ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล : เรื่อง
บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช : ภาพ

เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2568 เครือข่ายประมงพื้นบ้าน เครือข่ายนักรบผ้าถุง ได้ร่วมกันจัดกิจกรรม “ตามหาใครขโมยปลา และงานศิลป์เพื่อทะเลไทย” บริเวณลานด้านหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร หัวมุมถนนพญาไทตัดพระราม 1 เพื่อแสดงออกถึงการไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 มาตรา 69 เปิดโอกาสให้ใช้อวนตาถี่ล้อมจับสัตว์ทะเลเวลากลางคืน
เนื้อหาเดิมของ พ.ร.ก. การประมง มาตรา 69 ระบุว่า “ห้ามมิให้ผู้ใดใช้อวนล้อมจับที่มีช่องตาอวนเล็กกว่า 2.5 เซนติเมตรทำประมงในเวลากลางคืน” แต่ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.ก. การประมง เสนอให้เปลี่ยนเป็น “ห้ามมิให้ผู้ใดใช้เครื่องมืออวนล้อมจับที่มีช่องตาอวนเล็กกว่า 2.5 เซนติเมตรทำการประมงในเขต 12 ไมล์ทะเลนับจากแนวทะเลชายฝั่งในเวลากลางคืน เว้นแต่ตามเงื่อนไขที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด”
หากการแก้ไขกฎหมายผ่านความเห็นชอบ ต่อไปการทำประมงนอกเขต 12 ไมล์ทะเล จะสามารถใช้อวนตาถี่ขนาดช่องตาเล็กกว่า 2.5 เซนติเมตร และใช้งานได้ในเวลากลางคืนด้วย
เหตุผลของการแก้ไขมาตรา 69 อ้างว่าเพื่อลดการนำเข้าปลากะตัก เนื่องจากค่า MSY (Maximum Sustainable Yield) หรือ “ผลผลิตสูงสุดที่ยั่งยืน” ของปลากะตัก หมายถึง ปริมาณสูงสุดของปลากะตักที่จับมาใช้ประโยชน์ได้ โดยปลากะตักส่วนที่เหลือยังคงวางไข่และเจริญเติบโตมาทดแทนอย่างสมดุลกับปริมาณ ยังคงเพียงพอให้จับเพื่อทดแทนการนำเข้า โดยไม่ต้องเพิ่มจำนวนเรือจับปลากะตักมากไปกว่าที่มีอยู่เดิม และไม่เกินค่า MSY
ปลายปีที่ผ่านมาสภาผู้แทนราษฎรลงมติเห็นชอบการแก้ไขกฎหมาย ได้รับเสียงสนับสนุนทั้งจาก สส.ฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายค้าน จนเข้าสู่ที่ประชุมของสมาชิกวุฒิสภา และตั้งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาแล้ว
กลุ่มผู้ประกอบการประมงพื้นบ้าน นักวิชาการ เครือข่ายนักตกปลา นักท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ไต๋เรือนำเที่ยว ฯลฯ กังวลว่าการแก้ไขมาตรา 69 จะพาทะเลไทยเข้าสู่ยุค “ทะเลร้าง” เนื่องจากอนุญาตให้ใช้เครื่องมือทำประมงแบบทำลายล้างคืออวนตาถี่เล็กกว่า 2.5 เซนติเมตร ล้อมจับพ่อแม่พันธุ์สัตว์ทะเล รวมทั้งลูกสัตว์น้ำตัวเล็ก ๆ ที่ไม่ใช่เป้าหมายในการจับ (bycatch) ขัดขวางวงจรการเติบโตและขยายพันธุ์ของสัตว์น้ำที่มีความสำคัญต่อห่วงโซ่อาหาร กระทบความยั่งยืนของท้องทะเลในระยะยาวถึงขั้นทำลายอาชีพและความมั่นคงทางอาหารของคนไทย
