เรื่อง : วงศกร ลอยมา
ภาพ : อาชวิน ฉัตรอนันทเวช

suebrak01
แพต่างสี ทางทิศตะวันตกของแม่น้ำสะแกกรัง ลอยห่างจากท่าราว ๑๐ เมตร แพสีม่วงเป็นของ สาคร คงห้วยรอบ (พ่อ) แพสีชมพูเป็นของ สมคิด คงห้วยรอบ (ลูกสาว)
suebrak02
ภายในแพของสมคิด ตกแต่งสไตล์โมเดิร์น มีเตาอบไมโครเวฟ เครื่องปรับอากาศ และสุนัขหนึ่งตัวชื่อว่าอ้วน

เมื่อเรือแล่นออกจากพญาไม้รีสอร์ท เสียงนกร้องและใบไม้พลิ้วไหวตามสายลมก็ถูกกลบด้วยเสียงเครื่องยนต์ บนแม่น้ำสะแกกรังมีกฎอยู่ว่าห้ามเรือเร่งความเร็วสูง หากใครละเมิดคงไม่มีตำรวจมาจับ แต่อาจได้รับเสียงก่นด่าจากชาวแพเป็นใบสั่ง (สอน)

แม่น้ำสะแกกรังเปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่หล่อเลี้ยงชาวอุทัยธานี มีความยาว ๒๒๕ กิโลเมตร ต้นกำเนิดอยู่ที่เขตอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ จังหวัดกำแพงเพชร ไหลผ่านจังหวัดนครสวรรค์ลงมาถึงจังหวัดอุทัยธานี และไปบรรจบกับแม่น้ำเจ้าพระยาที่จังหวัดชัยนาท ชาวบ้านเล่าว่าในอดีตมีเรือนแพเบียดเสียดประหนึ่งหมู่บ้านจัดสรรราว ๓๐๐-๔๐๐ หลัง

“ชุมชนแห่งนี้เคยคึกคักมากเสียจนเกือบเป็นเมืองที่ไม่มีวันหลับใหล”

ระหว่างนั่งเรือผมนึกถึงคำพูดของ เสถียร แผ่วัฒนากุล ชายผอมบางผมขาว วัย ๗๓ ปี ซึ่งเป็นนักประวัติศาสตร์ท้องถิ่นจังหวัดอุทัยธานี ในการบรรยายวันก่อน เขาหวนรำลึกความทรงจำในอดีตวันที่แม่น้ำสะแกกรังยังเต็มไปด้วยเรือนแพ ชีวิตเริ่มต้นตั้งแต่ตะวันยังไม่ขึ้น นาฬิกาปลุกมีปีกยังไม่ทันขัน แต่ชาวสะแกกรังซื้อข้าวมาแล้วหนึ่งกระสอบ หุงข้าวไปแล้วหนึ่งหม้อ และปรุงอาหารเสร็จพร้อมเสิร์ฟ

เสถียรยืนยันอีกเสียงว่าสมัยก่อนมีแพหลายร้อยหลังคาเรือน การจราจรทางน้ำติดขัดพอกับถนนสุขุมวิท มองไปทางไหนก็เห็นแพและเรือบรรทุกสินค้าเข้ามาขายข้าว ไม้ซุง และของป่า

“ตั้งแต่ปี ๒๔๙๐ ลำนำแห่งนี้คลาคล่ำไปด้วยผู้คน” เสถียรพูดด้วยเสียงแหบพร่า

สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ระบุว่าต้นปี ๒๕๖๗ เหลือแพเพียง ๑๕๐ หลัง แต่ผมนั่งเรือจากพญาไม้รีสอร์ทไปถึงแพป้าแต๋วปลาย่าง ซึ่งเป็นหลังสุดท้ายละแวกวัดโบสถ์ ระยะทางประมาณ ๒ กิโลเมตร ตั้งใจนับอย่างไรก็ไม่ถึง ๑๐๐ หลัง

suebrak03
สมคิด คงห้วยรอบ อายุ ๕๔ ปี ปัจจุบันดูแลพ่ออยู่บนแพ เธอเล่าว่าไปเที่ยวมาแล้วหลายประเทศ และเคยทำงานเป็นบริกรอยู่ร้านอาหารในต่างประเทศ
suebrak04
แพตาครเปรียบเสมือนพิพิธภัณฑ์ของบ้านคงห้วยรอบ ตู้ไม้นี้อายุไม่ต่ำกว่า ๓๐ ปี หลังตู้มีโกศ ตั้งเคียงรูปหน้าไฟของศรีภรรยาและลูกสาว

