เรื่อง : สุชาดา ลิมป์
ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช

ต่อให้มีทรัพยากรมาก ถ้าสัญจรไม่สะดวกเศรษฐกิจก็สะดุด

เราต่างรู้ “อรัญประเทศ” ชายแดนตะวันออกของไทยที่ติดเมืองปอยเปตของกัมพูชาเจริญกว่าตัวอำเภอเมืองสระแก้วหลายเท่า และจะยิ่งมีศักยภาพด้านท่องเที่ยวดึงดูดต่างชาติได้มากหากทำให้คมนาคมคล่องตัว

ปี ๒๕๕๙ รัฐบาลไทยจึงอนุมัติให้สำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) กระทรวงการคลัง (สพพ.) สนับสนุนงบสร้าง “จุดผ่านแดนถาวรสตึงบท-บ้านหนองเอี่ยน” แห่งใหม่ที่ฝั่งตำบลปอยเปต อำเภอโอร์จเริว จังหวัดบ็อนเตียย์เมียนเจ็ย ตรงข้ามอรัญประเทศของสระแก้ว รองรับการขนส่งสินค้ากัมพูชา-ไทยให้เร็วขึ้น แล้วยังเชื่อมต่อ “สะพานมิตรภาพบ้านหนองเอี่ยน-สตึงบท” กับ “ถนนทางหลวงหมายเลข ๕” (AH1) ของปอยเปต นำนักท่องเที่ยวจากนครวัดในเมืองเสียมเรียบที่อยู่ห่างด่านปอยเปตเพียง ๑๕๐ กิโลเมตร แต่เคยใช้เวลาเดินทางถึง ๑๒ ชั่วโมง เพราะหนทางไม่สะดวก ให้มาเที่ยวอรัญประเทศต่อได้ด้วยเวลาเพียง ๒ ชั่วโมงครึ่ง

ปี ๒๕๖๗ มีโอกาสทดลองเส้นทางถนนกรุงเทพฯ-อรัญประเทศ-ปอยเปต-เสียมเรียบ

พบเรื่องเล่าระหว่างทางที่น่าสนใจอยากเล่าสู่กันฟังเพียบเลย

ด่านสตึงบท-ถนนหมายเลข ๕

:: อรัญประเทศ การค้าอินโดจีนสุดเขตบูรพา ::

สี่ล้อหมุนจากกรุงเทพฯ ด้วยระยะทาง ๒๓๘ กิโลเมตร

ราว ๓ ชั่วโมงเศษก็ถึงอำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว ชายแดนตะวันออกของไทยที่ติดตำบลปอยเปต อำเภอโอร์จเริว จังหวัดบ็อนเตียย์เมียนเจ็ย ของกัมพูชา

แต่ไรมาชาวอรัญฯ ชอบค้าขายมีตลาดชายแดนไทย-กัมพูชา “บ้านคลองลึก” (ตลาดโรงเกลือ) เป็นแหล่งรวมสินค้าทั้งเสื้อผ้า เครื่องทองเหลือง กระเบื้องถ้วยชาม เครื่องไฟฟ้า เครื่องจักสาน ฯลฯ บางส่วนทำเกษตรกรรมมีทั้งปลูกข้าว มันสำปะหลัง เดี๋ยวนี้นิยมปลูกอ้อยส่งโรงงาน และเป็นแหล่งปลูกแคนตาลูปแห่งแรกของไทย

“สินค้าส่งออกของไทยไปกัมพูชาอันดับต้นๆ คือรถยนต์โดยเฉพาะแทรกเตอร์คูโบต้า รองลงมาเป็นสินค้าอุปโภคบริโภค ส่วนสินค้าที่ไทยนำเข้าจากกัมพูชาเยอะจะเป็นพวกเศษเหล็ก มันสำปะหลัง แล้วยังมีขนส่งระหว่างประเทศที่สามด้วย ทั้งที่ส่งจากไทยผ่านกัมพูชาไปเวียดนาม หรือเยอรมัน ญี่ปุ่น ส่งผ่านกัมพูชามาไทย”

thaicambodia02

ภูมิวัชร์ อุดมทรัพย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว แสดงทัศนะสอดคล้องกับ จารุวรรณเหมยากร นายด่านศุลกากรอรัญประเทศ

