กฤษณา หรนจันทร์ : เรื่อง
สิรินธร เผ่าพงษ์ไทย : ภาพ
แดดบ่ายอันร้อนอบอ้าวของจังหวัดอุทัยธานีสาดแสงแรงกล้าลงบนร้านรวงมากมายในเขตตัวเมือง เมฆครึ้มลอยอยู่บนท้องฟ้า ทว่ากลับไม่มีทีท่าของฝนห่าใหญ่ เมืองอุทัยธานีค่อนข้างเงียบสงบแม้จะมีผู้คนสัญจรไปมาตลอดเวลา ร้านขายขนมและของฝากเรียงรายตามถนนแต่ละสาย แซมด้วยร้านขายผลไม้ที่มีกล้วยและส้มโอจัดวางเป็นระเบียบ ร้านอาหารรวมถึงคาเฟ่กระจายอยู่โดยรอบเช่นเดียวกับวัดวาอาราม
แม่น้ำสะแกกรังไหลเอื่อย เรือนแพ กระชังปลา เตยหอม และผักตบชวาลอยอยู่บนผิวน้ำ มีเรือไม่มากนัก อีกฟากของแม่น้ำสะแกกรัง วิหารของวัดอุโปสถารามหรือวัดโบสถ์ วัดคู่บ้านคู่เมืองซึ่งมีอายุยาวนาน ๒๐๐ กว่าปีเปล่งประกายระยิบระยับจากแสงแดด แสดงให้เห็นประติมากรรมเล็กๆ เหนือประตูวิหาร สะพานข้ามแม่น้ำที่กว้างเพียงรถจักรยานยนต์สองคันจะขี่สวนกันได้เชื่อมสองฝั่งของเมืองอุทัยฯ เข้าด้วยกัน อำนวยความสะดวกในการคมนาคมแก่ผู้คนจากที่ตั้งของตลาดเช้า ณ ลานสะแกกรัง ไปสู่อีกฝั่งของเมืองที่น้อยคนจะรู้ว่ามีความงดงามซุกซ่อนอยู่


อีกฟากของแม่น้ำสะแกกรัง
ในตำบลเกาะเทโพ ส่วนหนึ่งของอำเภอเมืองอุทัยธานี ซึ่งถูกโอบล้อมด้วยแม่น้ำสะแกกรังและแม่น้ำเจ้าพระยาที่ไหลมาบรรจบกันจนเป็นเกาะน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย นาข้าวสองข้างทางเริ่มสุกเหลืองอร่ามพร้อมถูกเก็บเกี่ยว บ้างเป็นไร่ข้าวโพดที่เพิ่งเพาะปลูก บ้างเป็นบ้านเรือนที่กำลังสร้าง ทันทีที่ข้ามมาอีกฟากของแม่น้ำสะแกกรัง ภูมิทัศน์โดยรอบก็ลบเลือนภาพชุมชนเมืองที่เคยเห็นก่อนหน้า กลับปรากฏต้นไม้ยืนต้นเขียวขจีบนผืนดินกว้างไกล มีไม้ใหญ่แปลกตาแผ่กิ่งก้านเป็นระเบียบสูงชะลูดทั่วบริเวณ ทั้งในนาข้าว ไร่ข้าวโพด กระทั่งป่าไผ่ที่มีมากมายในพื้นที่
ผ่านธรรมชาติของตำบลเกาะเทโพไปสู่ตำบลสะแกกรัง บ้านปูนชั้นเดียวหลังหนึ่งตั้งอยู่ไม่ไกลจากแม่น้ำสะแกกรังนัก พื้นดินใต้ตัวบ้านถมสูงขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับรอบตัวบ้านที่รายล้อมด้วยดอกไม้หลากสีโดยเฉพาะกุหลาบนานาพันธุ์และดอกพุทธรักษาสีแสด มีต้นเคราฤษีในกระถางปูนปั้นน่ารักแขวนอยู่บนรั้วบ้านมากเกินจะนับ ปรากฏหญิงสูงวัย ผิวขาวรูปร่างเล็ก รอยยิ้มเปื้อนหน้า พร้อมชายสูงวัยในชุดลำลอง สองสามีภรรยาวัยไล่เลี่ยกันซึ่งมีรอยยิ้มอบอุ่น