แพต่างสีของพ่อลูกผู้มีน้ำล้อมรอบบ้าน

“ถึงแล้ว แพบ้านตาคร”

ต้นหนผิวคล้ำวัยกลางคนตะโกนลั่นจากท้ายเรือ แพต่างสีคู่หนึ่งทางทิศตะวันตกของแม่น้ำสะแกกรัง ยึดหลักไว้กับที่ดินวัดโบสถ์ ลอยห่างจากท่าราว ๑๐ เมตร แพสีม่วงเป็นของ สาคร คงห้วยรอบ วัย ๘๔ ปี ชาวบ้านแถวนี้เรียกว่า “ตาคร” แพสีชมพูเป็นของ สมคิด คงห้วยรอบ ลูกสาววัย ๕๔ ปี เธอให้ผมเรียกว่าพี่สมคิด

แพสองพ่อลูกแตกต่างกันชัดเจน แพของสมคิดสร้างจากเมทัลชีต ทาสีชมพูนมเย็นทั้งหลัง ภายในตีฝ้าอย่างดี มีทีวี เตาอบไมโครเวฟ โต๊ะหมู่บูชา เครื่องปรับอากาศ และสุนัขหนึ่งตัวชื่อว่าอ้วน ส่วนแพตาครสภาพเก่าคร่ำคร่า กว้างราว ๕x๖ เมตร สูง ๓ เมตร หน้าต่างมีเหล็กดัดทุกบาน ฝาบ้านตกแต่งด้วยภาพถ่ายเจ้าตัวสมัยยังหนุ่มแน่น ทิศเหนือมีเตียงไม้เก่า ตามร่องเตียงมีมีดปอกผลไม้เสียบไว้ประหนึ่งคลังอาวุธ

ตู้ไม้เก่าตั้งอยู่ทางทิศตะวันออก เสื้อผ้าแขวนเรียงรายข้างๆ กวาดตาดูเบื้องล่างพบลังบรรจุขวดน้ำผลไม้ จาน แก้ว และอุปกรณ์ชงกาแฟ หลังตู้มีโกศเงินขัดเงาตั้งคู่กัน ทางซ้ายมีกรอบรูปสองอันคว่ำทับกันในสภาพฝุ่นเกาะ

ก้าวขาข้ามไปอีกห้องคือสุขาสุดล้ำนำสมัย บนผนังมีเครื่องทำน้ำอุ่น ที่พื้นเรียงรายด้วยถังแช่ผ้า ถังรองน้ำ ผงซักฟอกและน้ำยาล้างจานพร้อมใช้งาน แต่จุดเด่นคือพื้นไม้ที่ถอดเข้าออกได้คล้ายตัวต่อจิ๊กซอว์

“ปีที่แล้วเพื่อนชาวสวิสแวะมาเยี่ยม ก็เลยให้นอนที่แพพ่อ พอตอนตีสามได้ยินเสียงโวยวาย ออกไปดูก็เจอเขาตกห้องน้ำธรรมชาติไปแล้ว” สมคิดอธิบายพลางสาธิตเปิด-ปิดไม้ให้ดู แรก ๆ ก็ตื่นเต้นดี แต่อีกใจผมก็กลัวพี่สมคิดจะดิ่งน้ำไปอีกราย

suebrak05
“พอมาถึงแม่ก็เสีย เราเหมือนคนบ้าไปเลย ไม่รับรู้อะไรกับใครทั้งนั้น นั่งคุยกับแม่ข้างโลงศพ เหมือนชีวิตมีอะไรขาดหายไป มันเศร้ามากเลย” สมคิดพูดถึงแม่
suebrak06
หลังจากสูญเสียแม่แอ๊ว สมคิดเคยคิดสั้น หวังลาโลกตามแม่ไปอีกคน แต่โชคดีที่พระธรรมมาดึงสติ เธอไปนั่งสมาธิปฏิบัติธรรม ๗ วัน และได้คำตอบว่าจะมีชีวิตต่อไป