“ถ้าเป็นจุดผ่านแดนถาวรสินค้านำเข้าผ่านกัมพูชายังมีเลนส์แว่นตายี่ห้อโฮยาของบริษัทสัญชาติญี่ปุ่นที่มีโรงงานผลิตอยู่ในกัมพูชา นอกนั้นก็เป็นพวกเศษอะลูมิเนียม อะไหล่รถจักรยานยนต์ ส่วนด่านจุดผ่อนปรนพิเศษสินค้านำเข้าจะเป็นพวกอุปโภคบริโภคและมันสำปะหลัง สินค้าส่งออกของไทยไปกัมพูชาจะเป็นรถยนต์ คิดเป็น ๙ เปอร์เซ็นต์ของสินค้าส่งออกทั้งหมดซึ่งก็ถือเป็นอันดับหนึ่งแล้ว เพียงครึ่งปี ๒๕๖๗ ก็สร้างรายได้สามพันล้านบาท รองลงมาเป็นเครื่องดื่มสัดส่วนราว ๖ เปอร์เซ็นต์ น่าเสียดายที่ปลายปี ๒๕๖๕ เกิดอัคคีภัยบริเวณกาสิโนในเมืองปอยเปตที่อยู่ใกล้ด่านพรมแดนบ้านคลองลึก ส่งผลเสียหายต่อเศรษฐกิจระหว่างประเทศจากต้นปีที่ทำรายได้ราวแสนล้าน พอปลายปีเกิดไฟไหม้ส่งให้รายได้ปี ๒๕๖๖ ลดลงไปเยอะมาก”

thaicambodia03

ภูมิวัชร์รองผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว สลับเสริมเหตุผลสำคัญที่ต้องเร่งพัฒนาถนน-อาคารศุลกากรบริเวณ “จุดผ่านแดนถาวรบ้านหนองเอี่ยน-สตึงบท”

“ที่ผ่านมาสระแก้วมี ‘จุดผ่านแดนถาวรบ้านคลองลึก’ อำเภออรัญประเทศ กับ ‘จุดผ่านแดนถาวรบ้านเขาดิน’ อำเภอคลองหาด และมีจุดผ่อนปรนทางการค้า ๒ จุด คือ ‘จุดผ่อนปรนบ้านหนองปรือ’ อ.อรัญประเทศ และ ‘จุดผ่อนปรนตาพระยา-บึงตากวน’ อำเภอตาพระยา รวมมูลค่าทางการค้าชายแดนแสนกว่าล้านบาท แต่ละวันมีการเดินทางเข้า-ออกระหว่างไทย-กัมพูชาราว ๔ ล้านคน ทั้งผู้มาทำการค้าและนักท่องเที่ยว นับเฉพาะแรงงานต่างด้าวอย่างถูกกฏหมายภายใต้บันทึกข้อตกลง MOU ระหว่างรัฐบาลไทยกับกัมพูชาก็ไม่ต่ำกว่าวันละ ๔๐๐ คนแล้ว เพราะแม้มีช่องทางผ่านแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้านใน ๒๗ จังหวัด แต่ไม่ว่าเขาจะไปกรุงเทพฯ ชลบุรี ระยอง จันทบุรี หรือจังหวัดใดๆ และไม่ว่าจะมาจากไพลิน พนมเปญ พระตะบอง ที่อยู่ติดจังหวัดอื่นของไทยมากกว่าก็ต้องมาผ่านจุดผ่านแดนถาวรบ้านคลองลึกนี้เพราะต้องตรวจสุขภาพและรับฟังความรู้กฎหมายไทยก่อน”

นั่นทำให้จากที่รัฐบาลไทยมีแผนอยู่แล้วที่จะสร้างถนน-อาคารศุลกากรบริเวณ “จุดผ่านแดนถาวรบ้านหนองเอี่ยน-สตึงบท” ระหว่าง “บ้านหนองเอี่ยน” ตำบลท่าข้าม อำเภออรัญประเทศ กับ “บ้านสตึงบท” ของตำบลปอยเปต อำเภอโอร์จเริว เพื่อขยายระบบขนส่งสินค้าจากเดิมที่อยู่จุดผ่านแดนถาวรบ้านคลองลึก (บริเวณตลาดโรงเกลือ) ก็ต้องเร่งให้เสร็จเร็วขึ้น เพื่อแยกการเดินทางเข้าออกเมืองกับการขนส่งสินค้าผ่านแดน ให้จุดผ่านแดนถาวรบ้านคลองลึกแห่งเดิมรับการท่องเที่ยวและสัญจรของชาวบ้าน ส่วนจุดผ่านแดนถาวรแห่งใหม่จะเอื้อสำหรับการขนส่งสินค้าโดยเฉพาะ เพื่อลดความแออัดให้ผู้ประกอบการสามารถขนส่งได้รวดเร็วขึ้น

