ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล : รายงานและถ่ายภาพ
“เหมือนปลดปล่อย กับระยะเวลา ๑๕ ปีกว่า เฉพาะกระบวนการฟ้องศาลปกครอง ๙ ปีกว่า วันนี้ถือว่าเป็นวันปลดปล่อย ระหว่างเดินทางมาฟังรู้สึกตื่นเต้นและเป็นกังวล ไม่รู้ผลจะออกอย่างไร อนาคตของเขาคูหาจะเป็นเช่นไร แต่ตอนนี้ได้ฟังคำพิพากษาของศาลแล้วสบายใจ โล่งกันทุกคน”
สุวรรณ อ่อนรักษ์ เครือข่ายพิทักษ์สิทธิชุมชนเขาคูหา อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา ระบายความอัดอั้นตันอกที่เก็บกดมานานหลายปี
“ประเด็นเขาคูหาน่าจะนำไปสู่การจัดการแหล่งแร่หรือแหล่งหินทั้งประเทศ เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องมาจากชุมชนจริง ๆ วันนี้เห็นแล้วว่าความยุติธรรมที่ศาลมีให้กับชุมชนยังมีอยู่ เขาลูกนี้กลับคืนไปเป็นของประชาชน คืนสู่ธรรมชาติได้จริง ๆ แล้ว ดีใจมาก”
หลังศาลปกครองสูงสุดอ่านคำพิพากษาให้เพิกถอนเขาคูหาจากสถานะแหล่งหินอุตสาหกรรม สุวรรณในฐานะผู้ได้รับผลกระทบจากเหมืองหิน และเป็นหนึ่งในผู้ฟ้องคดีกล่าวอย่างมีความหวัง
หินเป็นวัสดุที่มนุษย์รู้จักใช้ประโยชน์ตั้งแต่อาศัยอยู่ในถ้ำ เหมืองหินมีบทบาทสำคัญในภาคอุตสาหกรรม บ้านเรือน สิ่งปลูกสร้าง สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานต่าง ๆ อย่างถนน สร้างขึ้นจากหิน
แต่ถึงอย่างนั้น เมื่อร่วม ๑๕ ปีก่อน การระเบิดภูเขาทำเหมืองหินและโรงโม่หินที่เขาคูหา นำมาซึ่งความเดือดร้อนและสร้างผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อวิถีชีวิต สุขภาพกาย สุขภาพจิต รวมถึงสิ่งแวดล้อมของผู้ที่อาศัยอยู่รอบขุนเขา
เขาคูหาตั้งอยู่อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา เป็นเขาหินปูนที่มีแนววางตัวทอดจากทิศเหนือไปทางทิศใต้ ความยาวของขุนเขาประมาณ ๑.๕ กิโลเมตร กว้าง ๕๐๐-๖๐๐ เมตร ยอดเขาสูงที่สุดสูงประมาณ ๒๑๘ เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง สูงจากพื้นราบโดยรอบประมาณ ๑๘ เมตร
เขาคูหาตั้งอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น ๑ บี เป็นเขาลูกโดดกลางทุ่งที่เป็นต้นกำเนิดของสายน้ำสำคัญ ๓ สาย ได้แก่ เหมืองตีน (เหมืองนาโพธิ์) เหมืองกลาง (เหมืองต้นเหรียง) และเหมืองหัวนอน (เหมืองหลุมพอ) และมีคลองเคียน (หรือคลองตะเคียน) ลอดผ่านใต้เขา ใต้เขามีถ้ำน้ำเป็นแหล่งเพาะพันธุ์และที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ โพรงถ้ำเป็นที่อยู่อาศัยของค้างคาว
รอบเขาคูหามีประชาชนตั้งถิ่นฐานอยู่อาศัยเป็นชุมชนดั้งเดิมมานานกว่า ๑๐๐ ปี
ก่อนหน้าปี ๒๕๔๒ เคยมีการทำเหมืองหิน แต่เป็นเหมืองหินแบบทำมือที่ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมมากนัก
จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นเมื่อหน่วยงานราชการประกาศให้เขาคูหาบางส่วนในตำบลคูหาใต้เป็นแหล่งหินอุตสาหกรรมชนิดหินปูนเพื่ออุตสาหกรรมการก่อสร้าง อนุญาตให้บริษัทเอกชนเข้าประกอบกิจการระเบิดหินและโม่หิน