ชีวิตบนวิมานลำน้ำ ความงดงามฉบับโยกเยก

“กาแฟโบราณ กินเป็นใช่ไหม”

สมคิดถามพลางส่งแก้วกาแฟสีขาวให้

ควันกรุ่นตีเข้าหน้า มือผมอุ่นขึ้นเล็กน้อย ลองดมก็หอมดี รสชาติฝาดลิ้นใช้ได้ ผมไม่ใช่นักดื่มกาแฟตัวยง ไม่ทราบว่ารสชาติถูกต้องตามสูตรกาแฟโบราณหรือไม่ แต่ก็หันไปฉีกยิ้มให้นักชงเป็นการขอบคุณ

ตาครเล่าว่าแท้จริงแล้วไม่ใช่คนสะแกกรังแต่กำเนิด เขาเกิดที่อำเภอหนองขาหย่าง ห่างไปประมาณ ๑๗ กิโลเมตร แต่มาตั้งรกรากที่นี่เพราะชอบพอกับสาวแพ ซึ่งก็คือยายแอ๊ว ศรีภรรยา และแม่ของลูกทั้งสาม “ลูกคนแรกก็คลอดในแพนี่แหละ สมัยก่อนไม่ได้ไปโรงพยาบาลหรอก คลอดเองเลย หมอชาวบ้านเอายาให้กิน และมีหมอตำแยมาอาบน้ำร้อนให้”

เคล็ดลับการเลี้ยงลูกบนแพคือห้ามละสายตาเด็ดขาด เพราะเด็กเล็กเคลื่อนไหวคล่องแคล่ว สมัยก่อนมีลูกชาวแพหาย สุดท้ายมารู้ว่าจมน้ำไป ตาครกลัวลูกจมน้ำไปอีกรายจึงล่ามลูก ๆ ไว้ในแพ “พอโตขึ้นมาหน่อย ก็สอนให้หัดว่ายน้ำ เพราะอยู่บนแพว่ายน้ำไม่เป็นไม่ได้”

“เริ่มจากให้หัดว่ายน้ำเล่นข้างดิน เอามือแตะท้องไว้ แล้วค่อย ๆ ว่าย พอตัวเริ่มลอยก็ลดมือลง ปล่อยให้ว่ายเอง อาทิตย์เดียวเป็นเลย” ตาครยกแขนสองข้างสาธิตท่าทางไปด้วย

ขณะตาครเล่าเรื่องในอดีตอย่างออกรส ผมเหลือบไปพินิจแพหลังนี้ก็พบว่าสภาพเริ่มทรุดโทรม ไม้เริ่มผุ เฟอร์นิเจอร์เริ่มพัง แม้แต่ฝ้าเพดานก็เริ่มเปื่อยยุ่ยจากน้ำฝน

เดิมทีครอบครัวคงห้วยรอบอาศัยที่แพหลังเก่า ซึ่งเป็นทรัพย์สินของแม่แอ๊วที่ส่งต่อกันมาหลายชั่วอายุคน แต่นานเข้าก็ทรุดโทรม สมพิศ คงห้วยรอบ ลูกสาวคนกลางจึงถอยแพหลังใหม่ให้พ่อแม่เป็นของขวัญ แพหลังนี้ลอยล่องในสะแกกรังมา ๓๐ ปีแล้ว