เพราะการค้าชายแดนในเขตอรัญประเทศถือเป็นพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญที่ไม่อาจรอ

thaicambodia04
บรรยากาศการค้าจุดผ่านแดนคลองลึก

:: ปอยเปต เขตมิตรภาพขแมร์ไทย ::

ไม่ได้มีแต่แรงงานจากปอยเปตข้ามไปทำงานในฝั่งไทยทุกวัน

คนไทยจำนวนไม่น้อยก็ข้ามมาปอยเปต เนื่องจากมีนักลงทุนไทยทำธุรกิจในเมืองนี้ทั้งตลาดค้าปลีกอย่างบิ๊กซี เซเว่น-อีเลฟเว่น รวมถึงร้านอาหารไทย คนไทยยังได้รับอนุญาตให้เข้าปอยเปตโดยไม่ต้องใช้หนังสือเดินทางเพราะรัฐบาลกัมพูชาถือเป็น “พื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ” (ถ้าออกนอกพื้นที่กาสิโนปอยเปตต้องใช้หนังสือเดินทาง)

อาณาเขตชายแดนจึงปนเปวัฒนธรรมผู้คนจนแทบแยกกันยาก

“โดยเฉพาะเรื่องอาหาร ผมว่าคนกัมพูชาก็กินคล้ายคนไทยนะ ทั้งรายการอาหารและรสชาติ ยิ่งบริเวณที่อยู่ติดกันแบบนี้ยิ่งคล้าย แต่ถ้าห่างกันมากขึ้นจากพรมแดนไปสัก ๕๐ กิโลเมตรอาจเริ่มต่าง อย่างการกินข้าวแกงถ้าเป็นคนไทยก็จะตักแกงราดข้าวใช่ไหมครับ แต่ชาวกัมพูชาจะตักกับข้าวเป็นถ้วยแยกไว้ รสเผ็ดก็จะเบาบางลงเรื่อยๆ ตามระยะห่างของชายแดน เมื่อเข้าสู่กรุงพนมเปญอาหารจะไม่เผ็ดเลย”

Roen Chay วัย ๕๕ ปี เจ้าของบริษัท Roen Chay Travel นำเที่ยวกัมพูชา แบ่งปันเกร็ดวิถี

thaicambodia05

“ชาวปอยเปตจะนำเข้าอาหาร วัตถุดิบ เครื่องอุปโภคบริโภคจากไทยแทบทั้งหมด เพราะสะดวกกว่ารับจากเมืองอื่นในประเทศเราเอง อย่างอาหารทะเลถ้าต้องรับมาจากทะเลของกัมพูชาซึ่งอยู่ห่างออกไปกว่า ๖๐๐ กิโลเมตรจะลำบากเรื่องการขนส่งมาก แต่รับจากตลาดอรัญประเทศแปบเดียวก็ถึง คนปอยเปตจึงได้กินอาหารทะเลที่สดกว่าคนในกรุงพนมเปญหรือเสียมเรียบซึ่งอยู่ห่างจากตรงนี้ราว ๔๒๐ กิโลเมตร พวกเขาจึงจะรับอาหารทะเลจากสีหนุวิลล์แทนเพราะระยะทางใกล้กว่า ๒๐๐ กิโลเมตร”

“ความจริงด่านปอยเปตนี้ถือว่าใหญ่ แต่ถนนก็ยังแคบเกินเพราะชุมชนมีขนาดใหญ่มาก ที่ผ่านมากัมพูชามีรายได้จากกาสิโนเป็นสำคัญ แต่การพัฒนาประเทศยังต้องเปิดรับนักลงทุนต่างชาติเข้ามาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งโรงแรม ศูนย์การค้า และกาสิโน ชายแดนปอยเปตจึงเป็นพื้นที่สร้างรายได้และความเจริญให้ชุมชน หลังไฟไหม้โรงแรมแกรนด์ไดมอนด์ซิตีในเมืองปอยเปตซึ่งเป็นอาคารสูง ๑๗ ชั้น ก็ยังไม่รู้ว่าอนาคตจะปรับปรุงเป็นอะไรแต่ตอนนี้ด้านหน้าเป็นร้านขายของชำที่มีผู้คนทำมาหากินประคองชีวิตกันวันต่อวัน เจ้าหน้าที่จุดผ่านแดนจะให้ผู้คนสัญจรได้ช่วงเช้าถึงบ่ายสามโมง จากนั้นจึงเป็นเวลาที่ให้รถบรรทุกสินค้าข้ามได้ ต้องรอเวลา”

thaicambodia08

ดังนั้นหากจะรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างมีประสิทธิภาพก็ต้องพัฒนาร่วมกันสองฝั่ง

