ผัวเมียคู่หนึ่งล่องแพมาตามแม่น้ำโขง บนแพมีไก่ เป็ด กบ และนกยูง ที่พวกเขาพามาด้วย เมื่อแพล่องมาใกล้จะถึง น้ำตกหลี่ผีซึ่งเป็นหน้าผาสูงใหญ่และเต็มไปด้วยแก่งหิน พวกสัตว์ต่างๆ ก็รีบร้องตะโกนเตือนสองผัวเมีย
ไก่ขันดังว่า “จอด จอด” เป็ดร้องว่า “เข้าฝั่ง เข้าฝั่ง” แล้วกบก็ร้องว่า “หยุด หยุด”
แต่นกยูงซึ่งหยิ่งผยองกลับร้องสั่งว่า “ตรงไป ตรงไป”
เพราะนกยูงเป็นผู้นำของเหล่าสัตว์ ผัวเมียจึงทำตามคำแนะนำ แล้วแพก็พุ่งเข้าใส่น้ำตก ทุกคนและทุกตัวบนแพต่างเสียชีวิต ผู้เป็นผัวเกิดใหม่เป็นนกนางนวลแกลบแม่น้ำ และเมียเกิดใหม่เป็นโลมาอิรวดี
…
ตำนานโลมาซึ่งเล่าโดยชาวประมงลาว บ้านเวินคาม ชายแดนลาว-กัมพูชา บันทึกอยู่ในบทความชื่อ “The Human Fish” จากหนังสือ The Mekong Currency เขียนและถ่ายภาพโดยนักสารคดีหญิง ลีส์เบท สลูเตอร์(Liesbeth Sluiter) จัดพิมพ์โดย TERRA Project for Ecological Recovery (โครงการฟื้นฟูนิเวศ)
หนังสือจัดพิมพ์ในปี ๒๕๓๕ เมื่อเปิดอ่านวันนี้ บันทึกของลีส์เบทจึงเหมือนการพาเราย้อนกลับไปเห็นภาพชีวิตของโลมาอิรวดี(Irrawaddy dolphin) ในแม่น้ำโขงเมื่อ ๓๒ ปีก่อน
บ้านเวินคามอยู่ปลายบึงที่เป็นส่วนหนึ่งของแม่น้ำโขง บึงแห่งนี้มีขนาด ๕๐ ไร่ และลึกมาก เพราะเคยมีนักดำน้ำชาวอเมริกันวัดความลึกไว้ได้ถึง ๖๐-๗๐ เมตรในช่วงฤดูแล้ง
ที่สำคัญคือมีโลมาอิรวดีอาศัยอยู่ ลีส์เบทเล่าประสบการณ์การเห็นโลมาว่า “เราเห็นครีบหลังสองครีบอยู่ห่างไป ๕๐ เมตรจากเรือ แค่ ๒ วินาทีก็หายไป แต่ชัดเจนว่าคือโลมาอิรวดีแน่นอน…โลมาอิรวดีค่อนข้างขี้อาย มันไม่เข้าหาคนง่ายเหมือนโลมาพันธุ์อื่นๆ มักโผล่ผิวน้ำทุกนาที พร้อมกับเสียงลมหายใจจากรูจมูที่อยู่บนหัว ซึ่งได้ยินดังชัดมาก แต่ถ้าได้ยินเสียงมาจากทางไหน พอหันไปทางนั้นเราก็จะเห็นแต่ครีบหลังที่กำลังจมน้ำเสียแล้ว”
ลุงสีฮ้อย (Si Houi) ชาวบ้านเวินคาม ซึ่งเป็นผู้รอบรู้เกี่ยวกับโลมาอิรวดี ในขณะให้สัมภาษณ์กับลีส์เบทเขามีอายุ ๖๐ ปี (ถ้ายังมีชีวิตอยู่ถึงปีนี้ก็จะอายุ ๙๒ ปี) เล่าว่าเคยมีอาชีพเป็นคนขับเรือให้ชาวฝรั่งเศส จากนั้นไปเป็นช่างซ่อมอยู่ในจังหวัดหนองคาย ตอนหลังกลับมาทำประมงที่บ้าน และยังเคยขับเรือขนซุงจากกัมพูชาไปปากเซเพื่อนำเข้าไทยและส่งไปไต้หวัน
ลุงเล่าถึงความเชื่อเกี่ยวกับโลมาอิรวดีว่า กระดูกของโลมาถ้านำมาป่อนเป็นผงผสมอาหารเลี้ยงไก่ จะทำให้ไก่แข็งแรง ถ้าฝังไว้ข้างทางน้ำเข้ามา จะทำให้ข้าวงอกงามดี และฟันโลมาถ้านำมาเป็นจี้สร้อยคอให้เด็ก จะช่วยปกป้องเด็กจากผีร้าย
ส่วนพฤติกรรมของโลมาอิรวดี เขาถ่ายทอดจากประสบการณ์ว่า โลมาหลายตัวจะช่วยกันต้อนฝูงปลาเป็นวงกลม แล้วตัวหนึ่งจะพุ่งเข้ากลางวงเพื่อจับปลากิน โลมากินปลาแทบทุกชนิด แต่จะไม่กินปลาที่มีครีบแหลม และเขาไม่เคยเห็นโลมาขโมยปลาจากแหของชาวประมง
ส่วนนกนางนวลแกลบแม่น้ำ (River tern) ซึ่งชาวลาวเรียกว่านกสิดา(Sida) ผู้ผัวในตำนาน มักพบหากินอยู่กับโลมาอิรวดี เขาเคยเห็นโลมายกหัวคาบปลาเหนือน้ำ แล้วนกสิดาก็บินมาโฉบเอาปลาไป
“โลมามีวิญญาณ เหมือนกับคนเรา การฆ่ามันเป็นเรื่องเลวร้าย โลมาเป็นสมบัติของโลก ไม่ใช่เฉพาะของลาว”
สองปีก่อน ปี ๒๕๖๕ มีรายงานว่าโลมาอิรวดีตัวสุดท้ายที่อาศัยอยู่ในแม่น้ำโขงช่วงประเทศลาวตายแล้ว แต่คาดว่ายังเหลืออยู่ในแม่น้ำโขงช่วงประเทศกัมพูชาราว ๘๙ ตัว ส่วนในประเทศเไทย โลมาอิรวดีเคยพบในแม่น้ำเจ้าพระยาเช่นกันแต่ก็สูญหายไปหมดแล้ว เหลือเพียงไม่กี่ตัวที่ทะเลสาปสงขลา
นกนางนวลแกลบแม่น้ำเคยเป็นนกที่พบได้ทั่วไปตามแม่น้ำสายหลักของภูมิภาคอินโดจีน ปัจจุบันจัดเป็นนกหายากและใกล้สูญพันธุ์เช่นเดียวกัน
ตำนานโลมาสื่อถึงความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตมากมายที่ผูกพันกับสายน้ำ ไม่เพียงแม่น้ำโขง แต่คือแม่คงคาทุกสายที่ไหลผ่านกาลเวลามายาวนาน เพียงแค่มนุษย์มักมองไม่เห็น และไม่ได้ยินเสียงลมหายใจของพวกเขา
สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ
บรรณาธิการนิตยสาร สารคดี
- จากบทบรรณาธิการ สารคดี ฉบับที่ 476 พฤศจิกายน 2567
- อ่านบทความของ สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ
- ติดตามเพจ Sarakadee Magazine