วันที่ ๑๓ มิถุนายนของทุกปี เมื่อข่าวในทีวีรายงานวันครบรอบการเสียชีวิตของ พุ่มพวง ดวงจันทร์ ราชินีลูกทุ่งไทย ตาครจะคิดถึงลูกสาว เพราะพี่สมพิศเสียชีวิตหลังคุณพุ่มพวงประมาณ ๑-๒ วัน พี่สมคิดบอกว่าตาครเริ่มหลงลืม พูดคุยกันสักชั่วโมงเดี๋ยวก็ลืม แต่จำวันตายลูกสาวได้แม่นยำ

ลูกชายคนโต สุทัศน์ คงห้วยรอบ พยายามเกลี้ยกล่อมให้ย้ายไปจังหวัดเชียงใหม่ด้วยกัน ตาครลองไปอยู่แล้วไม่ชอบ จึงปฏิเสธจะอพยพขึ้นบก ขอโยกเยกอยู่บนน้ำเห็นจะคล่องแคล่วกว่า “เพื่อนที่โตมาด้วยกัน ไม่มีใครอยู่แพแล้ว พอลูก ๆ โตมีการมีงานทำ ก็ย้ายขึ้นบกไปอยู่กับลูกหลานกันหมด เราแก่ขนาดนี้ ก็ไม่อยากย้ายไปอยู่ที่อื่น” ตาครเล่าด้วยน้ำเสียงแข็งขันเพื่อยืนยันเจตนารมณ์ เหมือนฟ้าลิขิตมา ผู้มีนามว่าสาครก็ต้องอาศัยอยู่ในน้ำไปตลอดชีวิต

สิ่งที่ผู้เฒ่าผู้แก่ชาวแพพูดตรงกันคืออยู่บนแพแล้วสบายใจ ต่อให้ช้างมาฉุด วัวมาลากก็ขอเลือกอยู่ที่เดิมไม่ไปไหน

suebrak07
กิจกรรมชาวแพอยู่ในห้องหลักเพียงห้องเดียว ทั้งกินข้าว รับแขก นอน ห้องหลักของแพแทบทุกหลังจึงรวบรวมสิ่งจำเป็นไว้ทั้งหมด
suebrak08
สาคร คงห้วยรอบ ผู้อาวุโสแห่งชุมชนชาวแพสะแกกรัง อายุ ๘๔ ปี เคยเป็นช่างตัดผม แต่เปลี่ยนมาเป็นนักชงกาแฟเมื่อ ๒๐ ปีที่แล้ว และส่งต่อกิจการให้ลูกสาว

ฟ้าหลังฝนที่เรียบง่าย หลังความตายกระแทกใจ

สมคิดเป็นหญิงแกร่งที่ถูกเลี้ยงแบบอิสระมาตั้งแต่เด็ก เกิดและโตในแพ เมื่อขึ้นชั้นมัธยมฯ ต้น เธอย้ายไปศึกษาต่อที่โรงเรียนเซนต์จอห์น รุ่นเดียวกับ มนฤดี ยมาภัย นักแสดงชื่อดัง แต่ด้วยฐานะทางเศรษฐกิจที่กระท่อนกระแท่น จึงลาออกและทำงานหาเลี้ยงตัวเองตั้งแต่นั้น

สมคิดเบื่อหน่ายเมืองไทย จึงไปเป็นบริกรอยู่ร้านอาหารที่เมืองนอก ได้เดินทางไปหลายประเทศ ทั้งอังกฤษ ฝรั่งเศส สวิตเซอร์แลนด์ เธอบอกว่าฝรั่งเศสคือที่ ๑ ในใจ สวิตเซอร์แลนด์รองลงมา ส่วนอังกฤษนับว่าขยาดเข้าไส้ “เขาพูดจากันไม่ค่อยดี” เธอเล่าประสบการณ์ที่เคยเจอด้วยตาลุกวาว