เล็ก–ละเอียด วิศิษฎ์รุ่งเรือง อายุ ๗๐ ปี และ เนี้ยว–โสภณ วิศิษฎ์รุ่งเรือง อายุ ๖๙ ปี คู่สามีภรรยาผู้เป็นเจ้าของบ้านและสวนผลไม้เนื้อที่หลายไร่ฝั่งตรงข้าม ละเอียดเล่าว่าตนเป็นคนอุทัยฯ แท้ๆ เกิดที่บ้านน้ำตก ตำบลสะแกกรัง ทำอาชีพค้าขายและทำสวน เติบโตมากับสวนส้มโอตั้งแต่จำความได้ ก่อนจะหยุดแล้วย้ายตามสามี (โสภณ) ที่เป็นข้าราชการไปอยู่จังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ อาทิ ภูเก็ต แพร่ สุโขทัย ชัยนาท ฯลฯ ก่อนจะย้ายกลับมาบ้านน้ำตกในปี ๒๕๒๗ ประจวบกับที่พ่อและแม่ของละเอียดเรียกให้กลับมา “รับสมบัติ” ตามคำบอกเล่าของเธอ ทั้งคู่มีลูกสองคนซึ่งปัจจุบันเรียนจบและทำงานอยู่ที่จังหวัดอื่น บ้านหลังนี้จึงมีเพียงสองสามีภรรยาเท่านั้น
“เมื่อก่อนตอนลุงจีบป้า ไม่ได้มีทาง (ถนน) แบบนี้ เป็นทางดิน บ้านลุงอยู่ในตลาด ยังไม่มีสะพานวัดโบสถ์ที่เชื่อมระหว่างฝั่งตลาดของเมืองอุทัยฯ กับฝั่งเกาะเทโพ ลุงต้องโบกเรือจ้างข้ามมา แล้วปั่นจักรยานบ้างวิ่งบ้าง”
“เจอกันที่ฝั่งเมืองอุทัยฯ เพราะไปเที่ยวงาน ลุงเขาข้ามฝั่งมาหาแล้วต้องว่ายน้ำกลับ เพราะไม่มีเรือรับ บางทีมาหาแล้วก็ไม่ยอมกลับ มืดก็ไม่กลับ” ละเอียดอมยิ้มบางๆ ระหว่างเล่า “ตอนแต่งงานลุงเขาต้องแห่ขันหมากข้ามฝั่งมาขอ” ก่อนจะให้ดูภาพพิธีแต่งงานซึ่งจัดที่บ้าน เธออยู่ในชุดผ้าไทยสีฟ้าเรียบง่ายรับบทเจ้าสาวในวันนั้น


ส้มโอบ้านน้ำตก ผลไม้ในคำขวัญจังหวัดอุทัยธานีที่ดิ้นรนเพื่อมีชีวิต
เมื่อเดินเข้าไปภายในสวนส้มโอพบว่ามีผลไม้อื่นๆ ปลูกด้วย เป็นสวนแบบผสมผสานที่มีผลไม้หลากชนิด ทั้งส้มโอ กระท้อน ขนุน กล้วย ฝรั่งกิมจู และส้มซ่า
ส้มโอในสวนของละเอียดมีมากถึงห้าสายพันธุ์ ทว่าสองสายพันธุ์ที่โดดเด่นเป็นพิเศษ คือขาวแตงกวาและขาวอุทัย โดยขาวอุทัยคือสายพันธุ์ดั้งเดิมที่ทำให้มีชื่อ “ส้มโอบ้านน้ำตก” ในคำขวัญประจำจังหวัดอุทัยธานี