นอกจากโครงการพัฒนาจุดผ่านแดนแห่งใหม่ รัฐไทยจึงอนุมัติงบให้กรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม ก่อสร้าง “สะพานมิตรภาพไทย-กัมพูชา” (บ้านหนองเอี่ยน-สตึงบท) โดยมีจุดสลับทิศทางจราจรพร้อมเชื่อมต่อกับถนนในฝั่งไทยระยะทาง ๔ กิโลเมตร ขนาด ๔ ช่องทางจราจร เริ่มจากจุดตัดระหว่างทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๓๖๔๖ กับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๓๓๖๖ จนถึงตัวสะพานข้าม “คลองพรมโหด” ซึ่งเป็นเขตแดนไทย-กัมพูชา

thaicambodia10

“ฝั่งซ้ายของ ‘คลองพรมโหด’ คือประเทศไทย ฝั่งขวาคือประเทศกัมพูชา ทุกวันนี้นอกจากการสัญจรทางจุดผ่านแดนถาวรแล้วชาวกัมพูชาที่ตั้งบ้านเรือนริมคลองก็ยังใช้เส้นทางธรรมชาตินี้สัญจรขนส่งสินค้า”

Roen Chay ไขความกระจ่างว่านั่นเองคือที่มาของชื่อสถานที่ “สตึงบท” (ស្ទឹងបត់) ในภาษาเขมรหมายถึงลำห้วยหรือคลองตามธรรมชาติ

ปัจจุบันสะพานมิตรภาพเปิดให้บริการเชื่อมสัมพันธไมตรีทางเศรษฐกิจแล้ว

โดยมีปลายทางทิศใต้เชื่อมต่อกับอาคารที่ทำการ “จุดผ่านแดนถาวรสตึงบท-บ้านหนองเอี่ยน”

thaicambodia11

:: จุดผ่านแดนถาวรสตึงบทอนาคตรถแล่นฉิว::

แล้วต้นปี ๒๕๖๗ ชาวเมืองปอยเปต-อรัญประเทศก็ได้ยิ้มกว้างอีก

เมื่อถึงคราวเปิดให้บริการ “อาคารด่านพรมแดน” และ “จุดผ่านแดนถาวรสตึงบท-บ้านหนองเอี่ยน” เต็มรูปแบบหลังจากที่ปี ๒๕๕๙ รัฐไทยอนุมัติงบให้กรมศุลกากรดำเนินการสร้าง ภายใต้ความร่วมมือของสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) กระทรวงการคลัง (สพพ.)

“เราเล็งเห็นว่าด่านพรมแดนแห่งเดิมมีการจราจรที่ติดขัดจริงๆ รถบรรทุกสินค้าก็หนาแน่น นักท่องเที่ยวที่ไปตลาดโรงเกลือก็มีการเติบโตสูง ถ้าพัฒนาทางสัญจรให้ลดปัญหาล่าช้าจากความแออัดขณะขนส่งสินค้าบริเวณด่านได้ รายได้ประเทศย่อมเพิ่ม สพพ. ในฐานะหน่วยงานของรัฐที่ให้ความร่วมมือในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมแก่ประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคจึงดำเนินนโยบายให้ความร่วมมือทางการเงินแก่กัมพูชาในลักษณะกู้ยืม ในส่วนของจุดผ่านแดนถาวรสตึงบทนี้ใช้งบราว ๙๐๐ ล้านบาท มีการคิดดอกเบี้ยโดยให้ระยะผ่อนชำระ ๒๕ ปี และปลอดหนี้ให้ในช่วง ๑๐ ปีแรก”