เอกชัย อิสระทะ หนึ่งในเครือข่ายพิทักษ์สิทธิชุมชนเขาคูหาที่ขับเคลื่อนเรื่องเขาคูหามายาวนาน และต้องเผชิญการข่มขู่คุกคามหลายครั้ง เคยเล่าว่าการประกอบกิจการเหมืองหินส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน เนื่องจากทำให้เกิดฝุ่นฟุ้งกระจายตลอดเวลา
“บางครั้งมีหินปลิวมาตกในบริเวณบ้าน หล่นใส่บนหลังคา สร้างความเสียหายต่อทรัพย์สิน รวมทั้งได้ยินเสียงดังจากการระเบิดหิน การทำงานของเครื่องจักรทั้งกลางวันและกลางคืนทำให้เกิดแรงสั่นสะเทือนจนบ้านเรือนรอบ ๆ ภูเขาแตกร้าว”
การประกอบกิจการเหมืองหินเริ่มส่งผลกระทบอย่างหนักตั้งแต่ปี ๒๕๔๘ จนกระทั่งบริษัทเอกชนหยุดประกอบกิจการในปี ๒๔๕๓
ก่อนนั้นในปี ๒๕๕๒ หน่วยงานราชการจัดประชุมเกี่ยวกับการต่อประทานบัตรเหมืองหิน ทำให้ประชาชนจำนวนมากได้มาพบปะหารือกัน และตกลงก่อตั้งเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองหินเขาคูหา ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นเครือข่ายคัดค้านการต่อสัญญาเหมืองหินเขาคูหา และเปลี่ยนชื่ออีกครั้งเป็นเครือข่ายพิทักษ์สิทธิชุมชนเขาคูหามาจนถึงปัจจุบันนี้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพิทักษ์ปกป้องชุมชน สร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู รักษาสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ประชาชนในชุมชนได้อยู่อาศัยและมีชีวิตที่สงบสุข
ปลายปี๒๕๕๓ ผู้ได้รับผลกระทบรวมตัวกันฟ้องเรียกค่าเสียหายจากบริษัทผู้ประกอบกิจการต่อศาลจังหวัดสงขลา และศาลแขวงสงขลา การพิจารณาคดีไล่เรียงจากศาลชั้นต้น สู่ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา คดีถึงที่สุดโดยศาลฎีกาพิพากษาว่า การประกอบกิจการเหมืองหินเขาคูหาส่งผลกระทบต่อประชาชนที่อาศัยอยู่ใกล้เขาคูหา แต่อีกสองปีต่อมาคือช่วงปี ๒๕๕๓-๒๕๕๔ ก็ยังคงมีข้อร้องเรียนเกี่ยวกับผลกระทบบ้านเรือนแตกร้าว เป็นเหตุให้ส่วนราชการลงมาสำรวจปัญหา และพบว่ามีบ้านเรือนแตกร้าวอย่างน้อย ๓๒๖ หลังคาเรือน
แม้เครือข่ายพิทักษ์สิทธิชุมชนเขาคูหาฯ จะลุกขึ้นมาต่อสู้เรียกร้องจนหยุดยั้งการทำเหมืองสำเร็จ แต่ด้วยเจตจำนงที่ต้องการจะปกป้องเขาคูหาไม่ให้กลับไปถูกทำลายอีก คนในชุมชนจึงร่วมกันเรียกร้องให้หน่วยงานรัฐเพิกถอนเขาคูหาออกจากการเป็นพื้นที่แหล่งหินอุตสาหกรรม โดยฟ้องศาลปกครองเมื่อวันที่๑๙ ตุลาคม ๒๕๕๘ขอให้ศาลมีคำพิพากษา
มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน (CRC) องค์กรเอกชนไม่แสวงหาผลกำไร ที่คอยให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ชุมชน ด้านสิทธิชุมชน สิทธิมนุษยชน และสิทธิในสิ่งแวดล้อม ชี้ว่ากรณีนี้ชาวชุมชนเขาคูหาฟ้องหน่วยงานรัฐ ประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ ๑ คณะรัฐมนตรี ที่ ๒ ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ที่ ๓ และบริษัท พีรพลมายนิ่ง จำกัด ที่ ๔ เพื่อขอให้เพิกถอนเขาคูหาออกจากสถานภาพการเป็นพื้นที่แหล่งหินอุตสาหกรรม ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง กำหนดพื้นที่แหล่งหินอุตสาหกรรม ฉบับที่ ๘ ลงวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๔๐
ผู้ฟ้องทั้งสิบคนนำโดย เอกชัย อิสระทะ สุวรรณ อ่อนรักษ์ ซึ่งเป็นประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชุมชนเขาคูหา
๙ ปีต่อมา…
ระยะห่าง ๙๐๐ กว่ากิโลเมตรจากเขาคูหา
ศาลปกครองสูงสุดนัดอ่านคำพิพากษา ณ ห้องพิจารณาที่ ๑๔ ชั้น ๓ อาคารศาลปกครอง ถนนแจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร วันพฤหัสบดีที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๖๗
วันนั้น เครือข่ายพิทักษ์สิทธิชุมชนเขาคูหา เดินทางมากันประมาณ ๑ คันรถตู้ พร้อมด้วยทีมทนายความจากมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน
ศาลปกครองสูงสุด “พิพากษาเพิกถอนประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง กำหนดพื้นที่แหล่งหินอุตสาหกรรม ฉบับที่ ๘ ลงวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๔๐ เฉพาะส่วนที่กำหนดให้เขาคูหาเป็นแหล่งหินอุตสาหกรรม ตั้งแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา”
หลังการรับฟังคำพิพากษาภายในห้องพิจารณาคดีสิ้นสุดลง จึงกล่าวได้ว่าเขาคูหากลับมาเป็นของประชาชนอีกครั้ง
โดยทั่วไปแล้วพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น ๑ จะแบ่งออกเป็น ๒ ระดับชั้นย่อย คือ พื้นที่ลุ่มน้ำชั้น ๑ เอ หมายถึงพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น ๑ ที่ยังคงมีสภาพป่าสมบูรณ์ปรากฏอยู่ในปี ๒๕๒๕ จำเป็นต้องสงวนรักษาไว้เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารและเป็นทรัพยากรป่าไม้ของประเทศ และพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น ๑ บี หมายถึงพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น ๑ ซึ่งสภาพป่าส่วนใหญ่ถูกทำลาย ดัดแปลง หรือเปลี่ยนแปลงไปเพื่อใช้ที่ดินรูปแบบอื่นก่อนหน้าปี ๒๕๒๕ การใช้ที่ดินหรือพัฒนารูปแบบต่าง ๆ ต้องมีมาตรการควบคุมเป็นพิเศษ
คำตัดสินของศาลปกครองสูงสุดระบุว่า “พื้นที่ลุ่มน้ำชั้น ๑ บี ไม่อาจนำมาใช้ประโยชน์เพื่อกิจการเหมืองแร่ได้…ต้องสงวนรักษาไว้เป็นพื้นที่ต้นน้ำลำธารโดยเฉพาะ แม้ว่าพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น ๑ บี จะมีสภาพป่าส่วนใหญ่ถูกทำลาย ดัดแปลง หรือเปลี่ยนแปลงไปเพื่อพัฒนาการใช้ในรูปแบบอื่นก็ตาม”
นอกจากนี้ “ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ไม่ได้แสดงเหตุผลความจำเป็นในการกำหนดให้พื้นที่เขาคูหาเป็นแหล่งหินอุตสาหกรรมแต่อย่างใด พื้นที่เขาคูหาจึงเป็นพื้นที่ที่ไม่อาจนำไปใช้ประโยชน์เพื่อกิจการเหมืองแร่ได้” เป็นเนื้อหาบางส่วนของคำพิพากษาที่ถูกบันทึกไว้ในหน้าท้าย ๆ