“เกิดมาก็เจอส้มโอ” เธอบอก ก่อนที่โสภณจะเสริมถึงความแตกต่างของส้มโอทั้งสองสายพันธุ์ “กุ้ง1ของขาวแตงกวาจะใหญ่ ขาวอุทัยจะเล็กและรสชาติเข้มกว่า เป็นส้มโอบ้านน้ำตก”
“ขาวอุทัยกับขาวแตงกวาแตกต่างกันยังไง ดูที่ต้น ถ้าขาวอุทัยจะมีแรงต้านทานโรคแคงเกอร์ (โรคขี้กลาก) สูงกว่าขาวแตงกวา อันนี้คือคุณสมบัติเด่น ที่เราไปเห็นตามต้นส้มแล้วยางไหล เขาเรียกแคงเกอร์กิน พันธุ์ขาวอุทัยจะต้านทานได้ดีมาก พันธุ์อื่นสู้แคงเกอร์ไม่ไหว พอเป็นก็ล้ม ยางไหลแล้วรากจะเน่า” เขาอธิบายการแยกส้มโอทั้งสองพันธุ์ที่มากกว่าเรื่องรสชาติ
ส้มโอบ้านน้ำตกมีรสสัมผัสเปรี้ยวหวานลงตัว ราวกับแม่น้ำสะแกกรังได้พัดพาความอุดมสมบูรณ์จากทั่วทุกแห่งมาเสกสรรค์รสชาติอันเข้มข้นเป็นเอกลักษณ์ให้ ทว่าเมื่อที่ตั้งของบ้านน้ำตกถูกโอบล้อมด้วยแม่น้ำสองสายสำคัญ จึงเกิดอุทกภัยบ่อยครั้ง ธรรมชาติของส้มโอแม้เป็นพืชที่ชอบความชื้น แต่ไม่ชอบน้ำขัง รากของส้มโอจึงเน่าและต้นก็ตายในที่สุด
“ปลูกส้มโอมาตลอด พอน้ำท่วมก็หยุด หยุดแล้วก็ปลูก ปลูกแล้วก็หยุด พอน้ำท่วมตายก็เริ่มใหม่อีก ส้มโอตายหมดตอนน้ำท่วมใหญ่ปี ๒๕๕๔ ท่วมสวนมิดเลย เมื่อก่อนปลูกส้มโอเยอะมาก นี่ปลูกใหม่รอบที่ห้าแล้ว”
ละเอียดเล่าว่าส้มโอบ้านน้ำตกเคยรสชาติดีกว่านี้ ผืนดินเคยอุดมสมบูรณ์กว่า ปัจจุบันขาดแร่ธาตุในดิน เมื่อดินและอากาศเปลี่ยน ส้มโอก็เปลี่ยนรสชาติไปด้วย ประกอบกับเธอไม่ใช้สารเคมีปล่อยให้ส้มโอเติบโตตามธรรมชาติ ไม่ใส่ปุ๋ย มีเพียงโสภณทำหน้าที่ตัดหญ้าในทุกๆ ปี เพื่อให้หญ้านั้นกลายเป็นปุ๋ยแทน
“มันเป็นความรู้สึกว่าเราปลูกเป็นอย่างเดียว เรามีความรู้ด้านนี้ ตั้งแต่ตอน ขยายพันธุ์เอง ไม่เคยซื้อ รู้ว่าจะรักษาแบบใดโรคแมลงเป็นยังไง ขั้นตอนไหนควรใช้ยา จนอายุมากแล้ว เคยปลูกอย่างไรก็ปลูกอย่างนั้น”
ความพยายามของละเอียดและโสภณในการปลูกส้มโอบ้านน้ำตกดูจะมีไม่สิ้นสุด ทว่าแท้จริงไม่ว่าใครก็คงยากจะต่อลมหายใจให้ส้มโอบ้านน้ำตกได้ นอกจากพวกเขา และคำขวัญของจังหวัดอุทัยธานีคงไม่สมบูรณ์เมื่อไร้ส้มโอบ้านน้ำตก

ทัศนียภาพเบื้องหลังยางนา เมื่อธรรมชาติล้มหายตายจาก