ก่อนบินไปฝรั่งเศส เกิดเรื่องเศร้าโศกครั้งใหญ่ ครอบครัวคงห้วยรอบถูกฟ้าผ่าลงกลางใจ เพราะโรคหัวใจแม่แอ๊วกำเริบ และจากโลกไปในวัย ๖๐ ปี งานศพจัดขึ้น ๗ คืนที่วัดโบสถ์ ทั้งคนบกคนแพแห่กันมาแน่นวัด ส่วนลูกสาวคนนี้เหมือนคนเสียสติ รับไม่ได้กับความตายของแม่ “ตอนนั้นออกจากบ้านไปทำวีซ่าที่กรุงเทพฯ เพื่อไปต่างประเทศ อยู่ได้ ๒ วัน ก่อนจะกลับญาติก็โทรมาตอนตีสี่ บอกว่าแม่ไม่ไหวแล้ว ให้รีบกลับมาด่วน”

“พอมาถึงแม่ก็เสีย เราเหมือนคนบ้าไปเลย ไม่รับรู้อะไรกับใครทั้งนั้น นั่งคุยกับแม่ข้างโลงศพ เหมือนชีวิตมีอะไรขาดหายไป มันเศร้ามากเลย” สมคิดพูดถึงแม่ด้วยน้ำเสียงอ่อนโยน ไม่เหลือคราบหญิงแกร่ง กลายเป็นเพียงลูกสาวคนเล็กของแม่แอ๊วเท่านั้น

มรสุมครั้งใหญ่ผ่านไป แต่หัวใจลูกสาวยังไม่หายดี โดดเดี่ยวอ้างว้างถึงขั้นคิดฆ่าตัวตาย แต่โชคดีที่ได้พระธรรมมาช่วยไว้ เธอเดินทางไปทำสมาธิสงบจิตใจที่วัดอัมพวัน จังหวัดสิงห์บุรี ๗ วัน จึงได้สติกลับคืนมาอีกครั้ง “ก่อนหน้านี้เหมือนน็อตหลุดไป พอผ่านช่วงปฏิบัติธรรมมา ๗ วัน ก็คิดได้ว่าชีวิตต้องเดินต่อ เหมือนมีสติขึ้นมา”

ทุกข์คลายเมื่อกายดับ จริงเท็จอย่างไรยังคงเป็นปริศนา แต่ที่ไขกระจ่างแล้วคือทุกข์ก่อเกิดแก่ผู้ที่ยังมีชีวิต ใครก้าวเดินต่อได้เร็วก็ทุกข์น้อย ใครยังนอนน้ำตาไหลคล้อยก็ทุกข์ต่อ ๑๓ กรกฎาคม ปี ๒๕๖๗ คือวันที่เกิดบทสนทนานี้ ผมชำเลืองมองรูปถ่ายหลังตู้ ก็พบว่าแม่แอ๊วจากโลกนี้ไปร่วม ๒๐ ปี เถ้ากระดูกอยู่ในโกศเคียงคู่ลูกสาวคนกลาง แต่ยังคอยเป็นเข็มทิศนำทางในใจลูกสาวคนเล็ก

ส่วนตาครนั้นร่างกายร่วงโรยไปตามอายุ ทว่าหัวจิตหัวใจยังแกร่งดังหินผา ชีวิตนี้เผาคนในครอบครัวมาแล้ว ๒ หน หนแรกลูกสาว หนที่ ๒ เมีย หรือจิตแกแกร่งมาตั้งแต่สมัยเห็นศพทหารมะกัน ช่วงเป็นช่างตัดผมในสนามบินตาคลีก็มิอาจทราบได้ “อย่าไปกลัวตายเลย คนเราช้าหรือเร็วก็ต้องตาย จะไม่ตายน่ะสิไม่มี”

“แล้วไม่คิดถึงหรือครับ ลูกกับเมียไม่อยู่แล้ว”

“คิดถึงอะไรล่ะ ไม่มีตัวมีตนแล้ว ไม่มีหน้าให้เห็นกันแล้ว เขาทำบุญมาน้อย มันแล้วแต่เวร แล้วแต่กรรม แล้วแต่วาสนา ใครทำมายังไงเราไม่รู้ เมื่อชาติก่อนทำอะไรมาเราก็ไม่รู้” ตาครพูดถึงความตายอย่างเข้าอกเข้าใจ