คำตัดสินของศาลที่ระบุว่าเขาคูหาเป็นแหล่งน้ำซับซึม ซึ่งห้ามการทำเหมืองตามราชบัญญัติแร่ พ.ศ.๒๕๖๐ เป็นสิ่งสำคัญมาก ส.รัตนมณี พลกล้า ทนายความจากมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน ระบุว่านอกจากเขาคูหาจะถูกเพิกถอนจากการเป็นแหล่งหินอุตสาหกรรม คําพิพากษายังชี้ว่าพื้นที่นี้เป็นแหล่งน้ำซับซึม ซึ่งตาม พ.ร.บ. แร่ กำหนดว่าห้ามทำเหมือง หากรัฐบาลอยากจะประกาศให้เป็นแหล่งหินใหม่ในอนาคตก็ไม่สามารถประกาศได้
การที่ศาลสั่งเพิกถอนประกาศแหล่งหินอุตสาหกรรมเขาคูหา เป็นการคืนเขาคูหากลับมาเป็นของประชาชน และคืนสู่อ้อมอกธรรมชาติ
การยื่นเรื่องต่อศาลให้พิจารณาคดีเป็นการสร้างการเข้าถึงความยุติธรรม เพื่อมีชีวิตอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดีและสุขสงบ
ทุกวันนี้ ชุมชนรอบ ๆ เขาคูหายังคงเป็นชุมชนเกษตรกรรมที่พึ่งพาและผูกพันกับทรัพยากรธรรมชาติ เหมือนดังเนื้อหาส่วนหนึ่งในคำพิพากษาของศาลที่ระบุว่า
“ชุมชนเขาคูหาเป็นชุมชนภาคเกษตรกรรม มีวิถีชีวิตที่อาศัยพึ่งพาและผูกพันกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเขาคูหาและบริเวณโดยรอบ ทั้งในการอุปโภคบริโภค การประกอบอาชีพเกษตรกรรม ได้แก่ การทำนา สวนยางพารา สวนผัก สวนผลไม้ ประมง และปศุสัตว์ ประกอบอาชีพค้าขาย ได้แก่ ร้านอาหาร ร้านค้าของชำ ร้านค้าสินค้าเกษตรกรรม ตลอดทั้งการประกอบอาชีพงานบริการ ได้แก่ ร้านเสริมสวย อู่ซ่อมรถ รีสอร์ท ที่พัก ผู้ฟ้องคดีและประชาชนโดยรอบจึงผูกพันกับเขาคูหาอย่างยิ่ง”
ลำดับเหตุการณ์สำคัญ “ปลดปล่อยเขาคูหา” จากประกาศแหล่งหินอุตสาหกรรม
๑ ตุลาคม ๒๕๔๐ ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง กำหนดพื้นที่แหล่งหินอุตสาหกรรม กำหนดให้เขาคูหาบางส่วนในตำบลคูหาใต้ อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา เป็นแหล่งหินอุตสาหกรรม ชนิดหินปูนเพื่ออุตสาหกรรมการก่อสร้าง
๓๐ กรกฎาคม ๒๕๔๒ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมออกประทานบัตร ให้แก่ ห้างหุ้นส่วนจำกัด พีรพลศิลา (ต่อมาเปลี่ยนเป็น บริษัท พีรพลมายนิ่ง จำกัด) ให้ทำเหมืองบนเขาคูหา มีอายุ ๑๐ ปี เนื้อที่ ๑๖๕ ไร่ ๓๒ ตารางวา
๙ เมษายน ๒๕๔๓ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมออกประทานบัตรให้เอกชน ต่อมาให้บริษัท แคลเซี่ยมไทย อินเตอร์ จำกัด รับเช่าช่วงทำเหมือง โดยประทานบัตรมีอายุ ๑๐ ปี เนื้อที่ ๔๔ ไร่ ๙๕ ตารางวา
๒ มกราคม ๒๕๔๙ ประชาชนในตำบลคูหาใต้ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ขอความเป็นธรรมกรณีเจ้าหน้าที่ออกเอกสารสิทธิโดยมิชอบด้วยกฎหมาย และได้รับผลกระทบจากการระเบิดหินของบริษัท ได้แก่ เกิดฝุ่นละอองกระจายไปในบริเวณกว้าง ทำให้ชาวบ้านเป็นโรคภูมิแพ้ และผลผลิตทางการเกษตรเสียหาย