ถัดจากสวนส้มโอไปไม่ไกล ยางนาเก่าแก่หลายต้นเจริญเติบโตอยู่บนที่ดินของสองสามีภรรยา รวมถึงยางนาที่ทั้งคู่ปลูกขึ้นเองเมื่อ ๓๐ปีที่แล้วหลังย้ายกลับมาอุทัยธานี เพื่อให้เป็นป่าสำหรับชุมชน ในสวนประกอบด้วยยางนาขนาด ๑๐ คนโอบหลายต้น บางต้นอายุนับร้อยปี เติบโตคู่มากับผืนดินลุ่มแม่น้ำสะแกกรัง และด้วยต้นยางนาเหล่านี้จึงทำให้ยังมีไก่ป่าอาศัยอยู่
“ที่ว่าทำไมต้นยางมีมาก เพราะเวลาขยายพันธุ์ เมล็ดจะมีปีกหมุนลอยไปเรื่อยๆ ตกตรงไหนก็ขึ้นตรงนั้น แถวนี้ถึงมียางมากมาย แล้วยางนาเป็นต้นไม้ที่น้ำท่วมไม่ตาย ที่นี่ก็เลยมีเยอะ สมัยก่อนพ่อตาลุงเล่าว่าตัดไปไม่ใช่น้อยนะ เขาจะเลือกตัดเฉพาะต้นสวยๆ ตรงๆ ที่เหลือให้พวกเราเห็นนี่เป็นประเภทที่เขาไม่เอาแล้ว มันถึงเติบใหญ่อย่างนี้”
“ใครจะนึกว่าข้ามสะพานวัดโบสถ์มาปุ๊บจะพลิกจากสภาพที่เจริญแล้วกลายเป็นคล้ายๆ ทุกอย่างหยุดนิ่ง ถ้าอยู่ฝั่งโน้นกับฝั่งนี้จะต่างกันเลย ทางนู้นร้อน พอข้ามสะพานมาอากาศจะเย็นมาก ลุงถึงอยากมาอยู่ที่นี่เพราะอากาศดี
ที่ดินแถวนี้ราคาสูง หลายคนซื้อไว้เพื่อมาอยู่อาศัย เขาซื้อธรรมชาติ เพราะธรรมชาติมีราคา มันจะเพิ่มมูลค่า ถ้าเรารักษาเขาไว้” โสภณกล่าว
ยางนาในแถบนี้ถูกโค่นไปมากมายด้วยหลากจุดประสงค์ สายน้ำในแม่น้ำสะแกกรังค่อยๆ เปลี่ยนแปลงทีละนิด หลายสิ่งเลือนหายตามกาลเวลา แต่ยางนายังหยั่งรากลงไปในผืนดินลึกขึ้นทุกๆ วัน
“คนที่เข้ามาโค่นต้นไม้เนี่ย คนที่นี่จะไม่ค่อยชอบ แต่ก็เป็นสิทธิของเขา เพราะนั่นคือโฉนดของเขา” ประเด็นเรื่องการเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. ๒๕๖๖ ระบุว่าบุคคลใดมีที่ดินแต่ปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ทำประโยชน์จะถูกจัดเป็นที่รกร้างว่างเปล่า ต้องเสียภาษีมากถึง ๓ เปอร์เซ็นต์ ซึ่งแพงสุดในบรรดาภาษีที่ดินฯ ทั้งสี่ประเภท นี่เป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้ชาวบ้านบางส่วนถางต้นยางนาออก เพราะมองว่าให้ผลผลิตไม่ได้
“กฎหมายออกมาดีนะ สำหรับคนมีที่ดินมากแล้วไม่ทำ แต่สุดท้ายแล้วก็หนีไม่พ้นปัญญามนุษย์หรอก มนุษย์น่ะคิดออกไปข้างๆ จนได้ ปลูกกล้วยบ้าง อย่างอื่นบ้าง ให้เห็นว่าทำการเกษตร แต่จริงๆเพื่อไม่ต้องเสียภาษี”