หลายภาคส่วนจึงร่วมเรียกร้องให้ทบทวนการแก้ไขกฎหมายมาตรา 69 คงข้อกำหนดเดิมที่ห้ามทำประมงล้อมจับในเวลากลางคืนด้วยอวนตาถี่ บังคับใช้กฎหมายที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล สนับสนุนการทำประมงเชิงอนุรักษ์ด้วยการใช้เครื่องมือประมงที่เป็นมิตรต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

“ปลาทูที่ควรกินอย่างเอร็ดอร่อยเขาเอาไปให้เป็ดให้ไก่กินตั้งแต่มันยังตัวเล็กๆ”
จันทิมา ชัยบุตรดี
เครือข่ายนักรบผ้าถุง
เราไม่เห็นด้วยอย่างแน่นอน และเราจะคัดค้านอย่างเต็มที่ ไม่ปล่อยให้ทำลายทะเลที่เป็นแหล่งอาหารของโลก ปลาทูที่ควรกินอย่างเอร็ดอร่อย เขาเอาไปให้เป็ดให้ไก่กินตั้งแต่มันยังตัวเล็ก ๆ ไม่มีโอกาสโตเต็มวัย แล้วปลาชนิดอื่น ๆ ที่อวนตาถี่จะกวาดจากท้องทะเลไป ปลาอินทรี ปลาจะละเม็ด ปลาเศรษฐกิจทั้งหลายก็ต้องหมดไปเหมือนกัน แล้วเราที่เป็นเจ้าของทรัพยากรในประเทศไทยจะกินอะไรกัน ก็เขาเอาปลาเหล่านี้ไปให้เป็ดให้ไก่กิน แทนที่จะปล่อยให้โตเต็มวัย อยากให้ สส. หรือ สว. ที่จะโหวตให้การแก้ไขมาตรานี้ผ่าน ขอให้หยุด มันเป็นการทำลายล้างทรัพยากรของประเทศชาติ
คุณโหวตให้นายทุนหรือผู้ประกอบการแค่ไม่กี่คน แต่ความเสียหายที่จะเกิดกับทรัพยากรกับประเทศชาติมันเสียหายอย่างมากเลยทีเดียว
อ่าวไทยของเราที่ควรจะอุดมสมบูรณ์ มันจะไม่หลงเหลืออะไรเลยเพราะถูกทำลายล้างแบบนี้ คนตัวเล็กตัวน้อยอย่างพวกเรานี่แหละที่ออกมาปกป้องทะเลซึ่งเป็นทะเลของคนทั้งหมด เป็นทะเลของคนทั้งประเทศ
(ภาพ : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล)

“การถูกลิดรอนสิทธิโดยเงียบ ๆ มันไม่ยุติธรรม อาชีพบางอาชีพอาจจะหายไปเป็นลูกโซ่ก็เป็นได้”
ทัพพ์ มีทรัพย์วัฒนา
นักตกปลา
ในมุมมองของผมที่เป็นนักตกปลาเชิงอนุรักษ์ อยู่ในธุรกิจตกปลา มีเพื่อนหลายคนทำอาชีพไต๋เรือ ปลาอินทรีเป็นปลาหลักของอ่าวไทยที่นักตกปลาจะออกไปตกกัน ทุกวันนี้สมมุตว่ามีนักตกปลาในกรุงเทพฯ อยากจะออกไปตกปลา ไม่ได้ออกทุกอาทิตย์นะ เดือนหนึ่งไปหนึ่งครั้ง หรือหน้าปลาอินทรีไปครั้งหนึ่ง ถ้าเกิดวงจรชีวิตปลาอินทรีโดนตัดตอน แรก ๆ เขาอาจจะยังไม่รู้สึกหรอก คิดว่าอินทรีไม่เข้าเหรอ อินทรีไม่อยู่เหรอไต๋ จะมารู้สึกจริง ๆ ก็เมื่อเวลาผ่านไปประมาณ 3 ปีแล้ว อ้าว อินทรีไม่มาอีกแล้วเหรอ จนกลายเป็นเรื่องปรกติ อ๋อ ปลาอินทรีเมืองไทยหมดแล้ว เราก็ต้องไปซื้อปลาจากต่างประเทศ