พีรเมศร์ วุฒิธรเนติรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) กระทรวงการคลัง (สพพ.) แสดงให้เห็นคุณค่าความร่วมมือยกระดับการพาณิชย์ระหว่างประเทศ

thaicambodia12
พีรเมศร์

ส่วนการสำรวจและก่อสร้าง คณะทำงานภายใต้ H.E. Mr. Chao Sopheakphibal อธิบดีกระทรวงโยธาธิการและขนส่ง ประเทศกัมพูชา ร่วมเสริมข้อมูลว่า

“จุดผ่านแดนถาวรสตรึงบทเป็นเส้นทางที่มีความสำคัญระดับอาเซียนนะครับ ไม่ใช่แค่ระหว่างปอยเปตกับอรัญประเทศ มันเกี่ยวข้องโดยตรงกับการขนส่งสินค้าทางบกโดยรถยนต์จากกรุงเทพมหานคร ผ่านอรัญประเทศของสระแก้ว เข้าบ็อนเตียย์เมียนเจ็ยไปกรุงพนมเปญ แล้วเชื่อมต่อจนถึงเวียดนาม ซึ่งประเทศเพื่อนบ้านอีกหลายประเทศก็จะได้ประโยชน์ในจุดผ่านแดนถาวรนี้ ดังนั้นการแยกเส้นทางคนออกจากเส้นทางรถขนส่งสินค้าแล้วทำให้ขั้นตอนตรวจสอบสินค้าเสร็จสิ้นภายใน ๑๕ นาที จึงทำให้ขนส่งสินค้าระหว่างประเทศได้รวดเร็วภายใน ๒๔ ชั่วโมง ที่ผ่านมายังไม่ได้เปิดใช้อย่างเป็นทางการแต่ก็มีปริมาณรถขนส่งสินค้าใช้บริการแล้ววันละ ๑๕๐-๓๐๐ คัน ถ้าเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการแล้วคะเนว่าจะมีรถขนส่งใช้บริการราววันละ ๖๐๐ คัน”

ซึ่งแม้การขนส่งสินค้าจะเป็นปัจจัยหลักในการพัฒนาจุดผ่านแดนถาวรสตึงบท แต่ในแง่เศรษฐกิจก็ได้ใช้พัฒนาการท่องเที่ยวไปในตัว และอนาคตอันใกล้ถนนที่โยงมายังจุดผ่านแดนถาวรนี้จะทำหน้าที่เชื่อมต่อกับ “ถนนหมายเลข ๕” (AH1) หนึ่งในเครือข่ายทางหลวงสายเอเชีย

ไม่เพียงอำนวยความสะดวกด้านการค้าการลงทุนในระดับอาเซียนมากขึ้น

ยังได้พัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่นั้นๆ ไปในตัว

:: ถนนท่องเที่ยวกัมพูชาไทย::

รสบัสเคลื่อนจากตำบลปอยเปต อำเภอโอร์จเริว จังหวัดบ็อนเตียย์เมียนเจ็ย

มุ่งสู่จังหวัดเสียมเรียบที่ตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศกัมพูชา

ปลายทางคือการเยือน “นครวัด” แหล่งท่องเที่ยวสำคัญที่มีผู้มาปีละล้านกว่าคน และกลุ่มปราสาทหินบางแห่งจากอาณาจักรขอมโดยใช้เส้นทาง “ถนนหมายเลข ๕” (AH1) หนึ่งในทางหลวงสายเอเชียที่เชื่อมภูมิภาค

บรรดาเครือข่ายทางหลวงสายเอเชีย (Asian Highway หรือ AH) “ทางหลวงเอเชียสาย ๑” (AH1) ถือเป็นถนนที่ยาวสุดด้วยระยะทางกว่าสองหมื่นกิโลเมตร เริ่มต้นจากโตเกียว ญี่ปุ่น ผ่านเกาหลี จีน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (แผ่นดินใหญ่) อินเดีย ปากีสถาน อัฟกานิสถาน และอิหร่าน สิ้นสุดที่ตุรกี และบัลแกเรีย

ช่วงผ่านไทยจะเรียก “ทางหลวงเอเชียสาย ๑” เริ่มจากพรมแดนติดเมียนมาร์ที่อำเภอแม่สอดในจังหวัดตาก ผ่านนครสวรรค์ นครนายก ปราจีนบุรี จดพรมแดนตะวันออกติดกัมพูชาที่อำเภออรัญประเทศในจังหวัดสระแก้ว รวมระยะทาง ๗๐๓ กิโลเมตร แล้วเมื่อเข้าสู่ตำบลปอยเปต อำเภอโอร์จเริว จังหวัดบ็อนเตียย์เมียนเจ็ย ทิศตะวันตกของกัมพูชาจะเรียก “ทางหลวงแห่งชาติ ๕” (AH1) เรียกตามชาวบ้านว่า “ถนนหมายเลข ๕” มีความยาว ๔๐๗.๔๕ กิโลเมตร นำทางเชื่อมต่อจากไทยสู่จังหวัดพนมเปญเมืองหลวงของกัมพูชา

