลทำงานภาคสนามของน้องๆ สำเร็จลุล่วงแล้วด้วยดี ทั้งนี้ต้องขอบคุณผู้สนับสนุนใจดีมากมาย ทั้งวิริยะประกันภัยสำหรับ พัด หมวก ปลอกแขน หมวกบังแดด และ TCP สำหรับเครื่องดื่มตลอดสามวันที่ช่วยให้การทำงานกลางแจ้งของน้องๆ ราบรื่นขึ้นมาก ขอบคุณอุปกรณ์การถ่ายทำ ทั้งกล้องจาก Nikon ขาตั้งกล้องจาก Siriui อุปกรณ์บันทึกเสียงจาก STM และ Saramonic รวมถึงเลนส์กล้องมากมายหลายขนาดจาก SIGMA ให้น้องๆ ได้ใช้งานตลอด 3 วัน
เมื่อการทำงานภาคสนามจบลง 1 สัปดาห์จากนี้จะเป็นการกลับไปทำงานกับตัวเอง นักเขียนนำข้อมูลที่ได้ไปเรียบเรียง ช่างภาพกลับไปจัดทำภาพชุด ส่วนทีม VDO กลับไปดำเนินการตัดต่อ ขอบคุณทุกคนที่ทุ่มเทตั้งใจตลอด 3 วันนี้ ทุกคนเก่งมากจริงๆ
สนับสนุนโดย
- วิริยะประกันภัย
- สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
- มูลนิธิเล็กประไพวิริยะพันธุ์
- Nikon
- กลุ่มธุรกิจ TCP
กิจกรรมโดย
Sarakadee Magazine