ผมจะพูดเรื่องสิทธิของคนในฐานะนักตกปลา นักท่องเที่ยวมีสิทธิเข้าถึงธรรมชาติ สิทธิเข้าถึงทรัพยากร เมื่อเราไม่มีสิทธิในการเข้าไปหามันก็จะไม่มีประสบการณ์ในการเข้าถึงธรรมชาติ
อย่างเรากำลังเล่าเรื่องว่ามีอวนตาถี่มันจะเข้ามาทำร้ายเรายังไง เล่าให้คนทั่วไปฟังเขาก็ไม่รู้สึกอะไร แต่ถ้าเกิดเราจูงมือเขาไปขึ้นเรือกับเรา ให้เขาเห็นว่ามีปลาอินทรี ตกได้ตัวเท่านี้ เห็นว่ามันมีชีวิตยังไง ถ้าแก้ไขกฎหมายในอนาคตผมคงไม่สามารถพาเพื่อนพาครอบครัวของผมไปได้ เพราะปลาอินทรีมันไม่มีแล้ว ต่อไปเราเล่าอย่างเดียวคนมันก็ไม่รู้
ผมขอพูดในฐานะคนตกปลาและคนทั่วไปว่า เราไม่ควรโดนลิดรอนสิทธิ ควรจะมีสิทธิเดินออกไปชายน้ำ จูงมือใครไปสักคน หาปลาแล้วเอากลับมากินที่บ้าน การที่เราจะผ่านมาตราเหล่านี้ ต่อไปชายหาดอาจจะไม่มีอะไรเหลือให้เรา การถูกลิดรอนสิทธิโดยเงียบ ๆ มันไม่ยุติธรรม อาชีพบางอาชีพอาจจะหายไปเป็นลูกโซ่ก็เป็นได้
หมายเหตุ : ให้สัมภาษณ์ผ่านกิจกรรม ใคร…ขโมยปลา ? ร่วมกันตามหาปลาที่กำลังจะโดนขโมยไปจากทะเลไทย หน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครวันที่13 มกราคม 2568

“อนุญาตให้ใช้อวนตาถี่โดยไม่แคร์ว่าแมลงวันยังบินผ่านไม่ได้”
ไวนี สะอุ
เครือข่ายนักรบผ้าถุง
ทะเลกำลังร้องไห้ ปลาน้อยใหญ่กำลังสูญหาย อากาศบริสุทธิ์ถูกทำลาย พอเถอะคนใจร้ายพอเสียที
พวกเราเป็นชาวประมง เรามีอวนหลากหลายชนิด มีอวนปลา อวนปู อวนหมึก อวนกุ้ง เราแยกจับเพื่อความเคารพ เพื่อความเป็นมิตรกับทรัพยากรที่เป็นอาหาร ไม่ใช่แค่อาหารของเราแต่เป็นอาหารของลูกของหลานของเราด้วย
ถ้ามันเกิดขึ้นจริง การแก้ไขมาตรา 69 จะเป็นหายนะครั้งใหญ่ ไม่เฉพาะอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา แต่ทั้งหมดในทะเลอ่าวไทยและทะเลอันดามัน กฎหมายนี้จะอนุญาตให้เรือปั่นไฟขนาดเล็กสามารถล้อมจับปลา ครอบ ช้อน ซึ่งวันนี้อวนล้อมขนาด 1 กิโลเมตรก็มี 2 กิโลเมตรก็มี ความยาวสองรอบสนามฟุตบอลก็ยังมี
เราอยากสื่อสารถึงผู้มีอำนาจ ผู้ที่เป็นนิติบัญญัติที่กำลังจะผ่านกฎหมายฉบับนี้ เราไม่รู้ท่านคิดอะไรอยู่ ท่านรู้ความจริงหรือเปล่า ท่านสงสารทะเลหรือเปล่า สงสารลูกหลานของพวกท่านหรือเปล่า
จับปลาโดยไม่เคารพ ไม่ได้ใส่ใจว่าจะจับขนาดไหน กวาดหมดทุกชนิดทุกอย่างเหมือนมาตราที่ท่านกำลังจะออก ถ้าเกิดกฎหมายมาตรา 69 ผ่าน นั่นหมายความว่าเรากำลังอนุญาตให้มีการจับปลาแบบไม่มีลิมิต ใช่ ในมาตรานี้คุณร่างว่าระยะ 12 ไมล์ทะเลออกไป แต่ท่านทราบหรือไม่ว่าตรงนั้นเป็นที่วางไข่ เป็นที่อาศัยของสัตว์น้ำ เป็นแหล่งที่มีปลา มีกุ้ง มีปูหลากหลาย นั่นคือพื้นที่ที่คุณอนุญาต การปั่นไฟเป็นการล่อสัตว์น้ำทุกชนิด จะเป็นปลาทู หรือปลาหลากหลาย ไปดูจะเห็นว่าตอนที่เอาขึ้นมามีสัตว์น้ำหลายชนิดนับไม่ถ้วน