ช่วงปี ๒๕๕๑-๒๕๕๒ บ้านเรือนอยู่ติดเขาคูหาได้ความเดือดร้อนจากการทำเหมืองหินอย่างหนัก เนื่องจากมีการระเบิดหิน บ้านเรือนแตกร้าว เศษหินหล่นลงใส่หลังคาบ้านพักอาศัย และเกิดฝุ่นฟุ้งกระจายไปทั่วบริเวณ จนทำให้ได้รับเสียหายต่อการประกอบอาชีพ รวมทั้งไม่สามารถอยู่อาศัยหรือใช้ชีวิตอย่างปกติสุขได้
กันยายน ๒๕๕๒ ผู้ได้รับผลกระทบจากหมืองหิน รวมตัวกันก่อตั้งกลุ่ม “เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองหินเขาคูหา อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา” ต่อมา เปลี่ยนชื่อเป็น “เครือข่ายคัดค้านการต่อสัญญาเหมืองหินเขาคูหา อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา” และได้เปลี่ยนชื่อเป็น“เครือข่ายพิทักษ์สิทธิชุมชนเขาคูหา อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา” จนถึงปัจจุบัน
๓๐ ธันวาคม ๒๕๕๓ ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบรวมตัวกันฟ้องเรียกค่าเสียหายจากบริษัทผู้ประกอบกิจการต่อศาลจังหวัดสงขลา และศาลแขวงสงขลา โดยคดีถึงที่สุดแล้ว คือ ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา มีคำพิพากษาว่า การประกอบกิจการเหมืองหินเขาคูหาส่งผลกระทบต่อประชาชนที่อาศัยอยู่ใกล้เขาคูหา
ช่วงปี ๒๕๕๓-๒๕๕๔ มีข้อร้องเรียนเกี่ยวกับผลกระทบบ้านเรือนแตกร้าว เป็นเหตุให้ส่วนราชการลงมาสำรวจปัญหา และพบว่ามีประชาชนได้รับความเสียหายจากการประกอบกิจการเหมืองหินเกี่ยวกับบ้านเรือนแตกร้าวอย่างน้อย ๓๒๖ หลังคาเรือน
๒๑ กรกฎาคม ๒๕๕๘ เครือข่ายพิทักษ์สิทธิชุมชนเขาคูหา ยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม คณะรัฐมนตรี และผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ขอให้เพิกถอนเขาคูหาออกจากการเป็นแหล่งหินอุตสาหกรรม ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง กำหนดพื้นที่แหล่งหินอุตสาหกรรม ฉบับที่ ๘ ลงวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๔๐ แต่ก็ไม่ได้รับคำตอบหรือมีความเห็นเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวแต่อย่างใด
๑๙ ตุลาคม ๒๕๕๘ เอกชัย อิสระทะ กับประชาชนรวม ๑๐ คน ยื่นฟ้องรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ ๑ คณะรัฐมนตรี ที่ ๒ ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ที่ ๓ และบริษัท พีรพลมายนิ่ง จำกัด ที่ ๔ ต่อศาลปกครองสงขลา เพื่อขอให้ศาลพิจารณาพิพากษา เพิกถอนเขาคูหาออกจากการเป็นพื้นที่แหล่งหินอุตสาหกรรม ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ทั้งนี้ ศาลปกครองสงขลา ได้ทำหนังสือสอบถามไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมแล้ว จึงโอนคดีไปยังศาลปกครองสูงสุด
๑๘ กรกฎาคม ๒๕๖๗ ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาเพิกถอนเขาคูหาออกจากการเป็นพื้นที่แหล่งหินอุตสาหกรรม