เรื่อง : ธเนศ แสงทองศรีกมล
ภาพ : จิรศักดิ์ ทับแพ

อาทิตย์ 4 สิงหาคม 2567 วันสุดท้ายของชั้นเรียนก่อนก้าวออกไปสู่การทำงานชิ้นที่ 2 โดยนักบันทึกสังคมค่ายสารคดีรุ่น 19

“นายไม่อ่านหนังสือนายจะรู้อะไร ถ้านายไม่ดูสารคดี นายจะทำสารคดีได้อย่างไร” ครูเขียนเริ่มต้นบทสนทนาของวันนี้ ด้วยการยั่วล้อประโยคอมตะของ ศ.ศิลป์ พีระศรี

ห้องเรียนรวมในวันนี้พูดถึง “การวางประเด็นและการลงพื้นที่งานสารคดี” ซึ่งกระบวนการสำคัญที่นักสารคดีจะสามารถก่อร่างสร้างโครงเรื่องต่างๆ ล้วนเกิดขึ้นจากการคิด ซึมซับ และค้นคว้าหาวัตถุดิบที่จะมาปรุงรสชาติของการเล่าเรื่อง

ฉะนั้น ห้วงหนึ่งของห้องเรียนรวมในวันนี้ คือ การนั่งชมภาพยนตร์สารคดีด้วยกันถึง 2 เรื่อง (และจำอวดหน้าม่านจากบทละครของเชคสเปียร์ที่แสดงโดยนักเรียนค่าย) เพื่อถอดรื้อโครงสร้างของงานเหล่านั้นร่วมกัน

“ความสมจริงถูกเรียกร้องทั้งงาน Fiction และสารคดี ซึ่งงานที่ดีจะไม่ถูกปฏิเสธว่าไม่จริง”

“ความสมจริง” เป็นบทเรียนหนึ่งที่ได้รับจากการชมภาพยนตร์ และการจัดการข้อมูลจากมุมมองหลายฝ่ายเป็นสิ่งสำคัญ ในเรื่องราวที่มีความขัดแย้ง หากไม่สามารถรวบรวมข้อมูลอย่างรอบด้านได้ งานชิ้นนั้นก็ไม่อาจถูกเรียกว่า ‘งานที่ดี’ และหลักสำคัญที่จะทำให้ความสมจริงเกิดขึ้นในงานสารคดี คือ ฉาก เสียงเล่า และมุมมอง

lastclass05

“และผู้ตัดสินความจริงเท็จของข้อมูล คือผู้ชมเท่านั้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นภาระของผู้สร้างทั้งหมด”

งานสารคดีหลายชิ้นกินระยะเวลาในการทำงานอยู่นานพอควร บางชิ้นหนึ่งปี บางชิ้นสองปี บางชิ้นอาจเป็นสิบปี ครูภาพให้คำแนะนำเพิ่มเติมว่า การทำงานในระยะยาวที่ยาวนานอาจทำให้ชุดข้อมูล หรือภาพถ่ายมีมหาศาลมาก
ฉะนั้น ‘การจัดหมวดหมู่ของข้อมูล’ จึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะจะทำให้เราเห็นภาพรวมของประเด็นทั้งหมด และเลือกได้ว่า ‘หัวใจสำคัญของงาน’ อยู่ส่วนใด

ครูวิดีโอยกตัวอย่างถึงแก่นหลักในการทำละครเวทีมาประกอบการเรียน คือสิ่งที่เรียกว่า 5 ภาพเล่าเรื่อง เริ่มต้นตั้งแต่ ภาพเปิดเรื่อง ภาพความขัดแย้ง ภาพผลกระทบ ภาพวิธีการแก้ไข้ และภาพจบเรื่อง แม้ฟังดูเป็นเรื่องพื้นฐาน แต่การปฏิบัติสำหรับผู้เริ่มต้นก็อาจเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา

อีกกลยุทธ์ที่ครูวิดีโอแนะนำ ก็คือ “ใช้ความสนุกเคลือบยาขม” เพราะบางครั้งเรื่องราวที่ถูกเล่าอาจจะเป็นเรื่องแสนเครียดที่ไม่ชวนชม การปรุงเรื่องราวด้วยบางสิ่งที่จรรโลงใจ ก็อาจทำให้ผู้ชมสามารถอยู่กับงานไปจนจบ