“ทุกวันนี้ทำอะไรแก้เซ็งหรือครับ…ตาคร”

“แค่ตื่นมาใช้ชีวิตธรรมดา เช้ามาก็หากับข้าวกิน อยู่แบบสมถะ ถูบ้านช่อง ออกกำลังกาย ขึ้นไปถอนหญ้าข้างวัด คนเคยทำงานมาทั้งชีวิต ขืนมานั่งห่อเหี่ยวอยู่เฉย ๆ ก็เสร็จกันพอดี” ตาครเล่าด้วยน้ำเสียงแข็งขันอีกครั้ง

ในวัย ๘๔ ปี ตาครไม่มีโรคภัย แขนขายังแข็งแรง เดินเหินขึ้นบกลงห้วยได้อย่างคล่องแคล่ว ประทังชีวิตบนแพด้วยเงินผู้สูงอายุเดือนละ ๘๐๐ บาท แถมยังได้ค่าอาหารจากพี่สมคิด ยังคงขึ้นบกไปจับจ่ายที่ตลาดเช้าริมแม่น้ำสะแกกรังทุกวัน สมคิดบอกว่าให้คนแก่มีกิจกรรมทำเป็นเรื่องดี อาหารบ้านนี้จึงต่างคนต่างซื้อ “เช้า-เย็น ก็คอยไปชะเง้อดูว่าพ่อกินข้าวหรือยัง ต้องการอะไรไหม เขารักอิสระ อยากได้อะไรเดี๋ยวก็บอกเอง”

suebrak09
มรดกความทรงจำจากตาครและสมคิด สู่นักอ่านนิตยสารสารคดี ที่อาจกลายเป็นหลักฐานว่าครั้งหนึ่งวิถีชีวิตชาวแพเคยสุกสกาวบนผืนน้ำสะแกกรัง
สืบรากสะแกกรัง มรดกความทรงจำของเรือนแพ คงห้วยรอบ
ลมหายใจเฮือกสุดท้ายของสายน้ำแห่งชีวิต จากนี้คงต้องติดตามว่าสะแกกรังจะกลับมาครึกครื้นอีกครั้ง หรือล้มหายตายจาก ทิ้งไว้เพียงเรื่องเล่า

ยุติเพื่อเริ่มใหม่

ราว ๒๐ ปีก่อน ตาครเบื่อหน่ายอาชีพช่างตัดผม สัมผัสเส้นผมคนร้อยพ่อพันแม่มาตั้งแต่ยังหนุ่ม จึงมองหาอาชีพใหม่ แต่เรียนไม่สูง มีเพียงประกาศนียบัตรวิชาชีพช่างตัดผม ทำให้สับสนหลงทาง จนโชคชะตานำพาให้รู้จักเจ๊เอ็ง เจ้าของร้านกาแฟที่ลานสะแกกรัง ผู้โชคร้ายสามีด่วนตายจาก จึงตัดสินใจยุติกิจการ และถามตาครว่าสนใจชงกาแฟขายหรือไม่ จะถ่ายทอดวิชาให้ อุปกรณ์มีให้ครบ ทั้งหมดนี้ในราคา ๓,๐๐๐ บาท จากช่างตัดผมจึงกลายเป็นนักชงกาแฟแห่งสะแกกรัง

หากตั้งต้นที่ป้ายลานสะแกกรัง แล้วหันหน้าเข้าตลาด ร้านกาแฟนี้จะอยู่ซ้ายมือหน้าตึกไม้เก่า ผมขอดูรูปตอนขายกาแฟ แต่ตาครไม่ได้ถ่ายเก็บไว้ โชคดีที่กูเกิลแมปยังบันทึกภาพร้านกาแฟไว้ หน้าร้านกางร่มสนามสามคันเพื่อบังแดด น้ำ นม กาแฟ ตั้งเรียงรายพร้อมชงเสิร์ฟ ขนาบข้างด้วยถังน้ำแข็ง พร้อมป้าย “ร้านกาแฟโบราณตาคร”