“คือถ้ามาจาก ‘บ้านคลองลึก’ ตลาดโรงเกลือของไทย จะวิ่งผ่านศรีโสภณเมืองหลวงของจังหวัดบ็อนเตียย์เมียนเจ็ย ด้วยถนนหมายเลข ๕ ตลอดสายกระทั่งถึงจังหวัดพระตะบองที่อยู่ทางตะวันตกของกัมพูชา มีเขตติดต่อกับสระแก้วและจันทบุรีของไทย ถนนสายนี้จึงจะมีทางแยกซ้าย-ขวา หากไปขวาจะเชื่อมต่อ ‘ถนนหมายเลข ๑๐’ เป็นเส้นทางจากพระตะบองไปจังหวัดไพลินที่อยู่ติดจันทบุรีของไทย หากไปทางซ้ายก็จะสิ้นสุดที่พนมเปญ แล้วถ้าข้ามแม่น้ำโขงไปก็จะเป็น ‘ถนนหมายเลข ๑’ เชื่อมต่อระหว่างกรุงพนมเปญ ผ่านจังหวัดกันดาล จังหวัดไพรแวง และสิ้นสุดที่เมืองบาเวต จังหวัดสวายเรียง ที่พรมแดนประเทศเวียดนาม”

Roen Chay มัคคุเทศน์ชาวกัมพูชาเล่าเกร็ดประวัติศาสตร์น่าสนใจเกี่ยวกับทางถนนของกัมพูชา

“เชื่อไหมครับเมื่อสัก ๒๐ ปีที่แล้วนี้เอง การสัญจรในระยะทาง ๑๕๐ กิโลเมตร จากปอยเปตไปเสียมเรียบต้องใช้เวลาเดินทางถึง ๑๒ ชั่วโมง เริ่มต้นออกเดินทางตั้งแต่หกโมงเช้ากว่าจะถึงก็หกโมงเย็น เพราะถนนหนทางในบ้านเรามันถูกทำลายไปหมดในช่วงสงคราม ไม่เหลือกระทั่งทางลูกรังด้วยซ้ำ”

“ช่วงที่องค์การบริหารชั่วคราวแห่งสหประชาชาติในกัมพูชาขึ้นมาปกครองก็เคยมีบริษัทหนึ่งประมูลสร้างถนนจากตรงนี้ไปศรีโสภณด้วยระยะทาง ๕๐ กิโลเมตร แต่ไม่นานก็พังครับเพราะถนนสายนี้รองรับธุรกิจการค้าระหว่างไทย-กัมพูชาค่อนข้างหนัก ขนส่งโดยรถบรรทุกเกินกำลังตลอด พอหลังสงครามเมื่อกัมพูชาฟื้นฟูประเทศได้ก็กลับมาพัฒนาถนนสายนี้อีกครั้ง คราวนี้มีการออกกฎหมายจำกัดทั้งน้ำหนักบรรทุกและความเร็ว ทุกคนต้องเคารพป้ายจราจร ถ้าบอกให้ขับได้ความเร็วไม่เกิน ๖๐ ก็ต้องไม่เกิน ถ้าเป็นถนนในเขตชุมชนจะให้วิ่งได้ไม่เกิน ๔๐ นั่นทำให้แม้ว่าปัจจุบันการสัญจรในระยะทาง ๑๕๐ กิโลเมตร จากปอยเปตไปเสียมเรียบจะใช้เวลาเพียง ๒ ชั่วโมงครึ่งแล้ว ชาวบ้านก็ยังติดพฤติกรรมเดิม จะเฉลี่ยเวลาเดินทางเผื่อไว้ราว ๕๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมง”