“เราสามารถใช้ความสนุกมาเคลือบไว้ แต่สอดไส้ยาขมไว้ข้างในได้ บอกไม่ได้ว่าจะแบ่งสัดส่วนความสนุกหรือความร้ายได้ยังไง แต่ที่แน่ๆ สิ่งเหล่านี้จะต้องถูกวางไว้มาตั้งแต่เริ่มกระบวนการทำงานแล้ว”
จบช่วงเวลาของห้องเรียนรวม เริ่มต้นช่วงเวลาของ “วิทยากรบันดาลใจ” อีกครั้ง

lastclass01

“คุณเรียกงานเหล่านี้ว่าสารคดีไหม” วิทยากรประจำวันนี้เอ่ยขึ้น ก่อนที่จะเปิดวิดิโอรวมงานภาพถ่ายสองชิ้น ร่างเปลือยของหญิงสาวในภาพ กระทั่งภาพของหญิงสาวทาลิปสติกสีแดงสดบนป้ายแบนเนอร์โฆษณาที่คล้ายจะหลุดโฟกัสของกล้อง ตั้งคำถามทุกคนในห้อง

เจ้าของคำถามและผู้คลิกเปิดวิดิโอดังกล่าว คือ ฟี่ – เอกรัตน์ ปัญญะธารา ช่างภาพและอดีตบรรณาธิการภาพของ National Geographic Thailand

“ผมไม่สนว่ามันจะสื่ออะไร แต่ผมสนแค่ว่าผมรู้สึกอะไร” แน่นอนว่าไม่มีคำตอบที่ถูกที่สุดเมื่อเราทุกคนลิ้มรสงานศิลปะ แต่บางครั้งการพยายามค้นหาความหมายของแต่ละสิ่ง ก็อาจจำกัดกรอบการสื่อสารให้แคบลง

“สารคดีถูกใช้มากจนถูกตีกรอบการค้นหาความหมายต่างๆ… ซึ่งทำให้บางครั้งจะมีกรอบว่า ‘เราทำสิ่งนั้นไม่ได้’ แต่ผมอยากให้ลองดูว่า สิ่งที่เชื่อมันแปรเปลี่ยนไปเป็นสิ่งใดได้บ้าง” เอกรัตน์อธิบาย

ฉะนั้น หัวข้อหลักในการพูดของเอกรัตน์ในวันนี้คือ ‘Visual Narrative’ ที่จะพาเหล่านักเรียนสารคดีไปค้นหาความเป็นไปได้ในการหา ‘ระหว่างทาง’ ของการทำงานที่พวกเขาอาจจะยังไม่เคยค้นพบ

Authorship หรือ การเป็นเจ้าของเรื่องราว เอกรัตน์เล่าว่าเขาก็เคยมีช่วงเวลาที่พยายามค้นหาว่า ‘การเป็นช่างภาพที่ดี’ จะต้องมีองค์ประกอบอะไรบ้าง สำหรับเขา Authorship เปรียบเสมือน ‘สไตล์การเล่าของช่างภาพ’ ซึ่งเขาเชื่อว่าสิ่งนี้เป็นพลังที่มีอยู่ในเนื้อหนังของช่างภาพทุกคน เพียงแค่ว่าช่างภาพผู้นั้นจะรู้จักหยิบออกมาใช้เมื่อใด และหากช่างภาพไม่สามารถดึงพลังตรงนี้ออกมาได้ ก็ไม่อาจสร้างงานที่ดีได้

“ทุกคนมีอำนาจในการสื่อสาร ฉะนั้นคุณมีอำนาจที่เลือกสื่อสารหรือไม่สื่อสารส่วนใด … เช่น ถ้าไปถ่ายนาย A คุณต้องคิดว่าคุณจะไปขุดอะไรของนาย A มาเล่า”

International Connect หรือ การเชื่อมโยงประเด็นส่วนตัวกับประเด็นของโลก เอกรัตน์อธิบายว่า ทัศนคติและวิธีการมองประเด็นของสังคมไทยและสังคมโลกนั้นแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ตัวอย่างงานภาพที่เขาติดตามการใช้ชีวิตของพระสงฆ์ที่เมืองนิวยอร์กเป็นเวลา 1 ปี หลายภาพคนไทยอาจตั้งคำถามว่า ‘พระสงฆ์ใช้ชีวิตแบบนี้ได้เหรอ’ แต่กลับตอบสนองคนต่างชาติที่อยากรู้ว่า “พระสงฆ์ในนิวยอร์กใช้ชีวิตแบบนี้นี่เอง”