ห้าปีที่แล้ว ตาครเจ็บท้องจนต้องเข้าโรงพยาบาล หมอวินิจฉัยว่ากระเพาะทะลุและส่งเข้าห้องผ่าตัด อีกทั้งแนะนำให้หาคนมาดูแลและหยุดร้านกาแฟ ลูกสาวซึ่ง ณ เวลานั้นอยู่ต่างประเทศจึงบินกลับมาดูแลพ่อทันที ระหว่างนั้นก็หัดชงกาแฟไปด้วย เมื่อวิชาเริ่มแก่กล้าจึงรับช่วงต่อร้านกาแฟโบราณตาคร สมคิดเล่าถึงช่วงดูแลตาครว่าต้องตื่นตีสามไปเตรียมของเปิดร้าน เที่ยงก็ลงแพไปป้อนน้ำป้อนข้าว แล้วขึ้นมาชงกาแฟต่อถึงเย็น

“ขายกาแฟเหนื่อยมาก บางทียังไม่ทันเก็บร้าน นั่งหอบแล้ว เพราะทำคนเดียว วันไหนคนเยอะ พี่ก็โทรให้พ่อมาช่วยล้างแก้ว ช่วยเสิร์ฟ พ่ออายุอานามขนาดนี้แล้วยังต้องมานั่งทำแบบนี้มันก็กะไรอยู่” เธอเล่า พลางชี้ไปที่อุปกรณ์ชงกาแฟใต้ตู้

ปัจจุบันร้านกาแฟโบราณตาครเหลือแต่ชื่อ ทายาทรุ่น ๒ อย่างสมคิดได้ยุติกิจการเนื่องจากรายได้เป็นตัวแดง ร้านมีลูกค้าแน่นทุกวัน แต่หักลบค่าใช้จ่ายแล้วได้ไม่คุ้มเสีย เลิกขายแล้วกลับมาตั้งหลักที่แพน่าจะดีกว่า ร้านกาแฟโบราณตาครปิดตัวอย่างเป็นทางการวันที่ ๒ พฤษภาคม ๒๕๖๗ ปัจจุบันกลายเป็นร้านขายขนมปังชื่อ “อุทัยเบเกอรี่” ซึ่งก็ดูครึกครื้นดี ยิ่งเข้าใกล้ยิ่งหอมกลิ่นเนย ต้องรีบถอยห่างก่อนน้ำลายหก ผมได้แต่จินตนาการว่าตอนที่พ่อลูกช่วยกันขายกาแฟบรรยากาศจะเป็นเช่นไร

“ชีวิตหลังจากนี้จะทำอะไรหรือครับ”

“ยังไม่รู้เหมือนกันว่าจะทำอะไรต่อไป ขอเวลาพักสักครู่ แต่คิดอยู่ทุกวัน แค่ยังคิดไม่ออก” เธอมีเปรยว่าอาจไปเปิดร้านขายกาแฟโบราณอีกครั้งที่ตีนสะพานวัดโบสถ์ ฝั่งตะวันออกใกล้ตลาดสะแกกรัง ค่าเช่าไม่ต้องเสีย เพราะมีรถขายกาแฟเป็นของตัวเอง

“ทำไมอยากขายกาแฟที่ตีนสะพานหรือครับ ในตลาดคนไม่เยอะกว่าหรือ” ผมถาม

“ตรงนั้นทำเลดี คนผ่านไปผ่านมาเยอะ นักท่องเที่ยวชุม”

ผมพยักหน้า แต่ดูเหมือนสมคิดยังพูดสิ่งที่คิดออกมาไม่หมด

“มันวุ่นวาย อยู่ในตลาดสะแกกรังมาทั้งชีวิตแล้ว”