ตลอดวันที่มีโอกาสใช้เส้นทาง “ถนนหมายเลข ๕” (AH1) สำรวจเส้นทางการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวในจังหวัดเสียมเรียบ ลอบสังเกตพฤติกรรมผู้คนทั้งเจ้าบ้านและนักท่องเที่ยวที่มาเยือนกัมพูชา ซึ่งหลายสิ่งคนไทยรู้สึกคุ้นชินด้วยความที่มีรากอารยธรรมคล้ายคลึง แต่เห็นได้ชัดว่าฝรั่งตาน้ำข้าวสนใจมาก ทั้งพืชผักผลไม้ การทักทายด้วยกริยา “ซ็อมเปียะ” (សំពះ) คล้ายการไหว้ของไทย หรืองานบุญที่จัดช่วงเวลาเดียวกัน อย่างมาฆบูชาหรือวิสาขบูชา วันที่เรามาเยือนทางที่พักห้าดาวอย่างโรงแรม ปาร์ค ไฮแอท เสียมเรียบ (Park Hyatt Siem Reap) ก็จัดกิจกรรมจำลอง “บุญอมตูก” (ពិធី​បុណ្យ​អុំ​ទូក) ประเพณีขอบคุณสายน้ำที่กัมพูชาจัดทุกปีในพฤศจิกายนเพื่อระลึกถึงการสิ้นสุดของฤดูฝนและขอบคุณแม่น้ำโขงกับโตนเลสาบที่นำความอุดมสมบูรณ์สู่กัมพูชา ชาวบ้านจะประดิษฐ์กระทงลอยน้ำ เช่นงานลอยกระทงในไทยที่ระลึก-ขอบคุณแม่น้ำคงคา

ไปจนร้านอาหารต่างๆ ที่รองรับนักท่องเที่ยวด้วยศิลปวัฒนธรรมแบบขแมร์ อย่างร้าน “Morakot Angkor Restaurant” ระหว่างมื้อจะต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติด้วยการแสดงนาฏศิลป์ “ละโคนโขล” เรื่อง “เรียมเกร์” ( រាមកេរ្តិ៍,) ที่คนไทยรู้จักในชื่อ “ละครโขน” เรื่อง “รามเกียรติ์” ซึ่งต่างก็มีเค้าเดิมจากมหากาพย์รามายณะของอินเดีย แต่เรียมเกร์ฉบับกัมพูชาจะมีเงาะป่าร่วมศึกสงครามด้วย นิยมแสดงตอนกุมภกรรณ และศึกไมยราพ

thaicambodia29

แม้แต่ตลาดกลางคืน “O’Market” (Siem Reap Walking Street) ที่สายตาคนไทยอย่างเราเห็นว่าสินค้าที่จำหน่ายล้วนไม่ต่างกับถนนคนเดินในไทยจนเผลอคิดว่ารับจากที่เดียวกัน แต่หากมองด้วยใจเป็นกลาง เราต่างสามารถ “made in” โดยไม่ต้องรับจากใคร ที่เหมือนก็ไม่แปลกเพราะต่างใช้วัฒนธรรมร่วมอุษาคเนย์ แล้วถ้าเข้าใกล้สินค้าก็ย่อมเห็นว่าถนนคนเดินในแบบกัมพูชาก็มีอัตลักษณ์ที่เป็นของดีเฉพาะบ้านตน อย่างรูปสัญลักษณ์นครวัด-นครธม ปราสาทตาพรหม ปราสาทบายน ฯลฯ

thaicambodia30

แม่เหล็กที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวทั่วโลกมากัมพูชาคือ “นครวัด” (អង្គរវត្ត) ไม่เพียงเป็นโบราณสถานหมู่ปราสาทและศาสนสถานที่ใหญ่สุดในโลกยังได้รับยกย่องเป็น ๑ ใน ๗ สิ่งมหัศจรรย์ของโลกและได้ขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกโดยยูเนสโก การจะเที่ยวชมหมู่ปราสาทสำคัญให้ครบแบบได้ละเมียดละไมกับงานแกะสลักด้วยอาจต้องใช้เวลาหลายวัน (นอกจากนครวัด ที่นิยมรองลงมาคือ “กลุ่มปราสาทนครธม” เช่น ตาพรหม และบายน) จึงมีการจำหน่ายบัตรเข้าชมทั้งแบบ ๑ วัน ๓ วัน และ ๗ วัน

