“ปรบมือให้ตัวเองกันสักหน่อย เก่งมากที่มาอยู่ตรงนี้ ครูได้ดูงานทุกคนแล้ว พวกคุณทุกคนทำสารคดีเป็นแล้ว แต่ทำอย่างไรจะดีขึ้น อะไรที่ต้องพัฒนาปรับปรุงเพื่อไปต่อ”
หลังจากน้องๆ แยกย้ายกันไปลงพื้นที่ สร้างผลงานสารคดีหัวข้อ “อยู่ดีตายดี” ของตนเองเป็นเวลาเดือนกว่าๆ 21 กันยายน น้องๆ ค่ายสารคดี ครั้งที่ 19 ได้กลับมารวมตัวกันอีกครั้งที่อาศรมวงศ์สนิท จังหวัดนครนายก เพื่อรับฟังคำติชมจากครูประจำกลุ่มและปรับแก้งานเป็นครั้งสุดท้าย
“เป็นอย่างไรบ้าง ทำงานชิ้นนี้” ทีมงานค่ายถาม
“ตอนแรกหัวข้อมันก็มีภาพในใจบางอย่างค่ะ พอได้ลงทำไปจริงๆ มันก็ได้มุมมองเรื่องงานอีกแบบที่เราเรียนรู้จากมันได้”“ท้าทายดีครับ รู้สึกว่าทำงานกับคู่ได้ดีขึ้น แล้วก็แก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ดีกว่างานที่แล้วครับ”
กระบวนการผลิตงานสารคดีนั้นไม่ได้มีเพียงการค้นคว้า ลงพื้นที่ เก็บข้อมูลและเรียบเรียงออกมาเป็นชิ้นงาน แต่น้องๆ ทุกคนมีทีมครูค่ายคอยรับบทเป็นทั้งบรรณาธิการและผู้ชมคนแรก ที่ตั้งใจดูงานแต่ละชิ้นอย่างถี่ถ้วน ชี้จุดที่เป็นเอกลักษณ์อยากให้คงไว้ บอกจุดที่ควรแก้ไขเพื่อทำให้ประเด็นในงานแหลมคม เพื่อนำเรื่องราวการ “อยู่ดีตายดี” ที่ทุกคนไปเก็บมาส่งต่อสู่สังคม
“การเก็บข้อมูลคือการเก็บรายละเอียด แล้วบรรยายออกมา แค่เล่าข้อมูลเล่าความจริง ใครๆ เขาก็ทำกัน แต่การเล่าความจริงให้แปลกใหม่ ให้สนุกคือโจทย์ที่เราอยากเห็น คุณจะสร้างงานศิลปะ คุณต้องสรรค์สร้างวิธีการเล่าข้อมูล นี่เองคือวิธีการทางวรรณศิลป์”
จากโครงสร้างหลัก ชื่อเรื่อง เปิดเรื่อง ตัวเรื่อง และปิดเรื่อง ที่ต้องนำมาเสนออย่างมีชั้นเชิง อาจสลับท่อน ปรับตอน เรียงลำดับใหม่ เพื่อสร้างเสน่ห์ให้กับการอ่าน งานวิดีโออาจต้องเพิ่มการปูประเด็นให้ผู้ชมเข้าใจบริบทสังคมที่เรากำลังจะนำเสนอ ใส่ใจกับรายละเอียดเล็กๆ ตั้งแต่ซับไตเติ้ลไปจนถึงเสียงดนตรีประกอบ ส่วนงานชุดภาพถ่ายอาจต้องกลับมาค้นดูภาพนับร้อยพันอีกครั้งเพื่อหาภาพเปิด ภาพปิด ภาพเล่าเรื่องที่สื่อสารทั้งเนื้อหาและอารมณ์ที่จะดึงดูดผู้ชม
ตั้งแต่บ่ายเป็นต้นไปจนถึงเที่ยงคืน คือช่วงเวลาของการแก้ไข โดยมีครูช่วยให้คำแนะนำใกล้ชิด ขอเป็นกำลังใจให้นักสารคดีรุ่นใหม่ผ่านพ้นโค้งสุดท้ายนี้ไปได้ด้วยดี
สนับสนุนโดย
- วิริยะประกันภัย
- สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
- มูลนิธิเล็กประไพวิริยะพันธุ์
- Nikon
- STM
- Saramonic
- กลุ่มธุรกิจ tcp
กิจกรรมโดย
Sarakadee Magazine