ในขณะที่บทสนทนาใกล้จบ เสียงเครื่องยนต์เรือค่อย ๆ ดังขึ้นจนฟังคนในแพพูดไม่ค่อยถนัด ผมกับน้องที่มาด้วยกันก็รู้ทันทีว่าถึงเวลาต้องยกมือไหว้สองพ่อลูกคงห้วยรอบเพื่อขอตัวลากลับ เราเพียงเอ่ยคำว่าสวัสดี ผมหันไปมองแพต่างสีคู่นี้อีกครั้ง สมคิดเดินมาส่งถึงเรือ ส่วนตาครก็มายืนส่งที่หน้าต่างแพ เรือค่อย ๆ แล่นออกไป จากแพหลังใหญ่ก็ค่อย ๆ เล็กจิ๋ว

ผมเชื่อว่าวันหนึ่งอุทัยธานีต้องกลับมามีชีวิตอีกครั้ง

และเชื่อว่าชีวิตเราไม่ว่าดีหรือร้ายจะมีที่ทางให้มุ่งไปอยู่เสมอ

บรรยายภาพ

แพต่างสี ทางทิศตะวันตกของแม่น้ำสะแกกรัง ลอยห่างจากท่าราว ๑๐ เมตร แพสีม่วงเป็นของ สาคร คงห้วยรอบ (พ่อ) แพสีชมพูเป็นของ สมคิด คงห้วยรอบ (ลูกสาว)

ภายในแพของสมคิด ตกแต่งสไตล์โมเดิร์น มีเตาอบไมโครเวฟ เครื่องปรับอากาศ และสุนัขหนึ่งตัวชื่อว่าอ้วน

สมคิด คงห้วยรอบ อายุ ๕๔ ปี ปัจจุบันดูแลพ่ออยู่บนแพ เธอเล่าว่าไปเที่ยวมาแล้วหลายประเทศ และเคยทำงานเป็นบริกรอยู่ร้านอาหารในต่างประเทศ

แพตาครเปรียบเสมือนพิพิธภัณฑ์ของบ้านคงห้วยรอบ ตู้ไม้นี้อายุไม่ต่ำกว่า ๓๐ ปี หลังตู้มีโกศ ตั้งเคียงรูปหน้าไฟของศรีภรรยาและลูกสาว

“พอมาถึงแม่ก็เสีย เราเหมือนคนบ้าไปเลย ไม่รับรู้อะไรกับใครทั้งนั้น นั่งคุยกับแม่ข้างโลงศพ เหมือนชีวิตมีอะไรขาดหายไป มันเศร้ามากเลย” สมคิดพูดถึงแม่

หลังจากสูญเสียแม่แอ๊ว สมคิดเคยคิดสั้น หวังลาโลกตามแม่ไปอีกคน แต่โชคดีที่พระธรรมมาดึงสติ เธอไปนั่งสมาธิปฏิบัติธรรม ๗ วัน และได้คำตอบว่าจะมีชีวิตต่อไป

กิจกรรมชาวแพอยู่ในห้องหลักเพียงห้องเดียว ทั้งกินข้าว รับแขก นอน ห้องหลักของแพแทบทุกหลังจึงรวบรวมสิ่งจำเป็นไว้ทั้งหมด

สาคร คงห้วยรอบ ผู้อาวุโสแห่งชุมชนชาวแพสะแกกรัง อายุ ๘๔ ปี เคยเป็นช่างตัดผม แต่เปลี่ยนมาเป็นนักชงกาแฟเมื่อ ๒๐ ปีที่แล้ว และส่งต่อกิจการให้ลูกสาว

มรดกความทรงจำจากตาครและสมคิด สู่นักอ่านนิตยสารสารคดี ที่อาจกลายเป็นหลักฐานว่าครั้งหนึ่งวิถีชีวิตชาวแพเคยสุกสกาวบนผืนน้ำสะแกกรัง

ลมหายใจเฮือกสุดท้ายของสายน้ำแห่งชีวิต จากนี้คงต้องติดตามว่าสะแกกรังจะกลับมาครึกครื้นอีกครั้ง หรือล้มหายตายจาก ทิ้งไว้เพียงเรื่องเล่า