ซึ่งที่ผ่านมา พอเที่ยวในเมืองเสียมเรียบเสร็จ นักท่องเที่ยวต่างชาติมักขึ้นเครื่องบินจาก “ท่าอากาศยานนานาชาติเสียมราฐ–อังกอร์” (អាកាសយានដ្ឋានអន្តរជាតិសៀមរាបអង្គរ) ที่อยู่ห่างนครวัดทางตะวันออก ๔๐ กิโลเมตร และห่างจากตัวเมืองเสียมเรียบทางตะวันออก ๕๐ กิโลเมตร เพื่อกลับประเทศตน

thaicambodia38

จึงน่าจะดีถ้าประเทศไทยดึงดูดให้ต่างชาติมาเที่ยวต่อได้ด้วยเส้นทางบกที่ใช้เวลาเดินทางไม่นานเกิน

“เรายังมองเห็นความสำคัญของการเชื่อมต่อถนนจากเสียมเรียบเข้าจังหวัดสุรินทร์ด้วยครับ เนื่องจากมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเยอะมากมาท่องเที่ยวนครวัดซึ่งเป็นมรดกโลก ซึ่งมีจำนวนไม่น้อยที่บินมาลงกรุงเทพฯ ก่อนค่อยไปเที่ยวกัมพูชาต่อ ถ้าเราสามารถทำให้เขาแวะท่องเที่ยวสุรินทร์หรือศรีสะเกษก่อนค่อยไปเสียมเรียบหรือเที่ยวกัมพูชาเสร็จแล้วแทนที่จะบินกลับเลยก็นั่งรถอีกนิดไม่เกิน ๒ ชั่วโมง ข้ามมาเที่ยวสุรินทร์หรือศรีสะเกษก่อนได้ก็จะดีมากๆ เลย มันเป็นโอกาสที่จะได้พัฒนาเศรษฐกิจ ในอนาคตเราจึงวางแผนพัฒนาถนนให้ประเทศเพื่อนบ้านต่ออีก ๒ โครงการ เพื่อเชื่อมจากเสียมเรียบเข้าสู่ไทยในจังหวัดสุรินทร์และศรีสะเกษ การช่วยพัฒนาให้เพื่อนบ้านมีความพร้อมเป็นยุทธศาสตร์ทางการค้าที่สำคัญของไทย”

ผอ.พีรเมศร์ ผู้บริหาร สพพ. เปรยว่านอกจากจุดผ่านแดนถาวรสตรึงบท ในอนาคตยังมีโครงการปรับปรุงถนนสาย ๖๗ ที่เชื่อมต่อจาก “จุดผ่านแดนถาวรช่องสะงำ” อำเภอภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ กับ “จุดผ่านแดนถาวรช่องจวม” อำเภออัลลองเวง จังหวัดอุดดอร์เมียนเจ็ย เพื่อมุ่งสู่จังหวัดเสียมเรียบ

“ไทยเองก็ได้ประโยชน์จากความเชื่อมโยงเส้นทางอย่างไร้รอยต่อ ทั้งความสะดวกการค้าในภูมิภาคและเพิ่มโอกาสการท่องเที่ยว ผู้ประกอบการท่องเที่ยวทั้งไทยและกัมพูชาสามารถใช้เป็นถนนสายประวัติศาสตร์นำชมปราสาทหินและแหล่งโบราณคดีจากอีสานใต้ตั้งแต่จังหวัดบุรีรัมย์-สุรินทร์-ศรีสะเกษ ไปยังแหล่งโบราณคดีนครวัดในจังหวัดเสียมเรียบ เติมเต็มเกร็ดวัฒนธรรมของทั้งสองประเทศที่ไม่อาจแยกจากกันได้ หรือถ้าชอบแนวธรรมชาติก็ใช้เส้นทางเที่ยวผามออีแดง จังหวัดศรีสะเกษ ไปพนมกุเลนและโตนเลสาบในจังหวัดเสียมเรียบได้”

นอกจากภาพสังคมขนาดใหญ่ ยังน่าสนใจการได้ช่วยยกระดับชีวิตให้คนตัวเล็กตัวน้อยโดยเฉพาะชาวกัมพูชากว่าหมื่นครอบครัวที่อาศัยตามแนวเส้นทางจังหวัดอุดดอร์เมียนเจ็ยและจังหวัดเสียมเรียบให้ได้เข้าถึงสถานศึกษาและสถานบริการสาธารณสุขได้รวดเร็วขึ้น

เพราะถนนที่ดีไม่เพียงส่งเสริมการสัญจรไปข้างหน้า

ยังได้นำพามิตรภาพให้แล่นฉิวสู่ความเจริญด้วยกัน

thaicambodia41