“ต้นไม้แต่ละต้นใช้เวลาโตหลายปี ๓๐-๕๐ ปี แต่พอเจอเลื่อยไฟฟ้าต้นไม้ก็หายไปภายในพริบตา คนนำต้นยางมาขายบ้าง ปลูกบ้านบ้าง” ละเอียดเสริมว่าที่นี่เคยอุดมสมบูรณ์มากถึงขั้นมีเห็ดงอกขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศ
“เมื่อก่อนต้นยางมันมาก สมัยลุงอายุ ๑๔-๑๕ มองบนฟ้าไม่เห็นพระอาทิตย์ แถวข้างบ้านนี่ก็ต้นไม้ใหญ่ทั้งนั้น พอน้ำท่วมก็ตายบ้าง เปลี่ยนแปลงสภาพไป” โสภณบอกความรู้สึกจากวันที่ต้นยางนาใหญ่โตจนแทบปกคลุมท้องฟ้า สู่วันที่เหลือเพียงบางส่วนในปัจจุบัน
“เราไม่รู้จะชักชวนให้เขาร่วมมือยังไง เพราะเป็นจิตสำนึกของแต่ละคน เราบังคับเขาไม่ได้ จะต้องปลูกนะ ต้องดูแลนะ ยาก แล้วเศรษฐกิจมันบังคับด้วย พอความเจริญเข้ามาก็อยากรับความเจริญ มันเป็นไปตามวัฏจักร เขาก็ต้องทิ้งบางสิ่งบางอย่างไป”
สวนของโสภณและเอียดฉายภาพต้นยางนาสูงใหญ่ริมแม่น้ำสะแกกรังที่เคยครอบครองพื้นที่ป่าเหนือมนุษย์ สู่วันที่ภาพเมล็ดยางนาปลิวว่อนบนท้องฟ้าเป็นเพียงความทรงจำในวันวาน


เบื้องหลังรอยยิ้มมีสายธารน้ำตา
“เมื่อก่อนน้ำท่วมไม่ทุกปี ท่วมแล้วเว้น ๑๐ ปีครั้ง พอทนได้ ลูกก็บอกว่าพ่อ ไปอยู่ตลาดเถอะ เราบอกต้องอยู่กับเขาให้ได้” โสภณเล่าครั้งที่บ้านและสวนส้มโอหลอมรวมเข้ากับแม่น้ำสะแกกรังในอุทกภัยปี ๒๕๕๔ เตียงนอนอุ่นสบายแปรสภาพเป็นที่หลับนอนซึ่งถูกหนุนให้สูงด้วยอิฐบล็อกไม่กี่ก้อน
สถานการณ์น้ำท่วมครั้งนั้นได้รับผลกระทบจากปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่ทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะบริเวณเกาะคุ้งสำเภา ตำบลท่าซุง อำเภอเมืองอุทัยธานี ทำให้น้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาหนุนย้อนเข้าไปในแม่น้ำสะแกกรังทะลักท่วมบ้านเรือนริมฝั่งกว่า ๒๐ หลังคาเรือน ระดับน้ำสูงกว่า ๑ เมตร ชาวบ้านต้องอาศัยอยู่บนชั้น ๒ของบ้าน ส่วนชาวแพทั้งสองฟากก็ต้องเร่งชักแพเข้าฝั่ง ป้องกันแพหลุดตามกระแสน้ำ ในพื้นที่ตำบลเกาะเทโพ น้ำท่วมขยายวงกว้างจนทางจังหวัดอุทัยธานีต้องประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติฉุกเฉิน
“คนที่อยู่แพก็ตะโกนจากบนแพ ‘มึงจะเอายังไงกับกูเนี่ย จะลงก็ไม่ลง จะขึ้นก็ไม่ขึ้น’ สุขภาพจิตเสียถึงขนาดนั้น คนที่โดนน้ำท่วมจะรู้ว่าความหลอนเป็นยังไง”
ด้วยอุทกภัยหลายครั้ง ทั้งสองจึงตัดสินใจย้ายบ้านที่ใกล้แม่น้ำสะแกกรังมาอยู่ ณ ที่ตั้งของบ้านในปัจจุบัน โดยทิ้งระยะห่างจากแม่น้ำกว่า ๑๐ เมตร
“ป้านั่งอยู่บนหลังคา แทบหมดอาลัยตายอยาก” แม้จะเล่าถึงความเจ็บปวด ใบหน้าเธอก็ยังเปื้อนรอยยิ้มเช่นเดียวกับที่แรกพบ “น้ำท่วมยังยิ้มเลย นักข่าวมา เขาบอก หูยพี่ ตอนนั้นยังสาวนะ เขาเรียกพี่” เธอคั่นประโยค “พี่ยังยิ้มได้เหรอเนี่ยเราบอก เอ้า จะให้ร้องไห้เหรอ มันทำอะไรไม่ได้ ถ้ามวลน้ำกลายเป็นคนนะ มาทำฉันหมดเนื้อหมดตัวอย่างนี้ ฉันบอกเลย ตาย” เธอลงท้ายเสียงหนัก บอกเป็นนัยว่าหมายความตามนั้นแม้จะพูดทีเล่นทีจริงก็ตาม
โสภณย้ำว่าขณะที่น้ำท่วมทำให้พวกเขาสูญเสียทรัพย์สินหลายอย่าง แต่ก็ช่วยให้ผืนดินอุดมสมบูรณ์ขึ้น
สองสามีภรรยาอาจจมอยู่ในสายธารน้ำตา หากมองเพียงสายน้ำที่ทำลายบ้านและทรัพย์สินพวกเขาให้ย่อยยับ ทว่าเขาและเธอสองสามีภรรยาเลือกจะเป็นหนึ่งเดียวกับแม่น้ำสะแกกรัง สายน้ำที่สร้างชีวิตและสอนให้ข้ามผ่านความยากลำบากนานา


เกิดที่บ้าน ตายที่บ้าน
“เมื่อก่อนป้าเรียนโรงเรียนวัด ต้องนั่งเรือข้ามไปเรียนอีกฝั่ง ไม่นานก็ไปไม่ได้เพราะผักตบชวาเยอะ พายเรือไปสามสี่คนก็ช่วยกันแหวกผักตบจนหมดแรง ไปไม่ถึงโรงเรียน แวะแอบตามกอไผ่ กินข้าวในเรือ พอถึงเวลาก็แหวกผักตบกลับบ้าน ครูก็เอะใจว่าเราหายไปไหน” เธอเล่าความทรงจำครั้งเป็นเด็กหญิงละเอียดจนชีวิตมาถึงวัยเกษียณที่เงียบสงบในปัจจุบัน
“ถ้าตายก็อยากตายที่นี่ บ้านอยู่ที่นี่ คุณลุง (สามี) ก็อยู่ที่นี่ แม้ลูกจะอยู่กรุงเทพฯ มองไปตรงไหนก็มีแต่ความทรงจำ มีต้นไม้ มีสวน เพราะเราเกิดที่นี่ นึกถึงตอนมีป่า อากาศสดชื่น เวลานอนนึกถึงภาพเก่าๆ เราพายเรือไปมีแม่น้ำกว้างๆ บรรยากาศร่มรื่น เมื่อก่อนบ้านมีนอกชาน คืนไหนเดือนหงายก็มานอนดูพระจันทร์ เดี๋ยวนี้ไม่ได้ ออกไปแล้วยุงกัด” ละเอียดเล่ากลั้วเสียงหัวเราะ ความทรงจำที่เธอโปรดปรานเกี่ยวกับบ้านยังฉายชัดทุกคราที่มองรอบๆ ตัว