คุณอนุญาตให้ใช้อวนตาถี่โดยไม่แคร์ว่าแมลงวันยังบินผ่านไม่ได้ ท่านคิดดู ปลาตัวเล็ก ปูตัวเล็ก ปลาหมึก ขนาดเท่าแมลงวันยังเล็ดลอดอวนนี้ไม่ได้ สงสารทะเลของเรา สงสารลูกปลาตัวเล็กๆ ของเรา

“ตาอวนขนาด6 มิลลิเมตรจะเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยอนุญาตให้ใช้”
วิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี
นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย
เทคโนโลยีจับปลามีหลายวิธีการ มีทั้งแบบอวนลากที่ก็มีปัญหาอยู่ในอุตสาหกรรมการประมง หรืออวนรุนซึ่งกฎหมายก็ยกเลิกห้ามใช้ไปแล้ว หรือการใช้ลอบหรือไซไปจับปูหรือสัตว์น้ำอะไรแล้วแต่ชนิด อวนติดตาที่มุ่งจับปลา จับกุ้ง หรือจับหมึกก็มีหลายขนาด แต่ละอวนจะมีชื่อของอวนต่างกันไป และมีอวนอยู่ประเภทหนึ่งที่ใช้ตาขนาดเล็ก 5-6 มิลลิเมตร
ปัจจุบันตามกฎหมายถ้าทำเป็นล้อมจับให้ใช้เฉพาะตอนกลางวัน มาตรฐานเดิมกำหนดไว้ว่าห้ามใช้ล้อมจับเวลากลางคืน ประกอบกับการเอาแสงไฟไปล่อ เพราะตามันเล็กมากแล้วการตีวงล้อมทำได้กว้าง ถ้าใครใช้อวน 1 กิโลเมตร วงล้อมเส้นรอบวงก็ 1 กิโลเมตร อย่างต่ำ ๆ ก็ 500 เมตร ถ้าจับตอนกลางคืนให้ใช้วิธีครอบ ช้อน หรือยกคล้าย ๆ กับวิธียกยอเท่านั้น มีการบังคับด้วยขนาดของเรือ เพื่อให้วงของเครื่องมือหรืออานุภาพในการจับแต่ละครั้งจะไม่ใหญ่เกินไป
การแก้ไขมาตรา 69 จะเข้ามาปลดล็อกตรงนี้ ถ้าผ่านจะใช้วิธีตีวงล้อมจับตอนกลางคืนได้ ประกอบกับการใช้แสงไฟล่อ ด้วยตาอวนขนาด 6 มิลลิเมตร จะเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยอนุญาตให้ใช้
มีประเด็นที่บอกว่าต้อง 12 ไมล์ทะเลออกไปถึงจะให้ล้อม กับอีกประเด็นคือเดี๋ยวให้รัฐมนตรีไปกำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติม เช่นอาจจะเป็นจำนวนเรือหรือพื้นที่จังหวัดไหน ใครฟลุกก็จะได้ไปตามรัฐมนตรีประกาศกำหนด จะเวลาหรือสถานที่ก็แล้วแต่
ถามว่าทำไมต้องค้าน ทำไมต้องไม่เห็นด้วย ก็เพราะมันไปอ้างอิงกับข้อมูลเดิมว่าการจับปลาด้วยอวนขนาดตาถี่มาก ๆ หรือที่แซวกันว่าอวนตามุ้งมันจะไปกระทบกับระบบนิเวศห่วงโซ่อาหารในทะเล
หมายเหตุ : ให้สัมภาษณ์ผ่าน สถานีวิทยุ ม.อ.หาดใหญ่ – PSU Broadcast รายการสภากาแฟ ทำไมต้องคัดค้าน ม.69 กม.ประมงใหม่วันที่ 21 มกราคม 2568