กับเบื้องหลังชุดภาพงานบอกเล่าเกี่ยวกับ “ความตาย” ซึ่งช่างภาพต้องเข้าไปอยู่ท่ามกลางสถานการณ์อันน่ากระอักกระอ่วน แต่เอกรัตน์ย้ำว่าเราต้องเข้าใจว่ามาอยู่ ณ ที่ตรงนั้นเพื่อทำอะไร หน้าที่ของช่างภาพคือการถ่ายทอดภาพที่เห็นให้สื่อสารเรื่องราวออกมาได้อย่างดีที่สุด

สิ่งสำคัญที่สุดของการเป็นช่างภาพสำหรับเอกรัตน์ คือ การเรียนรู้ตลอดเวลา และการค้นหาแรงกระตุ้นที่ผลักดันให้ตนเองหยิบกล้องและออกไปถ่ายรูป เพราะหากไม่มีแรงกระตุ้น เส้นทางการทำงานนี้ก็อาจหยุดอยู่เพียงแค่ครึ่งทาง

“Why do you take a photo?” ประโยคสั้นๆ ถูกฉายขึ้นในสไลด์นำเสนอที่เอกรัตน์เตรียมมา

เอกรัตน์เอ่ยขึ้นว่ามันเป็นคำถามโง่ๆ แต่มันก็เป็นคำถามที่ยากเช่นกัน ที่ช่างภาพหลายคนยากที่จะตอบ เอกรัตน์จึงอยากให้ช่างภาพหรือผู้สร้างสรรค์งานทุกคน ถามคำถามนี้กับตนเองบ่อยๆ เช่นเดียวกัน

“ผมก็แบกรับคำถามนี้ไว้กับตัวเองตลอดสิบปีเหมือนกันนะ เพื่อกลายมาเป็นช่างภาพคนหนึ่ง” เขาทิ้งท้าย

กิจกรรมค่ายสารคดีวันนี้เหลืออีกช่วงสำคัญ คือการนำเสนอโครงงานสำหรับการทำงานชิ้นสุดท้ายในประเด็น “อยู่ดี ตายดี”

โดยมี “มาร์ท” -เอกภพ สิทธิวรรณธนะ นักกิจกรรมที่ทำงานขับเคลื่อนการพัฒนาระบบสุขภาพและการดูแลผู้ป่วย มาให้ข้อแนะนำกับการพัฒนาเรื่องเล่าของเหล่านักสารคดีให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

คำแนะนำถึงงานบางชิ้นที่อาจซ้ำกับผู้สร้างสรรค์คนอื่น บางชิ้นประเด็นยังไม่แหลมคม แต่ทุกเรื่องเป็นไปได้ สิ่งสำคัญคือการเรียนรู้องค์ประกอบย่อยในแต่ละประเด็น และย้ำเตือนกับตนเองว่า การทำงานสารคดีนั้นเป็นการส่งเสียงแทนผู้อื่นอย่างรู้ตัวและไม่รู้ตัว ฉะนั้นต้องระลึกไว้ให้ดีว่า ‘เรากำลังส่งเสียงแทนใคร’

เรื่องราวคนชายขอบ นักโทษในเรือนจำ เยาวชนลี้ภัย บ้านพักคนชรา สถานที่ดูแลพระสงฆ์ป่วยระยะสุดท้าย และอื่นๆ อีกมากมาย กำลังจะเป็นพื้นที่ให้นักบันทึกสังคมได้เข้าไปเรียนรู้และถ่ายทอดเรื่องราวออกมาเป็นงานสารคดีในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า

ความหลากหลายในประเด็น “อยู่ดี ตายดี” ในครั้งนี้ สะท้อนได้อย่างชัดเจนว่า “ความตายนั้นเป็นธุระของทุกคน”

ค่ายสารคดีรุ่น 19 - การทำงานชิ้นที่ 2

สนับสนุนโดย

  • วิริยะประกันภัย
  • สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
  • มูลนิธิเล็กประไพวิริยะพันธุ์
  • Nikon
  • กลุ่มธุรกิจ TCP

กิจกรรมโดย
Sarakadee Magazine