“ถ้าทำไม่ไหวแล้วก็ไม่รู้จะทำไง หากลูกๆ ไม่กลับมาก็ปล่อย”
“ยาลุงเยอะมาก เบาหวาน ความดัน หัวใจ เขาออกกำลังกายทุกวัน บอกให้หยุดอยู่เฉยๆ บ้าง เขาบอกไม่เอา เดี๋ยวก็หยุดเองตอนทำไม่ไหว” เธอพูดถึงสุขภาพของสามีและความหวังที่มีต่อบ้านหลังนี้ “สู้แล้วสู้อีก ที่ดินนี้มีคนมาขอซื้อบ่อยมาก เราบอกไม่ขาย เก็บไว้ให้ลูก”
“ลูกเคยมาแอบถ่ายตอนทำงาน เหนื่อยมาก เราถามถ่ายทำไม เขาบอกอยากให้เห็นความจริงว่าทำงานมันเหนื่อย ลำบาก ให้ดูชีวิตของพ่อแม่ว่าต้องเหนื่อยขนาดไหน”

บอกลา
“มาอุทัยฯไม่ต้องอุทธรณ์เหนื่อยนักพักก่อนนอนที่อุทัยฯ, มาแล้วจะมีความสุขจะไม่มีทุกข์มีแต่เรื่องสุขใจ
คนอุทัยฯน่ารักถ้าได้พูดจารู้จักแล้วจะรักคนอุทัยฯ, ถ้าได้อยู่สักพักจะตกหลุมรักคนอุทัยฯ
กลับไปขอให้โชคดีถูกลอตเตอรี่รางวัลใหญ่ๆ, ร่ำรวยเงินทองกันละนะอย่าลืมกลับมากลับมาเที่ยวอุทัยฯ”
ละเอียดร้องเพลงที่เธอแต่งขึ้นใหม่ให้เราฟัง เธอบอกร้องเล่นๆ แต่งเล่นๆ เพราะอิงกับทำนองเพลง “อุทัยวิไล” อยู่แล้ว เสียงเธอหวานน่าฟัง ส่งให้ทำนองจำง่ายของเพลงนี้ฝังอยู่ในความทรงจำไม่ยาก “เมืองอุทัยฯ มันเงียบ ถ้าเราอยู่ไปนานๆ สักพักนึง เราจะ โห รักเมืองนี้จังเลย คนอุทัยฯ เขาบอกดุ จริงๆ ไม่ดุ ต้องคุยและรู้จักก่อน”
“ไปฟัง ส.ส. พูดในรัฐสภารึเปล่าถึงว่าดุน่ะ” โสภณแซวด้วยอารมณ์ขัน เรียกเสียงหัวเราะจากคนรอบตัว
ก่อนจากกัน ละเอียดและโสภณยืนโบกมือลาจากหน้าบ้านที่ทั้งสองบอกว่าจะใช้ชีวิตช่วงสุดท้ายที่นี่ แม้ภาพของสองสามีภรรยาจะหดเล็กลงผ่านกระจกมองหลัง แต่อารมณ์ขันและพลังบวก รวมถึงรอยยิ้มอบอุ่นยังฉายชัดผ่านทิวทัศน์ของต้นยางนาและแม่น้ำสะแกกรังที่ค่อยๆเลือนหายไปทีละน้อย
ส่งเรากลับสู่อีกฟากของแม่น้ำสะแกกรังโดยสวัสดิภาพ…
เชิงอรรถ
1 ถุงน้ำหวานในกลีบส้มโอ
สนับสนุนโดย
- วิริยะประกันภัย
- สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
- มูลนิธิเล็กประไพวิริยะพันธุ์
- Nikon
- STM
- Saramonic
- Sirui
- กลุ่มธุรกิจtcp
- sigmalens
กิจกรรมโดย SarakadeeMagazine
ค่ายสารคดี #ค่ายสารคดีครั้งที่19 #อยู่ดีตายดี #นักเขียน #ช่างภาพ #วิดีโอครีเอเตอร์